SaveRahaf: ราฮาฟมีและไม่มีสิทธิอะไรบ้างในบ้านตัวเอง

ข้อความในทวิตเตอร์ของ ราฮาฟ โมฮาเหม็ด แอล-เคนูน (Rahaf Mohammed Alqunun) สะท้อนความกลัวชัดเจน เธอกลัวว่าหากถูกส่งตัวกลับไปหาครอบครัว อาจทำให้ถูกดำเนินคดีอาญาในซาอุดีอาระเบีย เนื่องจากขัดขืนกฎหมายที่บังคับให้ผู้หญิงต้องอยู่ใต้การกำกับดูแลของญาติที่เป็นผู้ชาย (male guardianship) ดังนั้น เธอต้องการความมั่นใจว่าจะได้เดินทางต่อไปยังประเทศที่สาม เธอจึงต้องการพบหน่วยงานที่จะรับประกันสิทธิที่เธอมีเหมือนกับมนุษย์ทุกคนบนโลก

 

“I want UNHCR”

ราฮาฟ โมฮาเหม็ด แอล-เคนูน เดินทางถึงสนามบินสุวรรณภูมิวันที่ 5 มกราคม 2019 ระหว่างการเดินทางจากคูเวตไปออสเตรเลีย

แอมเนสตี้ (Amnesty National Thailand) รายงานว่า เธอหลบหนีมาจากการปฏิบัติมิชอบ การทุบตี และการขู่ฆ่าจากครอบครัวของตนเอง เมื่อมาถึงกรุงเทพฯ เจ้าหน้าที่สถานทูตซาอุดีอาระเบีย ได้ยึดหนังสือเดินทางของเธอเอาไว้ ปัจจุบันเธอถูกกักตัวที่โรงแรมในสนามบิน และมีการทวีตสดเพื่อรายงานความคืบหน้าสถานการณ์ของตนเอง

ฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch) ประจำภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ แถลงการณ์ว่า รัฐบาลไทยควรระงับการเนรเทศทันที และอนุญาตให้เธอเดินทางต่อไปยังออสเตรเลีย หรือไม่ก็อนุญาตให้เธออยู่ในไทยต่อไป เพื่อขอความคุ้มครองในฐานะผู้ลี้ภัย เนื่องจากการส่งตัวของเธอไปจะเป็นการปล่อยให้เธอต้องเผชิญกับอันตรายจากครอบครัว และการกีดกันทางเสรีภาพจากสังคมซาอุดีอาระเบีย

เมื่อเดือนเมษายน ปี 2017 สำนักข่าวบีบีซี เคยรายงานข่าวของ ดีนา อาลี เลสลูม (Dina Ali Lasloom) หญิงชาวซาอุดีอาระเบียผู้มีชะตากรรมไม่ต่างจากราฮาฟ

ดีนา อาลี เลสลูม กำลังเดินทางจากคูเวตโดยไปเปลี่ยนเครื่องที่ฟิลิปปินส์ แต่ถูกนำตัวกลับซาอุดีอาระเบียจากสนามบินในกรุงมะนิลาโดยครอบครัวของเธอเอง ในขณะนั้นเธอยืมโทรศัพท์ของนักท่องเที่ยวแคนาดาส่งข้อความ และวิดีโอที่โพสต์ลงทวิตเตอร์ว่า ครอบครัวจะฆ่าเธอ แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็ไม่มีใครทราบว่าชะตากรรมเธอเป็นเช่นไร

ราฮาฟต้องการพบ UNHCR เพื่อที่จะมีชีวิตที่ได้รับความคุ้มครองและตัดสินชีวิตของตนเอง

 

I Am My Own Guardian

ซาอุดีอาระเบียมีระบบบังคับให้ผู้หญิงต้องอยู่ภายใต้การคุ้มครองดูแลของผู้ชายที่อยู่ใกล้ชิด ระบบนี้เป็นการจำกัดสิทธิทางกฎหมายและลิดรอนสิทธิในชีวิตประจำวันของพวกเธอ ระบบ ‘ความคุ้มครอง’ (guardianship) ซึ่งเป็นระบบที่บังคับให้ผู้หญิงต้องอยู่ภายใต้การคุ้มครองของญาติเพศชาย หลายคนมองว่าระบบนี้เป็นอุปสรรคสำคัญที่ปิดกั้นไม่ให้ผู้หญิงในซาอุดีอาระเบียเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน

ฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุว่า ระบบความคุ้มครองในทางกฎหมายทำให้ผู้หญิงอยู่ในสถานะ ‘ผู้น้อยตลอดชีวิต’ ทำให้ผู้หญิงไม่มีสิทธิดำเนินการทางกฎหมายอย่างเต็มที่ในซาอุดีอาระเบีย และต้องได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองที่เป็นชายก่อนในเรื่องสำคัญอย่างการเดินทาง การศึกษา การประกอบอาชีพ การแต่งงาน ในบางครั้งยังรวมถึงการสมัครงานและการรับบริการทางการแพทย์ด้วย

ปี 2016 ผู้หญิงซาอุดีอาระเบียและผู้สนับสนุนจากทั่วโลกรณรงค์ด้วยการทวีตผ่านแฮชแท็กที่ระบุว่า #IAmMyOwnGuardian ‘ฉันเป็นผู้คุ้มครองตนเอง’ และ #StopEnslavingSaudiWomen ‘หยุดทำให้ผู้หญิงซาอุดีอาระเบียเป็นทาส’ เพื่อดึงดูดการสนับสนุนจากนานาชาติรวมถึงผู้สนับสนุนในประเทศ มีคนจำนวนมากโต้แย้งว่าระบบความคุ้มครองในซาอุดีอาระเบียนั้นเป็นการตีความคัมภีร์อัลกุรอานที่ไม่แม่นยำ และเป็นสิ่งที่กำหนดมาจากรัฐบาล ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้

รัฐบาลเคยพยายามยกเลิกระบบนี้มาแล้วสองครั้งในปี 2009 และ 2013 เมื่อได้รับการตรวจสอบจากสภาสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ ทางรัฐบาลได้ทำการปรับปรุงแก้ไขกฎที่เอื้อให้บรรดาผู้หญิงสามารถทำงานได้ง่ายขึ้น แต่งตั้งที่ปรึกษาหญิงสำหรับสถาบันกษัตริย์ และช่วยให้ผู้หญิงสามารถลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้

รัฐบาลประกาศแผนอนาคตของซาอุดีอาระเบียในปี 2030 ที่ต้องการพัฒนาประเทศให้สามารถอยู่รอดได้โดยไม่ต้องพึ่งเศรษฐกิจจากอุตสาหกรรมน้ำมันอย่างเดียว ซึ่งเป็นที่คาดหวังกันว่าจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองดังกล่าว และเอื้อให้ผู้หญิงมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้น

มาตรการที่ผ่อนคลายกฎเกณฑ์ควบคุมบังคับสตรีนี้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนการปฏิรูปหลากหลายด้าน หรือ ‘วิสัยทัศน์ 2030’ (Vision 2030) ซึ่ง มกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน (Mohammad bin Salman) มีพระราชดำรัสสั่งให้ดำเนินการเพื่อปฏิรูปสังคมซาอุดีอาระเบียให้ทันสมัย และพัฒนาระบบเศรษฐกิจให้มีความหลากหลายนอกเหนือจากการพึ่งพาน้ำมันดิบที่เป็นสินค้าส่งออกหลักมานาน แต่สิทธิพื้นฐานบางอย่างของผู้หญิงในซาอุดีอาระเบียก็ยังเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้

 

ราฮาฟมีและไม่มีสิทธิอะไรบ้างในบ้านตัวเอง

สิทธิเลือกตั้ง

ประเทศซาอุดีอาระเบียเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้งและลงสมัครสมาชิกสภาเทศบาลได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2015 ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการลดการเลือกปฏิบัติทางเพศในประเทศอนุรักษนิยมแห่งนี้ แต่จากตัวเลขของผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์นี้ ร้อยละ 99 ของผู้หญิงเลือกที่จะไม่ไปใช้สิทธิ ซึ่งหลายๆ สาเหตุเกิดจากกระบวนการที่ยุ่งยาก เช่น การไม่สามารถไปที่หน่วยเลือกตั้งได้เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตให้ขับรถ (ทางการซาอุดีอาระเบียยกเลิกกฎห้ามผู้หญิงขับรถอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อเดือนมิถุนายน 2018) ขณะที่อีกส่วนหนึ่งมองว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้ไม่ได้ส่งผลอะไรมากเพราะสภาเทศบาลซาอุดีอาระเบียมีอำนาจน้อยมาก ไม่มีอำนาจในส่วนนิติบัญญัติ หรือเป็นเพียงแค่ผู้ให้คำปรึกษากับรัฐบาลเกี่ยวกับระบบบริการสาธารณะอย่างสวนสาธารณะ เก็บขยะ และการปรับปรุงถนนเท่านั้น ซึ่งแม้ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจะถูกมองว่าไม่ได้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรมากมายนัก แต่อย่างน้อยก็เป็นแรงบันดาลใจสำหรับผู้หญิงและนักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีในประเทศซาอุดีอาระเบีย ในการผลักดันเพื่อสิทธิของตัวเองมากขึ้น

 

สิทธิในการขับรถยนต์

หนึ่งในความพยายามของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมาร ที่ต้องการปฏิรูปแก้ไขกฎเกณฑ์ใหม่ๆ ของประเทศซาอุดีอาระเบีย เพื่อยกระดับศักยภาพประเทศให้ทันสมัยมากขึ้นทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม คือเรื่องของการออกกฎใหม่ที่อนุญาตให้ผู้หญิงสามารถขับรถได้ โดยกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งเเต่วันที่ 24 มิถุนายน 2018 เป็นต้นไป

โดยหนึ่งเดือนก่อนหน้าที่จะมีการอนุญาตนั้น กลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีถูกทางการจับกุมตัวไป สำนักข่าวของรัฐบาลซาอุดีอาระเบียรายงานว่า ผู้ที่ถูกจับกุมตัวนั้นได้ติดต่อกับองค์กรต่างประเทศเพื่อเคลื่อนไหวและต้องการทำลายความมั่นคงและโครงสร้างทางสังคมของชาติ ภายหลังที่ซาอุดีอาระเบียประกาศเตรียมจะอนุญาตให้ผู้หญิงขับรถได้ ทางการได้ติดต่อไปถึงผู้หญิงหลายคนเตือนว่าห้ามให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างๆ หรือแสดงความติดเห็นใดๆ ลงโซเชียลมีเดีย

ถึงแม้การปรับกฎต่างๆ จะเป็นไปเพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและปรับภาพลักษณ์ของประเทศ แต่ไม่ค่อยเกี่ยวกับการเพิ่มเสรีภาพให้กับประชาชน (เพศหญิง)

 

สิทธิขยับร่างกาย

การที่หญิงสาวชาวซาอุดีอาระเบียจะขยับตัวทำอะไรสักอย่างดูจะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะซาอุดีอาระเบียเป็นหนึ่งในประเทศที่ยึดกฎระเบียบและเชื่อกันว่า ‘การเล่นกีฬา เป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมสำหรับเพศหญิง’ ดังนั้นการออกกำลังกาย เล่นกีฬา รวมถึงความอิสระในการขยับเขยื้อนร่างกาย จึงเป็นเรื่องที่สงวนไว้เฉพาะเพศชาย

กฎระเบียบที่น่าอึดอัดเช่นนี้ถูกปฏิบัติต่อกันมาอย่างยาวนานและไม่ว่าจะเป็นมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่แค่ไหนในหลายปีที่ผ่านมา เรามักไม่ค่อยเห็นนักกีฬาหญิงที่มาจากกลุ่มประเทศมุสลิมเสียเท่าไร เพราะประเทศเหล่านี้มักมีนโยบายไม่ส่งนักกีฬาที่เป็นเพศหญิงเข้าร่วมการแข่งขันใดๆ ทั้งสิ้น จนกระทั่งเมื่อปี 2012 ข่าวดีเกิดขึ้นในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกลอนดอนเกมส์ เจ้าชายนาเยฟ แห่งซาอุดีอาระเบีย ได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นว่า มีแผนจะส่งนักกีฬาหญิงเข้าร่วมชิงชัยในเกมนี้เป็นปีแรก

การเคลื่อนไหวครั้งสำคัญต่อมาเกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2016 เมื่อมิวสิควิดีโอเพลง Hwages ซึ่งออกเสียงตามภาษาอาหรับว่า ‘ฮวากส์’ หรือที่แปลว่า ‘ความกังวล’ ได้ถูกเผยแพร่ในเว็บไซต์ YouTube โดยเนื้อหาภายในวิดีโอพูดถึงความไม่พอใจของผู้หญิงชาวซาอุดีอาระเบียที่พวกเธอรู้สึกถูกกดขี่ให้ต้องอยู่ภายใต้ของการตัดสินของกรอบอะไรบางอย่างที่กำหนดว่า พวกเธอสามารถทำ-ไม่ทำอะไรได้บ้าง ซึ่งในมิวสิควิดีโอนี้ ฉายให้เห็นภาพหญิงสาวสวมชุดแต่งกายตามหลักศาสนาทุกอย่าง ออกมาทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งเล่นสเก็ตบอร์ด บาสเกตบอล ร้องเพลง เต้น และโพสต์ลงบนแชนเนลที่ชื่อว่า Majedalesa | ماجد العيسى จนถึงตอนนี้มียอดคลิกเข้าชมพุ่งสูงไปเกือบ 25 ล้านครั้งแล้ว

ข่าวดีต่อมาในปี 2017 เมื่อทางการซาอุดีอาระเบียอนุญาตให้ผู้หญิงเข้าชมการแข่งขันกีฬาในสนามบางแห่งได้ ซึ่งสอดคล้องไปตามมาตรการพัฒนาประเทศให้ก้าวทันโลกสมัยใหม่ โดยระบุว่า จะเปิดให้ประชาชนเข้าชมเกมกีฬาได้ ‘ทั้งครอบครัว’ ในสนามกีฬาหลักของสามเมืองใหญ่ คือที่กรุงริยาด นครเจดดาห์ และเมืองอัดดัมมาม

แม้กฎระเบียบที่น่าอึดอัดห้ามกระทั่งไม่ให้นักเรียนหญิงเรียนวิชาพลศึกษา จะเริ่มคลี่คลายลง แต่ล่าสุดเรายังพบเจอกรณีที่สะท้อนให้เห็นการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพในผู้หญิงซาอุดีอาระเบียได้จากเหตุการณ์ #SaveRahaf

 

สิทธิในเครื่องแต่งกาย

หลังการประกาศจากผู้นำทางศาสนาระดับสูงของซาอุดีอาระเบีย ที่กล่าวแสดงความเห็นว่า จากสถิติในประเทศพบสตรีมุสลิมที่เคร่งศาสนาจำนวนกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้สวมชุดคลุมยาวปกปิดร่างกาย หรือ อาบายะห์ ฉะนั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องบังคับให้พวกเธอสวมเสื้อผ้าเพื่อปกปิดร่างกายมิดชิดเวลาที่ต้องอยู่ต่อหน้าสาธารณชน หลายฝ่ายคาดว่าความเห็นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวเพื่อพัฒนาสังคมซาอุดีอาระเบียให้มีความทันสมัยขึ้น ทำให้สตรีในซาอุดีอาระเบียเริ่มที่จะแต่งกายด้วยสีสัน ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกเข้มงวด ต่างจากสังคมชนชั้นสูงของเจ้าชายเจ้าหญิงที่นิยมการแต่งกายแบบตะวันตก และเป็นหลักการบังคับในศาสนาอย่างเช่นการทำละหมาดและการถือศีลอด 

ความพยายามนำสังคมอนุรักษนิยมไปสู่ความทันสมัยได้รับความสนใจจากนานาชาติมาโดยตลอด โดยเฉพาะล่าสุดกับมาตรการผ่อนปรนความเคร่งครัดในการแต่งกายของสตรีมุสลิม ซึ่งได้ชื่อว่ามีความเคร่งทางศาสนาที่สุดในแถบตะวันออกกลาง ซึ่งที่ผ่านมามีการออกกฎหมายบังคับให้สตรีสวมเสื้อผ้าปกปิดคลุมร่างกายอย่างมิดชิด แต่อย่างไรก็ตามยังไม่มีรายงานว่าสภานักการศาสนาอาวุโสจะสนับสนุนให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายควบคุมการแต่งกายของสตรีหรือไม่ แต่ระบุเพียงว่า สตรียังควรยึดมั่นในหลักการแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อยอยู่

ความคิดเห็นล่าสุดนี้เป็นหนึ่งความเห็น ที่มีผลต่อปฏิกิริยาของคนในสังคมจำนวนไม่น้อย ที่รอคอยการเปลี่ยนแปลงในสังคมซาอุดีอาระเบียมาอย่างยาวนาน และแนวคิดนี้ ยังสอดคล้องกับบริบทของสังคมซาอุดีอาระเบียตลอดช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ที่สตรีเริ่มหันมาฉีกกฎการแต่งกายแบบเดิมที่เน้นแต่โทนสีดำ ด้วยการสวมชุดอาบายะห์ที่มีสีสันสวยงามมากขึ้น นอกจากนี้ยังพบแฟชั่นการสวมอาบายะห์ทับกระโปรงยาวหรือกางเกงยีนส์เพื่อความคล่องตัวในบางพื้นที่ในประเทศด้วย

 

สิทธิการศึกษา

การศึกษาในมหาวิทยาลัยไม่ใช่สิ่งต้องห้ามแต่สำหรับซาอุดีอาระเบีย การศึกษาของผู้หญิงไม่ใช่สิ่งจำเป็น แม้ผู้หญิงสามารถที่จะเข้าศึกษาได้ แต่มีข้อจำกัดมากมาย แม้ว่าจำนวนผู้จบการศึกษาขั้นมหาวิทยาลัยของผู้หญิงจะมีจำนวนมากกว่าผู้ชาย แต่คุณภาพการศึกษานั้นค่อนข้างแย่ และเป็นเรื่องยากมากสำหรับผู้หญิงหากต้องการทุนการศึกษาไปเรียนต่อต่างประเทศ แม้จะได้รับการอนุญาตจากผู้ปกครองแล้วก็ตาม โดยผู้หญิงส่วนใหญ่จะเข้าศึกษาในด้านครุศาสตร์และวิทยาศาสตร์ แต่ส่วนมากจะไม่ได้งานหลังเรียนจบ

ในปี 2005 พระราชาธิบดีอับดุลเลาะห์เคยให้นักศึกษาหลายพันคนไปเรียนต่างประเทศได้ แต่ไม่อนุญาตให้ผู้หญิงจำนวนมากเข้าร่วมโครงการ เพราะในตอนนั้นการให้ผู้หญิงเดินทางออกนอกประเทศยังไม่ใช่เรื่องปกติในสังคมซาอุดีอาระเบีย แต่ก็มีจำนวนผู้หญิงได้รับอนุญาตให้ไปศึกษาต่อต่างประเทศมากขึ้นทีละนิด

ปัจจัยที่ทำให้ผู้หญิงซาอุดีอาระเบียมีโอกาสมากขึ้นในสังคมคือโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่ทำให้ผู้หญิงสื่อสารเกี่ยวกับชีวิตตัวเอง และคนที่ออกไปเรียนต่างประเทศกลับมาก็มีบทบาทพูดออกเสียงตัวเองมากขึ้นในโลกโซเชียล จนเริ่มทำให้การเปิดเผยตัวเองของผู้หญิงซาอุดีอาระเบียในโลกออนไลน์กลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญมากขึ้น ทำให้พวกเธอกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิให้ตัวเองมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังทำให้ในโซเชียลมีเดียมีผู้คนหลากหลายบุคลิกมากขึ้นจนดึงดูดให้ผู้คนอื่นๆ เข้าร่วม

 

สิทธิที่จะมีชีวิตอิสระในที่สาธารณะ

ตามระบบ ‘ความคุ้มครอง’ (guardianship) ซึ่งเป็นระบบที่บังคับให้ผู้หญิงต้องอยู่ภายใต้การคุ้มครองของญาติเพศชาย ทำให้ผู้หญิงซาอุดีอาระเบียไม่สามารถไปไหนโดยไม่มีญาติเพศชายคอยกำกับดูแล ชายที่เดินทางไปกับผู้หญิงเรียกว่า ‘มะฮฺรอม’ กฎนี้ครอบคลุมกิจกรรมสำคัญในชีวิตตั้งแต่การเดินทางออกนอกประเทศ การเข้าเรียนมหาวิทยาลัย หรือแม้แต่การรับการรักษาทางการแพทย์ เคยมีกรณีหญิงออกจากบ้านตามลำพังแล้วถูกข่มขืน แทนที่จะได้รับความช่วยเหลือหรือเห็นใจ เธอกลับถูกลงโทษตามกฎหมายว่าละเมิดกฎออกไปข้างนอกคนเดียว

 

สิทธิในการเลือกคู่

เมื่อการแต่งงานไม่ใช่เรื่องของความรักอีกต่อไป หญิงสาวชาวซาอุดีอาระเบียยังคงต้องเผชิญกับปัญหาถูกครอบครัวจับคู่ให้ หรือที่เรียกว่า ‘การคลุมถุงชน’ อยู่ ชะตากรรมอันโหดร้ายนี้ไม่เว้นแม้แต่ผู้หญิง เพราะในปี 2013 ที่ผ่านมา ทางการซาอุดีอาระเบียออกประกาศสำคัญมาว่า ‘ห้ามผู้ชายสมรสกับผู้หญิงในทวีปเอเชียสามประเทศ และในประเทศแอฟริกาหนึ่งประเทศ’ หญิงสาวจากสี่ประเทศ จากสองทวีปต้องห้าม ได้แก่ บังคลาเทศ ปากีสถาน เมียนมาร์ และ ชาด

โดยเชื่อว่าสาเหตุมาจากมีประชาชนในประเทศที่มาจากประเทศต้องห้ามดังกล่าว อาศัยอยู่ในซาอุดีอาระเบียมากพอแล้ว แต่ถ้าหนุ่มซาอุดีอาระเบียคนไหน ต้องการสมการกับหญิงชาวต่างชาติจริงๆ จะต้องขออนุญาตจากรัฐบาลและต้องยื่นคําร้องขอแต่งงานกับทางราชการเสียก่อน โดยจะต้องอยู่ในกรอบเกณฑ์และข้อจำกัดที่ทางการกำหนดไว้ ต้องมีอายุมากกว่า 25 ปีขึ้นไป หากเพิ่งหย่าร้าง ต้องรออย่างน้อยหกเดือน จึงจะสามารถยื่นขออนุมัติการแต่งงานจากทางการครั้งใหม่ได้ หรือหากชายใดแต่งงานแล้ว ต้องการหญิงต่างชาติเป็นภรรยาคนที่ 2 จะต้องยื่นแสดงหลักฐานพิสูจน์ต่อเจ้าหน้าที่ว่า ภรรยาคนแรกป่วย พิการ หรือไม่สามารถมีบุตรได้ ซึ่งตามระเบียบอนุญาตให้ผู้ชายสามารถมีภรรยาได้สี่คน ตามหลักของศาสนา

 

#SaveRahaf

ผ่านไปสามวัน เรื่องราวของราฮาฟกลายเป็นกระแสในโลกโซเชียล ชาวทวิตเตอร์แสดงอารมณ์ร่วมผ่านแฮชแท็ก #saverahaf ชาวทวิตเตอร์ทั่วโลกเรียกร้องให้มีการกดดันรัฐบาลไทย ไม่ให้ส่งราฮาฟกลับซาอุดีอาระเบีย และให้ช่วยเธอไปสู่ประเทศที่สามอย่างปลอดภัย

แต่ในวันที่ 7 มกราคม 2019 ราฮาฟที่ถูกควบคุมตัวในโรงแรมบริเวณท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พยายามจะสื่อสารผ่านทวิตเตอร์ว่า ทางการไทยไม่อนุญาตให้ยูเอ็นเข้าถึงตัวเธอ

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีนี้ว่า เป็นเรื่องระหว่างประเทศซาอุดีอาระเบียกับประเทศไทย ประเทศที่สามไม่เกี่ยว จะส่งไปประเทศที่สามตามที่ร้องขอไม่ได้ เพราะไม่มีอำนาจ

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า