3 ปีรัฐประหารซิมบับเว จากเซลฟี่กับรถถัง สู่การถูกรัฐบาลไล่ล่า

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน ปี 2017 หลังจากเรียนหนังสือเสร็จ ระหว่างที่ผมและเพื่อนชาวซิมบับเวที่เดินทางมาเรียนที่ประเทศอังกฤษ กำลังพากันเดินออกจากห้องเรียน โทรศัพท์มือถือของเบอร์นาร์ด เพื่อนคนหนึ่งของพวกเราก็แจ้งข้อความข่าวขึ้นมาว่า ไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมานั้นรัฐบาลเผด็จการซิมบับเวของ โรเบิร์ต มูกาเบ (Robert Mugabe) ได้ถูกทหาร (Zimbabwe Defense Forces) นำกำลังพลเข้ามาปิดล้อมเมือง ยึดสถานีกระจายเสียงแล้วพยายามจะทำการรัฐประหาร

โรเบิร์ต มูกาเบ (Robert Mugabe)

เซลฟี่กับรถถัง

คนที่พยายามจะยึดอำนาจนั้นก็ไม่ใช่ใครอื่น พลเอกคอนสแตนติโน ชิวองกา (Constantino Chiwenga) คนใกล้ชิดของมูกาเบเอง เบอร์นาร์ดมีอาการกระโดดโลดเต้น ดีใจ และยิ้มหน้าระรื่นอย่างเปิดเผยในทันทีเมื่อทราบข่าวนั้น พร้อมกับบอกว่า “คนซิมบับเวรอเวลานี้มานานแล้วโว้ย ขอบคุณทหารที่ออกมา พวกเราเบื่อกับรัฐบาลมูกาเบเต็มทน”

ด้วยความฉงนใจจึงถามไปว่าทำไมคนซิมบับเวถึงยินดีกับการรัฐประหารยึดอำนาจของกองทัพขนาดนั้น คำตอบที่ได้ไม่ใช่เรื่องที่เดาได้ยากนัก เหตุผลเบื้องหลังความปลาบปลื้มเหล่านั้นก็คือ เรื่องการคอร์รัปชันและการเอารัดเอาเปรียบประชาชนในแวดวงกลุ่มชนชั้นนำของซิมบับเวนั้นเอง

รัฐบาลมูกาเบขึ้นชื่อเรื่องความไม่โปร่งใสเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ทั้งการก่อความรุนแรงโดยรัฐ การคุกคามสิทธิมนุษยชน และคดีไม่โปร่งใสต่างๆ เมื่อมีการรัฐประหารเกิดขึ้น ไม่ใช่แค่เบอร์นาร์ดเท่านั้นที่แสดงอาการจนออกนอกหน้า แต่เมื่อเห็นรถถังและรถหุ้มเกราะ ผู้คนในเมืองหลวงของซิมบับเวต่างก็รู้ว่า กำลังจะมีการรัฐประหาร แต่ก็แห่กันออกมาบนถนน กู่ร้องตะโกนให้กำลังใจทหารและกองทัพกันอย่างชื่นมื่น บ้างก็ออกมาร้องเพลง เต้นรำกันบนถนนระหว่างที่มีปฏิบัติการยึดอำนาจ บ้างก็ออกมาถ่ายรูปเซลฟี่กับรถถัง

เพื่อไม่ให้เกิดจังหวะสุญญากาศในบทสนทนา เพื่อนชาวซิมบับเวเหล่านั้นก็รีบอธิบายเสริมอย่างรวดเร็วถึงปรากฏการณ์ในซิมบับเวขณะนั้นว่า

ทหารที่ออกมานี้เป็นพวกเดียวกับประชาชน พวกเขามาเพื่อช่วยเหลือประชาชน มาแป๊บเดียวเดี๋ยวเขาก็ไปแล้วเปิดให้เลือกตั้งแบบประชาธิปไตย สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้คือรัฐประหารน้ำดี ไม่มีอะไรน่ากลัว

อย่างน้อยก็ในสายตาของพวกเขา ด้วยความเชื่อดังกล่าวบวกกับท่าทีการมาของคณะรัฐประหารชุดนั้นไม่ได้มีการกระทำใดร้ายแรง เพราะหลังจากวันที่เกิดการรัฐประหาร มูกาเบก็ยังใช้ชีวิตปกติ ออกสื่อไปแจกใบปริญญาบัตรแก่นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยในตัวเมืองอยู่เลย และกว่าจะมีการเปลี่ยนถ่ายอำนาจจากรัฐบาลเก่าของมูกาเบ สู่รัฐบาลใหม่ของ เอ็มเมอร์สัน เอ็มนันแกกวา (Emmerson Mnangagwa) ก็กินเวลาไปเกือบ 1 สัปดาห์ จึงเป็นสาเหตุประการหลักที่ทำให้ประชาชนชาวซิมบับเวแสดงอาการปลื้มปีติและไม่มีท่าทีหวาดกลัวในการปรากฏตัวของเหล่าทหารในช่วงวันแรกๆ ของการรัฐประหารอย่างสนิทใจ (หรือจะเรียกว่าเป็นผลมาจากความอัดอั้นและความเกลียดชังที่มีต่อตัวมูกาเบล้วนๆ เลยก็คงเป็นได้)

ละครฉากหนึ่ง

ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การรัฐประหารครั้งนี้ก็เหมือนเป็นละครฉากหนึ่งบนเวทีการเมืองของซิมบับเว ไม่ได้มีอะไรใหม่ ไม่ได้มีแผนจะสร้างความเปลี่ยนแปลงใด เพราะรัฐบาลใหม่ที่ขึ้นมาบริหารก็คือส่วนหนึ่งของกลุ่มอำนาจเก่าภายในพรรค ZANU-PF (Zimbabwe African National Union – Patriotic Front) พูดให้เข้าใจง่ายที่สุดก็คือ การรัฐประหารครั้งนี้เป็นแค่วิธีการจัดการความขัดแย้งภายในของกลุ่มชนชั้นนำ 2 กลุ่ม ระหว่างกลุ่ม Team Lacoste ของเอ็มนันแกกวา นักการเมืองคนสนิทของมูกาเบ และกลุ่ม G40 (Generation 40) ของ เกรซ มูกาเบ (Grace Mugabe) ภรรยาของมูกาเบ ที่มีความไม่ลงรอยกันในเรื่องการสืบทอดอำนาจทางการเมืองซิมบับเวต่อจากมูกาเบเท่านั้น

ฝั่งของนางเกรซนั้นเป็นฝั่งที่พยายามจะตั้งตัวเป็นผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงปฏิรูป ในขณะที่ฝั่งของเอ็มนันแกกวา คือตัวแทนของกลุ่มอำนาจเก่าฝ่ายกองทัพที่กังวลว่าหากเกรซสามารถขึ้นเป็นผู้สืบทอดอำนาจโดยตรงต่อจากมูกาเบได้สำเร็จเมื่อไร อาจหันหน้ามาเป็นปฏิปักษ์กับชนชั้นนำฝ่ายทหารอย่างเอ็มนันแกกวา และ Team Lacoste แบบเต็มตัวเอาได้ (สัญญาณการปะทุของความขัดแย้งดังกล่าวมีปรากฏให้เห็นมาก่อนหน้านั้นร่วมเดือนอยู่แล้ว ตั้งแต่การปราศรัยโจมตีป้ายสีซึ่งกันและกัน ระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย จนมาถึงเหตุที่ เอ็มนันแกกวา ถูกเนรเทศออกจากตำแหน่งรองประธานาธิบดีอันเป็นชนวนเหตุนำไปสู่การตัดสินใจลงมือรัฐประหารยึดอำนาจโดยผู้สนับสนุนของกลุ่ม Team Lacoste ในที่สุด)

หลังการเปลี่ยนถ่ายสู่ขั้วอำนาจใหม่ นอกเหนือไปจากการเปลี่ยนแปลงภายในพรรค ZANU-PF ด้วยการเนรเทศขั้ว G40 ของ เกรซ มูกาเบ ออกไปจากพรรคที่ปรากฏให้เห็นเป็นประจักษ์แล้ว สภาพพื้นฐานทางการเมืองของซิมบับเวภายในเงื้อมมือของรัฐบาลเอ็มนันแกกวา ตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมานั้นก็แทบไม่ได้มีแนวโน้มถึงการเปลี่ยนแปลงไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้นเลยแม้แต่น้อย (ทั้งๆ ที่เอ็มนันแกกวาเคยให้สัญญาไว้ว่าจะนำการปฏิรูปมาสู่ซิมบับเวภายหลังการผลัดแผ่นดิน)

เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน

คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ของซิมบับเวหลังรัฐประหารก็ยังเป็นการสลับเวียนตำแหน่งเก้าอี้รัฐมนตรีของคนกลุ่มเดิม คือ อดีตคนใกล้ชิดของทั้งมูกาเบ และเอ็มนันแกกวา จาก Team Lacoste การจัดเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2018 ที่ถือเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษที่ไม่มีมูกาเบอยู่ในสนามการเมือง และมีการเชิญชวนผู้สังเกตการณ์จากฝ่ายการทูต และสื่อมวลชนของต่างประเทศเข้ามาเป็นพยานเป็นจำนวนมาก ก็เป็นแค่การจัดฉากสร้างความชอบธรรมของชนชั้นนำภายในพรรค ZANU-PF การเลือกตั้งก็ยังคงมีการฉ้อโกงบัตรเลือกตั้งกันอยู่ สุดท้าย เอ็มนันแกกวาก็ยังชนะเลือกตั้งได้บัตรผ่านกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเต็มตัว

มิหนำซ้ำพอทางผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคฝ่ายค้านอย่าง MDC (Movement for Democratic Change) พยายามจะยื่นเรื่องฟ้องร้องศาลรัฐธรรมนูญเพื่อคัดค้านผลเลือกตั้งที่มีรูรั่วครั้งนั้น ผลที่ได้กลับกลายเป็นว่าศาลรัฐธรรมนูญยกฟ้องคดีนั้นแล้วประกาศให้เอ็มนันแกกวาสามารถขึ้นครองอำนาจประธานาธิบดีได้อย่างเป็นมติเอกฉันท์ พอพรรคฝ่ายค้านและกลุ่มมวลชนผู้สนับสนุนจะนัดดาหน้าพากันลงไปประท้วงกันบนถนนหลังไม่พอใจในผลเลือกตั้งปี 2018 ทางรัฐบาลซิมบับเวก็สั่งให้ตำรวจออกมาขัดขวางการชุมนุม แล้วไล่เอาไม้กระบองทุบตีชาวบ้านทุกคนที่พยายามจะรวมตัวกันกลางเมืองหลวง โดยอ้างว่าเป็นการป้องกันตัว เพราะมีชาวบ้านหลายคนที่พยายามจะต่อสู้กับตำรวจ

และเมื่อประชาชนแสดงออกว่าจะไม่ยอมแยกย้ายกันกลับที่พักอาศัยตามคำเตือน รัฐบาลจึงขยับไปใช้กำลังทหารนำกระสุนจริง และแก๊สน้ำตาออกมาใช้สลายการชุมนุม มีผู้เสียชีวิตไป 7 คน และถูกลักพาตัวไปอีก 6 คน ส่วนคนอื่นๆ ถูกตำรวจรวบตัวจับไปขัง ซึ่งผิดกับกรณีของกลุ่มผู้ชุมนุมและม็อบที่สนับสนุนฝั่งรัฐบาลเอามากๆ ในขณะที่ม็อบต่อต้านรัฐบาลได้รับกระสุนและความรุนแรงเป็นของกำนัล สิ่งที่ม็อบสนับสนุนรัฐบาลได้รับนั้นกลับกลายเป็นอาหารและเครื่องดื่มคอยอำนวยความสะดวกอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะไก่ทอด มันฝรั่งทอด และเครื่องดื่ม

ถือเป็นการตอกประตูฝาโลงแก่ชาวซิมบับเวหลายคนที่เคยวาดภาพฝันไว้ว่าการรัฐประหารของกองทัพนำโดย พลเอกคอนสแตนติโน ชิวองกา จะนำพาพลังของการเปลี่ยนแปลงมาสู่ประเทศไปสิ้นเชิง ไม่ว่าจะการปรับตัวสู่สังคมประชาธิปไตย หรือสิทธิ เสรีภาพการแสดงออกทางการเมืองภายในซิมบับเวนั้น ทุกอย่างจะยังคงอยู่ในสถานะถูกแช่แข็งเอาไว้ ไม่ต่างจากสภาพความเป็นไปที่เคยเกิดขึ้นเมื่อครั้งที่อยู่ภายใต้การนำของมูกาเบ โ

สิ่งที่แย่กว่าเดิมก็คือคุณภาพชีวิตของประชาชนทั่วไปที่จะต้องประสบกับทั้งปัญหาภัยแล้ง พายุไซโคลน ไม่มีพืชผลให้เก็บเกี่ยว ภาวะขาดแคลนอาหาร และสิ่งอุปโภคบริโภคมีราคาแพงขึ้น (ราคาน้ำมันขึ้นมาเป็นลิตรละ 3 ดอลลาร์) รวมไปถึงสิทธิการแสดงออกทางการเมืองของคนที่เป็นนักวิชาการ นักเคลื่อนไหว นักกิจกรรมทางการเมือง และนักศึกษามหาวิทยาลัยทั้งหลายที่กำลังตกเป็นเป้าของปากกระบอกปืนมากยิ่งขึ้น

เอ็มนันแกกวา มีความกังวลและระแวงในฐานอำนาจของตัวเองมากขึ้นเป็นพิเศษ ทำให้นโยบายทางการเมืองของระบอบเอ็มนันแกกวา และ Team Lacoste ของเขามีลักษณะที่เอนไปในเชิงรุกค่อนข้างมาก และชัดเจนขึ้นกับการตามหา-ไล่ล่าผู้มีความคิดเห็นต่างทางการเมืองในฐานะภัยคุกคามต่อระบอบ (systemic threat) โดยเกณฑ์การพิจารณานั้นจะตั้งอยู่บนฐานของแนวโน้มที่คนเหล่านั้นมี และอันตรายเชิงสถาบันที่พึงจะก่อของพวกเขาต่อตัวระบอบของเอ็มนันแกกวา

ซึ่งก็คือ ความสามารถในการปลุกปั่นประชาชนให้ออกมาประท้วงบนท้องถนน หรือระดมกลุ่มชาวบ้านให้ออกมาต่อต้านระบอบ เหตุนี้จึงทำให้ระบอบของเอ็มนันแกกวา และผู้บริหารภายในรัฐบาลของ ZANU-PF มีความกังวลต่อชนชั้นปัญญาชนควบคู่ไปกับกลุ่มคนที่สมาทานตัวเองอยู่กับพรรคฝ่ายค้านอย่างกลุ่ม MDC เป็นพิเศษ

อุ้มหายเป็นปกติ

เหตุนี้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจึงมีคดีการลักพาตัว ลอบทำร้าย ลอบสังหารเกิดขึ้นมากมายหลายครั้งในกลุ่มนักเคลื่อนไหว นักวิชาการ และนักกิจกรรมที่แลดูมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นภัย หรือก่อปัญหาให้กับระบอบเอ็มนันแกกวา ล้วนแต่จะถูกทางฝ่ายความมั่นคงขมวดให้อยู่ในกลุ่ม ‘ผู้สร้างความไม่สงบ’ และ ‘ภัยความมั่นคง’ ต้องกำจัดทิ้งทั้งสิ้น

นักกิจกรรมทางการเมืองหลายคนถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลบุกเข้าไปอุ้มถึงตัวที่พักอาศัยส่วนตัวจนหายสาบสูญไป บางคนก็ถูกอุ้มขึ้นรถตู้ขณะกำลังเดินอยู่กลางถนน บ้างก็ถูกขับไล่เนรเทศให้ต้องระหกระเหินไปตามภูมิภาคอื่นทั่วโลก ไม่ว่าจะยุโรป หรือเอเชีย เว้นแค่ภูมิภาคเดียว คือ ในอาณาบริเวณรอบๆ แอฟริกา (คนที่เคยหนีไปอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านแถบแอฟริกานั้น ส่วนใหญ่จะโดนฝ่ายข่าวกรองของประเทศนั้นจับแล้วส่งตัวกลับมาให้ทางการซิมบับเวอยู่เสมอ ตามข้อตกลงความร่วมมือทางด้านการข่าวกรองที่ซิมบับเวมีร่วมกับประเทศพันธมิตรในแถบแอฟริกา)

และในหลายครั้งรัฐบาลซิมบับเวก็ฉลาดมากพอที่จะไม่ออกหมายจับหรือตั้งข้อหาทางการเมืองใดๆ ต่อคนเหล่านี้อย่างเป็นทางการ แต่จะเลือกใช้วิธีการข่มขู่ การลอบทำร้าย และการส่งเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงบุกเข้าไปพูดคุยกับคนในครอบครัวของบุคคลเหล่านั้น เรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองที่ถูกกล่าวหาและฝักใฝ่เป็นหลัก ทำให้นักกิจกรรมทางการเมือง และนักวิชาการบางกลุ่มที่สังกัดอยู่กับ MDC อันเป็นพรรคฝ่ายค้านนั้นไม่สามารถขอสถานะผู้ลี้ภัยกับทางยุโรปได้ง่ายๆ

เพื่อนคนหนึ่งของเบอร์นาร์ดเป็นนักวิชาการ ก็ไม่สามารถขอสถานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองจากรัฐบาลอังกฤษได้ จากการที่ภาครัฐออกแบบสถานการณ์ให้ดูเหมือนว่ารัฐบาลยังไม่ได้ลงมือปฏิบัติการใดๆ อย่างเป็นทางการให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ต่อคนคนนั้น

อาจกล่าวได้ว่าสาเหตุที่เอ็มนันแกกวาค่อนข้างรอบคอบกับเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งคงเป็นผลมาจากความกังวล และความรู้สึกไม่ปลอดภัยในฐานอำนาจที่ตนเองได้ยึดมาจากกลุ่มมูกาเบ ทำให้เขาดูจะมีความระแวงกับคนที่มีแนวโน้มความเป็นไปได้ที่จะเป็นภัยต่อเขาเป็นพิเศษ

ยิ่งโดยเฉพาะกับการที่สมาชิกพรรค นักวิชาการ นักเคลื่อนไหว นักกิจกรรมทางการเมืองฝ่ายค้านจาก MDC หลายคนในปัจจุบันนี้เป็นอดีตสมาชิก ZANU-PF เก่าในปีก G40 ของ เกรซ มูกาเบ ที่ย้ายสังกัดเข้ามาเพื่อจะร่วมมือกันกับกลุ่ม MDC เดิมในการต่อต้านอิทธิพลของเอ็มนันแกกวา และบวกกับในสถานการณ์เมื่อช่วงก่อนการรัฐประหารในเดือนพฤศจิกายน ปี 2017 นั้น คนของเอ็มนันแกกวาสืบพบว่าสมาชิก นักวิชาการ และนักกิจกรรมหลายคนที่สังกัดอยู่ภายในกลุ่ม G40 ของเกรซนั้น คือคนที่พรรค MDC ส่งมาให้เป็นสายลับเพื่อสืบเรื่องราวความเป็นไป และความลับภายในฝ่ายบริหารของพรรค ZANU-PF มาตลอดตั้งแต่ประมาณปี 2013 ก็ยิ่งทำให้เอ็มนันแกกวามีท่าทีที่ไม่เป็นมิตรอย่างหนักข้อมากขึ้นต่อกลุ่มคนเหล่านี้

เอ็มเมอร์สัน เอ็มนันแกกวา (Emmerson Mnangagwa)

หลังจากก้าวขึ้นสู่อำนาจและยึดตำแหน่งบริหารมาเป็นของตัวเอง เอ็มนันแกกวาจึงเลือกที่จะกำจัดทุกความเป็นไปได้ในการต่อต้านเขาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้มาตลอดในระยะเวลาเกือบ 3 ปีที่ผ่านมานี้ ไม่ว่ากลุ่มคนเหล่านี้จะมีพื้นเพมาจากทางฝั่งพรรค MDC หรือภายใน ZANU-PF เองก็ตาม เอ็มนันแกกวามองว่าพวกเขามีโอกาสที่จะก่อตัวขึ้นมาเป็นศัตรูกับตนเองทั้งหมด การไล่ล่าจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

เบื่อลุง แต่ไล่ไม่ได้

สถานการณ์ทางการเมืองที่เรื้อรังมาตลอดกว่า 3 ปีนี้กำลังพิสูจน์ให้ประชาชนชาวซิมบับเวเห็นผ่านประสบการณ์ตรงว่า การรัฐประหารนั้นไม่ใช่ทางออก และไม่ใช่ยาวิเศษที่จะกำจัดศัตรูทางการเมืองของพวกเขา ไม่ว่าเบื้องล่าง หรือบนรากหญ้าจะรู้สึกดีใจ ปลื้มปีติที่เห็นศัตรูทางการเมือง หรือเผด็จการที่ตนเองเกลียดชังถูกขับไล่ออกจากตำแหน่งอย่างไร เมื่อย้อนกลับมาที่มุมในเบื้องบนหรือในแวดวงชนชั้นนำนั้น ก็ไม่มีอะไรพิเศษมากไปกว่าเกมการถ่ายโอนอำนาจที่เปลี่ยนมือจากชนชั้นนำกลุ่มหนึ่ง ไปสู่ชนชั้นนำอีกกลุ่มหนึ่งเท่านั้น มิพักจะต้องกล่าวถึงเสรีภาพ และอิสรภาพที่ลดลงของฝ่ายค้าน ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลภายใต้ความหวาดระแวงของผู้นำเผด็จการคนใหม่อีก ซิมบับเวในยุคหลังมูกาเบนั้นจึงแทบไม่มีอะไรใหม่ ไม่มีเศรษฐกิจที่ถูกปฏิรูป ไร้ความก้าวหน้า ไร้ความมั่งคั่ง และที่สำคัญคือไร้อนาคต แกนนำทางการเมืองถูกคุกคาม นักวิชาการ นักกิจกรรมถูกดักอุ้ม และลอบทำร้าย

แม้ความรุนแรงจะไม่ได้เกิดกับเบอร์นาร์ดโดยตรง แต่เหตุการณ์ที่เกิดกับเพื่อนของเขาก็เพียงพอทำให้เบอร์นาร์ดมองเห็นข้อเท็จจริงมากขึ้น ปัจจุบันเบอร์นาร์ดเป็นครูสอน ICT เขาเติบโตมาจากครอบครัวชาวบ้านธรรมดา เบอร์นาร์ดเป็นภาพตัวแทนของชนชั้นกลางภายในเมืองหลวงของซิมบับเว ที่ไม่ได้มีความคิดทางการเมืองซับซ้อนอันใดเป็นพิเศษ นอกจากการมีอคติ และความโกรธของตนเองเป็นแรงผลักหลักให้การรัฐประหารที่เกิดขึ้นโดยฝ่ายที่ตนคิดว่าอยู่ตรงข้ามกับมูกาเบนั้นมีความชอบธรรม ด้วยความที่พวกเขาคือผู้ที่สูญเสียผลประโยชน์โดยตรงจากอัตราเงินเฟ้อและวิกฤติเศรษฐกิจที่คั่งค้างมานานนับทศวรรษภายในซิมบับเวเหมือนๆ กัน จากที่เคยทำงานประจำกันมีเงินเดือนเลี้ยงชีพอยู่ดีๆ วันหนึ่งก็ต้องประสบกับภาวะตกงานอย่างกะทันหันทั่วประเทศ แถมเงินและทรัพย์สินของพวกเขายังกลายมาเป็นกระดาษไร้ค่าอีก

ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกเมื่อมีปรากฏการณ์ที่เปิดความเป็นไปได้ของการเปลี่ยนแปลงออกมาให้เห็น ไม่ว่าจะการรัฐประหาร หรือการแย่งชิงอำนาจขึ้นมาในสนามการเมืองอันจะทำให้ระบอบมูกาเบที่พวกเขาเกลียดชังถูกกำจัดออกไปได้ จะทำให้พวกเขาวางความคาดหวังไว้กับการรัฐประหารครั้งนี้ไปอย่างไม่ลังเล พร้อมกับเพ้อฝันถึงอนาคตในวันรุ่งขึ้นว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปเกิดขึ้น สิ่งที่พวกเขาเชื่อกันนั้นมีแค่ว่า “ไม่มีอะไรจะเสีย/ต่ำกว่านี้แล้ว” เพราะพวกเขาอยู่กันแบบย่ำแย่มานานจนชาชิน การไปตายเอาดาบหน้าด้วยการเกาะขบวนไปยินดีสนับสนุนการรัฐประหารของเอ็มนันแกกวาจึงเกิดขึ้น

เอ็มนันแกกวา คือบทเรียนชุดสำคัญที่ทำให้คนอย่างเบอร์นาร์ดที่มีอยู่มากมายในซิมบับเวนั้นรู้ตัวว่าพวกตนนั้นคิดผิดอย่างมหันต์ พวกเขาไม่เคยรับรู้ถึงภัยอันตรายที่กำลังคืบคลานมาตั้งแต่แรกเริ่มเลย พวกเขาเชื่อเพียงแค่ว่าคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มายึดอำนาจนั้นคือคนดี และ ‘ช่วย’ กำจัดคนที่พวกเขาไม่ชอบขี้หน้าออกไป โดยที่ไม่เคยนึกฝันมาก่อนว่าโลกหลังมูกาเบ จะเป็น ‘New Low’ ของซิมบับเว น้ำมันแพงขึ้น วิกฤติขาดแคลนน้ำ ขาดแคลนอาหาร ประเทศประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรงมากที่สุดในรอบหลายสิบปี ไร้หนทางแก้ไข และทางออกได้ถึงเพียงนี้

และยิ่งหนักข้อขึ้นเมื่อคนใกล้ตัวของเบอร์นาร์ด ถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของทางรัฐบาลไล่ล่าตัวจนต้องหนีออกนอกประเทศ แม้ว่าเพื่อนคนนั้นของเขาจะไม่ได้แสดงออกทางการเมืองอย่างรุนแรงก็ตาม (แค่เป็นนักวิชาการ แล้วถูกรัฐบาลตั้งแง่สงสัยว่าเคยเป็นลูกน้องเก่าของมูกาเบ และรับเงินทุนวิจัยจากรัฐบาลมูกาเบ)

ซิมบับเวกำลังเป็นอุโมงค์ที่คนมองไม่เห็นแสง ไม่มีใครรู้ได้แน่ชัดว่าพรรคฝ่ายค้านจะสามารถต่อกรกับรัฐบาลของเอ็มนันแกกวาได้อีกนานเท่าใด จนกว่าพวกเขาจะมองเห็นแสงสว่าง ณ ปลายทาง (และก็ไม่รู้ว่าจะต้องเดินไปในทิศทางใดด้วย) สิ่งที่แน่นอนมีเพียงอย่างเดียว คือระบอบเอ็มนันแกกวานั้นมีความพร้อมที่จะกำจัดคนเห็นต่างทางการเมือง และศัตรูที่จะสร้างภัยให้แก่เขาอย่างไม่ลังเล

Author

ปรีชภักดิ์ ทีคาสุข
อดีตนักวิจัยฝึกหัดจากสถาบัน Richardson ประเทศอังกฤษ สนใจในประเด็นทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ กับยุทธศาสตร์ทางด้านการทูตของจีน และไต้หวัน รวมถึงประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายต่างประเทศ มีประสบการณ์ทางด้านมานุษยวิทยาเล็กน้อย ปัจจุบันกำลังศึกษาประเด็นเกี่ยวกับโรฮิงญา และความเป็นไปทางภูมิรัฐศาสตร์ของการเมืองโลก

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า