เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์: ชีวิตเหลื่อมล้ำ ในรัฐตามอำเภอใจ และไร้การตรวจสอบ

เรื่อง: เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์

สัปดาห์ที่ผ่านมา ครม. มีมติเสนอร่างกฎหมายห้าฉบับแก่ สนช. เพื่อขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการในกระบวนการยุติธรรม ศาล และองค์กรอิสระ 10 เปอร์เซ็นต์ ย้อนหลังถึงปี 2557

เช่น ประธานศาลฎีกา ศาลปกครองสูงสุด และศาลรัฐธรรมนูญ ปัจจุบันรับเงินเดือนอยู่ที่ 75,590 บาท และเงินประจำตำแหน่ง 50,000 บาท จะได้รับเงินเดือนอัตราใหม่ 83,090 บาท บวกเงินประจำตำแหน่งอัตราใหม่ 55,000 บาท เป็นต้น

การขึ้นเงินเดือนครั้งนี้เป็นการขึ้นเงินเดือนย้อนหลังให้อีกสี่ปี ตั้งแต่ปีที่เกิดรัฐประหาร ทำให้ต้องใช้งบประมาณสำหรับจ่ายเงินเดือนทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 450 ล้านบาท

ย้อนกลับไปในเดือนมกราคมที่ผ่านมา หน่วยงานด้านแรงงานของรัฐอนุมัติค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ ต่ำสุด 308 บาท สูงสุด 330 บาท โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 16 บาท ทำให้ค่าจ้างขั้นต่ำอัตราใหม่เปลี่ยนเป็น 316 บาทต่อวัน หรือ 9,480 บาทต่อเดือน

ประเด็นไม่ได้อยู่ที่การเปรียบเทียบตัวเลข แต่อยู่ที่เหตุผลของการขึ้นเงินเดือนที่ ครม. อ้างว่า

เพื่อให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่สูงขึ้น

ย้อนหลังไปในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รัฐบาล ‘สฤษดิ์น้อย’ ใช้คำที่ชัดเจนกว่านี้ว่า “เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ” เมื่อครั้งที่ ครม. มีมติในเรื่องเดียวกันนี้

คนมีเงินเดือนสูงอยู่แล้วที่ 75,000 กว่าบาท บวกกับเงินประจำตำแหน่งอีก 50,000 บาทต่อเดือน ได้รับการขึ้นเงินด้วยเหตุผลดังกล่าว ขณะที่ขบวนการแรงงานหลายกลุ่มเรียกร้องแทบตายมาหลายปีเพื่อต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยขอให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น ‘ค่าจ้างเพื่อชีวิต’ ในอัตราอย่างต่ำที่ 450 บาทต่อวัน เพื่อให้เกิดค่าจ้างที่เป็นธรรม คุ้มครองคนทำงาน เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวอีกสองคน รวมเป็นสามคนพ่อแม่ลูก แต่ความเป็นจริงคือ ขึ้นค่าจ้างเพียง 16 บาทต่อวัน หรือ 480 บาทต่อเดือน ต่างกันลิบลับกับเงินเดือนของข้าราชการในกระบวนการยุติธรรมที่สามารถนำมาเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวได้นับสิบคน มีเงินเอาไปตีกอล์ฟและมัวเมาในเรื่องต่างๆ ได้อย่างสบาย

การเรียกร้องขึ้นเงินเดือนและค่าครองชีพแต่ละครั้งของขบวนการแรงงาน ฝ่ายรัฐมักมีท่าทีเหยียดหยามคนงานว่าเป็น ‘ภาระของชาติ’ ต้องคอยหางานให้ แล้วยังจะมาเรียกร้องนู่นนี่ แต่กลับมีท่าทีอีกแบบต่อข้าราชการในกระบวนการยุติธรรมด้วยการขึ้นเงินเดือน ทั้งๆ ที่แรงงานคือผู้สร้างผลกำไรและความมั่งคั่งให้แก่นายจ้างและรัฐ แต่กลับไม่ได้รับส่วนแบ่งจากผลกำไรและความมั่งคั่งที่เกิดจากหยาดเหงื่อแรงงานของพวกเขาเลย

นี่แหละความเหลื่อมล้ำ

ทำไมบ้านเมืองเราจึงดำรงทัศนคติเช่นนี้ ปัญหาก็เพราะเรามีรัฐบาลที่ออกกฎหมายและนโยบายตามอำเภอใจ ตรวจสอบไม่ได้ กลไกการตรวจสอบและถ่วงดุลที่หวังพึ่งได้จากกระบวนการยุติธรรมก็ง่อยเปลี้ยไปหมดจากหลายสาเหตุ การขึ้นเงินเดือนก็เป็นสาเหตุหนึ่ง

คนพวกนี้ดูดผลกำไรและความมั่งคั่งไปจากสังคม แทนที่ประชาชนส่วนใหญ่ของสังคมจะได้รับประโยชน์ในรูปของสวัสดิการและบริการสาธารณะจากการลงทุนที่แรงงานได้ลงแรงไป แต่กลับต้องเก็บไว้จ่ายเงินเดือนแก่ข้าราชการกลุ่มนั้น ทำให้เราในฐานะประชาชน ไม่มีสวัสดิการและบริการสาธารณะที่ดีต่อคุณภาพชีวิต

ยังมีคนหาเช้ากินค่ำนอกบริบทของแรงงานในโรงงานที่ชีวิตประจำวันหาอยู่หากินได้ยากขึ้น กว่าจะหาเงินได้ 100 หรือ 200 บาทแต่ละวันแทบกระอักเลือด ขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของลูกสูงมาก แต่ราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำลงแทบทุกชนิด ทั้งข้าว อ้อย ข้าวโพด กระเทียม มันสำปะหลัง ยางพารา ฯลฯ สาเหตุก็เพราะมีการกักตุนสินค้าจำนวนมหาศาลอยู่ในโกดังบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพืชผลการเกษตรเพื่อรอเทขายทำกำไร เช่น โรงงานแปรรูปยางพาราขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในอำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย กดราคารับซื้อยางพาราชนิดก้อนถ้วยที่ 17-18 บาทต่อกิโลกรัม บางวันรับซื้อ 17 บาท บางวันรับซื้อ 18 บาท บางช่วงเวลาถูกกดต่ำสุดที่ 15 บาทต่อกิโลกรัมก็มี

คุณภาพชีวิตของประชาชนที่นั่นตกต่ำลงมาก จากที่เคยมีเงินเก็บสำหรับการศึกษาของลูก มีเงินจ่ายสำหรับซ่อมแซมบ้านเรือน ค่าอาหาร ค่าข้าวของเครื่องใช้ในครัวเรือน ค่าผ่อนรถ ค่าเลี้ยงดูพ่อแม่และญาติสนิท ค่านมลูก ค่าโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต ฯลฯ เดี๋ยวนี้ต้องกู้ยืมเพื่อนบ้านหรือเงินกู้ทั้งในและนอกระบบมากขึ้น

ความอยุติธรรมด้านราคาผลผลิต เป็นความเหลื่อมล้ำอีกประเภทหนึ่ง ระหว่างอำนาจเงินมหาศาลของบริษัทกับประชาชนที่ต้องการขายผลผลิตเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิต ซึ่งมีรัฐเป็นผู้ควบคุม กำกับ และดูแลกลไกด้านราคา ที่ไร้ประสิทธิภาพเสียจนเอนเอียงเข้าข้างบริษัท

ขณะที่สถานการณ์การถือครองที่ดินในบ้านเมืองเราพบว่ามีการกระจุกตัวสูง ที่ดินส่วนใหญ่อยู่ในความครอบครองของคนส่วนน้อย ทำให้ผู้คนจำนวนมากขาดแคลนที่ดินทำกิน ตัวเลขปี 2555 พบว่า สัดส่วนการถือครองที่ดินในกลุ่มผู้ถือครองที่ดินร้อยละ 10 ที่มีการถือครองที่ดินมากที่สุดต่อกลุ่มผู้ถือครองที่ดินร้อยละ 10 ที่มีการถือครองที่ดินน้อยที่สุด ห่างกัน 854 เท่า โดยกลุ่มผู้ถือครองที่ดินร้อยละ 10 ที่มีการถือครองที่ดินมากที่สุด มีส่วนแบ่งการถือครองที่ดินร้อยละ 61 ซึ่งมีสัดส่วนสูงกว่าผู้ถือครองที่ดินอีกร้อยละ 90 ที่เหลือ ที่มีส่วนแบ่งการถือครองที่ดินเพียงร้อยละ 39 [1]

ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำระหว่างการถือครองที่ดินของคนรวยที่มีโอกาสได้สิทธิการถือครองที่ดินมากกว่าคนจนที่ถูกบีบจากนโยบายและกฎหมายไม่ให้เป็นผู้มีสิทธิถือครองที่ดินได้ เมื่อไม่มีสิทธิถือครองที่ดินก็ไม่มีหลักทรัพย์เอาไปกู้หนี้ยืมสินจากสถาบันการเงินของรัฐ เช่น ธ.ก.ส. เพื่อนำไปซื้อหาปัจจัยการผลิตเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนและครอบครัวให้ดีขึ้นได้

แน่นอนว่า ปัญหานี้เป็นปัญหาต่อเนื่องยาวนานจากรัฐบาลหลายสมัย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่านโยบาย ‘ทวงคืนผืนป่า’ ตามคำสั่ง คสช. ที่ 64/57 [2] และ 66/57 [3] ของรัฐบาลนี้มีแนวโน้มที่จะทำให้ความเหลื่อมล้ำด้านการถือครองที่ดินระหว่างคนรวยกับคนจนถ่างกว้างขึ้นไปอีก เพราะเป็นคำสั่งที่บีบประชาชนคนเล็กคนน้อยในสังคมให้ต้องสูญเสียสิทธิการถือครองที่ดินทำกินโดยชอบธรรมในเขตป่าไปเสีย

เรากำลังมีชีวิตอยู่ในท่ามกลางยุคสมัยของ ‘รัฐตามอำเภอใจ ไร้การตรวจสอบ’ ที่บีบประชาชนทุกช่องทางให้สูญเสียสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ไม่เว้นแม้แต่สิทธิและเสรีภาพในการพูด แสดงความคิดเห็น และการชุมนุม ที่มีไว้เพื่อตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจรัฐ

หลังรัฐประหาร 2557 เราพบปริมาณคดีความที่เกิดจากความขัดแย้งจากการผลักดันนโยบาย โครงการพัฒนา และกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมเพิ่มขึ้นมาก ก่อนหน้ารัฐประหาร เราจะพบความขัดแย้งระหว่างบริษัทกับประชาชนโดยตรงที่ขัดแย้งจนถึงขั้นฟ้องคดีความกัน แต่หลังรัฐประหารสัดส่วนของคดีความที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นส่วนของรัฐฟ้องคดีต่อประชาชนโดยตรงด้วยกฎหมายชุมนุมฯ [4] และคำสั่งที่ 3/58 [5] ห้ามมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป เพื่อกระทำการข่มขู่คุกคามต่อประชาชนให้หนักข้อยิ่งขึ้น

มีตัวอย่างคดีและการถูกข่มขู่คุกคามที่ไม่เป็นคดีจำนวนมาก ทำให้ประชาชนไม่สามารถลุกขึ้นมาทำการชุมนุม เช่น กรณีชาวบ้านกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส ที่ร่วมกันออกมาคัดค้านการขุดเจาะสำรวจแร่โปแตชหลุมที่ 4 ของบริษัทจากทุนจีนเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ถูกฟ้องในข้อหาชุมนุมโดยไม่ขออนุญาตและ ‘ข่มขืนใจเหมือง’ หลักฐานที่นำมาฟ้องคดีก็คือรูปถ่ายที่ตำรวจกับทหารถ่ายส่งให้กับเหมือง

จะเห็นได้ว่าในทางปฎิบัติกฎหมายชุมนุมฯ ไม่ได้มุ่งคุ้มครองและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ชุมนุมตามที่ได้บัญญัติไว้ในตัวบทกฎหมาย เพราะถ้ามุ่งคุ้มครองและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ชุมนุมจริง คงไม่มีผู้ชุมนุมรายใดต้องถูกฟ้องคดีจากรัฐเช่นนี้ กฎหมายดังกล่าวจึงกลายเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐในการฟ้องคดีกลั่นแกล้งเพื่อปิดปากประชาชนให้กลัว

แทนที่จะเป็นกฎหมายที่คุ้มครอง อำนวยความสะดวก ส่งเสริมและสนับสนุนสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน กลับเป็นกฎหมายที่มีไว้ใช้เพื่อคุ้มครอง อำนวยความสะดวก ส่งเสริมและสนับสนุนแก่ผลประโยชน์ของบริษัท และขยายความมั่นคงของรัฐมากเสียจนไปละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนแทน

กรณีคดีจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/58 ปัจจุบันมีผู้ถูกฟ้องคดีไปแล้ว 421 คน ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งที่หน้ามาบุญครอง ที่ถนนราชดำเนิน ที่หน้ากองทัพบก การชุมนุมเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งในวันครบรอบสี่ปีรัฐประหาร และการเดินมิตรภาพจากกรุงเทพฯ ไปขอนแก่น เป็นต้น [6]

การแทรกแซงของคำสั่งดังกล่าวด้วยอำนาจตามอำเภอใจของรัฐ ส่งผลให้ประชาชนทั่วไปไม่สามารถทำการ ‘ชุมนุมการเมือง’ และ ‘ชุมนุมไม่การเมือง’ ได้โดยง่าย การชุมนุมทุกอย่างตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปจะถูกตีความว่าเป็นการชุมนุมทางการเมืองไว้ก่อน เพื่อทำให้ประชาชนกลัวจนไม่สามารถจัดการชุมนุม และถ้ายังดื้อรั้นหาช่องทางก่อการชุมนุมขึ้นมา ก็จะใช้การฟ้องคดีมากำราบแทน

กฎหมายและคำสั่งดังกล่าวได้ปิดกั้นสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุมและการมีส่วนร่วมของประชาชน ด้วยการห้ามทำกิจกรรมเกือบทุกรูปแบบที่เป็นการรวมตัวกัน เพราะจะถูกตีความว่าเข้าข่ายการชุมนุมตามกฎหมายและคำสั่งดังกล่าวที่บังคับให้ต้องแจ้งการชุมนุม ถ้าชุมนุมโดยไม่แจ้งก็มีความผิด จากตามหลักการแล้วเพียงแค่แจ้งให้ทราบ แต่กลายเป็นต้องแจ้งเพื่อขออนุญาต ซึ่งส่วนใหญ่ไม่อนุญาต หรือถ้าอนุญาตก็จะมีเงื่อนไขหยุมหยิมเต็มไปหมด จนทำให้การชุมนุมไม่มีพลังกดดันและต่อรองกับบริษัทและรัฐได้

ความยุติธรรมกับความเหลื่อมล้ำแปรผันตามกัน บ้านเมืองใดมีความเหลื่อมล้ำสูง ความชำรุดของกระบวนการยุติธรรมย่อมสูงตามไปด้วย บ้านเมืองใดมีความชำรุดของกระบวนการยุติธรรมสูง ความเหลื่อมล้ำก็สูงเช่นเดียวกัน

หมายเหตุ: เรียบเรียงเนื้อหาจากบทเสวนาในงาน ‘WAY dialogue: ประเทศเหลื่อมล้ำ ความยุติธรรมชำรุด’ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2561


ข้อมูลอ้างอิง:
[1] ดูรายละเอียดได้ที่ รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ปี 2558. สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, สำนักพัฒนาฐานข้อมูลและตัวชี้วัดภาวะสังคม. หน้า 2-17
[2] คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้
[3] คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 66/2557 เรื่อง เพิ่มเติมหน่วยงานสำหรับการปราบปราม หยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ และนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวในสภาวการณ์ปัจจุบัน
[4] พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558
[5] คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ
[6] ดูรายละเอียดได้ที่ รายงานการตั้งข้อหาทางการเมืองหลังรัฐประหาร 2557. เอกสารออนไลน์ของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อสังคม หรือ iLaw เข้าถึงข้อมูลได้ที่ https://freedom.ilaw.or.th/politically-charged เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2561

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า