มอสตาร์…พบกันครึ่งทาง

“ในโรงเรียนเหล่านั้น นักเรียนและครูเชื้อสายโครแอทและบอสนิแอก แยกการเรียนการสอนออกจากกันทั้งในทางรูปธรรมและนามธรรม แม้ว่าจะอยู่ในอาคารหรือใต้หลังคาเดียวกัน หลายโรงเรียนสร้างอัตลักษณ์ที่แตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นทางกฎหมาย การบริหารจัดการ ผู้บริหารโรงเรียน ผู้อำนวยการโรงเรียน และห้องพักครู โรงเรียนบางแห่ง นักเรียนโครแอทและบอสนิแอกเข้าเรียนคนละเวลา หรือเข้าเรียนในเวลาเดียวกันแต่ใช้ทางเข้าออกคนละทาง”

จอร์ดานา โบซิช (Gordana Bozic) 2006

มอสตาร์ (Mostar) คือจุดหมายปลายทางของฉันในวันคริสต์มาส เมืองที่ได้ยินมาว่าคนเชื้อสายบอสนิแอกและโครแอทแยกกันอยู่ แม้จะอยู่ภายใต้ระบบการเมืองที่ต้องใช้ชื่อร่วมกัน…สหพันธรัฐบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา

ฉันตื่นตั้งแต่ยังไม่ 6 โมงดีเพื่อขึ้นรถรางไปยังสถานีขนส่งและนั่งรถต่อไปยังเมืองมอสตาร์ อากาศตอนเช้าเหมือนกับที่ผ่านมาคือยังมีควันพิษหนา ฉันยังไม่เลิกราที่จะสังเกตเกี่ยวกับเรื่องวันหยุดและวิถีของคนที่นี่

ขณะเดินผ่านร้านขนมปังเล็กๆ หญิงวัยกลางคนเปิดร้านแล้ว ขนมปังอบใหม่วางเรียงรายรอให้คนมาซื้อไปเป็นอาหารเช้า ถัดไปอีกนิด ซุ้มขายของกระจุกกระจิก เช่น บุหรี่และขนมขบเคี้ยว เปิดไฟสว่าง แม้คนขายยังคงจัดการอะไรอยู่ข้างหลังก็ตาม คริสต์มาสของคนที่นี่ดำเนินไปตามปกติ ที่ป้ายรถรางมีคนบางส่วนมารออยู่ก่อนแล้ว บ้างมีหน้ากากปิดหน้าป้องกันควันพิษ

รถรางสาย 1 เข้ามาจอดที่ป้ายตรงข้ามกับจตุรัสนกพิราบ ผู้คนที่ขึ้นสายนี้น่าจะมีจุดหมายปลายทางที่สถานีรถไฟและสถานีรถบัสที่อยู่ติดกัน ซึ่งเป็นป้ายสุดท้ายของรถราง เพื่อเดินทางไกลต่อไปยังจุดหมายปลายทางของพวกเขา ฉันมีตั๋วรถรางอยู่แล้วจากที่ซื้อมาเมื่อวานที่ซุ้มขายของกระจุกกระจิก เลยได้ขึ้นและสแตมป์ตั๋วกับเครื่องตอกที่ตั้งอยู่ตามประตู โดยที่ไม่ต้องซื้อจากคนขับด้านหน้า

สภาพของรถรางที่นี่เก่าคร่ำคร่าเพราะผ่านการใช้งานมานาน เก้าอี้ที่นั่งถูกคนมือบอนเขียนหรือวาดอะไรอยู่เต็มไปหมด เอาเข้าจริงรถรางที่นี่ก็ไม่ใช่ของใหม่มือหนึ่งอะไร ส่วนใหญ่ได้รับบริจาคจากรัฐบาลออสเตรีย บางขบวนได้จากเนเธอร์แลนด์ แต่การบริการรถรางของที่นี่ก็ถือว่ามีประสิทธิภาพที่ผู้คนในใจกลางเมืองซาราเยโวใช้บริการค่อนข้างหนาตาแม้ในเวลาเช้าตรู่เช่นนี้

เมื่อรถรางเทียบท่าที่ป้ายสุดท้าย ฉันลงและเดินอ้อมสถานีรถไฟไปยังสถานีขนส่ง ตั้งใจมาซื้อตั๋วรถบัสก่อนขึ้น เพราะไม่แน่ใจว่าจะไปหรือกลับมากี่โมง และฉันหาเว็บไซต์ที่มีรายละเอียดที่ชัดเจนไม่ได้ พอไปถึงบริเวณขายตั๋ว ฉันเห็นคนเข้าแถวอยู่ก่อนแล้ว สักพักพอถึงเข้าไปที่เคาท์เตอร์ขายตั๋ว พนักงานที่ได้รับการฝึกมาอย่างดี พูดภาษาอังกฤษคล่องแคล่ว แนะนำให้ฉันซื้อตั๋วไป-กลับจะได้ราคาที่ถูกกว่า ฉันเลือกเวลาออก 8 โมงเช้า และกลับจากมอสตาร์ 4 โมงเย็น ใช้เวลาร่วมสี่ชั่วโมงในการเดินทางไปกลับ และเดินเล่นดูโน่นดูนี่สัก 5-6 ชั่วโมงก็น่าจะพอ

ฉันเข้าไปรอขึ้นรถที่ชานชาลาของสถานี ซื้อขนมปังพิตาไส้ชีสกินเป็นอาหารเช้า แต่พอถึงเวลา 8 โมง รถรอบที่ซื้อไว้ก็ยังไม่มาสักที ฉันเริ่มกังวลว่า เอาเข้าแล้ว ไหนใครว่าคนบอสเนียนทำงานกันทุกวัน ไม่มีวันหยุด แล้วทำไมรถยังไม่มาอีก แต่ก็คิดอีกด้าน รถคงมาช้า สภาพบรรยากาศขมุกขมัวด้วยควันพิษอย่างนี้คงทำให้คนขับรถขับช้าลงก็ได้ ผู้โดยสารบางส่วนที่ซื้อตั๋วรอบเดียวกับฉันเริ่มกระสับกระส่าย สักพักมีผู้โดยสารบางส่วนมาสมทบ แต่พวกเขาซื้อตั๋วรอบ 9 โมง และมารออยู่ชานชาลาเดียวกันกับฉัน เพราะรถที่จะไปมอสตาร์ทุกรอบออกที่ชานชาลาเดียวกั

เกือบ 9 โมง รถบัสคันหนึ่งติดป้ายข้างหน้าว่ามอสตาร์แล่นเข้ามาจอด ฉันและผู้โดยสารทั้งหมดดีใจว่าในที่สุดรถก็มาแล้ว แต่เมื่อเริ่มก้าวขึ้นรถ ปรากฏว่าตั๋วที่เราซื้อไม่ใช่สำหรับขึ้นรถคันนี้ เพราะรถคันนี้เป็นรอบ 9 โมงซึ่งเป็นคนละบริษัทกับรถรอบ 8 โมงที่ฉันซื้อไป ความวุ่นวายเกิดขึ้น เพราะรถรอบ 8 โมงคงเบี้ยวเป็นแน่แท้แล้ว โดยที่บริษัทก็ไม่ได้แจ้งกับเคาน์เตอร์ขายตั๋วล่วงหน้า พวกเราที่ซื้อตั๋วรอบก่อนหน้ายังโชคดีที่มีโอกาสไปซื้อตั๋วและเปลี่ยนเป็นเวลา 9 โมงทัน แม้ผู้โดยสารบางคนโมโหและโวยวายเอากับเจ้าหน้าที่ขายตั๋วที่ต้องออกอาการหงุดหงิดกระฟัดกระเฟียดกลับไปเหมือนกัน เพราะความผิดไม่ได้อยู่ที่เขาแม้แต่น้อยที่อยู่ดีๆ บริษัทรถก็ไม่แจ้งยกเลิกล่วงหน้า

คราวนี้ฉันซื้อตั๋วขาเดียวก่อนเพราะยังไม่แน่ใจว่าจะกลับจากมอสตาร์กี่โมง และเกรงว่าความไม่แน่นอนอาจเกิดขึ้นหากบริษัทรถยกเลิกกระทันหันอีก ได้ตั๋วแล้วก็รีบวิ่งไปขึ้นรถที่คนขับรอพวกที่ตกหล่นอย่างพวกเราและเลือกที่จะออกจากชานชาลาช้ากว่ากำหนด โชคดีที่ยังมีที่นั่งเหลือ ฉันเลือกนั่งใกล้กับ เอลวิรา (Elvira) หญิงสาวบอสนิแอก คนเมืองมอสตาร์ ที่กำลังเดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านช่วงวันหยุดยาวถึงปีใหม่

เอลวิราเป็นหญิงสาวมุสลิมคนแรกที่ฉันเห็นตั้งแต่มาเยือนบอสเนียฯ คือใส่ฮิญาบคลุมศีรษะและปิดบังลำคอมิดชิด ฉันแปลกใจไม่น้อยเพราะเห็นผู้หญิงส่วนใหญ่ดูกลมกลืนด้วยการแต่งกายทันสมัย แต่เธอคนนี้ใส่ชุดคลุมหลวมๆ ตามสไตล์ของสาวมุสลิมบางวัฒนธรรมที่แต่งตัวด้วยชุดโคร่งตัวยาว เอลวิราย้ายมาอยู่ซาราเยโวได้หลายปีแล้ว ตั้งแต่ช่วงที่เธอเริ่มเข้าเรียนเอกวิชาภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง และตอนนั้นเธอเรียนจบแล้วและกำลังหางานทำ แต่เธอก็ไม่ได้คิดจะกลับบ้าน เพราะแต่งงานและอยู่กินกับสามีของเธอที่ซาราเยโว แต่เขาไม่ได้ตามกลับมาเยี่ยมบ้านที่มอสตาร์กับเธอในครั้งนี้

ก่อนรถเริ่มวิ่งออกนอกตัวเมือง คนขับไปรับคนที่รอขึ้นระหว่างทางในซาราเยโวอีกสองสามจุด จำนวนคนที่มากขึ้นทำให้บางคนต้องยืนโหน เนื่องจากรถรอบ 8 โมงยกเลิกโดยไม่ได้บอกกล่าว ทำให้รถรอบนี้ต้องเหมาเอาผู้โดยสารทั้งหมดร่วมเดินทางไปด้วยกัน ขณะที่รถกำลังวิ่งออกนอกเมือง ท้องฟ้าเริ่มโปร่งขึ้น เพราะวิ่งออกจากมลภาวะในเมืองหลวง ยิ่งออกห่างเมืองเข้าสู่เส้นทางชนบท ทิวทัศน์ข้างทางเหมือนเป็นรางวัลของการตื่นตั้งแต่เช้ามืด

ขณะที่รถวิ่งผ่านอุโมงค์จากการระเบิดภูเขาหลายลูกเพื่อทำถนน แวดล้อมไปด้วยภูเขาสูงตระหง่านตา แต่ที่น่าประทับใจกว่าคือเส้นทางที่เลียบไปกับแม่น้ำเนเร็ตวา (Neretva) สีเขียวมรกต และสลับเป็นสีเขียวเทอร์ควอยซ์บ้างเมื่อบางส่วนของแม่น้ำตกกระทบด้วยแสงอาทิตย์ ตามเส้นทางรถวิ่งเลียบแม่น้ำไปเรื่อยๆ เช่นนี้ ก็จะไปถึงเมืองมอสตาร์ที่มีแม่น้ำนี้ไหลผ่านกลางเมืองในที่สุด

มอสตาร์เป็นเมืองหลักและจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่มาเที่ยวบอสเนียฯ ด้วยภูมิศาสตร์ที่ขนาบด้วยหุบเขาเนเร็ตวาพร้อมกับแม่น้ำสายหลักชื่อเดียวกัน อีกทั้งยังมีความสำคัญในแง่เศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 รองจากซาราเยโว บันยา ลูคา (Banja Luka) และ ตุซลา (Tuzla) ในช่วงที่อยู่กับอดีตยูโกสลาเวีย มอสตาร์เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์ ในทางการเมืองถือว่าเป็นเมืองหลวงของเขตเฮอร์เซโกวีนา เป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมของกลุ่มโครแอท

ในช่วงก่อนสงครามยูโกสลาเวีย มอสตาร์มีสัดส่วนประชากรคนเชื้อสายโครแอทสูสีกับชาวบอสนิแอกมุสลิมคือราว 34 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่มีประชากรเซิร์บอยูที่ 19 เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบันมอสตาร์มีประชากร 105,000 คน สัดส่วนประชากรตามเชื้อชาติหลังการจัดเขตปกครองใหม่ ทำให้ชาวเซิร์บลดจำนวนลง ขณะที่จำนวนชาวบอสนิแอกและโครแอทมีจำนวนมากขึ้น

ใกล้เที่ยงวัน รถบัสเลี้ยวเข้าสู่ตัวเมืองมอสตาร์ รถบัสควรไปจอดที่สถานีขนส่งตามปกติ แต่วันนั้นมีการขุดท่อทำให้ต้องปิดถนนหน้าทางเข้าสถานี รถบัสเลยจอดส่งคนที่มีจุดหมายปลายทางที่นี่ลงดื้อๆ บนสะพานข้ามแม่น้ำ คนที่อยู่ที่นี่อย่างเอลวิราเมื่อลงจากรถรู้ว่าต้องเดินไปทางไหน ฉันเดินตามเอลวิลาลงมา เธอเห็นฉันเป็นนักท่องเที่ยวเลยพาเดินไปชี้สถานีขนส่ง จะได้รู้ว่าอยู่ตรงไหนและมาดูรอบรถขากลับไว้ล่วงหน้า ฉันเล็งที่รอบ 6 โมงเย็น เพราะกลับไปถึงซาราเยโวไม่ดึกเกินไป เอลวิลรามีน้ำใจและทำตัวเป็นเจ้าบ้านที่ดี เดินไปเป็นเพื่อนพาฉันเข้าสู่ตัวเมืองเก่าของมอสตาร์ ก่อนที่จะแยกไปเพื่อเจอพี่สาวของเธอทั้งที่ไม่จำเป็นต้องผ่านตัวเมืองเก่า ฉันย้ำกับเธอว่าไม่น่าหลงทาง เพราะจากแผนที่ที่ได้มาก็เห็นว่าตัวเมืองไม่ได้ซับซ้อนอะไร แต่เธอก็ยังแสดงน้ำใจให้เบอร์โทรศัพท์กับฉันไว้กรณีฉุกเฉิน

ระหว่างทางที่เดินไปตัวเมือง เอลวิราอธิบายถึงเมืองมอสตาร์ที่รับรู้กันว่ามีการแบ่งแย่งพื้นที่อาศัยและตั้งชุมชนอย่างชัดเจนของคนมุสลิมบอสนิแอกและโครแอทที่นับถือคาทอลิก มีแม่น้ำเนเร็ตวา เป็นหมุดหมายธรรมชาติกั้นกลางแบ่งชุมชนออกเป็นสองส่วนอย่างชัดเจน ทั้งบอสนิแอกและโครแอทสามารถเดินทางไปยังอีกฝั่งได้ด้วยสะพานที่สร้างเชื่อมกันที่มีอยู่หลายที่

แต่สะพานที่เป็นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนมอสตาร์ คือสะพานหินอ่อนรูปทรงโค้งคล้ายประตูชัย ‘สตารี มอสต์’ (Stari Most) หรือสะพานเก่า (Old Bridge) ที่สร้างขึ้นในสมัยออตโตมัน ปี 1566 สถาปัตยกรรมของสะพานแห่งนี้ขึ้นชื่อในความงดงามตามศิลปะอิสลามในยุคนั้น ตัวสะพานสูง 24 เมตร และยาว 30 เมตร เชื่อมหอสูงทั้งสองด้าน ด้วยชื่อสะพาน สตารี มอสต์ หมายถึงคนดูและสะพาน ทำให้กลายเป็นชื่อสะพาน และเป็นที่มาของชื่อเมือง ‘มอสตาร์’

หน้าร้อนของทุกปี ที่สะพานแห่งนี้มีกิจกรรมกระโดดสะพานที่ชมรมเหินเวหามอสตาร์ (Mostari diving club) จัดขึ้น กิจกรรมนี้ได้พัฒนามาไกลจากประเพณีกระโดดสะพานของคนมอสตาร์ดั้งเดิมที่เชื่อว่า เด็กหนุ่มวัย 16 ในอดีตต้องทดสอบการก้าวไปสู่การเป็นชายฉกรรจ์ด้วยการกระโดดสะพานลงไปในแม่น้ำเนเร็ตวาที่หนาวเหน็บถึงขั้วกระดูกในฤดูหนาว คนท้องถิ่นเชื่อว่า หากเด็กหนุ่มคนใดไม่ได้ผ่านพิธีกรรมเปลี่ยนผ่านนี้ อาจทำให้เขาหลงลืมอาชีพและคู่รักของตัวเอง

ในช่วงสงครามยูโกสลาเวียต้นทศวรรษ 1990 เมืองมอสตาร์เป็นเป้าในการต่อสู้ของกลุ่มต่างเชื้อชาติ เมื่อสงครามแยกตัวเป็นเอกราชของโครเอเชียกับทหารรัฐบาลเซอร์เบียเริ่มขึ้นในปี 1991 มีการต่อสู้กันระหว่างชาวโครแอทและเซิร์บในการยึดมอสตาร์เป็นของฝ่ายตนเอง ทำให้เมืองแยกออกเป็นสองฝ่าย ในเดือนมิถุนายนปี 1992 กองกำลังฝ่ายโครแอทสามารถยึดเมืองมอสตาร์ได้สำเร็จ ผลักชาวเซิร์บให้ออกไปตั้งฐานที่มั่นทางตะวันออกของเมืองมอสตาร์ และประกาศให้มอสตาร์เป็นเมืองหลวงของแคว้นเฮอเซโกวินาด้วยการนำของกองกำลังชาวโครแอท ทำให้สัมพันธภาพของโครแอทกับมุสลิมบอสนิแอกที่ตั้งชุมชนทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเนเร็ตวาแตกหัก

ในเดือนพฤษภาคม 1993 กองกำลังโครแอทระเบิดสะพานสตารี มอสต์ ตามด้วยยุทธการล้อมเมืองกินเวลาถึง 11 เดือน ทำให้มอสตาร์ทั้งเมืองย่อยยับจากสงครามแบบไม่เหลือชิ้นดี สะพานมอสตาร์ที่เห็นทุกวันนี้จึงเป็นสิ่งก่อสร้างใหม่ที่เลียนแบบสถาปัตยกรรมเดิม ที่เริ่มสร้างใหม่ทันทีหลังสงครามและเสร็จสิ้นราวปี 2005 สะพานจึงได้กลายเป็นสิ่งที่ทั้งสองชุมชนใช้ในการขอทุนจากต่างประเทศในการก่อสร้างสะพานใหม่และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ และปัจจุบันได้กลายเป็นทุนในการดึงการท่องเที่ยวเข้ามาในเมืองนี้

แม้ต่อมาในปี 1994 ฝ่ายโครแอทและบอสนิแอกได้เจรจาหยุดยิง แต่การใช้สะพานกั้นเขตแดนของสองชุมชนด้วยแม่น้ำและสะพานบ่งบอกถึงสภาพต่างคนต่างอยู่ ทั้งสองฝั่งต่างมีรัฐบาลท้องถิ่นและหน่วยบริการชุมชนของตนเอง เช่น โรงพยายาบาลสองแห่ง สถานีขนส่งสองแห่ง ทุกอย่างแบ่งเป็นสองฝั่งหมด สาเหตุหลักเป็นเพราะการสร้างกระแสของฝ่ายการเมืองระดับรัฐบาลของโครเอเชีย ที่แยกไปเป็นประเทศเอกราชแล้ว กับฝ่ายบอสเนียฯ ที่ภาษีน้อยกว่าเพราะไม่มีรัฐบาลที่แข็งแรงหนุนหลัง ทำให้ชุมชนของทั้งสองฝ่ายมีความรู้สึกแบ่งแยกอยู่ ต่างฝ่ายต่างมีพื้นที่ในการทำกิจกรรมทางศาสนาของตนเอง ฝั่งซ้ายของแม่น้ำเป็นชุมชนของบอสนิแอกที่มีมัสยิด ขณะที่ฝั่งขวาเป็นของโครแอท ที่มีโบสถ์คาทอลิกเป็นศูนย์กลางของชุมชน

เช่นเดียวกับการจัดการโรงเรียนที่ฉันหยิบยกคำบรรยายของ จอร์ดานา โบซิช  มากล่าวในตอนต้น นั่นคือสภาพการเรียนการสอนโครงการ ‘สองโรงเรียนภายใต้หลังคาเดียว’ (Two Schools Under One Roof) ที่เกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงต้นทศวรรษ 2000 อันเป็นผลพวงจากการเจรจาสันติภาพจากข้อตกลงเดย์ตัน (Dayton Agreement)

แนวทาง ‘สองโรงเรียนภายใต้หลังคาเดียว’ ถูกนำมาใช้ในโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ของสหพันธรัฐบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา ทั้งหมด 57 โรงเรียน (ตัวเลขในปี 2010) เป้าหมายของการจัดการเรียนการสอนคือไม่ต้องการสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นกับกลุ่มมุสลิมบอสนิแอกและโครแอท ในทางปฏิบัติ นักเรียนทั้งสองกลุ่มไม่จำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์กันในเชิงกายภาพ หลักสูตรและตำราบางวิชาก็แตกต่างกัน โดยเฉพาะวิชาประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ศาสนา และภาษา ที่เน้นสร้างความภาคภูมิใจในชนชาติของตนเองเป็นที่ตั้ง เช่น นักเรียนมุสลิมรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ก่อตั้งบอสเนียฯ ขณะที่นักเรียนโครแอทเรียนรู้ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของประเทศโครเอเชีย

สภาพของการจัดการโรงเรียนทำให้นึกไม่ออกว่าเด็กและคุณครูจะก้าวพ้นพรมแดนของความเกลียดชังไปได้อย่างไร ทุกวันนี้เด็กในโรงเรียนในมอสตาร์เองก็แสดงความกลัวและกังวลอยู่ตลอด หากต้องมีการข้ามเขตแดนไปยังอีกฝั่งของชุมชน และการแบ่งแยกทางรูปธรรมก็ฝังลงไปในจิตสำนึก เช่น การที่ทั้งสองฝ่ายสร้างความแตกต่างจากรูปลักษณ์ภายนอก ชาวโครแอทมองว่าบอสนิแอกมีสีผิวที่คล้ำกว่าของตน เป็นต้น

ปัจจุบัน แนวคิดการจัดการโรงเรียนแบบเชื้อชาตินิยมนี้เริ่มเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ในบางพื้นที่อย่างไยเซอ (Jajce) ซึ่งอยู่ตอนกลางของบอสเนียฯ สำนักงานการศึกษาและสภานิติบัญญัติระดับพื้นที่ในเมืองนี้ต้องการขยายแนวคิด ‘สองโรงเรียนภายใต้หลังคาเดียว’ ในระดับมัธยมศึกษา เพื่อต่อยอดการแยกการเรียนการสอนในระดับประถม โดยวางแผนสร้างโรงเรียนใหม่ที่เน้นการสอนด้วยภาษาบอสเนียนและวัฒนธรรมกลุ่มบอสนิแอกเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม ภาคประชาชน สื่อมวลชน องค์กรพัฒนาเอกชน และองค์ระหว่างประเทศระดับภูมิภาคยุโรปที่ทำงานเรื่องนี้เองก็พยายามออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านแนวคิดและนโยบายนี้อย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการออกมาชุมนุมและเดินขบวนของนักเรียนระดับมัธยมในพื้นที่เมืองเองและองค์กรเยาวชนทั่วประเทศ ซึ่งเริ่มขึ้นเมืองในกลางปี 2016 หลังจากเคลื่อนไหวรณรงค์ต่อต้านนโยบายนี้อยู่ร่วมปี กลางปี 2017 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่การศึกษาและระดับเมืองไยเซอยอมชะลอโครงการสร้างโรงเรียนใหม่นี้ออกไปก่อน

เป็นเรื่องน่าเศร้า ที่สงครามทำให้ธรรมชาติอย่างแม่น้ำและสิ่งก่อสร้างไม่ว่าจะเป็นสะพาน สถานีขนส่ง โรงพยาบาล หรือโรงเรียน กลายเป็นตัวกีดขวางการอยู่ร่วมกันของคนสองเชื้อชาติ

วันที่ฉันเดินทางไปที่นั่น แม้ไม่อาจสัมผัสได้กับการแยกกันอยู่ที่เกิดขึ้น เพราะทุกวันนี้คนทั้งสองกลุ่มก็คงไม่ได้มาทะเลาะหรือใช้ความรุนแรงใส่กันเหมือนเมื่อสมัยสงคราม แต่คนที่อยู่ในมอสตาร์ที่ฉันได้พูดคุยด้วยทั้งสองฝ่ายต่างก็ยอมรับในความแปลกแยกตรงนี้ ไม่ว่าจะเป็นเอลวิรา สาวมุสลิมที่ฉันนั่งรถบัสมาด้วย หรือสองสาวนักศึกษาชาวโครแอทที่ฉันพูดคุยด้วยระหว่างทางนั่งรถบัสจากตุซลามาซาราเยโว คงเป็นเรื่องยากที่จะลืมความบาดหมางที่ยังเป็นแผลฝั่งใจพวกเขาอยู่จริงๆ

วันนั้น ฉันจึงสัมผัสมอสตาร์จริงจังได้แค่ครึ่งหนึ่งทางตะวันออกของฝั่งแม่น้ำเนเร็ตวาที่เป็นที่ตั้งของชุมชนบอสนิแอก ในเมื่อเป็นวันคริสต์มาส ทุกอย่างดำเนินไปตามปกติสำหรับคนมุสลิม ร้านอาหารและร้านขายของที่ระลึกเปิดให้คนมาเที่ยวชมแวะซื้อ ผู้คนออกมานั่งรับแดดกินกาแฟ ฉันดีใจมากที่ได้มามอสตาร์ อย่างน้อยได้หลุดออกจากควันพิษจากซาราเยโวสักวันหนึ่ง ทำให้กล้าหายใจอย่างเต็มปอด

มอสตาร์เหมือนซาราเยโวในแง่ที่ว่า คนมุสลิมที่นี่ค่อนข้างยืดหยุ่น บอสนิแอกที่นี่มีมัสยิดไว้สำหรับให้คนมาสวดตามหลักของศาสนา แต่ก็อนุญาตให้นักท่องเที่ยวและผู้หญิงที่ไม่ใช่มุสลิมเข้าไปเยี่ยมชมภายในโดยที่ไม่ต้องคลุมศีรษะหรือร่างกายให้มิดชิด ต่างจากประเทศมุสลิมอย่างโมร็อกโกที่ฉันเคยไปมา หากไม่ใช่มุสลิมก็ไม่อนุญาตให้เข้าเลยเด็ดขาด ยกเว้นมัสยิดในเมืองคาซาบลังกาที่ให้เข้าได้แต่ก็ต้องทำตามกฎเกณฑ์พอสมควร แต่ที่นี่คือบอสเนียฯ ฉันจึงได้ชมมัสยิดโดยที่ไม่มีกฎเกณฑ์เคร่ดครัด

น่าเสียดายที่ Cejvan Cehaj มัสยิดเก่าแก่ที่สุดของเมืองสร้างในปี 1552 ปิดในฤดูหนาว แต่ยังโชคดีที่ฉันได้เข้าชมมัสยิดสองแห่งและปีนหอของมัสยิดที่เรียกว่า มินาเร็ต (Minaret) ในราคาแห่งละ 10 คอนเวอร์ทิเบิล มาร์ค แห่งแรกคือ Karađoz-begova džamija เป็นมัสยิดขนาดย่อม สร้างในปี 1557 ก่อนที่จะสร้างสะพานสตารี มอสต์เสียอีก ภายในอาจไม่หรูหราอลังการ

ตอนแรกฉันเห็นคนกำลังละหมาดกันอยู่เพราะเป็นช่วงเวลาละหมาด ฉันเห็นมีแต่ผู้ชายที่เข้าร่วมพิธีในวันนั้น เดินเข้าไปเจอผู้หญิงคนหนึ่งที่เป็นคนจัดการเรื่องตั๋ว เธอบอกว่าเข้าไปดูมัสยิดได้ เพราะเพิ่งเสร็จเวลาละหมาดไป แต่ต้องรอสัก 15-20 นาที ให้คนออกจากมัสยิดให้เรียบร้อยก่อน กลับมาอีกรอบมีเพียงฉันคนเดียวที่ต้องการเข้าไปชม แต่ต้องปฏิบัติตามกฎคือถอดรองเท้าก่อนเข้ามัสยิด และขึ้นไปเยี่ยมชมได้เฉพาะชั้นลอยที่ยื่นออกมา เพราะเป็นส่วนที่ให้ผู้หญิงละหมาด ซึ่งเป็นปกติของการละหมาดอยู่แล้วที่หญิงและชายต้องแยกพื้นที่กันอย่างชัดเจน

จากนั้นฉันปีนขึ้นไปบนมินาเร็ต หอคอยมัสยิด ถือเป็นครั้งแรกที่ฉันได้ปีนหอคอยของศาสนสถานอิสลาม เพราะอย่างที่บอกว่าปกติถ้าไม่ใช่มุสลิม มัสยิดบางแห่งที่เคร่งก็ไม่ให้คนเข้าชม ฉันปีนขึ้นไปถึงตัวฐานบนสุด ได้รางวัลเป็นวิวที่สวยงามของเมืองที่ล้อมรอบด้วยภูเขาที่มองมุมกว้างได้ 360 องศา และอากาศที่อุ่นขึ้นเพราะแสงอาทิตย์ที่ตกลงมา บวกกับท้องฟ้าใสที่ไม่ค่อยได้เห็นนักที่ซาราเยโว ฉันถ่ายรูปแบบสาแก่ใจก่อนปีนกลับลงมา

อีกมัสยิดหนึ่งที่ถือเป็นไฮไลต์ของมอสตาร์คือ Koski Mehmed Paša สร้างในปี 1618 ใหญ่เป็นอันดับสองรองจากมัสยิด Karađoz-begova džamija เนื่องจากมัสยิดนี้อยู่ห่างจากสะพานสตารี มอสต์เพียงไม่กี่ร้อยเมตร ทำให้หอคอยของมัสยิดกลายเป็นจุดชมสะพานที่ชัดเจนจากมุมบน และด้านข้างของมัสยิดที่เป็นสวนขนาดเล็ก ได้กลายเป็นจุดถ่ายรูปของนักท่องเที่ยวคู่กับสะพาน แต่ทางมัสยิดไม่ให้เข้าฟรี ต้องเสียค่าเข้าชมรวมถึงสวนด้านหลังด้วย มัสยิดนี้มีกฎเคร่งครัดน้อยกว่ามัสยิดแรก ฉันรู้สึกได้ว่ามัสยิดเองก็ปรับตัวหารายได้จากนักท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน ที่นี่ไม่ต้องถอดรองเท้าก่อนเข้า ทางมัสยิดปูพื้นยางในส่วนที่นักท่องเที่ยวเข้าได้ แต่ที่นี่เหมือนที่แรกคือ ผู้หญิงขึ้นไปได้เฉพาะชั้นลอยที่เป็นส่วนที่ให้ผู้หญิงละหมาดเท่านั้น

ออกจากมัสยิดนี้ ฉันเดินต่อและข้ามสะพานสตารี มอสต์ ในเวลาเย็นมากแล้ว เมื่อข้ามสะพานจากฝั่งตะวันออกไปอีกด้าน ขึ้นไปบนหอด้านบนมีส่วนที่จัดนิทรรศการภาพที่สะพานถูกทำลายช่วงสงครามโดยกองกำลังของโครแอท แต่ฉันไม่ได้หยุดดู เพราะใกล้เวลาปิดแล้ว และฉันอยากเห็นอีกฝั่งของเมืองที่เป็นชุมชนโครแอทมากกว่า แต่ก็พบว่าค่อนข้างเงียบกว่าอีกฝั่ง แม้มีร้านค้าเปิดบริการอยู่บ้าง เช่น ร้านขายของทีระลึก ร้านอาหาร คาเฟ่ เพราะเป็นวันคริสต์มาสของคนคาทอลิก ฉันไม่ได้เดินไปไกล แม้จะเห็นโบสถ์อยู่บ้างบางแห่ง ฉันเลือกนั่งพักกินกาแฟไม่นาน และเดินกลับมายังอีกฝั่งของแม่น้ำ เดินดูเมืองฝั่งตะวันออกของแม่น้ำในยามพลบค่ำก่อนขึ้นรถกลับซาราเยโว

ฉันเหมือนเห็นและพบกับมอสตาร์แค่ครึ่งทางเท่านั้น คือฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเนเร็ตวา ซึ่งไม่ต่างอะไรกับสะพานสตารี มอสต์และสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ในเมืองนี้ที่เป็นเหมือนปราการของเมืองที่ทำให้ชุมชนบอสนิแอกและโครแอททั้งสองฝั่งพบกันครึ่งทางเช่นกัน

Author

บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล
อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.นเรศวร เมืองสองแคว ยังไม่ขวบปีดี ตั้งใจเอาดีเรื่องชายแดนไทย-พม่าจนเขียนเป็นวิทยานิพนธ์ที่มหาวิทยาลัยของประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีเสรีภาพแห่งหนึ่งของโลก เรื่องราว 'สงครามบอสเนีย' และ 'นาโต้ถล่มโคโซโว' คือประสบการณ์การเดินทางที่ก่อรูปอย่างไม่รู้อนาคตจากข่าวต่างประเทศสมัยเด็กๆ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า