มองมุมกลับ ปรับมุมมอง ถอดภาพจำพื้นที่สีแดง ผ่านนิทรรศการภาพชุด ‘Gray Zones’

ภาพแรกที่ผู้คนส่วนใหญ่ต่างนึกถึง ‘สามจังหวัดชายแดนภาคใต้’ คงหนีไม่พ้นเหตุการณ์ความไม่สงบ เหตุกราดยิง การวางระเบิด ภาพเหล่านี้ถูกนำเสนอผ่านสื่อช่องทางต่างๆ ภาพจำที่ถูกฉายขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่ามาเป็นเวลากว่า 15 ปี ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ต่างคิดว่า เหตุการณ์เหล่านี้สามารถเกิดขึ้นรายวันและพร้อมที่จะพรากชีวิตผู้บริสุทธิ์ได้ทุกเมื่อ จนทำให้ผู้คนบางส่วนตัดสินใจหันหลังให้กับพื้นที่ดังกล่าว โดยที่ยังไม่รู้ว่าต้นสายปลายเหตุเป็นเช่นไร

นิทรรศการภาพถ่ายสีเทา ‘Gray Zones’ ถูกจัดขึ้นเพื่อนำเสนอพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในอีกมุมหนึ่งที่ใครหลายคนอาจไม่เคยได้เห็น ภายใต้การนำของ ยศธร ไตรยศ เจ้าของผลงานและหนึ่งในสมาชิกกลุ่ม Realframe กลุ่มช่างภาพที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและความเป็นประชาธิปไตย ผ่านชุดภาพถ่ายเชิงสารคดี ร่วมกับ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (Cross Cultural Foundation: CrCF) และ Sea Junction โดยนิทรรศการชุดนี้ถูกจัดแสดงที่บริเวณชั้น 1 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (Bangkok Art and Culture Centre หรือ BACC) ตั้งแต่วันที่ 11-23 มิถุนายน 2562

นิทรรศการประกอบด้วยการจัดแสดงภาพถ่ายวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในพื้นที่ที่ใครต่อใครมองว่าเป็นพื้นที่อันตราย หรือ ‘Red Zone’ อีกทั้งยังมีการจัดแสดงสารคดีสั้นอย่าง Women of the Deep South นำเสนอเรื่องราวชีวิตของผู้หญิงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังจากที่สามีของพวกเธอถูกพลัดพรากด้วยเหตุเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคงของชาติ จัดทำโดย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เพื่อให้ผู้สนใจได้แวะเวียนเข้ามาชม พร้อมทั้งเปิดพื้นที่ส่งข้อความให้กำลังใจถึงพี่น้องในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกด้วย

ภาพถ่ายที่ร้อยเรียงเรื่องราวชีวิตของคนหลายสิบให้กลายเป็นหนึ่งเดียวภายใต้งานนิทรรศการครั้งนี้ ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า อะไรเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้ถ่ายภาพสนใจและอยากนำเสนอเรื่องราวของคนกลุ่มนี้ รวมทั้งเป้าหมายที่ผู้ถ่ายภาพต้องการสื่อสารไปยังผู้ชมคืออะไร

เริ่มต้นจากการไม่เชื่อ

เราแค่พูดถึงความธรรมดาของพื้นที่ ซึ่งมันก็เหมือนกับพื้นที่อื่นที่มีทั้งเรื่องที่ดีและไม่ดี มันก็เป็นสัญลักษณ์ของสีขาวกับสีดำ เมื่อมันมารวมกันมันก็กลายเป็นสีเทา เราก็เลยใช้คำว่า Gray Zones

ยศธรกล่าวด้วยท่วงท่าที่สบายๆ แต่แววตาแฝงไปด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจถึงสิ่งที่ทำอยู่

จุดเริ่มต้นของงานชิ้นนี้เกิดจากการลงไปทำงานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับ Amnesty International Thailand การไปเยือนครั้งนั้นทำให้เขาได้เห็นบริบทของวิถีชีวิตที่แตกต่างจากสิ่งที่สื่อนำเสนอไว้อย่างสิ้นเชิง เพราะพื้นที่แห่งนี้ไม่ได้ร้อนระอุด้วยความตึงเครียดของผู้คนอย่างที่ใครเข้าใจ ที่นี่ไม่ต่างอะไรจากตัวเมืองในจังหวัดอื่นที่ผู้คนออกมาใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ อีกทั้งยังมีความเจริญต่างๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า มหาวิทยาลัย หรือพื้นที่ทางศิลปะ ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างเต็มรูปแบบ ทั้งหมดจึงเป็นที่มาให้เขาเลิกเชื่อว่า พื้นที่ตรงนี้ คือพื้นที่สีแดง

ง่ายๆ เลย เพราะว่ามันไม่ใช่อย่างที่ใครเข้าใจ สิ่งที่สื่อนำเสนอจนหลายคนอาจคิดว่า ออกนอกที่พักไปไม่กี่ก้าวก็มีสิทธิที่จะโดนระเบิด ความจริงแล้วมันไม่ใช่ มันไม่ได้ใกล้เคียงเลย เราเลยอยากจะสื่อสารอะไรที่มันถูกต้อง

หลังจากร่วมงานกับแอมเนสตี้อีก 2-3 ครั้ง เขาจึงตัดสินใจทำสารคดีภาพชุดชิ้นนี้ขึ้นมา เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นเมื่อเดือนตุลาคม 2561 ยศธรตัดสินใจเดินทางไปยังสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเก็บรูปภาพและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องราว โดยแต่ละครั้งเขาเลือกใช้เวลาอยู่ในพื้นที่ประมาณ 1-2 สัปดาห์ เพื่อให้ได้ภาพที่ดีที่สุดในการสื่อสารกับคนดู อาศัยการเดินทางไปกลับระหว่างที่พักกับสถานที่ต่างๆ เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ยิ่งออกห่างจากตัวเมืองมากเท่าไร จุดตรวจเฝ้าระวังและอันตรายที่รออยู่อาจมีมากขึ้นเท่านั้น

การออกเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ นอกเขตเมืองของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือเป็นความท้าทายอยู่ไม่น้อย เพราะนอกจากการเดินทางเข้าออกพื้นที่ดังกล่าวอาจต้องถูกซักถามจากเจ้าหน้าที่หน่วยลาดตระเวนถึงเหตุผลในการเข้ามายังพื้นที่ หรือแม้กระทั่งการเข้าถึงชาวบ้านในชุมชนห่างไกลในสามจังหวัด ซึ่งมีอัตลักษณ์และวิถีชีวิตแตกต่างออกไปอย่างชัดเจน ทำให้ทุกย่างก้าวของช่างภาพเต็มไปด้วยความกังวลใจอยู่ไม่น้อย

แต่ถึงกระนั้น ความกังวลของยศธรก็มลายหายไป เมื่อเขาได้รับการต้อนรับจากผู้คนในพื้นที่เป็นอย่างดี และทำให้เข้าใจว่า ผู้คนส่วนใหญ่ที่นี่มีความเข้าใจในความต่างของคนพื้นที่อื่นได้เป็นอย่างดี นั่นจึงทำให้เขาเรียนรู้และเข้าใจถึงวิถีชีวิตของผู้คนเหล่านั้นมากขึ้น รวมทั้งได้รับมิตรภาพใหม่ๆ กลับมา

พื้นที่สีเทา

ตลอดระยะเวลากว่า 4 เดือนที่ยศธรเดินทางเข้าออกสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เขาได้พบเจอผู้คนและสถานที่ต่างๆ มากมาย รวมทั้งวิถีชีวิตที่เรียกได้ว่า หากตัดความเป็น ‘พื้นที่สีแดง’ ออกไป พื้นที่ตรงนี้แทบไม่ได้แตกต่างอะไรจากส่วนอื่นของประเทศ ที่ผู้คนมีรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ สุขและทุกข์ตามอัตภาพ แม้บางรอยยิ้มคล้ายแฝงความกังวลที่เกาะกุมอยู่ในส่วนลึกของจิตใจ

นับตั้งแต่เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดเริ่มก่อตัวขึ้นเมื่อปี 2547 ทำให้รัฐบาลในยุคนั้นประกาศใช้กฎหมายพิเศษ คือ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ. 2547 และ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจพิเศษมากกว่าพื้นที่อื่น เจ้าหน้าที่รัฐสามารถตั้งจุดตรวจในพื้นที่ต้องสงสัยได้อย่างอิสระ การเข้าตรวจค้นยานพาหนะที่สัญจรไปมา การออกลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่อย่างหนาแน่นในบริเวณห่างไกลตัวเมือง เนื่องจากภูมิประเทศเป็นทิวเขาและป่า ทำให้เหมาะแก่การซ่องสุมกำลัง รวมทั้งการออกหมายเรียกบุคคลผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคงของชาติ ทำให้ผู้คนรู้สึกว่า พวกเขากำลังถูกเพ่งเล็งจากรัฐอยู่ตลอดเวลา

“การใช้ชีวิตมันยากขึ้น ยิ่งเมื่อคุณเป็นคนมุสลิมที่อยู่ในพื้นที่ แม้ว่ามันจะไม่ใช่ปัญหาที่เกิดจากศาสนา แต่ด้วยวิธีการฝึกอบรมจากรัฐที่มีผลต่อมุมมองของเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้รัฐจำเป็นต้องจับตาคนกลุ่มนี้เป็นพิเศษ ซึ่งมันปฏิเสธไม่ได้” ยศธรกล่าว

การดำเนินชีวิตภายใต้กฎหมายพิเศษเหล่านี้ ทำให้ผู้คนต้องปรับตัวกับสิ่งที่เกิดขึ้นหลายอย่าง สิ่งเหล่านี้ทำให้ความสุขของคนในพื้นที่ถูกลดทอนลงไป แต่พวกเขายังสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ อย่างเช่น เมื่อวันฮารีรายอ อีดิ้ลฟิตรีที่ผ่านมา ยศธรเล่าให้เราฟังว่า ผู้คนในพื้นที่ก็ยังคงออกมาเฉลิมฉลองกันตามปกติ มีการแต่งกายด้วยชุดสวยสีสันสดใสทั้งชายหญิง กลุ่มคนหลากหลายทางเพศออกจากบ้านด้วยรองเท้าส้นสูง ใบหน้าเปื้อนยิ้มแสดงถึงความรู้สึกดีใจที่ได้พบปะญาติสนิทมิตรสหาย

สิ่งที่ซ่อนอยู่ในภาพถ่าย

สำหรับชุดภาพถ่ายที่จัดแสดงในครั้งนี้ แน่นอนว่าสิ่งที่ช่างภาพอยากจะสื่อสารกับผู้ชมในเบื้องต้นคือ การนำเสนอชีวิตของผู้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในบริบทที่เป็นสังคมสีเทาที่มีทั้งส่วนที่ดีและไม่ดี เพราะสังคมประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเพศหญิง ชาย ฐานะที่ยากดีมีจนของคนที่แตกต่างกันเหมือนกับสังคมทั่วไป หรือแม้กระทั่งกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ที่ยศธรยอมรับว่า ภาพถ่ายชุดนี้เป็นที่ถกเถียงกันในคราวแรกว่า ควรจะนำออกมาเผยแพร่หรือไม่ เนื่องจากประเด็นความหลากหลายทางเพศเป็นประเด็นที่อ่อนไหวในสังคมมุสลิม

เราปฏิเสธไม่ได้ว่ามันก็มีอะไรแบบนี้อยู่ในสังคม เพียงแต่ว่าในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะแตกต่างกับพื้นที่อื่นตรงที่มันเป็นพื้นที่ที่มีความเข้มข้นทางศาสนาสูง ทำให้มุสลิมที่เป็นชนกลุ่มน้อยของสังคมอยู่แล้ว ยิ่งทำให้กลุ่มคน LGBT ในสังคมมุสลิมเป็นเหมือนคนชายขอบในชายขอบอีกที

แต่สิ่งที่น่าสนใจนอกเหนือจากประเด็นความหลากหลายทางเพศในสังคมมุสลิมพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็คือ ภาพของบุคคลในภาพถ่ายชุดนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ต้องหาคดีความมั่นคงของชาติทั้งสิ้น การจัดแสดงภาพชุดนี้จึงถือเป็นจุดเปลี่ยนของการนำเสนอภาพบุคคลที่เป็นผู้ต้องหาคดีความมั่นคงอย่างสิ้นเชิง ภาพชุดนี้นำเสนอชีวิตของผู้ต้องหาขณะกำลังทำไร่ทำสวน เลี้ยงสัตว์ หรือเล่นกับลูก ทำให้ผู้ชมได้เห็นแง่มุมความเป็นปุถุชนคนธรรมดาของพวกเขา

ต่อยอดทางความคิด

เราอยากดึงคนที่เคยหันหลังให้กลับมาแก้ไขบางอย่างร่วมกัน เพราะการแก้ไขปัญหานี้ได้มันจะต้องเกิดจากทั้งคนในพื้นที่และคนนอกพื้นที่

สิ่งที่ยศธรคาดหวังจากงานนิทรรศการครั้งนี้คือ การเปิดมุมมองให้ผู้คนในสังคมที่ครั้งหนึ่งอาจเคยละทิ้งความสนใจกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้หันกลับมามองและเห็นคนเหล่านั้นในแง่มุมที่เหมือนกับคนทั่วไป เพื่อนำมาสู่การถกเถียงภายในสังคมเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ดังกล่าว

จากคอมเมนต์ที่ผู้ชมเขียนลงกระดาษโน้ตในเชิงให้กำลังใจ หรือการแชร์กิจกรรมเกี่ยวกับนิทรรศการนี้พร้อมทั้งร่วมแสดงทัศนคติผ่านสื่อสังคมออนไลน์ นั่นก็ถือเป็นส่วนหนึ่งที่บ่งบอกแล้วว่า ภาพถ่ายสารคดีชุดนี้สามารถต่อยอดทางความคิดให้กับผู้ชมได้ในหลากหลายประเด็น

แม้ว่านี่อาจเป็นเพียงนิทรรศการภาพถ่ายที่อาจไม่ได้มีผู้เข้าชมมากมาย แต่นี่อาจเป็นจุดเริ่มทำให้ผู้คนกลับมาสนใจกับสิ่งที่รัฐพึงปฏิบัติต่อประชาชนในฐานะพลเมืองของรัฐ ที่ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นใคร เพศอะไร มีฐานะอย่างไร หรือนับถือศาสนาใด เพราะทุกคนต่างมีสิทธิอย่างเท่าเทียมกัน นิทรรศการภาพถ่าย ‘Gray Zone’ จึงไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อทำให้คนทั่วไปได้เข้าใจกลุ่มคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เพียงอย่างเดียว แต่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของคำถามที่จะย้อนกลับไปถามเจ้าหน้าที่รัฐว่า สิ่งที่รัฐกำลังทำกับกลุ่มคนเหล่านี้จะนำมาซึ่งความสันติอย่างที่ทุกคนต้องการจริงหรือ?

เพราะบ่อยครั้งการเพ่งเล็งกลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่ง อาจไม่ได้เป็นการยุติความขัดแย้งอย่างแท้จริง

Author

อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ
นักศึกษาชั้นปีที่ 3 เอกวารสารและหนังสือพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้สนใจในเรื่องสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค และความเหลื่อมล้ำในสังคม งานอดิเรกของเธอคือ นั่งแต่งเพลงในยามว่าง อ่านหนังสือ บทความ และสารคดีต่างๆ

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า