เมื่อวิศวะ-สถาปนิกจีน บุกรถไฟความเร็วสูง

ภาพประกอบ: Shhhh
ภาพถ่าย: อิศรา เจริญประกอบ

 

ผลจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 30/2560 เรื่อง มาตรการเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ก่อให้เกิดข้อกังวลในวงกว้างว่า การออกคำสั่งบายพาสต์ให้วิศวกรและสถาปนิกจีนสามารถเข้ามาดำเนินการในประเทศไทยได้โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพนั้น เป็นการข้ามขั้นตอนการตรวจสอบตามมาตรฐานวิชาชีพของไทยหรือไม่ และหากเกิดอุบัติเหตุไม่คาดฝันที่กระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์ของประชาชน ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ

นอกเหนือจากนี้ เทคโนโลยีและอุปกรณ์ทั้งหลายทั้งปวงที่นำเข้าจากจีนซึ่งต้องอาศัยผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะชาวจีนเท่านั้น จะมีการถ่ายโอนความรู้ให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพในไทยได้อย่างเป็นรูปธรรมมากน้อยเพียงใด และจะมีที่ว่างให้กับวิศวกรไทยกับสถาปนิกไทยในการมีส่วนร่วมกับโครงการก่อสร้างครั้งนี้ด้วยหรือไม่

เมื่อข้อสงสัยทั้งหมดประดังเข้ามา คำถามจึงตกอยู่ที่องค์กรวิชาชีพของไทย ว่ากำลังคิดอะไรและจะแก้ไขต่อรองกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้อย่างไร


(จากซ้าย) ศ.ดร.อมร พิมานมาศ / กมล ตรรกบุตร / เจตกำจร พรหมโยธี

แถลงการณ์ร่วมสภาวิศวกร-สถาปนิก

21 มิถุนายน 2560 สภาวิศวกรและสภาสถาปนิกได้ออกแถลงการณ์ต่อประเด็นการใช้ ม.44 ในการเร่งรัดโครงการรถไฟความเร็วสูง โดย กมล ตรรกบุตร นายกสภาวิศวกร เป็นผู้อ่านคำแถลงการณ์ สรุปใจความสำคัญดังนี้

คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 30/2560 เร่งรัดให้ทำสัญญาจ้างรัฐวิสาหกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยให้รับผิดชอบด้าน 1) งานออกแบบรายละเอียดโครงสร้างพื้นฐานด้านโยธา 2) งานที่ปรึกษาควบคุมงานการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านโยธา และ 3) งานระบบราง ระบบไฟฟ้า และเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร

ประเด็นก็คือ บุคลากรในรัฐวิสาหกิจของจีน ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลจะได้รับยกเว้นจากข้อบังคับมาตรา 45 มาตรา 47 และมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.วิศวกร พ.ศ. 2542 และ พ.ร.บ.สถาปนิก พ.ศ. 2543 ซึ่งหมายความว่า ไม่ต้องอยู่ภายใต้การกำกับมาตรฐานวิชาชีพของสภาวิศวกรและสภาสถาปนิกของไทย และสามารถเข้าดำเนินการออกแบบและควบคุมการก่อสร้างได้โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตจากไทย และให้สภาวิศวกรและสภาสถาปนิกทำหน้าที่จัดหลักสูตรฝึกอบรมและทดสอบแก่บุคลากรจีนตามความเหมาะสมเท่านั้น

สภาวิศวกรและสภาสถาปนิก ชี้แจงว่า ที่ผ่านมาได้มีความพยายามอย่างที่สุดในการแสดงหลักการและจุดยืนเพื่อให้มีการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วิศวกร พ.ศ. 2542 และ พ.ร.บ.สถาปนิก พ.ศ. 2543 โดยกำหนดให้วิศวกรและสถาปนิกจีนที่ประสงค์จะเข้ามาประกอบวิชาชีพในโครงการดังกล่าว ต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตฯ ระดับภาคีวิศวกรพิเศษ และระดับภาคีสถาปนิกพิเศษ

ทว่า เมื่อมีการใช้อำนาจ ม.44 ส่งผลให้สภาวิศวกรและสภาสถาปนิกต้องดำเนินการให้เป็นไปตามคำสั่งดังกล่าว

“ตลอด 3-4 เดือนที่ผ่านมา สภาสถาปนิกและสภาวิศวกรได้พยายามอย่างเต็มที่ในการหารือร่วมกับรัฐบาลและตัวแทนจากจีน เพื่อให้เกิดการปฏิบัติตามกฎหมายของไทย แต่สิ่งที่เกิดขึ้น (ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 30/2560) ทำให้ทุกฝ่ายต้องยอมรับ ไม่เช่นนั้นจะเดินหน้าไม่ได้” เจตกำจร พรหมโยธี นายกสภาสถาปนิก ระบุ

ต่อรองเฮือกสุดท้าย

สิ่งที่สภาวิชาชีพทั้งสองพยายามเจรจากับภาครัฐและผู้แทนจีนในขั้นต่อไปคือ การต่อรองให้มีวิศวกรและสถาปนิกชาวไทยได้เข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการดังกล่าวในสัดส่วนที่เหมาะสมและในตำแหน่งที่มีบทบาทสำคัญ พร้อมกันนี้จะเร่งจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมและทดสอบแก่วิศวกรและสถาปนิกจีนที่จะเข้ามาประกอบวิชาชีพในโครงการดังกล่าว โดยคาดว่าจะใช้เวลาในการอบรมประมาณ 120 วัน

“ถึงแม้เราจะไม่มีอำนาจออกใบอนุญาตให้เขาได้ แต่เราจะจัดให้มีหลักสูตรฝึกอบรมและให้ใบรับรอง เพื่อให้เขามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะทางภูมิศาสตร์ โครงสร้างใต้ดิน ภูมิอากาศ และสภาพแวดล้อม รวมถึงข้อกฎหมายต่างๆ ของไทย และยืนยันว่าพวกเขาจะต้องผ่านการทดสอบเพื่อให้ได้ใบรับรองก่อนเริ่มทำงานได้” ศาสตราจารย์อมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร กล่าว

ศ.อมร กล่าวอีกว่า หลังจากนี้จะหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกาถึงแนวทางความเป็นไปได้ในการออกใบรับรองแก่ผู้ปฏิบัติงานของจีน เพื่อเป็นหลักประกันความปลอดภัยในชั้นต้นให้แก่ประชาชน

ทางด้าน พลอากาศตรีหม่อมหลวงประกิตติ เกษมสันต์ กรรมการสภาสถาปนิก เสริมว่า นอกเหนือจากการออกแบบโครงสร้างด้านโยธาแล้ว สิ่งที่ไม่อาจละเลยคือ รูปแบบทางสถาปัตยกรรม ซึ่งจะต้องคำนึงถึงความเหมาะสมทั้งในด้านศิลปะ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม จึงจำเป็นต้องมีการอบรมหรือให้คำแนะนำแก่ผู้ปฏิบัติงานชาวจีนให้เข้าใจในเบื้องต้น

“งานด้านวิศวกรรมต้องเน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นสำคัญ ส่วนงานด้านสถาปนิกจะต้องเชื่อมโยงกับผู้ใช้งานได้ และต้องเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของไทยด้วย ซึ่งบางครั้งคนจีนอาจจะยังไม่เข้าใจ”

นอกเหนือจากนี้ สภาวิชาชีพทั้งสองจะพยายามผลักดันให้มีการถ่ายโอนเทคโนโลยีจากจีนอย่างเป็นรูปธรรม โดย ศ.อมร กล่าวว่า ที่ผ่านมาปัญหาเรื่องการถ่ายโอนความรู้และเทคโนโลยีในทางปฏิบัตินั้นมักเกิดขึ้นได้ยากและไม่มีการถ่ายโอนจริง ดังนั้น เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ จะเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อติดตามความคืบหน้าโดยตรง และจะกำหนดให้มีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน

ถามหาคนรับผิด

คำถามประการสำคัญคือ หากเกิดข้อผิดพลาดหรือเกิดความเสียหายจากงานออกแบบก่อสร้าง ภาระรับผิดชอบจะตกอยู่ที่ใคร และจะหาทางออกในเรื่องนี้อย่างไร

“ตามหลักของ พ.ร.บ.วิศวกร ถือเป็นข้อบังคับทางวิชาชีพ โทษสูงสุดก็คือ โทษทางจรรณยาบรรณ เพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งเราจะสอบถามไปยังสภาวิชาชีพของจีนว่า หากตรวจพบว่าเขาทำผิดจรรณยาบรรณ ทางจีนจะดำเนินการอย่างไรในลักษณะที่เท่าเทียมกับข้อบังคับของสภาวิศวกรไทย

“ส่วนเรื่องความรับผิดทางกฎหมายอาญาและแพ่ง ถือเป็นกฎหมายบ้านเมืองที่ทางการไทยกำกับดูแลอยู่ ไม่ว่าใครก็ตามที่เข้ามาทำงานในบ้านเราแล้วทำให้เกิดความเสียหาย เช่น เครนล้ม หรืออะไรก็ตาม ก็ต้องรับผิดทางอาญา เพราะกฎหมายอาญาเป็นกฎหมายที่บังคับใช้กับทุกคนที่อยู่ในประเทศ และไม่มีการยกเว้นในคำสั่งของหัวหน้า คสช. ถ้าวิศวกรจีนทำอะไรที่ก่อให้เกิดความเสียหาย มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต ก็ต้องถูกดำเนินคดี” ศ.อมร กล่าวยืนยัน

เช่นเดียวกับ พลอากาศตรีหม่อมหลวงประกิตติ กล่าวเสริมว่า “การเพิกถอนใบอนุญาตก็คือ การประหารชีวิตทางวิชาชีพ ถึงแม้เราจะเพิกถอนเขาไม่ได้ แต่ผู้ออกใบอนุญาตจากประเทศต้นทางก็ต้องมีบทลงโทษกับคนของเขาด้วย”

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า