ตุซลา และ อาเหม็ด

อาเหม็ด เปิดประตูรถเก๋งและนั่งในที่คนขับ สิ่งแรกที่เขาทำคือเปิดลิ้นชักหน้ารถ หยิบกล่องสี่เหลี่ยมขนาดเท่าฝ่ามือขึ้นมาเสียบลงในที่ใส่วิทยุ ฉันอดถามไม่ได้ เขาตอบว่าถ้าไม่ซ่อน วิทยุจะถูกขโมย ไม่เพียงเท่านั้น กระจกรถก็ถูกทุบแตกด้วย เขาต้องทำอย่างนี้ทุกครั้งที่จอดรถไม่ว่าที่ไหนก็ตาม ฉันคิดในใจ “มาถึงบอสเนียฯ แล้วจริงๆ”

ฉันเดินทางด้วยเครื่องบินของ Wizz Air สายการบินราคาประหยัดสัญชาติฮังกาเรียน ในช่วงบ่ายแก่ๆ ของวันที่ 22 ธันวาคม จากสนามบินอายน์โดเฟิน (Eindhoven) หนึ่งในสนามบินสำหรับสายการบินพาณิชย์ของเนเธอร์แลนด์ เพื่อไปยังจุดหมายทางแห่งแรกของฉันในภูมิภาคบอลข่าน…ตุซลา (Tuzla)

วันนั้นสนามบินแออัดไปด้วยผู้คนที่เตรียมตัวเดินทาง ก่อนเครื่องออกไม่นาน ฉันต้องเอาหนังสือเดินทางและบัตรพำนักอาศัยระยะยาวที่ทำหน้าที่เป็นบัตรประจำตัวประชาชนขึ้นมาให้เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองตรวจ อย่างที่บอกว่าแม้บอสเนียฯ ยังไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกกับสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการ แต่ฉันสามารถใช้วีซ่านี้เข้าประเทศโดยไม่ต้องขอวีซ่าเข้าบอสเนียฯ โดยตรง

เพื่อนร่วมทางของฉันในวันนั้นเกือบทั้งลำเป็นคนจากบอสเนียฯ ที่รอเครื่องขึ้นด้วยกันตั้งแต่หน้าประตูทางออกขึ้นเครื่องที่สนามบิน และเกือบทุกคน ทั้งคนแก่และวัยกลางคนเป็นผู้อพยพลี้ภัยจากสงครามบอสเนียในช่วงทศวรรษ 1990 ทุกวันนี้พวกเขาได้เปลี่ยนสัญชาติเป็นพลเมืองของประเทศเนเธอร์แลนด์โดยสมบูรณ์ และกำลังเดินทางกลับบ้านไปเยี่ยมญาติและฉลองร่วมกันในช่วงหยุดยาวปีใหม่ พร้อมสัมภาระและข้าวของจากยุโรปตะวันตก

ในเครื่องบินร่วมสองชั่วโมงจากอายน์โดเฟินถึงตุซลา…เมืองจุดหมายปลายทางที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของบอสเนียฯ ฉันนั่งติดกับหญิงสาววัยรุ่นทันสมัยคนหนึ่ง ท่าทีและการแต่งตัวของเธอเหมือนเด็กวัยรุ่นดัตช์ทั่วไปที่เป็นผลผลิตจากการเข้าโรงเรียนและการผสมกลมกลืนกับสังคมดัตช์มาเป็นสิบปี ฉันสนทนากับเธอเรื่องเวลาที่บอสเนียฯ กับที่ฮอลแลนด์ เธอบอกว่าเวลาเดียวกัน ไม่จำเป็นต้องปรับนาฬิกาเมื่อไปถึง

คุยไปสักพักฉันกล้าถามว่าเธอเป็นมุสลิมเชื้อสายบอสนิแอกแล้วไม่คลุมผมหรือฮิญาบหรือ เธอตอบอย่างเปิดเผยเป็นกันเองว่า มุสลิมจากบอสเนียฯ ค่อนข้างเปิดเผย และไม่ได้เคร่งครัดเรื่องการคลุมฮิญาบเหมือนวัฒนธรรมการแต่งกายของผู้หญิงมุสลิมประเทศอื่นๆ ทำให้ฉันเริ่มเห็นภาพประเทศมุสลิมอย่างบอสเนียฯ ที่ค่อนข้างมีความใกล้ชิดกับทางโลกหรือเป็นฆราวาสสูง คือไม่เคร่งศาสนาเหมือนบางประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศตะวันออกกลางหรือแอฟริกาตอนเหนือ

ผู้โดยสารรอเข้าแถวผ่านพิธีกรรมตรวจคนเข้าเมืองภายนอกอาคารสนามบินตุซลา

ถึงสนามบินที่เมืองตุซลาเมื่อใกล้ค่ำ ทุกคนเดินลงจากเครื่องบินเดินเข้าสู่อาคารผู้โดยสาร และผ่านพิธีกรรมตรวจคนเข้าเมืองที่อยู่ด้านนอกของอาคารท่ามกลางอุณหภูมิเฉียด 0 องศาเซลเซียส คนบอสเนียนที่เดินทางมากับฉันส่วนใหญ่อยู่แถวเดียวกับฉันคือช่องสำหรับคนถือหนังสือเดินทางต่างประเทศ พวกเขาถือหนังสือเดินทางดัตช์กันแทบทั้งนั้น พอถึงคิวฉันที่ต้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองประทับวันที่เข้าประเทศ ฉันเห็นคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องที่ใช้เก็บข้อมูลคนเดินทางเข้าออกมีสติกเกอร์ธงสหรัฐติดอยู่ แสดงให้เห็นถึงบทบาทสหรัฐช่วงสงครามบอสเนีย

ในปี 1992 สหรัฐเริ่มเข้ามาเกี่ยวข้องกับปัญหายูโกสลาเวียหลังจากที่สงครามในภูมิภาคนี้เกิดขึ้นแล้วในสโลวีเนียและโครเอเชีย สหรัฐเริ่มต้นสร้างสัมพันธไมตรีกับสโลวีเนียและโครเอเชียที่เป็นประเทศเอกราชไปแล้วในขณะนั้น จากนั้นได้ส่งเจ้าหน้าที่ทูตไปประจำการตามเมืองหลวงของประเทศต่างๆ รวมทั้งบอสเนียฯ

อาเหม็ด (Arhmed) หนุ่มวัย 32 ปี เป็นมุสลิมบอสนิแอกจากเมืองตุซลาคนแรกที่ฉันรู้จัก เขามารับฉันเนื่องจากฉันขอบริการแท็กซี่ในราคา 10 ยูโรจากเกสต์เฮาส์ที่พี่สาวของเขาเป็นเจ้าของ เขาเดินถือป้ายชื่อรออยู่หน้าทางออกหลังจากเสร็จสิ้นพิธีกรรมตรวจคนเข้าเมือง เมื่อเห็นป้ายชื่อตัวเอง ฉันเริ่มตื่นเต้นเล็กน้อย เพราะการเดินทางของฉันกำลังจะเริ่มขึ้นในไม่ช้า หลังอาเหม็ดแนะนำตัว สิ่งแรกที่สัมผัสได้คือเขาพูดภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่ว ก่อนออกจากสนามบินฉันแลกเงินสกุลยูโรที่ถือมาเป็นคอนเวอร์ทิเบิล มาร์ค (Convertible Mark) สกุลเงินท้องถิ่น และเดินต่อไปยังที่จอดรถของสนามบิน โดยอาเหม็ดเป็นคนนำทาง

การเดินทางเข้าเมืองตุซลาจากสนามบินมีข้อจำกัด เพราะไม่มีรถโดยสารสาธารณะวิ่งเข้าใจกลางเมืองแบบเมืองอื่นๆ ในยุโรปที่ฉันเคยไปมา ผู้โดยสารที่มาถึงเมืองนี้ด้วยเครื่องบินมีสองทางเลือกคือ บริการแท็กซี่หรือไม่ก็เรียกให้คนรู้จักมารับที่สนามบิน

ช่วงสงครามบอสเนีย สนามบินแห่งนี้เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญ เพราะเป็นศูนย์กลางขององค์กรนานาชาติใช้เป็นจุดแจกจ่ายสิ่งของบรรเทาทุกข์ในพื้นที่บอสเนียฯ ตอนเหนือ ซึ่งต่อมาถูกโจมตีทางอากาศและถูกปิดล้อมโดยกองกำลังทหารเซิร์บในบอสเนียฯ

หลังจากขึ้นรถ อย่างที่ฉันบรรยายตอนต้นและจำภาพได้อย่างแม่นยำเกี่ยวกับอาเหม็ดคือวิทยุติดรถยนต์ เขาเปิดหมุนหาคลื่นวิทยุ เสียงเพลงสากลดังขึ้น ระหว่างที่รอรถเคลื่อนตัวออกจากสนามบิน ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร เนื่องจากความแออัดของรถส่วนตัวหลายคันที่มารับผู้โดยสารนับร้อยที่ลงจากเครื่องพร้อมกันในยามค่ำ ทำให้ฉันพอเห็นสภาพโดยรอบของสนามบินที่ยังไม่ทันสมัย พื้นที่โดยรอบดูเก่าคร่ำคร่า รัฐบาลเองเหมือนยังไม่มีงบประมาณมาปรับปรุงสร้างอาคารให้ดูใหม่ขึ้น ทั้งที่เป็นเมืองสำคัญทางการบินตั้งแต่สมัยอดีตยูโกสลาเวีย แต่ต้องปิดตัวไปช่วงเกิดสงครามบอสเนีย และเปิดปฏิบัติการอีกครั้งในปี 1996

ตุซลา
สนามบินนานาชาติตุซลา / photo: Kseferovic

สภาพปัจจุบันของสนามบินให้ภาพที่ขัดกับสถานะของสนามบินนานาชาติที่รองรับผู้โดยสารมากเป็นอันดับ 2 รองจากสนามบินที่เมืองหลวงซาราเยโว และความสำคัญตามประวัติศาสตร์การก่อตั้งเมืองตุซลาเป็นเมืองใหญ่อันดับ 3 รองจากซาราเยโว และบันยา ลูคา (Banja Luca) เป็นเมืองที่มีอุตสาหกรรมเหมืองเป็นฐานหลัก ซึ่งคำว่า ‘ตุซลา’ ชื่อเมืองมาจากคำว่า ‘Tuz’ ที่แปลว่าเกลือ เนื่องจากเป็นแหล่งเหมืองผลิตเกลือตั้งแต่สมัยจักรวรรดิออตโตมันเข้ามาปกครอง และยังมีอุตสาหกรรมเหมืองลิกไนต์และถ่านหิน ตุซลาจึงเป็นศูนย์กลางการผลิตพลังงานแจกจ่ายให้ในพื้นที่ใกล้เคียงด้วย

ฉันเริ่มหาเรื่องคุยกับอาเหม็ด หลังจากที่เขาเลือกช่องเพลงที่ต้องการเรียบร้อยแล้ว ทำให้รู้ว่าเขาโตมาและรับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับสงครามระหว่างมุสลิมบอสนิแอกกับชาวเซิร์บในช่วงปี 1992-1995 เป็นอย่างดี หลังจากที่สหรัฐส่งทหารเข้ามาตั้งฐานทัพในตุซลา ทำให้อาเหม็ดได้ผูกมิตรกับทหารอเมริกันลูกครึ่งฟิลิปปินส์คนหนึ่งและเป็นเพื่อนสนิทกันมาตั้งแต่นั้น เป็นที่มาให้เขาได้หัดพูดภาษาอังกฤษกับเพื่อนคนนี้เรื่อยมา

เขาถามคำถามฉันกลับบ้างว่า “แต่งงานหรือยัง” ฉันตอบปฏิเสธ ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ถูกถามด้วยคำถามนี้เวลาที่เดินทางคนเดียว อาเหม็ดถามต่อทำไมถึงเดินทางคนเดียว ฉันไม่ได้ขยายความ ตอบเพียงว่า “เพื่อนไม่ว่าง” ตรงนี้ถือเป็นเรื่องปกติของคนบอสเนียนที่มักจะกล้าถามถึงเรื่องส่วนตัวหรือให้ความเห็นเกี่ยวกับการแต่งตัวหรือภาพลักษณ์ภายนอกของคู่สนทนา

อาเหม็ดเริ่มเล่าเรื่องราวของตัวเองดุจดั่งฉันเป็นเพื่อนสนิทที่รู้จักกันมานานนับปี เขาเพิ่งเลิกกับแฟนสาว โดยเขาให้เหตุผลว่าเพราะเขาไม่มีงานประจำทำ ไม่มีเงินกองโตไปซื้อรถยนต์ยี่ห้อหรูหราที่ผลิตในเยอรมนีอย่าง BMW หรือ Audi

ก่อนหน้านี้ เขาวางแผนจะเดินทางไปสหรัฐด้วยความช่วยเหลือของเพื่อนทหารลูกครึ่งฟิลิปปินส์ แต่แผนก็ต้องล่มไปเมื่อเกิดเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001 ขึ้นเสียก่อน จนผ่านมาสิบกว่าปีแล้ว ความฝันที่จะไปอเมริกาเพื่อไปหางานทำก็ไม่เคยเป็นจริง วันนี้เขาเริ่มเปลี่ยนใจอยากคิดเรียนภาษาเยอรมันเพื่อไปหางานทำที่เยอรมนี ด้วยความที่ประเทศนี้มีเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ และเยอรมนีก็เป็นหนึ่งในอันดับต้นๆ ของประเทศในทวีปยุโรปที่เป็นคู่ค้าสำคัญกับประเทศอดีตยูโกสลาเวีย และมีการลงทุนในธุรกิจหลายประเภท เช่น ธนาคาร Sparkasse หรือร้านขายของเครื่องใช้และเครื่องสำอางอย่าง DM

ราวครึ่งชั่วโมงได้ อาเหม็ดขับรถเข้าประตูรั้วที่ภายในบริเวณมีบ้านหลังใหญ่สามชั้นอยู่ทางซ้ายมือ เมริมา พี่สาวอาเหม็ด เจ้าของเกสต์เฮาส์ออกมาต้อนรับและพาฉันเข้าที่พัก พร้อมอธิบายการเข้าออกประตูบ้านให้ฉันเข้าใจ จากนั้นเธอเดินจากไปยังบ้านข้างๆ ที่อยู่ติดกัน ทำให้เข้าใจว่าเมริมาเปิดบ้านหลังใหญ่ไว้ให้เช่าและให้นักท่องเที่ยวมาพัก ส่วนบ้านของเธออยู่ติดกับตึกหลังใหญ่ในพื้นที่เดียวกัน

อาเหม็ดก็อาศัยอยู่ที่นี่ด้วย แต่เป็นบ้านอีกหลังที่อยู่ข้างหลังสุด ทำให้เห็นว่าครอบครัวนี้อยู่กันเป็นครอบครัวขนาดใหญ่ในพื้นที่เดียวกัน และเมริมากับอาเหม็ดก็เหมือนยังอยู่กับพ่อแม่ ซึ่งอาเหม็ดเล่าให้ฉันฟังทีหลังว่า พ่อของเขาเคยเป็นข้าราชการระดับสูงในกระทรวงวัฒนธรรม ท่องเที่ยวและกีฬา สมัยที่บอสเนียฯ ยังอยู่กับยูโกสลาเวีย ซึ่งปัจจุบันพ่อของเขาเกษียณราชการแล้ว

น้ำพุและหอนาฬิกาบริเวณเมืองเก่า

เมื่อมาถึงตุซลา สิ่งแรกที่ฉันอยากทำคือกินอาหารบอลข่าน ที่ขึ้นชื่อว่ามีลักษณะและรสชาติเฉพาะตัว เมริมาแนะนำร้านหนึ่งซึ่งอยู่ในตัวเมืองเก่าของตุซลา ชื่อ Čaršijska česma อยู่ใกล้น้ำพุสัญลักษณ์ประจำเมือง เมริมาเสนอให้อาเหม็ดเป็นสารถีให้ฉันอีกครั้ง แทนที่จะออกไปเรียกแท็กซี่ที่ถนนเอง รุ่งขึ้นอีกวัน อาเหม็ดจึงกลายมาเป็นไกด์ประจำตัวพร้อมคนขับของฉันไปโดยปริยาย เนื่องด้วยฉันมีเวลาน้อยและเขาอาสาพาฉันนั่งรถเที่ยวทั่วเมือง และให้ฉันจ่ายค่ารถเป็นราคาเหมาแท็กซี่

ระหว่างที่ฉันกินอาหารบอลข่านมื้อแรกที่เป็นปลาเผา มันฝรั่งและสลัดผัก และพยายามถามโน่นนี่เกี่ยวกับเมืองตุซลาในช่วงสงคราม อาเหม็ดเช็คสเตตัสบนเฟซบุ๊คของเขาพร้อมเล่าว่า ตุซลาเป็นอีกเหมืองหลักที่เป็นเป้าโจมตีของทหารเซิร์บในบอสเนียฯ ทุกวันนี้เมืองยังคงปรากฏร่องรอยของสงครามอยู่ แม้ว่าจะได้รับการบูรณะแล้วก็ตาม หลังจากนั้น เขาพาฉันเดินรอบบริเวณเมืองเก่าซึ่งไม่ใหญ่โตนัก เราเห็นอะไรไม่ค่อยชัดดี เนื่องจากหมอกเริ่มลงในตอนกลางคืน แต่ยังมีผู้คนเดินไปมา และมีร้านค้าขายของต้อนรับเทศกาลคริสต์มาสอยู่บ้าง รวมทั้งลานเล่นสเก็ตของคนหนุ่มสาว

ตุซลา
อนุสรณ์สถานประตูเมืองตุซลา / photo: Deanza7

ที่บริเวณประตูเมืองตุซลา คืออนุสรณ์สถานประจักษ์พยานของสงครามบอสเนียที่ถูกกองทัพทหารเซิร์บในบอสเนียฯ ถล่มในวันที่ 25 พฤษภาคม 1995 ที่เรียกว่า Masakr na Kapiji (Massacre on Kapija – การสังหารหมู่ที่ประตูเมือง) ซึ่งถือเป็นวันเยาวชนของประเทศอดีตยูโกสลาเวีย และพรากเอาชีวิตบริสุทธิ์ของคนหนุ่มสาวไปถึง 72 คน และอีกร่วมร้อยที่บาดเจ็บที่นั่งอยู่ในคาเฟ่บริเวณนั้น

เหตุที่ตุซลาเป็นเป้าหมายหลักในการถูกถล่มช่วงสงครามบอสเนีย เนื่องจากในปี 1993 สหประชาชาติประกาศให้ตุซลาเป็น 1 ใน 6 พื้นที่ที่ถือว่าปลอดภัยจากสงคราม ส่วนอีกห้าแห่งคือ เซรเบรนิกา โกราซเด (Goražde) ทราฟนิค (Travnik)  ไวเตซ (Vitez) และ เซปา (Žepa) ตุซลาจึงเป็นเป้าหมายสำหรับคนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามในพื้นที่อื่นย้ายเข้ามาพักพิง จากที่ในปี 1991 ตุซลามีประชากรราว 130,000 คน แต่หลังจากสงครามเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการได้เจ็ดเดือน จำนวนประชากรในเมืองและเขตรอบนอกเพิ่มเป็น 330,000 คน อีกทั้งตุซลาเป็นที่ตั้งของสำนักงานสหประชาชาติในการให้ความช่วยเหลือผู้คนจากสงคราม นำมาซึ่งการตั้งฐานทัพของสหรัฐและกองกำลังคนผ่านองค์การสหประชาชาติในเวลาต่อมา

กระนั้น ตุซลาก็ยังไม่รอดพ้นจากการทำลายล้างของสงคราม ทำให้มีประชากรจำนวนมากอพยพออกนอกประเทศ และทำให้ประชากรลดลงเป็นจำนวนมากถึง 15.6 เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบัน ตุซลามีประชากรราว 111,000 คน หลังสงครามที่มีคนอพยพพกลับบ้านเกิดและจากการที่ประเทศแบ่งเขตทางการเมืองใหม่ ขณะที่ภาพรวมของประเทศ ลักษณะประชากรของบอสเนียฯ ในปัจจุบันชี้ให้เห็นถึงสัดส่วนประชากรที่เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด จากการสำรวจในปี 1991 บอสเนียฯ มีประชากรราว 4.7 ล้านคน หลังจากสงคราม มีการสำรวจประชากรอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี 2013 และรายงานว่ามีประชากรราว 3.8 ล้านคน แสดงให้เห็นว่าจำนวนประชากรลดลงถึง 850,000 คน หรือ 19 เปอร์เซ็นต์

หลังจากเดินรอบเมืองเก่าตุซลาในคืนแรกของฉัน อาเหม็ดถามฉันขึ้นมาว่ามีแผนเดินทางอย่างไรต่อ เอาเข้าจริงฉันมีเวลาแค่หนึ่งคืนและหนึ่งวันที่ตุซลาเท่านั้น วันรุ่งขึ้นฉันตั้งใจไปซาราเยโว เพื่ออยู่ที่นั่นนานหน่อย และจะไปเที่ยวต่อที่เบลเกรด เมืองหลวงของเซอร์เบีย ฉันถามอาเหม็ดแบบไม่ได้คิดอะไรจริงจังว่าเคยไปเบลเกรดหรือยัง แต่สิ่งที่ได้ยินจากเขาทำเอาฉันอึ้ง

“ผมไม่เคยคิดอยากไปที่นั่น เพราะพวกนั้นฆ่าพวกเรา”

นี่คือคำตอบบวกความรู้สึกตกค้างของอาเหม็ดที่มีต่อสงครามที่ผ่านมากว่ายี่สิบปี เขาแสดงออกถึงความเกลียดชังอย่างไม่ต้องตีความ เบลเกรดเป็นศูนย์กลางทางอำนาจของคนเชื้อสายเซิร์บที่เป็นตัวการในการสร้างสงครามบอสเนีย ซึ่งเขาหมายถึงพวกเซิร์บที่อาศัยอยู่ในบอสเนียฯ และได้รับการหนุนหลังจากรัฐบาลเซอร์เบีย

นี่เป็นเพียงมุมหนึ่งที่ฉันได้เรียนรู้จากอาเหม็ด ความทรงจำที่เขามีต่อสงครามบอสเนีย ในอีกแง่หนึ่งที่ได้สัมผัสแม้จะรู้จักกันไม่นานคือ อาเหม็ดมักแสดงความคิดแบบผู้ชายมุสลิมอนุรักษนิยมที่ถือผู้ชายเป็นใหญ่ค่อนข้างชัดเจน และมักจะพูดถึงแฟนเก่าของเขาว่าแต่งตัวเปิดเผยเนื้อตัวมากเกินไป และไม่ทำตัวให้เหมาะสมกับเป็นสาวมุสลิม

ในหนังสือและบทความที่ฉันอ่านเสนอความเห็นคล้ายๆ กันว่า ความคิดกลับไปยึดหลักศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัดถือเป็นเรื่องใหม่ในกลุ่มคนมุสลิมในบอสเนียฯ ที่เพิ่งเกิดในช่วงหรือหลังสงครามบอสเนียเท่านั้น เพราะผู้คนต้องการสร้างความแตกต่างจากคนเชื้อสายโครแอทซึ่งเป็นคาทอลิกและเซิร์บที่ถือคริสต์นิกายออธอดอกซ์

ก่อนหน้าสงคราม มุสลิมบอสนิแอกมีความทันสมัยและเสรีนิยมในการใช้ชีวิตทางโลกค่อนข้างสูง ผนวกเข้ากับการเข้าไปมีบทบาทของประเทศมุสลิมแถวหน้าอย่างอิหร่าน ประเทศในโลกอาหรับ ประเทศในแอฟริกาเหนืออย่างโมร็อกโกและตูนีเซีย รวมถึงประเทศมุสลิมในเอเชีย เช่น ปากีสถาน บังคลาเทศ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ที่ทั้งโน้มน้าวและกดดันองค์กรระหว่างประเทศให้เข้าไปช่วยเหลือชาวมุสลิมที่ถูกรังแกผ่านองค์การสากลของประเทศมุสลิม (Organization of the Islamic Conference: OIC)

บางครั้งอาเหม็ดยังกระทบกระเทียบมาถึงฉันซึ่งเขาปฏิบัติด้วยไม่ต่างกับเพื่อนสนิท ขณะที่เรานั่งรถชมเมืองในคืนแรกที่พาฉันไปกินข้าวในร้านอาหารในตัวเมืองเก่า เขาโพล่งขึ้นว่า “อายุใกล้ 40 แล้ว ยังไม่แต่งงานถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติมาก” และพูดต่ออีกว่าฉันเรียนมากเกินไป ซึ่งไม่จำเป็นเลย หากต้องแต่งงานไป

“Woman is not supposed to know everything, knowing something is ok.”

“ผู้หญิงไม่เห็นต้องรู้ทุกเรื่อง รู้แค่บางเรื่องก็โอเคแล้ว”

ความตรงไปตรงมา โดยที่ไม่ต้องแสดงความคิดแบบยอมรับสิทธิสตรีของอาเหม็ดทำให้ฉันระเบิดหัวเราะออกมา เขาหันมามอง ทำหน้าเหมือนเห็นฉันเป็นคนประหลาด

คืนแรกของฉันจบลงแบบไม่ยืดเยื้อ อากาศเริ่มเย็นลง อาเหม็ดแนะนำว่าวันรุ่งขึ้นจะพาฉันกลับมาที่เมืองเก่าอีกครั้งเพื่อเห็นบรรยากาศตอนกลางวัน ระหว่างนั่งรถ อาเหม็ดชี้ให้ดูตึกอพาร์ทเมนท์ที่เขาบอกว่าเป็นของนักธุรกิจรัสเซียที่มาสร้างไว้เพื่อฟอกเงินจากธุรกิจสีเทา

สอดคล้องกับสถานการณ์ล่าสุดของตุซลา มีการทำวิจัยและรายงานโดยสื่อมวลชนว่า ในช่วงหลังสงครามใหม่ๆ บอสเนียฯ เป็นประเทศที่มีนักลงทุนต่างชาติใช้โอกาสในช่วงเศรษฐกิจของประเทศที่ยังต้องพึ่งพาแหล่งทุนนอกมาพยุงเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัสเซีย ออสเตรีย โครเอเชีย เซอร์เบีย สโสวีเนีย และเยอรมนี แต่ในช่วงหลายปีหลัง บอสเนียฯ กลายเป็นสวรรค์ของนักลงทุนจากประเทศตะวันออกกลาง เพราะนักลงทุนเหล่านี้มองว่าบอสเนียฯ เป็นประเทศมุสลิมในยุโรปที่ยังมีระดับความยากจนสูง และมีอัตราว่างงานถึง 40 เปอร์เซ็นต์

ด้วยเหตุนี้ก็เป็นโอกาสให้มีธุรกิจมืดแฝงเข้ามาพร้อมๆ กับปัญหาทุจริตและการให้สินบนในระบบราชการ และคนก็ถือปฏิบัติเป็นเรื่องที่ยอมรับกันได้ในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้สินบนเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้การติดต่อราชการสะดวกและรวดเร็วขึ้น

ในรายงานของสํานักงานยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime) ปี 2011 ยังระบุว่าคนบอสเนียนเองยอมรับว่าคอร์รัปชันเป็นปัญหาลำดับ 4 ของประเทศ รองจากการว่างงาน ประสิทธิภาพในการทำงานของรัฐบาล และความยากจนหรือคุณภาพชีวิตที่ต่ำกว่ามาตรฐาน

วันรุ่งขึ้น อาเหม็ดพาฉันกลับไปยังตัวเมืองเก่าอีกรอบ เขาไปจอดรถใกล้กับตลาดสดในตัวเมืองและเดินเล่นรอบเมืองตามจุดที่เมื่อคืนเห็นแบบชิมลางเท่านั้น หนังสือแนะนำท่องเที่ยวที่ฉันหยิบติดมือมาด้วยอธิบายว่า ด้วยความที่ตุซลาเป็นเหมืองแร่เกลือมาก่อน ทำให้ตัวเมืองเก่าทรุดตัวกลายเป็นบ่อ เจ้าหน้าที่จึงต้องทำลายอาคารเก่าแก่ที่สร้างสมัยจักรวรรดิออตโตมัน จนแทบไม่เหลือร่องรอยให้เห็นแล้ว อาคารเก่าที่ยังพอหลงเหลือแต่ใหม่กว่ายุคนั้นขึ้นมาคือโรงละครแห่งชาติที่สร้างขึ้นในปี 1898 สมัยที่บอลข่านอยู่ภายใต้การปกครองของออสเตรีย-ฮังการี หรือจักรวรรดิฮับส์บวร์ก (Habsburg Empire)

จากนั้น อาเหม็ดขับรถพาฉันไปดูความทันสมัยของตุซลาในฐานะที่เป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมและการศึกษาที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ที่นี่มีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยตุซลานิยมมาพบปะกันในคาเฟ่ ขณะเดินผ่านชั้นล่างของห้างสรรพสินค้า อาเหม็ดชี้ให้ฉันดูร้านเสื้อผ้าแบรนด์ตุรกีชื่อดังและเป็นที่นิยม คนที่นี่ที่ยังคงนิยมความทันสมัยของตุรกี เหมือนวัฒนธรรมออตโตมันที่ฝังรากลึกในผืนแผ่นดินบอลข่านจนยากที่จะถอนให้หลุดออก

เมื่อเดินขึ้นไปยังชั้นบนของห้างสรรพสินค้า ฉันเห็นว่ามีคาเฟ่หลายแห่งเปิดเป็นพื้นที่ให้คนหนุ่มสาวใช้เป็นที่พบปะกัน ฉันรู้สึกตื่นเต้นเพราะเห็นถึงความทันสมัยและอารมณ์ของคนรุ่นใหม่ ทุกคนดูใช้ชีวิตอย่างเสรีตามธรรมชาติของนักศึกษามหาวิทยาลัยที่นัดพบกันตามคาเฟ่ อย่างหนึ่งที่เห็นคือมีหลายคนสูบบุหรี่ ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย เพราะที่บอสเนียฯ ยังอนุญาตให้ทุกคนสูบบุหรี่โดยเสรีได้ในคาเฟ่ ซึ่งต่างจากหลายประเทศในยุโรปตะวันตกที่การสูบบุหรี่ในคาเฟ่หลายแห่งนั้นไม่ได้รับอนุญาตแล้วในปัจจุบัน

หนังสือแนะนำวัฒนธรรมของบอสเนียฯ เขียนโดย เอลิซาเบธ แฮมมอนด์ (Elisabeth Hammond) เล่าว่า ความจริงแล้วบอสเนียฯ มีกฎห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะหรือในร้านอาหารและคาเฟ่ แต่คนไม่สนใจจะปฏิบัติตาม หรือแม้แต่ภัตตาคารบางที่ที่ติดป้ายห้ามสูบบุหรี่ แต่ถ้าคนจะขอสูบ พนักงานเสิร์ฟก็อนุญาต จึงไม่แปลกที่จะเห็นแม่สูบบุหรี่ขณะอุ้มลูก หรือเห็นเด็กเป็นกลุ่มริมถนนสูบบุหรี่กัน เพราะราคาบุหรี่ที่นี่ไม่แพง และหาซื้อได้ง่ายในร้านขายของชำหรือแผงขายบุหรี่และสินค้าจิปาถะ กระนั้น การสูบบุหรี่ของคนที่นี่เป็นส่วนหนึ่งของการเข้าสังคมมากกว่า คนบอสเนียนสูบบุหรี่เมื่ออยู่กับเพื่อนในร้านอาหารหรือคาเฟ่ พวกเขาไม่นิยมสูบบุหรี่ระหว่างเดินบนถนนคนเดียว

Pannonica Tuzla / photo: visitbih.ba

ที่สุดท้ายที่อาเหม็ดพาไปเยือนคือสถานที่เล่นน้ำเกลือกลางแจ้งสาธารณะ Pannonica Tuzla สถานที่อีกแห่งที่บอกจุดกำเนิดและความหมายของตุซลาเมืองแห่งการผลิตเกลือได้เป็นอย่างดี อาเหม็ดทำงานเป็นผู้ดูแลสถานที่ แต่เวลานั้นสถานที่เล่นน้ำเกลือปิดในช่วงฤดูหนาว เขาเลยว่างชั่วคราวและไม่มีรายได้ ระหว่างที่เราเดินไปรอบๆ สระ เสียงจากมัสยิดเก่า สมัยต้นศตวรรษที่ 17 ชื่อ Džindić ที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ ประกาศให้คนทำพิธีละหมาดกังวานไปทั่ว ก่อนที่อาเหม็ดจะพูดขึ้นว่าที่นี่มีประชากรมุสลิมมาก เห็นได้จากมัสยิดมากมายระหว่างทาง และเสียงเตือนเมื่อถึงเวลาให้คนสวดจะดังไปทั่วเมือง ไม่ทันที่เขาจะพูดจบ เสียงระฆังจากโบสถ์คาทอลิกที่อยู่ใกล้ๆ ดังขึ้น อาเหม็ดพูดต่อว่า

“แต่เราก็มีคนโครแอทอยู่ด้วย”

มัสยิดด้านซ้ายและโบสถ์คาทอลิกด้านขวาบนถนนสายเดียวกัน

ฉันเห็นด้วยกับอาเหม็ด เมืองตุซลามีทั้งมัสยิด โบสถ์คาทอลิก และโบสถ์ออธอดอกซ์ และบางพื้นที่อยู่เรียงรายกันบนถนนเส้นเดียวกัน หากศาสนสถานคือสัญลักษณ์ของการรวมตัวและก่อตั้งของชุมชนแบบถาวร อีกทั้งเป็นศูนย์กลางในการทำกิจกรรมร่วมกันของผู้คนในเวลาต่อมา การมีทั้งมัสยิดและโบสถ์อยู่ในบริเวณเดียวกันได้ เป็นการบ่งบอกอย่างชัดเจนว่ากลุ่มคนหลากความเชื่อนั้นอยู่ร่วมกันได้ในชุมชนเดียวกันมาก่อนอย่างสันติ

Author

บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล
อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.นเรศวร เมืองสองแคว ยังไม่ขวบปีดี ตั้งใจเอาดีเรื่องชายแดนไทย-พม่าจนเขียนเป็นวิทยานิพนธ์ที่มหาวิทยาลัยของประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีเสรีภาพแห่งหนึ่งของโลก เรื่องราว 'สงครามบอสเนีย' และ 'นาโต้ถล่มโคโซโว' คือประสบการณ์การเดินทางที่ก่อรูปอย่างไม่รู้อนาคตจากข่าวต่างประเทศสมัยเด็กๆ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า