มองความล้มเหลวของ ‘กระบวนการสันติภาพปาเลสไตน์’ ผ่านตัวเลข 4 ชุด

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

เมื่อ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญจากศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรี ให้ไปร่วมอภิปรายประเด็น ‘กระบวนการสันติภาพตะวันออกกลางที่ใกล้ล้มเหลว’ ในการประชุมสัมมนาวิชาการระดับนานาชาติเรื่อง ‘ผ่าวิกฤติปาเลสไตน์: อดีต ปัจจุบัน อนาคต’ โดยมีเวลาอภิปรายประมาณ 15 นาทีเป็นเงื่อนไขจำกัดการนำเสนอให้ต้องกระชับ ผมจึงขมวดปมพูดถึงความล้มเหลวของกระบวนการสันติภาพปาเลสไตน์ที่นับจากข้อตกลงออสโล (Oslo Accord) ค.ศ. 1993 (ซึ่งพอดีว่าเวียนมาครบรอบ 25 ปีในปีนี้พอดี) ไว้ด้วยตัวเลขจำนวนปี 4 ชุด ซึ่งสัมพันธ์กับ 4 ปัจจัยแห่งความล้มเหลว/อุปสรรคในการริเริ่มและขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพ อันน่าจะช่วยสะท้อนนัยสำคัญของอดีต และบ่งชี้ทางไปในอนาคตได้ไม่มากก็น้อย

‘70’ ปี กับการหายไปของการถกเถียงเรื่องรูปของรัฐ (Form of State)

ปัจจัยประการที่ 1 ถ้ามองจากข้อตกลงออสโล ฉบับปี 1993 การระบุสถานะตัวตนคู่เจรจาของข้อตกลงนี้ผมมองว่ามีนัยความหมายที่สำคัญมาก นั่นคือ ระหว่าง ‘รัฐบาล’ อิสราเอล (the government of Israel) กับองค์การเพื่อการปลดปล่อยปาเลสไตน์ (Palestine Liberation Organization: PLO) ในฐานะ ‘ผู้กระทำการแทนในนาม’ คนปาเลสไตน์ทั้งหมด

ความสำคัญของนัยตรงนี้คือ มันสะท้อนว่ากระบวนการสันติภาพร่วมกันนับจากนี้จะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง ‘รัฐ’ ฝ่ายหนึ่ง กับ ‘องค์กร’ ที่มิได้มีสถานะเป็นรัฐ และกำลังทำหน้าที่ตัวแทนกลุ่มชนในลักษณะราวกับกำลังเรียกร้องเอกราช หรือแบ่งแยกดินแดน

ตัวเลขที่จะช่วยทำความเข้าใจประเด็นนี้ให้ชัดขึ้น คือ  ‘70’ หมายถึงการย้อนกลับไปเมื่อ 70 ปีก่อน (ค.ศ. 1948) กล่าวคือ โดยจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม แต่สถานะตามข้อตกลงนี้ปิดเร้นมิให้เห็นข้อเท็จจริงที่ตรงกันข้ามมากกว่า นั่นคือ จริงๆ แล้วสถานะของความเป็นรัฐอิสราเอลในตัวของมันเองก็เกิดขึ้นอย่างมีปัญหา กระบวนการสันติภาพใดๆ ที่ไม่เปิดให้กับการถกเถียงเรื่องนี้ หรือถูกครอบงำหลักด้วยประเด็นจะลากเส้นแบ่งแผนที่ออกเป็นหนึ่งรัฐ (one state solution) หรือสองรัฐ (two state solution) มันจึงติดหล่มชะงักงัน (deadlock) ด้วยแก่นแกนของปัญหาเป็นอีกเรื่องที่แม้จะใกล้เคียงแต่ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน นั่นคือ เรื่องการออกแบบระเบียบสังคมการเมืองใหม่ที่หนุนเสริมชีวิตที่ดีมีศักดิ์ศรีอย่างเท่าเทียมให้กับผู้คนเหนือพื้นที่ปัญหา

พูดอีกแบบคือ ข้อบกพร่องหนึ่งของกระบวนการสันติภาพนี้อยู่ที่มันวางอยู่บนการให้ความสำคัญกับ ‘พื้นที่’ มากกว่า ‘มนุษย์’ ซึ่งเรามิอาจจะปรับมุมมาหารือเรื่องนี้ได้เลย หากไม่พูดคุยกันถึงการปรับเปลี่ยนรูปรัฐของอิสราเอล ผมมีตัวอย่างรูปธรรมรองรับข้อถกเถียงนี้อยู่สองเรื่อง

1. ในเชิงของพื้นที่

แผนการของสหประชาชาติต่อดินแดนปาเลสไตน์ ตามข้อมติแห่งสมัชชาใหญ่ที่ 181 (Resolution 181) วางอยู่บนการสนับสนุนการจัดตั้งสองรัฐให้ดำรงอยู่คู่กัน คือ รัฐของชาวอาหรับ ซึ่งในที่นี้คือ คนปาเลสไตน์ กับรัฐของชาวยิว หากพิจารณาแผนที่ประกอบจะพบว่า รัฐอิสราเอลจะจัดตั้งขึ้นในพื้นที่ราว 56 เปอร์เซ็นต์ของดินแดนทั้งหมดและทอดตัวอยู่ตรงกลาง ขณะที่อีกรัฐของชนปาเลสไตน์จะจัดตั้งขึ้นบริเวณขอบฝั่งตะวันตกและตะวันออกของดินแดน โดยแยกออกเป็น 2-3 ส่วนที่มีจุดเชื่อมเพียงเล็กๆ

แผนที่ดินแดนอิสราเอลและปาเลสไตน์ / ที่มา: occupiedpalestine.wordpress.com

พิจารณาแผนที่ อาณาเขต พื้นที่เช่นนี้ จะพบว่าแผนการนี้ดูเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะสามารถเป็นจริงได้ที่รัฐหนึ่งจะมี 2-3 ดินแดนเล็กที่แยกจากกัน และกั้นขวางด้วยผืนแผ่นดินของชนชาติปฏิปักษ์ที่เข้ามารุกรานยึดครอง

หากลองมองทาบเทียบกับกรณีของอินเดีย ที่มีการแตกออกเป็นปากีสถานตะวันตกกับตะวันออก สุดท้ายก็จะเห็นว่าต้องแยกประเทศอยู่ดี เป็นปากีสถานกับบังกลาเทศ ผมมองว่า แผนการของสหประชาชาติ รวมถึงแนวทางสองรัฐเช่นนี้ ก็จะผลักดันให้กรณีกาซ่ากับเวสต์แบงค์เดินไปสู่ผลลัพธ์ที่ไม่น่าจะแตกต่างกัน หรืออย่างน้อยก็คือจะเจอปัญหาในลักษณะเดียวกัน

2. ในเชิงของผู้คน

ผลที่เกิดขึ้นจากสงครามเมื่อปี 1948 นำมาซึ่งกระแสไหลบ่ารอบใหญ่ที่สุดระลอกแรกของชาวปาเลสไตน์ที่ถูกขับไล่ออกจากดินแดนตัวเองราว 700,000 ชีวิต และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งปัจจุบันตัวเลขผู้อพยพปาเลสไตน์อยู่ที่ราว 7 ล้านชีวิตหรือมากกว่านั้น พวกเขาเรียกเหตุการณ์ในปี 1948 ว่าเหตุการณ์ ‘นักบารฺ’ (النكبة; Nakba) อันหมายถึงความหายนะ (catastrophe) และจัดงานรำลึกขึ้นทุกปี โดยหมายที่จะเรียกร้อง ‘สิทธิที่จะกลับบ้าน’ หรือ ‘สิทธิในการหวนกลับคืนสู่มาตุภูมิของตนเอง’ (Right of Return) มาโดยตลอด

ตัวเลขผู้อพยพปาเลสไตน์ข้างต้นเป็นประเด็นสำคัญ เพราะการเรียกร้องสิทธิหวนคืนกลับบ้านนั้น หมายถึงประชากรปาเลสไตน์ราว 7 ล้านคน จะกลับไปยังประเทศซึ่ง ณ ปัจจุบัน ครอบคลุมรวมถึงพื้นที่ของรัฐอิสราเอลด้วย ซึ่งอาจทำให้ชาวยิวกลายเป็นประชากรส่วนน้อยของประเทศโดยทันที

ดังนั้น ถ้าเราไม่สามารถมีกระบวนการสันติภาพที่ถกเถียงกันในเรื่องของรูปแบบ ลักษณะหน้าตาของรัฐอิสราเอลใหม่ เช่น สิทธิพื้นฐานในฐานะพลเมืองของชาวปาเลสไตน์ที่หวนคืนมาตุภูมิจะเป็นเช่นไร ระบอบการเมืองและหลักการเข้าสู่อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารจะปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องและได้สมดุลเช่นไร กระบวนการสันติภาพก็จะติดชะงัก มิอาจหาข้อยุติลงตัวได้ โดยเฉพาะในสายตานักชาตินิยมยิว ประเด็นนี้จึงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญแห่งความล้มเหลว และเป็นอุปสรรคสำคัญของกระบวนการสันติภาพ

‘51’ ปี กับ การยึดครองทางการทหาร

ย้อนกลับไป 51 ปี (1967) เหตุการณ์ ‘สงครามหกวัน’ ในปีนั้นนับเป็นจุดเปลี่ยนผ่านของประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในประเด็นอิสราเอล – ปาเลสไตน์ และภูมิภาคตะวันออกกลาง ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยโน้มนำไปสู่ความเสื่อมถอยของลัทธิชาตินิยมอาหรับ กระแสการเมืองอิสลามที่หวนกลับมาระลอกใหม่ แต่สิ่งที่ผมอยากจะนำเสนอคือ หลังสงครามหกวัน ณ พื้นที่ซึ่งเป็นปาเลสไตน์บวกกับอิสราเอล อาจกล่าวได้ว่า เกิดระเบียบทางการเมืองชุดใหม่เกิดขึ้น ผมเรียกว่า เป็นระเบียบทางการเมืองหลังสงครามหกวัน

ระเบียบชุดนี้วางสถานะผู้คนในพื้นที่อย่างมีลำดับชั้นสูงต่ำ โดยชาวยิวได้รับการรับประกันสิทธิ เสรีภาพ และอำนาจในฐานะพลเมืองเจ้าของประเทศ ส่วนชาวปาเลสไตน์ถูกปฏิบัติราวกับเป็นคนต่างด้าวเข้ามาขออาศัย หรือบางครั้งก็ให้รู้สึกราวกับเป็นประชากรของดินแดนอาณานิคมที่ถูกยึดครอง ระเบียบทางการเมืองหลังสงครามหกวัน จึงเป็นระเบียบของผู้ชนะสงคราม ทำให้การเจรจาหรือกระบวนการสันติภาพใดๆ คู่ขัดแย้งมิได้มีสถานะ หรือกระทั่งการยอมรับในสถานะที่เท่าเทียมกัน

ถ้าเราลองดูสถานะบุคคลของผู้คนปาเลสไตน์ในเยรูซาเลมตะวันออกในปัจจุบัน จะพบว่าพวกเขาต้องถือหนังสือพาสปอร์ตชั่วคราวของจอร์แดน แต่ไม่มีเลขประจำตัวระบุความเป็นประชาชน ส่วนที่บ้านของพวกเขาเองนั้น ชาวปาเลสไตน์จะได้ถือบัตรประจำตัวระบุที่อยู่อาศัย แต่สิทธิสถานะก็ยังห่างไกลจากสิ่งที่เรียกว่า บัตรประชาชนอยู่มาก ให้ความรู้สึกเพียงเป็นการขึ้นทะเบียนอยู่ในฐานจัดเก็บข้อมูลเท่านั้น

ขณะเดียวกัน เวลาเดินทางไปทำงานก็จะถูกตรวจตราอย่างเข้มงวดมาก ผู้คนต้องตื่นมาต่อแถวเดินผ่านช่องตรวจรักษาความปลอดภัยตั้งแต่ตี 4 ราวกับกำลังเดินออกจากคุกหรือสวนสัตว์เพื่อออกสู่ข้างนอกเป็นระยะเวลาชั่วคราว สิทธิ สถานะ และศักดิ์ศรีความเป็นพลเมืองที่คลุมเครือและถูกกดทับเช่นนี้คือโจทย์สำคัญของการคิดถึงกระบวนการสันติภาพ

นอกจากนี้ หากเราพิจารณาแผนที่ จะเห็นว่าอาณาเขตของอิสราเอลก่อนและหลังปี 1967 แตกต่างกันอย่างมหาศาล หลังสงครามหกวัน กองทัพอิสราเอลสามารถยึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของดินแดนที่มีปัญหา  ขณะเดียวกัน แม้กระบวนการสันติภาพจะเริ่มขึ้นในปี 1993 บนฐานข้อตกลงออสโล แต่เราก็จะเห็นรัฐบาลอิสราเอลผลักดันโครงการที่พักที่อยู่อาศัยของชาวยิวรุกขยายเข้าไปเรื่อยๆ ในเขตเวสต์แบงค์ที่ยึดครองได้ทางการทหารจากสงครามเมื่อปี 1967 นี่เป็นอีกหนึ่งปัญหาว่า กระบวนการสันติภาพจะทำอย่างไรกับชาวยิวที่ไปตั้งรกรากที่อยู่ในเวสต์แบงค์เรียบร้อยแล้ว

ยิตซัค ราบิน, บิล คลินตัน และ ยัสเซอร์ อาราฟัต

‘23 และ 14’ ปี กับ ปัจจัยทางการเมืองภายในของทั้งสองฝ่าย

ตัวเลขชุดที่สามคือ ‘23 และ 14’ (อันหมายถึงปี 1995 และปี 2004) กล่าวคือ ข้อตกลงออสโล (Oslo Accords) ค.ศ. 1993 ในฝ่ายของอิสราเอลเองก็มีกลุ่มคนไม่น้อยที่ไม่ได้มองว่าตนได้เปรียบจากข้อตกลงชุดนี้ โดยเฉพาะยิวไซออนิสต์ (Zionism) และบรรดานักชาตินิยม ส่งผลให้ในปี 1995 หรือ 23 ปีที่แล้ว นักชาตินิยมสุดโต่งคนหนึ่งได้ทำการลอบยิงสังหารผู้นำของอิสราเอลที่ไปตกลงในข้อตกลงออสโล คือ นายกรัฐมนตรี ยิตซัค ราบิน และแรงสนับสนุนต่อกระบวนการสันติภาพได้เปลี่ยนไปในเชิงลบอย่างชัดเจน เมื่อพรรคลิคุด (Likud) ขึ้นครองอำนาจในอิสราเอล ขณะที่ในปี 2004 หรือ 14 ปีที่แล้ว ยัสเซอร์ อาราฟัต ผู้นำปาเลสไตน์ เสียชีวิตลง หนึ่งปีถัดมาก็ติดตามมาด้วยปัญหาความขัดแย้งกันระหว่างกลุ่มการเมืองในปาเลสไตน์ ฟาตะห์ (Fatah) กับ ฮามาส (Hamas)

จากตรงนี้เอง จะเห็นว่าตัวแปรอีกชุดที่สัมพันธ์กับผลแห่งกระบวนการสันติภาพ ก็คือปัจจัยทางการเมืองภายในของคู่ขัดแย้ง ทั้งอิสราเอลและปาเลสไตน์

ในอิสราเอลเอง ต้องยอมรับว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้เป็นนักชาตินิยมสุดโต่ง และยังพอจะเป็นแรงสนับสนุนทางการเมืองต่อการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งด้วยสันติวิธี หรือการพูดคุยเจรจารอบใหม่ได้ ดังนั้น การเมืองภายในของคู่ขัดแย้งเป็นเรื่องน่าสนใจให้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนมากขึ้น เพราะหากมองจากภายนอกว่า ยิวเป็นก้อนเดียวกัน เฉกเช่นกับที่เรามองยิวในอเมริกาว่าเป็นก้อนเดียวกับยิวไซออนิสต์ แต่เราก็เห็นการรณรงค์เพื่อปลดปล่อยปาเลสไตน์จากกลุ่มคนที่เป็นยิวในอเมริกาไม่น้อยเช่นเดียวกัน

ตรงนี้เป็นจุดบ่งชี้บางอย่างว่า ในการจะผลักดันกระบวนการสันติภาพใดๆ ก็ตาม
แรงพลังเชิงบวกอาจมาจากคนที่เรามองในเชิงอัตลักษณ์อย่างเหมารวมว่าเขาคือศัตรูก็เป็นไปได้

ถ้าเราหลุดจากภาพตรงนี้ได้ แล้วมองว่าใครที่สามารถเป็นมิตรถักทอพลังร่วมกันได้ ก็จะทำให้กระบวนการสันติภาพมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเราสำรวจตรวจสอบและให้น้ำหนักกับมุมมองคนรุ่นใหม่ในอิสราเอลและปาเลสไตน์อย่างถี่ถ้วนมากขึ้น ก็อาจพบข้อสังเกตที่น่าสนใจ ว่าทั้งสองชนชาติน่าจะมีจำนวนคนรุ่นใหม่ไม่น้อยกำลังขบคิดเกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

นักวิชาการ รวมถึงสื่อบางท่านเรียกคนรุ่นใหม่เหล่านี้ว่าเป็น ‘Oslo Generation’ อันหมายถึง กลุ่มวัยที่เกิดและเติบโตมากับความล้มเหลวของกระบวนการสันติภาพออสโล แล้วก็เกิดความท้อถอยในการที่จะเอาชนะซึ่งกันและกัน ตรงนี้เป็นปัจจัยที่สำคัญที่น่าจะทำให้คู่ขัดแย้งเดินหน้าต่อไปได้

‘7’ กับระเบียบการเมืองระดับภูมิภาค

โดยทั่วไปแล้ว เราอาจจะเห็นกระแสการแสดงความรู้สึก การเรียกร้อง การจัดแคมเปญรณรงค์ และการจัดเวทีสัมมนาเกี่ยวกับความเป็นธรรมให้กับชาวปาเลสไตน์กระจายอยู่กว้างขวางทั่วทั้งโลก แต่น่าสนใจว่าทำไมมันจึงปรากฏผลที่มีพลังไม่มากเท่าที่ควรจะเป็น และทำไมเราไม่เห็นการแสดงออกที่มากเพียงพอตามที่เราคาดหวังจากโลกอาหรับ

ข้อท้าทายของผมก็คือ เหตุที่เป็นดังข้างต้นก็เพราะกระแสการเห็นอกเห็นใจชาวปาเลสไตน์ที่เราเห็นอยู่มากนั้น มันบังเกิดในระดับของมวลชน ไม่ใช่ชนชั้นนำของบรรดารัฐอาหรับ ซึ่งอิสราเอลที่ผ่านมาสามารถดำรงสถานะตัวเองอยู่ได้จากการถักทอเครือข่ายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การเมืองและความมั่นคงกับบรรดาชนชั้นนำ โดยเฉพาะรัฐกษัตริย์ริมอ่าว

การชุมนุมที่จัตุรัสตารทาห์รีร์ 29 กรกฎาคม 2011 ส่วนหนึ่งของกระแสอาหรับสปริง / photo by Ahmed Abd El-Fatah

ประเด็นนี้เชื่อมโยงไปที่ตัวเลขชุดสุดท้าย คือเลข ‘7’ นั่นคือ 7 ปีที่แล้ว (ค.ศ. 2011) มักถูกนับกันว่าเป็นจุดเริ่มต้นของกระแสอาหรับสปริง แม้ผลลัพธ์ปลายทางของปรากฏการณ์ดังกล่าวจะปรากฏออกมาหลากหลาย กระทั่งยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า ปรากฏการณ์นี้คือการเปลี่ยนผ่านของระบอบการเมืองไปสู่อะไร

แต่สำหรับผมแล้ว ปรากฏการณ์ของอาหรับสปริง มองอย่างภาพรวมที่สุด มันคือความพยายามเปลี่ยนแปลงลักษณะของระบอบการเมืองจากการเมืองชนชั้นนำ (elite politics) ไปเป็นการเมืองของมวลชน (mass politics) ที่มนุษย์สามัญชนจะถูกนับรวมส่วนเป็นตัวแสดงทางการเมืองได้บ้าง ไม่ว่าจะในรูปแบบประชาธิปไตย หรือการเมืองอิสลามก็ตาม

กระแสนี้ถ้าประสบความสำเร็จในหลายพื้นที่ ไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นการเมืองแบบใด มันก็จะทำให้มวลชนที่มีความเห็นอกเห็นใจกับพี่น้องปาเลสไตน์ (ซึ่งเรามองกันอย่างเร็วๆ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าน่าจะมีจำนวนเยอะพอสมควร) สามารถกำหนดชะตานโยบายทางการเมืองของประเทศตัวเองได้ อันนี้จึงเป็นผลประโยชน์สำคัญที่ทำให้ประเทศอย่างอิสราเอล รวมถึงอเมริกานั้น ไม่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งในคาบสมุทรอาหรับ

เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นตัวอย่างในหลายเหตุการณ์ เช่น การที่สหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุนค้ำยันซาอุดีอาระเบียอย่างหนักแน่น ทั้งในการก่อสงครามที่เยเมน มาจนถึงกรณีสังหาร จามาล คาช็อกกี เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะรักษาระเบียบการเมืองระดับภูมิภาคให้อยู่ในร่องรอยของยุคก่อนอาหรับสปริง คงไว้ซึ่งเสถียรภาพในอำนาจของกลุ่มชนชั้นนำที่เป็นพันธมิตรกับอเมริกา และอยู่ในเครือข่ายความสัมพันธ์กับอิสราเอล พร้อมกับปิดล้อมป้องกันโอกาสการลุกฮือของมวลชนที่ต่อต้านตะวันตกและมีความรู้สึกร่วมกับพี่น้องปาเลสไตน์ ระเบียบดังกล่าวจึงเป็นระเบียบที่ช่วยค้ำยันสถานะอันมั่นคงให้กับอิสราเอล

ดังนั้น ผมคิดว่าสุดท้ายแล้วถ้าจะถามว่าบรรดารัฐในตะวันออกกลางจะมีส่วนร่วม หรือจะสนับสนุนคนปาเลสไตน์ได้มากเพียงใด รวมไปถึงรัฐที่ไม่ใช่รัฐมุสลิม ไม่ใช่รัฐในตะวันออกกลาง เช่น ประเทศไทย หรือว่าประเทศอื่นๆ จะสามารถ ‘ทำเรื่องราวให้ถูกต้อง’ ได้มากเพียงใด ก็จำเป็นจะต้องมองข้ามผลประโยชน์แห่งชาติแบบคับแคบ ไปยังผลประโยชน์ร่วมในระดับโลก ซึ่งเป็นเรื่องระยะยาว ประเด็นนี้ผูกติดอยู่กับความเป็นธรรม และเกี่ยวกระทบกับระเบียบโลกที่อาจจะสั่นคลอนลงในอนาคต หากทุกฝ่ายเพิกเฉยกับการกระทำอันอธรรมดิบเถื่อนละเมิดกติกา

เพราะสุดท้ายเราจะอยู่ในโลกที่ไม่อาจเชื่อถืออะไรได้อีกเลย สิ่งที่จะเป็นกฎกติกาเดียวของโลกในวันนั้น คือ ‘กฎแห่งป่า’ (law of jungle) ที่สัตว์ใหญ่กินสัตว์เล็ก กำลังอำนาจคือเครื่องชี้ขาดตัดสิน ซึ่งจะทำให้การอยู่ร่วมกันในอนาคตระยะยาวเป็นไปได้ยากกันหมดทั้งโลก

การชวนมองวิสัยทัศน์ระยะยาวแบบนี้ผมไม่แน่ใจว่าจะเพียงพอต่อการโน้มน้าวให้ประเทศต่างๆ เกิดแรงจูงใจและตระหนักเห็นผลที่จะร่วมช่วยสนับสนุนคลี่คลายประเด็นปาเลสไตน์ให้ถูกต้องได้หรือไม่กระบวนการสันติภาพคงต้องลองเสี่ยงฝากแขวนไว้กับทุกท่าน ในฐานะมนุษย์ที่อยู่ร่วมในบ้านหลังใหญ่ซึ่งเรียกว่าโลกใบนี้

Author

อาทิตย์ ทองอินทร์
ผู้อำนวยการโครงการวิทยาลัยการเมือง สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ผู้ศึกษาการก่อการร้ายและการเมืองในตะวันออกกลาง รวมถึงมีความสนใจบทบาทนโยบายต่างประเทศของชาติมหาอำนาจที่ส่งผลต่อการเมืองในโลกอิสลาม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า