มองปรากฏการณ์ถ้ำหลวงผ่านนาฏกรรม

ถ้ำหลวง

ปฏิบัติการที่เรียกว่าเป็นไปไม่ได้ หรือ Mission Impossible ที่ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน กลายเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เพียงดึงคนทั้งประเทศให้มาเอาใจช่วยเหลือกลุ่มเด็กนักเรียนทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมีกับหนึ่งโค้ชทั้ง 13 ชีวิตจนขยายไปทั้งโลกจะจบลงไปแล้วด้วยดี

เหตุการณ์นี้นำมาซึ่งสิ่งน่าสนใจในหลากหลายมิติที่สังคมไทยควรเก็บมาทบทวนและใคร่ครวญ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองความน่าสนใจของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ จึงจัดเสวนาในหัวข้อ ‘มองนาฏกรรมถ้ำหลวง จากมุมมองวรรณกรรม การละคร และคติชน’ เพื่อรวบรวมและแบ่งปันความเห็นหลากหลายจากผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ เพื่อตีความสิ่งที่เกิดขึ้นภายในถ้ำและภายในสังคม

แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของสังคม

ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรม รศ.ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร กล่าวลำดับแรกว่า

ในความเป็น ‘เรื่องเล่า’ ถ้ามองในกระบวนทัศน์ของวรรณคดีเปรียบเทียบ นี่คือ ‘เรื่องราวที่ถ้ำหลวง’ เหตุผลที่ต้องใช้คำว่า ‘เรื่องราว’ เพราะมันไม่ใช่เรื่องเล่า เรื่องเล่านั้นมีมากมาย แต่เรื่องราวสิ่งที่เกิดขึ้นเพียงเรื่องเดียว ทำไมเราถึงต้องมองหน้าทีวีแล้วร้องไห้ไปพร้อมกัน เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นอารมณ์ร่วมของสังคม เนื่องจากสิ่งที่เสพหรือรับทราบนั้น มักจะไม่แสดงภาพของความหวัง ซึ่งเหตุการณ์ถ้ำหลวงเป็นเหตุการณ์ที่ผู้คนเอาใจช่วยร่วมกัน และมีหลากหลายอารมณ์บรรจุอยู่ในนั้น

“ในระหว่างนั้นก็มีเรื่องเล่าต่างๆ ออกมาทั้งจากภาครัฐและเอกชน ซึ่งมีทั้งข่าวจริงและข่าวลวง ถ้าจะให้ถอดบทเรียนแบบมนุษยศาสตร์ สิ่งที่เราเสพ และนำมาประกอบเป็นโลกความจริงที่รับรู้ มันคือเรื่องเล่าต่างๆ เช่น เรื่องเล่าที่ว่าด้วยลำดับการออกก่อน-หลังของทีมหมูป่า ทั้งด้วยเกณฑ์ทางสุขภาพ หรือวิจารณญาณของหมอ แท้จริงมาจากลำดับความใกล้-ไกลของระยะทางเท่านั้น ดังนั้นเราจะเห็นการประกอบสร้างความจริงผ่านเรื่องเล่า ถ้าเราไม่ระวัง เรื่องเล่าก็อาจจะกลายเป็นเรื่องลวงก็ได้”

ถ้ำหลวง
รศ.ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร

สากลกับท้องถิ่น

ประเด็นที่น่าสนใจต่อมาในมุมของตรีศิลป์ คือในเรื่องของ ‘ความเป็นสากลกับความเป็นท้องถิ่น’ ซึ่งอาจจะดูในเรื่องของกาลเทศะ โดย ‘กาล’ แปลว่าเวลา และ ‘เทศะ’ แปลว่าสถานที่ ซึ่งเราจะเห็นว่า พื้นที่ที่ปรากฏผ่านเรื่องราวของกลุ่มหมูป่านั้น คือความหลากหลายทางพื้นที่และชาติพันธุ์ ซึ่งมีผู้ไร้สัญชาติอยู่ด้วยกันในทีมเดียวกัน เป็นเพื่อนกัน เป็นพี่เป็นน้องกัน

ในช่วงเวลาที่โลกกำลังให้ความสนใจกับฟุตบอลโลก ทีมหมูป่าซึ่งเป็นทีมฟุตบอลในชนบทก็ได้รับรู้ความเป็นสากลเหล่านั้นเช่นกัน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความร่วมสมัยในความเป็นสากลร่วมกันที่ปรากฏอยู่ในท้องถิ่น แม่สายจึงเป็นดินแดนอุดมคติในการอยู่ร่วมกันของคนต่างชาติพันธุ์ ต่างฝ่าย ต่างภาษา เรื่องเล่านี้จึงเป็นเรื่องเล่าที่สร้างสรรค์ของการอยู่ร่วมกันโดยไร้พรมแดนของความเป็นชาติและความเป็นชาติพันธุ์ เด็กกลุ่มนี้จึงเป็นภาพแทนของการอยู่ร่วมกัน

“ในส่วนของความเป็นสากลนั้น คงจะหนีไม่พ้นเรื่องของเด็กกับการใช้ชีวิตภายในถ้ำ แสดงให้เห็นถึงการต่อสู้ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ในยุคที่เราอยู่ในโลกวิทยาศาสตร์ มันจะกระตุกตรึงให้เราหวนระลึกถึงความลึกลับของธรรมชาติ ทำให้เราหวนระลึกถึงความพยายามในการต่อสู้กับธรรมชาติ แม้ว่าเทคโนโลยีจะก้าวไกลไปแค่ไหนแล้วก็ตาม แสดงให้เห็นถึงความเป็น local ของสังคมไทย

“นอกจากนี้เราจะเห็นความบังเอิญต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเขยฝรั่งหนึ่งในทีมนักดำน้ำที่เข้ามาช่วยเหลือทีมหมูป่า ผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการจัดการบริหาร ซึ่งมาอยู่ถูกที่ถูกเวลา สิ่งเหล่านี้อาจถือได้ว่าเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์อย่างแท้จริง ผู้บริหารเหล่านี้เป็นลักษณะของรัฐที่คนต้องการจะเห็น ซึ่งปฏิบัติการต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งการมีแผนงาน การซ้อมก่อนลงมือปฏิบัติงานจริง ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่แปลกใหม่ เพราะเราแทบไม่เคยมีปฏิบัติการในไทย”

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นที่ถ้ำหลวงจึงเป็นการบอกว่าการให้คนที่มีความสามารถได้ทำในสิ่งที่เขาเชี่ยวชาญ การให้ผู้ที่มีความสามารถได้มีโอกาสแสดงความสามารถของตนเอง นำมาซึ่งผลของงานที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งปรากฏการณ์การช่วยเหลือจากฝ่ายต่างๆ ซึ่งเป็นน้ำใจไทยที่เราไม่คิดว่าจะได้เห็นแล้ว จากนั้นแม้แต่ในความสูญเสีย เราก็ได้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ผ่านความช่วยเหลือของคนไทยในด้านต่างๆ

นาฏกรรม ณ ถ้ำหลวง

ในมุมมองของการละคร ดังกมล ณ ป้อมเพชร อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เราจะเห็นว่าภารกิจการช่วยทีมหมูป่าออกจากถ้ำกลายเป็นภารกิจของมนุษยชาติ เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวอยู่ในความสนใจของคนทั้งโลก ซึ่งแสดงความเป็นนาฏกรรมผ่านเรื่องราวที่สร้างขึ้นมาเพื่อเสพอารมณ์จากตัวเหตุการณ์เอง มันจะเป็นเหตุผลว่าทำไมผู้เสพข่าวจึงต้องการจะรับรู้ข่าวเหล่านี้ในช่วงเวลาที่เป็นปัจจุบันที่สุด (real time)

“ดังนั้นถ้ามองปรากฏการณ์ดังกล่าวในมุมมองของการละคร ประเด็นแรกที่จะพูดถึงก็คือ เป้าหมายของการละคร องค์ประกอบของการละคร ซึ่งเราจะพบว่ามันมีลักษณะที่เป็น dramatic

“ในส่วนของเป้าหมายของการละครนั้น เราก็พบว่าละคร นอกเหนือจากจะมีเป้าหมายเพื่อความบันเทิงแล้ว การละครยังทำให้เราได้รู้จักที่จะเรียนรู้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการรู้จักตัวเอง รู้จักการแก้ปัญหา รู้จักกับโลกใบนี้ หรือรู้จักที่จะจัดการอย่างไรกับความขัดแย้งต่างๆ”

ถ้ำหลวง
ดังกมล ณ ป้อมเพชร

“นอกจากเป็นมหรสพบันเทิง เป็นเครื่องมือเรียนรู้แล้ว ยังเป็นไปเพื่อให้แรงบันดาลใจอีกด้วย ทั้งยังเป็นการให้แรงบันดาลใจสูงสุดคือการให้แรงบันดาลใจในขั้นจิตวิญญาณให้มนุษย์เราเรียนรู้ว่าจะทำตัวอย่างไร จะดูแลตัวเองอย่างไร จะรู้จักตัวเองอย่างไร จะป้องกันตัวเองไม่ให้ไปสู่จุดที่อันตรายได้อย่างไร ทำให้ตัวเองมีจิตใจที่สูงขึ้น ทั้งยังเป็นเรื่องของศาสนาด้วย เช่น ในการดูละครโศกนาฏกรรม ผู้ชมก็จะมีอารมณ์ร่วมไปด้วย และทำให้เกิดการยกระดับจิตใจของตัวเอง ผ่านความหลากหลายของอารมณ์ในมิติต่างๆ”

องค์ประกอบของการละครในมุมของดังกมล ถ้าเป็นในหลักสากล จะประกอบด้วย text หรือเรื่อง สองคือการแสดง และสามคือผู้ชม เพราะถ้าปราศจากผู้ชม นั่นคือการซ้อม ไม่ใช่การแสดง

นาฏกรรมถ้ำหลวงมีองค์ประกอบของละครครบหรือไม่ ประการแรกในส่วนของเนื้อเรื่อง เราจะเห็นว่าคือการค้นหาและช่วยเหลือ 13 ชีวิตออกจากถ้ำ การแสดงในที่นี้คือการนำเสนอผ่านสื่อ ทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ผ่านช่องทางต่างๆ ในขณะเดียวกันการแสดงดังกล่าวก็เป็นการแสดงเฉพาะหน้า ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของการละคร ประการที่สามคือคนดู ซึ่งก็คือพวกเราทั้งหลาย ที่เฝ้าดูเหตุการณ์เหล่านี้หน้าจอ และไม่ใช่เพียงแต่นั่งดูเฉยๆ เท่านั้น แต่ยังมีอารมณ์ร่วม ความรู้สึกร่วม และการวิพากษ์วิจารณ์

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นกระแสข่าวต่างๆ ที่ออกมา ความขัดแย้งทางอารมณ์ที่เมื่อทราบว่าพบทีมหมูป่าทั้งหมดแล้ว ก็เฝ้าคอยอยากจะให้ทีมหมูป่าทั้งหมดกลับออกมาอย่างปลอดภัย นอกจากนี้แล้วยังมีความขัดแย้งระหว่างคนกับธรรมชาติ การต่อสู้เพื่อเอาตัวรอดของคนท่ามกลางธรรมชาติ มีปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ ไม่ว่าจะเป็นระดับน้ำ น้ำฝน ฯลฯ หรือแม้แต่ในมุมมองของคนที่จะเข้าไปช่วย ก็อาจมีความขัดแย้งในใจ ทั้งแง่ของความปลอดภัยและความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น

“ที่นี้ก็จะพูดถึงเรื่องของแรงจูงใจที่จะเอาชนะ มี passion ที่ต้องการจะช่วยเหลือคนทั้งหมดออกมาให้ได้ รวมทั้งการมีเป้าหมายเดียวกัน ภายใต้เงื่อนไขเวลาที่จำกัด นอกจากนี้จะมีเรื่องของความเป็นสากลเข้ามาเกี่ยวข้อง ผ่านความสัมพันธ์ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นในฐานะครู พ่อแม่ หรือในฐานะเด็กที่เล่นกีฬา ก็จะนำมาซึ่งความรู้สึกร่วมกัน”

ถ้ำหลวง
กัญญา วัฒนกุล

ความเชื่อ ณ ถ้ำหลวง

คติชนวิทยาเป็นศาสตร์สาขาหนึ่งที่ทำการศึกษาข้อมูลทางวัฒนธรรมของมนุษย์ที่มีการสืบทอดมายาวนาน ทั้งในสังคมเมืองและสังคมชนบท ผ่านตำนาน นิทาน เรื่องเล่าท้องถิ่น กัญญา วัฒนกุล อาจารย์ประจำศูนย์ไทยศึกษา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ศึกษาด้านคติชนวิทยา ได้สะท้อนมุมมองปรากฏการณ์ถ้ำหลวงไว้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นตลอดการช่วยเหลือในเหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นถึงมุมมองทางคติชนที่น่าสนใจมากๆ หนึ่งคือการรื้อฟื้นตำนานประจำถิ่นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ประการที่สองคือการสร้างเรื่องเล่าขึ้นมาใหม่ เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับความลี้ลับ เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ธรรมชาติ

“ประการที่สามคือเราจะเห็นว่ามีการประกอบพิธีกรรมมากมาย โดยมีความหวังว่าพิธีกรรมเหล่านี้จะช่วยชีวิตทีมหมูป่าทั้ง 13 คนได้ ซึ่งน่าสนใจในมิติของการนำคติชนเหล่านี้มาใช้ภายใต้บริบทของสังคมไทย 4.0 ที่เชื่อมั่นในประสิทธิภาพของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างมาก ดังนั้นจึงเป็นคำตอบคำถามที่ว่า ทำไมปรากฏการณ์ถ้ำหลวงจึงเป็นการปะทะประสานกันระหว่างพิธีกรรมของเก่ากับของใหม่ เป็นการตอบคำถามว่าการนำแนวคิดคติชนหรือความเชื่อดั้งเดิมมาใช้ในยุคสมัยใหม่อย่างไร ขมวดปมด้วยการตีโจทย์ว่า สุดท้ายแล้วความเชื่อดั้งเดิมเหล่านี้ยังคงมีความหมาย ยังมีบทบาทและคุณค่าอยู่หรือไม่ในสังคมที่เราเชื่อในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี”

ปรากฏการณ์เหล่านี้จะเชื่อมกันด้วยคำสองคำ นั่นคือคำว่า ‘คลุมเครือ’ คำที่สองก็คือ ‘ควบคุมไม่ได้’ คำว่าคลุมเครือ กัญญาอธิบายว่า หากพิจารณาพื้นที่ถ้ำหลวง ทั้งในแง่ของภูมิศาสตร์และในแง่ของการตั้งรกรากของกลุ่มชาติพันธุ์โบราณ เราจะรู้ได้ว่าพื้นที่ถ้ำหลวงเป็นพื้นที่ที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่ลึกลับทับซ้อน และมันไม่เคยอยู่ในพื้นที่การควบคุมและทางสัญจรของมนุษย์ เป็นพื้นที่ชายขอบ ปลอดจากอารยธรรมและวัฒนธรรมของมนุษย์ ส่วนคีย์เวิร์ดที่สองก็คือ ‘ควบคุมไม่ได้’ เพราะพื้นที่ถ้ำหลวงมีปัจจัยที่ควบคุมหรือคาดเดาไม่ได้เต็มไปหมด

แน่นอนว่าเรามีเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ เรามีทีมแพทย์คอยช่วยเหลือ แต่ปัจจัยหลายหลายอย่างทำให้เราไม่สามารถการันตีได้ว่าอุปกรณ์เหล่านี้จะสามารถช่วยชีวิตเด็กเหล่านี้ออกมาจากถ้ำได้ ซึ่งการควบคุมไม่ได้เหล่านี้ จึงทำให้พิธีกรรมความเชื่อเข้ามามีบทบาท

ถ้ำหลวง

ภูมิศาสตร์ของความเชื่อ

ปัจจัยต่อมา คือปัจจัยของถ้ำหลวงในด้านภูมิศาสตร์ ซึ่งกัญญาอธิบายว่า ส่วนที่เป็นเหมือนหน้าผู้หญิงจะเรียกว่า ‘ดอยจ้อง’ ส่วนตรงกลางที่เป็นเหมือนยอดอกจะเรียกว่า ‘ดอยย่าเข้า’ ส่วนที่เป็นท้องป่องขึ้นมาจะเรียกว่า ‘ดอยตุง’ ทั้งสามยอดเขาเรียงกันเรียกว่า ‘ดอยนางนอน’ ซึ่งบริเวณของถ้ำทางทิศเหนือของถ้ำจะจรดอยู่ที่ดอยจ้อง ทิศใต้จะจรดอยู่กับดอยย่าเข้า ซึ่งเมื่อพิจารณาจากภูมิศาสตร์ของดอยนางนอนจะพบว่าเป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะกับการตั้งชุมชนมนุษย์ เพราะเป็นพื้นที่ปิด

“ที่นี้เราจะมาดูกันว่าในบริเวณพื้นที่ดังกล่าวมีเรื่องเล่าหรือตำนานอะไรที่เกี่ยวข้องบ้าง เมื่อเปรียบเทียบเรื่องเล่าในบริเวณดอยตุงและดอยนางนอน พบว่าบริเวณดอยตุงจะพูดถึงตำนานที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอารยธรรมหรือวัฒนธรรมมนุษย์ ในขณะที่ตำนานของถ้ำนางนอนจะพูดถึงในลักษณะเดียวกันว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มนุษย์ไม่ควรเข้าไปยุ่มย่าม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นพื้นที่ชายขอบที่หลุดจากการจัดการหรือความเข้าใจของมนุษย์ คล้ายว่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เข้ามาทับซ้อนกับโลกของเรา”

ในส่วนของดอยตุง กัญญาบอกว่าตำนานที่เกี่ยวข้องหนีไม่พ้นตำนานของ ‘ปู่เจ้าลาวจก’ อันเป็นตำนานเริ่มต้นของอารยธรรมเชียงราย อธิบายของการเริ่มต้นอารยธรรมมนุษย์ในบริเวณรอบดอยตุง’ ตำนานเล่าเกี่ยวกับการเลือกเทพบุตรลงมาสร้างสันติให้โลกมนุษย์ อันเชิญลาวจักรราชลงมาผ่านบันไดเงินและบริวารอีก 1,000 คน ซึ่งคือบริเวณดอยตุง ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นพื้นที่หนึ่งของอาณาจักรโบราณชื่อว่า ‘หิรัญนครเงินยางเชียงแสน’ คำว่าเงินยางก็แปลว่าบันไดเงินนั่นเอง

“สุจิตต์ วงษ์เทศ ให้ความเห็นว่า กลุ่มคนเหล่านี้คือกลุ่มชาติพันธุ์ง้วน ชุมชนเผ่าง้วนได้มาปฏิสัมพันธ์กับชนเผ่าที่อยู่รอบข้าง นั่นก็คือชนเผ่าโยนก (ยวน) ซึ่งมีตำนานที่เล่าถึงกำเนิดอารยธรรมของตัวเองเช่นกัน ตำนานเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีพญานาคเข้ามาเกี่ยวข้อง

ตำนานเหล่านี้มีจุดร่วมร่วมกันอยู่ก็คือการกำเนิดอารยธรรมผ่านการที่มนุษย์เข้าไปบุกเบิกและใช้สอยพื้นที่ในธรรมชาติ ความช่วยเหลือของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าทำไมตำนานการตั้งรกรากของผู้คนจึงกระจุกกันอยู่ที่ดอยตุง

ขณะที่ในส่วนของตำนานของถ้ำนางนอนนั้น กัญญาเล่าว่า เป็นตำนานที่พูดถึงเจ้าหญิงเชื้อสายไทลื้อที่มีความรักกับหนุ่มเลี้ยงม้า และเกิดโศกนาฏกรรมระหว่างการหนีตามกันมา ทำให้เกิดเป็นเทือกเขานางนอน

อีกตำนานหนึ่งคือการทะเลาะกันระหว่างพญานาคกับพญาครุฑ ตำนานเล่าว่าพญาครุฑลักพาตัวลูกสาวพญานาคมาซ่อนไว้ในถ้ำ และพญานาคชำแรกแผ่นดินขึ้นมายังจุดที่เป็นถ้ำนางนอนพอดี และจุดที่ลูกสาวนอนอยู่ก็กลายเป็นตาน้ำธรรมชาติ ซึ่งพญาครุฑเรียกร้องให้เอาสมบัติมาแลก เมื่อพญานาคได้ลูกสาวคืน ร่างของพญาครุฑก็กลายเป็นดอยเล็กๆ ดอยหนึ่งในบริเวณนั้น

และอีกตำนานหนึ่งเป็นเรื่องของเจ้าหญิงพุกามที่กรีฑาทัพเพื่อตามหาชายคนรัก ซึ่งพบว่าชายคนรักไปรักกับเจ้าหญิงเมืองอื่นเสียแล้ว นางจึงตรอมใจตายและทอดตัวเป็นเทือกเขานางนอน น้ำตาที่ไหลก็กลายเป็นแม่น้ำ และทหารที่กรีฑาทัพมาด้วยกันก็กลายเป็นชาติพันธุ์ต่างๆ

“อย่างไรก็ตาม การเรียกชื่อถ้ำนางนอนนั้นเกิดขึ้นในสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา ที่สยามกรีฑาทัพไปที่เชียงตุง ซึ่งพบว่าลักษณะของถ้ำดังกล่าวคล้ายกับผู้หญิงนอน จึงเรียกว่า ‘ดอยนางนอน’

ประเด็นสำคัญก็คือ ถ้ำนี้ไม่ใช่พื้นที่ที่มนุษย์จะเข้าไปควบคุมหรือจัดการได้ มันไม่ใช่บริเวณที่มนุษย์จะเข้าไปยุ่มย่าม และด้วยพื้นที่ที่ไม่เป็นมิตรต่อมนุษย์เหล่านี้เองที่ดึงดูดพิธีกรรมและความเชื่อเหนือธรรมชาติต่างๆ มากมายเข้ามา

ถ้ำหลวง

ธรรมชาติในความควบคุมของมนุษย์

ตรีศิลป์มองสืบเนื่องจากประเด็นของกัญญาในส่วนของคติชนและพื้นที่ว่าแง่มุมหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือมนุษย์มักมองธรรมชาติในแง่มุม friendly แต่ถ้ามองในแง่ของ eco เมื่อมนุษย์ควบคุมธรรมชาติไม่ได้ มนุษย์จึงพยายามสถาปนาฮีโร่ขึ้นมา ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าด้านหนึ่งเป็นสัญญะของการต่อสู้ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ

“มาถึงตรงนี้เราจะเห็นอีกมิติหนึ่งว่า กระบวนการของการเรียนรู้ความรู้และความจริง กระบวนการของการบริหารจัดการน้ำที่เขาใช้มีทั้งกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัย นักวิชาการจากต่างประเทศชั้นเลิศ พยายามที่จะเบี่ยงทางน้ำ พยายามที่จะสูบน้ำ เราได้ยินครั้งแรก ธนาคารน้ำ อันนี้คือภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งเราจะเห็นว่ามนุษย์ตัวเล็กตัวน้อยช่วยกันหมดเลยเพื่อที่จะเอาชนะธรรมชาติ อันนี้น่าสนใจนะ เพราะมันสะท้อนให้เห็นว่ามนุษย์พยายามจะใช้ทุกวิถีทางเพื่อให้เด็กกลุ่มนี้มีชีวิตรอด ซึ่งเราจะเห็นว่าพื้นที่ตรงนั้นเป็นสัญญะของการต่อสู้ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ”

พื้นที่ชายขอบทางชาติพันธุ์

นอกจากสัญลักษณ์ของการต่อสู้ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติแล้ว ตรีศิลป์ยังมองว่าถ้ำหลวงนางนอนยังเป็นพื้นที่ของหลากหลายทางชาติพันธุ์และชายขอบมาแต่โบราณกาล และด้วยการที่เป็นพื้นที่ชายขอบนี่เอง อำนาจของรัฐส่วนกลางในการควบคุมพื้นที่ถ้ำหลวงจึงเบาบางลงไปด้วย ทำให้เป็นพื้นที่เปิดสำหรับคนชายขอบ และเปิดพื้นที่ของความเป็นไทยให้หลากหลายมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

ถึงเวลาหรือยังที่ภาครัฐจะต้องมาดูว่าเยาวชนที่เกิดบนแผ่นดินไทย หรือเยาวชนที่เขาอาจจะเป็นคนที่อาศัยอยู่ในเมืองไทย ภาครัฐจะทำยังไง เหตุการณ์นี้ทำให้เห็นว่าคนเหล่านั้นมีศักยภาพ วิดีโอนักดำน้ำที่พบครั้งแรก อันนั้นมันยิ่งกว่าการโฆษณาใดๆ ของ ททท. เลย เด็กแต๊งกิ้วคำแรก เป็นตัวแทนสังคมไทย หรือจะสัญชาติอะไรก็เถอะ อยู่บนผืนแผ่นดินไทยพูดว่าขอบคุณแล้วขอบคุณอีก เขาจะไปแล้วยังอุตส่าห์ถามว่าเขามาจากชาติอะไร และคนเดียวที่ว่านี้คือคนไม่มีสัญชาตินี่แหละ นี่คือโมเดลของการศึกษาไทย มันต้องอยู่ในโลกที่สื่อสารกับเขาได้ ในยุค 4.0 นี่เป็นภาพแทนอะไรหลายๆ อย่างเลย แค่วิดีโออันนั้นอันเดียวมันได้ใจคนทั้งโลกเลย

โศกนาฏกรรมของเรื่องเล่า

ในส่วนต่อมา ดังกมลมองประเด็นปรากฏการณ์ถ้ำหลวงผ่านมุมมองบทภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จในระดับโลกนั้นประกอบไปด้วยองค์ประกอบทั้งหมดหกข้อ

  1. เป็นเรื่องจริง
  2. มีความเป็นมหากาพย์
  3. ตัวละครดึงดูดใจเรา
  4. มีความขัดแย้งที่กระทบใจ
  5. มีผู้ชมในอุดมคติ
  6. มีบทเรียน

“แค่ชื่อก็ตื่นเต้นแล้ว แถมชื่อขุนน้ำนางนอนก็ยาวมาก แล้วข้อจำกัดก็คือน้ำมันท่วม เราเห็นพระเอกแล้วว่าคือใครบ้าง เราเห็นแล้วว่าสถานที่ที่จะไปมันค่อนข้างยาก เราเห็น mission ที่เป็น mission impossible – เป็นไปไม่ได้ เกิดขึ้นได้ยากมาก แต่ว่ามันไม่ใช่หนังแอ็คชั่น มันเป็นความจริง มันเป็นความเป็นความตายของคน”

นอกจากตัวเรื่องแล้ว ดังกมลยังมองในส่วนของฉากและผู้คนที่เกี่ยวข้องกับผู้คนจำนวนมาก ฉากอันยิ่งใหญ่คือภูเขาทั้งภูเขา ถ้ำทั้งถ้ำ แล้วใช้เงินทุนมหาศาล มาจากประเทศต่างๆ ทั้งทหาร ตำรวจ จิตอาสา ต่างเป็นตัวละครที่ดึงดูดใจเราทำให้เรามีส่วนร่วมกับเหตุการณ์ในครั้งนี้ เราเห็นจดหมายที่ลูกเขียนกลับไปถึงพ่อแม่ เราเห็นความผูกพันที่ทำให้รู้สึกผูกพันกับเด็กๆ เหล่านี้มากยิ่งขึ้น

บรรดาฮีโร่ทั้งหลายไม่มีใครบอกว่าเขาเป็นฮีโร่ เพียงแต่ความสามารถพิเศษของเขามันเหมาะกับงานนี้เท่านั้นเอง

ความขัดแย้งที่ดลใจทั้งโลก

ความขัดแย้งโดยทั่วไปแบ่งออกเป็นความขัดแย้งในตัวเอง ความขัดแย้งในใจ ความขัดแย้งกับสภาพแวดล้อม และความขัดแย้งต่อบุคคล ความขัดแย้งที่ทำให้สถานการณ์ที่ถ้ำหลวงกลายเป็นที่จับตาของคนทั้งโลกในมุมของดังกมลคือ ความขัดแย้งต่อธรรมชาติ ความขัดแย้งที่มนุษย์จะต้องต่อสู้กับสภาพน้ำท่วมในถ้ำไปพร้อมๆ กับการเร่งพาเด็กๆ ออกมาจากถ้ำให้เร็วที่สุด

นอกจากนี้ในส่วนของโศกนาฏกรรมจากการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ยังเป็นอีกมุมในแง่ของละครที่ขับเน้นให้สถานการณ์ถ้ำหลวงก่อให้เกิดการติดตามมากยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดการเอาใจช่วยตัวละครหรือเด็กๆ รวมถึงโค้ชทั้ง 13 ชีวิตมากยิ่งขึ้น เรียกได้ว่าประชาชนทั้งในเมืองไทยและทั่วโลกต่างกลายเป็นผู้ชมในอุดมคติตามละครโศกนาฏกรรมไปโดยไม่รู้ตัว

ไม่เพียงเท่านี้ เหตุการณ์หรือปรากฏการณ์ยังทำให้เกิดบทเรียนที่ว่า ‘เป็นไปไม่ได้’ นั้นสามารถเป็นไปได้ สถานการณ์ที่ถ้ำหลวงก้าวข้ามพรมแดนในทุกๆ เรื่อง กลายเป็นเรื่องที่คนทั้งโลกเอาใจช่วยเหลือ

แต่ว่าเรื่องนี้มันไม่ใช่การ์ตูนดีสนีย์ เพราะว่ามันมีเรื่องของการสูญเสียเกิดขึ้น

ถ้ำหลวง

บทบาทเหนือธรรมชาติในยุค 4.0

ในมุมของคติชน กัญญามองวิกฤตการณ์ถ้ำหลวงเป็นเรื่องของการประจวบเหมาะของสถานการณ์ที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ เรียกได้ว่าเป็นความมหัศจรรย์เรื่องหนึ่ง เพราะมีความบังเอิญเยอะเกินไป เยอะเกินไปจนไม่สามารถนำเอาทฤษฎีเรื่องความบังเอิญมาอธิบายได้อีกแล้ว

“ตัวอย่างที่ชัดเจนคือเรื่องของ ครูบาบุญชุ่ม ณ วินาทีนี้หากเราพูดถึงมิติในเรื่องความเชื่อ ไม่พูดถึงครูบาบุญชุ่มไม่ได้เด็ดขาด ทุกคนคงรู้แบ็คกราวด์ของเรื่องนี้มาแล้วว่าเชฟสาวท่านหนึ่งฝันว่าเจ้าแม่นางนอนมาเข้าฝัน แล้วก็บอกว่าเรารอครูบาบุญชุ่มมาโปรดเท่านั้น แล้วก็บังเอิญว่าครูบาบุญชุ่มที่ฝันเป็นพระภิกษุที่มีตัวตนอยู่จริง ครูบาบุญชุ่มเดินทางมาจริงๆ มาทำพิธีจริงๆ บอกว่าจะเจอเด็กในสองวัน แล้วก็เป็นไปตามนั้นจริงๆ

ไม่ได้พยายามจะบอกนะคะว่าสิ่งลี้ลับมีอยู่จริง แต่ต้องการจะบอกว่านี่เป็นความประจวบเหมาะของสถานการณ์ที่มันไม่น่าจะเป็นไปได้ตามหลักเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ แต่มันเกิดขึ้นจริงแล้ว และมันมีประจักษ์พยานยืนยันทุกอย่างที่เกิดขึ้น แล้วในสถานการณ์ที่ประจวบเหมาะแบบนี้แหละที่ความเชื่อเหนือธรรมชาติเข้ามาอธิบาย

ทั้งนี้กัญญามองว่าเหตุผลที่ทำให้เรื่องครูบาบุญชุ่มมีน้ำหนักของความเชื่อจริงๆ เพราะมีตำนานเรื่องเจ้าแม่นางนอนเป็นฐานรองรับคติความเชื่อของผู้คน ซึ่งนำไปสู่ประเด็นเรื่องยุค 4.0 ที่กัญญามองในเรื่องวิทยาศาสตร์เป็นผลพวงจากสติปัญญาของมนุษย์ แต่เรื่องเหนือธรรมชาติเป็นเรื่องที่อยู่เกินความเข้าใจของมนุษย์ หรือเกินสติปัญญา ทำให้มนุษย์จัดการกับความเชื่อตรงนี้ไม่ได้ เพราะไม่อาจเข้าใจสิ่งที่อยู่นอกเหนือสติปัญญาตนเอง ความเชื่อหรือพิธีกรรมเหนือธรรมชาติจึงยังคงดำรงอยู่ต่อไป

“มันไม่ได้เกี่ยวกับความไร้การศึกษา หรือความล้าหลัง หรือความงมงายของบุคคลไปเสียทั้งหมด และวิกฤติถ้ำหลวงมันมีปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้หลายอย่างมาก เช่น เจอเด็กแล้วก็จริง แต่ถ้าน้ำไม่ลด ฝนไม่หยุดตก หรือเครื่องปั๊มน้ำหัวพญานาคมาปิดตัว ถ้าธรรมชาติไม่อำนวย ช่วยไม่ได้ ใช่ไหมคะ

ดังนั้น ในโลกของเรามันมีปัจจัยที่อยู่นอกเหนือมนุษย์ตัวเล็กๆ อย่างเราเต็มไปหมด ดังนั้น การใช้พิธีกรรมเหนือธรรมชาติมันจึงเกิดจากโลกทัศน์ที่ตระหนักว่ามนุษย์เราและวิทยาศาสตร์มันไปไม่ถึงทุกอย่างบนโลกนี้ และสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติ ถ้าพูดกันตามวัฒนธรรม มันเป็นตัวแทนของปัจจัยภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้ทั้งหมด

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า