โควิดไม่ใช่ ‘ของขวัญ’ แต่คือการเปิดบาดแผลของสังคมที่เหลื่อมล้ำ

ทำไมคนที่เปราะบางจึงควรได้รับความช่วยเหลือมากกว่า

กลายเป็นคำถามในสังคมออนไลน์ หลังเหตุวิวาทะระหว่างฝ่ายที่เห็นว่ามาตรการช่วยเหลือของรัฐเพียงพอแล้ว แต่ประชาชนต่างหากกลับไม่สามารถพึ่งตนเองได้มากพอ ขณะที่อีกไม่น้อยมองว่ามาตรการที่รัฐช่วยเหลือประชาชนนั้นล้มเหลว จนปรากฏให้เห็นการฆ่าตัวตายรายวันของกลุ่มคนที่เปราะบางทางสังคม ซึ่งหมายถึงคนที่สูญเสียอาชีพ รายได้ ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว คนเหล่านี้ขาดโครงข่ายความปลอดภัยในสังคมรองรับอันเนื่องมาจากมาตรการเคอร์ฟิวของรัฐ

จากวิวาทะนี้เอง ทำให้เรามองหามุมมองของจริยศาสตร์เพื่อตอบคำถามว่าแท้ที่จริงแล้ว “ทำไมคนที่เปราะบางจึงควรได้รับความช่วยเหลือ” และมีหนทางใดที่ควรจะเกิดในวันที่วิกฤตินี้ผ่านพ้นไป

จากคนแข็งแกร่งเท่านั้นที่อยู่รอด สู่ยุคที่จะไม่มีใครถูกทอดทิ้ง

สังคมโลกได้ยอมรับแนวคิดการสร้างความเท่าเทียมกันมาสักระยะแล้ว อย่างน้อยที่สุดหลังทศวรรษที่ 21 เป็นต้นมา จากเดิมที่เชื่อกันว่าความเท่าเทียมตามหลักความยุติธรรมตามธรรมชาติ ควรใช้เพื่ออุดช่องสถานการณ์ที่กฎหมายหรือกลไกรัฐ ไม่สามารถจัดการระบบเศรษฐกิจให้เป็นธรรมได้ แนวคิดอรรถประโยชน์นิยมมีอิทธิพลสูงในศตวรรษที่ 20 และครอบงำแนวทางการพัฒนาของโลก แนวคิดนี้ถือประโยชน์ของคนจำนวนมากมาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจระดับนโยบาย แต่ความล้มเหลวตลอดศตวรรษที่ 20 ก็แสดงให้เห็นว่าความคิดนี้ไม่เพียงพอที่จะสร้างสังคมสงบสุขหรือดีงามขึ้นมาได้ อันเนื่องมาจากระบบเสรีนิยมใหม่ขยายความเหลื่อมล้ำไปอย่างมหาศาล ขณะที่คนรวยก็รวยล้นฟ้า ส่วนคนจนก็ติดกับดักสภาวะยากจนข้นแค้นไม่รู้จบ

ในแง่ของการให้ความช่วยเหลือตามแนวคิดอรรถประโยชน์นิยมนั้น จึงไปสอดรับกับสังคมไทยในอดีตที่มักจะมองว่าความยากจนคือความทุกข์ยากหิวโหย เป็นชีวิตที่ประสบเคราะห์กรรมจากภัยพิบัติต่างๆ เช่น ภัยสงคราม ภัยธรรมชาติ หรือเกิดโรคระบาดทำให้เกิดความอดอยาก ความยากจนเป็นเรื่องของเคราะห์กรรม การช่วยเหลือคนยากจนจึงเป็นการทำบุญให้ทานตามหลักพุทธศาสนา และเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงได้รับการปกป้องและได้รับความช่วยเหลือเพื่อให้รอดพ้นจากเคราะห์กรรม ภัยพิบัติ ที่จะคร่าชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน ซึ่งถือเป็นสิทธิในทางลบ

อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา เกิดแนวทางการพัฒนาที่เชื่อว่าควรให้ความสนใจกับ ‘การมีชีวิตที่ดี’ ของมนุษย์ หรือคำที่นักเศรษฐศาสตร์ที่ทรงอิทธิพลในเวทีการกำหนดนโยบายการพัฒนาระหว่างประเทศอย่าง อมาตยา เซน ใช้ คือคำว่า ‘เสรีภาพเชิงบวก’ (positive freedom) หรือความสามารถซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ระหว่างศักยภาพภายในที่ยังไม่ได้รับการขัดเกลากับกิจกรรมที่ได้ทำไปแล้ว”1

แนวคิดนี้ใช้ความเท่าเทียมเป็นฐานของความยุติธรรม ดังนั้นเราจึงได้ยินคำที่พูดราวกับเป็น jargon อย่าง ‘inclusive society’ ‘เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ ฯลฯ พรั่งพรูมาตั้งแต่เวทีประชุมนานาชาติเรื่อยมาถึงรัฐบาลประเทศต่างๆ แม้กระทั่ง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังสามารถพูดคำนี้ได้ แต่วิกฤติจากสถานการณ์โควิด-19 กลับเผยให้เห็นว่า แนวคิดดังกล่าวยังไม่สามารถปักหลักหนักแน่นลงในสังคมไทย

วันนี้ (7 พ.ค. 63) ศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยข้อมูลการฆ่าตัวตายระหว่างที่รัฐบาลมีมาตรการเคอร์ฟิวในช่วงโรคโควิดระบาด พบว่าระหว่างวันที่ 1-30 เมษายน มีการฆ่าตัวตาย เพราะได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 เกิดขึ้นทั้งหมด 44 กรณี มีผู้เสียชีวิต 31 ราย สภาวะเช่นนี้เหมือนเป็นฟางเส้นสุดท้ายหากเรามองเห็นภาพความจนของคนไทยในระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมา ดังที่ธนาคารโลกระบุว่า จากปี 2016 ถึง 2018 อัตราความยากจนเพิ่มจาก 7.21 เปอร์เซ็นต์ เป็น 9.85 เปอร์เซ็นต์ หรือจาก 4.85 ล้านคน เป็นกว่า 6.7 ล้านคน

ข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่าความมั่งคั่งไม่ได้กระจายอย่างทั่วถึงไปสู่ประชากรที่มีรายได้ต่ำล่างสุด 40 เปอร์เซ็นต์ และประชากรกลุ่มนี้มีการบริโภคและรายได้ที่ติดลบด้วย แนวโน้มการเติบโตที่พลิกผันของกลุ่มประชากรเหล่านี้ในช่วงเวลาดังกล่าว เกิดจากรายได้แรงงานทุกประเภทลดลง รวมถึงการหยุดนิ่งของการเพิ่มค่าแรง และรายได้จากภาคเกษตรและธุรกิจลดลง

ทางออกหลังวิกฤติโควิดคือ ‘รัฐสวัสดิการ’

จากปรากฏการณ์ดังกล่าวแนวคิดหนึ่งที่ควรนำมาพิจารณาให้ความช่วยเหลือประชาชนคือ แนวคิดที่เชื่อว่า รัฐมีหน้าที่ที่จะต้องให้สิทธิในทางบวก (positive rights) ให้แก่ประชาชน ซึ่งได้แก่การให้ความช่วยเหลือในสิ่งจำเป็นพื้นฐาน เพื่อให้ประชาชนที่เผชิญต่อภัยพิบัติเหล่านี้มีชีวิตอยู่ต่อไปได้ สิทธิจึงมีสองด้านควบคู่กันไปเสมอทั้งในเชิงลบและเชิงบวก ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องกระทำให้ครบถ้วน

ไม่นานมานี้ อมาตยา เซน เขียนบทความ A Better Society can Emerge from the Lockdowns ลงใน The Financial Times ในซีรีส์ที่ทยอยเผยแพร่ทัศนะของผู้กำหนดนโยบายชั้นนำว่าด้วยสถานการณ์หลังโควิด-19 (Post COVID-19)

เซนเสนอว่า สังคมอาจจะดีขึ้นได้จากมาตรการล็อคดาวน์ เนื่องจากการระบาดครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงวิกฤติที่สามารถนำไปสู่ความเท่าเทียมในการเข้าถึงอาหารและสุขภาพที่ดี เขายกตัวอย่างว่า แม้สหรัฐจะเป็นประเทศร่ำรวยที่สุดในโลก แต่ผู้คนหลายล้านคนกลับเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาล ส่งผลให้เกิดการเจ็บป่วยโดยไม่จำเป็น ขณะที่การอดออมอย่างเข้มงวดทำให้สหภาพยุโรปอ่อนแอลงในการสนับสนุนคนที่เปราะบาง ประสบการณ์ของแต่ละประเทศควรจะมีการแบ่งปันกันเมื่อการระบาดสร่างซา

ช่วงสงครามโลกในช่วงทศวรรษ 1940 อายุขัยของมนุษย์เพศชายในอังกฤษและเวลส์ยาวนานขึ้นอีก 6.5 ปี (เทียบกับอายุขัยที่เพิ่มขึ้นในทศวรรษก่อนหน้าเพียง 1.2 ปี) เพศหญิง 7 ปี (เทียบกับอายุขัยฯ ในทศวรรษก่อนหน้า 1.5 ปี) การให้ความสำคัญกับความเท่าเทียม และการเอาใจใส่ประชากรด้อยโอกาสมากเป็นพิเศษพัฒนาเป็นแนวคิดรัฐสวัสดิการ

จนกระทั่ง อนูริน บีแวน (Aneurin Bevan) ผู้สนับสนุนแนวคิด greater equity หรือ ‘ความเท่าเทียมที่มากกว่าเดิม’ ตั้งแต่สมัยระหว่างและหลังสงครามโลก ได้กลายเป็นผู้ก่อตั้ง National Health Service (โรงพยาบาลบริการสุขภาพแห่งชาติ) แห่งแรกของอังกฤษขึ้นในเมืองแมนเชสเตอร์ ปี 1948 โดยใช้ชื่อ ‘โรงพยาบาลพาร์ค’

อย่างไรก็ตามสิ่งที่เซนย้ำคือวิกฤติโควิด ได้สะท้อนความไม่เท่าเทียมกันในด้านต่างๆ เช่น ในสหรัฐ คนแอฟริกันอเมริกันมีโอกาสตายมากกว่าคนผิวขาว เฉพาะในชิคาโก พบว่าคนที่เสียชีวิตจากโรคระบาดโควิดกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ เป็นแอฟริกันอเมริกัน และความไม่เท่าเทียมกระจายไปตั้งแต่บราซิล ฮังการี ถึงอินเดีย ซ้ำร้ายผลที่ตามมายังส่งผลให้เกิดกระแสการต่อต้านประชาธิปไตย ตั้งแต่ บราซิล โบลิเวีย โปแลนด์ ไปจนถึง ฮังการี แน่นอนว่ามาตรการเว้นระยะห่างป้องกันไวรัสต้องมาพร้อมกับมาตรการชดเชยรายได้ การเข้าถึงอาหารและการรักษาพยาบาลด้วย

บทเรียนที่ผ่านมา ย้ำให้ทราบว่าถึงเวลาที่สังคมไทยต้องลงมือจัดการความไม่เป็นธรรมด้วยความเท่าเทียมกัน อย่างเอาจริงเอาจัง ไม่มีเวลาที่จะหลีกเลี่ยงปัญหาที่เกาะกินสังคมไทยมาอย่างยาวนานอีกแล้ว ทั้งภาวะความยากจน คนเปราะบางที่เสียภาษีจำนวนมหาศาลให้กับรัฐแต่ไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรในยามเจ็บไข้ได้ป่วยได้ ทางออกที่สำคัญที่น่าจะมาถึงเราในเร็ววันคือรัฐสวัสดิการ ไม่ควรปล่อยให้เนิ่นช้ามากกว่านี้

เชิงอรรถ

  1. สฤณี อาชวานันทกุล, เศรษฐกิจทางเลือก: ว่าด้วยเศรษฐกิจความสุข เศรษฐกิจอิสลาม และนโยบายประชานิยม, กรุงเทพฯ: โอเพ่นบุ๊คส์, 2553. น. 35-36

 

Author

อิทธิพล โคตะมี
อิทธิพลเข้ามาในกองบรรณาธิการ WAY พร้อมตำรารัฐศาสตร์ สังคม การเมือง ถ้อยคำบรรจุคำอธิบายด้านทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติ คาแรคเตอร์โดยปกติจะไม่ต่างจากนักวิชาการเคร่งขรึม แต่หลังพระอาทิตย์ตกไปสักพัก อิทธิพลจะเป็นชายผู้อบอุ่นที่โอบกอดมิตรสหายได้ทุกคน

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า