จิตแพทย์ช่วยเหลือเด็กที่ถูกทำร้ายอย่างไร

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

​แทนที่คุณพ่อคุณแม่จะหมดเวลาไปกับความโกรธแค้นหรือหมกมุ่นกับการเอาผิดผู้ก่อเหตุ ซึ่งมักเป็นเรื่องทำได้ยากถึงยากมากในบ้านเรา อีกทั้งมิได้ประกันผลลัพธ์อะไรมากนัก

เรื่องฉุกเฉินหรืออีเมอร์เจนซี่คือพาเด็กที่ถูกทำร้ายหรือต้องสงสัยว่าถูกทำร้ายหรืออยู่ในเหตุการณ์ที่เพื่อนถูกทำร้ายไปพบจิตแพทย์ ในกรณีนี้คือจิตแพทย์เด็กที่ผ่านการฝึกอบรมตามมาตรฐานเรียบร้อยแล้ว

เพราะคุณหมอจะช่วยได้มาก

กระบวนการไปพบแพทย์เป็นเรื่องยาก มีกระบวนการหลายขั้นตอน และมีค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าพาเด็กไปพบแพทย์ที่ใด โรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชนมีค่าใช้จ่ายต่างกัน ใช้เวลารอคอยหลายวันหรือหลายสัปดาห์ต่างกัน แต่ผลลัพธ์ของการรักษาไม่น่าจะต่างกันมากหากพบจิตแพทย์เด็กที่ผ่านการฝึกอบรมเรียบร้อยแล้ว และถ้าโรงพยาบาลมีนักจิตวิทยาคลินิกที่มีเครื่องมือทดสอบทางจิตวิทยาเรียบร้อย

ลำพังนักจิตวิทยาคลินิกได้ใช้เครื่องมือทดสอบกับเด็กก็ช่วยเหลือเด็กไปได้มากแล้ว เพราะการทดสอบและการช่วยเหลือมักจะทำไปพร้อมกันได้ด้วยวิธีที่นักจิตวิทยาคลินิกได้ฝึกอบรมมา

หากไปโรงพยาบาลของรัฐและคุณหมอทราบว่าเป็นกรณีทำร้าย มักได้รับการพิจารณาลัดขั้นตอนอยู่บ้างแล้ว หากไปโรงพยาบาลเอกชนคิวไม่น่าจะยาวเท่าที่โรงพยาบาลของรัฐ แต่ค่าใช้จ่ายน่าจะพอสมควร ถ้าผู้ก่อความเสียหายเป็นผู้จ่ายค่ารักษาพยาบาลก็น่าจะดีไม่น้อย

ย้ำตรงนี้ว่าควรเป็นจิตแพทย์เด็ก มีคำว่าเด็กต่อท้าย และนักจิตวิทยาคลินิก มีคำว่าคลินิกต่อท้าย

สมัยที่ผมทำงานคนเดียวยังไม่มีจิตแพทย์เด็กมาช่วยงาน ผมมีนักจิตวิทยาคลินิกคนหนึ่งคอยช่วยเหลือ และมีแบบทดสอบทางจิตวิทยาครบชุดให้เขาได้ทำงาน ลำพังเขาคนเดียวก็ช่วยเหลือเด็กๆ ไปได้มาก

 

อีกเรื่องหนึ่งที่ขออนุญาตพูดคือ ระวังความเอิกเกริกเมื่อไปโรงพยาบาล ระวังเป็นข่าวมากกว่าที่เป็นอยู่ เด็กของเราอาจจะมิใช่ผู้ที่ถูกทำร้ายโดยตรง แต่ก็นั่งติดกับผู้ที่ถูกทำร้าย นั่งมองเพื่อนที่ถูกทำร้าย พบเห็นเหตุการณ์ที่เป็นข่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่รู้ว่าเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นมานานเท่าไร และไม่รู้ว่านอกเหนือจากการทำร้ายร่างกายยังมีการละเมิดเรื่องอื่นอีกหรือไม่ 

เป็นไปได้ว่าเด็กของเราผ่านเหตุวิกฤติมานานมากพอแล้ว ดังนั้นควรถึงเวลากันเขาออกจากสภาพแวดล้อมเหล่านี้เสียที

จึงว่าคุณพ่อคุณแม่อย่าเสียเวลาที่การเอาผิดผู้กระทำผิดนานจนเกินไป ควรมีใครบางคนจัดการเรื่องนี้แทนเราอยู่แล้ว ถ้าเป็นในหนังฝรั่งมีเพียบ ถ้าเป็นที่สแกนดิเนเวียทราบมาว่าหายห่วง ฝ่ายกฎหมายมาเป็นแผงพร้อมนักสังคมสงเคราะห์ที่เชี่ยวชาญด้านเด็ก

 

การตรวจเด็กในกรณีนี้มีข้อแตกต่างจากการตรวจเด็กที่มีปัญหาพฤติกรรมทั่วไป อย่างน้อย 2 ข้อ

ข้อแรก สำคัญ คุณหมอจะใส่ใจทุกเรื่องไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นความจริงหรือไม่ก็ตาม!

กล่าวคือแม้แต่เรื่องที่เด็กคิดเอาเอง หรือขยายความจนเกินจริง ก็เป็นเรื่องสำคัญที่เราใส่ใจ เด็กเล็กรู้เห็นเหตุการณ์ หรือถูกกระทำโดยตรง เขาสามารถตีความ (interprete) ได้เท่าที่สมอง จิตใจ พัฒนาการ และ ‘คำศัพท์’ เท่าที่เขามีใช้

ย้ำตรงนี้ เขามีคำศัพท์ไม่มาก และวิธีใช้คำศัพท์ก็มิได้ถูกต้องตามไวยากรณ์ จึงว่าเราต้องการจิตแพทย์เด็กและนักจิตวิทยาคลินิก

คุณหมอและนักจิตวิทยาคลินิกจึงใส่ใจทุกเรื่อง เด็กอาจจะขยายความและต่อเติมเสริมแต่ง (elaborate) หรือจินตนาการเอาดื้อๆ (fantasy) ล้วนสำคัญทั้งสิ้น ยิ่งพาลูกไปพบช้าเท่าไรส่วนขยายและจินตนาการนี้จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

แทนที่จะลดลงไปตามกาลเวลา

เป็นดังที่ผมเขียนเสมอ ไม่สำคัญว่าความจริงคืออะไร ถ้าเด็กรู้สึก (feeling) ไปแล้ว มันคือใช่!

 

ข้อที่สอง จะเป็นภาระของคุณหมอในระยะยาว เราจึงควรให้กำลังใจคุณหมอที่ทำงานด้านนี้มาก กล่าวคือการตรวจรักษาครั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นไปตามระเบียบวิธีนิติจิตเวชศาสตร์ด้วย กล่าวคือคุณหมอจะได้บันทึกทุกสิ่งทุกอย่างเป็นหลักฐานทางกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นร่องรอยทางร่างกายหรือร่องรอยทางจิตใจ ร่องรอยทางร่างกายมีทีมแพทย์สหวิชาชีพทั้งโรงพยาบาลคอยเสริมทัพ 

ด้านจิตใจเป็นงานของจิตแพทย์เด็กและนักจิตวิทยาคลินิก หลักฐานทุกอย่างอาจจะได้ส่งให้ฝ่ายกฎหมายในวันหน้า และคุณหมอต้องสละเวลาส่วนหนึ่งซึ่งไม่ค่อยจะมีไปให้การในชั้นศาลอีกด้วย เรียนตามตรงว่าเหนื่อยมากครับ เสียเวลาที่ศาลมากด้วย แต่เป็นหน้าที่

ในทีมสหวิชาชีพของโรงพยาบาลที่พรั่งพร้อม นอกเหนือจากแพทย์สาขาอื่นที่อาจจะต้องเข้ามาร่วมตรวจ ได้แก่ สูติแพทย์ ศัลยกรรมออโธปิดิกส์ ศัลยแพทย์ และกุมารแพทย์ ยังมีวิชาชีพที่ทรงคุณค่าสูงอีก เช่น พยาบาลวิชาชีพ นักพัฒนาการ นักกิจกรรมบำบัด นักแก้ไขการพูด เข้ามาร่วมประชุมและวางแผนการรักษาตามข้อมูลที่ได้รวบรวมมาตั้งแต่แรก

พูดง่ายๆ ว่าการรักษาครั้งนี้เป็นเรื่องจริงและมีประสิทธิภาพ มิใช่ของเล่น

 

“ลูกของเราคงไม่โดนมั้ง”

“ลูกของเราคงไม่เป็นอะไรมั้ง”

“ไม่ต้องไปตรวจคงไม่เป็นอะไรมั้ง”

​เหล่านี้เป็นแฟนตาซีของพ่อแม่ ท่านตัดสินใจได้ อย่างไรก็ตามตำราเขียนไว้ชัดเจนว่าควรไป เพราะเราไม่แน่ใจว่าลูกแฟนตาซีไปไกลเท่าไร การตรวจ ทดสอบและรักษาจะช่วยได้

อ่าน เล่น ทำงานมากกว่าเดิม พอหรือไม่? สำหรับเด็กที่ไม่ถูกทำร้ายโดยตรง อาจจะได้ ขึ้นกับเขานั่งห่างจากเหตุการณ์กี่เมตร แต่สำหรับเด็กที่ถูกทำร้ายโดยตรง อ่าน เล่น ทำงาน มากกว่าเดิม–ไม่พอ

​ปัญหากลับมาที่ระบบที่รองรับว่าทำงานได้ดีเพียงใด และรักษาความลับผู้ป่วยได้ดีเพียงใด

​ประการสุดท้ายที่อยากจะเตือนคือ คุณพ่อคุณแม่ควรรักษาเรื่องนี้เป็นความลับส่วนบุคคล และถ้าทำได้ให้เลือกโรงพยาบาลที่มีระบบรักษาความลับผู้ป่วยคือเด็กซึ่งเป็นลูกของเราอย่างดีและเข้มงวดที่สุด ดังที่เขียนตั้งแต่ตอนต้นว่าควรพยายามอย่างยิ่งที่จะไม่เอิกเกริก

อย่าห่วงครับ หากทำดีๆ อนาคตของเด็กๆ จะเรียบร้อยดี เรามีวิชาการ ที่เหลือเป็นเรื่องกระบวนการ

 

Author

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
คุณหมอนักเขียนผู้มีความสนใจที่หลากหลาย ตั้งแต่ การ์ตูน หนังสือ ภาพยนตร์ สุขภาพกายและจิต การแพทย์ การศึกษา ฯลฯ นับเป็น Influencer ขวัญใจของเหล่าพ่อๆ แม่ๆ ด้วยการนำเสนอองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้วยมุมมองที่สมจริง ไม่โรแมนติไซส์

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า