ส่องรัฐประหารตุรกี ย้อนการเมืองไทย

turkey-01

เรื่อง: ณิชากร ศรีเพชรดี / ภาพ: วีรวรรณ ศิริวัฒน์

 

ทันทีที่ภาพประวัติศาสตร์ ‘ประชาชนชาวตุรกีใช้ร่างกายตัวเองขวางรถถัง’ อันเป็นสัญลักษณ์ต่อต้านการรัฐประหารเผยแพร่ออกไป มีการนำภาพดังกล่าวเชื่อมโยงสะท้อนกลับมายังประเทศไทย โดยตั้งเป็นคำถามก้อนใหญ่ๆ ว่า เหตุใดภาพประวัติศาสตร์ในวันรัฐประหารของเรา จึงเป็นรูปที่ประชาชนเข้าไปยื่นดอกไม้ให้เหล่าทหารหาญแทน

พ้นไปจากเรื่องย้อนแย้งดังกล่าว รายงานสถานการณ์ต่อเนื่องหลังจากที่ เรเจป ไทย์ยิป เอร์โดอัน ประธานาธิบดีตุรกี สามารถควบคุมสถานการณ์และปราบฝ่ายกบฏได้ เอร์โดอันออกหมายจับเพื่อกวาดล้างผู้เห็นต่างทั้งในกองทัพ ผู้พิพากษา อัยการ และตำรวจ ตลอดจนข้าราชการพลเรือน มีการซ้อมทรมาน และมีการเรียกร้องจากผู้สนับสนุนเอร์โดอันเรื่องแก้กฎหมายให้มีการประหารชีวิตเพื่อลงโทษผู้ที่มีส่วนร่วมในการก่อกบฏครั้งนี้ด้วย

‘เราจะมีท่าทีหรือทำความเข้าใจต่อเรื่องปรากฏการณ์นี้อย่างไร’

คือประเด็นตั้งต้นในวงสนทนา ‘ตุรกีในสายตานักวิชาการไทย’ ณ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง วันที่ 11 สิงหาคม ที่ผ่านมา

งามศุกร์ รัตนเสถียร อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดวงสนทนาด้วยข้อสังเกตเชื่อมโยงประเด็นจากประเทศตุรกีถึงสถานการณ์ในไทยว่า

แม้เอร์โดอันจะมีที่มาจากวิถีประชาธิปไตย และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมาจากการรัฐประหาร แต่วิธีจัดการกับผู้เห็นต่างของทั้งคู่กลับไม่ต่างกันเลย เพราะพยายามสร้างความชอบธรรมในการจะกวาดล้างผู้ที่เห็นต่างจากตัวเอง

 

IMG_9715

การเมืองอิสลามในตุรกี 101

เพื่อจะนำไปสู่การอธิบาย ตั้งคำถาม กระทั่งโต้แย้งต่อข้อสังเกตของงามศุกร์

อาทิตย์ ทองอินทร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะผู้ที่ศึกษาประเด็นความมั่นคงและการก่อการร้าย อธิบายโจทย์สองเรื่องเพื่อตั้งหลักทำความเข้าใจในการเมืองตุรกี คือ การเข้าใจเรื่อง ‘พลวัตการเมืองในอิสลามตุรกี’ และกรอบคิดเรื่อง ‘deep state’ ที่แปลเป็นไทยได้ว่า ‘รัฐพันลึก’ หรือ ‘รัฐซ้อนรัฐ’

“ถ้ามองเผินๆ การเมืองตุรกีอาจคล้ายประเทศอาหรับทั่วไป หรือหลายๆ ประเทศที่ใส่สภาวะสมัยใหม่ลงไปในรัฐ ด้วยต้องการแยกศาสนากับรัฐหรือการเมืองให้ออกจากกัน แต่ในตุรกีนั้นแตกต่างออกไป ตุรกีไม่เหมือนประเทศอาหรับอื่นๆ เพราะไม่เคยถูกยึดครองโดยตะวันตก ฉะนั้นการปรับตัวไปสู่ความเป็น modernity จึงเป็นการปรับตัวด้วยตัวของตุรกีเอง ไม่ได้อยู่ในกรอบการ secularism (โลกวิสัย) แบบตะวันตก พูดให้ชี้ชัดไปกว่านั้น ก็คือกรอบคิดตามแบบฝรั่งเศส”

อาทิตย์อธิบายว่า การแยกศาสนากับพื้นที่สาธารณะออกจากกัน (secularization) เกิดจากการปรับตัวของตุรกีในราวปี 1932 โดยมีแนวคิด Kemalism ของ เคมาล อตาเติร์ก เป็นหลักยึด ซึ่งเชื่อว่าหลักคิดดังกล่าวจะเป็นเงื่อนไขสำคัญในการนำตุรกีกลับไปสู่ความยิ่งใหญ่อีกครั้ง และจะเป็นความยิ่งใหญ่ตามแนวทางความเป็นสมัยใหม่แบบตะวันตกด้วย

แต่อันที่จริงงานเขียนของนักวิชาการหลายคนจะมองว่า Kemalism ไม่ได้แยกศาสนาออกจากพื้นที่สาธารณะแต่อย่างใด แต่คือการกดศาสนาให้อยู่ภายใต้อำนาจรัฐ เป็นวัตถุทางอำนาจของการเมือง กิจกรรมทางศาสนาไม่ได้อยู่ในพื้นที่ส่วนตัวที่ปัจเจกสามารถมีเสรีภาพได้เต็มที่ แต่ทำได้เท่าที่รัฐอนุญาตและสั่งการ

และนี่คือการตีกลับของฝ่ายศาสนานิยม

ในมุมมองของอาทิตย์เห็นว่า ความน่าสนใจของการเมืองตุรกีอยู่ที่ ‘จังหวะเวลาที่ฝ่ายศาสนานิยมเลือกตีกลับอุดมการณ์ทางศาสนา’ โดยเลือกใช้ช่วงรัฐบาลเผด็จการทหาร หยิบยืมอุดมการณ์อิสลามการเมืองมาผสมกับความเป็นชาตินิยม ในการยันกับขบวนการคอมมิวนิสต์ฝ่ายซ้ายแทนในราวทศวรรษ 1980

อันนำไปสู่การอธิบายความหมายของคำว่า ‘deep state’ หรือ ‘รัฐพันลึก’ ในที่สุด

IMG_9711

Deep State รัฐซ้อนพันลึก

คำว่า ‘Deep State’ ถูกนำเสนอโดย อูชีนี เมริเออ (Eugénie Mérieau) นักนิติศาสตร์-รัฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศส เพื่อประยุกต์และนำมาวิเคราะห์การเมืองไทยในราว 20 ปีหลังนี้ มีการอ้างถึงกันมากว่ามีส่วนคล้ายสถานการณ์การเมืองในไทย โดยนักวิชาการอย่าง ผาสุก พงษ์ไพจิตร และ นิธิ เอียวศรีวงศ์

ตัดตอนจากบทความ ‘รัฐพันลึก VS สังคมพันลึก (ตอนต้น)’ โดย เกษียร เตชะพีระ ที่ยกคำอธิบายความหมายของคำว่า ‘รัฐพันลึก’ ของผาสุก ไว้ดังนี้

“รัฐพันลึกเหมือนกับรัฐปกติที่ไม่ได้เป็นหนึ่งเดียว ภายในรัฐพันลึกก็มีมุ้งต่างๆ แก่งแย่งชิงอำนาจกันอยู่ แต่มีข้อต่างคือ รัฐปกติมองเห็นด้วยตา แต่รัฐพันลึกแฝงหลบอยู่ลึกก้นบึ้ง และไม่ต้องรับผิดชอบกับการกระทำใดๆ จึงเป็นกรอบโครงแบบไม่เป็นทางการ ในการรักษาหรือคงไว้ซึ่งผลประโยชน์ด้านสถาบันของกลุ่มบุคคลที่มีเป้าประสงค์ร่วมกัน ทั้งผู้ที่อยู่ในรัฐปกติ และที่อยู่ในเครือข่ายนอกรัฐที่จะยึดโยงกันไว้ในการกระทำการ เพื่อเป้าประสงค์ในการรักษาผลประโยชน์ที่ว่านั้น”

ตัดภาพกลับไปยังเวทีเสวนา อาทิตย์อธิบายแนวคิด ‘รัฐซ้อนรัฐ’ ในตุรกีว่าถูกวิจารณ์กันมากว่า ‘เฟตุลเลาะห์ กูเลน’ (Fethullah Gülen) ผู้นำทางศาสนาที่ปัจจุบันลี้ภัยอยู่ในสหรัฐ เป็นผู้บงการรัฐที่ซ้อนกันอยู่นี้

อาทิตย์ตั้งคำถามต่อไปว่า ทุกวันนี้แนวคิดเรื่องรัฐพันลึกยังคงใช้เป็นวาทกรรมเพื่ออธิบายการเมืองในตุรกีได้อยู่หรือเปล่า หรือแท้จริงแล้วมันเป็นวาทกรรมที่เอร์โดอันยกขึ้นมาเพื่อปราบผู้ที่เห็นต่างเท่านั้น?

“กิจกรรมทางศาสนาที่ถูกกำหนดโดยรัฐ ในมุมมองของผมนั่นคือ deep state

“และแรงกดดันบีบคั้นต่อผู้ที่อยากจะยืนอยู่บนพื้นฐานอัตลักษณ์แบบมุสลิม แบบออตโตมัน ที่เป็นแรงกดทับสะสมมาจากการทำรัฐประหาร แบน และยุบพรรค ของกลุ่มกิจกรรมทางการเมืองแนวอิสลาม สามสี่ครั้งที่ผ่านมา จนทำให้ชาวตุรกีไม่สามารถแสดงอัตลักษณ์ของตัวเองได้เลย ในมุมมองของผม เหล่านี้ต่างหากคือ deep state ที่แท้จริง ไม่ใช่กูเลน”

IMG_9713

เฟตุลเลาะห์ กูเลน

เฟตุลเลาะห์ กูเลน ผู้นำทางศาสนาที่ปัจจุบันลี้ภัยอยู่ในสหรัฐ ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังการก่อการรัฐประหารในครั้งนี้ มากไปกว่านั้น เขายังถูกขนานนามว่าเป็นองค์อธิปัตย์ เป็นผู้นำของรัฐที่เหนือรัฐอีกด้วย

“ผู้คนส่วนใหญ่มักเกรงกลัวความเป็นอิสลาม เข้าใจว่าอิสลามเป็นผู้ที่ใช้ความรุนแรงในการต่อสู้ มิติเรื่องศาสนาอิสลามเรื่องการใช้ความรุนแรงยังติดอยู่กับกรอบนั้นมาก แต่กูเลนที่ผมศึกษา คือผู้ที่ประกาศว่าอิสลามมีศัตรูอยู่สามสิ่ง นั่นคือความไม่รู้ ความจน และความไม่สมัครสมานแตกแยก

“ผู้ที่ใช้การศึกษาเป็นอาวุธผู้นี้น่ะหรือ ที่เป็นผู้ก่อการร้าย?”

คือความเห็นของ สุชาติ เศรษฐมาลินี มหาวิทยาลัยพายัพ นักสังคมวิทยาชาวมุสลิม และเป็นผู้ที่ศึกษาแนวคิดของ เฟตุลเลาะห์ กูเลน

สุชาติกล่าวว่า กูเลนที่เขาศึกษา คือผู้นำทางศาสนาที่ถูกยกย่องว่าเป็น ‘บิดาแห่งงานสังคมสงเคราะห์’ และสุชาติเห็นว่า แนวความคิดต่อเรื่องศาสนาและการเมืองของกูเลนเป็นไปอย่างทันสมัย คือการเสนอจำกัดอำนาจของทหารไม่ให้เข้าไปอยู่ในวังวนของการปฏิวัติ

ประชาธิปไตยพันลึก

“ในเมืองไทยมีการพูดและตั้งข้อสังเกตกันมากว่า สุดท้ายแล้วรัฐประหารจะนำไปสู่การเป็นประชาธิปไตยได้ไหม หรือกระทั่งว่าประชาธิปไตยคือคำตอบของการปกครองในยุคสมัยนี้ไหม?”

งามศุกร์เปิดบทสนทนาด้วยคำถามนี้ และอธิบายต่อไปถึงข้อวิพากษ์ของสังคมที่บอกว่า ให้ดูการต่อสู้ของประชาชนต่อการรัฐประหารครั้งนี้ของตุรกีเป็นตัวอย่าง เพราะการเมืองไทยและตุรกีมีส่วนคล้ายคลึงกัน ทั้งในแง่ ‘รัฐพันลึก’ การรัฐประหารหลายครั้ง กระทั่งการจัดการกับผู้ที่เห็นต่างด้วยการสร้างความชอบธรรมให้รัฐบาล

หากงามศุกร์เห็นว่า ถึงจะคล้าย แต่ก็ไม่ถือว่าตุรกีเป็นคู่ชกกับไทยแน่นอน

ถึงตุรกีจะไม่ใช่คู่ชกกับไทย แต่สิ่งที่ต้องถามคือว่า เราจะมีท่าทีต่อการจัดการกับผู้ที่มีอำนาจ และเราเห็นว่าเขาใช้มันอย่างไม่ชอบธรรมอย่างไร

ก่อนหน้านี้งามศุกร์ได้จัดวงสนทนาเล็กๆ ระหว่างเธอและเพื่อนชาวตุรกี ซึ่งเป็นศิษยานุศิษย์กูเลน งามศุกร์นำมาอธิบายบนเวทีว่า ความกังวลของเพื่อนชาวตุรกีในปัจจุบันนี้ คือกลัวการกวาดล้างจากเอร์โดอัน และจะตกอยู่ในภาวะใกล้เคียงกับยุคเขมรแดง

ทวิตรา เจรจา มหาวิทยาลัยรามคำแหง หนึ่งในผู้ร่วมเสวนา ให้ความเห็นปิดท้ายประเด็นดังกล่าวว่า เมื่อใดก็ตามที่รัฐสวมชุดคลุมที่ชื่อประชาธิปไตยมาต่อต้านหรือกำจัดผู้ที่เห็นต่าง เมื่อนั้นคือการที่รัฐได้ประกาศตัวเป็นปรปักษ์กับประชาธิปไตยเช่นกัน

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า