โรคระบาดและฝันร้าย: ความป่วยไข้ของเด็กกลางสงคราม

 

ในอีกฟากหนึ่งของโลกใบนี้ สงครามที่ไม่มีใครต้องการให้เกิดยังคงดำเนินอยู่และไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงง่ายๆ ความเลวร้าย ความน่ากลัว ความเศร้าสลด ความทุกข์ทรมานและยากลำบาก เป็นภาพที่เกิดขึ้นอยู่ต่อเนื่อง

แต่ยังมีชาวบ้านอีกจำนวนมากที่จำต้องอดทนใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่นั้น ยิ่งวันเวลาผ่านไปมากเท่าไร ยิ่งต้องใช้ชีวิตอยู่ในรัฐที่อยู่ภายใต้กลุ่ม ISIS นานมากเท่านั้น ผลกระทบต่อชาวบ้านมีแต่จะยิ่งหนักหนามากขึ้นเรื่อยๆ ขนาดผู้ใหญ่ยังแทบทนไม่ไหวกับความโหดร้าย นับประสาอะไรกับเด็กๆ ที่อยู่ในนั้น เขาจะรู้สึกอย่างไร

อิรัก: ฝันร้ายที่ถูกฉายซ้ำ

งานวิจัยจากเอ็นจีโอ ‘Save the Children’ เปิดเผยว่า เด็กในเมืองโมซูล (Mosul) ประเทศอิรัก ซึ่งเป็นอีกเมืองที่ถูกกลุ่ม ISIS ยึดครองมาเป็นเวลานาน พวกเขามีสุขภาพจิตอยู่ในระดับอันตราย กล่าวคือ พวกเขาไม่สามารถแสดงออกความรู้สึกของตัวเองได้ ไม่ได้เล่นเหมือนเด็กทั่วไป และมักถูกปลุกให้ตื่นโดยฝันร้ายยามหลับ

ผู้เชี่ยวชาญมองว่า สาเหตุสำคัญที่สุขภาพจิตของเด็กในโมซูลน่าเป็นห่วง มาจากที่พวกเขาตกเป็นพยานปากเอกในเหตุการณ์ที่น่ากลัวและสลดหดหู่ ไม่ว่าจะเป็นการเห็นภาพคนในครอบครัวถูกฆ่าตายต่อหน้า เห็นภาพศพเป็นจำนวนมากหรือผู้คนบาดเจ็บสาหัส เป็นระยะเวลานานและบ่อยครั้ง อาการไร้อารมณ์ การตื่นขึ้นมากลางดึกเพราะฝันร้าย หรือความเครียดต่างๆ เกินกว่าที่เด็กจะรับไว้ของพวกเขา มาจากสิ่งที่เรียกว่า ‘พิษแห่งความตึงเครียด’ (toxic stress)

ทีมอาสาสมัครของเอ็นจีโอดังกล่าว เข้าไปพูดคุยกับเด็ก 65 คน อายุระหว่าง 10-15 ปี ที่หลบหนีมาจากแคมป์ผู้ลี้ภัยใน Hammam al-Alil camp ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเมืองโมซูล โดยกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของเด็กทั้งหมด ล้วนต้องสูญเสียบุคคลที่รักไปต่อหน้าต่อตา ไม่ว่าการเสียชีวิตจะเป็นในลักษณะใดก็ตาม ส่งผลให้สุขภาพจิตของพวกเขาเข้าขั้นวิกฤติ พวกเขามักตื่นขึ้นมากลางดึกเพราะฝันร้าย ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีพฤติกรรมคล้ายกับหุ่นยนต์มากขึ้นเรื่อยๆ คือ ไม่แสดงอารมณ์ใดๆ

พิษแห่งความตึงเครียด เป็นอาการที่ทำร้ายสุขภาพจิตเด็กและลามไปถึงสุขภาพร่างกายได้อย่างคาดไม่ถึง กล่าวคือ มันนำมาสู่โรคซึมเศร้า โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และจบด้วยการใช้ยาเสพติดเป็นวิธีหลบหนีโลกแห่งความจริงที่โหดร้ายใบนี้

Save the Children ออกมาเรียกร้องให้เอ็นจีโอทั่วโลกหันมาให้ความสนใจและตระหนักถึงความป่วยไข้ทางจิตใจของเด็กให้มากขึ้น พร้อมทั้งเสนอให้เพิ่มงบการรักษาสุขภาพทางจิตเพิ่มขึ้น จากเดิมเพียง 2 เปอร์เซ็นต์จากยอดทั้งหมดขององค์กร UNHCR

ซีเรีย: การกลับมาอีกครั้งของโรคโปลิโอ

เมื่อต้นปี อาจเคยได้ยิน #ThaiforSyria เชิญชวนให้คนไทยออกมาสนับสนุนและบริจาคเงินช่วยเหลือเด็กชาวซีเรียที่ต้องเผชิญความโหดร้ายจากสงครามกว่า 6 ปี ทั้งจากโรคขาดสารอาหารและโรคโปลิโอที่กลับมาระบาดอีกครั้ง

มิถุนายนที่ผ่านมา มิเชล แซฟฟราน (Michel Zaffran) ผู้อำนายการแผนกโรคติดเชื้อโปลิโอขององค์การอนามัยโลกหรือ WHO รายงานว่า พบการระบาดอย่างรุนแรงของโรคโปลิโอที่เมืองรอกกา (Raqqa) ฐานที่มั่นที่ใหญ่ที่สุดของกลุ่ม IS ทางตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรีย ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่ามีเด็กที่ติดเชื้อจากโรคโปลิโอชนิด 2 จนถึงขั้นเป็นอัมพาตแล้ว 24 คน

องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่า โรคโปลิโอจะแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นในเมืองรอกกา เพื่อรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกิดขึ้นในขณะนี้ จึงมีความตั้งใจที่จะนำวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทานให้เด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปีจำนวน 120,000 คน และวัคซีนชนิดฉีดให้กับเด็กที่เหลืออีก 44,000 คน โดยวัคซีนล็อตแรกทั้งสองชนิด เดินทางถึงเมืองดังกล่าวแล้ว เมื่อวันเสาร์ที่ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม แผนการณ์ดังกล่าวก็ดำเนินไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากผู้ปกครองของเด็กส่วนใหญ่ปฏิเสธที่จะให้เด็กรับประทาน/ฉีดวัคซีนป้องกันโปลิโอ สืบเนื่องจากความหวาดระแวงจากสถานการณ์ภัยสงคราม

สร้างความกังวลให้กับองค์การอนามัยโลกอย่างยิ่ง เพราะหากเชื้อโปลิโอยังคงแพร่ระบาดอยู่ สืบเนื่องจากเด็กที่ติดเชื้อไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม มีความเป็นไปได้สูงว่า อันตรายจากโรคดังกล่าวจะส่งผลให้จำนวนเด็กติดเชื้อจนพิการและสุดท้ายอาจจบลงที่ความตาย

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่โรคโปลิโอกลับมาระบาดอีกครั้งในซีเรีย จากรายงานเมื่อเดือนตุลาคมปี 2013 มีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบเสียชีวิตและพิการจากโรคดังกล่าวรวมทั้งหมด 20 คน

ปัจจุบันแม้องค์การอนามัยโลกมีความตั้งใจที่จะให้โลกปลอดจากโรคโปลิโอโดยสิ้นเชิง แต่การระบาดอย่างเฉียบพลันและรุนแรงของโปลิโอก็ยังคงหลงเหลืออยู่เพียงสามประเทศทั่วโลก ได้แก่ อัฟกานิสถาน ไนจีเรีย และปากีสถาน ซึ่งทั้งสามประเทศต่างมีบริบทเหมือนกันคือ สงครามกลางเมืองยังคงเกิดขึ้นอยู่ และล้วนเป็นมรดกที่มาจากเหตุการณ์อาหรับสปริงเมื่อปี 2011


ข้อมูลอ้างอิงจาก:
statnews.com
independent.co.uk
theguardian.com

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า