ตลาดเสรีบนทางแพร่ง กับกระแสโลกหันขวา

polanyi01

เรื่อง+ภาพ: ณิชากร ศรีเพชรดี

 

บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ อดัม สมิธ เคยกล่าวไว้ว่า ลำพังเพียงการแข่งขันด้วยกลไกทางการตลาดอย่างเสรี โดยปราศจาก ‘มือที่มองไม่เห็น’ หรือการแทรกแซงอื่นใดทางการตลาดโดยมนุษย์ หรือ ผู้ที่อยู่ในระบบนั้น…

พวกเขาย่อมทำทุกทาง เพื่อให้ตัวเองได้รับผลประโยชน์มากที่สุด และนั่นเพียงพอที่จะทำให้ระบบใหญ่ของสังคมได้รับผลประโยชน์สูงสุดตามแต่สถานการณ์นั้นๆ ไปด้วย

หาก คาร์ล โปลานยี นักสังคมนิยมและนักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ เขียนหนังสือ The Great Transformation: The Political and Economic Origins of Our Time ที่ถูกแปลเป็นภาษาไทยในชื่อ เมื่อโลกพลิกผัน: การปฏิวัติอุตสาหกรรม จุดกำเนิดการเมืองและเศรษฐกิจยุคปัจจุบัน เพื่อตอบโต้แนวคิดดังกล่าวของสมิธว่า ไม่มีหรอกมือที่มองไม่เห็น หากการอุปโลกน์ในแนวคิดตลาดเสรีต่างหาก ที่กลับไปควบคุมสังคม และเป็นที่มาของการเกิดลัทธิฟาสซิสต์ในที่สุด

วงสนทนา ‘ตลาดเสรีกับทางแพร่งในการปกป้องตัวเองของสังคม’ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน หยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาทบทวนและถกเถียงอีกครั้ง

เริ่มตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุค 90, การเกิดขึ้นของลัทธิฟาสซิสต์-นาซี, ความรุ่งเรืองของขบวนการฝ่ายซ้าย กระทั่งกลับมาสู่การสวิงกลับของฝ่ายขวาในปัจจุบัน ผ่านปรากฏการณ์ Brexit และขบวนการรัฐอิสลาม IS

polanyi02

ไม่มีหรอก ‘มือที่มองไม่เห็น’

“ประเด็นสำคัญของหนังสือเล่มนี้ คือการที่โปลานยีต้องการจะตอบคำถามว่าระบบฟาสซิสต์เกิดขึ้นได้อย่างไร ซึ่งเขาคิดว่ามันเกิดมาจากระบบของตลาดเสรี การจะตอบคำถามนั้น เขายกเรื่องพลังทางเศรษฐกิจที่นำไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 19 ใช้ประเทศอังกฤษเป็นแกนกลางในการอธิบาย และกลับไปค้นคว้าเรื่องประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ รวมทั้งใช้แนวทางของสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาเข้ามาอธิบายด้วย”

ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักเขียนและผู้แปลหนังสือเล่มนี้ เริ่มต้นวงคุยด้วยการทบทวนเนื้อหาในหนังสือ และให้ข้อมูลชีวิตเบื้องหลังของโปลานยี ที่เธอกล่าวว่า มันจะช่วยทำให้เข้าใจว่าทำไมหนังสือเล่มนี้จึงเกิดขึ้น

“สิ่งที่น่าสนใจคือโปลานยีเป็นคนยิวที่ผ่านสงครามโลกมาทั้งสองครั้ง เห็นการเกิดขึ้นของระบบฟาสซิสต์ และยังต้องลี้ภัยเพราะเหตุผลนี้ด้วย เห็นการล่มสลายของเศรษฐกิจในยุค `The Great Depression’ หรือภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ของโลก และก็ยังอยู่ในยุคที่เห็นการยกเลิกมาตรฐานทองคำ”

กลับไปยังข้อถกเถียงเรื่อง ‘มือที่มองไม่เห็น’ ภัควดีถ่ายทอดสิ่งที่โปลานยีอธิบายไว้ในหนังสือว่า

“ในหลักการของตลาดเสรี ที่พวกเราได้รับการบอกต่อสั่งสอนกันมาว่า การปล่อยกลไกให้ตลาดเคลื่อนไหวได้อย่างเสรี รัฐไม่ควรจะเข้าไปคัดง้างหรือแทรกแซงตัวระบบ ถ้าเราปล่อยให้ระบบฟังก์ชั่นตามกลไก ย่อมก่อให้เกิดผลดีที่สุด แต่โปลานยีโต้แย้งว่าด้วยการอธิบายว่า ในกลไกของตลาดจะมีปัจจัยอยู่สามอย่างคือ ที่ดิน รวมทั้งธรรมชาติ, เงิน และแรงงาน มันเป็นการเปลี่ยนหรืออุปโลกน์สิ่งที่ควรเป็นธรรมชาติ ให้กลายเป็นสินค้าไป

“เช่นเรื่องการทำปัจจัยธรรมชาติ ให้กลายเป็นสินค้า กลายเป็นส่วนหนึ่งของตลาด กำหนดให้มีราคาและซื้อขายได้ แต่ที่ดินเป็นสิ่งที่อยู่ติดอยู่ล้อมรอบมนุษย์และเราใช้มันอย่างเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว สุดท้ายแล้วมันคือการทำให้สิ่งที่เป็นธรรมชาติ กลายเป็นสินค้าในตัวมันเอง ผลที่ตามมา คือการทำให้เกิดภาวะความตึงเครียดในสังคม”

เช่นเดียวกับปัจจัยเรื่องแรงงานและเงิน เธออธิบายว่า แนวคิดของสมิธที่ว่าต้องทำให้ระบบไม่ถูกแทรกแซงหรือกำกับด้วยสังคม จำเป็นต้องเปลี่ยนหรืออุปโลกน์ให้แรงงานและเงินทุน กลายเป็นสินค้าในตัวมันเองไป

“สิ่งที่เขาเน้นที่สุด คือการทำให้แรงงานกลายเป็นสินค้า เพราะการจะทำอย่างนั้น ต้องมองว่าแรงงาน สามารถแยกตัวออกจากมนุษย์ได้ แต่ในความเป็นจริงมันทำอย่างนั้นได้หรือเปล่า ถ้าแรงงานล้น เราจะเอาแรงงานเก็บเข้าโกดัง แล้วรอให้ราคามันขึ้น จากนั้นจึงเอาออกมาขายใหม่ได้ไหม

เพราะคนมันรอไม่ได้ ที่สุดแล้วมันจะนำไปสู่ความตึงเครียด นำไปสู่การไม่มีสเถียรภาพ การประท้วง การเกิดจลาจลในที่สุด

ในข้อสรุปหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ ภัควดีอธิบายว่า ท้ายที่สุดแล้ว ความพยายามที่จะดึงตลาดออกจากสังคม กลายเป็นปราการสำคัญที่ทำให้รัฐต้องเข้ามาจัดการ และรัฐต่างหากที่เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดตลาดเสรี

“สุดท้ายแล้วโปลานยีถึงกับบอกว่า ระบบแบบตลาดเสรีมันคือ ‘ยูโทเปีย’ เป็นเรื่องเพ้อฝัน และสุดท้ายแล้วคนจะหันไปหาระบบฟาสซิสต์ เพื่อดำรงสังคมไว้ในท้ายที่สุด หรือไม่เช่นนั้น คุณก็ต้องหันกลับไปหาระบบสังคมนิยม แต่มันก็จะไม่ช่วยให้ระบบเศรษฐกิจกลับลงมาฝังในสังคมได้อย่างมีดุลยภาพ

โปลานยีเสนอว่า ทางเลือกที่ดีคือการขยายระบบประชาธิปไตยลงไปในระบบเศรษฐกิจ และชนชั้นที่มีศักยภาพที่จะมีบทบาทในการสร้างกลไกตลาดในทางประชาธิปไตยมากที่สุด คือชนชั้นแรงงาน

วิวัฒนาการของตลาดเสรี สู่แนวคิดสังคมนิยม

“จากที่คุณภัควดีพูดเรื่องการเปลี่ยนที่ดิน เงิน และแรงงานให้กลายเป็นสินค้า ทำให้ย้อนคิดไปในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจของเยอรมนี หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ขณะนั้นเศรษฐกิจของเยอรมนีประสบภาวะเงินเฟ้อรุนแรง มันก็คือการที่คุณเปลี่ยนเงินให้เป็นสินค้า และเราไม่สามารถควบคุมตัวแปรตรงนี้ได้ สังคมมันก็สูญสิ้นเสถียรภาพไป
“ทันใดนั้นเอง พอเศรษฐกิจมันตกต่ำ ก็เป็นช่วงเวลาที่พรรคนาซี ที่จากเดิมเป็นแค่พรรคท้องถิ่น รู้จักกันเฉพาะคนบาวาเรีย ก็กลับได้แรงสนับสนุนจากคนอื่นๆ มาก มากเสียจนขณะนั้นตัวอดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด อีริช ลูเดนดอร์ฟ (Erich Ludendorff) เอง ที่ตั้งใจว่าอยากจะยึดครองอำนาจในไวมาร์ให้ได้ ก็ต้องหันมาพึ่งพิงกลุ่มฮิตเลอร์ ที่เป็นฝ่ายขวาจัด นำไปสู่การรัฐประหารโรงเบียร์ในที่สุด”

ภาณุ ตรัยเวช ผู้เขียน ในสาธารณรัฐไวมาร์ ฮิตเลอร์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ย้อนโยงความเชื่อมต่อไปยังสองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศเยอรมนี หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ระหว่าง ‘เหตุการณ์ภาวะเงินเฟ้อรุนแรง’ ในช่วงปี 1920-1924 กับ ผลลัพธ์หลังเหตุการณ์ ‘The Great Depression’ ราวปี 1929

เขาเห็นว่ามีความเชื่อมโยงทางประเด็นบางอย่าง ที่ใกล้เคียงกับข้อสรุปของโปลานยีที่ว่า ท้ายที่สุดแล้วระบบตลาดเสรี จะวิวัฒนาการไปสู่แนวความคิดขวาจัด หรือจบลงกับการที่ประชาชนเอาด้วยกับระบบฟาสซิสต์หรือขบวนการสังคมนิยม

“ผมคิดว่าช่องว่างในช่วงห้าปีของสองเหตุการณ์ดังกล่าว มันสะท้อนให้เห็นว่าจริงๆ แล้วประชาธิปไตยในไวมาร์ยังพอจะมีทางออกอยู่ เพราะขณะนั้นเยอรมนียังผลิตนักวิทยาศาสตร์เก่งๆ มีนักปรัชญา มีงานศิลปะออกมามากมาย

“แต่ภาวะเศรษฐกิจที่คนไม่มีเสถียรภาพมากๆ จนคนไม่สามารถอยู่ได้ ซ้ำเติมด้วยการที่ฝรั่งเศสเข้ามายึดแคว้นรูห์ (Ruhr)  หรือแคว้นที่เป็นเมืองอุตสาหกรรมของเยอรมนี ทำให้ความรู้สึกชาตินิยมมันเกิดขึ้นมา และถ้ามองกลับไปยังเหตุผลที่ฝรั่งเศสมีกระแสชาตินิยมขึ้นมาในชาติ นำไปสู่การบุกแคว้นรูห์ในเยอรมนีเองก็ตาม ก็มองได้ว่า เมื่อฝ่ายขวาในประเทศหนึ่ง ลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างจากภาวะความไม่มั่นคงที่เกิดขึ้น ก็ยิ่งทำให้ฝ่ายขวาในอีกประเทศหนึ่ง ลุกฮือขึ้นมาทำอะไรสักอย่างด้วย”

ย้อนกลับไปยังบทสรุปของรัฐประหารโรงเบียร์ ฮิตเลอร์และลูเดนดอร์ฟ พ่ายแพ้จากการยึดอำนาจ ยังผลให้คะแนนนิยมในขบวนการฝ่ายขวาซึมซาลงไป หากฮิตเลอร์และความนิยมในฝ่ายขวาได้กลับมาอีกครั้งภายหลังวิกฤติจากตลาดหุ้น Wall Street ที่เรียกว่า ‘The Great Depression’

“ปี 1929 ทันทีที่อเมริกาประสบภาวะเศรษฐกิจในประเทศตัวเอง เยอรมนีที่ขณะนั้นต้องเป็นฝ่ายพึ่งพิงเงินกู้จากอเมริกา ก็พลอยให้สถานการณ์ในเยอรมนีย่ำแย่ไปด้วย ผู้คนตกงาน เศรษฐกิจล่มจม คล้ายว่าสถานการณ์จะกลับไปย่ำแย่กว่าในวิกฤติครั้งแรกด้วยซ้ำ”

มุมมองของภาณุ เขาเห็นว่าเฉพาะภาวะเงินเฟ้อ มันก็ยังเป็นสถานการณ์ที่หากใครมีความรู้ค่าเงิน ก็พอจะหลบหลีกกันได้บ้าง ยังมีคนที่ ‘win’ กับตลาดตรงนั้น แต่สถานการณ์ในวิกฤติ The Great Depression ที่มีคนตกงานอยู่ทั่วทุกหัวระแหง กระทั่งขบวนการฝ่ายซ้ายที่เคยใช้การหยุดงานเป็นเครื่องมืออันทรงประสิทธิภาพในการประท้วง ก็กลับไม่ได้ผลในขณะนั้น เพราะในภาวะที่ผู้คนตกงานกันแทบทั่วท้องถนน นายจ้างไม่จำเป็นที่จะต้องง้อลูกจ้างอีกต่อไป

“การออกมาจากคุกของฮิตเลอร์ในครั้งนั้น เขาได้คะแนนนิยมเป็นจำนวนมาก จากพรรคนาซีท้องถิ่น กลายเป็นพรรคที่ได้รับความนิยมท่วมท้น

การตอบคำถามว่าพอถึงจุดหนึ่ง คนเอาด้วยกับพรรคนาซีได้อย่างไร อาจจะตอบได้ว่า ณ จุดหนึ่ง ชนชั้นแรงงานมันก็มีมากกว่าชนชั้นบน แต่ในเมื่อชนชั้นบนเป็นผู้กุมอำนาจ มันย่อมไม่สามารถนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากความต้องการของคนส่วนใหญ่ได้ ถึงจุดหนึ่ง คนก็คิดว่า ถึงแม้เราจะมีนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง แต่มันไม่ได้สะท้อนอะไรเลย

“ตรงกันข้าม ชนชั้นกลางที่เบื่อหน่ายกับการต้องมานั่งฟังนักการเมืองทะเลาะกัน นั่งฟังชนชั้นบนทะเลาะกับชนชั้นล่าง เขาก็รู้สึกว่ามันน่าเบื่อ เขาต้องการ unity บางอย่าง โหยหาสังคมที่มีความสามัคคี ทั้งหมดนี้เมื่อรวมกัน มันทำให้ความคิดของสังคมถอยออกจากเรื่องประชาธิปไตย จากสิ่งที่เขามองว่ามันไร้ประสิทธิภาพ

“และพอคนเหล่านี้มีปริมาณมากพอ แล้วหันไปหาฟาสซิสต์ หันไปหาฮิตเลอร์ ก็เลยเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ฟาสซิสต์กลับขึ้นมาได้”

polanyi04

สังคมพาสเจอร์ไรซ์ จากทุนนิยมฝ่ายซ้าย สู่การโอบกอด ‘ทรัมป์’ และปรากฏการณ์ ‘Brexit’

“ปัญหาใหญ่ของสังคมนิยมที่ยังพูดกันอยู่ในทุกวันนี้ คือการดึงเอาแนวคิดมาร์กซ์ เอาสตาลินออกไป กลายเป็นสังคมนิยมที่ถูกฆ่าเชื้อแล้ว ถูก Harmonize หรือ Pasteurize เรียบร้อย”

ปัญหาร่วมกันของผู้ที่สมาทานสังคมนิยม คือความผิดพลาดเดียวกับโปลานยี คือการไม่เข้าใจถึงแรงจูงใจของบุคคล อย่างน้อยก็ในสังคมปัจจุบัน

รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยกตัวอย่างกรณีโรเบิร์ต โอเวน นักสังคมนิยมชาวเวลส์ ราวศตวรรษที่ 18 ผู้ริเริ่มก่อตั้งสหกรณ์แรงงาน ด้วยแนวความคิดย้อนกลับ กับหลักการของชาวอังกฤษในยุคนั้น ที่เชื่อว่าผลสำเร็จของโรงงาน คือการขูดรีดและใช้แรงงานมนุษย์อย่างเต็มกำลัง

“โอเวนเป็นนายทุนอังกฤษคนแรกๆ ที่ปฏิรูปโรงงาน ห้ามใช้แรงงานเด็ก ให้ลูกคนงานไปเข้าโรงเรียนฟรี ตั้งสหกรณ์ในโรงงานเอาสินค้าจากข้างนอกมาขายในราคาถูก ให้หยุดวันอาทิตย์ ซึ่งต่างจากนายทุนอังกฤษในยุคนั้นที่เชื่อว่าต้องกดขี่คนงานให้สุดตัว เพื่อที่จะได้กำไรมากที่สุด แต่ปรากฏว่าโรงงานของเขาได้กำไรมาก ซึ่งก่อให้เกิดคำถามตามมาว่า ทั้งๆ ที่ไม่ได้ใช้แรงงานคนงานอย่างบ้าคลั่ง เหตุใดจึงมีกำไรที่งอกเงยกว่าโรงงานทั่วไป

“แต่ก่อนหน้านี้ โอเวนเป็นนักสังคมนิยม เคยไปลงทุนซื้อที่ New Harmony ในอเมริกา รับสมัครคนงานหนึ่งถึงสองพันคนไปอยู่ด้วยกัน เป็นชุมชนสังคมนิยม แชร์ผลผลิตเท่าๆ กัน อยู่ด้วยกัน 3 ปีก็เจ๊งครับ”

ทั้งหมดที่พิชิตชี้มา เพื่อสะท้อนภาพของผู้ที่สมาทานแนวคิดสังคมนิยม ด้วยต้องการป้องกันตัวเองออกจากการรุกของเสรีนิยมแนวใหม่ ด้วยความพยายามกลับไปควบคุมตลาดอีกชั้นหนึ่ง แนวคิดส่วนใหญ่คือการกลับไป ‘สร้างสังคมพาสเจอร์ไรซ์’ หยิบคำตอบการเป็นรัฐสวัสดิการ หรือกระทั่งการแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นเอกชนเองก็ตาม

ในมุมมองของพิชิต เขาเห็นว่า หากไล่ย้อนถามคนในรุ่นเขา อาจไม่มีใครเอาด้วยกับรัฐสวัสดิการ ด้วยเหตุผลที่เขากล่าวว่ามันเป็นการ ‘กักกันให้คนจนไม่สามารถพัฒนาความคิดเชิงปฏิวัติเพื่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่แท้จริงได้’

และหากจับเอาแนวคิดของโปลานยีไปจับกับปรากฏการณ์ร่วมสมัย อย่างปรากฏการณ์การหันหน้าเข้าสู่ฝ่ายขวาของโลก ไม่ว่าจะเป็นกระแสความนิยมในสหรัฐของ โดนัลด์ ทรัมป์ กับผลประชามติ Brexit ที่อังกฤษ ก็อาจอธิบายได้ว่าอาจเป็นผลพวงจากความพยายามพาสเจอร์ไรซ์ตัวเอง ปกป้องและต่อสู้กันเองระหว่างฝ่ายขวา และซ้ายในการกับไปควบคุมระบบในอีกครั้งหนึ่ง

ในระยะปีสองปีมานี้ การเติบโตของระบบตลาดที่เห็นได้จากปีกซ้ายในลาตินอเมริกา เริ่มกลับมาเป็นชัยชนะของกระแสฝ่ายขวา ก็คือ ทรัมป์ กับ Brexit มันคือขบวนการฝ่ายขวาที่สอดรับกับแนวคิดแบบนี้ ถ้าเป็นอเมริกัน ก็เป็นอเมริกันชนแบบดั้งเดิม Brexit ก็อ้างอิงความเป็นอังกฤษแบบดั้งเดิมเช่นกัน

“และมันร่วมด้วยกับมิติของเศรษฐกิจด้วย เพราะว่าโลกาภิวัตน์ที่เกิดขึ้น หรือการขยายของการตลาดแบบยุโรปและสหรัฐอเมริกา มันเกิดสิ่งที่เรียกว่า deindustrialize อุตสาหกรรมมันไหลออก คนงานว่างงาน เสียงาน กลุ่มคนพวกเหล่านี้ก็วิ่งไปหาขบวนการของฝ่ายขวา เหมือนไวมาร์ ปี 1920-1930 และฐานคะแนนที่สำคัญมากคือชนชั้นคนงาน”

ก่อนจบวงสนทนา ภาณุทิ้งท้ายข้อคิดเห็นที่เชื่อมโยงกับปรากฏการณ์ทรัมป์ และ Brexit ว่า ปรากฏการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในสาธารณรัฐไวมาร์ กับวิกฤติการวิ่งเข้าสู่ฝ่ายขวาปัจจุบันนั้นอาจไม่ได้มีความแตกต่างกันเลย

“ถ้ามองแค่เพียงตัวระบบตลาดเอง ถ้าถึงคราวคับขันหรือตึงเครียด ลำพังแค่กลไกระบบมันก็คงพอจะประคับประคองไปได้ แต่เมื่อใดก็ตามที่สังคมอยู่ในจุดตึงเครียดมากๆ และยังต้องเกี่ยวข้องกับอัตลักษณ์ ชาติ ชุมชน และการต้องอยู่กับการคาดเดาความคิดของคนอื่น จุดนั้นมนุษย์ก็ไม่อยู่ในภาวะที่จะมีเหตุมีผล (rational) ได้อีก”

 

Author

ณิชากร ศรีเพชรดี
ถูกวางตำแหน่งให้เป็นตัวจี๊ดในกองบรรณาธิการตั้งแต่วันแรก ด้วยคุณสมบัติกระตือรือร้น กระหายใคร่รู้ พร้อมพาตัวเองไปสู่ขอบเขตพรมแดนความรู้ใหม่ๆ นิยมเรียกแทนตัวเองว่า ‘เจ้าหญิง’ แต่ไม่ค่อยมีใครเรียกด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่มองว่าเธอไม่ใช่เจ้าหญิงแต่เป็นนักเขียนและนักสื่อสารที่มีอนาคต
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า