วันหยุด ศาสนา และการเมือง

มันเกี่ยวกัน???

มันเกี่ยวกัน!!!

วันหยุด ศาสนา และการเมือง เกี่ยวกันหรือไม่ในบางโอกาสและสถานที่ ‘แน่นอน’ มันเกี่ยวกันอย่างน่าตื่นเต้นและน่าฉงนฉงายสำหรับบอสเนียฯ ประเทศที่ทั้งสามสิ่งมีศักยภาพพอที่จะขยายเป็นความขัดแย้งถึงขั้นแยกประเทศได้!

ก่อนเสร็จทัวร์การล้อมปราบซาราเยโวและอุโมงค์แห่งความหวัง ซึ่งตรงกับวันที่ 24 ธันวาคม 2015 ฉันเปรยกับ มิโคร ไกด์นำทัวร์ว่า ช่วงเย็นวันนี้คงเงียบเหงาน่าดู เพราะเป็นวันศุกร์ตอนบ่ายที่ร้านรวงของคนมุสลิมคงหยุดพักกิจการตามความเชื่อของศาสนาที่ละเว้นประกอบกิจกรรมต่างๆ และไปรวมตัวกันที่มัสยิด ประกอบพิธีญุมุอะหฺ (Jumu’ah) และด้วยความที่เป็นวันที่ 24 ธันวาคม ร้านค้าที่มีเจ้าของเป็นคริสต์นิกายคาทอลิกก็ต้องปิดเช่นกัน เพราะคงต้องเตรียมตัวประกอบอาหารมื้อพิเศษ ฉลองใหญ่สำหรับการรวมตัวกันของญาติสนิทและคนใกล้ชิดในคืนคริสต์มาสอีฟ

“บอสเนียฯ ไม่เหมือนที่อื่น วันไหนๆ คนก็ทำงาน รถบัสก็วิ่ง”

มิโครตอบอย่างมั่นใจ และบอกว่าฉันมีอะไรกินและมีอะไรทำแน่นอน

วันรุ่งขึ้นเป็นวันคริสต์มาส 25 ธันวาคม แม้จะเป็นวันหยุด แต่ร้านค้าก็เปิดเป็นปกติ ฉันวางแผนเดินทางไปมอสตาร์ (Mostar) เมืองที่อยู่ในเขตเฮอร์ซิโกวินา เพราะอยากหนีควันพิษในซาราเยโวที่ไม่ทำท่าว่าจะดีขึ้นเลย มิโครสนับสนุน บอกว่าให้เดินทางไปกับรถบัสระหว่างเมืองที่มีวิ่งหลายรอบต่อวัน แทนรถไฟที่ปิดซ่อมในหน้าหนาวเพราะรางพังจากหิมะ

บ่ายวันที่ 24 ธันวาคมของฉันจึงต่างจากปีที่ผ่านมาในเมืองในยุโรปตะวันตกที่บรรยากาศเริ่มเงียบเพราะร้านค้าปิดและคนเริ่มเตรียมตัวฉลองการรับประทานอาหารค่ำในคืนก่อนวันคริสต์มาส แต่ในตัวเมืองซาราเยโวคึกคักมากอย่างที่มิโครบอก ด้วยที่ว่าวันนี้มีแดดออกบ้าง ทำให้อากาศปลอดโปร่งขึ้นมาเล็กน้อย ฉันเลยเดินเล่นริมฝั่งแม่น้ำมิลจักกา (Miljacka) ที่ไหลผ่านกลางเมืองซาราเยโวไปสบกับแม่น้ำบอสนา (Bosna) จนเป็นที่มาของชื่อประเทศบอสเนียฯ

เส้นทางของแม่น้ำมีสะพานให้คนเดินข้ามอยู่หลายแห่ง จุดที่สำคัญคือสะพานลาตินที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยจักรวรรดิออตโตมัน แต่เป็นที่จดจำในทางประวัติศาสตร์การเมืองในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 มากกว่า เพราะอีกด้านทิศเหนือของสะพานเป็นจุดลอบสังหาร อาร์คดยุคฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์ (Archduke Franz Ferdinand) และพระชายา ในปี 1914 เป็นชนวนให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1

ฉันเดินเลียบแม่น้ำต่อไปทางทิศตะวันตก เห็นบริเวณสะพานอีกแห่งถัดจากสะพานลาตินที่ค่อนข้างพลุกพล่าน เพราะมีคนเอาโต๊ะเล็กๆ มาตั้งขายของ คล้ายกับสะพานลอยในกรุงเทพฯ แต่ที่ไม่มีในเมืองไทยคือแผงขายหนังสือมือสอง ฉันหยุดแวะดู เห็นมีหนังสือหลายเล่มเป็นภาษาบอสเนียน เลยไม่ได้หยุดนาน

พอข้ามไปอีกฝั่งของแม่น้ำ เนื่องจากในแผนที่ท่องเที่ยวเมืองซาราเยโวให้รายละเอียดว่าเป็นที่ตั้งของซีนาก็อกประจำเมืองซาราเยโว แต่ฉันอดเข้าไปชม เพราะไปถึงเลยเวลาบ่าย 2 ไปแล้ว ผู้ดูแลของที่นั่นซึ่งดูเหมือนท่องภาษาอังกฤษเพื่อแนะนำนักท่องเที่ยวมาเป็นอย่างดี บอกให้ฉันไปซีนาก็อกอีกแห่งหนึ่งในตัวเมืองเก่าหรืออีกด้านของแม่น้ำแทน

บรรยากาศฉลองเทศกาลคริสมาสต์คาธอลิกท่ามกลางหมอกควันในซาราเยโว

การมีซีนาก็อกสองแห่งในบริเวณใกล้กัน สะท้อนถึงความเป็นพหุวัฒนธรรมของซาราเยโวในยุคจักรวรรดิออตโตมันต่อเนื่องมายังจักรวรรดิฮับส์บวร์ก (Habsburg Empire ได้ดี) แม้จะไม่ใช่กลุ่มคนจำนวนหลักในประเทศ เช่น บอสนิแอก โครแอท และเซิร์บ แต่ชาวยิวที่นี่ก็มีการรวมกลุ่มเป็นชุมชนและสร้างที่ทางของตัวเองได้

ชาวยิวอพยพเข้ามาอยู่ในซาราเยโวสองช่วงหลัก ช่วงแรกคือในปลายศตวรรษที่ 15 ชาวยิวจำนวนมากถูกขับไล่จากสเปน ชาวยิวเชื้อสายสเปนหรือโปรตุเกสเหล่านี้หนีร้อนมาพึ่งเย็นภายใต้การปกครองของจักรวรรดิออตโตมันในบอสเนีย และอีกช่วงคือหลังกลางศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นการอพยพอย่างกระจัดกระจายเพื่อมาหาโอกาสทางเศรษฐกิจภายใต้จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี กลุ่มหลังนี้มีเชื้อสายทางยุโรปกลางหรือตะวันออกเชื้อสายสลาฟ และมีการศึกษาที่ดีกว่ายิวที่อพยพมาในช่วงแรก จนในที่สุดประชากรยิวทั้งสองกลุ่มเริ่มรวมตัวเป็นชุมชนเดียวกัน

ในช่วงที่ยูโกสลาเวียก่อตั้งเป็นประเทศภายใต้อาณาจักรเซิร์บ โครแอท และสโลวีนีส ในปี 1918 ชาวยิวในเซอร์เบียอพยพมาอยู่ในซาราเยโวและเมืองอื่นๆ ของบอสเนียฯ จำนวนมาก ทำให้มีประชากรยิวก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ประมาณ 11,800 คนทั้งประเทศ แต่หลังจากสงครามกลับเหลือเพียง 1,300 คนเท่านั้น ชาวยิวเหล่านี้ต้องหนีการกวาดล้างโดยนาซี แม้จะมีชาวยิวกลับบ้านเกิดในบอสเนียฯ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประมาณ 3,000 คน แต่คนจำนวนมากตัดสินใจย้ายไปรวมตัวสร้างชุมชนใหม่หลังอิสราเอลประกาศตั้งเป็นประเทศใหม่ในปี 1948 และเมื่อสงครามบอสเนียฯ เกิดขึ้น ชาวยิวในบอสเนียฯ ต้องอพยพออกนอกประเทศอีกครั้ง ทำให้จำนวนคนยิวในซาราเยโวในปัจจุบันลดลงเหลือเพียง 500 คน

โบสถ์ออธอดอกซ์ในเมือง

การที่มีกลุ่มคนสามเชื้อชาติหลักและมีข้อตกลงในการอยู่ร่วมกันใหม่ภายใต้การบริหารทางการเมืองที่แบ่งแยกกันชัดเจน คือสหพันธรัฐบอสเนียและเฮอร์เซโกวินาของชาวบอสนิแอก และโครแอท กับสาธารณรัฐเซิร์บของชาวเซิร์บในบอสเนียฯ ทำให้การบริหารซับซ้อนขึ้น และไม่ได้คลี่คลายปัญหาทางการเมืองในระดับล่างที่คนทางชาติพันธุ์ยังคงมีความรู้สึกแบ่งแยกและอคติต่อกันอยู่ แม้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นยังไม่ได้พัฒนาไปเป็นความรุนแรงหรือสงครามก็ตาม

เรื่องหนึ่งที่ส่อให้เกิดความขัดแย้งคือ ‘วันหยุด’

อย่างที่ฉันบอกว่าวันหยุดทางศาสนาที่นี่ไม่ได้ส่งผลมากนักในการประกอบการทางธุรกิจ ร้านรวงเปิดได้ตามปกติแม้ว่าจะเป็นวันที่ต้องประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอย่างกรณีของมุสลิม หลายคนอาจไปร่วมพิธีสวดและกลับมาเปิดร้าน หรือการฉลองคริสต์มาสของคนโครแอทที่ถือคริสต์นิกายคาทอลิก

ดังนั้น ปีหนึ่งๆ ในปฏิทินของบอสเนียฯ จะมีวันหยุดทางศาสนาของคนทั้งสามกลุ่ม และต้องมีการจัดการที่ให้ความเท่าเทียมกัน เพื่อไม่ให้เห็นว่าเป็นการเลือกปฏิบัติกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

ยกตัวอย่างของปฏิทินปี 2017 มีวันสำคัญทางศาสนาและอาจเป็นวันหยุดประจำปีด้วย เริ่มต้นด้วยวันที่ 6 และ 7 มกราคม เป็นวันคริสต์มาสอีฟและคริสต์มาสของคริสต์นิกายออธอดอกซ์ สัปดาห์ถัดมา วันที่ 14 มกราคมเป็นวันปีใหม่ของออธอดอกซ์

เดือนเมษายนมีวันสำคัญทางศาสนาสามวัน คือวันที่ 14 เมษายนเป็นวันกู๊ด ฟรายเดย์ (Good Friday) ของทั้งออธอดอกซ์และคาทอลิก วันที่ 16 เมษายน เป็นวันอาทิตย์อีสเตอร์ (Easter) ของทั้งสองนิกาย และวันที่ 17 เมษายนเป็นวันจันทร์หลังอีสเตอร์ของทั้งสองนิกายเช่นกัน

ในเดือนมิถุนายน วันที่ 26 และ 27 เป็นวันสิ้นสุดการถือศีลอดหรือรอมฎอนของคนมุสลิม หรือ อีดิลฟิฏรี (Eid Al Firta) และวันหยุดหลังวันสิ้นสุดการถือศีล วันที่ 1 และ 2 กันยายน เป็นวันวันอีดอัฎฮา (Eid Al Adha) และวันหยุดหลังวันอีดอัฎฮา และวันที่ 22 กันยายนเป็นวันปีใหม่ในทางอิสลาม จากนั้นวันที่ 1 พฤศจิกายน เป็นวันนักบุญต่างๆ ทางคริสต์ (All Saints’ Day) และวันที่ 25 ธันวาคมเป็นวันคริสต์มาสของคาทอลิก

วันหยุดทางศาสนาที่กล่าวมานี้ไม่ใช่วันหยุดประจำชาติ คือแต่ละกลุ่มเชื้อชาติที่นับถือศาสนานั้นอาจฉลองกันไป แต่หน่วยงานราชการยังเปิดทำการ เช่น วันอีดิลฟิฏรี และวันอีดอัฎฮา ทางโรงเรียนและธุรกิจอาจหยุดเพื่อให้คนที่นับถืออิสลามได้ประกอบพิธีกรรม บางโรงเรียนอาจเลื่อนตารางการปิดเทอมให้ตรงกับช่วงถือศีลอดและเปิดอีกครั้งหลังการถือศีล ในบอสเนียฯ ที่คนส่วนใหญ่เป็นมุสลิม เช่น ภาคธุรกิจอาจหยุดนานกว่าในช่วงวันสำคัญทางอิสลาม มากกว่าช่วงวันสำคัญทางศาสนาของคริสต์ทั้งสองนิกาย คนมุสลิมที่นี่มักเดินทางกันทั่วประเทศเพื่อเยี่ยมเยียมญาติ

อย่างไรก็ตาม ตามกฎหมายของประเทศบอสเนียฯ เกี่ยวกับวันหยุดระบุว่า ทุกคนสามารถมีวันหยุดที่เกี่ยวเนื่องกับวันสำคัญทางศาสนาได้ไม่เกินสี่วัน แต่สำหรับภาคธุรกิจแล้ว ส่วนใหญ่จะหยุดไม่ถึงสี่วันอย่างแน่นอน

สำหรับคนที่นับถือคริสต์ทั้งคาทอลิกและออธอดอกซ์สามารถเลือกฉลองหรือหยุดตามความเชื่อของตน แต่สำหรับภาคธุรกิจอาจไม่หยุดเลย เพราะไม่ต้องการสูญเสียรายได้ และสำหรับวันปีใหม่ที่ทั้งสองนิกายเฉลิมฉลองคนละวันนั้น คนเชื้อสายโครแอทฉลองตามปีใหม่สากลในวันที่ 1 มกราคม ขณะที่คนเซิร์บถือคริสต์ออธอดอกซ์ฉลองอีกสัปดาห์ถัดมา ทุกปีชาวเซิร์บที่อยู่ในส่วนของสาธารณรัฐเซิร์บจะจัดเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่กว่าที่อื่นในบอสเนียฯ

โบสถ์คาธิอลิกใจกลางเมือง

ประเทศอย่างบอสเนียฯ ที่ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์สามารถเป็นชนวนได้กับทุกเรื่อง เช่น กรณีวันหยุดเนื่องในวันประกาศเป็นเอกราชของบอสเนียฯ จากอดีตยูโกสลาเวีย 1 มีนาคม 1992 วันนี้ของทุกปีถือเป็นวันหยุดอย่างเป็นทางการของทั้งราชการและภาคธุรกิจทั้งประเทศ บางคนอาจแสดงออกด้วยการติดธงชาติขนาดเล็กที่รถและบีบแตรเป็นครั้งคราว แต่วันนี้คนเชื้อสายเซิร์บอาจไม่ค่อยพอใจเท่าใดนัก เพราะพวกเขารู้สึกว่าบอสเนียฯ ควรอยู่สร้างความยิ่งใหญ่ของอดีตยูโกสลาเวีย แทนการเป็นประเทศเอกราช วันหยุดและการเฉลิมฉลองวันชาติของบอสเนียฯ แทนที่จะสร้างจิตสำนึกความเป็นหนึ่งเดียว กลับกลายเป็นการสร้างความรู้สึกแปลกแยกที่ไม่เปลี่ยนแปลง

การเมืองเรื่องวันหยุดไม่ได้มีเพียงแค่นี้ วันหยุดทางศาสนาของบอสเนียฯ สามารถกลายเป็นความขัดแย้งขึ้นมาได้หากเอาไปข้องเกี่ยวกับการเมืองโดยตรง

กันยายน 2016 ประธานาธิบดีมิโลรัด โดดิก (Milorad Dodik) แห่งสาธารณรัฐเซิร์บ ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญบอสเนียฯ เพื่อจัดทำประชามติให้วันที่ 9 มกราคม ซึ่งเป็นวันที่เฉลิมฉลองการกำเนิดขึ้นของสาธารณรัฐเซิร์บในปี 1992 เป็นวันหยุดประจำชาติ แต่ศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาให้แนวคิดจัดประชามติเป็นโมฆะ เพราะเห็นว่าหากให้วันที่ 9 มกราคมของทุกปีเป็นหยุด ซึ่งส่วนใหญ่มักใกล้เคียงหรือเป็นวันเดียวกับวันขึ้นปีใหม่ของชาวคริสต์ออธอดอกซ์ที่ชาวเซิร์บนับถืออยู่ จะเป็นการเลือกปฏิบัติกับชาวมุสลิมบอสนิแอกและโครแอทที่เป็นคาทอลิก และที่สำคัญไม่ควรให้การเมืองมาเชื่อมโยงกับวันทางศาสนา เช่น ไม่ควรมีธงชาติของสาธารณรัฐเซิร์บมาแขวนตามหน้าบ้านของผู้คนในวันสำคัญทางศาสนา

แต่ประธานาธิบดีโดดิกไม่สนใจ กลับเดินหน้าจัดให้มีประชามติให้คนไปลงคะแนนเสียงเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2016 ผลที่ออกมาคือคนให้การสนับสนุนแนวคิดนี้ แน่นอนว่าชาวเซิร์บในบอสเนียฯ ที่ออกมาลงคะแนนเสียงนั้นให้การสนับสนุนแบบท่วมท้น ขณะที่คนบอสนิแอกและโครแอทคว่ำบาตรการลงประชามติ สถานการณ์นี้ทำให้หลายประเทศโดยเฉพาะสหรัฐ และยุโรปเริ่มกังวลว่าจะกลายเป็นประเด็นการเมืองที่ทำให้เกิดสงครามขึ้นอีกครั้ง เพราะโดดิกมักส่งสัญญาณอยู่ตลอดว่าต้องการแยกสาธารณรัฐเซิร์บให้เป็นอิสระจากบอสเนียฯ ขณะที่รัสเซียเองกลับหนุนหลังสาธารณรัฐเซิร์บเพื่อเป็นโอกาสเข้ามาแทรกแซงกิจการการเมืองภายในประเทศ

ประเด็นนี้ค่อนข้างอ่อนไหวสำหรับบอสเนียฯ ที่ความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติมีความเปราะบางสูง ฉันอดคิดถึงคำพูดของมิโคร ไกด์นำทัวร์ซาราเยโวไม่ได้ว่า คนธรรมดาอย่างเขาไม่เคยมีปัญหา เพราะอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุขมาโดยตลอด ดูอย่างชาวยิวที่เข้ามาอยู่ในประเทศตั้งกว่า 500 ปีมาแล้วก็ยังยอมรับและอยู่ร่วมกันได้ แต่เพราะนักการเมืองปลูกฝังอุดมการณ์ทางการเมืองแบบสุดโต่งแบบนี้ที่ทำให้ความสงบสุขเกิดขึ้นชั่วคราว หรือปลุกปั่นให้กระแสแบ่งแยกระหว่างเชื้อชาติยังมีอยู่ไม่เสื่อมคลาย แม้ว่าสงครามได้จบสิ้นมาแล้วถึงสองทศวรรษก็ตาม

Author

บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล
อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.นเรศวร เมืองสองแคว ยังไม่ขวบปีดี ตั้งใจเอาดีเรื่องชายแดนไทย-พม่าจนเขียนเป็นวิทยานิพนธ์ที่มหาวิทยาลัยของประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีเสรีภาพแห่งหนึ่งของโลก เรื่องราว 'สงครามบอสเนีย' และ 'นาโต้ถล่มโคโซโว' คือประสบการณ์การเดินทางที่ก่อรูปอย่างไม่รู้อนาคตจากข่าวต่างประเทศสมัยเด็กๆ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า