‘คนจนเมือง 2022’ บุคคลสูญหายในนโยบายความเจริญ

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น และ The Active เปิดผลการศึกษาชุดโครงการวิจัย ‘คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง’ ผ่านเวทีสาธารณะเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565 

การวิจัยในครั้งนี้ครอบคลุมพื้นที่ 5 ภูมิภาคของประเทศไทย แบ่งเป็นกรณีศึกษาในจังหวัดสงขลา ขอนแก่น ชลบุรี เชียงใหม่ และกรุงเทพมหานคร โดยมุ่งประเด็นสำคัญไปที่วิถีและสภาพความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนแปลงไปในรอบ 2 ปีของกลุ่มคนจนเมือง นับจากการรายงานผลวิจัยครั้งล่าสุดเมื่อปี 2563

คนจน 4.0 อยู่อย่างไรในวันที่เมืองใหญ่กลายเป็นสินค้า

เพื่อก้าวสู่การเป็นประเทศที่เท่าทันโลกในศตวรรษที่ 21 การปรับเปลี่ยนวิถีของชุมชนเมืองจึงถูกเลือกใช้เป็นกลยุทธ์ในการพัฒนาทั้งในแง่ของการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม หากแต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีประชากรส่วนหนึ่งที่ไม่สามารถจะก้าวเดินไปพร้อมวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของผู้นำได้ เพราะถูกความจนฉุดรั้ง

ผศ.บุญเลิศ วิเศษปรีชา ตัวแทนคณะวิจัยจากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งทำการวิจัยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ให้มุมมองว่า พื้นที่เมืองถูกสร้างมูลค่าให้เป็นเหมือน ‘สินค้า’ เพื่อตอบสนองความต้องการของชนชั้นกลางไปจนถึงชนชั้นสูงทั้งในแง่นโยบายและการปฏิบัติ ทำให้คนจนเมืองและคนชายขอบไม่สามารถเข้าถึงการใช้พื้นที่เหล่านั้นได้ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่แค่ในพื้นที่กรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงอีก 4 จังหวัดที่โครงการวิจัยสำรวจพบ 

นอกจากนี้ ผลการวิจัยยังพบความยากลำบากของคนจนเมืองที่แตกต่างและหลากหลายตามวิถีชุมชนและแนวคิดในการพัฒนาเมืองท้องถิ่น ซึ่งสะท้อนให้เห็นช่องโหว่ของนโยบายที่ไม่อาจเข้าถึงคนได้ทุกฐานะ โดยมีข้อสังเกตที่น่าสนใจแยกเป็นรายจังหวัดได้ดังนี้

กรุงเทพฯ – พบการขวนขวายยกระดับอาชีพของคนจนที่ยังต้องต่อสู้กับต้นทุนในพื้นที่ซึ่งสวนทางกับรายได้ และการถูกผลักออกจากแผนการพัฒนาเมืองหลวงเพื่อไปสู่ความศิวิไลซ์

เชียงใหม่ – เผชิญกับความหลากหลายของคนจนเมืองที่ไม่ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง รวมทั้งต้นทุนการมีชีวิตที่สูงเกินกว่าจะแบ่งสรรปันส่วนพื้นที่ในเมืองให้แก่คนจน คนไทใหญ่ และแรงงานข้ามชาติ

ขอนแก่น – คนจนเมืองมีความไม่มั่นคงด้านที่อยู่อาศัยอันเนื่องมาจากนโยบายการพัฒนาพื้นที่ และขาดสิทธิในการมีส่วนร่วมและแสดงความคิดเห็นในโครงการพัฒนาเมือง

ชลบุรี – จำนวนแรงงานต่างถิ่นและประชากรแฝงเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดปัญหาความยากจนของคนชายขอบ และถูกจำกัดการเข้าถึงสิทธิในนโยบายทางการเมือง 

สงขลา – กลุ่มคนจนเมืองมีการโยกย้ายที่อยู่อาศัยเนื่องจากขาดความมั่นคงในด้านพื้นที่ ทั้งยังเข้าไม่ถึงสวัสดิการแห่งรัฐและสิทธิพื้นฐานอันจำเป็น

สิ่งหนึ่งที่ปรากฏอย่างเด่นชัดในผลการวิจัยที่พบทั้ง 5 ภูมิภาค คือ การที่คนจนเมืองถูกขับออกจากการเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการพัฒนา รวมถึงขาดการเข้าถึงสิทธิในการออกแบบนโยบายอันมีผลกระทบต่อชีวิตของตนเอง ทำให้สถานะของคนจนในเมืองใหญ่ไม่ต่างอะไรกับบุคคลสูญหาย

ข้อเท็จจริงที่ตอกย้ำว่าเมืองถูกทำให้เป็นสินค้า คือการดำเนินโครงการเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภายใต้วิสัยทัศน์ ‘ไทยแลนด์ 4.0’ โดยมีพื้นที่นำร่องในจังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี และกรุงเทพมหานคร ทั้งยังเดินหน้าต่อในพื้นที่จังหวัดสงขลา ซึ่งไม่อาจปฏิเสธได้ว่าหลักในการดำเนินโครงการนั้นไม่สอดรับกับวิถีชีวิตของคนจนเมืองซึ่งเป็นประชากรที่สำคัญอีกกลุ่มหนึ่งในพื้นที่เมือง 

ซ้ำร้ายยังผลักให้เขาเหล่านั้นตกลงจากขบวนรถไฟแห่งการพัฒนาอย่างไม่อาจขัดขืน

จาก ‘คนสร้างเมือง’ ถึง ‘โครงสร้างเมือง’

แม้จะมีชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่ แต่ข้อจำกัดหลากหลายด้านทำให้คนจนเมืองไม่มีทางเลือกในการประกอบอาชีพมากนัก จากผลการศึกษาเดิมเมื่อปี 2563 ของโครงการวิจัยคนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง ระบุว่า อาชีพของกลุ่มคนจนเมืองส่วนใหญ่คือการขายแรงงานและงานบริการ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญอย่างยิ่งในแง่ของการพัฒนาเศรษฐกิจและขับเคลื่อนโครงสร้างของเมืองในระดับฐานราก

อย่างไรก็ตาม รายงานผลการวิจัยในครั้งล่าสุดนี้ พบว่า กลุ่มคนจนเมืองในหลายพื้นที่มีการยกระดับปรับเปลี่ยนอาชีพไปเป็นเจ้าของกิจการ แสดงให้เห็นถึงการปรับตัวตามพลวัตของสังคม และพยายามดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนา แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่อาจก้าวข้ามช่องโหว่ของต้นทุนทางเศรษฐกิจในสังคมเมืองได้

ข้อเสนอหนึ่งจาก ผศ.ธนพฤกษ์ ชามะรัตน์ นักวิจัยจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระบุว่า นโยบายการพัฒนาเมืองต้องตระหนักถึงสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในเมือง (The Right to the City) ของประชาชนทุกกลุ่ม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มคนที่เปรียบเสมือนฐานคอนกรีตซึ่งแบกรับคนทั้งเมืองเอาไว้

เช่นเดียวกันกับข้อเสนอของ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล นักวิจัยจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ระบุว่า การวางนโยบายการพัฒนาเมืองไม่ใช่แค่การจัดระเบียบเมืองให้เรียบร้อยและสวยงาม แต่ต้องมุ่งไปที่การใช้ประโยชน์จากพื้นที่อย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม

“คนจนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างเมือง ควรมีส่วนร่วมกำหนดอนาคตของเมืองด้วย”

ข้อเสนอเชิงนโยบายต่อสังคมที่ผันเปลี่ยน

ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ หัวหน้าโครงการวิจัยได้สรุปข้อเสนอจากเวทีสาธารณะ ‘คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง’ ที่มีร่วมกันจากกลุ่มโครงการวิจัย ซึ่งครอบคลุมวิถีชีวิตของคนจนเมือง 4 ข้อ คือ

  1. คนจนเมืองควรได้รับความมั่นคงในที่อยู่อาศัย
  2. คนจนเมืองควรได้รับการจัดสรรพื้นที่เพื่อการประกอบอาชีพนอกระบบ
  3. ต้องมีการกระจายอำนาจในหลายมิติ เพื่อให้ข้อเสนอจากกลุ่มคนจนเมืองได้รับการยอมรับและถูกนำไปปรับใช้
  4. สร้างวิสัยทัศน์ความเป็นเมืองที่เท่าเทียม เพื่อให้คนจนเมืองได้มีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบายการพัฒนา

นอกจากนี้ยังต้องอาศัยการทำความเข้าใจลักษณะความเป็นอยู่ สภาพปัญหา และผลกระทบในแต่ละด้านที่คนจนเมืองต้องเผชิญ เพื่อให้สามารถแก้ไขจัดการรากเหง้าของปัญหาความจนและความเหลื่อมล้ำในสังคมได้อย่างยั่งยืนและเกิดประสิทธิภาพ

Author

รพีพรรณ พันธุรัตน์
เกิดสงขลาแต่ไม่ใช่คนหาดใหญ่ จบสื่อสารมวลชนจากเชียงใหม่แล้วตัดสินใจลากกระเป๋าเข้ากรุง ชอบเขียนมากกว่าพูด ชอบอ่านมากกว่าดู มีคู่หูเป็นกระดาษกับปากกา

Author

พิชชาพร อรินทร์
เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีลูกพี่ลูกน้องเป็นน้องหมา 4 ตัว ชอบสังเกต เก็บรายละเอียดเรื่องราวของผู้คน ตัดขาดจากโลกภายนอกด้วย playlist เพลงญี่ปุ่น อยู่ตรงกลางระหว่างหวานและเปรี้ยว นั่นคือ ส้ม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า