ประวัติศาสตร์ความเยาว์บนอำนาจความชรา

เสรีภาพเป็นแสงสว่าง มันจึงมีลักษณะดั่งเปลวไฟที่ลีลาศกับสายลม ขณะอาการเฉื่อยเชื่องอาจให้ความรู้สึกคล้ายความสงบเรียบร้อย แต่แท้จริงแล้วคือแผ่นน้ำแข็งที่ปกคลุมดินแดนเหน็บหนาว ณ ที่นั้นอาจไม่มีความ
ร้อนรุ่มลามลน แต่ก็อาจปราศจากเสียสิ้นจากพลังชีวิต

เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

ระหว่างทางที่มีจุดหมายคือประชาธิปไตย เต็มไปด้วยการสูญเสีย หยาดเหงื่อ หยดน้ำตา และเลือดเนื้อ ความกล้าหาญถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น จากวันนั้นถึงวันนี้เส้นทางการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยยังคงไม่สิ้นสุด ตราบใดที่พระอาทิตย์ยังคงขึ้น นักศึกษายังคงเดินทางต่อไป

ย่างก้าวแรก: 14 ตุลาคม 2516 เราจักไม่จำยอมจำนนต่อเผด็จการอีกต่อไป

และแล้วในช่วง 14-15 ตุลาคม ข่าวคราวการต่อสู้ทุกรูปแบบกับเผด็จการอย่างหาญกล้าของนักเรียน นักศึกษา ประชาชน อันเด็ดเดี่ยวไม่กลัวตายท่ามกลางห่ากระสุนลูกระเบิด แก๊สน้ำตาก็มีมาถึงพลังที่ชุมนุม ณ ปริมณฑลทั่วประเทศตราบจนเย็นย่ำของวันที่ 15 ตุลาคม เสียงไชโยโห่ร้องของนักศึกษาประชาชนที่ชุมนุมในศาลากลางจังหวัดดังกระหึ่มก้อง ทุกคนมีสีหน้าปีติยินดี กระโดดโลดเต้น จับไม้จับมือสวมกอดกันแน่น เมื่อทราบข่าวทางวิทยุและโทรทัศน์ว่า หัวโจกเผด็จการทรราชได้พากันหนีออกนอกประเทศไปแล้ว

แสงดาว ศรัทธามั่น, ‘รอยอดีต-ปรัตยุบัน’ เนชั่นสุดสัปดาห์ (8-14 ตุลาคม 2536), หน้า 52.

14 ตุลาคม 2516 เหตุการณ์ลุกฮือเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งยิ่งใหญ่ในสมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร การเกิดขึ้นของเหตุการณ์ในครั้งนี้มีเหตุสั่งสมมาจากการอยู่ในอำนาจมายาวนานของคณะบุคคลในกองทัพ แต่ที่ทำให้อุณหภูมิอารมณ์ของสังคมขึ้นสูงก็มีตั้งแต่เรื่องการทุจริตของรัฐบาล การพบซากสัตว์ป่าจากอุทยานในเฮลิคอปเตอร์ทหาร มาจนถึงการจับกุมตัว 13 นักศึกษาที่เดินแจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญ หรือที่เรียกกันว่า 13 ‘ขบถรัฐธรรมนูญ’ ซึ่งกลายเป็นชนวนให้นักศึกษาและประชาชนมากกว่า 500,000 คนลงสู่ท้องถนน รัฐบาลได้สลายการชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ท้ายที่สุดประชาชนเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ

สุนี ไชยรส

สุนี ไชยรส ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมความเสมอภาคและความเป็นธรรม และอาจารย์ประจำสาขาผู้นำทางสังคม ธุรกิจและการเมือง วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต อดีตนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เข้าร่วมเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เล่าว่าช่วงนั้นการปกครองค่อนข้างเป็นเผด็จการเต็มรูปแบบ คนจำนวนมากเลยรวมตัวกันเป็นเอกภาพเพื่อต่อต้านรัฐบาล โดยนักศึกษาเองก็มีบทบาทอย่างมาก

ยุคนั้นมันเป็นยุคเชิงอุดมคติ เราผ่านกระบวนการเรียนที่ให้เขียน ให้ถกประเด็น นักศึกษาจะถูกปลูกฝังว่าเราใช้เงินภาษีประชาชนร่ำเรียน เราจะต้องรับใช้ประชาชน ดังนั้นพอเห็นบ้านเมืองเป็นแบบนี้เราจะอยู่เฉยๆ ไม่ได้ มันเป็นเรื่องที่ต้องเดิน เราเป็นกลุ่มคนที่มีโอกาสได้เรียน ก็ต้องทำเพื่อประชาชน

สุนีสมัยเป็นนักศึกษาได้เข้าร่วมกับกลุ่มอิสระต่างๆ จัดกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ เช่น การเสวนา การทำหนังสือ สิ่งเหล่านี้ช่วยเพิ่มพูน สั่งสมความรู้ แต่สิ่งที่ปลุกสำนึกของเธอมากที่สุดและเป็นเหตุให้ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย เรียกร้องเสรีภาพเพื่อประชาชนเห็นจะเป็นการที่ได้ลงไปสัมผัสกับประชาชนที่เดือดร้อนโดยตรง ความลำบากและปัญหาที่พวกเขาต้องเผชิญทำให้เธอไม่อาจนิ่งเฉยได้อีกต่อไป

“ประชาธิปไตยในใจนักศึกษาจะเกิดขึ้นได้จริง ก็ต่อเมื่อนักศึกษาได้เรียนรู้ปัญหาประชาชนจริงๆ เราต้องแก้ปัญหาให้เขาด้วยประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญหรือการเลือกตั้ง เราต้องแก้ปัญหาเพื่อสิทธิด้วย ต้องไม่แยกมันออกจากกัน ไม่เช่นนั้นประชาธิปไตยจะไม่เกิด ถ้ายังไม่แก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ เรื่องสิทธิมนุษยชน”

หลังได้รับชัยชนะในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ สุนีเรียนจบพอดี และออกไปช่วยเหลือกรรมกรอ้อมน้อยอ้อมใหญ่ แต่กลับถูกจับในข้อหาคอมมิวนิสต์และกบฏ ในตอนนั้นข้อหาคอมมิวนิสต์ไม่สามารถประกันตัวได้ ระหว่างการถูกจองจำนาน 4 เดือน สุนีโดนซ้อมอยู่ในคุกเนื่องจากไปขัดคอกับผู้มีอิทธิพล จนกระทั่งเกิดม็อบนักศึกษาและชาวบ้านออกมาประท้วง จึงมีนายทุนผู้รักความเป็นธรรมรับทราบถึงเรื่องนี้ และช่วยประกันตัวเธอและนักศึกษาหญิงอีกคนที่ถูกซ้อมออกมาด้วยวงเงินประกันถึงคนละ 200,000 บาท ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนเงินที่เยอะมากในสมัยนั้น

“พอออกจากคุก ก็หนีเข้าป่าไปแถวอุดรธานี หนองบัวลำภู นาน 7 ปี กลับออกมาราวปี พ.ศ. 2526 หรือ 2527 แต่ไม่ได้ไปรายงานตัว พอปี 2530 เลยถูกจับอีกรอบ ตอนนั้นมีลูกอายุหนึ่งเดือน ก็อยู่คุกสักปีหนึ่งแล้วก็ออกมา”

ถึงแม้จะผ่านการล้มลุกคลุกคลานบนเส้นทางสายประชาธิปไตยมาอย่างหนักหน่วง แต่เธอก็เลือกเดินทางต่อในถนนสายนี้ด้วยหัวใจที่เปี่ยมล้นไปด้วยพลังแห่งความหวัง เธอมีโอกาสได้เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2540 และกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในปี 2544-2552 ถึงกระนั้นเธอก็เข้าใจกลุ่มคนที่เคยตื่นตัวทางการเมือง แต่ในระยะเวลาต่อมากลับเฉื่อยชาไป

“อย่างเราอยู่ในสถานะที่มีโอกาสได้แสดงบทบาท ได้ลุกขึ้นมาพูด อยู่ในจุดที่มีบทบาททำอะไรได้เต็มที่ คนที่ดูเฉยชาไป อย่างแรกคือเขาเหนื่อยกับสถานการณ์หลายอย่างที่ต้องเผชิญ ก็เอาเป็นว่าสู้ได้เท่าไหร่เท่านั้น อย่าเอาเงื่อนไขตัวเองไปวัดคนอื่น เขาเหนื่อยก็ให้เขาพัก ขอแค่อย่าหันไปรับใช้แนวคิดหรือกลุ่มคนที่จะไปทำร้ายคนอื่น อย่างที่สองคือคนที่ดูเหมือนเงียบๆ เขาอาจจะไม่ได้มีโอกาสทำนู่นนี่เหมือนเรา แต่เขาก็จับกลุ่มในชุมชน สู้เรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาชุมชน เขาก็ทำในมุมของเขาอยู่เงียบๆ ไม่มีใครเป็นนักประชาธิปไตยที่ดีสมบูรณ์หรอก”

ทุกวันนี้ สุนีสวมหมวกอาจารย์มหาวิทยาลัยอีกใบ ซึ่งทำให้เธอได้เห็นพลังของนักศึกษาสมัยนี้ในการขับเคลื่อนประชาธิปไตยด้วย

“ข้อดีคือพวกเขารับรู้เรื่องราวข่าวสารได้เร็วกว่าอดีต เขาก็กล้าหาญกันนะ เราก็ต้องชื่นชมที่เขากล้าลุกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์ทั้งที่ก็มีถูกจับบ้าง อยากให้เยาวชนเองลองมองไปข้างนอกด้วยว่าไม่ได้มีแค่พวกเขาที่สู้ ไม่อย่างนั้นจะรู้สึกโดดเดี่ยว ในสังคมยังมีกรรมกรที่ถูกกดค่าแรง หรือคนกลุ่มเล็กๆ อีกหลายกลุ่มที่ยังต่อสู้เพื่อสิทธิ จะเห็นได้ว่าขบวนการต่อสู้มันมีเยอะ เราก็ต้องสู้กันต่อไป”

ก้าวแห่งการนองเลือด: 6 ตุลาคม 2519 ประวัติศาสตร์ที่หายไปจากหน้าหนังสือเรียน

ถึงเดือนตุลาคมมีข่าวว่าที่กรุงเทพฯ มีการประท้วงรัฐบาลเรื่องจับผู้ต้องหาเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ไม่กี่วันก็มีนักศึกษาจากกรุงเทพฯ มาติดต่อนักเรียนโรงเรียนต่างๆ ในจังหวัดเราให้ร่วมประท้วงรัฐบาลขณะเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ผมไปปฏิบัติหน้าที่อยู่ในเขตป่าเขาทางภาคอีสาน ข่าวสารที่ได้รับฟังจากวิทยุ อ่านจากหนังสือพิมพ์ ตลอดจนที่คนร่ำลือกันไปในทำนองว่านักศึกษาเป็นฝ่ายผิด อย่างไรก็ตามเมื่อได้ดูภาพเหตุการณ์ในหน้าหนังสือพิมพ์กรอบแรกที่เล็ดลอดออกไปต่างจังหวัดก่อนที่รัฐบาลจะสั่งระงับ ผมก็ฉุกคิดขึ้นมาว่าความผิดนั้นร้ายแรงถึงกับต้องลงโทษกันถึงเลือดถึงเนื้อด้วยวิธีทรมานที่เหี้ยมโหดป่าเถื่อนอย่างนั้นเชียวหรือ

วัฒน์ วรรลยางกูร, ‘วันฆ่า’ ใน น้ำผึ้งไพร, หน้า 115.

6 ตุลาคม 2519 การนองเลือดครั้งใหญ่สุดในหน้าประวัติศาสตร์ไทย เมื่อรัฐบาลและกลุ่มฝ่ายขวาหลายกลุ่มปราบปรามนักศึกษาและผู้ประท้วงที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และที่ท้องสนามหลวง อันมีสาเหตุมาจากการปลุกปั่นโดยหนังสือพิมพ์ฝ่ายขวาว่านักศึกษามีแนวคิดแบบคอมมิวนิสต์ และมีพฤติกรรมหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ การสังหารหมู่อันโหดเหี้ยมที่มีทั้งการทุบตี การใช้อาวุธปืน การเผา การข่มขืน มีผู้คนล้มตาย บาดเจ็บและพิการมากมาย แต่สุดท้ายฆาตกรผู้ก่อการสังหารไม่ถูกจับกุมเลยสักคนเดียว ขณะที่นักศึกษาและประชาชนผู้รอดชีวิตจากการถูกสังหารกลับถูกจับกุมภายในวันนั้นเอง

นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ นักข่าวอาวุโส อดีตผู้บริหารเครือเนชั่นและอดีตคอลัมนิสต์มติชน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าว่าช่วงนั้นเป็นช่วงที่สถานการณ์บ้านเมืองอึมครึม มีข่าวการลอบฆ่าผู้นำชาวนา ผู้นำกรรมกร ผู้นำนักศึกษา รวมถึงมีกลุ่มกระทิงแดงและกลุ่มก่อกวนปาระเบิดใส่ตามสถานที่ต่างๆ กระทั่งในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เอง

นิธินันท์ ยอแสงรัตน์

“แม้แต่อาจารย์มหาวิทยาลัยที่เป็นเลขาธิการพรรคสังคมนิยมอย่าง ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน ซึ่งเป็นอาจารย์ที่สอนดิฉันและดิฉันนับถือมาก ก็ถูกลอบยิงขณะอาจารย์ขับรถจนรถตกถนนเสียชีวิตคาที่ นักศึกษาที่ทำกิจกรรมหลายคนก็ถูกข่มขู่ มีคนเดินตามจนถึงบ้านรวมถึงตัวดิฉัน แต่นักศึกษาที่ทำกิจกรรมก็มิได้กลัวเกรง เพราะมีความมุ่งมั่นเป็นอย่างมากว่าจะช่วยกันสร้างสังคมที่ดีงามสำหรับคนส่วนใหญ่ให้ได้ แม้จะไม่ชัดเจนในเชิงโครงสร้างว่าจะทำอย่างไร แต่ก็ชัดเจนในความคิดระดับหนึ่งว่าต้องช่วยคนยากจนก่อน ลงจากหอคอยงาช้าง ดัดแปลงตนเองให้เข้าใจชีวิตชนชั้นล่าง”

นิธินันท์เล่าถึงอดีตว่า ช่วงนั้นกระแสต่อต้านเผด็จการและแนวคิดเสรีนิยมประชาธิปไตยแพร่หลายไปทั่วทุกมุมโลก คนหนุ่มสาว นักศึกษาในที่ต่างๆ ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวเป็นขบวนการ เช่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งเวลานั้นในไทยเองก็มีหนังสือที่ชวนให้เยาวชนคิดสร้างสรรค์หลายเล่ม เช่น ชัยพฤกษ์ , สังคมศาสตร์ปริทัศน์ และ หนุ่มสาว เป็นต้น

นักศึกษาไทยโดยเฉพาะคนที่อ่านหนังสือมาก สนใจใฝ่รู้ ก็เห็นพ้องว่าเสรีนิยมประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่เหมาะสมกับมนุษย์ผู้เกิดมามีสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน

“เวลานั้นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย มีการประชุมกันแทบทุกวัน แต่ก็มีความขัดแย้งกันอยู่บ้าง มองย้อนไปคืออาจเกิดจากความพยายามเข้ามาจัดตั้งนักศึกษาจากฝ่ายต่างๆ ทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเอง”

ในยามที่หนทางถูกหมอกควันบังจนแลดูขมุกขมัว เสียงเพลงคงเป็นสิ่งหนึ่งที่พอจะช่วยเยียวยาและเรียกขวัญกำลังใจได้บ้าง นิธินันท์ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกวงดนตรีนักศึกษา ‘ต้นกล้า’ ของขบวนการนักศึกษาประชาชน เพื่อเดินสายแสดงดนตรีให้กำลังใจการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรม โดยเฉพาะชาวบ้านยากไร้ กรรมกร และชาวนาทั่วประเทศ

“ตอนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ขณะนั้นเรียนอยู่ปี 4 ก็ถูกจับอยู่ที่ศูนย์บางเขนนานเกือบเดือน เพราะเจ้าหน้าที่ต้องการสอบคอนเน็คชั่น ออกมาก็เรียนต่อจนจบปริญญา แล้วไปทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่ เดอะเนชั่น ในปี 2520 เมื่อรัฐบาลยอมให้เปิดหนังสือพิมพ์ ตัดสินใจไม่เรียนต่อเพื่อเป็นอาจารย์ตามที่อาจารย์แนะนำ เพราะคิดว่าในเวลานั้นอาชีพสื่อสามารถเป็นกระบอกเสียงให้กับคนไร้เสียง และช่วยสังคมได้ทันทีและมากกว่า จากนั้นก็อยู่ในอาชีพสื่อมาจนถึงตอนนี้”

แม้ความปรารถนาในการคืนเสรีภาพสู่สังคมจะแรงกล้าขนาดไหน ถึงกระนั้นก็ยังคงมีผู้ใหญ่ที่ไม่เข้าใจถึงเจตนารมณ์หรืออาจจะเป็นห่วงความปลอดภัยในชีวิตคอยห้ามปรามอยู่ดี

“เจอคำกล่าวตักเตือนในลักษณะที่ว่าเข้าใจว่าเจตนาดี แต่กลัวจะถูกใช้เป็นเครื่องมือของผู้ไม่หวังดี เสียดายว่าเรียนหนังสือดี อยากให้กลับมาตั้งใจเรียนเพื่อเกียรตินิยมดีกว่า หรือบางคนก็เดินเข้ามาพูดตรงๆ ว่าทำไมถึงทำกิจกรรมแบบนี้ เป็นคอมมิวนิสต์ไหม อย่าเป็นเลย กลับใจเถอะ แต่อาจารย์ผู้ใหญ่ที่เห็นใจและเข้าใจก็มี โดยเฉพาะในแวดวงดนตรีไทย อาจารย์ผู้ใหญ่มาขึ้นเวทีให้ จนกระทั่งถึงขั้นแบกระนาดหนีระเบิดที่ปาลงเวทีด้วยกัน”

อย่างไรก็ตาม นิธินันท์ไม่ได้เลือกที่จะตอบกลับด้วยท่าทีที่โกรธเกรี้ยว กลับรับฟังความคิดต่างอย่างสุภาพพร้อมยืนยันไม่คิดว่าทำอะไรผิด และกำลังทำเพื่อสร้างสรรค์สังคมไทยให้ดีขึ้นสำหรับคนส่วนใหญ่ เธอบอกว่าการที่นักศึกษาถูกมองว่าไร้เดียงสานั้นเป็นเรื่องปกติที่ไม่จำเป็นต้องโกรธ เนื่องจากคนส่วนมากมักมองอะไรชั้นเดียว เช่นคิดว่าคนที่เด็กกว่าย่อมไม่รู้อะไร แม้บางครั้งเด็กอาจจะรู้เยอะกว่าคนที่อายุมากกว่าในประเด็นที่เด็กศึกษาจริงจัง ทว่าหากลองมองอีกด้าน คำกล่าวนี้ก็มีส่วนจริง

คนหนุ่มสาวส่วนใหญ่เริ่มต้นด้วยอุดมคติ และยังไม่ได้เจอเรื่องในสนามจริงมากนัก แต่นั่นไม่ได้แปลว่าคนหนุ่มสาวไม่ควรยุ่งการเมืองหรืออะไรอื่นที่ผู้ใหญ่สั่งว่าเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ เพราะทั้งหมดเป็นเรื่องของการเรียนรู้ ทุกคนต่างต้องเรียนรู้ เติบโต และมีประสบการณ์ ถ้าคนเราไม่เรียนรู้ ไม่ปฏิบัติ จะเอาประสบการณ์มาจากไหน

แน่นอนว่าพลังของทุกคนสำคัญ เธอเสริมว่า ลักษณะพิเศษของพลังคนหนุ่มสาวคือเป็นพลังที่มีกำลังแข็งกล้าที่สุดซึ่งเกิดจากช่วงวัย เพราะนักศึกษามีความรู้หลากหลายอันนำมาปรับใช้ให้การขับเคลื่อนประชาธิปไตยมีคุณภาพยิ่งขึ้นได้

ก้าวที่แลกมาด้วยเลือดเนื้อและน้ำตา: 17 พฤษภาคม 2535 ความทมิฬเข้าครองเมือง

ฝนแรกเดือนพฤษภารินสายมาเป็นสีแดง ฝนเหล็กอันรุนแรงทะลวงร่างเลือดพร่างพราว หลั่งนองท้องถนนเป็นสายชลอันขื่นคาว แหลกร่วงกี่ดวงดาวและแหลกร้าวกี่ดวงใจ บาดแผลของแผ่นดินมิรู้สิ้นเมื่อวันใด อำนาจทมิฬใครทะมึนฆ่าประชาชน เลือดสู้จะสืบสายความตายจะปลุกคน วิญญาณจะทานทนพิทักษ์เทอดประชาธรรม ฝนแรกแทรกดินหายฝากความหมายความทรงจำ ฝากดินให้ชุ่มดำเลี้ยงพืชกล้าประชาธิปไตย

จิระนันท์ พิตรปรีชา, ‘ฝนแรก’.

หลังคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ทำรัฐประหารรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ และเลือก นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี จากนั้นจึงร่างรัฐธรรมนูญและได้ผลการเลือกตั้งออกมา นายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ได้รับการสนับสนุนจากบุคคลในคณะ รสช. ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ทว่านายณรงค์ถูกรัฐบาลสหรัฐอเมริกาขึ้นบัญชีดำจากความใกล้ชิดกับนักค้ายาเสพติด ส่งผลให้ไม่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ พลเอกสุจินดา คราประยูร จึงขึ้นรับตำแหน่งแทน ทั้งที่เคยกล่าวว่าจะไม่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนที่คัดค้านรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เนื่องจากมองว่าไม่มีความเป็นประชาธิปไตย และยังเป็นการสืบทอดอำนาจของ รสช. จนเกิดการเคลื่อนไหวใหญ่ในหลายจุดภายในกรุงเทพฯ ท้ายที่สุดจึงนำไปสู่เหตุการณ์ปราบปรามและปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร กับประชาชนผู้ชุมนุม

แน่นอนไม่มีใครคาดคิดว่าสุดท้ายแล้วเหตุการณ์จะลงเอยด้วยการสูญเสียเลือดเนื้อ เช่นเดียวกับ ธนิต ณ อุบล อดีตผู้เข้าร่วมเหตุการณ์พฤษภาทมิฬซึ่งขณะนั้นเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เขาย้อนรำลึกถึงความหลังว่าขณะนั้นกำลังฝึกงานที่โรงปูนซิเมนต์ไทย ท่าหลวง จังหวัดสระบุรี ธนิตได้นั่งรถไฟจากอำเภอท่าเรือเพื่อจะเข้ามาชุมนุมที่กรุงเทพฯ โดยอาศัยพักกับญาติแถววัดระฆัง การชุมนุมในครั้งนั้นเป็นการชุมนุมแบบไปกลับที่พัก มาฟังปราศรัยเป็นช่วงเวลา ไม่ต้องอยู่ทั้งวัน

ธนิต ณ อุบล

“ช่วงที่มีความรุนแรงมากที่สุดคือช่วงเย็นประมาณวันที่ 17 พฤษภาคม มีการเคลื่อนขบวนของผู้ชุมนุม แต่มีทหารสกัดกั้นอยู่ตรงบริเวณสะพานผ่านฟ้าฯ ส่วนตัวผมไปแอบอยู่บริเวณป้อมมหากาฬที่อยู่ตรงเชิงสะพานผ่านฟ้าฯ และได้ยินเสียงปืนยิงจากฝั่งทหาร ผมหลบอยู่ในป้อมจนถึงช่วงเช้า จึงค่อยรีบเดินทางกลับไปที่พัก และเดินทางกลับไปฝึกงานต่อที่สระบุรี”

ในวันนั้นทหารและตำรวจหลายพันคนพร้อมรถถังและรถหุ้มเกราะ เคลื่อนตัวเข้าสู่พื้นที่การชุมนุมของประชาชน เพื่อสลายการชุมนุมต่อต้านที่สะพานผ่านฟ้าฯ โดยคำสั่งของ พลเอกสุจินดา คราประยูร มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และสูญหายเป็นจำนวนมากจากการใช้กระสุนจริง

กาลเวลาหมุนไปข้างหน้า แต่เหมือนเหตุการณ์กำลังหมุนย้อนกลับ หลังจากที่เข้าร่วมการต่อสู้เพื่อต่อต้านการสืบทอดอำนาจรัฐประหารมาแล้วครั้งหนึ่ง ทว่าทุกวันนี้สังคมไทยก็ยังถูกครอบงำจากการปกครองโดยคณะรัฐประหาร

“รู้สึกผิดหวังกับการทำรัฐประหารที่ทำให้ทหารมีอำนาจเหนือกฎหมายและตรวจสอบไม่ได้ ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ประเทศไทยยังคงอยู่ภายใต้อำนาจของทหารที่เกิดจากการรัฐประหาร แม้จะมีการจัดการเลือกตั้งผ่านไป แต่ทุกวันนี้ดูเหมือนว่าเราอาจจะยังคงอยู่กับอำนาจของทหารต่อไป”

แม้การตกอยู่ภายใต้การสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารในปัจจุบัน ดูเหมือนจะกินเวลาเนิ่นนานสุดเท่าที่เคยมีมา แต่การสื่อสารออนไลน์ที่เป็นคลังเก็บข้อมูลขนาดใหญ่และเข้าถึงได้อย่างกว้างขวาง ทำให้ข้อมูลความรู้ไม่ได้กระจุกตัวอยู่เพียงที่ใดที่หนึ่งเหมือนในอดีต ประชาชนรู้เห็นมากขึ้นในสิ่งต่างๆ ที่รัฐพยายามจะปิดบัง คนรุ่นใหม่สามารถหาข้อมูลได้ด้วยเทคโนโลยี รู้จักวิเคราะห์จากข้อเท็จจริงมากกว่าการเชื่อคำบอกเล่าหรือการชักจูงใดๆ อีกทั้งยังทำให้คนรุ่นใหม่ใกล้ชิดกับผู้นำทางความคิดในสังคมมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ธนิตคาดว่าแม้การเคลื่อนไหวบนโลกออนไลน์จะเข้ามามีบทบาทสำคัญ แต่ก็ไม่แน่ว่าอาจจะได้เห็นปรากฏการณ์นักศึกษาเดินลงถนนกันอีกครั้ง

“การที่เด็กรุ่นใหม่จะลงไปเดินบนถนนอาจจะเกิดขึ้นได้ ในกรณีที่มีผู้นำที่เขาเชื่อมั่นในอุดมการณ์เดียวกัน และวัยใกล้เคียงกัน คุยภาษาเดียวกัน และคิดจะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยอย่างแท้จริง”

ก้าวแห่งการแตกหัก และไม่หวนคืน: 19 พฤษภาคม 2553 พฤษภาอำมหิต ปลิดดอกไม้ประชาธิปไตย

ภาพ: ปฏิภัทร จันทร์ทอง

ประชาชนของคุณคือคนไหน คนสมบูรณ์หน้าใสใส่เสื้อเหลือง คนเสื้อแดงมอมแมมแสนฝืดเคือง คนเซื่องซึมจรจัดขาดอาภรณ์ ความเป็นชาติของคุณอยู่ที่ตรงไหน สิเนรุอำไพเผือกสิงขร เราคือฐานพีระมิดประชากร กัดกร่อนเราคุณก็ล้มลงระยำ

ไม้หนึ่ง ก.กุนที (กมล ดวงผาสุข) กล่าวในงาน Thai Poet Forum เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2552

19 พฤษภาคม 2553 เหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงหรือ นปช. บริเวณแยกราชประสงค์ หลังจากกลุ่ม นปช. ได้เริ่มเปิดฉากชุมนุมตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน 2553 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ เพราะเกิดข้อสงสัยว่าอาจมีการแทรกแซงอำนาจทางการเมือง เหตุจากศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินยุบพรรคพลังประชาชน และต่อมามีการจัดตั้งรัฐบาลผสมนำโดยพรรคประชาธิปัตย์ ในวันนั้นมีการใช้กระสุนสลายการชุมนุม 117,923 นัด เป็นกระสุนจริง 111,303 นัด และเป็นกระสุนซุ่มยิง 2,120 นัด ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 94 ราย

แม้ว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่ม นปช. ไม่ได้ถูกขับเคลื่อนโดยเยาวชนเป็นหลัก แต่ก็ใช่ว่าจะไม่ปรากฏถึงการเข้าร่วมของนักเรียน นักศึกษาเลย รัฐพล ศุภโสภณ อดีตผู้เข้าร่วมการชุมนุมเสื้อแดงเมื่อครั้งยังเรียนอยู่ เล่าว่าตนเองเติบโตมาในครอบครัวที่พูดคุยเรื่องการเมืองเป็นประจำ และมีโอกาสได้ไปชุมนุมกับพ่อแม่อยู่บ่อยครั้ง แต่ถึงอย่างนั้นทางบ้านก็ไม่เคยอนุญาตให้ไปชุมนุมตัวคนเดียว เนื่องจากเป็นห่วงความปลอดภัย จนกระทั่งปี 2553 เขาจึงได้ตัดสินใจแอบไปชุมนุมด้วยตัวเอง

รัฐพล ศุภโสภณ

“เราสงสัยมาตั้งแต่ปี 49 ที่รัฐประหารทักษิณ เพราะทักษิณถูกเลือกมาด้วยคะแนนเสียงของประชาชนเยอะมาก อะไรมันใหญ่ขนาดที่เขาไม่กลัวอะไรเลยแล้วทำรัฐประหาร แต่ตอนปี 53 เราไปไกลกว่าประเด็นทักษิณ ตอนหลังเราไม่ได้นิยมตัวบุคคลทักษิณแล้วด้วยซ้ำ แต่เราเห็นชาวบ้านที่เขานิยมฝั่งเพื่อไทยมาชุมนุม เราสัมผัสได้ว่าผู้แทนของเขาถูกเลือกมาไม่รู้กี่ครั้ง โดนยุบพรรคไม่รู้กี่ครั้ง ส่วนตัวผมรู้สึกว่ามันคือการหยามประชาชน นี่คือตัวแทนประชาชน พรรคไทยรักไทย พลังประชาชน หรือเพื่อไทย คือเสียงประชาชนมาตลอด ถูกเล่นงานมาตลอด มันไม่แฟร์ สุดท้ายมันเปลี่ยนขั้วมาเป็นคุณอภิสิทธิ์ จากกรณีงูเห่าอย่างคุณเนวิน มันไม่ชอบธรรมอย่างเต็มที่ ผมไม่ได้มีปัญหากับอภิสิทธิ์เป็นการส่วนตัวนะ แต่ในจุดนั้นมันไม่ถูก เรารู้สึกว่ามันต้องทำอะไรสักอย่าง”

แม้รัฐพลจะไม่ได้อยู่ในวงล้อมของการสลายการชุมนุม แต่เขาก็จำความรู้สึกในตอนนั้นได้ไม่ลืม

ในจังหวะที่มันสลายการชุมนุม ผมไม่กลัวตายเลย จะขึ้นมอเตอร์ไซค์ไปที่เกิดเหตุกับชาวบ้าน ตอนนั้นมันโกรธ มันแค้น น้ำตาไหลเลย คุณเป็นคนส่วนน้อยมาล้มเสียงส่วนใหญ่ ตั้งองค์กร ศาลมาเอื้อคุณหมด แต่แม่ผมห้ามไว้ไม่ให้ไป

เมื่อพูดถึงบทบาทของคนหนุ่มสาวในการขับเคลื่อนการชุมนุมปี 2553 รัฐพลยอมรับว่าขบวนการนักศึกษาอาจไม่ใช่แกนหลัก แต่มีลักษณะเป็นส่วนเสริมเสียมากกว่า เช่น สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ที่ ออกมาตั้งเต็นท์ และเข้าร่วมการแห่รอบเมือง ซึ่งรัฐพลเห็นว่า เหตุที่มีนักศึกษาเข้าร่วมไม่มากนักเมื่อเทียบกับการชุมนุม กปปส. ในปี พ.ศ. 2557 อาจเป็นเพราะขบวนการนักศึกษาถูกทำลายค่อนข้างย่อยยับในช่วง 6 ตุลาฯ และหลังจากเหตุการณ์นั้นมาก็ถูกหล่อหลอมให้อยู่ในสภาวะสายลมแสงแดด ภาพลักษณ์ของกลุ่มคนเสื้อแดงจึงอาจจะไม่ตอบโจทย์นักศึกษาช่วงนั้นเท่าไหร่นัก

ธีมหลักของเสื้อแดงคือไพร่ ซึ่งอาจจะไม่ตรงไทป์นักศึกษาในตอนนั้น แต่เราจะเห็นนักศึกษาเข้าร่วมม็อบ กปปส. เยอะกว่า เพราะภาพของ กปปส. มันแมตช์กับชนชั้นกลางที่ตอนนั้นเป็นอิกนอแรนซ์กันเยอะ มีดารา นักร้องต่างๆ ในม็อบ แถมสถาบันการศึกษาก็ส่งเสริม เช่น ถ้าไปม็อบจะให้คะแนน หรือเอื้อเฟื้อจัดรถรับส่งนักศึกษาพาไปชุมนุม มันเป็นอะไรที่ทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครทำให้นักศึกษาเลยนะ แล้วพอยท์ของการชุมนุมคือ การด่านักการเมืองว่าโกง มันไม่ต้องทำความเข้าใจให้ซับซ้อน มันสะใจ ให้ความรู้สึกต่อต้านง่าย และเท่

เขากล่าวต่อว่าเหตุการณ์นี้ทำให้เมืองไทยแตกออกเป็นสองขั้ว และไปอยู่ในจุดที่ไม่มีวันกลับมาเหมือนเดิมได้อีก วัฒนธรรมการชุมนุมถูกต่อต้านโดยชนชั้นกลางและบน เกือบทศวรรษที่ประวัติศาสตร์หน้านี้ถูกพยายามทำให้เลือนหายโดยรัฐบาล ทว่าเมื่อโซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทสำคัญ ทวิตเตอร์กลายเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ทางการเมือง นักเรียน นักศึกษาจึงเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น เราเลยได้เห็นการชุมนุมในปี 2553 ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นมรดกให้เยาวชนเรียนรู้อีกครั้ง

ภาพ: ปฏิภัทร จันทร์ทอง

“ตอน 14 ตุลาฯ นักศึกษาไปคว้า กุหลาบ สายประดิษฐ์, เทียนวรรณ ยุคนี้เขาก็คว้า สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, ธงชัย วินิจจะกูล นี่ไม่ใช่ไอเดียใหม่เลยนะ แต่ตอนนี้เงื่อนไขสังคมมันดำเนินไปถึงจุดที่ความรู้เหล่านี้มันเบ่งบานได้ นักศึกษายุคนี้ไม่ได้โตมากับสำนึกแห่งความกลัว หรือเขาอาจจะเห็นว่าถ้ากลัวต่อไปแบบนี้ อนาคตเขาเองก็ไม่มี หรือเป็นอนาคตแบบที่กำหนดไม่ได้ ถ้าโตไปก็ลำบาก พวกเขาเลยลุกมาเป็นหัวขบวนในการขับเคลื่อน”

ก้าวที่ยังไม่สิ้นสุดบนหนทางอันยาวไกล

มันช่างแปลกที่นึกออกว่าเราเคยคิดกันแค่ไหน ราวกับว่าเรามีทุกสิ่งได้เสมอ ราวกับว่าไม่มีเหตุบังเอิญ ไม่มีขอบเขต; ราวกับว่าเราต่างมีเสรีที่จะสร้างรูปทรงของขอบข่ายแห่งชีวิตไปไม่รู้จบ แล้วสร้างรูปทรงใหม่ขึ้นมาได้อีกชั่วกาลนาน

Margaret Atwood, ‘The Handmaid’s Tale เรื่องเล่าของสาวรับใช้’, หน้า 322.

คงกล่าวได้ว่าประเทศไทยไม่เคยห่างหายจากความบอบช้ำในเรื่องเดิมๆ ต่อให้ประชาชนพยายามเดินมาไกลแค่ไหน แต่เราก็ไม่เคยหลุดพ้นจากกลุ่มอำนาจที่ดึงเรากลับไปสู่เส้นทางรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำเล่า

หลังจากการทำรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อันมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ อาวุธถูกแปรสภาพจากปลายกระบอกปืนมาเป็นกฎหมายที่สร้างความชอบธรรมให้กับการใช้อำนาจของรัฐบาล ประชาชนถูกจองจำสิทธิเสรีภาพด้วยรัฐธรรมนูญ 2560 อันเปรียบเสมือนโซ่ล่าม และมาตรา 44 ที่ไม่ต่างอะไรจากกุญแจมือ ความเห็นต่างและการวิพากษณ์วิจารณ์กลายเป็นสิ่งต้องห้ามในดินแดนที่อ้างตนว่าปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย พลเรือนถูกส่งตัวขึ้นศาลทหาร การอุ้มหายเหมือนดั่งสายลมเบาบางที่พัดหายไปแบบเงียบๆ การลิดรอนเสรีภาพถูกแปะป้ายเรียกชื่อใหม่ให้สวยหรูว่าสงบสุข การกดทับที่สั่งสมมาเป็นระยะเวลาเนิ่นนานนำมาซึ่งการปะทุของเหล่านักศึกษาอีกรอบ

หลังจากที่ถูกกดทับเสรีภาพมาเป็นเวลานานถึงห้าปีกว่า คบเพลิงแห่งความหวังของบรรดาหนุ่มสาวก็ถูกจุดขึ้นอีกครั้งเมื่อรัฐบาลประกาศจัดการเลือกตั้ง คนรุ่นใหม่จำนวนมากเพิ่งจะได้เลือกตั้งเป็นครั้งแรก ทว่ากฎระเบียบการเลือกตั้งกลับถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเอื้อต่อการสืบทอดอำนาจของรัฐบาล คสช. อีกทั้งการเมืองน้ำเน่าที่สาดข่าวเท็จ สารพัดกลโกงการนับคะแนน ก็ทำให้คนรุ่นใหม่หลายคนใจสลายกับการเลือกตั้งครั้งนี้

การต่อกรกับอำนาจเผด็จการในยุคปัจจุบันเปลี่ยนรูปแบบจากการรวมตัวบนท้องถนนไปอยู่บนถนนออนไลน์มากขึ้น ทว่า อ้อมทิพย์ เกิดผลานันท์ อดีตสมาชิกกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท หนึ่งในผู้ริเริ่มการรณรงค์ไม่เข้ารับปริญญา รวมทั้งรณรงค์กิจกรรมไม่เห็นด้วยและหยุด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และหนึ่งในรายชื่อผู้ชุมนุมคดี MBK39 (คดีการนัดรวมพลของประชาชนอยากเลือกตั้ง แสดงพลังต้านสืบทอดอำนาจ คสช.) เห็นว่าการเคลื่อนไหวบนโลกออนไลน์แม้จะมีข้อดีตรงที่ทั่วถึง และลดความรุนแรงที่จะเกิดการปะทะกัน แต่ก็อาจไม่ถูกนำมาปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาจริง อย่างกรณีการลงชื่อแคมเปญต่างๆ เพื่อต่อต้านการใช้อำนาจของรัฐในทางที่ผิด เช่น ลงชื่อถอดถอน กกต. หรือลงชื่อคัดค้าน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งมีประชาชนลงชื่อเป็นจำนวนมาก หากสุดท้ายแล้วก็ไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมอยู่ดี

อ้อมทิพย์ เกิดผลานันท์

“สิ่งที่สำคัญในการต่อสู้กับเผด็จการคือเราต้องทำให้เผด็จการกลัว กลัวว่าเขาด้อยอำนาจกว่าประชาชน การลงท้องถนนมันก็เป็นวิถีที่ทำให้เขาประจักษ์และกลัวจริงๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในขั้นเริ่มต้นของการยึดอำนาจคืนมาสู่ประชาชน”

พักระหว่างทางเพื่อสำรวจใจตน: จากวันนั้นถึงวันนี้ อกหักไปตั้งกี่ที รักเรายังคงเหมือนเดิมอยู่ไหม

ฤดูกาลผันผ่านไป ใบไม้ผลิบานและร่วงหล่น แต่ประชาธิปไตยในไทยยังไม่ทันจะได้ผลิบานอย่างเต็มที่ ก็ชิงร่วงหล่นไปเสียทุกครา เมื่อเส้นทางเพื่อมวลชนดูเหมือนจะยาวไกลเสียเหลือเกิน เหล่านักเดินทาง หกล้มคลุกคลานมาก็มาก อกหักเจ็บช้ำมาตั้งหลายครา ลองมาสำรวจหัวใจของนักเดินทางแต่ละคนว่าจากวันที่ตัดสินใจออกเดินทางจนมาถึงวันนี้ ความรักในเสรีภาพ และความหวังในประชาธิปไตยต่อสังคมนี้ยังคงอยู่ดีไหม

สุนี : “หลังออกจากป่า มีคนรอบตัวหลายส่วนท้อแท้ อยากพัก หลังจากสู้มายาวนาน เพราะมันมีคนสูญเสียทุกครั้งบนการต่อยอดของประชาธิปไตย แต่เรามีคำขวัญว่าทำไมเรายังสู้ เพราะเรายังมีชีวิต ขณะที่คนจำนวนมากที่สู้มาด้วยกันตายไปแล้ว แต่เราโชคดีที่ยังมีชีวิตอยู่ เราจึงยังอยากสู้ต่อ”

นิธินันท์ : “การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติ คนจำนวนมากต่อสู้เพื่อประโยชน์พึงได้ ณ ขณะนั้น ไม่ได้ยึดอุดมการณ์ใดๆ เมื่อเวลาเปลี่ยนวิถีชีวิตเปลี่ยน คนที่เคยสู้เพื่อประชาธิปไตยอาจจะไปสู้เพื่อเผด็จการ แต่ดิฉันมีความหวังอยู่เสมอค่ะ ดิฉันเป็นคนแก่โลกสวย มองโลกแง่ดีตลอด และเห็นความเปลี่ยนแปลงในทางดีเมื่อเทียบกับวันที่ดิฉันเป็นเด็กจนบัดนี้ จึงไม่มีเหตุผลที่จะสิ้นหวังค่ะ”

ธนิต : “ผมยังมีความหวังว่าประเทศไทยจะได้ผู้นำที่ไม่ใช่เผด็จการทหาร เนื่องด้วยมีคนรุ่นใหม่ไฟแรงที่มีอุดมการณ์ต่อต้านเผด็จการทหารในการลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้ และมีคนรุ่นใหม่ลงคะแนนเสียงสนับสนุนพรรคดังกล่าวจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว อนาคตประเทศไทยก็คงต้องฝากเอาไว้กับคนรุ่นต่อไป”

รัฐพล : “ยังมีหวังนะ ผมอยากฝากคำของพี่หนูหริ่งถึงน้องๆ การเมืองมันต้องเจอเรื่องหดหู่ ขอให้ต่อสู้ด้วยความสนุก หาแง่มุมสนุกให้เจอ แต่ไม่ได้ละทิ้งความจริงจังและความเข้มข้นของเนื้อหา เพราะมันทำให้เราทำอะไรแบบนี้ต่อได้นาน ไม่รู้สึกท้อจนล้มเลิกไป สิ่งที่เผด็จการทำคือทำให้เราสิ้นหวัง เพราะฉะนั้นความหวังเราต้องเติมให้ตัวเองตลอดเวลา ไม่งั้นที่สู้และเสี่ยงมาก็จะสูญเปล่า ผมคิดว่าปลายทางมันคุ้มค่าพอที่ทุกคนจะสู้ สิ่งที่พวกคุณทำมันมีหวังจริงๆ วันข้างหน้าจะสู้แพ้หรือชนะ ขอให้จำไว้เสมอว่าตอนนี้คุณสู้เพื่ออะไร”

อ้อมทิพย์ : “ไม่ลดเลย มากขึ้นด้วยซ้ำ เพราะเรารู้สึกว่าพอคนเห็นแล้วว่ารัฐบาลทหารไม่เข้าท่า เขาจะรู้สึกว่าแบบนี้ไม่โอเค เราต้องไปทางการปกครองแบบประชาธิปไตยซึ่งมันเข้าท่ากว่า ทำให้คนตระหนักว่าจะต้องทำอะไรต่อไป เราเลยค่อนข้างมีความหวังมากขึ้น รู้ว่าต้องใช้เวลานานในการพัฒนา แต่ก็เชื่อว่าจะทำได้”

หากใครเหนื่อยล้าและปรารถนาจะหยุดพัก ขอจงเก็บรักนั้นเหมือนเก็บดอกไม้สักดอกไว้คั่นหน้าหนังสือ หากวันใดบังเอิญกลับมาเปิดเจอ แม้กลีบดอกและก้านใบอาจจะแห้งเหี่ยว ก็หวังว่าจะยังคงจดจำความสวยงามและความหอมหวนของจิตวิญญาณอันเสรีที่หล่อเลี้ยงดอกไม้นี้ได้ และหากดวงใจของใครยังคงมีเปลวไฟความหวังลุกประกายโชติช่วงก็นับเป็นเรื่องที่น่ายินดี

ขอจงก้าวเดินต่อไปบนเส้นทางประชาธิปไตย ให้พลังแห่งวัยหนุ่มสาวเป็นน้ำมันที่คอยเติมเชื้อไฟไม่ให้มอดไหม้ ให้ความรู้ที่ร่ำเรียนมาเป็นแผนที่นำทางไม่ให้หลงผิด เมื่อใดที่พายุฝนสร่าง ฟ้าเปิดให้ตะวันส่องกระจ่าง เมื่อนั้นจุดหมายจะรออยู่ไม่ไกล ณ ที่แห่งนั้นประชาธิปไตยพร้อมออกดอกเบ่งบานอย่างเต็มที่

Author

ไข่มุก อินทรวิชัย
อดีตนักเรียนวารสารศาสตร์ ผู้หล่อเลี้ยงชีวิตด้วยแฟชั่น เครื่องสำอาง และความหวังว่าสังคมไทยจะต้องดีขึ้น เคยฝันอยากเป็นนักข่าว ปัจจุบันผันตัวมาทำมาร์เกตติ้ง แต่ยังเชื่อมั่นว่าเราขับเคลื่อนสังคมได้ ด้วยการหย่อนเมล็ดพันธุ์ประชาธิปไตยผ่านงานเขียน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า