จ่าทหารโคราช บ้านพักนายพล บ้านเช่ายายแมว ความเหลื่อมล้ำด้านที่อยู่อาศัย

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

1

ผ่านไปราว 2 สัปดาห์ สำหรับโศกนาฏกรรมที่จ่าทหารบกกราดยิงผู้คนเสียชีวิตถึง 30 คน ที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อฝุ่นควันและกลิ่นกระสุนดินปืนเริ่มจางหาย ข่าวอื่นๆ ก้าวเข้ามายึดหน้าพื้นที่สื่อแทน จนอาจทำให้คนเริ่มลืมเรื่องนี้ไปแล้ว อย่างไรก็ดี ผมไม่อยากให้เรื่องนี้เงียบหายไปราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพราะอย่างน้อยเรื่องราวการดิ้นรนของจ่าทหารที่อยากจะมีบ้านของตัวเอง และสิ่งที่สื่อมวลชนขุดคุ้ยตามมา ช่วยตีแผ่ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นหัวข้อที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงในสังคมไทยออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน

หลังจากเรื่องของจ่าทหารกลายเป็นข่าวครึกโครม สื่อมวลชนก็ช่วยสืบค้นปะติดปะต่อจนทราบถึงปมที่ทำให้จ่านายนี้ระเบิดอารมณ์สังหารผู้คนไปมากมาย นั่นก็เพราะความแค้นที่ถูกผู้บังคับบัญชายศพันเอกและเครือญาติ ‘อม’ เงินกู้สหกรณ์ ตามรายงานข่าวที่ว่า มีการสมคบกันระหว่างนายหน้าที่ชักชวนให้จ่าไปซื้อบ้านและที่ดิน ซึ่งภรรยาและแม่ยายของนายทหารยศพันเอกเป็นผู้ดำเนินการ โดยตกลงซื้อขายบ้านราคาเกินกว่าราคาจริง เพื่อจะได้นำราคาบ้านที่เกินกว่าความเป็นจริงไปเป็นยอดในการกู้เงินสวัสดิการของกองทัพ โดยมีการตกลงว่า เงินที่เกินจากราคาบ้านจริงจะมีการแบ่งส่วนกันระหว่างจ่าผู้ซื้อบ้าน (ซึ่งก็เป็นเงินกู้ที่จ่าต้องใช้หนี้คืน) กับเครือญาติของนายทหารยศพันเอก ความแค้นจึงเกิดขึ้นเมื่อเครือญาติของนายทหารไม่ยอมให้เงินส่วนต่างที่เกินราคาบ้านกับจ่าผู้ก่อเหตุ ครั้นเมื่อทวงถามเงินที่ถูกญาติของผู้บังคับบัญชาอมไป ก็ถูกลงโทษทางวินัย กักขัง ถูกตัดเบี้ยเลี้ยง มาแล้ว

แน่นอนว่า การกราดยิงผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากเป็นโศกนาฏกรรมที่ไม่ควรเกิดขึ้น แต่ต้นตอของเหตุร้ายนี้ที่ว่า ผู้บังคับบัญชาเอาเปรียบผู้ที่มียศต่ำกว่า ทั้งๆ ที่ก็รู้อยู่แก่ใจว่า ทหารระดับล่างมีชีวิตความเป็นอยู่ยากลำบากเพียงใด แต่ยัง ‘อม’ เงินได้ลงคอ ก็ต้องเป็นเรื่องเกินกว่าจะรับได้เช่นกัน

ประเด็นที่มีผู้กล่าวถึงกันไปพอควรแล้วก็คือ จ่าทหารนายนี้ มิใช่เป็นเหยื่อของการฉ้อโกงส่วนบุคคล หากแต่การฉ้อโกงดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากวัฒนธรรมและโครงสร้างของกองทัพที่ไม่เปิดให้ผู้ใต้บังคับบัญชาได้เรียกร้องความเป็นธรรมและปราศจากการตรวจสอบจากภายนอก

กระทั่งผู้บัญชาการทหารบกต้องมาออกข่าวการจัดตั้งกลไกรับเรื่องร้องเรียนภายในกองทัพ (ซึ่งก็มีการแถลงไปเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาว่า ไม่มีทหารผู้ใดร้องเรียนเลยแม้แต่นายเดียว) รวมถึงออกท่าขึงขังว่าจะเอาจริงกับการให้อดีตนายทหารที่เกษียณอายุราชการแล้วแต่ยังอยู่บ้านพักทหารที่มีรายงานข่าวว่า มีเป็นร้อยหลัง รวมถึงนายกรัฐมนตรีที่เกษียณมาหลายปี แต่อ้างว่า จำเป็นต้องอยู่บ้านหลวงในค่ายทหารเพื่อความสะดวกในการรักษาความปลอดภัย ที่ผ่านมาเราก็พบเห็นนายกรัฐมนตรีที่เป็นพลเรือนมีบ้านส่วนตัวอยู่นอกค่ายทหารมาแล้วก็หลายคน และก็ไม่ได้มีปัญหาเรื่องการรักษาความปลอดภัยแต่อย่างใด

เรื่องราวของจ่าที่ดิ้นรนอยากมีบ้านกับนายพลที่ได้อยู่บ้านหรูหราอยู่ฟรี แม้เกษียณอายุราชการแล้วก็ยังมีข้ออ้างไม่ยอมย้ายออก สะท้อนปัญหาโครงสร้างและวิธีคิดของระบบราชการที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาเรื้อรังในสังคมไทย

เป็นเรื่องน่าประหลาดใจอย่างยิ่งที่สังคมไทยไม่ใคร่จะตั้งคำถามกับการที่หน่วยราชการอย่างทหาร ใช้งบประมาณจำนวนมาก ไปอุดหนุนให้บรรดานายพลซึ่งก็มีเงินเดือนสูงอยู่แล้ว ได้มีบ้านพักระดับพรีเมียมเป็นของแถม ราวกับยอมรับว่าเป็นเรื่องปกติ ที่คนมีตำแหน่งสูง จะได้สิ่งปรนเปรอมากเป็นพิเศษ ส่วนคนระดับล่างก็ดิ้นรนไปตามยถากรรม

แทนที่จะคิดว่า จะทำอย่างไรให้คนทุกคน รวมถึงข้าราชการทุกหน่วยได้เข้าถึงที่อยู่อาศัยที่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานสำหรับการอยู่อาศัยกันถ้วนหน้า ส่วนคนที่มียศตำแหน่งสูง เงินเดือนสูงอยู่แล้ว พอจะช่วยตัวเองได้ หากพบว่า บ้านพักสวัสดิการไม่หรูหราสมฐานะ พวกเขาก็ควรไปหาที่อยู่ของตัวเอง จะหรูหราขนาดไหนก็ขอให้ใช้เงินรายได้ของตัวเองเป็นผู้จ่าย ไม่ใช่นำเงินงบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชนที่ต่างต้องดิ้นรนทำงานเพื่อหาเงินจ่ายค่าเช่าบ้านทุกๆ เดือน ไปปรนเปรอให้บรรดาอภิสิทธิ์ชนเหล่านั้น

เราควรจะเปลี่ยนวิธีคิดการจัดการสวัสดิการที่อยู่อาศัยให้อยู่ในมาตรฐานที่ดี (ไม่ใช่ทรุดโทรมเหมือนแฟลตตำรวจหลายแห่ง) และทำให้คนส่วนใหญ่เข้าถึงได้มากที่สุด ส่วนใครที่มีเงินเดือนสูง รู้สึกว่าบ้านพักสวัสดิการไม่ดีพอ ก็ต้องไปหาทางเอาเอง โดยถือหลักว่า ผู้ที่มีรายได้ต่อเดือนสูง ควรได้รับการอุดหนุนน้อยลงตามลำดับ

ผมยกตัวอย่างสมัยที่ผมยังอยู่หอพักของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งมีมาตรฐานดี มีทั้งที่เป็นห้องแบบหนึ่งห้องนอน และสองห้องนอน โดยเป็นหอพักที่ไม่ฟรี บุคลากรจะต้องจ่ายค่าเช่า แต่ไม่ได้เต็มราคาค่าเช่าเพราะมหาวิทยาลัยอุดหนุนส่วนหนึ่ง แต่ปัญหาที่มหาวิทยาลัยต้องเผชิญ เช่นเดียวกับหลายๆ หน่วยงานประสบก็คือ จำนวนหอพักน้อยกว่าจำนวนบุคลากรที่มีความต้องการ จึงต้องมีการรอคิวให้คนเก่าย้ายออก แต่หากไม่มีใครย้ายออกหรืออยู่กันไปจนเกษียณ คนใหม่ก็แทบไม่มีโอกาสเข้าไปอยู่แทน

หลักการง่ายๆ ที่มหาวิทยาลัยใช้ก็คือ ‘ยิ่งอายุงานนาน ยิ่งเงินเดือนสูง การอุดหนุนยิ่งน้อยลง’ ตัวอย่างเช่น หอพักสำหรับบุคลากรแบบสองห้องนอนค่าเช่าเดือนละ 6,000 บาท ในขั้นแรกมหาวิทยาลัยอุดหนุนครึ่งหนึ่ง คือ บุคลากรจ่ายค่าเช่าเดือนละ 3,000 บาท ครั้นเมื่อมีอายุการทำงานนานขึ้น เงินเดือนสูงขึ้น เงินอุดหนุนจากมหาวิทยาลัยจะลดลงไปตามลำดับเช่น เหลือ 2,000 บาท เหลือ 1,500 บาท ตามลำดับขั้นไป ส่วนผู้เช่าก็ต้องจ่ายค่าเช่าในราคาที่สูงขึ้น

โดยหลักการอุดหนุนตามสัดส่วนฐานเงินเดือน ‘เงินเดือนมาก ได้อุดหนุนน้อย’ จึงสร้างความเป็นธรรมมากกว่า ระบบ ‘ยิ่งสูงยิ่งได้อุดหนุนมาก’ ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ระบบที่ดูดายความเป็นอยู่ของพนักงานมหาวิทยาลัยเสียทีเดียว เพราะอย่างน้อยก็ได้รับการอุดหนุนจากมหาวิทยาลัยในช่วงเวลาหนึ่ง ให้บุคลากรสามารถเก็บเงินเตรียมตัวหาที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองเมื่อคนเก่าย้ายออกไป คนใหม่ก็สามารถเข้ามาอยู่ทดแทนได้

ที่กล่าวเรื่องการให้ความเป็นธรรมในการจัดสวัสดิการที่อยู่อาศัยที่ควรอุดหนุนผู้ที่มีฐานรายได้ต่ำเป็นลำดับแรกก่อนนั้น เป็นเพียงแค่ประเด็นหนึ่งในเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านที่อยู่อาศัย ที่ทุกวันนี้คนยิ่งมีสถานะสูงยิ่งได้รับการอุดหนุนมาก ยังมีประเด็นอื่นๆ อีก เช่น ปัจจุบันข้าราชการแต่ละหน่วย แต่ละระดับ ต่างเข้าถึงสวัสดิการที่อยู่อาศัย กล่าวเฉพาะในแวดวงมหาวิทยาลัย บางมหาวิทยาลัยมีที่ดิน มีรายได้มาก ก็จัดให้ได้มากบางมหาวิทยาลัยก็มีน้อย หรือมีแต่คุณภาพไม่ดี

อย่างไรก็ดี ความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสที่จะได้รับการอุดหนุนด้านที่อยู่อาศัยจากรัฐ ที่ผมอยากพูดถึงเป็นสำคัญ ก็คือกลุ่มคนที่ไม่ได้เป็นข้าราชการ โดยเฉพาะบรรดาลูกจ้างคนทำงานในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ เช่น ลูกจ้างร้านอาหารรายวัน คนทำงานก่อสร้าง ฯลฯ ซึ่งไม่ได้ประโยชน์ใดๆ จากนโยบายส่งเสริมให้คนเป็นเจ้าของบ้าน เพราะพวกเขาไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบเพื่อซื้อบ้านได้ คนเหล่านี้คือกลุ่มคนที่ไม่เคยได้รับการใส่ใจจากนโยบายรัฐบาล

ย้อนกลับไปกรณีของจ่ากราดยิงที่โคราช จะว่าไปแล้ว สถานะของทหารยศจ่าสิบเอก แม้จะเป็นระดับชั้นประทวน แต่ก็ยังมีสถานะที่ดีกว่าคนจำนวนมากในสังคมนี้ อย่างน้อยจ่าก็ยังเป็นข้าราชการ มีเงินเดือนประจำ แม้จะไม่สูงนัก แต่ก็ยังพอมีเครดิตที่จะไปขอสินเชื่อจากระบบธนาคารได้ มากกว่านั้นในฐานะข้าราชการทหารยังมีสวัสดิการ หากเป็นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ก็สามารถกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำกว่าธนาคารทั่วไปอีกด้วย แต่สวัสดิการซึ่งแทนที่จะช่วยให้จ่าซื้อบ้านได้ง่ายขึ้น กลับกลายเป็นกลไกของการฉ้อโกง

เรื่องราวของจ่าทหารที่ดิ้นรนพยายามหามีบ้านเป็นของตัวเอง เป็นชะตากรรมร่วมที่คนอีกจำนวนมากมายในสังคมนี้ต่างเผชิญอยู่ (คงมีแค่คนที่มาจากครอบครัวร่ำรวยและบรรดาขุนทหารเท่านั้นที่ไม่รู้จักความยากลำบากในการหาบ้าน) และชวนให้ผมนึกถึง ‘ยายแมว’

2

‘แมว’ นี่ไม่ใช่ชื่อของยายนะครับ ด้วยความที่แกเลี้ยงแมว คนละแวกบ้านจึงเรียกแกว่า ‘ยายแมว’ ผมรู้จักยายแมวที่ชุมชนริมทางรถไฟเส้นใต้-ตะวันตก ตัดกับถนนจรัญสนิทวงศ์ ยายเล่าถึงชีวิตให้ฟังด้วยสีหน้าหม่นหมองเป็นกังวลว่า “ตั้งแต่เกิดมาจนอายุหกสิบห้า ยายไม่เคยมีบ้านเป็นของตัวเองเลยสักครั้ง พ่อแม่ก็ไม่มีบ้าน ต้องเช่าเขาอยู่มาตลอด” ครอบครัวของยายมีฐานะยากจน บ้านเดิมอยู่แถวย่านถนนสุโขทัย ไม่ไกลจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พ่อแม่มีลูกมาก พ่อทำงานโรงพิมพ์ แม่รับจ้างซักรีดทำความสะอาด มีลูกมากถึง 7 คน ยายเป็นคนโต พอเรียนจบ ป.4 ก็ต้องออกจากโรงเรียน มาทำงานสารพัดเพื่อหาเงินช่วยพ่อแม่ตั้งแต่เด็ก เช่น รับจ้างซักผ้า รีดผ้า และทำอยู่ร้านทำขนมปัง อยู่ย่านสะพานควาย

วิถีอีกแบบตามประสาครอบครัวยากจน ก็ต้องย้ายที่อยู่บ่อย บางทีพ่อแม่เช่าที่ดิน ปลูกบ้านอยู่ พอเจ้าของที่จะเอาที่คืนก็ต้องย้ายหาบ้านเช่าใหม่ ยายจำได้ว่าพ่อแม่ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าถูกเขาไล่ออก ต้องไปอาศัยบ้านญาติอยู่ – ก็เคย

กระทั่งชีวิตเริ่มเข้าที่เข้าทางเมื่อตอนมาพบกับคู่ชีวิตที่สะพานควาย ตอนยายทำงานอยู่ที่นั่น ตาเป็นช่างซ่อมรถของบริษัทหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง บ้านเดิมของตาเป็นคนแถวจรัญสนิทวงศ์ จึงชวนกันมาอยู่ย่านบางขุนนนท์ และยายก็มาทำงานที่โรงงานแชมพูและน้ำยาย้อมผม ทำหน้าที่กรอกน้ำยาใส่ขวด เป็นงานที่ได้รายได้ตามค่าแรงขั้นต่ำ แน่นอนว่ารายได้สองคนนี้ย่อมไม่มีทางที่จะไปดาวน์และผ่อนซื้อบ้าน ทั้งสองจึงได้แต่อาศัยห้องเช่าอยู่ที่ย่านบางขุนนนท์ ค่าเช่าเดือนละ 2,500 บาท

ด้วยรายได้ระดับค่าแรงขั้นต่ำ บ้านก็ต้องเช่า ไหนจะกินอยู่ จึงมิใช่ชีวิตที่สบาย ต้องเหนื่อยเดินทางไกลไปทำงานอีกด้วย ยายเล่าว่าโรงงานที่ตัวเองทำอยู่ย้ายไปอยู่ที่จังหวัดนนทบุรี ด้วยความกลัวว่า จะหางานอื่นในละแวกใกล้เคียงไม่ได้ จึงเลือกที่จะไปทำงานที่โรงงานเดิมโดยต้องเดินทางไกล ตื่นตั้งแต่ตีห้า เพื่อนั่งรถเมล์สองต่อไปทำงานที่จังหวัดนนทบุรี เพราะถ้าออกสายรถก็ติด

ชีวิตของสองผัวเมีย ดิ้นรนไปตามอัตภาพ แม้ลำบากก็ต้องอดทนเพราะมีทางเลือกจำกัด แต่แล้วก็ต้องลำบากยากขึ้นไปอีก เพราะเจ้าของบ้านที่ให้เช่าอยู่มา 12 ปี บอกให้ย้ายออก เพราะอยากจะปรับปรุงบ้านทำโฮมสเตย์ให้ฝรั่งเช่า จะได้ค่าเช่ามากกว่า

“ตอนนั้นยายเครียดกลุ้มใจ จนนอนไม่หลับ เขาไม่ให้เราอยู่ แล้วจะไปอยู่ที่ไหน มาเที่ยวถามคนที่ตลาดว่า รู้จักใครที่มีบ้านให้เช่าไหม ก็มีคนแนะนำว่า ไปหาซื้อบ้านที่ริมทางรถไฟสิ จะได้ไม่ต้องเช่า” ได้ฟังดังนั้นยายก็เลยกลับมาปรึกษาตา ซึ่งขณะนั้นก็เกษียณออกจากงานมาแล้ว ตาเลยตัดสินใจเอาเงินก้อนที่ได้จากบริษัทตอนเกษียณงานมาซื้อบ้านริมทางรถไฟในราคาหลักแสน

หารู้ไม่ว่า ยายกำลังถูก ‘หลอก’ ให้ไปซื้อบ้าน จนต้องเผชิญวิบากกรรมหนักกว่าเดิม

ยายซื้อบ้านในชุมชนริมทางรถไฟเดือนพฤษภาคมปี 2554 พอถึงปลายปี 2554 ก็เกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่ บ้านของยายถูกน้ำท่วมเสียหาย ต้องนำเงินเก็บของตาที่เหลืออยู่มาซ่อมแซมอีก ซ่อมเสร็จไม่นาน ยายก็เจอข่าวร้ายอีกว่า เส้นทางริมทางรถไฟนั้นกำลังถูกรถไฟฟ้าสายสีแดงตัดผ่าน และชาวบ้านในชุมชนย่านนั้นมีการรวมตัวกันมานาน มีการสำรวจว่าใครเป็นผู้อยู่อาศัยเดิมและร่วมกับเครือข่ายไปต่อรองเพื่อหาที่ดินรองรับ ซึ่งไม่มีชื่อยายอยู่ด้วย เพราะยายเป็นคนใหม่ที่เพิ่งมาซื้อบ้านในชุมชน ทำให้แกกลุ้มใจว่า คนอื่นถูกไล่ เขามีที่รองรับกันแล้วยายจะไปที่ไหน เงินที่สู้เก็บออมมาซื้อบ้านที่แม้จะเป็นบ้านในสลัม…ก็ยังดี สุดท้ายทรัพย์สินก้อนสุดท้ายของยายก็กำลังหมดไป

น้ำเสียงของยายแมวยามเล่าเรื่องชีวิตเต็มไปด้วยความเหนื่อยอ่อน พร้อมถ้อยคำที่ไม่ได้ประดิษฐ์อะไรมาก เช่น “ชีวิตยายถ้าจะถามว่าลำบากไหมก็บอกว่า ยิ่งกว่าละครเลยจะดีกว่า” “ชีวิตลำบาก ไม่เคยสบายเลยดีกว่า พูดง่ายๆ มันระหกระเหินไปโน่นไปนี่”

นี่คือโศกนาฏกรรมแห่งชีวิตของคนธรรมดาคนหนึ่ง ที่ชีวิตไม่เคยได้รับการเหลียวแลจากรัฐ ไม่เคยได้ประโยชน์อานิสงส์ใดๆ จากนโยบายกระตุ้นให้คนซื้อบ้าน เช่น ลดภาษีการโอน ลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง การคืนภาษีผู้ซื้อบ้าน และล่าสุดมาตรการคืนเงินดาวน์ 50,000 บาทให้กับคนซื้อบ้าน พูดสั้นๆ ก็คือ มาตรการเหล่านี้ เป็นการเอาเงินภาษีของคนลำบากขัดสนอย่างยายแมวมาจ่ายให้กับคนที่มีเงินซื้อบ้าน

ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะนโยบายที่เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยของไทยที่ผ่านมา มักถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจ มากกว่าการให้ความสำคัญว่า ใครคือคนที่เดือดร้อนและจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือก่อน ด้วยเหตุนี้ คนที่เช่าบ้าน คนที่ไม่มีปัญญาซื้อบ้านจึงถูกมองข้าม ส่วนสวัสดิการที่อยู่อาศัยของทหารก็คำนึงถึงสถานะเกียรติยศของบรรดาผู้มียศถาตำแหน่งใหญ่โตไม่กี่คน มากกว่าคุณภาพชีวิตของทหารชั้นผู้น้อยอีกหลักแสนนาย

ลองเปรียบเทียบชีวิตที่ไร้หลักประกันอย่างของยายแมว กับนายพลที่เกษียณแล้วยังไม่ยอมออกจากบ้านพัก เราก็จะเห็นว่า ความเหลื่อมล้ำในสังคมนี้ช่างอำมหิตเกินกว่าจะรับได้

ตอนต่อไปผมจะเล่าให้ฟังว่า ในประเทศที่มีสวัสดิการสังคมดี เขาตระหนักถึงการอุดหนุนผู้เช่าที่อยู่อาศัยที่มีรายได้น้อยอย่างไร

Author

บุญเลิศ วิเศษปรีชา
บุญเลิศ วิเศษปรีชา เป็นนักวิชาการ รักงานเขียน และมีประสบการณ์ทำงานเคลื่อนไหวทางสังคม งานเขียนชุด ‘สายสตรีท: เรื่องเล่าข้างถนนจากมะนิลา' ที่ทยอยเผยแพร่ตลอดปีที่ผ่านมาใน waymagazine.org สะท้อนให้เห็นระเบียบวิธีทำงานภาคสนามของนักมานุษยวิทยา ขณะเดียวกันก็แสดงธาตุของนักเขียนนักเล่าเรื่อง นอกจากเรื่องเล่าของคนชายขอบแล้ว บุญเลิศยังสนใจภาพใหญ่ของสังคมการเมือง เพราะเป็นปัจจัยสำคัญต่อชีวิตที่มีลมหายใจ ไม่ว่าชีวิตนั้นจะอยู่ในหรือนอกบ้าน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า