สำรวจแนวรบชายแดนใต้…วันนี้

 

ภาพ : อนุชิต นิ่มตลุง

เกิดอะไรขึ้นกับสามจังหวัดชายแดนใต้ ณ วันนี้ เป็นคำถามที่หลายคนยังคงต้องการคำตอบ

เหตุการณ์คาร์บอมบ์ห้างบิ๊กซี ปัตตานี เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บตามรายงานของทางการ 61 คน สร้างความหวาดผวาขึ้นอีกระลอกว่า สถานการณ์ชายแดนภาคใต้จะปะทุความรุนแรงรอบใหม่หรือไม่ โดยเฉพาะผลกระทบต่อการขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่คนในพื้นที่กำลังรอคอยด้วยความหวัง

บทเรียนเหล่านี้คือสิ่งที่ควรรับรู้และเข้าใจ เพื่อคลี่คลายความสงสัยร่วมกัน


นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของคาร์บอมบ์บิ๊กซี

จากการตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังของศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา พบว่า เหตุการณ์คาร์บอมบ์ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ปัตตานี ไม่ใช่เหตุรุนแรงครั้งแรก แต่ห้างค้าปลีกยักษ์ใหญ่แห่งนี้เคยถูกลอบวางระเบิดมาแล้ว 2 ครั้ง

ครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2548 เป็นการลอบวางระเบิดแสวงเครื่องจุดชนวนด้วยโทรศัพท์มือถือ เหตุเกิดบริเวณลานจอดรถ ครั้งที่ 2 เมื่อกลางดึกของวันที่ 1 มีนาคม 2555 เกิดเพลิงไหม้ภายในอาคารห้างบิ๊กซี ตรวจสอบพบว่าเป็นระเบิดเพลิงที่คนร้ายซุกซ่อนไว้ แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ

สิ่งที่น่าหวาดวิตกกว่านั้นคือ จากการเปิดเผยข้อมูลของศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา ยังพบด้วยว่า การก่อวินาศกรรมด้วยรูปแบบ ‘คาร์บอมบ์’ ในครั้งนี้ แม้จะเป็นครั้งแรกในรอบปี 2560 แต่ตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา เหตุการณ์คาร์บอมบ์ในพื้นที่ชายแดนใต้จนถึงนาทีนี้นับรวมแล้วทั้งสิ้น 52 ครั้ง

ชายแดนใต้ vs ไอเอส

หากย้อนกลับไปเมื่อไม่นานมานี้ มีคำเตือนจากทางการมาเลเซียว่า กลุ่มผู้ก่อการร้ายเคือข่ายรัฐอิสลาม (ไอเอส) ได้หลบหนีการติดตามจับกุมของเจ้าหน้าที่มาเลเซียเข้ามายังไทย ทำให้เกิดข้อสันนิษฐานว่า ปฏิบัติการครั้งนี้จะขยายวงหรือเชื่อมโยงกับกลุ่มก่อการร้ายสากลหรือไม่

คำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฎิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี เชื่อว่า เหตุระเบิดห้างบิ๊กซีปัตตานี ไม่เกี่ยวข้องกับกรณีที่ทางการมาเลเซียจับกุมผู้ต้องสงสัยที่คาดว่ามีส่วนพัวพันกับกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ซึ่งทางการมาเลเซียระบุว่า อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการลักลอบขนอาวุธจากภาคใต้ของไทยให้แก่กลุ่มก่อการร้าย คาดว่าอาจหลบหนีเข้ามาที่ไทยและเดินทางออกจากประไทยไปเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2560 แล้ว

อย่างไรก็ตาม เหตุระเบิดที่เกิดขึ้นเจ้าหน้าที่และตำรวจได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ แต่อาจยังคงไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนช่วยกันเฝ้าระมัดระวังการก่อเหตุให้มากยิ่งขึ้นอีกทางหนึ่ง

ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กำชับให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายในพื้นที่ร่วมกันดูแลผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและผู้ที่ได้รับผลกระทบให้ดีที่สุด รวมทั้งเร่งติดตามผู้ก่อเหตุและผู้เกี่ยวข้องมาดำเนินคดีโดยเร็ว ซึ่งการกระทำของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบและผู้อยู่เบื้องหลังถือเป็นอาชญากรรมรุนแรงที่มุ่งเอาชีวิตประชาชน รวมทั้งต้องการสร้างความหวาดกลัวให้คนในพื้นที่

ทางด้านองค์กรสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรท์ วอทช์ ประจำภูมิภาคเอเชีย ออกแถลงการณ์ประณามการก่อเหตุครั้งนี้ว่า เป็นการแสดงให้เห็นถึงความทารุณและไม่คำนึงถึงชีวิตพลเรือน ซึ่งอาจถือเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

นอกจากนี้ ฮิวแมนไรท์ วอทช์ ยังแสดงความกังวลต่อการละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ทั้งฝ่ายกองรัฐไทยและกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการสังหาร การบังคับบุคคลให้สูญหาย และการซ้อมทรมาน ซึ่งไม่อาจถือว่าเป็นการตอบโต้ที่ชอบธรรมต่อการโจมตีของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ มิฉะนั้นสถานการณ์จะเลวร้ายยิ่งขึ้น

ความรุนแรงในกระบวนการสันติภาพ

มีข้อสังเกตของฝ่ายสนับสนุนการขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพอยู่ว่า ท่ามกลางความขัดแย้งและการต่อสู้ การลงมือทำร้ายพลเรือนผู้บริสุทธิ์ ไม่ว่าไทยพุทธหรือมลายูมุสลิม ไม่เพียงจะขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน หลักศาสนา และหลักกฎหมาย แต่กลับยิ่งทำให้ผู้ก่อเหตุเพลี่ยงพล้ำและถอยห่างไปจากเป้าหมายทางการเมืองของตนเอง

นั่นหมายความว่า การที่กลุ่มก่อเหตุเลือกใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือในการบรรลุอุดมการณ์ของฝ่ายตน ย่อมส่งผลในด้านลบต่อขบวนการเอง เพราะยิ่งทำให้สูญเสียแนวร่วมและความชอบธรรม

รอมฎอน ปันจอร์ บรรณาธิการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ให้ข้อสังเกตหลังเหตุการณ์คาร์บอมบ์ครั้งนี้ว่าต้อง “รอฟังคำแถลงแสดงความรับผิดชอบอย่างเป็นทางการจากผู้ก่อเหตุ”

เขาอธิบายเพิ่มว่า สถานการณ์ ณ วันนี้น่าจะถึงจุดที่ ‘พวกเขา’ ต้องส่งเสียงหรือข้อความบางอย่างต่อสาธารณะ หรืออย่างน้อยที่สุดกลุ่มที่ไม่ได้เป็นผู้ลงมือทำก็ควรแถลงอย่างเป็นทางการ เพราะหากเดินเข้าสู่แนวทางการต่อสู้ทางการเมืองแล้ว ทั้งกลุ่มมาราปาตานีและกลุ่มบีอาร์เอ็นที่ไม่ได้เข้าร่วมในกระบวนการพูดคุยสันติภาพก็ควรต้องส่งเสียง เพื่อแสดงความชัดเจนในจุดยืนของตน

เช่นเดียวกับ มูฮำมัดอายุบ ปาทาน บรรณาธิการอาวุโส Deep South Watch ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า การสร้างทางเลือกใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาภาคใต้โดยใช้กระบวนการทางการเมือง คือสิ่งที่ภาคประชาสังคมพยายามผลักดันมาตลอด และหนึ่งในนั้นก็คือกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่ขณะนี้กำลังมีความคืบหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ

“เพราะนี่คือประตูบานเดียวที่ยังเปิดอยู่ จะเห็นว่าทุกประเทศที่มีความขัดแย้งถึงตาย สุดท้ายก็จบลงด้วยการพูดคุย แล้วทำไมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะทำไม่ได้”

มูฮำมัดอายุบชี้ให้เห็นว่า ตลอดทศวรรษที่ผ่านมาการต่อสู้โดยการใช้อาวุธของทั้งสองฝ่ายได้เดินมาจนเกือบสุดทาง และมีการใช้ความรุนแรงมาแล้วแทบทุกวิธีการ แต่ข้อเรียกร้องก็ยังไม่บรรลุผลและไม่สามารถไปไกลมากกว่านี้ได้อีกแล้ว ฉะนั้น หนทางเดียวที่น่าจะเป็นไปได้คือ การเผชิญหน้าบนโต๊ะพูดคุย

ทั้งนี้ เวทีพูดคุยสันติภาพจะยังคงเดินหน้าต่อไป ซึ่งตามกำหนดเดิมจะมีการนัดพูดคุยในช่วงเดือนพฤษภาคม แต่เนื่องจากเป็นช่วงที่คาบเกี่ยวกับการถือศีลอด (รอมฎอน) จึงคาดว่าจะมีการเลื่อนการพูดคุยออกไปอีกระยะหนึ่ง

 

Author

อาทิตย์ เคนมี
ดำรงชีวิตเวียนว่ายในวิชาชีพสื่อมวลชน ทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสาร สื่อออนไลน์ ปัจจุบันเป็น ‘บรรณาธิการสิ่งพิมพ์พิเศษ’

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า