สองขุมทองของอุตสาหกรรมอาวุธ

itchy-for-web

illustrator: Shhhh

 

ที่ใดมีความขัดแย้ง ที่นั่นมีโอกาสแสวงหากำไรเสมอ

ขณะนี้มีสมรภูมิรบหลักที่กำลังมีการโชว์และใช้อาวุธอย่างเข้มข้น คือ สมรภูมิในตะวันออกกลางที่เป็นขุมทองของอุตสาหกรรมอาวุธยุทโธปกรณ์ โดยเฉพาะเจ้าใหญ่ๆ ในสหรัฐที่มียอดขายอาวุธอย่างก้าวกระโดดสัมพันธ์กับความขัดแย้งในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก

ตะวันออกกลางเป็นตลาดที่โตเร็วที่สุด ระหว่างปี 2010-2014 สหรัฐครองการซัพพลายอาวุธในภูมิภาคนี้ได้มากถึง 47 เปอร์เซ็นต์ โดยมีซาอุดิอาระเบียเป็นลูกค้ารายใหญ่ ซื้อเพิ่มมากกว่าช่วงปี 2005-2009 ถึงสี่เท่า

เช่นเดียวกับรายงานทางฝั่งธุรกิจที่จัดทำโดยหน่วยวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจ IHS พบว่า การค้าอาวุธในปี 2014 มีมูลค่ามากถึง 64,400 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นถึง 13.4 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และถือเป็นการทำสถิติเพิ่มขึ้นเป็นปีที่หกติดต่อกัน โดยสหรัฐได้รับการยกย่องจากรายงานฉบับนี้ว่าเป็น ผู้ทำกำไรสูงสุด (the top profiteer) จากความขัดแย้งที่แพร่กระจายในตะวันออกกลาง โดยส่งออกอาวุธเฉพาะปี 2014 มากถึง 8,400 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปี 2013 ที่ 6,000 ล้านดอลลาร์

นี่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้อุตสาหกรรมอาวุธยุทโธปกรณ์ยักษ์ใหญ่สามเจ้าหลัก Raytheon, Oshkosh และ Lockheed Martin ถึงกับแสดงความมั่นอกมั่นใจต่อหน้าบรรดานักลงทุนในการประชุมลับของวาณิชธนกิจ Credit Suisse ที่เมืองปาล์มบีชเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนว่า ธุรกิจของพวกเขาจะโกยกำไรเป็นกอบเป็นกำจากความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่กำลังคุกรุ่นแน่นอน (เชิญมาลงทุนกันเถอะ)

บรูซ แทนเนอร์ CEO ของ Lockheed Martin บอกกับที่ประชุมว่า บริษัทของเขาได้รับผลประโยชน์ทางอ้อมหลังจากที่รัสเซียยื่นมือเข้ามาในตะวันออกกลางจนกองทัพตุรีกีสอยเครื่องบินรบตกไป ทำให้หลายประเทศถามหาทั้ง F-22 และเครื่องบินเจ็ตรุ่นใหม่อย่าง F-35 เพื่อไประแวดระวังรัสเซีย ส่วนอาวุธที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งแบบจรวด บริษัทก็ได้รับออร์เดอร์มากขึ้นจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และซาอุดิอาระเบียเพื่อไปปฏิบัติการในเยเมน

ทางด้าน วิลสัน โจนส์ ประธาน Oshkosh ก็ไม่น้อยหน้า ยกย่องให้การคุกคามที่เติบใหญ่ของกลุ่มไอเอสทำให้หลายประเทศสั่งซื้อรถหุ้มเกราะ M-ATV เพื่อเสริมกำลังกองทหารราบ เช่นเดียวกับ ธอมัส เคนเนดี CEO ของ Raytheon ที่บอกว่า เขาเพิ่งได้พบกษัตริย์ซัลมานแห่งซาอุดิอาระเบีย ประเทศที่เมื่อปีที่แล้วสั่งซื้ออาวุธมากที่สุดในโลก ซึ่งไม่เพียงแค่ซาอุดิอาระเบีย Raytheon ได้รับคำสั่งซื้อมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในภูมิภาคตะวันออกกลาง ทำให้ธุรกิจอาวุธยุทโธปกรณ์ของพวกเขายังไปได้สวย แม้รัฐสภาสหรัฐจะตัดลดงบประมาณกลาโหมของประเทศไปบ้าง

อย่างไรก็ตาม สมรภูมิรบที่กำลังมีการโชว์และใช้อาวุธอย่างเข้มข้น ไม่ได้มีแค่ที่ตะวันออกกลางเท่านั้น เพราะโดยมากตะวันออกกลางจะเป็นขุมทองสำหรับอุตสาหกรรมอาวุธหนัก แต่ก็ใช่ว่า อุตสาหกรรมอาวุธเบาของสหรัฐจะน้อยหน้าในการทำกำไร เพราะขุมทรัพย์นั้น อยู่ในบ้านนั่นเอง

ในปี 2015 สหรัฐต้องเผชิญกับเหตุการณ์กราดยิงจนถึงวินาทีที่เขียนบทความชิ้นนี้ คือครั้งที่ 353 คือเหตุกราดยิงของสองสามีภรรยาที่บุกยิงงานเลี้ยงที่ศูนย์อบรมผู้พิการในเมืองซานเบอร์นาร์ดิโน ทุกๆ ปีมีคนเสียชีวิตจากความรุนแรงจากอาวุธปืนขนาดเล็ก ไม่ว่าจะเป็นการฆาตกรรม การฆ่าตัวตาย หรือตายจากอุบัติเหตุเกี่ยวกับปืนประมาณปีละ 33,000 คน หรือวันละ 90 คน

บทความ ‘ถอดเศรษฐศาสตร์อาวุธปืน ทางแพร่งที่มะกันต้องเลือก’ ที่ลงตีพิมพ์ใน กรุงเทพธุรกิจ ให้ตัวเลขที่น่าสนใจ

พลเรือนอเมริกันครอบครองอาวุธปืนมากถึง 310 ล้านกระบอก จากจำนวนประชากรที่มีอาวุธทั้งหมด 875 ล้านคนทั่วโลก ชาวอเมริกันมีอาวุธในครอบครองมากสุดในโลกเมื่อเทียบต่อคนต่อปี โดยประชากรทุกๆ 100 คน ครอบครองปืนถึง 90 กระบอก แต่เมื่อถอดเศรษฐศาสตร์อาวุธมืออเมริกัน ก็จะพบว่า เป็นอุตสาหกรรมที่มีการจ้างงานถึง 209,750 ตำแหน่งงาน ในปี 2012 สมาคมกีฬายิงปืนแห่งสหรัฐ ประเมินว่า ค่าจ้างในอุตสาหกรรมนี้ในแต่ละปีอยู่ที่ราว 9,800 ล้านดอลลาร์ 30 เปอร์เซ็นต์เป็นตัวเลขการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมนี้ในระหว่างปี 2008-2011 และ 131,806 เป็นจำนวนของดีลเลอร์ขายอาวุธและเครื่องกระสุนที่ได้รับอนุญาตในสหรัฐ ซึ่งมากกว่าจำนวนร้านโชห่วยถึงสี่เท่า

5,459,240 คือ จำนวนปืนที่ผลิตขึ้นใหม่ในสหรัฐเมื่อปี 2011 ซึ่งราว 95 เปอร์เซ็นต์ในจำนวนนี้ขายในตลาดสหรัฐ ไม่นับที่นำเข้ามาอีกกว่าสามล้านกระบอกเศษ ราคาขายปลีกก็ไม่แพงมาก เทียบแล้วประมาณ 30,000-40,000 บาทเท่านั้น สำหรับปืน Bushmaster .223 คาลิเบอร์ และ M4 คาร์ไบน์ แบบเดียวกับที่มือปืนวัย 20 ปี ใช้ก่อเหตุกราดยิง 28 ศพที่โรงเรียนประถมแซนดีฮุก (Sandy Hook Elementary School) ในเมืองนิวทาวน์ รัฐคอนเนกติกัต

ยิ่งไปกว่านั้น อุตสาหกรรมนี้ยังทำให้รัฐบาลกลางและท้องถิ่นจัดเก็บภาษีจากอุตสาหกรรมอาวุธปืนได้มากกว่า 5,100 ล้านดอลลาร์ แน่นอนว่าพวกเขาก็ยิ่งมีอิทธิพลทางการเมืองมากด้วย ถึงขั้นที่สามารถผลักดันให้การครอบครองอาวุธเป็นไปตามการตีความของรัฐธรรมนูญ และออกกฎแบนไม่ให้ใช้เงินงบประมาณแผ่นดินไปสนับสนุนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงของอาวุธ มาตั้งแต่ปี 1996

ไม่น่าแปลกใจเมื่อเปรียบเทียบเม็ดเงินที่ใช้ล็อบบีระหว่างฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ครอบครองปืนและฝ่ายที่ต้องการควบคุมอาวุธปืน 17 ต่อ 1 คือเม็ดเงินล็อบบีที่ใช้จ่ายในปี 2011 โดยกลุ่มพิทักษ์สิทธิ์ครอบครองปืนที่นำโดยสมาคมไรเฟิลแห่งชาติ (National Rifle Association: NRA) ใช้เงินล็อบบีมากถึง 4,212,996 ดอลลาร์ ขณะที่กลุ่มที่ต้องการให้ควบคุมอาวุธปืนใช้จ่ายเพียง 240,000 ดอลลาร์ และถ้านับตัวเลขเงินล็อบบีตั้งแต่ปี 2000 จะพบว่า กลุ่มพิทักษ์สิทธิ์ครอบครองปืนใช้เงินมากกว่า 101 ล้านดอลลาร์ในการล็อบบีสมาชิกรัฐสภาสหรัฐ

และแทบจะเป็นบรรยากาศเดียวกับอุตสาหกรรมอาวุธหนักนอกประเทศ คือ ทุกครั้งที่มีการกราดยิงใหญ่ๆ หลังจากนั้นจะเป็นช่วงทำกำไรสูงสุดของอุตสาหกรรมอาวุธ แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือ ทุกครั้งที่ผู้กำหนดนโยบายพยายามจำกัดการครอบครองอาวุธ โอ๊ย…ต้องเรียกว่าเป็นเวลาโกยเงินโกยทอง

มีรายงานระบุว่า นับจากประธานาธิบดีบารัก โอบามา ชนะเลือกตั้งในปี 2008 Smith & Wesson ยักษ์ใหญ่ในวงการอาวุธขนาดเล็กทำกำไรเพิ่มขึ้น 140 เปอร์เซ็นต์ เพราะชาวอเมริกันคาดว่า ทำเนียบขาวในยุคโอบามาอาจจะออกกฎหมายควบคุมอาวุธปืน จึงต้องซื้อปืนกักตุนเอาไว้ก่อน

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่อเมริกันชนต้องเผชิญกับเหตุกราดยิงครั้งที่ 353 ของปีนี้ ที่หนำซ้ำยังเป็นเหตุกราดยิงครั้งที่สองในรอบสัปดาห์ที่สร้างความตื่นตระหนกและสร้างแรงสั่นสะเทือนอย่างหนักหน่วง จนนักสังเกตการณ์เชื่อว่า นี่น่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมอเมริกันได้จริงๆ เสียที

แต่เสียใจด้วย เพราะนี่คืออีกครั้งที่วงจรอุบาทว์ของอุตสาหกรรมอาวุธสหรัฐทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อ FBI รายงานตัวเลขการขายปืนหลังเหตุกราดยิงที่ซานเบอร์นาดิโน พุ่งสูงสุดทำสถิติยอดช็อปปิ้งวันขอบคุณพระเจ้า ราคาหุ้นของ Smith & Wesson สูงสุดในรอบ 8 ปี และประมาณการว่า ปีนี้กำไรเหนาะๆ น่าจะอยู่ที่ 27 เปอร์เซ็นต์ เอาเฉพาะแค่ยอดขาย 3 เดือน สิงหาคมถึงตุลาคม 14.2 ล้านดอลลาร์ สูงขึ้นสามเท่าเมื่อเทียบกับยอดขายช่วงเดียวกันของปีก่อน

ปังมาก!!!

เพราะทุกครั้งหลังเหตุการณ์ความรุนแรงด้วยอาวุธปืน กระแสสังคมจำนวนหนึ่งพยายามออกมาเรียกร้องให้จำกัดการถือครองอาวุธ หรือจำกัดการเข้าถึงอาวุธ ผู้รับผิดชอบต้องออกมาตอบรับกระแสนี้เสนอแผนการต่างๆ ทางฝั่งอุตสาหกรรมอาวุธก็จะทุ่มเงินให้กลุ่มล็อบบีผ่าน NRA และพันธมิตรเร่งใช้จังหวะนี้ทำงานกันอย่างหามรุ่งหามค่ำสร้างความหวาดกลัวว่า ‘สิทธิในการครอบครองอาวุธเพื่อป้องกันตัวเองของอเมริกันชน’ จะถูกริบไป ฉะนั้นพวกเราร้านค้าปลีกต้องรีบซื้อตุนไว้ในสต็อก พวกเราผู้บริโภคทั่วไปต้องเร่งซื้อเก็บ สรุปง่ายๆ การฆ่าครั้งใหญ่ๆ คือ ‘good for business’

อันนี้ก็ไม่ใช่เรื่องจะมากล่าวหากันลอยๆ เพราะ The Intercept สำนักข่าวออนไลน์ที่ผลิตข่าวสารจากเอกสารหลักฐานที่ เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ได้มาจากฐานข้อมูลของสภาความมั่นคงสหรัฐที่เที่ยวไปดักฟังข้อมูลสอดแนมต่างๆ รายงานว่า ในการประชุมของอุตสาหกรรมอาวุธขนาดเล็กของสหรัฐเจ้าใหญ่ๆ ห้างค้าปลีกที่จำหน่ายอาวุธ ห้างค้าปลีกจำหน่ายเครื่องกีฬา (ปืนเป็นหนึ่งในสินค้าหลัก) อาทิ ร่วมกับนักลงทุนในวอลล์สตรีทต่างปลื้มปริ่มถึงโอกาสการทำกำไรมหาศาลหลังความตายครั้งใหญ่นี้

เอ็ดเวิร์ด สแต็ก CEO ของ Dick’s Sporting Goods ห้างค้าปลีกที่ขายอาวุธและเครื่องกระสุนเจ้าใหญ่บอกกับนักลงทุนอย่างตรงไปตรงมาว่า ช่วงเวลาแบบนี้เราจะได้เห็น ‘การซื้อแบบตื่นตระหนก’ ทุกครั้งที่มีแนวโน้มว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์การครอบครองอาวุธ สัญญาณยิ่งชัด ยอดซื้อยิ่งแรง กำไรในอุตสาหกรรมก็งอกงาม

ธอมัส มิลล์เนอร์ CEO ของ Cabela’s ห้างค้าปลีกปืนอีกเจ้า บอกความในใจกับผู้ถือหุ้นของบริษัทว่า ก่อนการเลือกตั้งปี 2012 มีการประเมินว่า โอบามาจะกลับมาอีกสมัย เขาจึงตุนสินค้าในสต็อกเพิ่มขึ้น พอเกิดเหตุกราดยิงที่นิวทาวน์ที่เด็กเสียชีวิต 20 คน ผู้ใหญ่ 6 คน ธุรกิจของเราดีแบบบ้าคลั่งไปเลย มีลูกค้าหน้าใหม่เข้ามาเยอะมาก สินค้าที่ขายดีที่สุดคือ AR-15 ไรเฟิลแรงสูงที่ประสิทธิภาพใกล้เคียงกับ M-16 ที่กองทัพใช้ เพียงแต่ลดประสิทธิภาพด้านออโตเมติกลงเท่านั้น

ซึ่งนี่ก็ตรงกับความเห็นของ เจฟฟรี บูเคนัน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของผู้ผลิตปืน Smith & Wesson ที่บอกกับคู่ค้าของพวกเขาในการประชุมผู้ถือหุ้นว่า “เมื่อมีความกลัวและความไม่แน่นอนเรื่องสิทธิการถือครองปืน (หลังเหตุร้าย) นี่จะเป็นแรงผลักดันให้คนใหม่ๆ เข้ามาซื้อหาอาวุธเป็นครั้งแรกในชีวิตพวกเขา พวกคุณ (นักลงทุน) ก็เห็น หลังโศกนาฏกรรม แรงซื้อเพิ่มขึ้นมหาศาล”

และแน่นอนว่าจากวงจรอุบาทว์ที่ว่านี้ ทำให้ทุกครั้งหลังโศกนาฏกรรมที่เกิดจากอาวุธปืนในแผ่นดินอเมริกัน นักวิเคราะห์ตลาดจะแนะนำให้นักลงทุนของพวกเขาเข้าไปช้อนซื้อหุ้นอุตสาหกรรมนี้ทันที…และไม่เคยผิดหวัง
อย่าแปลกใจที่จะบอกว่า ส่วนหนึ่งของกำไรที่เพิ่มขึ้นก็จะเจียดไปสนับสนุนนักการเมือง พรรคการเมือง และการล็อบบีให้คงการถือครองอาวุธต่อไปอย่างไม่มีวันจบสิ้น ดังนั้น ความหวังที่จะเห็นความรุนแรงและความตายจากการใช้อาวุธในอเมริกาและบนโลกใบนี้ลดน้อยลง จึงเป็นเรื่องโลกสวยสิ้นดี

 


อ้างอิงข้อมูลจาก:
The Intercept / theintercept.com
The Guardian / theguardian.com
RT / rt.com
Way ฉบับที่ 84 เศรษฐกิจ ‘บูม’
กรุงเทพธุรกิจ

Author

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล
เป็นตัวอย่างของคนทำงานสื่อที่มีพัฒนาการสูง จากนักข่าวรายวันสู่คอลัมนิสต์ นักจัดรายการวิทยุที่รอบรู้และรอบจัดในการสังเคราะห์ข้อมูล ขณะที่อีกขาหนึ่งยังรับบทผู้ประสานงาน และทำงานวิชาการป้อนข้อมูลให้องค์กรเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างเข้มข้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า