ชีวิตใหม่สดใสของราฮาฟบนความขุ่นมัวของซาอุดีอาระเบีย-แคนาดา

“I am one of the lucky ones.”

หนึ่งในประโยคจากการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 16 มกราคม ที่ผ่านมา ในฐานะผู้ลี้ภัยในประเทศแคนาดาของ ราฮาฟ โมฮาเหม็ด อัล-เคนูน (Rahaf Mohammed al-Qunun) หญิงสาวซาอุดีอาระเบียวัย 18 ปี ที่บอกว่าตัวเองเป็นผู้หญิงที่โชคดีและรู้สึกปลอดภัย เมื่อได้มาอยู่ในประเทศที่ให้ความสำคัญและเคารพเรื่องสิทธิมนุษยชน

ย้อนกลับไปดูต้นตอของความฮือฮา กรณีนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อราฮาฟถูกกักตัวในสนามบินสุวรรณภูมิ หลังตั้งใจเดินทางหนีจากประเทศบ้านเกิดซาอุดีอาระเบียไปยังออสเตรเลีย แต่ขณะรอเปลี่ยนเครื่องที่ไทย เธอถูกเจ้าหน้าที่ยึดพาสปอร์ตเสียก่อน ทำให้ไม่สามารถเดินทางต่อไปได้

ราฮาฟแสดงความหวาดกลัวและขอความช่วยเหลือผ่านข้อความในทวิตเตอร์ “I want UN!” เธอกลัวครอบครัวจะตามมาทำร้ายหรือถูกดำเนินคดี เพราะเธอหนีจากการถูกจับคลุมถุงชนและการละทิ้งศาสนาอิสลาม ซึ่งถือเป็นเรื่องร้ายแรง

เรื่องราวของ ราฮาฟ หญิงสาวชาวซาอุดีอาระเบีย อาจไม่ได้รับความสนใจจากทั่วโลกเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หากเธอไม่ใช้งานสื่อช่วยกระพือให้แพร่สะพัดออกไป ซึ่งข่าวที่ออกไปอย่างรวดเร็วนี้ทำให้ทางการไทยถูกจับตาจากนานาชาติและองค์กรสิทธิมนุษยชนทั่วโลก จนสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ได้เข้ามาคุ้มครองเธอในฐานะผู้ลี้ภัย

คำถามคือ ทำไมต้องเป็นเธอ?

และทำไมสื่อตะวันตกถึงให้ความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะแคนาดาที่หยิบยื่นความช่วยเหลือนี้โดยไม่มีท่าทีอิดออด

ชีวิตใหม่ของราฮาฟเริ่มต้นขึ้นทันทีเมื่อเธอเดินทางเหยียบสนามบินในนครโตรอนโต ในวันนั้นเธอปรากฏตัวในเสื้อกันหนาวแขนยาวสีเทา บนเสื้อเขียนคำเรียบๆ ว่า ‘CANADA’ เธอกล่าวขอบคุณทุกฝ่ายที่ให้ความช่วยเหลือ และทำให้การตัดสินใจหนีออกจากครอบครัวครั้งนี้เป็นความเสี่ยงที่มีค่า

เธอโพสต์ภาพรับประทานอาหารเช้าสไตล์ตะวันตก ซึ่งมีไข่และเบคอนหมูเป็นส่วนประกอบหลัก และยังได้บันทึกโมเมนต์การลิ้มรสชาติเนื้อหมูครั้งแรกโพสต์ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียส่วนตัว โดยแนบข้อความแสดงถึงความดีใจอย่างปิดไม่มิดว่า OMG bacon 💕🥓💕❤🇨🇦 แถมยังมีภาพถ่ายแก้วกาแฟจากร้านสตาร์บัคส์วางบนต้นขาอีกด้วย

ราฮาฟบอกว่า เธอตั้งใจจะสร้างชีวิตใหม่ในฐานะผู้ลี้ภัย เรียนหนังสือ หางานทำ ใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไปในแคนาดา และอยู่เพื่อสนับสนุนเสรีภาพของผู้หญิงทั่วโลก

ชีวิตใหม่เริ่มต้นบนความขุ่นมัว

ราฮาฟไม่ใช่ผู้ลี้ภัยรายแรกที่แคนาดาช่วยเหลือ

ย้อนกลับไปเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2018 ที่ผ่านมา รัฐบาลแคนาดาเคยช่วย ฮัสซัน อัล-คอนทาร์ (Hassan al-Kontar) หนุ่มผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย หลังอาศัยอยู่ในสนามบินกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย นานกว่า 7 เดือน จนในที่สุดได้สถานะผู้ลี้ภัยและสามารถอยู่อาศัยได้ถาวร เช่นเดียวกับเมื่อปี 2015 รัฐบาลแคนาดาได้อนุมัติให้สองครอบครัวชาวจีน เจียง เยเฟย (Jiang Yefei) และ ตง กวงปิง (Dong Guangping) เข้าไปตั้งถิ่นฐานในประเทศได้ เนื่องจากสามีของพวกเขาเป็นนักกิจกรรมและถูกเจ้าหน้าที่ไทยส่งตัวกลับ

หรืออย่างกรณีของคู่สามีภรรยาชาวซีเรีย ที่ตั้งชื่อลูกคนใหม่ในฐานะพลเมืองของประเทศแคนาดาว่า ‘จัสติน ทรูโด’ ตามนายกรัฐมนตรีแคนาดา เพื่อเป็นเกียรติ แสดงความขอบคุณที่ประเทศแคนาดาช่วยเหลือ และเปิดประเทศรับผู้ลี้ภัย

ทำดี ย่อมได้ดี

เป็นความจริงหรือไม่ กับประโยคที่ว่า “ใครทำดี-ย่อมได้ดี”

ใครจะเคยคิดว่าสองประเทศ ซาอุดีอาระเบียและแคนาดา จะเคยมีเรื่องขุ่นเคืองใจกันมาก่อน

เดือนสิงหาคม ปี 2018 ที่ผ่านมา ทั้งสองประเทศต่างเคยมีเหตุการณ์ที่ทำให้บาดหมางกัน

โดยเริ่มจากกระทรวงการต่างประเทศแคนาดาได้ทวีตข้อความแสดงความเป็นห่วงต่อเหตุการณ์การจับนักสิทธิมนุษยชนในประเทศซาอุดีอาระเบีย หนึ่งในนั้นคือ ซามาร์ บาดาวี (Samar Badawi) นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรี จึงเรียกร้องให้ทางการเร่งปล่อยตัว แต่ด้านซาอุดีอาระเบียไม่พอใจ ออกประกาศให้ทูตแคนาดาประจำซาอุดีอาระเบียเป็นบุคคลที่ประเทศไม่ยอมรับ และให้ออกจากประเทศภายใน 24 ชั่วโมง และยังเรียกทูตซาอุดีอาระเบียในแคนาดาให้กลับประเทศด้วย

เท่านั้นยังไม่พอ ซาอุดีอาระเบียยังสั่งระงับข้อตกลงการค้าใหม่และการลงทุนกับแคนาดา สายการบินของซาอุดีอาระเบียยกเลิกเที่ยวบินตรงไปยังนครโตรอนโต ยกเลิกโครงการแลกเปลี่ยนนักเรียน ยิ่งกว่านั้นยังประกาศให้นักเรียนซาอุดีอาระเบียกว่า 7,000 คนในแคนาดาย้ายไปยังประเทศอื่น

ส่วนท่าทีของ จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา ออกมายืนหยัดและเพิกเฉยคำเรียกร้องของซาอุดีอาระเบีย พร้อมยืนยันว่าต้องปล่อยตัวนักสิทธิมนุษยชน และแคนาดาพร้อมจะต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชนทั่วโลก

จากข้อมูลและข่าวต่างๆ อาจทำให้ตั้งสมมุติฐานได้ว่า การทำดีของแคนาดา โดยการยื่นมือเข้าให้ความช่วยเหลือในครั้งนี้อาจไม่ใช่แค่เรื่องของความใจดีและความเอื้อเฟื้อเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป กรณีของราฮาฟอาจถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในประเด็นทางการเมือง ซึ่งในอนาคตต้องจับตามองกันต่อไปว่าทั้งสองประเทศนี้จะดำเนินการอย่างไร จะมีการยุติความขัดแย้งหรือไม่ หรือเหตุการณ์นี้จะทำให้จะลุกลามไปมากกว่านี้

ดูเหมือนว่าชีวิตที่สดใสของราฮาฟอาจไม่ใช่ชีวิตที่เรียบง่าย ความสัมพันธ์ที่ขุ่นมัวระหว่างประเทศค่อยๆ ก่อตัวและสะสมเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งแนวคิดอนุรักษนิยมที่มองว่าพฤติกรรมของเธอเป็นมากกว่าการเรียกร้องสิทธิ มองว่าเธอเหยียบย่ำหัวใจของมุสลิมและบดขยี้ความเชื่อวัฒนธรรมเดิมทางศาสนา

แล้วชีวิตใหม่ครั้งนี้ ราฮาฟจะโชคดีเหมือนดั่งเช่นถ้อยคำของเธอที่กล่าวไปหรือไม่

“I am one of the lucky ones.”

Author

รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา
รชนีกรถ่อมตัวว่ามีความอยากเพียงอย่างเดียว คืออยากเป็นนักสื่อสารที่ดี จึงเลือกเรียนวารสารศาสตร์ มาเริ่มงานที่กองบรรณาธิการ WAY ตั้งแต่เพิ่งจบใหม่หมาด - แบบยังไม่ทันรับปริญญา นอกจากทำงานหน้าจอและกดคีย์บอร์ด รชนีกรกล้าทำสิ่งที่ไม่มีใครในกองบรรณาธิการใคร่ทำนัก คือตัดเล็บแมว

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า