ดังกมล ณ ป้อมเพชร: พินาศ อารมณ์ และส่วนผสมในละครแห่งชีวิต

กาแฟดำร้อนวางอยู่ตรงหน้า ส่งควันบางเบาบิดม้วน บนพระเจ้าแห่งบทเพลงยุคต้นออนไลน์นาม YouTube เครื่องเป่าโหยครวญ ก่อนที่น้ำเสียงทุ้มนุ่มของ สุเทพ วงศ์กำแหง จะทุบหัวใจคนฟังหน้าตาเฉย

โลกนี้นี่ดูยิ่งดูยอกย้อน เปรียบเหมือนละคร
ถึงบทเมื่อตอนเร้าใจ
บทบาทลีลาแตกต่างกันไป ถึงสูงเพียงใด
ต่างจบลงไปเหมือนกัน

คงจริงอย่าง ครูไพบูลย์ บุตรขัน ว่า

“โลกนี้คือละคร”

เราต่างเป็นผู้แสดงและรับชมคละเคล้าปนเป โรงละครแห่งชีวิตบางแห่งแน่นขนัด ทว่าอีกหลายแห่งกลับเปลี่ยวว้างเงียบเฉา แต่ต่อให้บ้านเมืองมืดมิดสักเพียงใด ดังกมล ณ ป้อมเพชร ยืนยันว่าเราควรมีอารมณ์ขัน

“สังคมไทยเป็นละครตลกเสียดสี เพราะถ้าไม่ตลกเราอยู่ไม่ได้”

ความหมายเดียวกับเพื่อปลดปล่อย เพื่อเยียวยา หรือเพื่อสมน้ำหน้าตนเองให้สาแก่ใจ ก่อนหันกลับมาเผชิญหน้าความจริง

หัวเราะให้ได้ แม้รสมันขื่นเพียงใด ว่าอย่างนั้นเถอะ

บนสมมุติฐานว่าโลกนี้เป็นดั่งละคร WAY พูดคุยกับ อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปการละคร และรองคณบดี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงความซับซ้อนในศาสตร์และศิลป์ที่เขาถนัด เมื่อนำมาวางเทียบกับมิติการรับรู้ข่าวสารของผู้คนในวงกว้าง

อย่างตรงไปตรงมา – ข่าวไหนเราถึง ‘อิน’ และไฉนอีกบางข่าวเราถึง ‘เมิน’

ขณะที่ดังกมลกำลังทำโครงการวิจัย ในชุดเมธีวิจัยอาวุโสของ สกว. เรื่อง ‘การกำกับการแสดงละครกวีนิพนธ์ กรณีศึกษา: บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง เวนิสวาณิช’ (The Merchant of Venice ของ วิลเลียม เชคสเปียร์)

รวมไปถึงรับบทแสดงละครเวทีของภาควิชา เรื่อง The Bear จากงานเขียนโดยบิดาแห่งเรื่องสั้นอย่าง อันตัน เชคอฟ ในอีกไม่นานนี้

เวลาสวมบทบาทเป็นตัวละครใดตัวละครหนึ่ง เลยลึกเข้าไปอยู่ในร่างสมมุติ เมื่อหวนคืนสู่สภาวะปกติ โลกแบบไหนที่อาจารย์นำกลับออกมาด้วย

วิธีการเข้าถึงตัวละครที่ผมใช้ หลักๆ คือการตีความเงื่อนไขต่างๆ ของตัวละครที่มีผลกับการกระทำในเรื่องของเขา ได้แก่ ความต้องการ อารมณ์ความรู้สึก ปัญหา ความขัดแย้ง ความสัมพันธ์ของเขากับบุคคลอื่น สิ่งที่หวาดกลัว เมื่อตีความเงื่อนไขเหล่านี้แล้ว ก็มาเทียบเคียงกับความรู้สึกนึกคิด อารมณ์ หรือประสบการณ์ส่วนตัวของผม เพื่อเชื่อมโยงเข้าหากัน

จากนั้นต้องตั้งสติก่อนว่านี่คือการซ้อมหรือการแสดงจริง ในห้องซ้อมหรือเวทีโรงละคร ตั้งหลักในกติกานี้ก่อนแล้วถึงจะสวมบทบาทเข้าไป จากนั้นคือเชื่อในเงื่อนไขของตัวละครเลย ต้องลืมไปเลยว่าฉันเป็นนักแสดงนะ ลืมให้หมดว่ามีแม่หรือแฟนเก่ามานั่งดู สำคัญคือต้องพุ่งเป้าให้ได้ว่าตัวเราในฐานะตัวละครต้องการอะไร จากใคร เชื่อมไปตรงนั้น เราทำสำเร็จหรือไม่ พอเข้าไปอยู่ในเรื่องแล้ว แอ็คชั่นของตัวละครที่เราเป็นย่อมฟ้องอย่างชัดเจน

กระทั่งแสดงจบ ตัวละครจะแพ้จะชนะ หรือตกอยู่ในห้วงอารมณ์อะไรก็ตาม เป็นเรื่องของมัน นักแสดงต้อง tune out ให้ได้ ว่าความรู้สึกพวกนั้นเป็นของตัวละคร ค่อยๆ ถอยออกมาเพื่อกลับสู่โลกปัจจุบัน บนเงื่อนไขของตัวเราเอง ใช้เวลาสักพักครับ บางครั้งถึงกับต้องอยู่นิ่งๆ หรือใช้วิธีอาบน้ำชำระล้างให้หมด ไม่ให้สิ่งใดติดค้าง พอตั้งหลักนิ่งได้แล้ว ก็โอเค กลับมาอยู่ในโลกของเราเองแล้ว

ถามว่าได้อะไรติดมาบ้าง จริงๆ คือความเข้าใจในกลไก อารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง ชีวิตจริงเราไม่เคยอยู่ในสถานการณ์แบบนั้นเช่นตัวละคร ไม่เคยอยากครอบครองสิ่งใดขนาดนี้ ไม่เคยโลภ ไม่เคยเกลียด ไม่เคยอยากฆ่าใครขนาดนี้ มันจะเกิดการตั้งคำถาม ถ้าเราอยู่ในเงื่อนไขของตัวละครบ้าง ตกที่นั่งแบบเดียวกัน เราจะทำเหมือนกันหรือไม่

พอออกมาแล้วนั่งมองย้อนกลับไป อาจทำแบบเดียวกันก็ได้ ทั้งหมดคือการรู้จักตัวเองมากขึ้น เข้าใจคนที่อยู่ในสถานการณ์นั้นๆ มากขึ้น

ละครบางเรื่องแสดงจบไปแล้ว ใช้เวลาตกตะกอน 3-4 เดือน ถึงถอยออกมาได้หมดนะครับ เพราะซ้อมกันเป็นเดือน เล่นอีกร่วมเดือน บางครั้งคิดว่าออกมาได้แล้ว แต่ความจริงกว่าจะหลุดออกมาจนกระทั่ง มีชีวิตเป็นปกติ ต้องใช้เวลาพอสมควร นักแสดงบางคนจึงเกิดความสับสน เชื่อมโยงไปอยู่ในอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครแล้วแยกไม่ได้ เกิดการฟูมฟาย โวยวาย หรือนอนไม่หลับ

สมมุตินักแสดงต้องรับบทที่ไม่มีเงื่อนไขทางจิตวิทยาใกล้เคียงกับความจริง เช่น บทคนที่มีปัญหาทางจิตใจ บทคนเสพยา เราเชื่อมโยงเองไม่ได้ แบบนี้กองถ่ายเมืองนอกมีผู้เชี่ยวชาญคอยดูแล มีนักจิตวิทยาเป็นคนช่วยในการหาทางเชื่อมโยงว่าจะเข้าไปเป็นตัวละครได้ยังไง จะถอยออกมายังไงไม่ให้นักแสดงติดค้างอยู่ในนั้น เพราะบางกรณีมันอันตราย อาจทำให้สติหลุดได้

หากศาสตร์ของการละครทำให้เข้าใจตัวเอง เข้าใจผู้อื่น ในโลกยุคปัจจุบันที่สามารถเข้าถึงศิลปะแขนงนี้ไม่ว่ารูปแบบใดได้อย่างทั่วถึง ดูละครกันมาก เหตุใดคนในสังคมจึงทะเลาะกันจนแทบไม่เผาผี

บางครั้งการดูละครเป็นไปเพียงเพื่อความสะใจ สนองความรู้สึกด้านใน คือดูเพื่อระบายอารมณ์เท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ว่าในยุคโบราณหรือปัจจุบัน ละครเมโลดราม่ามีไว้เพื่อเก็บเกี่ยวอารมณ์ สุข เศร้า ให้เราได้ระบายออก ได้ชำระล้างความรู้สึก ได้หลีกหนีจากโลกแห่งความเป็นจริง บางทีก็ไม่ได้พาเราไปไหน แต่ทั้งนี้ยังไม่ใช่ที่สุดของละคร

ในอีกกรณีคือละครเรื่องนั้นไม่สามารถสื่อสารมาสู่ผู้ชมได้อย่างครบถ้วน ดูแล้วเราเชื่อมโยงกับตัวละครไม่ได้ ละครหรือหนังต้องพาเราไปให้ถึงจุดที่เป็นการเรียนรู้ว่า ตัวละครทำแบบนี้มันเวิร์ค หรือไม่เวิร์คยังไง มีเบื้องหลังหรือความจำเป็นอะไร นอกจากอารมณ์และสติปัญญาแล้ว เป้าหมายอีกข้อหนึ่งของละครคือ นำไปสู่การสร้างแรงบันดาลใจให้เราด้วย

อย่างดูหนังบางเรื่องจบแล้วเราอาจอยากกลับบ้านไปกอดพ่อแม่ เพราะเพิ่งตระหนักว่าชีวิตมันสั้น

การพิพากษากันไปมาจึงเป็นเรื่องปกติ?

นี่อาจเป็นลักษณะเฉพาะของสังคมไทย จริงๆ เรามีวัฒนธรรมแบบนี้มาตั้งแต่โบราณแล้ว ไม่ว่าในละครนอก (แสดงกันนอกราชธานี มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา) บทละครโบราณ นิทานพื้นบ้าน ถ้าเราหมั่นไส้ตัวละครไหน ไม่ว่าคนชั้นสูงอย่างท้าวสามล หรือพี่สาวรจนา หากคนเหล่านี้พลาด เราจะเยาะเย้ยมัน ทำให้มันอับอาย หัวเราะล้อเลียน ทำให้มันเสื่อมค่าความเป็นมนุษย์ให้ได้ รู้สึกสะใจ

ตรงนี้เป็นจิตวิทยาของคนไทยโดยเฉพาะ ทุกวันนี้ก็ยังเป็นอยู่ เราเสพความพินาศฉิบหายของผู้อื่นเป็นภักษาหาร รู้สึกสบายใจ (หัวเราะ) ยิ่งเป็นดารา คนใหญ่คนโต แล้วร่วงหล่นฉิบหาย กูสะใจชิบเป๋งเลย เพราะชีวิตจริงเราอาจไม่ได้รับการยอมรับเท่าเขา เป็นเรื่องของความไม่เท่าเทียมทางโครงสร้างที่ฝังอยู่ลึกเร้น มีความอิจฉาอยู่เป็นทุนเดิม พอล้มได้เราก็สะใจ เป็นจิตวิทยาอันเลวร้าย แต่เป็นความจริงของคน ถ้าไม่รู้สึกสะใจแต่สลดแทน ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง

ข่าวที่คนทั้งโลกชอบดูไม่ใช่ข่าวดีนะครับ แต่เป็นข่าวร้าย ขณะที่เรื่องราวในหัวของเรานั้นอยากให้ขึ้นต้นและจบลงอย่างมีความสุข ทว่ารู้ดีว่าไม่อาจเป็นได้ขนาดนั้น การได้เห็นข่าวร้ายเยอะๆ มันรู้สึกเหมือนได้ทำใจ ได้ซ้อมกับหายนะของคนอื่นก่อน ไม่ว่าจะเป็นข่าวร้ายทางการเมือง คอร์รัปชัน หรือร้ายมากๆ อย่างโศกนาฏกรรม หายนะ อุบัติเหตุ คนตาย

ขณะสลดใจ สยองขวัญ มันทำให้เรารู้สึกรักชีวิตมากขึ้น เป็นกลไกป้องกันตนเองว่าอย่างไรเราจะไม่ตกเป็นเหยื่อแบบนั้น แต่ถ้ารู้สึกสะใจในความตายของใคร คงต้องกลับมาเช็คตัวเอง

เห็นข่าวอะไรแล้วรีบตัดสิน เป็นจิตวิทยาอีกอย่าง เหมือนการสร้างพลังให้ตนเอง นี่ไง! ฉันเป็นคนรู้นะว่าอะไรดี-ไม่ดี ฉันมีมาตรฐานทางจริยธรรมของฉัน แบบนี้ต้องด่ามัน ลงโทษมัน มันต้องชดใช้ ฉันอยู่ฝ่ายดี ฉันมีพลังอำนาจ

ทำให้เรารู้สึกควบคุมสถานการณ์วิกฤติแบบนี้ได้โดยที่ไม่ต้องไปยุ่งกับมันจริงๆ แต่ใช้วิธีด่า หรือประณาม เมื่อก่อนมักมีการรุมประชาทัณฑ์ ปัจจุบัน เราประชาทัณฑ์ออนไลน์แทน เป็นการระบายออกและสร้างพลังแบบเดียวกันเลย

เห็นข่าวนักแสดงทำผู้หญิงท้องแล้วเหมือนจะไม่รับ ตอนแรกด่าผู้ชาย เราจะไม่เป็นแบบนี้ ผู้ชายไม่ดี หลังๆ โป๊ะแตก อ้าว! ไม่ใช่แล้ว หันมาด่าผู้หญิงแทน ตอแหลมากเลย มันทำลายชีวิตของผู้ชายคนนี้ได้ยังไง กลับลำกะทันหัน

คุณค่าอย่างหนึ่งของการเรียนละครหรือการแสดงละครคือ มันจะคอยกระตุกเราตลอดเวลาว่า อย่าตัดสินใครง่ายๆ?

ใช่เลย เอาแค่เวลาเราอ่านบทก่อนแสดง หรือทำความเข้าใจ กับบทละครหนึ่งเรื่อง ก่อนไปสวมบทบาทไหนก็ตาม เราต้องไม่เชื่อ คำพูดทั้งหมดของตัวละคร เพราะตัวละครอาจพูดไม่จริง อาจหลอกตัวเอง หรือพูดปลอบใจตัวเองอยู่

เราต้องไม่เชื่อคำพูดทั้งหมดที่ตัวละครอื่นพูดถึงตัวละครตัวนี้ด้วย เพราะมันอาจไม่จริงเหมือนกัน อาจเป็นแค่ความคิดของเขา เราต้องดูที่การกระทำของตัวละครตลอดทั้งเรื่อง ถึงสามารถจับเส้นเรื่องได้ว่าตัวละครนี้เป็นยังไงแน่

อีกอย่างคือไม่ตัดสินว่าเขาดีหรือไม่ดี เพราะไม่ใช่เรื่องของเรา เราดูแค่ว่าอะไรคือเหตุผลที่ทำให้เขาทำแบบนี้ เขาอยากได้อะไร ปัญหาของเขาคืออะไร มีเงื่อนไขยังไง

ถ้าเป็นนักแสดงนะครับ เราไม่ตัดสินตัวละครอยู่แล้ว ที่ทำไม่ได้เพราะจะมีผลให้เราคิดเข้าข้างหรือคัดค้านตัวละคร อย่างนี้ย่อมเล่นไม่ได้ หากนักแสดงตัดสินตัวละครไปแล้ว

โลกยุคโบราณที่การสื่อสารยังไม่ฉับไว ในต่างประเทศนิยมดูละครเวทีประเภทไหน ทราบข่าวการแสดงได้อย่างไร

ตั้งแต่ยุคกรีกโบราณ ละครในยุคนั้นไม่ใช่แค่กิจกรรมทางสังคม แต่เป็นกิจกรรมทางศาสนาด้วย เป็นการชำระล้างจิตใจอย่างหนึ่ง พอเข้ายุคกลาง  การเข้าไปดูละคร ทำให้รู้สึกว่าได้ใกล้ชิดพระเจ้า ละครสองยุคนี้จึงเป็นไปเพื่อเหตุผลทางศาสนาและความบันเทิง

พอมาถึงยุคเชคสเปียร์ (Elizabethan) ละครกลายเป็นมหรสพที่ให้ความบันเทิงมากขึ้น ละครดีๆ ให้ความหมายแก่ชีวิตด้วย อย่างละครเชคสเปียร์ที่ปัจจุบันเรามองว่าดูยากจัง สมัยก่อนไม่ใช่สำหรับคนชั้นสูงเท่านั้น ชาวบ้านก็ดู คนใช้ก็ดู คนขับรถม้าก็ด้วย ดูแล้วหัวเราะมีความสุข ได้แง่คิด ฉะนั้น ในละครเชคสเปียร์หนึ่งเรื่อง ถ้าเป็นคอเมดี้ ก็มีทั้งตลกโปกฮา ตลกภาษา ตลกโวหาร หรือตลกความคิด

ส่วนเนื้อหาแบ่งประเภทชัดเจน อย่างที่บอกไปว่า ละครตลก โศกนาฏกรรม ประวัติศาสตร์ หรือบางยุคเป็นกึ่งมิวสิคัล มีร้องระบำเต้นอะไรตลอดเวลา แม้ไม่ได้ให้ความรู้สึกสูงส่งทางด้านจิตใจ แต่ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย ดูเป็นมหรสพมากกว่า ส่วนใหญ่เป็นเพราะคนชั้นกลางเข้ามาดูเยอะขึ้น จึงต้องเผื่อเรื่องความบันเทิง หย่อนอารมณ์ สำเริงอารมณ์ทั้งหลาย จากการงานอันเคร่งเครียด

เรื่องประกาศการแสดง ถ้าเป็นกลุ่มนักแสดงเร่ เขาก็ร้องเพลง เต้นระบำ เล่นดนตรี ตีกลอง เป่าแตรเพื่อประชาสัมพันธ์ หรือหากมีโรงละครแล้ว ก็ประกาศหน้าโรงละคร

มีอาชญากรรมเกิดขึ้นทางภาคอีสานซึ่งตกเป็นข่าว เนื้อหาว่าชาวบ้านโดนไล่ออกจากที่ทำกิน สามีซึ่งเป็นแกนนำการเรียกร้องสิทธิถูกอุ้มหายไม่นานก็พบเป็นโครงกระดูก ส่วนตัวภรรยาติดคุก หากข่าวชิ้นนี้จะเงียบหายไปเฉยๆ ในทางทฤษฎีการละครสามารถอธิบายได้หรือไม่

จริงๆ เหตุการณ์นี้สะเทือนใจเราอยู่แล้ว ทว่าการแสดงมีทั้งหมดสามส่วน หนึ่ง-text หรือเรื่อง สอง-การแสดง ในทีนี้คือถ้าไม่ออกมาแสดงเอง ก็เป็นการแสดงผ่านสื่อหรือถูกสื่อตัดต่อ ทำให้เป็นเรื่องหรือการแสดงขึ้นมา ตัวอย่างที่คุณยกอาจหมายความว่าส่วนที่สองนี้ทำงานไม่เต็มที่ การนำเสนอเรื่องจึงไม่อาจทำให้ส่วนที่สาม-คือคนดู หันมาสนใจ ไม่ประสบความสำเร็จ อาจแค่เล่าไปเฉยๆ งั้นๆ

ถ้าเราเริ่มจาก late point of attack หรือ จุดท้ายเรื่องก่อน เช่น โครงกระดูกนี้มาได้ยังไง สามีกลายเป็นโครงกระดูก ภรรยาติดคุก เพราะมีข้อหานี้ ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดกับเรา เราจะทำยังไง คิดวิธีเล่าเสียใหม่อาจสะเทือนใจกว่าการเล่าตามลำดับไปเรื่อยๆ

เป็นไปได้ไหมว่า สื่อเลือกไม่พูดถึงด้วย

อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ อาจไม่พูดถึงมันด้วยเหตุอื่น เป็นเรื่องอิทธิพลหรืออะไรก็ตาม พูดไปสะดุดตอแน่ๆ ไม่เอาดีกว่า

มองว่าเป็นเรื่องปกติหรือเปล่า ที่สังคมให้ความสนใจข่าวหญิงสาวฆ่าหั่นศพมากกว่า

ปกติครับ ไม่สนใจสิจะดูเป็นสังคมที่ป่วย น่ากลัวมากนะอย่างนั้น เราสนใจเพราะมันเกิดคำถามขึ้นในใจว่า หนึ่ง-เขาเกลียดกันขนาดนี้เลยหรือ สอง-จิตใจทำด้วยอะไร และสาม-รู้สึกผิดหรือยัง นี่คือสิ่งที่เราอยากรู้

มีคำกล่าวว่า ‘ละครที่ดี’ ต้องสามารถทำให้ผู้ชมมี ‘ส่วนร่วม’ กับมันได้ คำว่าส่วนร่วมหมายถึงอะไร

มีส่วนร่วมหรือ empathy คือความรู้สึกร่วมกับตัวละคร ไม่ได้แปลว่าต้องเดินเข้าไปเล่นด้วย แค่นั่งดูอยู่แล้วรู้สึกร่วมไปกับ ความคิด อารมณ์ความรู้สึก การต่อสู้ปัญหา ชัยชนะ ความล้มเหลว หรือการเกิดพุทธิปัญญาของตัวละคร พอการแสดงจบ ไฟสว่าง โรงละครเปิด เมื่อกลับมาสู่โลกของตนเองแล้ว เหมือนได้ชำระล้างจิตใจ เอาอารมณ์มากมายโยนทิ้ง ได้เรียนรู้แล้วว่าคนเรามันพลาดกันได้ บางครั้งจุดพลาดนิดเดียว

เมื่อเราเรียนรู้และยอมรับความโง่เขลา ความผิดพลาดของตนเอง นี่แหละเกิดปัญญา เมื่อก่อนฉันอาจเคยหัวเราะเยาะคนอื่น ตอนนี้ฉันมีจิตใจสูงขึ้น เพราะเข้าใจเงื่อนไขของเขาแล้ว

ปรากฏการณ์ข่าวที่เป็นโศกนาฏกรรม เหตุใดคนถึงพร้อมเข้ามามีส่วนร่วม

ในปัจจุบัน คำว่า ‘โศกนาฏกรรม’ หมายถึงการสูญเสียอย่างใหญ่หลวงหรือความหายนะของคนสำคัญ คนหมู่มาก ความรุนแรงที่ ทำให้มีคนเสียชีวิตจำนวนมาก หรือเรื่องที่กระทบกระเทือนจิตใจคนหมู่มาก

แต่ความหมายดั้งเดิมของมัน คำว่า ‘tragedy’ ในการละคร พูดถึงความหายนะทางกายภาพของคนสำคัญระดับชาติ อันเป็นเยี่ยงอย่างให้คนธรรมดาได้เรียนรู้ และสำนึกตนว่าขนาดคนที่ยิ่งใหญ่ สำคัญ เพียบพร้อมขนาดนั้น ยังก้าวพลาดสู่หายนะได้ แล้วคนอย่างเราล่ะ ถ้าประมาท ไม่ควบคุมจิตใจตนเอง ไม่อ่อนน้อมกับคนอื่น หรือมีอีโก้มากเกินไป เราก็อาจล้มเหลวได้เหมือนกัน อันนี้คือเป้าหมายของละคร tragedy

ข่าวที่ผู้ชมไม่อยากตกกระแส ในทางการละครมีคำอธิบายไหม

นอกจากข่าวที่ต้องตามแบบเรียลไทม์ ข่าวคนดัง หรือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงตลอดอย่างเทคโนโลยี-แฟชั่น สาเหตุที่เราต้องอยู่ในกระแส เพราะต้องการแสดงตัวตนของเรากับคนอื่น เพราะเราแคร์บทบาทของตนเองในสายตาของผู้ชม ‘ของเรา’

จริงๆ คนเราเลือกแล้วว่าจะเสพข่าวเพื่อจุดมุ่งหมายใด สะใจ ระบายอารมณ์ หรือเพื่อเอาไปใช้ประโยชน์ ทีนี้ประเด็นคือข่าวที่ใช้ประโยชน์ได้มันถูกกลบโดยข่าวร้ายและรุนแรงเสียหมด เพราะทั้งสองฝ่ายคืออุปสงค์และอุปทาน

ถึงข่าวร้ายดึงดูดใจกว่าข่าวมีประโยชน์ แต่คนต้องการทั้งสองอย่างครับ แล้วอย่างที่ผมว่า เราเลือกเองได้ อาจดูข่าวอาชญากรรมในกระแสก่อน จากนั้นก็คลิกไปดูข่าวไอที เพราะอย่างหลังไม่ได้ถูกนำมาเป็นพาดหัวตัวเด่น มันไม่ได้น่าตื่นเต้นหรือเตะตาสำหรับคนหมู่มากเท่านั้นเอง อีกอย่าง ข่าวอาชญากรรมเรารู้สึกว่าใกล้ตัวกว่า ทำให้กลัวภัยที่อาจเกิดกับชีวิตของเรา

บางคนสงสัยว่ามีลักษณะพิเศษอะไรที่ทำให้เราสนใจข่าว ‘เสือดำ’ มากกว่าความตายที่ราชประสงค์เมื่อปี 2553

เป็นข่าวที่คนทั่วไป ‘รู้สึกร่วม’ ด้วยได้ เพราะคิดกันไปว่าเสือดำไม่มีการเมือง เป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นเรื่องของการบุกรุกโดยอิทธิพล และคนรวย ความคับแค้นในระบบการทำงานต่างๆ มีฝังในหัวอยู่แล้ว ยิ่งถ้าสามารถลอยนวลได้ ทุกคนก็ยิ่งอินไม่ว่าจะเป็นสีไหน ข่าวเสือดำไม่แรงเท่านี้แน่ ถ้าคนในข่าวไม่ใช่ ‘คนนั้น’ และไม่มีเรื่องของ ‘ตำรวจ’ เกี่ยวข้อง ฉะนั้น คงพูดว่าเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมเฉยๆ ไม่ได้ นี่เป็นเรื่องการเมืองว่า คนรวยซื้อความยุติธรรมในเมืองไทยได้หรือไม่

กรณีคนตายที่ราชประสงค์ ณ เวลานั้น ถามว่าคนอีกสีหนึ่ง หรือแม้แต่คนที่ไม่ใช่สีอะไรเลยรู้สึกยังไง ถามว่าตกใจไหม ผมว่าตกใจแน่นอน บางคนอาจมีความเห็นเพิ่มว่า ก็เขาบอกให้ออกมาแล้วไม่ใช่หรือ ทำไมถึงไม่ออกมา เอ๊ะ! ใครยิง ยิงกันเองหรือเปล่า ตั้งคำถามกันแบบนี้ เป็นเรื่องกลุ่มการเมือง แบ่งพวกฉันพวกเธอ อีกฝ่ายก็อาจไม่สนใจ คิดว่าเอาเหอะ ให้พวกเขาดูแลกันไป ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ควร

ผมยังตกใจเลย เวลาเห็นข่าวแกนนำเสื้อแดงรถคว่ำ แล้วมีคนคอมเมนท์ว่า “สมน้ำหน้า” ผมรู้ว่าคุณเห็นข่าวแล้วสะใจ แต่เก็บไว้ในใจบ้างก็ได้ ขนาดข่าวทั่วๆ ไปอย่างนักแสดงสาวแต่งงานรอบสอง คอมเมนท์ดีก็ดีไป แต่อันที่แย่ๆ เราอ่านแล้วรู้สึกว่า นี่แกเกลียดเขาขนาดนี้เลยเหรอ เขาไปทำอะไรให้แกวะ ผมก็งงว่าเราเป็นอะไรกัน ทำไมต้องมาเยาะเย้ย เหยียดหยาม ประณามกันขนาดนี้ด้วย

ก็กลับมาที่เรื่องเดิมว่า นี่คือการสร้างพลังให้ตนเอง เพื่อบอกตนเองว่า มาตรฐานทางจริยธรรมของตนนั้นสูงกว่า ฉันดูดีขึ้น ฉันเหนือกว่า แบบนี้คุณต้องไปดูทางจิตวิทยาแล้วว่า สังคมกำลังขาดอะไร

ขาดฮีโร่หรือเปล่า

มันก็เป็นมาทุกยุคทุกสมัย เราอยากมีฮีโร่ อยากมีพระเอก อยากมีใครมาช่วยทั้งนั้น แต่ถ้าต้องถึงขั้นขี่ม้าขาวมากอบกู้ หากขาดฮีโร่คนนี้ไปชีวิตสั่นคลอนแน่ๆ เราต้องกลับมาคิดเหมือนกันว่า เป็นเพราะไม่อาจพึ่งพิงระบบหรือองค์ประกอบอื่นๆ ในสังคมได้หรือเปล่า ทำไมต้องมีบุคคลใดบุคคลหนึ่งเท่านั้นที่สามารถทำให้เรารู้สึกปลอดภัยและอบอุ่นใจได้ขนาดนั้น

ในทางการละคร บทบาทฮีโร่ทำงานอย่างไรกับความรู้สึก

หนึ่ง-เราอยากเป็น สอง-ถ้าเราไม่ได้เป็น เราก็อยากเห็นตัวเป็นๆ

‘อยากเป็น’ หมายถึง บทบาทคนดีในสายตาคนอื่น อยากเคารพนับถือตนเองได้ อยากภูมิใจในตนเองได้ นี่คือเหตุผลที่เราอยากเป็นฮีโร่ ในขณะเดียวกัน ที่เราชอบฮีโร่ เพราะเมื่อถึงเวลาลำบาก ย่อมอยากให้มีคนมาช่วยเหลือ

จากเหตุการณ์เรื่องถ้ำหลวง ที่เราบอกว่าคนนั้นคนนี้เป็นฮีโร่ หลายเสียงของพวกเขาเหล่านั้นเองกลับออกมาพูดกันว่า ไม่ใช่เรื่องของฮีโร่คนใดคนหนึ่ง แต่ต้องให้เครดิตแก่ระบบการจัดการ การวางแผน การซ้อม การทำงานร่วมกัน ความร่วมมือและรับฟังซึ่งกัน ตัว system คือฮีโร่ ถ้ามาเดี่ยวๆ คือเจ๊ง ตรงนี้คนไทยควรเข้าใจได้แล้ว นอกเหนือจากเรื่องจิตใจที่สูงส่งพร้อมช่วยผู้อื่นของทีมแล้ว อย่าไปชูฮีโร่เป็นคนๆ มันต้องชูระบบ และความพยายามให้ระบบผลักดันงานจนสำเร็จ

ในงานเสวนา ‘มองนาฏกรรมถ้ำหลวงฯ’ อาจารย์ให้ทัศนะว่าเรื่องของน้องๆ ทีมหมูป่ามีความ dramatic (ความน่าทึ่งแบบละคร) อยู่ในตัว หากให้เทียบกับอีกข่าว คือการเสียชีวิตของ ‘ชัยภูมิ ป่าแส’ เยาวชนนักกิจกรรมชาวลาหู่ ที่ถูกวิสามัญฆาตกรรมโดยทหาร เฉดสีแห่งความ dramatic ของทั้งสองข่าวชัดจางแตกต่างกันอย่างไร

ถ้าเป็นข่าวอาชญากรรมอื่นคนต้องสนใจแน่ คนตายเป็นเยาวชนเชียวนะ เป็นข่าวสืบสวนที่ต้องหาต้นตอ คนทำผิด และต้องหาทางลงโทษให้ได้ แต่ข่าวนี้มันติด ไปต่อไม่ได้ เพราะมันตันแล้ว มันเกี่ยวพันกับหน่วยงานความมั่นคง ไม่รู้จะสืบต่อยังไง พอขยี้ไม่ได้ คนก็คลายความสนใจลงไป ต่างกับข่าวหมูป่าซึ่งมีเวลาจำกัด มีคนรอดชีวิตที่รอให้เข้าไปช่วยเหลือ

เวลามีคนเขียนผ่านสื่อทำนอง นี่คือการมองเห็นความเป็นมนุษย์ของคนในข่าว ‘ไม่เท่ากัน’ อาจารย์คิดว่าคำวิจารณ์ลักษณะนี้ ‘ใจแคบ’ ไปไหม

ผมไม่รู้ว่าเจตนาของคำกล่าวแบบนี้แท้จริงคืออะไร เขาอาจพยายามชี้นำเพื่อให้เห็นถึงการเปรียบเทียบว่า ทำไมเราอินกับเรื่องนี้ แต่ไม่อินกับอีกเรื่อง ทั้งที่ความเป็นมนุษย์ของคนในข่าวทั้งสองข่าวนั้นก็เหมือนกัน น้ำเสียงการเขียนอาจเหมือนตัดสิน แต่จริงๆ ผมไม่รู้ว่าตัดสินหรือเปล่า

ถามว่าเขาทำได้ไหม ในฐานะคนเขียนข่าว เขียนคอลัมน์ ผมว่าทำได้นะ เพื่อเป็นการจุดประเด็นให้เกิดการถกเถียง ไม่ว่าเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม มันย่อมเกิดกระบวนการไตร่ตรอง คุณเป็นอย่างที่เขาเขียนจริงหรือเปล่าล่ะ ไม่ได้แปลว่าที่เขียนมาทั้งหมดเป็นข้อเท็จจริง เพราะมันคือความเห็น ไม่ใช่เรื่องผิดเรื่องถูก

มองอีกมุม ไม่ใช่เรื่องที่ต้องไปกล่าวโทษคนในสังคมใช่ไหมครับ ถ้าเขาไม่สนใจข่าวเดียวกับเรา

ใช่ครับ บางข่าวมันไปไม่ถึงเขา บ้านเมืองเรามีความอยุติธรรมเกิดขึ้นเยอะแยะมากมาย ทำไมเราไม่อินไปกับมันทุกเรื่อง บางเรื่องโอกาสในการเห็นฉากจบมันเร็วกว่า หากมีโอกาสเข้าไปอยู่ในเรื่องนั้นได้ บางเรื่องใช้ระยะเวลา ไม่รู้จะสู้ยังไง ไม่เอาดีกว่า เหนื่อย เราก็ไม่ไปลุ้นกับเขา

บางทีเราอาจลืมไป มัวแต่ดูข่าวนี้ รู้สึกอิ่มเอมตื้นตัน รู้สึกว่าเป็นโลกที่ฉันเข้าไปร่วมด้วยได้ โลกทั้งโลกรวมเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่อีกข่าวที่ฉันลืมดูไปเลยล่ะ เออ… ทำไมเราลืม เพราะถ้าไม่มีใครกระตุกเราบ้าง เราอาจไม่ได้หันกลับมาดูจริงๆ ไม่ใช่การมานั่งบอกว่าใครถูกใครผิดหรือประณามกัน ไม่ต้องไปบอกว่าใครเลวที่ไม่สนใจข่าวนี้ข่าวนั้น มันคนละเรื่องกัน

อาจารย์รัฐศาสตร์บางท่านให้ความรู้ว่า ข่าวที่คนชั้นกลางมักให้ความสนใจ ต้องเป็นการเมืองน้อยๆ

เราแค่ต้องปรับโฟกัสในการนำเสนอ คนสนใจข่าวสิ่งแวดล้อม อย่างเรื่องเสือดำเพราะรู้สึกว่ามันไม่ ‘ยุติธรรม’ ถ้าเป็นเรื่องการเมือง อย่างเราพูดถึงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แค่เกริ่นก็หาวกันหมดแล้ว

แต่ถ้าตีประเด็นให้แตกว่า อ้าว! แล้วเราจำเป็นต้องทำตามไหม สำหรับสิ่งที่คิดโดยคนซึ่งทำรัฐประหารมา แล้วรัฐบาลหน้าแก้อีกได้ไหม ให้ประเด็นข่าวมันเกี่ยวข้อง และมีผลกับคน ‘หมู่มาก’ เป็นเรื่องที่เขามีส่วนได้ส่วนเสีย เรื่องคุณภาพชีวิตที่เขาควรได้ เรื่องความ ‘อยุติธรรม’ ในสังคม ความเสแสร้งของพ่อค้าและนักการเมือง ทำไมฉันหากินลำบากแล้วพวกนั้นสบายจัง

หากเปรียบข่าวสารกับศิลปะการละคร ข่าวที่ตีเป็นกระแสไม่ขึ้น คล้ายกับละครอินดี้รูปแบบน่าเบื่อหรือเปล่า

อาจไม่ต้องถึงขนาดละครอินดี้ แต่เป็นเรื่องที่คนรู้สึกว่าไม่ฮอต เช่น ละครเรื่องหนึ่ง เนื้อหาเกี่ยวกับคนเคยติดยา ที่พยายามกลับมามีชีวิตใหม่และพยายามช่วยคนหลงผิดให้กลับมาสู่ความเป็นปกติ ละครมีสาระแต่คนก็ไม่ค่อยดูนะ ทั้งๆ ที่นักแสดงคือสามีแห่งชาติคนที่กรี๊ดกันเมื่อไม่กี่เดือนก่อน

อาจเป็นเพราะเราคิดไปว่าจะไม่รู้สึกถึงความหย่อนใจ ทำไมต้องดูด้วย ไม่ใช่เรื่องของฉัน เด็กที่เล่นยาจริงๆ ก็คงไม่ดูละคร พ่อแม่ไม่อยากดู เพราะเสียวไส้ ดูแล้วเครียด ลูกฉันเป็นอย่างนี้หรือเปล่า ไม่อยากยอมรับความจริง

เป็นไปได้ไหมว่าธรรมชาติของเราทุกคนในฐานะผู้ชมชอบ ‘พล็อตใหม่ๆ’ คล้ายเวลา ‘คุณตูน บอดี้สแลม’ ออกมาวิ่ง

คนชอบพล็อตใหม่ด้วย และก็ชอบเรื่องที่ uplifting ทำให้เรารู้สึกดี รู้สึกร่วมในการได้ช่วยกันทำอะไรสักอย่าง ชอบความฟินครับ (หัวเราะ) ปกติถ้าเราพูดว่า โรงพยาบาลขาดอุปกรณ์ต่างๆ มันแลนิ่งมาก อาจทำให้รู้สึกแค่ว่า แบบนี้ฉันก็ซวยสิ ทำไงดีล่ะ โรงพยาบาลใกล้บ้านฉันด้วย ต่างกันกับ โห… ขนาดซูเปอร์สตาร์ยังมาวิ่งเลยนะ แล้วคนก็เข้าไปช่วยเยอะแยะ ถ้าตกขบวน กูต้องตกนรกแน่นอน

มนุษย์เราอยากได้ความรู้สึกเช่นนี้ ทำดีเพื่ออะไรสักอย่าง เพื่อใคร เพื่อคนอื่น สังคมเราขาดเรื่องอย่างนี้ไปนานแล้ว สำหรับคนไทยนะครับ ไม่ควรประณามกัน คล้ายๆ กับที่เราก็ควรรับฟัง หากมีคนพูดเรื่องระบบสาธารณสุขที่มันบกพร่อง เรามีสิทธิสนับสนุนคนดีในสายตาตน แต่ไม่ได้หมายถึงคนที่อยู่ตรงข้ามกับสิ่งที่ฉันเชียร์คือคนเลว

จากสายตาของนักการละคร สิ่งที่น่าสนใจในข่าวป้าทุบรถคือ ‘แก่นเรื่อง’ หรือ ‘รูปแบบการแสดง’

อาจเป็นบทที่เราอยากแสดง คือสิ่งที่ตอบโจทย์ในใจ อยากทุบแม่งจริงๆ พวกชอบมาจอดหน้าบ้านกู แต่มันทุบไม่ได้ ผิดกฎหมาย หรือทำไปแล้วมันจะทำอะไรกูคืนหรือเปล่า ป้าแม่งเจ๋งว่ะ ทำเสร็จแล้วไม่กลัวด้วย ลุกลามไปถึงอิทธิพลของการมีตลาดรอบบ้านที่ถูกแฉขึ้นมา ฉะนั้นมันไม่ใช่แค่เรื่องการทุบรถไง แต่เป็นกรณีของคนแก่ตัวเล็กๆ ที่ต่อสู้กับความอยุติธรรมที่ได้รับ

เหนืออื่นใด ผมไม่สนับสนุนให้ใช้ความรุนแรงนะครับ เรามีสังคมที่ต้องอยู่ ‘ร่วมกัน’ ความรุนแรงไม่ใช่เรื่องดี เช่นเดียวกับเสียงสนับสนุน เพราะถ้าผิดพลาดสูญเสียไปเราเรียกร้องคืนไม่ได้ การทวงถามความยุติธรรมหรืออะไรก็ตาม หากต้องการอยู่ในสื่อ ไม่ได้แปลว่าต้องรุนแรง แต่จะทำยังไงให้สื่อมาเล่นข่าวของเรา บางกรณีไม่ต้องทำอะไรมาก แค่ไปยืนถือป้ายในสถานที่และเวลาอันเหมาะสมเท่านั้นเอง

ถ้ามีคนให้ทุนสร้างละครเวทีสักเรื่อง ข่าวแบบไหนที่คิดว่าไม่น่าหยิบยกมาเล่น ประชาสัมพันธ์อย่างไรก็ล้มเหลว

มันไม่น่าเกี่ยวกับข่าว แต่อยู่ที่บทมากกว่า ข่าวในที่นี้คือ text หรือ เรื่อง คือเรื่องมันต้องน่าสนใจอยู่แล้ว ไม่อย่างนั้นคงเป็นข่าวไม่ได้ ผมว่าอยู่ที่การนำข่าวมาทำให้เป็นบท ต่อให้เป็นข่าวทั่วไปที่เรารู้กันอยู่แล้ว เช่น ข่าวเด็กในสถานสงเคราะห์มีมากขึ้นทุกวัน จนบางแห่งที่เป็นของเอกชนรับไม่ไหวต้องปิดตัวลง

ถามว่าคนจะดูไหม ถ้าปรุงบทให้ดีก็ดูได้ เราดูอะไรล่ะ เจ้าของสถานสงเคราะห์ต้องปากกัดตีนถีบขนาดไหน โครงสร้างสังคมเป็นแบบไหน ทำไมต้องคิดถึงชีวิตเด็กเหล่านี้ ทั้งที่เจ้าของสถานสงเคราะห์เองอาจเอาตัวไม่รอด ไม่ใช่แค่เล่าไปเรื่อยๆ แต่ต้องหาวิธี สื่อสารให้กระทบใจ

ตามตำราบอกว่าละครที่ดีต้องให้ประสบการณ์หรือความหมายที่ดีแก่ชีวิต แสดงว่าข่าวที่ไม่มีคนสนใจให้ตรงนี้ไม่ได้หรือเปล่า

มันไม่ได้แปลว่าคนเราดูข่าวแล้วต้องมีประสบการณ์ที่ดีเสมอไป บางครั้งเราอยากได้บทเรียน แล้วบทเรียนที่ดีอาจมาจากประสบการณ์ไม่ดีก็ได้ สำคัญคือ ส่วนใหญ่คนเราเรียนรู้จากประสบการณ์ไม่ดีมากกว่าด้วยซ้ำ เจอเรื่องร้ายๆ เจ็บฉิบหาย กูจะไม่ทำแบบนี้แล้ว สุดท้ายเราเปลี่ยนความทุกข์เป็นความรู้สึกดีได้มากน้อยแค่ไหน ถ้ามีแต่คนมาชมเชย หรือเจอแค่เรื่องดีๆ เต็มไปหมด เราอาจไม่จำ

ถ้าให้ลองเดาทางอารมณ์ของผู้คนในวินาทีนี้ คิดว่าสังคมไทยโหยหาข่าวสารหรือละครแบบไหน

ละครหลีกหนีความจริงครับ (หัวเราะ) หลีกหนีจากเงื่อนไขในชีวิตจริงทั้งหลาย อาจรู้สึกว่าเนือยๆ อึนๆ มีคำถามที่ตอบไม่ได้เยอะแยะไปหมด อึดอัดที่เศรษฐกิจไม่ค่อยดี มีหลายเรื่องที่ยังไม่ชอบใจ หนีเข้าไปอยู่ในนั้นดีกว่า ไม่อย่างนั้น บุพเพสันนิวาส จะดังหรือ หลีกหนีแล้วก็ฟีลกู๊ด เพราะยังไงก็ตาม ในละครแบบนี้เราทราบอยู่แล้วว่าตอนจบต้องมีความสุข

ฉะนั้นมันทำให้เรารู้สึกปลอดภัยกว่า แม้ละครแบบนี้จะสะท้อนความจริงบางอย่างในสังคม ทว่าเป็นการสะท้อนแบบน่ารักๆ รู้สึกว่าเราควบคุมโลกแบบนั้นได้ จริงๆ ไม่ได้ควบคุมหรอก คนเขียนบทและคนทำละครควบคุมอีกที เพียงคนดูรู้สึกปลอดภัยทางด้านจิตใจมากกว่า

ควบคุมหมายถึงอะไร

คือต่อให้นางเอกจะประสบเหตุร้ายใด อย่างไรต้องพลิกผันเป็นดีอยู่แล้ว พระเอกเข้าใจนางเอกผิด เดี๋ยวอีกสองตอนก็ดีกัน เรามีความหวัง มี scenario (สถานการณ์ บท หรือฉาก) ที่มนุษย์อยากให้เป็น ต่อให้เศร้ายังไงเดี๋ยวก็กลับมาสุขได้ ชีวิตจริงเราอยากเป็นแบบนั้น ซึ่งไม่รู้เกิดขึ้นได้หรือเปล่า ควบคุมยาก เลยอาศัยอยู่ในละครแทน มีความสุข

ถ้าต้องการตั้งโรงละครขึ้นมาสักแห่ง อารมณ์ร่วมของคนเมือง กับคนทั้งประเทศเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

ขึ้นอยู่กับว่าโรงละครนั้นผลิตงานให้กลุ่มที่เป็นแมสดู หรือทำให้คนดูเฉพาะกลุ่ม (niche) ถ้าเป็นอย่างหลัง อาจไม่ใช่คนเมือง ด้วยซ้ำ เป็นคนที่ไหนก็ตามที่สนใจละครแนวนั้นๆ อย่างการแสดงในโรงละครอักษรฯ จุฬาฯ ไม่ใช่ละครที่คนในเมืองทุกคนมาดู แต่เฉพาะกลุ่มที่สนใจศิลปะแบบนี้เท่านั้น ต่อให้อยู่เชียงใหม่ก็บินมาดู

การแสดงชุดเดียวกันนี้บางทีไปเล่นเชียงใหม่ บางทีไปสมุย สมัยหนึ่งเราชอบดูละครมิวสิคัลกัน อย่างนี้โรงละครที่อักษรฯ ไม่ตอบโจทย์คนทั้งประเทศแน่นอน แต่ว่ายังต้องมีและต้องทำ เพื่อให้ประเทศนี้ได้หันกลับมาดูว่า อ๋อ มีงานแบบนี้ด้วยหรือ ให้รู้ว่านักแสดงไทย ละครไทย หรือบทของคนไทยมันทำแบบนี้ได้ คนละความหมายกับการอยู่ในความสนใจตลอดเวลา

แสดงว่าวิธีจับอารมณ์ร่วมของคนเมืองหรือคนทั้งประเทศก็ระบุได้ยาก?

ถ้าเป็นอารมณ์ร่วมจริงๆ การแสดงละครเวทีก็คือมหรสพชนิดหนึ่ง ถามว่าเดี๋ยวนี้คนดูอะไรเยอะที่สุด ต้องตอบว่าคอนเสิร์ต เป็นละครกึ่งคอนเสิร์ต ที่มีร้อง เต้น บันเทิง สวยงาม อันนี้คนทั้งหมดดูแน่นอน ยอมเสียเงินออกจากบ้าน เพราะว่าคุ้ม เป็นมหรสพเต็มรูปแบบ เป็นกระแสหลักหรือแมสแน่นอน แต่ไม่ใช่ละครเวทีอย่างที่เราพูดถึง เพราะฉะนั้นต่อให้อยู่ในเมือง ก็อาจมีคนดูแค่ 15 คน

การจับรสนิยมของคนไทยยากไหม บางทีเราชอบความก้าวร้าว บางทีต้องอ่อนน้อมถ่อมตน บางทีก็ชอบฮีโร่

จะว่ายากไหม ก็ยาก แต่อาจสรุปได้ว่าคนไทยชอบอะไรที่มัน sensational คือ วูบวาบกระทบใจ เสพ ‘อารมณ์’ เป็นหลัก สะใจ สะเทือนใจ ห่วงใย ฯลฯ เสพอารมณ์ก่อน เหตุผลมาทีหลัง อะไรแบบนี้คือได้หมดสำหรับคนไทย

ข่าวไหนจะดังขึ้นอยู่กับจริตของคนชั้นกลาง?

คำว่าจริตคือสิ่งที่เรารู้สึกว่าเป็นตัวตน เฮไปกับเรื่องนั้นได้ เพราะมันตอบสนอง ผมอาจเคยทำก็ได้แต่นึกไม่ออก (หัวเราะ) ไม่รู้ดัดจริตหรือเปล่า แต่ตอนมีข่าวเขื่อนแตก ผมก็ขึ้นสเตตัสให้กำลังใจเขานะ คือเรารู้สึกอย่างนั้นจริงๆ

วิชาการละคร ควรถูกบรรจุลงในหลักสูตรระดับมัธยมศึกษา หรือต่ำกว่านั้นไหม เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ความเป็นมนุษย์ในเชิงวิเคราะห์ได้เร็วขึ้น

ควรมากๆ ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็เป็นจริงเป็นจังมากขึ้น มีการยกบทละคร หรือบางส่วนของวรรณคดีเอาไปวิเคราะห์ ตีความ แล้วลองเล่นเป็นละคร ไม่ใช่แค่เครื่องมือของการเรียนภาษาไทย วรรณกรรม สังคม หรือประวัติศาสตร์ แต่เป็นเครื่องมือในการทำความเข้าใจตนเอง ยิ่งถ้าเราได้ฝึกเข้าใจตัวละคร มันคือการฝึกเข้าใจมนุษย์คนอื่นๆ ด้วย และไม่รีบตัดสินเขา การสวมบทบาทเป็นตัวละคร คือการเอาใจเขามาใส่ใจเรา

เมื่อสองปีที่แล้วผมเคยทำละครจากรามเกียรติ์ เอาเหตุการณ์ตอนหลังกรุงลงกาแตกมายำใหม่หมด แล้วให้ตัวละครพูดเป็นภาษาปกติ เหมือนเล่าเรื่องจากมุมของตัวเอง ถึงการกระทำและเหตุผล เบื้องหลังของทศกัณฐ์ และของผู้เล่า เด็กมัธยมที่มาดูก็บอกว่า โห! ที่โรงเรียนน่าจะสอนแบบนี้บ้าง ทำให้เขาเข้าใจตัวละครมากขึ้น มันสนุก ตอนอ่านไม่ได้คิดเลย

ในระดับมัธยมก็เริ่มมีการใช้ละครเป็นเครื่องมือจริงจังขึ้น และคิดว่าควรลงไประดับประถมด้วย อย่างต่างประเทศก็มีหลักสูตรที่เขียนไว้สำหรับแต่ละช่วงชั้น

สังคมไทยตอนนี้เป็นบทละครที่มีความหวังหรือไม่

(หัวเราะ) สังคมไทยเป็นละครตลกเสียดสี เพราะถ้าไม่ตลกเราอยู่ไม่ได้ ต้องมีอารมณ์ขัน บางเรื่องที่แก้ไม่ได้ต้องหัวเราะไว้ก่อน หัวเราะเพื่อปลดปล่อย แล้วค่อยกลับมาเผชิญหน้ากับความจริง สังคมไทยเป็นแบบนี้มาตลอด มีความหวังเป็นระยะๆ

ต่อให้ยุคไหนดับมืดไป เราก็หัวเราะกับมันได้ หัวเราะแบบขื่นๆ โถ่เอ๊ย! ที่กูเป็นแบบนี้เพราะตอนที่ต้องเลือกทางนั้นกับทางนี้ กูเสือกเลือกผิด กูนี่แหละที่โง่เองเว้ย! ซึ่งหลายคนอาจกำลังหัวเราะแหะๆ กับตัวเองอยู่ ณ ตอนนี้ กูไม่น่าเลย

ข่าวสารอันเป็นผลพวงที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางการเมืองระหว่าง 10 ปีที่ผ่านมา คนไม่ค่อยให้ความสนใจแล้ว ถ้าเปรียบเป็นโรงละคร ตอนนี้ม่านปิดลงแล้วใช่ไหม

ใครบอกล่ะครับ (หัวเราะ) มันเป็นช่วงพัก เหมือน Game of Thrones ที่เพิ่งจบซีซั่น 7 แล้วพักไปสองปี เดี๋ยวซีซั่น 8 กำลังจะมาแล้ว เริ่มตื่นเต้นแล้วครับตอนนี้ ฉะนั้น คนที่บอกว่าอยากเลือกตั้งแล้ว หรือคนที่บอกว่าฉันรอได้ จริงๆ แล้วตื่นเต้นหมด เดาไม่ถูก อะไรกำลังจะเกิดขึ้น

นอกจากคนที่ยังไม่ ‘รู้สึกร่วม’ ว่าตนเองใกล้กับเรื่องพวกนี้แค่ไหน ก็อาจไม่ตระหนักว่า ความเร้าใจทางการเมืองกำลังจะกลับมาแล้ว

Author

สันติสุข กาญจนประกร
อดีตบรรณาธิการเครางาม ปลุกปั้นและปล้ำ WAY มาในยุคนิตยสาร นักสัมภาษณ์ที่ไม่ยอมให้ข้อสงสัยหลงเหลือในประโยคพูดคุย เรียบเรียงถ้อยคำความหล่อบนบรรทัดด้วยทักษะแบบนักประพันธ์ หลังออกไปบ่มเพาะความคิด สันติสุขกลับมาพร้อมรสมือและกลิ่นกายที่คุ้นชิน และแน่นอน ทักษะด้านการเขียนที่ผ่านการเคี่ยวกรำมาย่อมแม่นยำกว่าเดิม

Author

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า