โลกตะวันตกผลิต Joker โลกตะวันออกสร้าง Parasite

การประกาศผลรางวัลออสการ์ 2020 Parasite คว้ารางวัล ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, บทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม, ภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม และผู้กำกับยอดเยี่ยม ขณะที่ภาพยนตร์ที่เป็นเหมือนอีกด้านของ Parasite อย่าง Joker ก็ได้รางวัลนักแสดงนำชายไปครอง โดยการแสดงของ วาคีน ฟีนิกซ์  ผู้รับบทเป็น Joker นั่นเอง

ก่อนหน้าการประกาศรางวัล กลายเป็นอีกปี ที่ออสการ์ 2020 มีประเด็นน่าจับตามองมากมาย ทั้งประเด็น Oscar So White ที่กลับมาอีกครั้ง หรือภาพรวมของงานที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า Very Male, Very White จากการที่รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมนั้นมีแต่รายชื่อของผู้กำกับที่เป็นผู้ชายทั้งหมด

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีอีกหนึ่งข้อสังเกตก็คือ บรรดาภาพยนตร์ที่เข้าชิงรางวัลต่างๆ ในปีนี้มีแต่ภาพยนตร์ที่เป็น Dark Films เสียส่วนใหญ่ เช่น Joker, Parasite, Jojo Rabbit, Bombshell และ Knives Out ซึ่งถึงแม้จะไม่ใช่ทั้งหมด แต่ก็พอจะมองเห็นธีมมืดมนของภาพยนตร์ที่เข้าชิงในปีนี้ไม่น้อย เพราะตั้งแต่ช่วงที่เคยเกิดสงครามอิรักในสมัยของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ตั้งแต่นั้นมา ก็มีหนังสงครามโทนทึบๆ ได้รางวัลในสาขา Best Picture ไปไม่น้อย เช่น The Departed ในปี 2006, No Country for Old Men ในปี 2007 และ The Hurt Locker ในปี 2009

กลายเป็นว่าหนังในแต่ละสมัยสามารถบอกสถานการณ์การเมืองรวมถึงสภาพสังคมของโลกในปีนั้นๆ ได้

ในขณะที่สปอตไลท์ส่องไปยังบรรดาภาพยนตร์ที่เข้าชิงออสการ์ในปีนี้ มีภาพยนตร์ถึงสองเรื่องด้วยกันที่เป็นภาพยนตร์สะท้อนสังคมอย่างชัดเจน และมีประเด็นที่คล้ายคลึงกันให้พูดถึง สองเรื่องที่กำลังจะพูดถึงก็คือ Joker และ Parasite

ไม่ง่ายเลยที่จะจับคู่ Joker และ Parasite มาเปรียบเทียบกัน แต่ถ้าพิจารณาจากความเห็นของคนดูในสังคมต่อหนังทั้งสองเรื่องแล้ว เราจะเห็นประเด็นที่ภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องนี้ส่องแสงสะท้อนหากันอยู่ ทั้งการต่อสู้และการเอาชีวิตรอดภายใต้ปัจจัยของการเป็นชนชั้นล่างในสภาพสังคมที่ไม่เอื้อให้คนจนอยู่รอด ตัวเอกมีแบคกราวด์ชีวิตที่เหมือนกัน คือมีชีวิตที่แร้นแค้นและต้องดิ้นรนกับสภาพทางเศรษฐกิจ ทั้งยังปราศจากความมั่นคงทางร่างกายและอารมณ์ ทั้งสองเรื่องถูกแบ่งแยกออกจากกันด้วยการจัดสีสัน เนื้อหาหลักในการดำเนินเรื่อง และบรรยากาศที่เป็นฉากหลังของแต่ละเรื่อง

Joker อยู่ในเมือง Gotham ยุค 1970 บนถนนเต็มไปด้วยขยะ ระบบเมืองในอเมริกาที่กำลังล้มเหลว อุตสาหกรรมไม่มีการควบคุมและก่อมลพิษอย่างหนัก ขยะเต็มเมืองจนมีหนูระบาด และรัฐบาลที่เพิกเฉยต่อปัญหาเหล่านั้น

Parasite นั้นอยู่ในยุคร่วมสมัยของเกาหลี แบ่งแยกฉากหลังของเรื่องเป็นสองส่วนระหว่างบ้านทรงเกาหลีที่หรูหรา และอพาร์ตเมนต์ที่ทรุดโทรม

สำหรับ Joker นั้นถือว่าเป็นภาพยนตร์ที่นักวิจารณ์มากมายต่างยกย่อง แต่หลังจากภาพยนตร์เรื่องนี้เผยแพร่สู่สาธารณะ Joker กลับต้องรับมือกับประเด็นถกเถียงในสังคมเรื่องการจัดการความรุนแรงในหนัง เพราะสังคมต่างรู้สึกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้มีการดำเนินให้เห็นถึงวิวัฒนาการของตัวละครหลักอย่างไร้ความรับผิดชอบ โจ๊กเกอร์ หรือ อาร์เธอร์ ตัวละครหลักที่มีความสับสนของสภาพจิตใจที่นำมาสู่พฤติกรรมรุนแรงต่อสังคม อารมณ์ และเหตุผล ตัวละครถูกบีบคั้นจากการใช้ชีวิตอยู่ในเมืองนี้และจากเหตุการณ์ในอดีต จนทำให้ ‘คนคนหนึ่ง’ กลายเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายด้วยความขมขื่นและคับแค้น จนสุดท้ายกลายเป็นความรุนแรงที่มากเกินไปจนคนดูหลายคนรับไม่ไหว หนังเรื่องนี้นอกจากเทคนิคการสร้างแล้ว ยังถูกพูดถึงมากมายในเชิงสะท้อนสังคม ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และยังก้าวข้ามไปถึงเรื่องปรัชญา เรื่องความดีและความเลว ความเป็นนามธรรมที่ตีความได้ไม่รู้จบ

การเดินทางของความพยายามที่จะกลายเป็นคนร่ำรวยไม่มีวันจบสิ้น ตราบเท่าที่คุณไม่สามารถหนีจากความยากจนได้สำเร็จ

ส่วนเรื่องราวและตัวละครของ Parasite นั้นต่างจาก Joker ค่อนข้างมาก เรียกว่าเปรียบเทียบไม่ได้เลย แต่อย่างที่บอกไปตอนต้นว่า Parasite กับ Joker คล้ายกันตรงที่ ผู้คนต่างเป็นเหยื่อของสังคมที่โหดร้ายและเหลื่อมล้ำ Parasite เป็นเรื่องราวของครอบครัวคิม ซึ่งประกอบด้วยพ่อ แม่ ลูกสาว และลูกชาย ที่มีบ้านพักเป็นห้องหับอันแสนโกโรโกโสที่โผล่พ้นพื้นถนนมาแค่ครึ่งเดียว และเป็นภาพที่ตอกย้ำความเป็นคน ‘ระดับล่าง’ อย่างแท้จริง นั่นเป็นวิธีการที่ตรงข้ามกับตอนที่หนังพาผู้ชมไปรู้จักกับบ้านอันวิลิศมาหราของครอบครัวพัค (ซึ่งประกอบด้วยพ่อ แม่ ลูกสาว และลูกชายเหมือนกัน) ที่นอกจากตั้งอยู่บนเนินสูงแล้ว ยังแวดล้อมด้วยบรรยากาศที่เป็นส่วนตัว

ไม่มีข้อสงสัยว่าเหตุผลสำคัญที่ทำให้ Parasite กลายเป็นหนังที่คนดูถูกอกถูกใจ ไม่ได้ดูยาก หรือต้องปีนบันไดดูอย่างหนังรางวัลเรื่องอื่นๆ ด้วยเพราะการเล่าเรื่องที่สนุกสนาน สอดแทรกอารมณ์ขันในแบบที่คาดไม่ถึง ตัวละครเต็มเปี่ยมไปด้วยสีสันและความมีชีวิตชีวา และเจาะลึกในประเด็นชนชั้นของสังคมเกาหลี

ดังนั้นแล้วทำไมความรุนแรงของ Joker จึงเป็นที่โต้เถียงกันมากกว่าความรุนแรงของ Parasite ในเมื่อภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องนี้ต่างเสนอเรื่องราวความไม่เท่าเทียมระหว่างความร่ำรวยและความยากจน และผลกระทบที่เกิดขึ้นของความไม่เท่าเทียมนี้ แม้เรื่องหนึ่งจะมีฉากหลังของอเมริกาเมื่อ 40 ปีก่อน ในขณะที่อีกเรื่องหนึ่งดำเนินไปด้วยเรื่องราวร่วมสมัยบนฉากหลังของเมืองที่ผู้ชมชาวอเมริกันและตะวันตกส่วนใหญ่อาจไม่คุ้นเคย

Joker ตีความเรื่องชนชั้นต่างจาก Parasite หนังเรื่องหลังทำให้เห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ในโลกทุกวันนี้ สำหรับ Parasite ตัวละครเลือกที่จะแอบเนียนเข้าไปอาศัยอยู่ในโครงสร้างของความเหลื่อมล้ำนั้น ฉกฉวยช่วงใช้ทรัพยากรนั้น แตกต่างจาก Joker ที่สุดท้ายความรุนแรงกลายเป็นทางเลือกหากต้องการความเปลี่ยนแปลง หรือเป็นการเปล่งเสียงร้องออกมาว่า “กูอยู่ตรงนี้นะ”

เพราะสุดท้ายแล้วหนังทั้งสองเรื่องกลับซ่อนเรื่องราวที่ทำให้คนดูส่วนมากสงสารเห็นใจ ตัวละครที่ถึงแม้จะกำลังทำผิดศีลธรรมอยู่ เลยเถิดถึงขั้นเอาใจช่วย กระอักกระอ่วนเมื่อเขาข้ามเส้นศีลธรรมครั้งแล้วครั้งเล่า บีบคั้นหัวใจกันจนวินาทีสุดท้าย จนท้ายที่สุดแล้วก็อดตั้งคำถามไม่ได้ว่าเรากำลังเก็บกดจากแรงกระแทกทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองที่กดขี่ข่มเหงเราอยู่หรือเปล่า และเมื่อเราเห็นภาพผู้คนที่สามารถลุกฮือตอบโต้กับสิ่งเหล่านั้นได้อย่างเจ็บแสบ เราก็เผลอเอาตัวเองลงไปเป็นตัวละครตัวนั้น ปลดปล่อยสำนึกคิดจากจิตใจอันมืดบอดของตัวเอง ไม่อาจถูกต้านทานด้วยหลักจริยธรรมอันดีงาม จมดิ่งเข้าสู่ dark side เช่นเดียวกันไม่ว่าจะใน Joker หรือ Parasite ก็ตาม

Author

หทัยธร หลอดแก้ว
เด็กปิ่นเกล้าที่ใช้เวลา 4 ชั่วโมง เดินทางข้ามฟากมาทำงานที่ลาดพร้าว และใช้อีก 4 ชั่วโมง เพื่อเล่นกับแมวในออฟฟิศ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า