Salam Neighbor: เข้าใกล้ให้มากกว่าเพื่อนบ้าน

เรื่องและภาพ: นิธิ นิธิวีรกุล

 

หลังจาก ISIS เข้าสู่ซีเรียเพื่อก่อตั้งดินแดนของตนเองในรูปแบบรัฐคาลิเฟต (Caliphate) ในปี 2014 คลื่นผู้ลี้ภัยจากการสู้รบที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2011 จากการชุมนุมประท้วงเพื่อขับไล่ประธานาธิบดีบาซาร์ อัล ฮัดซาด ก็เพิ่มจำนวนสูงขึ้น ผู้คนที่ต่างปรารถนาชีวิตสุขสงบ กลับต้องเร่ร่อนออกจาก ‘บ้าน’ เพื่อไปแสวงหา ‘บ้านใหม่’ ที่ไม่ว่าอย่างไรก็เป็นได้เพียงที่พักพิงชั่วคราวในนามของค่ายผู้ลี้ภัยตามพรมแดนระหว่างประเทศที่ติดกับซีเรีย

หนึ่งในค่ายผู้ลี้ภัยนี้ ตั้งอยู่ในเขตเมืองมะฟรัค (Mafraq) ประเทศจอร์แดน เป็นค่ายผู้ลี้ภัยที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR ได้ให้การสนับสนุนรัฐบาลจอร์แดนเพื่อต้อนรับผู้ลี้ภัยที่หลั่งไหลเข้ามาจากซีเรียเป็นจำนวนถึง 85,000 คน

ไม่นับอีก 950,000 คนที่ลี้ภัยเข้าสู่ยุโรป บ้างรอด บ้างเสียชีวิต ในจำนวนนี้มีตั้งแต่เด็กน้อยจนถึงผู้ใหญ่

ผู้คนเหล่านี้ล้วนเฝ้าฝันถึงวันคืนกลับสู่บ้านเกิด สำหรับบางคน บ้านเกิดของพวกเขาเป็นได้แต่เพียงวิหารอันว่างเปล่า ที่มีเพียงความทรงจำไว้ตอกย้ำสิ่งที่สูญเสียไป


เพื่อนบ้านที่ไกลเกินใกล้

ไกลออกไป สหรัฐอเมริกา หนึ่งในประเทศตะวันตกที่เปิดรับผู้ลี้ภัยจากซีเรียก่อนการมาถึงของ ประธานาธิบดีโดนัลล์ ทรัมป์ แซค อินกราสกี (Zach Ingrasci) และ คริส เทมเปิล (Chris Temple) สองนักทำภาพยนตร์สารคดีอิสระ เริ่มต้นวิถีกระบอกเสียงผ่านภาพยนตร์ให้กับผู้คนชายขอบของสังคมมาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย พวกเขาคุยกันถึงสิ่งที่จะทำได้ สิ่งที่พวกเขาเชื่อว่าจะเป็นการสร้างความเข้าใจต่อประชาชนชาวซีเรียในฐานะมนุษย์เหมือนชาวอเมริกัน ไม่ใช่ผู้ก่อการร้ายกระหายเลือด ด้วยภาพจำที่กลุ่มอัลกออิดะห์ได้สร้างไว้ และ ISIS ได้ทำการสานต่อ เพื่อจะบอกกล่าวแก่ชนชาวอเมริกันว่าพวกเขาเป็นเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้กว่าที่ชาวอเมริกันคิด แม้ความจริงแล้วซีเรียจะอยู่ห่างออกไปอีกซีกโลก

ภาพยนตร์สารคดีในชื่อ Salam Neighbor จึงเกิดขึ้นมาเพื่อส่งต่อสารนั้น และได้ถูกรำมาจัดฉายพร้อมเวทีเสวนาที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 11 กันยายน 2560

แซ็ค อินกราสกี (Zach Ingrasci) และ คริส เทมเปิล (Chris Temple) สองผู้กำกับภาพยนตร์สารคดี Salam Neighbor

ใจกลางค่ายซะอะฮฺตารี

เมื่อแรกที่มาถึงเมืองมะฟรัค คริสและแซ็คยังไม่รู้พวกเขาจะเผชิญกับสิ่งใด จะถูกไล่กลับหรือต้อนรับด้วยไมตรีจากผู้คน เขาไม่มีทางรู้ จนเมื่อผู้ประสานงานของ UNHCR พาพวกเขาเข้าสู่ใจกลางค่ายซะอะฮฺตารี (Zaatari) พวกเขาจึงได้รู้ตลอดสองเดือนที่ใช้ชีวิตร่วมกับผู้ลี้ภัยที่นั่นว่า พวกเขาคิดผิดไปไกลจากความเป็นจริง

ตัวแทนของ UNHCR บอกกล่าวแก่พวกเขาว่า ในแต่ละวัน น้ำเป็นปัจจัยสำคัญและมีราคาแพงที่สุด ในขณะที่ภาพจากภาพยนตร์ฉายให้เห็นถึงสภาพของค่ายซะอะฮฺตารีที่ไม่ต่างจากเมืองเมืองหนึ่ง เต็นท์แต่ละหลังเปรียบได้ดั่งบ้านที่แออัดอยู่ภายในค่าย ใต้แสงแดดแผดเผากลางทะเลทราย ที่ดูจะไม่อาทรต่อชะตากรรมของมนุษย์ ทำให้อดนึกถึง ‘ดวงอาทิตย์’ ในฐานะตัวละครหนึ่งในนิยายรางวัลโนเบลของ อัลแบร์ กามูส์ ขึ้นมาไม่ได้

ในขณะที่น้ำและอาหารเป็นสิ่งจำเป็น แต่ UN มีงบประมาณเกินครึ่งมาเล็กน้อยจากจำนวนประเทศที่ให้การสนับสนุน ผู้ลี้ภัยชาวซีเรียจึงต้องจับคู่กับชาวจอร์แดนเพื่อออกไปหางานทำ บ้างนำเข้าอาหารและเครื่องดื่มเข้ามาในค่าย จนตัวแทนของ UNHCR ถึงกลับเอ่ยปากว่า ไม่เคยเห็นค่ายผู้ลี้ภัยที่เงินสะพัดเท่านี้มาก่อน

เส้นทางผ่านทะเลทราย

ทุกๆ วันมีผู้คนอพยพมาจากซีเรีย อียิปต์ อิรัก เนื่องจากการสู้รบระหว่างกลุ่มผู้ประท้วงกับ ISIS ยังคงดำเนินอยู่

สำหรับคนอาหรับแล้ว สถานะของการเป็น ‘ผู้ลี้ภัย’ คือคนที่ถูกบังคับให้ต้องทิ้งบ้านเกิดมา

“อารมณ์ของเราถูกทำลาย เราลืมที่จะรู้สึกไปเลย ถ้าไม่ใช่เพราะอัลลอฮฺ ผมคงฆ่าตัวตายไปแล้ว”

เสียงจาก อิสมาอิล ชายหนุ่มในวัยนักศึกษา ที่ปรารถนาเพียงได้กลับไปเรียนต่อ บอกกล่าวกับแซ็คและคริส ขณะที่ภาพฉายให้เห็นทิวทัศน์ของทะเลทรายยามค่ำที่งดงาม หากแต่แฝงด้วยอันตรายจากสภาพอากาศที่หนาวเย็น

“ฉันไม่ได้เอาอะไรมาเลย นอกจากเสื้อชุดนี้เท่านั้น ถ้าไม่มีเสื้อผ้า ฉันคงหนาวตายในทะเลทราย” น้ำเสียงสั่นสะเทือนของหญิงสาวหนึ่งใน ‘ผู้ลี้ภัย’ บอกเล่า

อิสมาอิล นักศึกษาหนุ่มผู้มีความฝันว่าสักวันหนึ่งจะได้กลับไปเรียนต่อ

แม่เลี้ยงเดี่ยวในมะฟรัค

ภาพตัดสลับกลับมายังมะฟรัค นอกจากผู้ลี้ภัยหญิงที่มีเพียงเสื้อผ้าชุดเดียว ผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย โดยเฉพาะผู้หญิง จำต้องหาอะไรสักอย่างทำเพื่อเลี้ยงดูตัวเองและลูก

กาลฮอลูซุน เธอเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่หนีภัยสู้รบมาอยู่ที่เมืองมะฟรัคก่อนมีค่าย และใช้ชีวิตด้วยการทำริบบิ้นประดับฮิญาบเพื่อเลี้ยงดูลูกๆ ขณะที่สามียังอยู่ในบ้านเกิด เหมือนกับผู้หญิงซีเรียอีกหลายคน ในแต่ละวัน เธอจะเดินเก็บถุงพลาสติกในเมืองที่เต็มไปด้วยผู้พลัดพรากท่ามกลางเสียงหัวเราะ เพื่อนำกลับไปประดิษฐ์เป็นริบบิ้นประดับฮิญาบ ด้วยฝีมือและความคิดสร้างสรรค์ งานประดิษฐ์เหล่านี้ก่อให้เกิดความสนใจต่อเจ้าหน้าที่ UN จนนำไปสู่การจัดแสดงนิทรรศการที่ดึงดูดผู้สนใจงานฝีมือเหล่านี้ และสามารถขายได้ถึงชิ้นละ 70 ดอลลาร์

“ฉันจะใช้เวลา 3-4 ชั่วโมงต่อวันเพื่อทำสิ่งนี้ เดือนหนึ่งขายได้ราว 200 ชิ้น สำหรับผู้หญิงเรา ฮิญาบเปรียบเหมือนมงกุฎ”

โรงเรียนในภาพฝัน

ถ้าการตระเวนเก็บถุงพลาสติกของกาลฮอลูซุน คือการประดิษฐ์สร้างมงกุฎขึ้นมาประดับ การเที่ยวเล่นและวิ่งไปทั่วค่ายของ ราอุฟ เด็กชายวัย 10 ขวบที่ควรจะอยู่ในโรงเรียนเพื่อก้าวตามฝันจะเป็นหมอรักษาคนเจ็บ ก็เป็นการลบลืมความทรงจำอันเจ็บปวดจากการที่โรงเรียนในบ้านเกิดต้องถูกทำลายด้วยระเบิดจากการสู้รบ

อาบู มูฮัมเหม็ด พ่อของราอุฟ ถ่ายทอดให้กับคริสและแซ็คฟัง แทนคำพูดที่เด็กชายไม่อยากจะเอ่ยถึง

“พ่ออย่าให้ผมไปโรงเรียนเลยนะ โรงเรียนผมพังหมดแล้ว”

สำหรับราอุฟ เกมบนสมาร์ทโฟนซึ่งมีเรื่องราวของการต่อสู้ระหว่างชนชาติต่างๆ ในอาหรับ เป็นความจริงเสียยิ่งกว่าความเป็นจริงที่อยู่ตรงหน้า

ราอุฟ เด็กชายวัย 10 ผู้เติบโตท่ามกลางไฟสงคราม

สงครามของพวกเขา

23 กุมภาพันธ์ 2017 ที่ผ่านมา สตาฟฟาน เดอ มิสทูรา (Staffan de Mistura) ทูตพิเศษของสหประชาชาติประจำซีเรีย บอกว่า เขา “ไม่ได้คาดหวังความก้าวหน้า” ในการเจรจาเพื่อยุติสงครามระหว่างฝ่ายรัฐบาลและผู้ประท้วงที่มี ISIS เข้ามาร่วมสู้รบด้วย ณ กรุงเจนีวา ซึ่งกล่าวอย่างถึงที่สุด อาจนับได้ว่าเป็นความน่าผิดหวังของประเทศมหาอำนาจที่จะแสดงความจริงใจในการยุติสงครามที่มีประชาชนอย่างน้อย 300,000 คนถูกฆ่าตาย นับตั้งแต่การสู้รบเริ่มต้นในปี 2011

ตัดกลับมาที่ภาพยนตร์ บรรยากาศในค่ายสับสนอลหม่าน ผู้คนต่างออกมาคลาคล่ำบน ‘ชองส์ เซลิเซส์’ ถนนที่ตัดผ่านใจกลางค่ายของพวกเขา เพื่อประท้วงต่อการเจรจาที่ล้มเหลว ณ กรุงเจนีวา ซึ่งอยู่ห่างจากค่ายไปเกือบ 5,000 กิโลเมตร ผู้อพยพในค่ายประกาศว่า จะไม่ยอมก้มหัวให้กับใครนอกจากอัลลอฮฺ ขณะที่ข้อเท็จจริง สงครามอยู่ห่างจากพวกเขาไปเพียง 11 กิโลเมตร

เกมบนสมาร์ทโฟนในมือของราอุฟยังคงผลัดกันแพ้ชนะเพื่อเริ่มต้นใหม่ต่อไป

เราต่างคือผู้ลี้ภัย

การประท้วงยุติ บรรยากาศในค่ายกลับคืนสู่ปกติ แต่ลึกลงไปภายใต้ความสงบนั้นมีบาดแผล มีความเจ็บปวดที่ไม่รู้ว่าอีกกี่เดือนกี่ปีจึงจะคลี่คลาย

คัสเซ็ม เจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการช่วยเหลือนานาชาติ (International Rescue Committee: IRC) ซึ่งทำหน้าที่เยียวยาผู้ลี้ภัย – เขา ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ลี้ภัยมองว่า การนั่งอยู่ในเต็นท์รังแต่จะอมทุกข์ จึงต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง การใช้เวลาในแต่ละวันเพื่อพูดคุยกับคนในค่าย คืองานที่ทำให้เขาได้เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เขาเชื่อ นั่นคือ ช่วยเหลือและเยียวยาเพื่อนมนุษย์

“ผู้หญิงและเด็กคือเหยื่อของสงคราม” เขาบอกกับคริสและแซ็ค ในขณะที่ภาพตัดไปยังบ้านของกาลฮอลูซุนที่มะฟรัค เธอและลูกทั้งสองยังคงใช้ชีวิตด้วยการประดิษฐ์ริบบิ้นประดับฮิญาบจากถุงพลาสติกที่ปลิวว่อนอยู่บนถนนจากลมทะเลทรายต่อไป โดยยังไม่มีคำตอบว่าเมื่อไหร่สงครามจะยุติ เช่นกันกับอิสมาอิล ที่ยังหวังถึงวันได้กลับไปเรียนต่อ และเช่นกันกับราอุฟ ที่ฝันถึงวันที่โรงเรียนเดิมกลับคืนมาหลังพังทลายไปด้วยไฟสงคราม

“จริงอยู่ที่เราคือผู้ลี้ภัย ไม่ใช่แค่ในจอร์แดน แต่ทั่วโลก” คำพูดของกาลฮอลูซุนบอกกับเรา ไม่ใช่แค่คริสและแซ็ค ซึ่งยิ่งตอกย้ำด้วยคำพูดของแซ็คที่กล่าวว่า

“ผมเดินทางมาที่นี่เพื่อจะนำเรื่องราวกลับไปบอกกล่าวให้คนอเมริกันเข้าใจ ไม่ใช่ว่าเราเป็นคนอเมริกาหรือซีเรีย สิ่งที่เราได้กลับมา คือเราต่างเป็นเพื่อนบ้านซึ่งกันและกัน”

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า