ไชยันต์ ไชยพร: พยายามมองการเมืองไทยและอนาคตอย่างเป็นกลาง

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ
ข้อเขียนนี้ได้เตรียมขึ้นสำหรับการสนทนาภายใต้หัวข้อ ‘รัฐศาสตร์ จุฬาฯ 71 ปี กับอนาคตประเทศไทยที่ดีกว่า’ เนื่องในวันครบรอบการสถาปนา 71 ปีของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่จัดขึ้นวันที่ 16 สิงหาคม 2562 ซึ่งมีผู้ร่วมสนทนาได้แก่ ศ.ดร.สุริชัย หวันแก้ว อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ศ.ดร.ศุภชัย ยาวะประภาษ อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ และปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาครัฐประศาสนศาสตร์ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และตัวผู้เขียนจากภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี รศ.ดร.ปกรณ์ ศิริประกอบ หัวหน้าภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

ไชยันต์ ไชยพร เคยเขียนเรื่อง ‘บทวิเคราะห์สถานการณ์ ผู้นำทางการเมืองไทยปัจจุบัน: จากที่เป็นกลาง‘ ในจดหมายข่าวสังคมศาสตร์ ฉบับที่ 1-2 เดือนสิงหาคม 2530 – มกราคม 2531 ซึ่งในขณะนั้น พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กองบรรณาธิการเห็นว่า บทความทั้ง 2 ชิ้น 2 วาระ มีความสอดคล้องกันในบางประการ และมีความน่าสนใจสำหรับผู้สนใจบริบททางการเมืองไทย จึงเผยแพร่บทความของผู้เขียนคนเดียวกันเมื่อ 32 ปีที่แล้ว

ต่อหัวข้อ ‘รัฐศาสตร์ จุฬาฯ 71 ปี กับ อนาคตประเทศไทยที่ดีกว่า’ ผมไม่คิดว่า ผมคนเดียวจะสามารถตอบโจทย์อะไรที่ใหญ่โตขนาดนั้นได้ แต่คิดว่าเมื่อจับมือรวมหัวกันสี่คนหรือยิ่งหลายๆ คน น่าจะช่วยกันตอบได้ หัวข้อที่ตั้งไว้นั้นน่าจะเป็นโจทย์ใหญ่ ซึ่งในการตอบโจทย์ใหญ่ๆ ในระยะเวลาที่มีจำกัด ก็มักจะหนีไม่พ้นการตอบด้วยคำตอบใหญ่ๆ ซึ่งก็มักจะเป็นคำตอบแบบครอบจักรวาล ตอบไปแล้วก็เหมือนไม่ได้ตอบอะไร หรือไม่ก็จะเข้าข่ายตอบแบบนี้ก็ไม่มีทางผิด เพราะมันถูกวันยังค่ำ เช่น คำใหญ่คำโตประเภท โครงสร้าง และอนาคตประเทศไทยจะดีขึ้นได้ ต้องแก้ที่โครงสร้าง และไอ้โครงสร้างนี่มันก็ใหญ่โตมโหฬารมาก และโครงสร้างของเศรษฐกิจสังคมและการเมืองของประเทศหนึ่งก็ไม่ได้อยู่อย่างโดดๆ เสียด้วย มันโยงใยกับโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองโลกอย่างแยกออกจากกันยาก หรือแยกไม่ได้เลยด้วยซ้ำ โครงสร้างมันทั้งใหญ่ทั้งโต ทั้งเป็นนามธรรม ทั้งแยกยาก จึงไม่รู้ว่า ถ้าจะได้อนาคตไทยที่ดีกว่าจะต้องแก้ที่โครงสร้าง มันต้องเริ่มแก้ที่ตรงไหน?

และสาขาวิชาที่พูดถึงเรื่องโครงสร้างมากที่สุดก็หนีไม่พ้น สาขาสังคมวิทยามานุษยวิทยาของอาจารย์สุริชัย (หวันแก้ว) เพราะรัฐศาสตร์สมัยใหม่ไม่ค่อยจะมีทฤษฎีใหญ่ๆ แบบนี้ ที่เขาเรียกกันว่า Grand Theory และจะว่าไปแล้ว รัฐศาสตร์สมัยใหม่ดูจะไม่มีทฤษฎีเป็นของตัวเองเลยด้วยซ้ำ มักจะต้องไปขอยืมจากสังคมวิทยามานุษยวิทยามาใช้

อย่างเช่น สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของอาจารย์สุรชาติ (บำรุงสุข) เมื่อไปยืมทฤษฎีโครงสร้างมา ก็จะกลายเป็นเรื่องโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองโลก หรือโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งอธิบายเรื่องราวได้ดี มีเหตุมีผล น่าฟัง แต่พอถามว่าจะแก้หรือเปลี่ยนโครงสร้างได้ยังไง? ก็มักจะไม่ค่อยได้คำตอบที่แน่ชัดจับต้องได้ เวลาอธิบายการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ก็มักจะต้องใช้เวลาเป็นศตวรรษเป็นยุคสมัยกันไป

เห็นได้ชัดในทฤษฎีของมาร์กซ์ (Karl Marx) ที่โครงสร้างจะเปลี่ยนก็ต่อเมื่อองค์ประกอบต่างๆ ของโครงสร้างเดิมเสื่อมอย่างหนัก และองค์ประกอบที่จะเป็นปัจจัยของโครงสร้างใหม่เริ่มก่อตัวแข็งแกร่งพอ โดยมาร์กซ์จะใช้คำว่า “เมื่อถึงเวลาที่สุกงอมเต็มที่แล้ว” เวลามะม่วงสุก เราสังเกตได้ กำลังจะงอมก็พอรู้ แต่พอเป็นเรื่องทางสังคมเศรษฐกิจการเมือง ก็บอกยาก

ย้อนกลับไปช่วง 6 ตุลาคม 2519 ก็มีการพูดถึงสถานการณ์เศรษฐกิจสังคมการเมืองของไทยที่สุกงอมพร้อมที่จะทำให้เกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลง แต่มันก็ไม่ได้สุกงอมจริงๆ อันนี้คงต้องถามอาจารย์สุรชาติในฐานะผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ช่วงนั้น

เมื่อเมืองไทยมันปฏิวัติไม่ได้ในช่วงนั้น ปัญหาดังกล่าวก็ไม่ได้มีอยู่ที่เมืองไทยที่เดียว แต่ประเทศอื่นๆ เขาก็มีปัญหาการประเมินความสุกงอม อันนี้ สังคมมันต่างจากมะม่วง จึงไม่แน่ใจว่า จะใช้วิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ธรรมชาติมาศึกษาคาดการณ์สังคมได้จริงหรือเปล่า? นักวิชาการไทยหลัง 6 ตุลาฯ ก็ถกเถียงเรื่องสังคมสุกไม่สุก จะดูยังไง ตกลงแล้ว เราอยู่ในยุคอะไร ศักดินา ทุนนิยม หรือกึ่งศักดินากึ่งทุนนิยม หรือกึ่งทุนนิยมกึ่งเมืองขึ้น อย่างที่เอามาตีพิมพ์ลงในวารสารเศรษฐศาสตร์การเมืองของจุฬาฯ สมัยโน้น ซึ่งนักวิชาการชาติอื่นเมืองอื่นเขาก็ถกเถียงในประเด็นนี้เช่นกัน แต่ก็ยังอยู่ภายใต้กรอบคิดเรื่องโครงสร้างเสียส่วนใหญ่

วิธีคิดในแบบโครงสร้างนี้ แม้จนทุกวันนี้ ก็ยังมีนักการเมืองรุ่นใหม่บางท่านอย่าง คุณธนาธร (จึงรุ่งเรืองกิจ) เขายืนยันว่าแม้หมดพลเอกเปรมหรือพลเอกประยุทธ์ไปแล้ว ก็ใช่ว่าปัญหาจะหมดไป เพราะภายใต้เงื่อนไขโครงสร้างเดิมที่ยังอยู่ ก็จะผลิตคนแบบ พลเอกเปรม (ติณสูลานนท์) หรือ พลเอกประยุทธ์ (จันทร์โอชา) เป็นตัวตายตัวแทนออกมาอีกไปเรื่อยๆ

ดังนั้นนักการเมืองท่านนี้ก็คงจะเห็นว่า หากไม่เปลี่ยนโครงสร้าง ก็เปลี่ยนแปลงประเทศให้มีอนาคตที่ดีหรือใหม่กว่าไม่ได้ แต่กระนั้น ก็อยากรู้จริงๆ ว่า คุณธนาธรมีอะไรจะเสนอในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมเศรษฐกิจการเมืองไทย? จะเป็นการเลิกใช้สรรพนาม พี่ ป้า น้า อา หรือ การแต่งกายในที่ประชุมสภา หรือการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น หรือ การเลิกการหมอบกราบถวายบังคม ฯลฯ ซึ่งการเลิกการหมอบกราบถวายบังคมคงไม่เกี่ยวอะไรกับพรรคอนาคตใหม่ แต่เป็นการแสดงออกของ เนติวิทย์ (โชติภัทร์ไพศาล) นิสิตภาคปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ แต่มันก็น่าจะเข้าข่ายเป็นแนวทางที่ไม่ต่างกัน

ซึ่งแนวทางดังกล่าวนี้ก็คงต้องเรียนถามอาจารย์สุริชัยในฐานะเป็นอาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาว่า แนวทางดังกล่าวพอจะเป็นปัจจัยที่นำไปสู่โครงสร้างใหม่และอนาคตใหม่ที่ดีกว่าของบ้านเราได้หรือไม่ เพราะมันเป็นเรื่องของการเปลี่ยนบรรทัดฐาน ค่านิยม ประเพณีและวัฒนธรรม

เมื่อพูดถึงการเปลี่ยนแปลงโดยแนวทางที่เพิ่งกล่าวไป เราจะพบว่า แนวทางดังกล่าวนี้มาจากตัวคนหรือกลุ่มคนที่พยายามจะเปลี่ยนโครงสร้าง ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะแตกต่างไปจากแนวทางของนักเคลื่อนไหวสมัย 6 ตุลาคม 2519 เพราะแนวทางเก่าคือเชื่อในทฤษฎีของมาร์กซ์-เลนิน-เหมา ที่เน้นการปฏิวัติโดยชนชั้นกรรมาชีพ รวมทั้งชาวนาชาวไร่ แต่บังเอิญของไทยเราตอนนั้น กรรมาชีพชาวนายังไม่สุกงอม แต่นิสิตนักศึกษาเลยสุกงอมแทน และสุกงอมก่อนเงื่อนไขสถานการณ์จะสุก

ซึ่งแนวทางการปฏิวัตินี้ก็มีการนำร่องมาตั้งแต่ กบฏ ร.ศ. 130 ในสมัยรัชกาลที่ 6 และการปฏิวัติ 2475 ของคณะราษฎรในสมัยรัชกาลที่ 7 และความพยายามในช่วงต่างๆ โดยเฉพาะกรณี 6 ตุลาและความพยายามต่างๆ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 9 ซึ่งนักวิชาการที่เคยเคลื่อนไหวหรืออยู่ในเหตุการณ์อย่างธงชัย วินิจจะกูล ก็เพิ่งออกมาประกาศยอมรับในโอกาสครบรอบเหตุการณ์ 6 ตุลา เมื่อไม่นานมานี้เองว่า ตนเป็นคอมมิวนิสต์

เมื่อเข้าสู่รัชกาลที่ 10 แนวทางที่จะนำไปสู่อนาคตใหม่ของไทยที่ดีกว่า ไม่ได้เน้นไปที่การปฏิวัติทางชนชั้นและการใช้กำลังความรุนแรง แต่อาจจะใช้การปฏิรูปเชิงวัฒนธรรมอย่างที่เห็นได้จากแนวทางข้อเสนอของนักการเมืองพรรคอนาคตใหม่ และใช้แนวทางการเข้าไปมีส่วนร่วมในการใช้อำนาจการเมืองภายใต้โครงสร้างเดิม นั่นคือ การต่อสู้ในระบบรัฐสภา ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ไม่ได้เป็นแนวทางใหม่แต่อย่างใด เพราะแนวทางการเข้าไปต่อสู้ในระบบภายใต้โครงสร้างที่มีอยู่ เริ่มเกิดขึ้นมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 โดย เอ็ดเวิร์ด เบิร์นสไตน์ (Eduard Bernstein) นักการเมืองสายมาร์กซิสต์ในเยอรมนี ผู้มีความสนิทสนมใกล้ชิดกับมาร์กซ์และ เองเกลส์ (Friedrich Engels) อย่างยิ่ง

เบิร์นสไตน์ปฏิเสธแนวทางการใช้ความรุนแรงในการเปลี่ยนแปลงประเทศ และได้ลงสมัครรับเลือกตั้งและได้เป็นสมาชิกรัฐสภาในปี ค.ศ. 1912 ซึ่งตอนนั้น อันโตนิโอ กรัมซี (Antonio Gramsci) อายุเพิ่ง 21 ปี เรียนอยู่ปี 1 ที่มหาวิทยาลัยตูริน ที่ต้องกล่าวถึงกรัมซีก็เพราะอาจารย์ปิยบุตร (แสงกนกกุล) เลขาพรรคอนาคตใหม่ เคยออกมากล่าวว่า แนวทางการต่อสู้ของตนเกี่ยวข้องกับแนวทางของกรัมซี แต่เบิร์นสไตน์มาก่อนกรัมซี และไม่ได้เพียงแค่เสนอแนวทาง แต่เขาลงไปปฏิบัติจริงเลย นั่นคือ ลงสมัครรับเลือกตั้ง และได้รับเลือกตั้ง และเข้าไปต่อสู้ในสภา ซึ่งน่าสนใจว่า เขาประสบความสำเร็จในการต่อสู้ในวิถีทางรัฐสภามากน้อยแค่ไหน?

อย่างไรก็ตาม แนวทางการเปลี่ยนแปลงผ่านรัฐสภาของเบิร์นสไตน์แพร่หลายไปในหลายๆ ประเทศ และไม่เป็นที่ชอบใจของพวกมาร์กซิสต์สายลำหักลำโค่น ที่อาจจะเห็นได้จากปฏิกิริยาของพวกที่ออกมาโจมตีเบิร์นสไตน์ ว่าแนวทางของเขาดันไปเหมือนพวก Fabian Socialism ในอังกฤษที่เบิร์นสไตน์ชอบติดต่อคบค้าสมาคมด้วย เพราะ Fabian Socialism ในอังกฤษไม่ได้จับอาวุธปฏิวัติ แต่ยอมรับและต่อสู้ในระบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเสียด้วย

แน่นอนว่าประเด็นที่เพิ่งกล่าวไปนี้ ทำให้คิดถึงเมืองไทยขณะนี้ ที่เกิดปฏิกิริยาจากคนที่จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับนักการเมืองและพรรคการเมืองใหม่นี้ แต่ออกมาโจมตีวิพากษ์วิจารณ์ สส. ระดับนำของพรรคใหม่อย่างรุนแรง จนทำให้พวกสายอนุรักษนิยม เสื้อเหลือง และสลิ่ม งุนงงว่า ได้เกิดความแตกแยกขึ้นในหมู่พวกเสื้อแดงล้มเจ้าแล้วหรือไร? ตัวอย่างที่ชัดเจนได้แก่ ล่าสุดที่อาจารย์ปิยบุตรได้อภิปรายในสภาฯ เกี่ยวกับนโยบาย 66/23 ที่อาจจะนำมาใช้ในปัจจุบัน แต่ก็มีผู้ลี้ภัยทางการเมืองโพ้นทะเลออกมาตอบโต้ ในทำนองว่า ไม่ต้องการการนิรโทษหรืออภัยโทษแต่อย่างใด และต้องการต่อสู้คนละวิถีทางกับพวกที่เข้าไปสู้ในระบบโครงสร้างเดิม ซึ่งผมตีความไปเองว่า หากยอมรับการนิรโทษหรืออภัยโทษจากอำนาจในโครงสร้างเดิม ก็เท่ากับยอมรับโครงสร้างเดิม!

ขณะเดียวกัน เราจะเห็นได้ว่า นักการเมืองรุ่นใหม่นี้ ไม่ได้มาจากหรือเป็นชนชั้นกรรมาชีพ กรรมกรชาวนา และก็ไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มนิสิตนักศึกษาเหมือนสมัย 6 ตุลา และก็ไม่ได้เป็นกลุ่มข้าราชการทหารพลเรือนรุ่นกลางกึ่งใหม่อย่างคณะราษฎร และก็ไม่ใช่กลุ่มทหารหนุ่มอย่างกบฏ ร.ศ. 130 นั่นคือ การไม่ได้เป็นอะไรอย่างที่กล่าวมานี้ พวกเขาจึงไม่ได้เป็นตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงตามทฤษฎีมาร์กซ์-เลนิน-เหมา แบบก้นกุฏิ

แต่นักการเมืองรุ่นใหม่ที่รวมตัวกันจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองใหม่เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศให้มีอนาคตที่ดีกว่านี้ แตกต่างจากกลุ่มคนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศในอดีต[1]  เพราะกลุ่มคนในอดีตที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างพรรคอนาคตใหม่ ไม่ได้จัดตั้งเป็นพรรคการเมือง แม้นว่าจะเคยมีพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย แต่แนวทางการขับเคลื่อนก็ต่างกัน เพราะพรรคการเมืองใหม่ไม่ได้ต้องการปฏิวัติด้วยกำลังความรุนแรง แต่อย่างที่กล่าวไป จะใช้แนวทางการต่อสู้เพื่อมีส่วนร่วมทางการเมืองตามระบบรัฐสภาผ่านการเลือกตั้ง ซึ่งในแง่นี้ คนรุ่นเก่าอาจจะนึกถึงพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงหลัง 14 ตุลาคม 2516 ที่ชื่อว่า ‘พรรคพลังใหม่’ ที่อาจจะมีความคล้ายพรรคใหม่ขณะนี้อยู่ไม่น้อย ตรงที่มีความเป็นอุดมการณ์และมีหลักการมากกว่าพรรคอื่นๆ เพราะอย่างน้อยเลขาธิการพรรคใหม่นี้ก็เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เรียกว่ายังหนุ่มอยู่ พรรคพลังใหม่มีภาพของการเป็นพลังของปัญญาชนนักวิชาการสูงกว่าพรรคใหม่ เพราะเต็มไปด้วยอาจารย์มหาวิทยาลัย แต่พรรคใหม่นี้ประกอบไปด้วยคนหลากหลายอาชีพ และรวมทั้งที่ไม่มีอาชีพก็มี มีทั้งนักธุรกิจหมื่นล้าน นักวิชาการ ปัญญาชน อดีตทหาร ตำรวจ พ่อค้าแม่ขาย ผู้ประกอบการอิสระ ฯลฯ พรรคใหม่จึงเป็นพรรคการเมืองที่มีความหลากหลายทางอาชีพและสถานะทางสังคมมากกว่าพรรคการเมืองที่มีอยู่เดิม แต่ไม่หลากหลายทางอุดมการณ์แน่

คำถามคือ พรรคการเมืองใหม่นี้จะเป็นตัวเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประเทศเพื่ออนาคตที่ดีกว่าได้หรือไม่?

ถ้ายังยึดติดอยู่กับทฤษฎีโครงสร้างเฉยๆ ก็ไม่รู้ว่าจะตอบยังไงได้แน่ นอกจากจะพูดลอยๆ ว่า สักวันหนึ่ง เมื่อถึงเวลา มันก็จะเปลี่ยนแปลง และพรรคใหม่นี้ก็อาจจะสามารถเป็น ‘คณะราษฎรที่สอง’ ที่ประสบความสำเร็จ หรืออาจจะเป็นแค่ตัวแสดงตัวหนึ่งอย่าง กบฏ ร.ศ. 130 หรือกลุ่มนิสิตนักศึกษา 6 ตุลาฯ ที่พูดมานี้ ไม่ได้หมายความว่า พรรคใหม่จะใช้หนทางการปฏิวัติแบบที่ผ่านมา แต่ต้องการสื่อว่า ภายใต้ทฤษฎีโครงสร้าง ที่ต้องคาดการณ์ให้ดีถึงสถานการณ์ช่วงเวลาที่สุกงอม ถึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างได้ พรรคใหม่อาจจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวก็ได้ทั้งนั้น อาจจะประเมินสถานการณ์ถูกหรือผิดก็ได้

แต่ไม่ว่าจะถูกหรือผิด ก็ไม่กระทบทฤษฎีโครงสร้าง เพราะอย่างที่กล่าวไปแล้วว่า ทฤษฎีนี้มันใหญ่ มัน grand มันนามธรรมอลังการครอบจักรวาล และเป็นทฤษฎีประเภท ‘เก่งทีหลัง’ คือ ถ้าชนะสำเร็จ ก็บอกว่า ประเมินสถานการณ์ได้ถูกต้อง สุกงอมแล้ว ถ้าผิด ก็บอกว่า ตัวคนประเมินผิดเอง ทฤษฎีไม่เกี่ยว ดังที่ทฤษฎีมาร์กซ์ดูน่าเชื่อถือมีเหตุผล เพราะมาร์กซ์อธิบายเหตุการณ์ย้อนหลังตลอด เก่งทีหลังตลอด แต่ถ้าจะให้คาดการณ์ประเมินปัจจุบันและอนาคต ก็ทำไม่ได้ แม้แต่ตัวมาร์กซ์เองก็ยังทำไม่ได้ เหมือนแทงหวย ถ้าถูกก็บอกว่า ตีฝัน ตีนิมิตถูก แต่ถ้าผิด ก็เป็นเรื่องที่มึงตีผิดเอง อาตมาไม่เกี่ยว เพราะอาตมาไม่ได้บอกชัดเจนอะไร ได้แต่บอกใบ้ให้ไปตีความสลับเลขกันเอง

แต่นักสังคมวิทยาก็ไม่ใช่ว่าจะไม่รู้จุดอ่อนของทฤษฎีโครงสร้าง เพราะสังคมวิทยาของอาจารย์สุริชัยก็มีการพูดถึงบทบาทของ agent หรือตัวแทน/ตัวแสดงในโครงสร้างขึ้นมา อันเป็นแนวคิดที่พูดกันติดปากว่า structure/agent หรือจะสลับเป็น agent/structure เหมือนเล่นหวยก็ได้ แนวคิด structure ที่มี agent มีมาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 แล้ว เริ่มต้นจากนักสังคมวิทยาอย่าง จอร์จ ซิมเมล (Georg Simmel เยอรมัน/1858-1918) และตามมาด้วย นอร์แบร์ต อีเลียส (Norbert Elias เยอรมัน/1897-1990) ทัลคอตต์ พาร์สันส์ (Talcott Parsons อเมริกัน/1902-1979) ปิแอร์ บูร์ดิเยอ (Pierre Bourdieu ฝรั่งเศส/1930-2002) ปีเตอร์ แอล. เบอร์เกอร์ (Peter L. Berger เชื้อสายออสเตรีย/1929-2017) และ โธมัส ลัคมานน์ (Thomas Luckmann เชื้อสายออสเตรีย-เยอรมัน/ 1927-2016) เจมส์ โคลแทน (James Coleman อเมริกัน แต่จบวิศวะเคมีมาก่อนจะไปสังคมวิทยา/1926-1995) แอนโธนี กิดเดนส์ (Anthony Giddens อังกฤษ แต่เรียนสังคมวิทยากับจิตวิทยา/1938) เคลาส์ เฮอร์เรลมานน์ (Klaus Hurrelmann เยอรมัน/1944) จนถึง โรเบอร์โต อุนเกอร์ (Roberto Unger บราซิลแต่พ่อเป็นเยอรมัน/1947) และยังมีอีกไม่น้อย

มีข้อน่าสังเกตนิดหนึ่งคือ ในบรรดานักทฤษฎี structure/agent ทั้ง 10 คนนี้ ล้วนเป็นนักสังคมวิทยาทั้งสิ้น เป็นเชื้อสายเยอรมัน-ออสเตรีย 6 คน ฝรั่งเศส 1 คน ส่วนที่เป็นอังกฤษ-อเมริกันที่ไม่ได้มีเชื้อสายเยอรมัน-ออสเตรีย ก็เรียนสังคมวิทยาพ่วงชีววิทยา 1 คน เรียนสังคมวิทยาพ่วงจิตวิทยา 1 คน และจบวิศวะเคมี 1 คน ก็อยากฝากให้ไปคิดต่อเล่นๆ ว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

เมื่อเพิ่มบทบาทของ agent ขึ้นมา ก็ดูจะมีความหวังขึ้นรำไรในเรื่องที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสังคมโดยไม่ต้องคอยให้โครงสร้างสุกงอม โดยรอให้มะม่วงสุกคาต้นหล่นมาเองเหมือนสมัยที่อาจารย์ธีรยุทธพูดถึงสถานการณ์การเมืองก่อนรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เพราะทฤษฎีโครงสร้างที่ปรับปรุงเพิ่มขึ้นโดยหวังไปที่ตัว agent ที่จะช่วยขย่มต้นมะม่วงหรือไม่ก็ช่วยบ่มมะม่วงด้วยเทคนิคต่างๆ ใหม่ๆ ที่น่าจะทำให้แผนการเปลี่ยนแปลงประเทศมันเป็นไปได้ขึ้น

แต่ปัญหาข้อถกเถียงในเรื่อง structure/agent ก็กลายเป็นปัญหาไก่กับไข่ ว่าอะไรเกิดก่อนกัน และอะไรทำให้อะไรเกิด ดังที่เห็นได้ในทฤษฎีของนักสังคมวิทยาที่เอ่ยนามไป และบรรดานักมาร์กซิสต์ทั้งหลายก็เคยถกเถียงประเด็นนี้ในทฤษฎีของมาร์กซ์มาก่อนแล้ว

แต่กระนั้น วิธีการแก้ปัญหาไก่กับไข่ของนักทฤษฎีสังคมวิทยาแนว structure/agent นี้ ก็ง่ายแสนง่ายจนนึกไม่ถึง นั่นคือ ถ้าอะไรมันเป็นปัญหาก็ตัดมันทิ้งไป หรือไม่ไปคิดภายใต้วิธีคิดแบบนั้น นั่นคือ ถ้าปัญหามันอยู่ที่อภิปรัชญาก็ไม่ต้องไปคิดเรื่องอภิปรัชญา ถ้าปัญหามันอยู่ที่ญาณวิทยาก็อย่าไปคิดเรื่องญาณวิทยา เพราะคิดไปก็ปวดหัวตามัวเปล่าๆ (ถ้าเป็นนิสิตตอบข้อสอบ และแก้ปัญหาแบบนี้ รับรองตก แต่ถ้าเป็นนักวิชาการใหญ่โตมีชื่อเสียงแล้ว กลายเป็นเรื่องการสร้างทฤษฎีใหม่เฉยเลย!!??) ดังจะเห็นได้จากนักสังคมวิทยาระดับเจ้าพ่ออย่าง แอนโธนี กิดเดนส์ ที่คิดทฤษฎี Structuration ขึ้นมา

Anthony Giddens

และบอกว่า เราไม่ต้องตอบว่า ไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน เพราะนั่นมันเป็นทั้งปัญหาอภิปรัชญาและญาณวิทยา ไก่คืออะไร ไข่คืออะไร เรารู้ได้ไงว่า ตอนไหนเป็นไก่ ลูกไก่ หรือไข่ ปัญหาแบบนี้พะรุงพะรังเปล่าๆ ปล่อยให้นักปรัชญาเขาสนุกกับการงมโข่งกันต่อไป เมื่อตัดอะไรที่ตอบไม่ได้ทิ้งไปตามใจชอบ กิดเดนส์ก็เลยได้คำตอบว่า ไม่ต้องตอบว่าอะไรมาก่อนมาหลัง แต่ให้ถือว่ามันอยู่พร้อมๆ กันนั่นแหละ ซึ่งก็จริงของเขา เพราะ ณ ปัจจุบัน ไก่กับไข่ มันก็อยู่พร้อมๆ กัน สลับกันก่อนหลังอยู่ตลอดเวลา ป่วยการจินตนาการไปถึงยุคก่อนเกิดโลก ก่อนเกิดสังคม ก่อนเกิดโครงสร้าง

เมื่อมันอยู่พร้อมๆ กัน ทั้งโครงสร้างและ agent และโครงสร้างสังคมเศรษฐกิจการเมืองก็หาได้มีโครงสร้างหนึ่งเดียวในแบบ ‘เอกะอภิมหาโครงสร้าง’ แต่มีโครงสร้างต่างๆ มากมายในสังคม ที่สมาชิกในสังคมสังกัดอยู่ คนคนหนึ่งอยู่ภายใต้หลายโครงสร้าง เพราะไม่งั้นก็จะติดกับดักบ่วงกรรมของอภิปรัชญาที่เชื่อว่าจะต้องมีโครงสร้างเดียว แบบที่พวกนักอภิปรัชญาเชื่อว่า ความดีแท้ต้องมีหนึ่งเดียว

คราวนี้กิดเดนส์ก็เน้นไปที่การกระทำหรือการปฏิบัติการประจำวันของตัวแสดงหรือ agent ที่อยู่ภายใต้กฎกติกา แบบแผนการกระทำ ความเคยชินหลากหลายแบบ เล็กบ้างใหญ่บ้าง เข้มบ้าง จางบ้าง ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของโครงสร้างเดิมที่ดำรงอยู่ และมุ่งไปที่ตัวคนที่ไม่จำเป็นจะต้องเป็นชนชั้นใด อาชีพใด หรือต้องเป็นข้าราชการทหารตำรวจ ถึงจะเป็นตัวกระทำสำคัญหนึ่งเดียวในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมเหมือนทฤษฎีก้นกุฏิมาร์กซ์-เลนิน-เหมา

ทฤษฎีโครงสร้าง/agent นี้ไม่คิดใหญ่คิดโตแบบการปฏิวัติแนวอภิมหาวัฒน์ แต่เน้นไปที่การกระทำของมนุษย์แต่ละคนที่จะเป็น agent ในการเปลี่ยนแปลงได้ ผ่านการเปลี่ยนกฎกติกาเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันที่อยู่ภายใต้บรรทัดฐาน ค่านิยม ประเพณีจารีต วัฒนธรรมต่างๆ หลากหลาย ทั้งเล็กทั้งใหญ่ เข้มบ้าง จางบ้าง อย่างที่กล่าวไป การเปลี่ยนแปลงจึงเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น โดยการเปลี่ยนแปลงสามารถเกิดขึ้นได้ทุกจุด

เมื่อเกิดได้ทุกจุด ทำให้ผมคิดถึงคุณหมอประเวศขี้นมาทันทีเลย! ครั้งหนึ่ง ศ.นพ.ประเวศ วะสี เคยตั้งโจทย์การปฏิรูปการเมืองภายใต้กรอบคิดทางวิทยาศาสตร์ และให้นักรัฐศาสตร์ไปทำวิจัยมา โดยมีคำถามว่า ถ้าจะงัดประเทศไทยให้เปลี่ยนแปลง จะต้องหาจุดไหนที่จะงัดขยับให้เกิดการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงได้?

ท่านคงคิดถึงเรื่องการคำนวณทางกลศาสตร์เรื่องคานงัดของ อาร์คิมีดีส (Archimedes) นักคิดกรีกโบราณเมื่อสามร้อยปีก่อนคริสตกาล ที่กล่าวว่า ขอให้ข้าฯ ได้จุดที่ถูกต้องจริงๆ เถอะ ข้าฯ จะงัดโลกให้ดู นักวิชาการที่ไปทำวิจัยศึกษาเพื่อตอบโจทย์ของคุณหมอประเวศคือ ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ และคำตอบที่ได้ก็ต่างจากคำตอบทางวิทยาศาสตร์ เพราะอาจารยเอนกบอกว่า งัดตรงไหนก็ได้!! และก็น่าจะไปกันได้กับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมตามทฤษฎี Structuration ของกิดเดนส์ที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงไปสู่อนาคตที่ดีกว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้นกว่าทฤษฎีชุดก่อนๆ ที่นักคิดเยอรมันชอบคิดแบบใหญ่ๆ โตๆ หรือยากๆ

อาจเป็นเพราะกิดเดนส์เป็นนักคิดชาวอังกฤษซึ่งน่าจะอยู่ภายใต้จารีตวิธีคิดแบบอังกฤษที่มีความ practical มากกว่านักคิดเยอรมันโดยทั่วไป ไม่นับ เอ็ดเวิร์ด เบิร์นสไตน์ ที่มีแนวทางที่สอดคล้องกับ Fabian Socialism ที่ไม่ได้คิดเปลี่ยนแปลงใหญ่แบบฉับพลันทันที แต่ค่อยเป็นค่อยไป และเมื่อคิดเปลี่ยนแบบค่อยเป็นค่อยไป จึงโดนยำใหญ่จากพวกมาร์กซิสต์เยอรมันสายซาดิสต์

ดังนั้น การขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของพรรคใหม่ ทั้งจากการฟอร์มตัวเป็นพรรคเพื่อเข้าสู่การต่อสู้ต่อรองในสภาแบบเบิร์นสไตน์และการต่อสู้ในแบบ Structuration ตามแบบของกิดเดนส์จึงเป็นสิ่งที่น่าจับตาติดตามว่า จะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน แต่การต่อสู้แบบนี้ย่อมไม่ต้องกังวลเรื่องมะม่วงจะสุกเมื่อไร เพราะเป็นการต่อสู้สองอย่างในเวลาเดียวกัน นั่นคือ หนึ่ง ต่อสู้ไปเรื่อยๆ ทั้งในการออกกฎหมายและคัดค้านกฎหมายในสภาและการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ซึ่งในแง่หนึ่งก็เป็นเรื่องเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองและสังคมระดับมหภาค และสอง ต่อสู้ไปเรื่อยๆ ในชีวิตประจำวันที่มีโครงสร้างจุลภาคย่อยๆ อยู่มากมายตามแต่ละปัจเจกบุคคล

แต่…แต่… แต่ ข้อเสียของการต่อสู้ในแบบนี้ คือ

หนึ่ง ตัวแสดงหรือผู้กระทำ แม้ว่าจะไม่จำกัดอยู่ที่ชนชั้นกรรมาชีพ กรรมกรชาวนา ปัญญาชน ทหารหนุ่ม ทหารแก่ ฯลฯ แต่เป็นใครก็ได้ แต่ใครคนนั้นจะต้อง ‘คิดได้ คิดเป็น มีปัญญา เห็นปัญหาและกล้าหาญ’ ได้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่ว่าตามๆ เขา กล้าตามๆ กัน ถ้าตามๆ กัน ก็ไม่ต่างจากเด็กแว้นที่ทำอะไรตามๆ กัน เพื่อไม่ให้ตัวเองตกกระแส นั่นคือ จะต้องเป็นปัจเจกบุคคลที่รู้แจ้งเห็นจริงได้ด้วยตัวเอง (enlightened individual)

สอง เสียเวลานานมาก และมากจนอาจจะไม่เห็นมรรคผลจนแก่หรือตายไป อาจทำให้เกิดอาการท้อถอย เพราะขาดแรงบันดาลใจหรือแรงจูงใจในแบบอภิมหาอุดมการณ์แห่งการโค่นล้มหักล้างปฏิวัติ ที่มีกลิ่นอายโรแมนติกของการเสียสละอันยิ่งใหญ่ การพลีชีพ โศกนาฏกรรม ความเป็นวีรบุรุษ และสังคมพระศรีอาริย์ที่เป็นเป้าหมายใหญ่ที่ต้องไปให้ถึง ที่ท้องฟ้าจะมีสีทองผ่องอำไพ (จะด้วยเหตุนี้หรือเปล่าที่พรรคอนาคตใหม่ใช้สีส้มเป็นสัญลักษณ์ เพราะแนวทางของพวกเขาไม่แดงและไม่ได้หวังให้ฟ้าสีทอง แต่แค่สีส้มก็พอ) เมื่ออาจท้อ ก็อาจถูกกลืนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างใหญ่ที่ดำรงอยู่

ซึ่งโครงสร้างเองก็ไม่ได้เป็นอะไรที่แช่แข็งตายด้าน โง่ดักดานเสียทีไหน เพราะพาร์สันส์เจ้าพ่อทฤษฎีโครงสร้างเองก็กล่าวว่า โครงสร้างประกอบไปด้วยคน จึงไม่ต่างจากสิ่งมีชีวิต มีการปรับตัว และไม่ได้จะดื้อโง่รักษาสถานะและดุลยภาพให้อยู่กับที่ แต่โครงสร้างสามารถเคลื่อนดุลยภาพให้เดินและเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่ต้องผ่านการปฏิวัติ ดุลยภาพที่เคลื่อนที่นี้ พาร์สันส์เรียกว่า moving equilibrium ซึ่งเมื่อพรรคใหม่ได้ตัดสินใจเลือกที่จะเดินและต่อสู้ภายในโครงสร้างแล้ว หากเวลาผ่านไปยาวนาน ก็อาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างเดิมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ซึ่งในแง่นี้ ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางแบบเบิร์นสไตน์ที่เป็นต้นแบบของการหันหลังให้กับการใช้หนทางการปฏิวัติที่ใช้กำลังความรุนแรง แต่หาทางเดินหน้าเข้าสภา จึงพยายามรักษาเนื้อรักษาตัวไม่ยอมให้ตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบและโครงสร้าง เพราะมิฉะนั้นแล้ว จะถูกกลืนในที่สุด จะไม่ต่างจากผู้ที่เคยไม่เห็นด้วยกับโครงสร้างวัฒนธรรมแบบมหาดไทย ที่คิดว่า ถ้าตนได้เข้าไปเป็นข้าราชการมหาดไทยแล้ว จะไม่ยอมให้ตัวเองเป็นแบบนั้น แต่เมื่อเข้าไปได้สักพัก ก็คิดว่า ไว้รอให้ตนเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด อธิบดี หรือปลัดกระทรวงได้เมื่อไร ตนจะทำการเปลี่ยนแปลงระบบ โครงสร้างและวัฒนธรรมองค์กรมหาดไทย แต่กว่าจะถึงจุดนั้นได้ ก็ต้องปรับตัวเข้ากับระบบโครงสร้างจนในที่สุดก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างเดิมที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงอยู่บ้าง และก็จะไม่มีอะไรแตกต่างมากนัก เพราะอะไรๆ มันก็เปลี่ยนแปลงของมันอยู่เรื่อยๆ อยู่แล้ว ไม่มากก็น้อย

และด้วยเหตุนี้ เราจึงเข้าใจอาการที่พยายามจะไม่สยบต่อกฎกติกาจารีตเรื่องเสื้อผ้าและขนบธรรมเนียมอื่นๆ ในสภาของบรรดานักการเมืองพรรคใหม่ ที่ว่าไปแล้ว ก็เป็นเรื่องจุกจิกหยุมหยิมในสายตาของคนที่ไม่เข้าใจการต่อสู้ของพวกเขา ที่นอกจากพวกเขาต้องการจะให้เป็นสัญลักษณ์หล่อเลี้ยงกระแสผู้คนที่สนับสนุนแนวทางของพรรคแล้ว ยังเป็นการหล่อเลี้ยงปลุกกระตุ้นเตือนจิตสำนึกของตัวพวกเขาเองด้วยว่า เป้าหมายของตัวเองคือ เข้ามาเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง และอย่าให้ตัวเองถูกกลืนเข้าไปในวัฒนธรรม-โครงสร้างเดิม ซึ่งก็เป็นเรื่องยากอยู่ทีเดียว!!!

เมื่อพูดถึงวัฒนธรรมองค์กร ระบบราชการ การปฏิรูประบบราชการ เช่น กาปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็คงไม่พ้นที่อยากจะส่งคำถามไปยังอาจารย์ศุภชัย ในฐานะที่เป็นอาจารย์ทางรัฐประศาสนศาสตร์ และเคยเป็นคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และเป็นกรรมการปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ ที่พลเอกประยุทธ์ตกคำว่า “จะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญ…” ไปในตอนถวายสัตย์ปฏิญาณ

คำถามที่อยากให้อาจารย์ช่วยตอบและถือเป็นวิทยาทานให้แก่ตัวผมและผู้ฟังก็คือ เป็นเรื่องเกี่ยวกับทฤษฎีหรือกฎที่เรียกว่า ‘กฎเหล็กแห่งคณาธิปไตย’ หรือ Iron Law of Oligarchy ที่เป็นของนักสังคมวิทยาชาวเยอรมัน ที่ชื่อ โรเบิร์ต มิเชลส์ (Robert Michels) (อีกแล้วครับท่าน!/1911) แม้ว่าจะเกิดในต้นศตวรรษที่ยี่สิบนี้เอง แต่มาถึงบัดนี้ ก็น่าจะเรียกได้แล้วว่า เป็นทฤษฎีคลาสสิก ที่ตอนผมอยู่ปริญญาตรีต้องเรียน แต่ไม่รู้ว่าปัจจุบัน มีสอนในวิชาไหนบ้างหรือเปล่า

ทฤษฎีของมิเชลส์มันเป็นอย่างนี้ครับ เขาอ้างว่า กฎของชนชั้นนำหรือกลุ่มบุคคลที่กุมอำนาจ (oligarchy) เป็นกฎเหล็กที่ไม่มีทางที่ใครจะเลี่ยงได้ องค์กรใดจะเป็นประชาธิปไตยแค่ไหน ก็หนีไม่พ้นกฎเหล็กคณาธิปไตยไปได้ เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของความจำเป็นในทางแทคติคและเทคนิคของการบริหารจัดการองค์กร และองค์กรสมัยใหม่ก็ล้วนแต่เป็นองค์กรที่มีความสลับซับซ้อนไม่เหมือนที่ประชุมผู้ใหญ่ลีในปี 2504 และต่อให้จะพยายามทำให้องค์กรมีความเป็นประชาธิปไตยเพียงไร ยังไงก็ต้องลงเอยเป็นคณาธิปไตยที่อยู่ภายใต้การตัดสินใจและการบริหารจัดการของกลุ่มคนหรือชนชั้นนำอยู่ดี ยิ่งองค์กรมีขนาดใหญ่และมีความสลับซับซ้อนมากแค่ไหน ก็ยิ่งจะห่างจากความเป็นประชาธิปไตยมากเท่านั้น กระทรวงก็ดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ดี พรรคการเมืองก็ดี ไม่สามารถหนีการอยู่ภายใต้กลุ่มคนชนชั้นนำไปได้ ไม่มีทางแหกกฎเหล็กคณาธิปไตย

ดังนั้น ไม่ว่าพรรคการเมืองใดจะประกาศตัวเป็นประชาธิปไตยหรือมุ่งสู่ความเป็นประชาธิปไตยอันสมบูรณ์แค่ไหน แต่ด้วยการที่เป็นองค์กร ยังไงก็ต้องลงเอยอยู่ภายใต้อำนาจและการตัดสินใจของชนชั้นนำหรือกลุ่มคนจำนวนน้อยๆ ในพรรค

มิเชลส์ย้ำอีกว่า จากประสบการณ์ในประวัติศาสตร์ จะพบว่า การพยายามหามาตรการป้องกันใดๆ ทั้งหลายแหล่ที่จะไม่ให้เกิดคณาธิปไตย หรือการกล่าวอ้างการเป็นผู้รับใช้มวลชนล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องเพ้อฝันไร้สาระ หรือเป็นโวหารหลอกรับประทานกันไปเป็นวันๆ เท่านั้น

จากข้างต้น เป็นไปได้ว่า ตกลงแล้ว พรรคการเมืองจีน อาจจะตอแหลน้อยกว่าพรรคการเมืองในประเทศที่อ้างและคิดว่าเป็นประชาธิปไตย ขณะเดียวกัน ไม่ว่าประเทศจะปกครองด้วยระบอบการปกครองแบบใด ยังไงก็ต้องมีสิ่งที่ เวเบอร์ (Max Weber เรียกว่า ระบบราชการ ยกเว้นประเทศที่ยังเป็นชนเผ่าโบราณอยู่ และระบบราชการไม่ว่าที่ไหนก็หนี Iron Law of Oligarchy ไม่พ้น

ผมจึงมีคำถามถามอาจารย์ดังต่อไปนี้ครับ หนึ่ง ถ้าโครงสร้างและวัฒนธรรมองค์กรของระบบราชการไทยเป็นอุปสรรคต่ออนาคตที่ดีกว่าของประเทศ อาจารย์มีข้อเสนออย่างไรครับ สอง ในอนาคตที่ดีกว่า ยังจะมีระบบราชการที่อยู่ภายใต้ Iron Law of Oligarchy อยู่หรือเปล่าครับ  ถ้ายังมีก็เข้าใจได้ แต่ถ้าไม่มี หน้าตาขององค์กรราชการจะเป็นอย่างไรครับ สาม สุดท้ายแล้วนะครับ เมื่อเอาทฤษฎี Iron Law of Oligarchy มาปะทะกับการพยายามเปลี่ยนแปลงเพื่ออนาคตที่ดีกว่าตามทฤษฎี Structuration อาจารย์จะเห็นออกไปในทางไหนครับ

นอกจากเรื่องโครงสร้าง ซึ่งเป็นคำใหญ่คำโตแล้ว เรายังมีอีกคำหนึ่ง ที่มักจะใช้กันเป็นคำตอบต่อการก้าวไปสู่ ‘อนาคตใหม่ที่ดีกว่า’ นั่นคือ คำว่า ‘ประชาธิปไตย’ ชอบพูดกันมาก ไม่ว่าจะเป็นบ้านเราหรือบ้านเขาว่า อนาคตประเทศจะดีขึ้นได้ ก็ต้องเป็นประชาธิปไตยเสียก่อน หรือเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

แม้ว่าประชาธิปไตยจะไม่ได้ใหญ่โตและเป็นนามธรรมมากขนาดโครงสร้าง และการที่ประเทศหนึ่งจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ก็คงไม่ได้ต้องขึ้นอยู่กับประชาธิปไตยของประเทศอื่นมากนัก เหมือนกับที่โครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองไทยขึ้นอยู่กับโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองโลก

แต่ปัญหาของประชาธิปไตยก็คือ ประชาธิปไตยคืออะไร ประชาธิปไตยอันสมบูรณ์เป็นอย่างไร ต้องกลับไปที่เอเธนส์ไหม เพราะเอเธนส์เป็นที่ที่ประชาชนใช้อำนาจทางการเมืองเอง ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมาย ตัดสินคดีความและการบังคับใช้กฎหมาย โดยไม่มีเลือกตั้ง ไม่มี สส. ไม่มีรัฐบาล เพราะประชาธิปไตยเอเธนส์ยืนยันว่า “ที่ใดมีเลือกตั้ง ที่นั่นไม่เป็นประชาธิปไตย” แต่อาจจะมีคนแย้งว่า นั่นมันประชาธิปไตยโบราณ ปัจจุบันต้องดูที่ประชาธิปไตยสมัยใหม่

แม้ประเทศที่เป็นต้นแบบของประชาธิปไตยสมัยใหม่ก็ยังมีอยู่ตั้ง 3 ประเทศ 3 แบบ นั่นคือ แบบอังกฤษ ระบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แบบอเมริกัน ระบบประธานาธิบดีที่เป็นทั้งประมุขฝ่ายบริหารและประมุขของรัฐ และแบบฝรั่งเศส ระบบกึ่งประธานาธิบดีกึ่งรัฐสภาอันมีประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐ ทีนี้จะเอาแบบไหน ประเทศไทยถึงจะได้อนาคตที่ดีกว่านี้

ถ้าจะมีใครตอบว่า เอาแบบไหนก็ได้ ขอให้เป็นประชาธิปไตยก็พอ ตอบอย่างนี้ มันกว้างเกิน ตอบแบบไม่รับผิดชอบ เพราะไอ้ที่ยุ่งๆ อยู่มา 80 กว่าปีในบ้านเรา ก็เพราะยังตกลงกันไม่ได้จริงๆ ว่าจะเอาแบบไหน หรือแม้นว่าปากจะว่าเอาแบบระบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ฟังดูก็รู้ว่ามุบๆ มิบๆ อ้อมๆ แอ้มๆ อยู่ ออกแนวรู้ปากไม่รู้ใจ แต่สีหน้าออก แต่สีหน้าออกก็ฟันธงไม่ได้ เพราะจะตัดสินคนที่สีหน้าก็กระไรอยู่

แน่นอนว่า สามประเทศใหญ่ตะวันตกนั้นเข้าข่ายเป็นประเทศที่มีปัจจุบันดี และในอนาคตก็ยังน่าจะดี แต่อีกหลายประเทศที่เอาตัวแบบของประเทศใดประเทศหนึ่งไปใช้ ก็มีทั้งที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลว อย่างตัวแบบระบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เมื่อกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียเอาไปใช้ ก็ปรากฏว่าประสบความสำเร็จ และแถมยังจะประสบความสำเร็จมากกว่าอังกฤษที่เป็นต้นแบบเสียอีก

ดูจากผลการสำรวจของ Freedom House จะพบว่า สามประเทศที่ได้คะแนนเต็มร้อย ได้แก่ สวีเดน เบลเยียม และฟินแลนด์ สองในสามประเทศนี้ปกครองด้วยระบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ส่วนฟินแลนด์เป็นระบบกึ่งประธานาธิบดีกึ่งรัฐสภาแบบฝรั่งเศส แต่ก็สามารถประสบความสำเร็จมากกว่าประเทศต้นแบบ นอกจากได้คะแนน Freedom House เต็มแล้ว ยังได้คะแนนสูงสุดของ World Happiness Index ด้วย

ส่วนจะหาประเทศที่เอาแบบการปกครองของสามประเทศไปใช้แล้วยังต้องคุยกันภายใต้หัวข้อวันนี้นั่นคือ จะทำให้ประเทศมีอนาคตที่ดีกว่าได้อย่างไร ก็มีให้เห็นอยู่มากมาย แต่ไม่ว่าจะยังไง ประเด็นสำคัญเบื้องต้น มันอยู่ที่ว่า ต้องตกลงกันให้ได้ว่า จะเอาแบบไหนก่อน เพราะถ้าตกลงกันได้ เสถียรภาพทางการเมืองก็จะเกิดขึ้น และเสถียรภาพทางการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และอะไรอื่นๆ ที่ดีและดีกว่าก็จะมีโอกาสตามมา มากกว่าในเงื่อนไขที่ขาดเสถียรภาพทางการเมือง และยิ่งถ้ารัฐบาลขาดเสถียรภาพแล้วด้วย ทั้งการเมืองและรัฐบาลง่อนแง่น ก็ไม่ต้องพูดถึงอนาคตที่ดีกว่า เพราะปัจจุบันยังจะไม่รอดเลย

อย่างที่เจ้าพ่อการเมืองเปรียบเทียบ ฮวน ลินซ์ (Juan Linz) ได้ให้ข้อสังเกตที่แหลมคมไว้เมื่อปี ค.ศ. 1978 ใน Juan J. Linz, The Breakdown of Democratic Regimes: Crisis, Breakdown, & Reequilibration หน้า 14-49 ว่า เสถียรภาพความมั่นคงทางการเมืองไม่ใช่สิ่งเดียวกันกับเสถียรภาพความมั่นคงของรัฐบาลเสมอไป การเปลี่ยนแปลงหรือการคงอยู่ของรัฐบาล หากดำเนินไปภายใต้กติกาที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ย่อมถือว่าสังคมนั้นมีเสถียรภาพความมั่นคงทางการเมือง ถ้าทั้งฝ่ายที่มีอำนาจและฝ่ายที่ต่อต้านต่างมีความยึดมั่นร่วมกัน (loyal) ในหลักการระเบียบกติกาของระบอบการปกครองที่ดำรงอยู่

แต่ถ้าเกิดมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทุกฝ่ายต่างดำเนินการทางการเมืองใดๆ–ไม่ว่าจะเป็นการพยายามรักษาหรือเปลี่ยนแปลงการเข้าสู่อำนาจ-การรักษาอำนาจ-และการขยายอำนาจ–โดยไม่ยอมรับการยึดมั่น (disloyal) ในกติกาที่เป็นที่ยอมรับกันทุกฝ่าย นั่นย่อมเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงความไร้เสถียรภาพความมั่นคงทางการเมืองในสังคมนั้น ซึ่งอาจนำไปสู่สภาวะไร้ระเบียบ เกิดจลาจลจนถึงสงครามกลางเมืองได้ในที่สุด หากไม่สามารถสร้างความยอมรับยึดมั่น (loyal) ในกติกาหรือหลักการร่วมกัน อันได้แก่ นัยความหมายของระบอบการปกครองและรัฐธรรมนูญ

ซึ่งการรณรงค์ของพรรคการเมืองใหม่ขณะนี้ จึงเป็นสิ่งที่สมควรทำเพื่อหาฉันทามติว่า จะแก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญ และถ้าแก้ จะแก้อะไร และถ้าได้ฉันทามติอย่างใด ก็ควรจะต้องยอมรับร่วมกัน

ทีนี้สุดท้ายแล้ว กลับมาที่การเลือกตัวแบบประชาธิปไตย นักวิชาการจำนวนไม่น้อย (ต่อไปนี้ขอใช้ว่า X แทนนักวิชาการแนวนี้) เชื่อว่า รูปแบบการปกครองมีวิวัฒนาการไม่ต่างจากสิ่งมีชีวิตและเรื่องราวอื่นๆ ในโลกที่เริ่มจากจุดเริ่มต้นที่บรรพกาลและเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่ก้าวหน้า และความหมายของคำว่าก้าวหน้านี้ก็ยังมีแตกออกไปเป็นประเภทที่ก้าวหน้าอย่างไม่มีที่สิ้นสุด กับประเภทที่ก้าวหน้าไปถึงจุดที่สมบูรณ์ที่สุดและจะไม่เปลี่ยนแปลงอะไรอีกต่อไป นอกจากจะเสื่อมถอย หากไม่สามารถรักษาจุดที่สมบูรณ์นั้นไว้ได้ X อาจจะมองว่า รูปแบบการปกครองในโลกเริ่มต้นด้วยการมีหัวหน้าเผ่าและเมื่อเผ่าขยายตัวไปมากและมีพัฒนาการด้านอื่นฯ หัวหน้าเผ่าก็จะพัฒนาเป็นกษัตริย์ และจากกษัตริย์ที่มีอำนาจไม่มากนักก็พัฒนามาเป็นกษัตริย์ที่มีอำนาจอันสมบูรณ์หรือที่เรียกว่า ‘สมบูรณาญาสิทธิ์’ และหลังจากนั้น ก็วิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงต่อไปอีก มีได้สองแบบคือ แบบแรกเข้าสู่รูปแบบการปกครองที่ไม่มีกษัตริย์แต่มีสามัญชนขึ้นมามีอำนาจแทนโดยผ่านการเลือกตั้งมีวาระ รูปแบบการปกครองที่ไม่มีกษัตริย์แล้ว เรียกกันว่า สาธารณรัฐ แบบที่สองคือ ยังมีกษัตริย์อยู่แต่มีการจำกัดโดยกฎหมาย ซึ่งเรียกกันว่า ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกัน X ก็เชื่อว่า ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นแค่ทางผ่าน ไม่ใช่เป้าหมายสุดท้าย แต่จะต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่สาธารณรัฐอยู่ดี ไม่วันใดก็วันหนึ่ง และ X เชื่อว่า สาธารณรัฐเป็นเป้าหมายสุดท้ายที่สมบูรณ์ ไม่มีอะไรดีไปกว่านี้ได้อีก

แต่พวก X ยังมีแตกออกไปเป็นพวก Xtra นั่นคือ แม้ว่าจะเห็นด้วยกับ X แต่ Xtra ไม่เชื่อว่าวิวัฒนาการของรูปแบบการปกครองจะมาถึงจุดสุดท้ายอันสมบูรณ์ที่สาธารณรัฐ เพราะ Xtra เชื่อว่า มันจะวิวัฒนาการต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และก็ไม่รู้ด้วยว่า รูปแบบการปกครองหลังจากสาธารณรัฐจะมีหน้าตาอย่างไร ทำได้ก็แค่จินตนาการกันไป

อย่างไรก็ตาม ฐานคิดของ X และ Xtra นั้นต่างมีอะไรร่วมกัน นั่นคือ เชื่อในทฤษฎีวิวัฒนาการที่พวกเรามักจะคุ้นเคยกับเรื่องเล่าที่อ้างว่าเป็นวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับพัฒนาการของสิ่งมีชีวิตต่างๆ รวมทั้งมนุษย์ นั่นคือ มนุษย์เราค่อยๆ วิวัฒนาการมาจากลิง และเมื่อทฤษฎีวิวัฒนาการในสายชีววิทยามีอิทธิพลต่อสายรัฐศาสตร์-สังคมศาสตร์ ทำให้มองว่า รูปแบบการปกครองก็มีวิวัฒนาการเช่นกัน เช่น เริ่มต้นที่ยังไม่มีการปกครองอะไร จนมาถึงการปกครองโดยหัวหน้าเผ่าและก็เรื่อยๆ มา เพียงแต่ X ต่างจาก Xtra ตรงที่ดันไปหยุดทฤษฎีวิวัฒนาการไว้ที่สาธารณรัฐเสียเฉยๆ ซึ่งไม่รู้ว่าเอาเหตุผลอะไรไปหยุด ส่วน Xtra นั้นเป็นพวกสายแข็งคือเชื่อว่าสาธารณรัฐเป็นแค่ทางผ่าน รูปแบบการปกครองจะเปลี่ยนแปลงต่อไปอีก ซึ่งทุกวันนี้ ก็ดูจะมีเค้าลางอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่เทคโนโลยีมีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ จนอาจจะอยู่ในมนุษย์ และปกครองมนุษย์ กลายเป็นระบอบที่อำนาจสูงสุดอยู่ที่เทคโนโลยี หรือจะอุตริตั้งชื่อว่า เทคโนโลยาธิปไตย – ก็เอา

หากเปรียบกับวิวัฒนาการของมนุษย์ X เห็นว่าวิวัฒนาการจะมาหยุดตรงที่ความเป็นมนุษย์อย่างที่เห็นๆ กันอยู่ทุกวันนี้ถือเป็น ‘มนุษย์รุ่นสุดท้าย’ (The Last Man) ส่วน Xtra นั้นยังเชื่อว่ามนุษย์อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้จะไม่หยุดอยู่แค่นี้ จะวิวัฒน์ต่อไปเป็น post-human และ post-post ต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งอาจจะมีสภาพเหมือนมนุษย์ต่างดาวอะไรแบบนั้นตามแต่จะจินตนาการกันไป หรืออาจจะสูญพันธุ์ไปก็ได้ เหมือนสัตว์บางชนิด

ส่วนนักวิชาการอีกพวกหนึ่ง (ต่อไปนี้จะเรียกว่า Y) ไม่ได้ปักใจเชื่อในทฤษฎีวิวัฒนาการแบบที่การเปลี่ยนแปลงดำเนินไปอย่างเป็นเส้นตรง แต่เชื่อว่า รูปแบบการปกครองของมนุษย์นั้นสามารถแบ่งในทางทฤษฎีได้สามแบบ นั่นคือ แบบที่อำนาจอยู่ในมือของคนคนเดียว แบบที่อำนาจอยู่ในมือของกลุ่มคน และ แบบที่อำนาจอยู่ในมือของคนส่วนใหญ่ แต่ทั้งสามแบบนี้จะไม่ค่อยมีเสถียรภาพมั่นคงเท่าไรนัก ขึ้นอยู่กับคนที่มีอำนาจ ถ้าดีก็อยู่ได้นานหน่อย แต่จะนานแค่ไหน ก็ยากที่จะอยู่ยั้งยืนยง เพราะคนต้องมีตาย ต่อให้เป็นคนดีแค่ไหนก็ตาม แต่ในกรณีที่อำนาจอยู่ในมือของคนส่วนใหญ่นั้น ไม่ค่อยจะมีปัญหาเรื่องตายเมื่อเทียบกับแบบที่อำนาจอยู่ในมือของคนคนเดียวหรือกลุ่มคน เพราะในคนส่วนใหญ่ก็มีตายกันอยู่ทุกวัน แต่ความเป็นคนส่วนใหญ่นั้นยังดำรงอยู่เสมอ พูดง่ายๆ ก็คือ The People Never Die แต่ปัญหาของคนส่วนใหญ่คือ จะให้คนส่วนใหญ่ดีพร้อมๆ กันเพื่อให้เกิดความเสถียรภาพความมั่นคงในการปกครองนั้นยากอยู่

ดังนั้น ในสายตาของ Y การปล่อยให้มีการปกครองแบบใดแบบหนึ่งในสามแบบนี้ดำรงอยู่อย่างมีอำนาจอันสมบูรณ์ย่อมมีเสื่อมอย่างแน่นอน แต่ขณะเดียวกัน Y ก็เชื่อว่า ในการปกครองของมนุษย์นั้น ย่อมจะต้องมีองค์ประกอบทั้งสามนี้อยู่เสมอและเป็นสิ่งที่เป็นธรรมชาติเสียด้วย นั่นคือ คนส่วนใหญ่หรือประชาชนจะต้องมีอยู่เสมอ ไม่งั้นจะมีรัฐไม่ได้ แต่ก็จะต้องมีคนคนหนึ่งเป็นผู้นำเป็นประธานตัดสิน และก็ย่อมจะต้องมีกลุ่มก๊วนที่เกิดจากการรวมตัวของคนที่เห็นพ้องต้องกันในอะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์หรืออุดมการณ์ความเชื่อหรือความเป็นเครือญาติอะไรก็ตาม

ดังนั้น เมื่อสังคมหรือรัฐย่อมมีองค์ประกอบทั้งสามนี้อยู่เสมอ Y จึงเห็นว่า รูปแบบการปกครองที่ดีน่าจะให้มีการแชร์อำนาจกันระหว่างสามองค์ประกอบนี้ นั่นคือ คนคนเดียวก็ต้องมีอำนาจ กลุ่มคนก็ต้องมีอำนาจ และคนส่วนใหญ่ก็ต้องมีอำนาจ ซึ่ง Y เรียกรูปแบบการปกครองแบบนี้ว่า รูปแบบการปกครอบแบบผสม (mixed constitution) เพื่อป้องกันไม่ให้องค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งมีอำนาจมากเกินไป เพราะถ้าปล่อยให้เพียวๆ (pure) แล้วจะเมาอำนาจ และไม่มีอำนาจใดจะมาตรวจสอบถ่วงดุลได้ แต่ถ้าผสม โอกาสเมาก็จะน้อยลง! แต่ในการผสมทางการปกครองนี้ ให้องค์ประกอบทั้งสามมีอำนาจเท่าๆ กันก็ไม่ได้อีก เพราะถ้าเท่ากัน มันจะไม่ไปไหน คืองัดกันอยู่อย่างนั้น เหมือน shut down! งัดมากๆ เข้าก็ฉีกขาดแตกออกเป็นส่วนๆ กันไป

ดังนั้น Y จึงเห็นว่า ในการผสมก็จะต้องให้บางองค์ประกอบมีอำนาจสุดท้าย เรื่องจะได้จบ และ Y ยังลงไปในรายละเอียดอีกว่าบางเรื่องอาจจะจบที่คนคนเดียว (อำนาจชี้ขาดโดยกษัตริย์หรือประธานาธิบดี) บางเรื่องจบที่คณะบุคคล (อำนาจชี้ขาดอยู่ที่รัฐสภาหรือศาลรัฐธรรมนูญ) หรือจบที่คนส่วนใหญ่ (เลือกตั้งหรือประชามติ)

ในทรรศนะของ Y รูปแบบการปกครองใด หากออกแบบไม่ดี มันก็จะเกิดการเหวี่ยงตัวไปที่องค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่ง และอาจจะเหวี่ยงไปมาอย่างรุนแรง หมุนไปมาเป็นวงกลมระหว่างสามองค์ประกอบนี้ แต่ถ้าออกแบบให้ดีให้สมดุล การเหวี่ยงตัวแม้ว่าจะมี แต่ก็ไม่รุนแรง และไม่หมุนไปมา ในทรรศนะของ Y สาธารณรัฐก็ดี กษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญก็ดี จะอยู่ยั้งยืนยงมีเสถียรภาพและเป็นคำตอบสุดท้ายของรูปแบบการปกครองของมนุษย์ (มนุษย์อย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ซึ่งก็เป็นแบบนี้มานานแล้ว) ก็ต้องอยู่ภายใต้การผสมผสานขององค์ประกอบทั้งสามอย่างเหมาะสมคำว่าเหมาะสมนี้คือ เหมาะสมกับเงื่อนไขของประเทศนั้นๆ เช่น ผสมแบบอเมริกา ผสมแบบอังกฤษ ผสมแบบฝรั่งเศส ผสมแบบเดนมาร์ก แบบสวีเดน

เรื่องเล่าเกี่ยวกับรูปแบบการปกครองระหว่างของ X, ของ Xtra และของ Y แบบไหนน่าเชื่อถือก็เลือกกันไป แต่เลือกยังไงอาจจะไม่ได้อย่างที่เลือก เพราะของแบบนี้ ไม่ว่าจะแนว X, Xtra และ Y มันไม่ได้เป็นของที่เลือกได้ แต่มันเป็นของที่ต้องเป็นไปตามกฎที่อยู่เหนือการเลือก!!


เชิงอรรถ

[1] พรรคอนาคตใหม่ต่างจากพรรคไทยรักไทยในหลายๆ ประเด็น ผู้สนใจโปรดหาดูได้จากข้อเขียนของ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในหนังสือพิมพ์มติชน

Author

ไชยันต์ ไชยพร
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รู้จักในฐานะอาจารย์รัฐศาสตร์จุฬาฯ ผู้ฉีกบัตรเลือกตั้งต่อหน้าสื่อมวลชนในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2549 ในแนวทางอารยะขัดขืน นอกจากนี้ ดร. ไชยันต์เป็นนักวิชาการที่เขียนบทความเผยแพร่ตามสื่อต่าง ๆ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า