อิสลาม: บนมายาคติและการปรับตัวกับพลวัตโลก

นับตั้งแต่เหตุการณ์ 9/11 ในปี 2001 ล่วงเลยเข้าสู่ปีที่ 20 ที่ชาวมุสลิมทั่วโลกต้องเผชิญกับมายาคติที่ถูกสร้างขึ้นจากวาทกรรมความหวาดกลัวอิสลาม (Islamophobia) ที่ถูกผลิตซ้ำผ่านสื่อตะวันตก ทั้งที่ชาวมุสลิมมิได้มีเพียงกลุ่มเดียวในโลก แต่มีความหลากหลายตามบริบทของแต่ละพื้นที่และวัฒนธรรมเช่นเดียวกับประชากรอื่นๆ ของโลก การทำความเข้าใจถึงความแตกต่างหลากหลายโดยไม่เหมารวมเพื่อหาทางออกในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขจึงเป็นโจทย์สำคัญในการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นจริง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์เอกรินทร์ ต่วนศิริ ผู้อำนวยการปาตานี ฟอรั่ม และรองคณบดีฝ่ายบริการวิชาการและพัฒนานักศึกษา ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ชี้ชวนให้เราทำความเข้าใจศาสนาอิสลามผ่านสถานการณ์การเคลื่อนไหวของกลุ่มตาลีบันในปัจจุบัน ไปจนถึงกระแสของชาวมุสลิมรุ่นใหม่ในประเทศไทยที่นับวันจะมีความหลากหลายและเปลี่ยนแปลงไปตามพลวัตของโลกตลอดเวลา สิ่งสำคัญคือคุณค่าใหม่ ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียม และการมีส่วนร่วมทางการเมือง คือสิ่งที่บ่งบอกว่าเยาวชนมุสลิมรุ่นใหม่มีความฝันที่จะอยู่ร่วมกับโลกแห่งความเปลี่ยนแปลง

ศาสนาอิสลามมักต้องเผชิญกับมายาคติเรื่องความเคร่งครัด ความรุนแรง และการกีดกันสิทธิสตรี ในความเป็นจริงแล้วสิ่งที่เราควรเรียนรู้เพื่อให้เข้าใจศาสนาอิสลามและชาวมุสลิมมากขึ้นควรเป็นอย่างไร

เวลาเราตั้งคำถามว่าคนนอกจะเข้าใจศาสนาอิสลามได้อย่างไร ผมคิดว่าคำอธิบายของ อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ (ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์) ที่ชี้ชวนให้ทำความเข้าใจระหว่าง ‘อิสลามศึกษา’ (Islam Studies) กับ ‘มุสลิมศึกษา’ (Muslim Studies) เป็นจุดเริ่มต้นที่ชวนคิดให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่าง การศึกษาศาสนา กับการศึกษามุสลิม ส่วนแรก เราต้องเข้าใจว่าอิสลามศึกษา (Islam Studies) มีความเข้าใจแบบไหน โดยพยายามเข้าใจตัวบทบัญญัติว่าข้อความหรือคัมภีร์สอนหรือบอกอะไร ซึ่งก็มีอยู่หลายสำนัก อีกส่วนหนึ่งคือ เราจะเข้าใจมุสลิมศึกษาผ่านชาวมุสลิมอย่างไร ที่น่าสนใจคือคนมุสลิมมีหลายเผ่าพันธุ์ มีทั้งมุสลิมชนกลุ่มใหญ่ (majority) และมุสลิมชนกลุ่มน้อย (minority) คำถามจึงมีอยู่ว่า เราจะเข้าใจโลกมุสลิมที่มีทั้งชนกลุ่มน้อยและชนกลุ่มใหญ่ผ่านอะไร 

มุสลิมชนกลุ่มใหญ่มีระบบระเบียบในการปกครองหลายแบบด้วยกัน หลายประเทศก็ปกครองตามระเบียบในคัมภีร์ที่เรียกกันว่า ‘ชารีอะห์’ หรือกฎหมายอิสลาม เช่น ซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน และบางประเทศที่เป็นมุสลิมชนกลุ่มใหญ่ แต่ไม่ได้อ้างชารีอะห์ เช่น ตุรกีที่แยกศาสนาออกจากการเมือง ซึ่งในรัฐธรรมนูญจะระบุว่าเป็นชาวเติร์ก ส่วนระบอบการปกครองมีตั้งแต่แบบกษัตริย์ เช่น บรูไน ซาอุดีอาระเบีย ไปจนถึงประเทศที่เป็นประชาธิปไตยสูง เช่น อินโดนีเซีย ซึ่งอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีสัดส่วนประชากรมุสลิมมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก และมีการพัฒนาประชาธิปไตยตลอดช่วงทศวรรษกว่าๆ ที่ผ่านมา 

ดังนั้น เราต้องเข้าใจว่ามุสลิมมีหลายแบบ รวมถึงอีกส่วนหนึ่งที่เป็นมุสลิมชนกลุ่มน้อย เช่น ไทย พม่า และหลายประเทศในยุโรป เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี ที่มีมุสลิมจากตุรกีอพยพไปจำนวนมากหลังสงครามโลก จนพรรคการเมืองที่ตุรกีต้องไปหาเสียงกับชาวเติร์กรุ่นต่อมาที่อยู่ในเยอรมนี เป็นต้น ดังนั้น เวลาเราเห็นความหลากหลาย เราจะมองผ่านอะไรเพื่อที่จะเข้าใจ ไม่ใช่เข้าใจแบบเหมารวมว่ามุสลิมเป็นผู้ก่อการร้ายหมด นอกจากมายาคติที่โลกมีต่อชาวมุสลิมแล้ว ชาวมุสลิมเองก็ต้องต่อสู้กับการถูกกระทำเช่นกัน เช่น การกราดยิงมัสยิดที่ไครส์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ เหตุการณ์ปะทะระหว่างปาเลสไตน์-อิสราเอล ซึ่งเราเห็นความไม่ชอบธรรมมาโดยตลอด 

กรณีที่กลุ่มตาลีบันบุกเข้ายึดกรุงคาบูล อัฟกานิสถาน (เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2021) อาจต้องมองสองมุมเพื่อให้เห็นพลวัต มุมหนึ่งคือคนที่ไม่เห็นด้วยหรือคนที่กังวลเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิสตรี และเหตุการณ์ต่างๆ ของกลุ่มตาลีบัน 1.0 ที่เราปฏิเสธไม่ได้ว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิสตรี และคนที่อยู่ที่นั่นจริง เมื่อมีเสียงวิพากษ์ก็ต้องยอมรับคำวิพากษ์วิจารณ์อย่างจริงจัง เพราะการวิพากษ์วิจารณ์อยู่บนพื้นฐานของความเป็นคนและสิทธิมนุษยชน ต้องไม่มองว่าการวิพากษ์วิจารณ์เป็นปฏิปักษ์ต่ออิสลาม แต่เป็นสิ่งที่เกิดจากความเป็นห่วงเป็นใย

อีกมุมหนึ่งคือ กลุ่มที่ปกป้องตาลีบัน ผมเข้าใจได้ เพราะสหรัฐอเมริกาเองก็ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนกลุ่มตาลีบันไม่น้อยเช่นกัน เราเห็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากฝั่งสหรัฐอเมริกาหรือมหาอำนาจเกิดขึ้นจริง แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่จะมาปกป้องและให้ความชอบธรรมแก่กลุ่มตาลีบัน ต้องอย่าลืมว่า กลุ่มตาลีบันเป็นกลุ่มหนึ่งในโลกมุสลิม แต่ไม่เท่ากับศาสนาอิสลาม เป็นกลุ่มการเมืองกลุ่มหนึ่งที่เราไม่จำเป็นต้องปกป้องหรือทำลาย แต่ต้องพูดว่าอะไรคือประเด็นที่เราต้องกังวล โดยเฉพาะเรื่องของสิทธิมนุษยชน เรื่องของชนกลุ่มน้อย และคนที่มีความเห็นต่าง ท้ายที่สุดแล้วก็ต้องฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และสนับสนุนให้กลุ่มรัฐบาลตาลีบันมีความสง่างามในเวทีโลกโดยการมีคุณค่าอื่นๆ ที่อยู่ร่วมกับโลกใบนี้ได้ การปกป้องตาลีบันอย่างเดียว ไม่เท่ากับการปกป้องศาสนา การปกป้องศาสนาที่ดีที่สุดคือ การที่เราต้องให้เกียรติคนอื่น รักษาพิทักษ์คนอื่น แล้วอยู่ด้วยความยุติธรรม

ประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิสตรี หลายฝ่ายให้ความเห็นว่าเกิดจากการตีความคัมภีร์ที่สุดโต่ง ซึ่งแท้จริงแล้วสิทธิสตรีในศาสนาอิสลามเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับบริบทของพื้นที่และวัฒนธรรมของแต่ประเทศด้วยหรือไม่

ทุกวันนี้สิทธิสตรีเป็นประเด็นที่มีคนให้ความสำคัญกันมาก ซึ่งคัมภีร์อัลกุรอานก็รับรองไว้เช่นกัน ศาสนาอิสลามไม่ได้ปฏิบัติกับสตรีให้เป็นช้างเท้าหลัง หรือมองว่าสตรีไม่มีสิทธิเท่าเทียมกับผู้ชาย หลักคำสอนหลายอย่างในหลักการอิสลาม เช่น ‘สวรรค์อยู่ใต้ฝ่าเท้าของมารดา’ ก็สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทที่สำคัญของสตรีในศาสนาอิสลาม มีบันทึกวัจนะของผู้ประกาศคำสอนของศาสนาไว้ว่า เมื่อถามว่าเราควรจะทำความดีกับใครก่อน เขาบอกว่าทำความดีกับแม่ แล้วหลังจากแม่ทำความดีกับใคร ก็แม่อีก และหลังจากแม่อีกเขาก็บอกว่าแม่ หลังจากนั้นจึงให้เป็นพ่อ นั่นคือการเน้นย้ำว่าสตรีในความหมายของอิสลามนั้นยิ่งใหญ่และต้องให้เกียรติ

สิ่งที่สำคัญคือการมีวัฒนธรรมของแต่ละประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องกับการตีความหลักคำสอนในเรื่องของศาสนา เราปฏิเสธไม่ได้ว่าในประวัติศาสตร์สังคมไทยกีดกันผู้หญิงอย่างมาก ในขณะที่ผู้หญิงที่เป็นมุสลิมชนกลุ่มน้อยที่อยู่ในประเทศตะวันตกก็ได้รับการศึกษาที่ดี จึงขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละสำนักที่มีอำนาจตรงนั้น ซึ่งโดยส่วนใหญ่คนที่มีอำนาจคือผู้ชาย เราจึงเห็นประเทศที่กีดกันไม่ให้ผู้หญิงมีพื้นที่ในที่สาธารณะหรือไม่ได้รับการศึกษาเพียงพอ แต่ในขณะเดียวกันประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ผู้หญิงก็มีบทบาทอย่างมาก ฉะนั้นจึงขึ้นอยู่กับแต่ละกลุ่มและพื้นฐานของแต่ละวัฒนธรรมว่าจะตีความหลักการศาสนาอย่างไร สิ่งที่ท้าทายอย่างมากคือ คนที่มีอำนาจ โดยเฉพาะผู้ชายที่ถืออำนาจจะต้องเปิดโอกาสและส่งเสริมผู้หญิงมากขึ้น ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้ประชากรสตรีเพิ่มขึ้นและสตรีก็มีบทบาทมากขึ้นด้วย การให้สิทธิแก่สตรีจึงเป็นเรื่องที่ดี 

หญิงมุสลิมเดินผ่านหน้ามัสยิดสีน้ำเงิน (Hazrat Ali Mazar) ที่ Mazar-i-Sharif, Balkh อัฟกานิสถาน

เราอาจพูดได้ไหมว่าจำเป็นต้องมีการสนับสนุนสิทธิสตรีเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจในโลกทุนนิยมให้ดีขึ้น

ผมคิดว่าไม่ใช่เสียทีเดียว แต่เราเห็นได้ชัดว่าโลกปัจจุบันการปิดโอกาสพลเมืองของตนเองที่เป็นผู้หญิงไม่ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษา ไม่ได้มีโอกาสมีส่วนร่วมทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมนั้น บ้านเมืองจะขาดโอกาสอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการศึกษา ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม หรือแม้กระทั่งบทบาททางสังคมที่หลายๆ กิจการผู้หญิงทำได้ดีกว่าผู้ชาย

นอกจากเรื่องสิทธิสตรีแล้ว สิทธิเด็กในศาสนาอิสลาม เช่น การนับถือศาสนาเด็กๆ มีสิทธิในการเปลี่ยนแปลงการนับถือศาสนาไหม

โดยปกติคุณพ่อคุณแม่นับถือศาสนาใด ลูกก็นับถือศาสนานั้น สำหรับครอบครัวมุสลิมแล้วการนับถือศาสนาเป็นเรื่องใหญ่ ถ้าเขาโตจนมีพื้นที่อิสระหรือมีอำนาจในการดูแลจัดการตัวเองได้ การเปลี่ยนศาสนาก็เป็นสิทธิของเขา ซึ่งก็อาจเกิดความขัดแย้งกับพ่อแม่ เช่น ในประเทศอินโดนีเซียมีครอบครัวที่นับถือทั้งศาสนาคริสต์ อิสลาม และไม่มีศาสนาอยู่ในบ้านเดียวกัน ทำให้เห็นความหลากหลายของคน เพียงแต่ว่าถ้ายึดจากคัมภีร์ก็เป็นสิ่งที่ผิด 

ปัจจุบันแนวคิดดังกล่าวถูกท้าทายมากขึ้น เพราะคนมีความคิดที่หลากหลายมากขึ้น ต้องตั้งคำถามกลับไปว่าสังคมมุสลิมจะรับมือกับข้อท้าทายนี้อย่างไร โดยใช้ปัญญา ไม่ใช้กำลังบังคับ ผมคิดว่าทุกคนมีสิทธิที่จะสงวนรักษาคำสอนของตัวเองไว้เป็นเรื่องปกติ หรือหลายคนอยากพิทักษ์หรือประกาศศักดาเรื่องของคุณค่าใหม่ก็เป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งที่ต้องคิดคือ โลกมุสลิมต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อย่างมีสติ และตอบคำถามกับเพื่อนร่วมโลกของเราให้ได้ว่า เราคิดแบบนี้และเราก็มีพื้นที่ให้แก่คนอื่นด้วย

เมื่อโลกเปลี่ยนไปและมีแนวคิดที่หลากหลายมากขึ้น ชาวมุสลิมรุ่นใหม่มีมุมมองต่อศาสนาเปลี่ยนไปจากคนรุ่นก่อนอย่างไรบ้าง

เท่าที่ผมสัมผัสมาเห็นว่า ความคิดของเยาวชนคนรุ่นใหม่มีความหลากหลายมากขึ้น มีทั้งแบบเคร่งครัด ยึดการปฏิบัติตามคัมภีร์ไปเลยและเรียนทางโลกด้วย มีทั้งแบบที่มีความเชื่อทางศาสนา แต่ตัวเองก็มีชีวิตอีกแบบหนึ่ง เช่น อยากจะเป็นดารา อยากจะเป็นป๊อปสตาร์ในโลกของเขา ลูกศิษย์ผมเป็นผู้หญิงใส่ฮิญาบ เป็นผู้นำแฟชั่นเยอะแยะเลย เขาก็ขาย CF ในออนไลน์ รายได้เป็นกอบเป็นกำ เล่นเซิร์ฟสเก็ต แต่งตัวแบบเกาหลี แต่คลุมฮิญาบ ร้องเพลงเกาหลี เราเห็นทั้งการเสพเพลงซึ่งตามหลักศาสนาสำหรับบางสำนักก็ทำไม่ได้ แต่บางสำนักก็ผ่อนปรน หากเพลงไม่มีความรุนแรงหรือไม่ได้ทำให้เราหลุดจากศาสนา 

เด็กรุ่นใหม่ๆ มีความคิดความฝันที่จะอยู่ร่วมกับโลกแห่งความเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นน้องๆ ที่เป็นผู้หญิงก็มีความคิดความฝันมากขึ้น ก่อนหน้านี้อาจเป็นการเรียนจบแล้วต้องแต่งงาน แต่หลังๆ หลายคนบอกว่ายังไม่แต่งงานก็ได้ หรือจะไม่แต่งเลยก็ได้ ก็เป็นเรื่องที่แปลกสำหรับเรา เพราะก่อนหน้านี้ไม่เคยได้ยิน โดยสรุปก็คือพวกเขามีสิทธิและเสรีภาพในทางศาสนาและในการเลือกที่จะปฏิบัติมากขึ้น ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดที่สุดคือ ร้านน้ำชา ซึ่งโดยปกติร้านน้ำชาเป็นพื้นที่ที่ผู้ชายยึดครอง แต่ทุกวันนี้ก็มีผู้หญิงไปนั่ง ทำให้เห็นว่าพวกเขามีพื้นที่สาธารณะมากขึ้น สิ่งสำคัญคือพวกเขาเห็นถึงโลกที่ใฝ่ฝัน โลกที่มีเสรีภาพในการแสดงออก เวลาจัดม็อบมหาวิทยาลัย แถวหน้าคือผู้หญิงคลุมฮิญาบ ซึ่งก่อนหน้านี้เวทีแบบนี้ไม่ใช่เวทีของผู้หญิง การเปลี่ยนแปลงจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะเราไม่ได้มองศาสนาหรือมุสลิมเป็นสิ่งที่แข็งตัว มันลื่นไหลได้ตลอด

ตามหลักศาสนาอิสลามมีบทบัญญัติเรื่องสิทธิเสรีภาพไว้อย่างไรบ้าง เหตุใดจึงดูเหมือนว่าคนรุ่นใหม่มีเสรีภาพในการแสดงออกมากขึ้น

คำถามคือเราถามถึงสิทธิเสรีภาพด้านไหน ถ้าเป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพของศาสนาก็จะมีบทบัญญัติอย่างเช่น ‘ศาสนาของท่านคือศาสนาของท่าน ศาสนาของฉันก็ศาสนาของฉัน’ คือการแบ่งสิทธิชัดเจนว่า เราให้เกียรติกันและกันโดยการไม่ก้าวก่ายกัน มีการระบุขอบเขตสิทธิทั้งหมดที่ครอบคลุมด้วยคัมภีร์เล่มเดียวเป็น way of life หรือเส้นทางของชีวิตที่ถูกระบุไว้ตั้งแต่แรกว่าเราเกิดมาจากอะไร เรามีสิทธิแค่ไหน สิทธิของเรากับพระเจ้าเป็นอย่างไร สิทธิของพระเจ้ากับเราเป็นอย่างไร สิทธิระหว่างเรากับสิ่งแวดล้อมที่ไม่ใช่มนุษย์เป็นอย่างไร ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องของโลกทัศน์ว่าเราต้องคิดอย่างไรตั้งแต่เราเกิดมา เราถูกสอนตั้งแต่เด็กๆ ว่าใครเป็นคนสร้างเรา เรามาจากไหน ท่องมาตั้งแต่ 4-5 ขวบ เรามาทำอะไร และเราจะไปไหน เป็นคำถามปรัชญามากนะสำหรับเด็ก 4-5 ขวบ (หัวเราะ)

ส่วนประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในอิสลาม มีปฏิญญาไคโรว่าด้วยเรื่องของสิทธิมนุษยชนเมื่อปี 1990 ซึ่งเกิดจากองค์กรใหญ่ของอิสลามที่เราเรียกว่า องค์การความร่วมมืออิสลาม (Organization of Islamic Cooperation: OIC) ริเริ่มให้มีการศึกษาเปรียบเทียบว่าหลักการอิสลามกับความเปลี่ยนแปลงของโลกจะปรับตัวเพื่อให้อยู่ร่วมกันอย่างไร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือการมีกลุ่มคนที่มีอำนาจบางกลุ่มตีความแล้วไปละเมิดคนอื่นจึงทำให้มีประเด็นขึ้นมา ซึ่งโดยทั่วไปแล้วโลกของมุสลิมไม่ได้มีปัญหากับเรื่องสิทธิมนุษยชน เช่น กรณีของ เจ้าชายเซอิด ราอัด อัล-ฮุสเซน แห่งราชวงศ์จอร์แดน ซึ่งมีตำแหน่งเป็นข้าหลวงใหญ่ฯ ด้านสิทธิมนุษยชนคนแรกที่เป็นมุสลิม และมาจากประเทศแถบตะวันออกกลาง ก็ชี้ให้เห็นว่าชาวมุสลิมมีบทบาทด้านสันติภาพที่ชัดเจน 

ในแถลงการณ์ตาลีบันมีการย้ำเรื่องสันติภาพอยู่เสมอ และบอกว่าจะปรับตัวให้เข้ากับโลกสมัยใหม่ จริงๆ แล้วมีประเด็นอะไรบ้างที่กลุ่มตาลีบันจะต้องปรับตัว

ศาสนาอิสลามสอนเรื่องสันติภาพไว้มาก เมื่อจะเริ่มกล่าวอะไรชาวมุสลิมจะเริ่มด้วยคำว่า “ขอความสันติสุขจงมีแก่ท่าน” แน่นอนว่าภารกิจของตาลีบันคือต้องสร้างความสงบเพื่อให้เกิดสันติภาพขึ้น ตามที่กล่าวอ้างไว้ แต่ก็ไม่ใช่สงบจนไม่มีเสียงคัดค้านหรือเห็นต่างจากความคิดของกลุ่มตาลีบัน ความสงบหรือสันติภาพคือทุกคนได้รับความปลอดภัยและมีสิทธิมีเสียงที่จะพูด แสดงความคิดเห็น ความคิดความใฝ่ฝันของตนเอง เพียงแต่ตาลีบันจะรับมืออย่างไรกับโลกของความเปลี่ยนแปลง ทั้งการเมืองระหว่างประเทศและประเด็นด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากอัฟกานิสถานเป็นประเทศหนึ่งในโลกที่มีทรัพยากรมาก ถ้ามองในเรื่องผลประโยชน์ ที่นั่นเป็นขุมทรัพย์สำหรับคนที่จะทำธุรกิจ เราก็รอดูสถานการณ์ต่อไป ซึ่งในระบบทุนนิยมแน่นอนว่าเป็นเรื่องของผลประโยชน์ เขาต้องต่อรองกับพวกที่มีอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจที่มีเครื่องมือในการแปลงทรัพยากรของประเทศตาลีบันมาสู่ผลประโยชน์ทางด้านธุรกิจการค้า หรือถ้าพูดให้ชัดเจนถึงที่สุดคือมีความพร้อมที่จะใช้ทรัพยากรจากอัฟกานิสถาน เขาจะทำอย่างไรเพื่อให้ผลประโยชน์ตกอยู่กับชาวอัฟกานิสถานจริงๆ ไม่ใช่ตกอยู่กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หากไม่สามารถบริหารจัดการให้เกิดความเป็นธรรมและดอกผลเกิดกับประชาชนส่วนใหญ่ได้ ก็จะเกิดความขัดแย้งต่อไป

ย้อนกลับมามองที่ประเทศไทย ชาวมุสลิมในไทยได้รับสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมอย่างเพียงพอหรือยัง

สำหรับมุสลิมในทางศาสนาไม่ได้เป็นปัญหาในการมีกิจกรรมทางศาสนา ค่อนข้างมีเสรีภาพ หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ อาจเพราะสังคมไทยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับมุสลิมมาอย่างยาวนานตั้งแต่อดีต แม้ว่าจะมีชาวพุทธสุดโต่งที่ออกมาคัดค้านอยู่บ้าง แต่ผมคิดว่าคนเหล่านี้เป็นคนกลุ่มน้อยที่มีผลประโยชน์อยู่เบื้องหลัง มุสลิมในสังคมไทยอาจแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ หนึ่ง-มุสลิมที่อยู่ภายใต้ราชสำนัก ซึ่งได้รับการปฏิบัติอย่างดีผ่านชนชั้นนำด้วยกัน เช่น สถาบันทางศาสนาที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ตระกูลเก่าแก่เช่น สายตระกูลบุนนาค ซึ่งมีประวัติมาอย่างยาวนาน สอง-กบฏมลายูหรือมุสลิมชายแดนใต้ (ปาตานี) ซึ่งถูกมองว่าเป็นผู้ก่อการร้ายบ้าง แบ่งแยกดินแดนบ้าง หรือไม่ได้เป็นมุสลิมที่ดีในสายตาของรัฐ เพราะเห็นต่างทางการเมือง สาม-มุสลิมรุ่นใหม่ ซึ่งไม่ได้อยู่ภายใต้อาณัติขององค์กรทางศาสนา สถาบันทางศาสนา เช่น เขาก็เหมือนคนรุ่นใหม่ทั่วไปในประเทศนี้ที่ใฝ่ฝันเรื่องประชาธิปไตย คิดถึงความเท่าเทียม ผมคิดว่ามุสลิมรุ่นใหม่น่าสนใจ โดยเฉพาะคุณค่าทางด้านการเมืองการปกครอง สิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียม และหลายคนมีบทบาททางการเมือง แต่คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่พบเจอ พวกเขามีความรู้ทั้งทางด้านศาสนาที่ดีและเข้าใจทางโลกเรื่องความเปลี่ยนแปลง หลายคนปรับตัวได้ต่อความเปลี่ยนแปลง และประยุกต์ความรู้ความเข้าใจทางด้านศาสนากับการทำมาหากินในระบบทุนนิยมปัจจุบัน กลุ่มคนประเภทนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  

แน่นอนว่ามีกระแสการไม่นับถือศาสนาซึ่งกระทบต่อทุกศาสนาและระบบความเชื่อเดิมทั้งหมด ศาสนาอิสลามได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน คือคนเชื่อถือผู้รู้ในศาสนาน้อยลง เพราะคนรุ่นใหม่ไม่ได้พิจารณาว่าผู้รู้นั้นมีความรู้ทางศาสนาอย่างเดียว แต่พิจารณาในแง่ของความสามารถด้านอื่นๆ หรือการใส่ใจสังคมด้านอื่นๆ ด้วย เด็กจะตั้งคำถามว่าทำไมคุณได้แต่ท่องคัมภีร์ แต่คุณไม่รู้เรื่องของโลกภายนอกเลย คุณไม่ได้ร่วมทุกข์กับเขาเลยเวลาเขาเจอสถานการณ์ใดๆ ผู้รู้ศาสนาจึงต้องปรับตัวให้มีความรู้ที่หลากหลายขึ้น 

ศาสนาจึงต้องปรับตัว ไม่ใช่ปรับคำสอน แต่ผู้สอนศาสนาต้องหาคำอธิบายที่เข้ากับคนรุ่นใหม่และความเปลี่ยนแปลงของโลกได้ง่าย ปรับเปลี่ยนวิธีการให้เข้าถึงได้ง่าย เพียงแต่สิ่งที่น่ากลัวคือ การที่ผู้รู้ทางศาสนาไปตีความหลักการศาสนาที่กีดกันคนรุ่นใหม่และคนที่ไม่ได้ยึดถือการปฏิบัติตามศาสนา ไปบอกว่าเขาไม่ใช่มุสลิม เขาเป็นคนชั่ว ซึ่งก็ต้องระวัง ผู้รู้ทางศาสนาต้องรู้ว่า ตัวเองไม่ใช่ผู้ที่รู้ดีที่สุด ต้องตระหนักว่ามีเรื่องที่ตนเองไม่รู้ หากไม่ตระหนักก็คุยกับคนรุ่นใหม่ไม่ได้

การปรับตัวของศาสนาอิสลามและชาวมุสลิมมีแนวโน้มจะเป็นอย่างไรบ้างในอนาคต

ประชากรมุสลิมมีพันกว่าล้านคนทั่วโลก ฉะนั้นมุสลิมก็มีความหลากหลาย ศาสนาอิสลามจะเป็นศาสนาที่มีคนตีความหลากหลายมากขึ้น เราจะเห็นว่าคนมุสลิมมีความแตกต่างกันมากขึ้น ทุกที่บนโลกต้องเจอคนมุสลิม ประเด็นมุสลิมก็จะเป็นประเด็นที่อยู่กับโลกใบนี้ไปตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ฯลฯ

ตอนนี้ผมคิดว่าคนมุสลิมทั่วโลก ก็ปรับตัวมากขึ้น เราเห็นว่าคนมุสลิมเริ่มเข้ามามีบทบาทในหลายๆ วงการมากขึ้น ในเชิงทางบวก และต้องยอมรับด้วยว่าหลังๆ ผู้คนที่ไม่ใช่มุสลิม ก็เปิดโอกาสให้มุสลิมในพื้นที่มีโอกาสในการแสดงความสามารถมากขึ้น ไม่ได้นำเรื่องศาสนามาปิดกั้นหรือเป็นข้อยกเว้น โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ๆ พวกเขาเคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน

สำหรับคนมุสลิมเอง ผมคิดว่ามุสลิมภาคภูมิใจในอดีต เพราะโลกมุสลิมเคยเป็นโลกที่ยิ่งใหญ่มาก อาณาจักรออตโตมัน ซึ่งเป็นอาณาจักรสุดท้ายก่อนเข้าสู่ยุครัฐชาติ มีอาณาบริเวณใหญ่เกินครึ่งโลก แต่ปัจจุบันมุสลิมปวดร้าวเพราะโลกมุสลิมสูญเสียภาวะการเป็นผู้นำโลก ไม่ว่าเรื่องใดๆ ก็ตาม และแตกสลายเป็นหลายก๊กหลายเหล่า รวมถึงบางกลุ่มรู้สึกถูกกดขี่ข่มเหงอยู่ตลอด 

แต่มุสลิมก็มีความหวังว่า ในอนาคตเราจะกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง เราจะต้องเรียนรู้เพื่อนำโลกนี้ให้ได้ด้วยการเผชิญการต่อสู้ทางปัญญา จะทำอย่างไรให้โลกมุสลิมกลับมาสู่ที่ทางของการเป็นผู้นำโลกทางปัญญาอีกครั้งหนึ่ง โดยลบภาพการใช้ความรุนแรงหรือภาพของการก่อการร้ายที่ผ่านมาตั้งแต่เหตุการณ์ 9/11 มุสลิมต้องทบทวนว่าเราจะมีบทบาทอย่างไรในโลกที่หลายสิ่งต้องพึ่งพิงความรู้ทางปัญญา ถึงแม้ไม่ได้เป็นผู้นำ แต่จะอยู่อย่างไรกับเพื่อนร่วมโลกที่จะทำให้เพื่อนต่างศาสนิกกับเรารู้สึกอบอุ่นและปลอดภัยเมื่อต้องอยู่ร่วมกับมุสลิม

Author

ชัญญา อินทร์ไชยา
ชื่อเล่นญี่ปุ่น แต่เลือดอีสานแท้ เว่าลาวได้นิดหน่อย แมวคือสิ่งมีชีวิตที่ทำให้มีความสุข อาหารอร่อยและการ์ตูนสักเรื่องคือเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจ นิยามตัวเองเป็นเป็ดเพราะการเรียนรู้ไม่เคยสิ้นสุด

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า