ยุคเสื่อมของนกเสรี เมื่อ Twitter อยู่ใต้เงาอีลอน มัสก์ และเจ้าชายซาอุฯ

นับแต่ที่อีลอน มัสก์ (Elon Musk) เข้าซื้อบริษัท Twitter อย่างเป็นทางการ และก้าวขึ้นมากุมบังเหียนในตำแหน่ง CEO คนใหม่ในชั่วระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา มีประเด็นอื้อฉาวเกิดขึ้นอยู่เกือบทุกสัปดาห์ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดหน้าแสดงวิวาทะกับบริษัท Apple การนำระบบยืนยันตัวตนด้วยการชำระเงิน (subscription) การตามระงับบัญชีสื่อมวลชนที่แสดงความคิดเห็นด้านลบเกี่ยวกับอีลอน มัสก์ ไปจนถึงกรณีล่าสุดที่เลยเถิดถึงขั้นออกกฎห้ามโฆษณาและเผยแพร่ช่องทางที่เชื่อมไปสู่แพลตฟอร์มของบริษัทอื่นที่เป็นคู่แข่ง เช่น Facebook และ Instagram 

เงื่อนไขข้างต้นทำให้ความน่าเชื่อถือของ Twitter เริ่มลดลง และห่างไกลจากการเป็นพื้นที่แห่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นออกไปเรื่อยๆ กระทั่งนำมาสู่การรวมตัวของชาวโลกออนไลน์ที่กดดันให้อีลอน มัสก์ ลาออกจากการเป็น CEO ของ Twitter เมื่อกลางเดือนธันวาคมในที่สุด

ทว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ Twitter แสดงท่าทีที่ขัดต่ออุดมการณ์เสรีภาพทางความคิดเห็นเช่นนี้ เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมาหน่วยงานความมั่นคงและข่าวกรองของกลุ่มประเทศเผด็จการ ทั้งรัสเซีย จีน และอิหร่าน มักใช้ Twitter เป็นเครื่องมือในการสอดแทรก ปลุกปั่น และผลิตซ้ำเนื้อหาที่มีลักษณะโฆษณาชวนเชื่อ/ข่าวปลอม โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่รัฐบาลของประเทศตนเอง และพยายามลดทอนความน่าเชื่อถือ (discredit) ของรัฐบาลกลุ่มประเทศประชาธิปไตยไปพร้อมๆ กัน 

นอกจากนี้ 2-3 ปีที่ผ่านมา Twitter ยังถูกกระทรวงการต่างประเทศของจีนใช้เป็นสนามทดสอบกลยุทธ์การสื่อสารทางการทูตแบบใหม่ ที่อนุญาตให้นักการทูตสามารถใช้วาจาหยาบคาย ก้าวร้าว ดุดัน ด่าฝ่ายตรงข้าม (counterparts) บนเวทีการเมืองระหว่างประเทศได้ เรียกว่า การทูตปากหมา (ป่า) หรือ wolf-warrior diplomacy อีกด้วย ซึ่งเป็นที่ถูกอกถูกใจประธานาธิบดี สี จิ้นผิง (Xi Jinping) ยิ่งนัก 

ความสัมพันธ์ Twitter กับรัฐบาลซาอุฯ

การที่ Twitter เข้าไปมีส่วนพัวพันกับกิจการของรัฐบาลเผด็จการไม่ได้หยุดอยู่เพียงที่กล่าวถึงข้างต้น แต่หากย้อนกลับเมื่อช่วงต้นปี จะเห็นว่าขณะที่ประเด็นการเจรจาซื้อขายบริษัท Twitter กำลังเป็นที่สนใจในโลกธุรกิจของสหรัฐอเมริกาว่าจะมีการยุติที่มูลค่าเท่าใดนั้น ก็มีชื่อของเจ้าชายอัลวาลิด บิน ตาลัล (Alwaleed bin Talal ลูกพี่ลูกน้องของเจ้าชาย โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน [Mohammed bin Salman: MBS] แห่งซาอุดิอาระเบีย) ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัท Kingdom Holding Company (KHC) ปรากฏเด่นขึ้นมาบนหน้าหนังสือพิมพ์และโลกออนไลน์ ในฐานะว่าที่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ในบริษัท Twitter รองจากอีลอน มัสก์ โดยมีส่วนแบ่งในการครอบครองเกือบ 35,000,000 หุ้น คิดเป็นเงินมูลค่ากว่า 2,000,000,000 ดอลลาร์

สาเหตุที่ทำให้การถือหุ้นในบริษัทดังกล่าวถูกจับตามองมี 2 ประการ ข้อแรกคือ บริษัท KHC นั้นถือหุ้นโดยเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ผ่านกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติซาอุดิอาระเบีย (PIF) อยู่ในอัตราส่วนเกือบ 20% ทำให้สังคมเกิดความกังวลถึงความเสี่ยงที่ Twitter อาจจะถูกแทรกแซงโดยรัฐบาลประเทศเผด็จการได้โดยง่าย 

อีกประเด็นหนึ่ง คือ เมื่อปี 2018 อีลอน มัสก์ เคยประกาศว่าจะไม่มีวันร่วมลงทุนกับซาอุดิอาระเบีย เพราะคดีลอบสังหารจามาล คาชอกกี (Jamal Khashoggi) นักข่าวชาวซาอุดีอาระเบีย อีกทั้งเมื่อช่วงต้นปี เจ้าชายอัลวาลิดยังทวีตข้อความประชดประชันอีลอน มัสก์ เรื่องการเข้าซื้อ Twitter แต่พอมาถึงช่วงกลางปี อัลวาลิด กลับเปลี่ยนท่าทีไปสนับสนุนและชื่นชมอีลอน มัสก์ อย่างหน้ามือเป็นหลังมือ พร้อมกับให้คำมั่นว่า KHC จะร่วมมือกันบริหาร Twitter โดยไม่ถอนการลงทุนออกอย่างแน่นอน และภายในไม่กี่เดือนหลังจากที่เจ้าชายอัลวาลิดทวีตข้อความดังกล่าว ก็มีการปล่อยข่าวลือกันว่าซาอุดิอาระเบียเซ็นสัญญาเตรียมจะใช้แคปซูลของ SpaceX ส่งนักบินอวกาศซาอุดิอาระเบียเป็นของกำนัลแถมให้แก่อีลอน มัสก์ เป็นมูลค่ากว่า 100,000,000 ดอลลาร์

เหตุจารกรรมข้อมูลสุดอื้อฉาว

ความพัวพันที่ Twitter มีต่อรัฐบาลซาอุดิอาระเบียยังไม่ได้จบแค่นั้น เพราะเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาศาลแคลิฟอร์เนียเพิ่งจะตัดสินให้อะหมัด อบูอัมโม (Ahmad Abouammo) อดีตผู้จัดการแผนกลูกค้าสัมพันธ์ภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาของ Twitter ต้องถูกจำคุกเป็นเวลา 3 ปีครึ่ง ข้อหานำข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน Twitter ไปส่งให้รัฐบาลซาอุดิอาระเบีย ระหว่างช่วงปี 2014-2015 โดยอะหมัด อบูอัมโม สารภาพว่าได้รับการติดต่อจากซาอุดิอาระเบียผ่าน Bader al-Asaker (เลขาส่วนตัวของ MBS) ที่ได้สั่งการให้เขารวบรวมข้อมูลบัญชีของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลซาอุดิอาระเบีย และผู้ที่เคยทวีตข้อความวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ทั้งหมดส่งให้แก่ตัวแทนรัฐบาลอย่างลับๆ เพื่อแลกกับนาฬิกาข้อมือมูลค่า 20,000 ดอลลาร์ และเงินสดอีกมากกว่า 300,000 ดอลลาร์ 

ในเอกสารประกอบคำฟ้องร้องต่อศาลยังระบุด้วยว่า อะหมัด อบูอัมโม เคยนัดพบกับตัวแทนรัฐบาลซาอุดิอาระเบียหลายครั้งทั้งในซานฟรานซิสโกและลอนดอน อีกทั้งเมื่อมีการสืบค้นฐานข้อมูลการจัดงานลูกค้าสัมพันธ์ในอดีตของ Twitter ยังพบว่า อะหมัด อบูอัมโม เคยจัดโครงการทัศนศึกษาสำนักงานใหญ่ Twitter ให้แก่กลุ่มนักลงทุนจากซาอุดิอาระเบียที่มีความใกล้ชิดกับ MBS เมื่อเดือนมิถุนายน 2014 ด้วย ที่สำคัญคือ ก่อนจะลาออกจาก Twitter นั้น อะหมัด อบูอัมโม ได้ชักชวนให้อาลี อัลซาบาราห์ (Ali Alzabarah) ที่ขณะนั้นเป็นวิศวกรของ Twitter เข้ามาทำหน้าที่จารกรรมข้อมูลผู้ใช้งานต่อจากตน ก่อนจะถูกจับได้ในปี 2015 ซึ่งหลายฝ่ายรวมถึง Federal Bureau of Investigation (FBI) ต่างก็ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นต้นเหตุที่นำไปสู่เหตุการณ์ลอบสังหารจามาล คาชอกกี ในปี 2018 และการตามจับกุมตัวผู้ทวีตข้อความต่อต้านรัฐบาลในซาอุดิอาระเบียตลอดช่วงที่ผ่านมา

สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่า บริษัทที่อ้างตัวเป็นหมุดหมายของเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นอย่าง Twitter มีประวัติพัวพันกับรัฐบาลซาอุดิอาระเบียมาตลอดเกือบ 10 ปี โดยที่ Twitter ยังไม่เคยประกาศแผนที่จะปฏิรูปปัญหาเกี่ยวกับระบบการรักษาความปลอดภัยแก่ผู้ใช้งานและการป้องกันการจารกรรมข้อมูลโดยบุคคลในองค์กรอย่างจริงจังเลย 

ภัยความมั่นคงต่อสหรัฐ

แม้ว่าปัจจุบันผู้ใช้งาน Twitter จากซาอุดิอาระเบียที่เพิ่มขึ้นมาเป็นกว่า 25,000,000 คน จะสร้างความกังวลให้แก่รัฐบาลโจ ไบเดน (Joe Biden) เป็นอย่างมาก แต่อย่างที่ทราบกันดีว่า ปัจจุบันรัฐบาลของพรรค Democrat กำลังตกอยู่ในกระแสหวาดกลัวอิทธิพลของรัฐบาลต่างชาติ (xenophobia) โดยเฉพาะความเป็นไปได้ที่รัฐบาลซาอุดิอาระเบียจะใช้ข้อมูลจาก Twitter ในการสอดแนมชาวซาอุดิอาระเบียที่ถือสัญชาติเป็นพลเมืองอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา และติดตามจับกุมเมื่อคนเหล่านั้นเดินทางไปตะวันออกกลาง

ในจุดนี้ทำให้พรรค Democrat ออกมาตอบโต้ด้วยการส่งวุฒิสมาชิก คริส เมอร์ฟี (Chris Murphy) ออกมากดดันให้คณะกรรมาธิการคัดกรองการลงทุนจากต่างประเทศ (CFIUS) ของกระทรวงการคลัง เปิดการสืบสวนว่าการที่อีลอน มัสก์ ร่วมบริหาร Twitter กับบริษัทตัวแทนของรัฐบาลซาอุดิอาระเบียในปัจจุบัน เข้าข่ายบ่อนทำลายความมั่นคงของสหรัฐอเมริกาหรือไม่ โดยเมอร์ฟีประกาศว่าหาก CFIUS ปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าว ทางพรรค Democrat จะลงมือเปิดการสืบสวนข้อกล่าวหาดังกล่าวเอง ผ่านกลไกคณะกรรมาธิการกิจการต่างประเทศของวุฒิสภา (Senate Foreign Relations Committee) ที่มีวุฒิสมาชิก บ๊อบ เมเนนเดส (Bob Menendez) จากพรรค Democrat เป็นประธานอยู่ 

อย่างไรก็ดี แม้ว่าปลายทางของผู้ที่เข้าไปมีส่วนพัวพันในคดีความมั่นคงและการจารกรรมข้อมูลของรัฐบาลต่างประเทศจะถูกตัดสินจำคุกในรูปแบบที่เกิดขึ้นกับอบูอัมโม หรือไม่ก็ต้องหลบหนีออกนอกประเทศ แต่สำหรับอีลอน มัสก์ นั้น โทษจำคุกแทบจะเป็นไปไม่ได้ 

ประการแรกเลยคือ เขาเป็นนักธุรกิจระดับแถวหน้าของสหรัฐอเมริกาซึ่งเคยบริจาคเงินสนับสนุนพรรคการเมืองมาแล้วทั้ง Democrat และ Republican ทำให้ชายคนดังกล่าวมีสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับฝ่ายการเมืองไม่ว่าพรรคใดจะขึ้นมาเป็นรัฐบาล และต้องไม่ลืมว่าในฐานะนักธุรกิจด้านเทคโนโลยีทำให้เขาสามารถเข้าถึงรัฐบาลประเทศมหาอำนาจได้เกือบทุกประเทศ ไม่ว่าจะอังกฤษ รัสเซีย จีน และซาอุดิอาระเบีย หากอีลอน มัสก์ ถูกตัดสินให้มีโทษจำคุก ย่อมมีลู่ทางให้เขาหลบหนีไปอยู่ในประเทศคู่แข่งของสหรัฐอเมริกา (โดยเฉพาะประเทศเผด็จการ) ได้ไม่ยาก รัฐบาลไบเดน หรือรัฐบาล Republican ในอนาคตคงตระหนักถึงความเป็นไปได้นี้ดีและไม่กล้าปล่อยให้เกิดเรื่องแบบนั้นขึ้นง่ายๆ 

ท้ายที่สุด หนทางที่หลายฝ่าย โดยเฉพาะรัฐบาลไบเดนพอจะยอมรับได้อาจมีเพียงการกดดันให้อีลออน มัสก์ เข้าซื้อหุ้นคืนจาก KHC ของเจ้าชายอัลวาลิด เพื่อให้เขาเป็นผู้ถือครองบริษัทในอัตราส่วนเต็ม 100% แล้วเพิ่มมาตรการคัดกรอง/ตรวจสอบพนักงานในบริษัทที่มีสิทธิเข้าถึงข้อมูลอ่อนไหว (sensitive information) ให้เข้มงวดมากขึ้น รวมไปถึงเปิดช่องทางให้หน่วยงานความมั่นคงเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบความสัมพันธ์ที่มีพนักงานภายในบริษัทอาจมีต่อรัฐบาลต่างประเทศ เช่น กรณีที่คล้ายกับอบูอัมโมที่จัดโครงการทัศนศึกษาโดยเน้นเป้าหมายที่กลุ่มนักธุรกิจต่างประเทศ เป็นต้น

ป.ฐากูร
นักเขียนอิสระที่ผันตัวมาเป็นมือปืนรับจ้างด้านนโยบาย สนใจการบ้านการเมืองทั้งในและต่างประเทศ เวลาว่างชอบอ่านหนังสือพิมพ์และดูหนัง บางวันเป็นลิเบอรัล บางวันก็สวมบทคอนเซอร์เวทิฟ แต่ยังไม่ถึงขั้นไบโพลาร์

พูดคุยแลกเปลี่ยนได้ที่ [email protected]

ณิชกานต์ บุญไชย
นิสิตวารสารศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแถบลุ่มน้ำชี ยังมีชีวิตอยู่เพราะต้องดูแลแมวเมี้ยวๆ ไม่กินขนมขบเคี้ยว กาแฟเปรี้ยวคือของหวาน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า