ธงชัย วินิจจะกูล: อึดอัดกันพอหรือยัง กับประวัติศาสตร์เงียบที่ห้ามพูดถึง

คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดการบรรยายสาธารณะในหัวข้อ ‘ประวัติศาสตร์ความเงียบ’ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 โดยมี ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล ศาสตราภิชานภาควิชาประวัติศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐอเมริกา ในฐานะอดีตนักกิจกรรมและผู้นำนักศึกษา ซึ่งบรรยายถึงประเด็น ‘ความเงียบอันน่าอึดอัด’ ที่ปกคลุมสังคมไทยในปัจจุบัน พร้อมชวนตั้งคำถามว่า “เรายังอึดอัดกันไม่พออีกหรือ?”

ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล กล่าวถึงแง่มุมที่ได้จากการรับชมภาพยนตร์เรื่อง ‘เมมโมเรีย’ (Memoria) กำกับและเขียนบทโดย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล (เจ้ย) เพื่อเชื่อมโยงไปยังประเด็น ‘ความเงียบ’ จากการตีความเนื้อหาในภาพยนตร์ว่า ความทรงจำของคน หากนึกย้อนกลับไปในอดีต จะมีภาษาที่สามารถสื่อมาถึงเราได้ เเต่ในความเป็นจริงนั้น น้อยมากที่ความทรงจำจะย้อนกลับมาเต็มรูปแบบตั้งเเต่ต้นจนจบ ซึ่งความทรงจำส่วนใหญ่จะปรากฏแค่เพียงเศษเสี้ยว และเศษเสี้ยวความทรงจำเหล่านั้นจะทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของภาพใหญ่ที่จะทำให้เรารับรู้เองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นตั้งเเต่ต้นจนจบนั้นคืออะไร 

บริบทในภาพยนตร์ เมมโมเรีย ที่ถูกตีความโดย ศ.ดร.ธงชัย จึงเปรียบความทรงจำได้ว่าเป็นเสมือนเสียงที่อึกทึกครึกโครม และเป็นความทรงจำที่มีจำนวนมหาศาล แต่ในความทรงจำทั้งหมดนั้นกลับไม่ใช่ความทรงจำของเราเอง หากแต่เป็นเรื่องตกทอดจากรุ่นสู่รุ่นจนกลายเป็นประวัติศาสตร์ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น ‘ความทรงจำของสังคม’ หรือ ‘ความทรงจำรวมหมู่’ ด้วยเหตุนี้ ความทรงจำที่เรามี จึงไม่จำเป็นต้องประสบพบเจอด้วยตัวเอง

ความทรงจำอันเงียบงัน ในภาวะ ‘ลืมไม่ได้ จำไม่ลง’

ศ.ดร.ธงชัย กล่าวว่า หนึ่งในความทรงจำที่เงียบที่สุด คือ กรณี 6 ตุลาฯ เรื่องราวมากมายที่แต่ละคนผู้ซึ่งเคยผ่านและอยู่ร่วมประสบการณ์นั้นถูกจดจำได้ในลักษณะที่เเตกต่างกันออกไป มีทั้งความทรงจำของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ ผู้กระทำการ หรือผู้ที่มีประสบการณ์ร่วมสมัยจากการรับสื่อโทรทัศน์ รวมไปถึงผู้ที่มีญาติพี่น้องอยู่ในเหตุการณ์ คนเหล่านี้ต่างจำได้ เเต่ไม่สามารถพูดออกมาได้เช่นเดียวกัน

การ ‘พูดไม่ออก’ มีทั้งลักษณะที่พูดไม่ได้เเละพูดไม่ออก โดยหากเป็นไปในลักษณะที่พูดไม่ได้ จะมีสาเหตุเพราะไม่รู้จะพูดอย่างไร ไม่สามารถจะพูดได้ เนื่องจากเงื่อนไขไม่เปิดโอกาส หรือพูดไปแล้วอาจจะเจ็บตัว ซึ่งญาติของผู้เสียชีวิตหลายๆ คนยังคงขอร้องว่า อย่าสัมภาษณ์เขา แม้จะผ่านไปเเล้ว 40 ปี แต่ความกลัวของคนเหล่านี้ก็ยังคงอยู่ ต่อให้เขาจำได้ ก็ไม่อาจพูดได้ และอีกหนึ่งภาวะคือ อาการอิหลักอิเหลื่อ ไม่รู้ว่าจะเล่าเรื่องราวออกมาได้อย่างไร เป็นภาวะที่ ‘ลืมไม่ได้ จำไม่ลง’ จนไม่สามารถจะสื่อสารออกมาเป็นเสียงของความทรงจำได้ 

ศ.ดร.ธงชัย กล่าวเพิ่มว่า ภายหลังเพดานของสิทธิในการส่งเสียงต่ำลงเรื่อยๆ โดยห้ามพูดแม้คำว่า ‘ทำไม’ หรือ ‘ใครอยู่ตรงนั้น’ แต่ก็มีความหวังว่า ท้ายที่สุดเพดานจะต้องถูกทลายลงไป และได้เสนอเพิ่มเติมว่า หากความทรงจำบางอย่างเงียบ ไม่มีเสียงอึกทึกครึกโครม สังคมก็อาจจะยิ่งต่อไม่ติด ซึ่งหากยังเป็นเช่นนี้ต่อไป ความทรงจำจะถูกผูกติดกับความเงียบได้

ความเงียบไม่ได้มีเพียงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 

ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล ระบุว่า ปัจจุบันเสียงอึกทึกมากมายกำลังถาโถมเข้ามาในหัวของคนทั่วไป และความทรงจำที่ถูกทำให้เงียบ ไม่ได้มีเพียงบันทึก 6 ตุลาฯ

เขาชวนตั้งคำถามว่า เป็นไปได้ไหมที่เราจะศึกษาความเงียบเหล่านั้น เช่น ศึกษาในเชิงประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นความเงียบที่มากับปรากฏการณ์อุ้มหาย หรือความเงียบที่มากับปรากฏการณ์วิสามัญผู้คนจำนวนมากในสามจังหวัดชายเเดนใต้ 

“ผมดูข่าวเเล้วก็คิดประสาผม คุณสังเกตไหมว่า ข่าวประเทศไทยเงียบจังเลย เเต่บางเรื่องอึกทึกครึกโครมมากๆ บางเรื่องเงียบสนิทปิดปาก ทั้งๆ ที่มีการนำเสนอข่าวเป็นชั่วโมงต่อวัน นักข่าวถ่ายโฆษกที่ลอยหน้าลอยตาพูดเป็นชั่วโมง ไม่มีเสียงเลย พูดจาไร้สาระ น้ำลายเปื้อนไมโครโฟน เเต่ไม่มีเสียงเลย”

‘เสียง’ ในที่นี้ของ ศ.ดร.ธงชัย อาจหมายถึงการทำให้ความเงียบในแต่ละปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ถูกหยิบยกและถูกนำเสนออย่างตรงไปตรงมา แต่ในความเป็นจริงนั้น ปรากฏการณ์เหล่านี้กลับถูกทำให้เป็นเพียงประวัติศาสตร์เงียบ ที่คนส่วนใหญ่ในสังคมไทยพยายามจะกลบด้วยเสียงอึกทึกครึกโครมอันไม่ได้มีความหมายใดๆ 

“คุณคิดว่านักข่าวหรือบรรณาธิการข่าวเหล่านั้น จำยอมหรือสมรู้ร่วมคิด ผมไม่ทราบ เเต่ผมขอโยนคำถามให้ผู้ฟังกลับไปถามให้มันอึกทึกหน่อย พวกคุณสมรู้ร่วมคิดหรือพวกคุณจำยอม หรือพวกคุณจำยอมจนกระทั่งกลายเป็นสมรู้ร่วมคิด เราเห็นใจความกลัวได้ เเต่มันพอหรือยัง หรือเคยชินกันไปแล้ว จนกลายเป็นสมรู้ร่วมคิดไปเสียเเล้ว”

ศึกษา ‘ความเงียบ’ ผ่านแง่มุมต่างๆ 

ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล ระบุว่า ความเงียบจากปรากฏการณ์ดังกล่าว สามารถศึกษาได้ผ่านแง่มุมต่างๆ หากศึกษาความเงียบในแง่รัฐศาสตร์ รากฐานของความเงียบอาจเกิดจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจในเเบบที่ยอมรับไม่ได้ หรือแบบที่ควรผลักดันให้จบลง 

ถัดมาคือ การศึกษาความเงียบผ่านมุมเศรษฐศาสตร์ ว่าเหตุใดคนส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะเงียบ ซึ่งสาเหตุเป็นเพราะเศรษฐศาสตร์ไม่เอื้ออำนวย การจัดสรรทรัพยากรที่ต่างกัน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้บางคนรู้ว่าชีวิตเขาต้องเงียบ ในขณะที่คนบางคนสามารถส่งเสียงที่ดังลั่นได้ ทั้งที่ไม่ได้พูดจาอะไรที่มีสาระมากนัก หรือบ่อยครั้งอาจเงียบ เเละพูดด้วยภาษาอื่น เช่น พูดด้วยภาษาเงินเป็นมูลค่าร้อยล้าน นั่นก็เป็นอีกตัวอย่างในการออกเสียงของเขา ซึ่งคนที่ไม่ได้มีสถานะขนาดนั้นเเละคนที่จนกว่าลงไป ก็ทำได้เพียงนินทาเงียบๆ อยู่ที่บ้าน เพราะเศรษฐศาสตร์ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน

ศ.ดร.ธงชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า หากความทรงจำและประสบการณ์เหล่านี้เปรียบเสมือนเสียงหรือภาษา ก็คงเป็นเสียง เป็นภาษา เป็นความเงียบ ที่อยู่ท่ามกลางความเชื่อจำนวนหนึ่ง เรื่องเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกสังคม แต่มักเกิดกับสังคมที่มีเงื่อนไขบางอย่างที่ทำให้คนสมัครใจที่จะเงียบ และปลอบใจตัวเองได้อย่างไม่รู้สึกผิด

‘คำขวัญปลุกกำลังใจ’ เสียงอึกทึกครึกโครมที่สังคมไทยอนุญาตให้มีอยู่

ข้อสังเกตเบื้องต้นที่ ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล ชวนมองคือ สังคมไทยมักเต็มไปด้วยข้อความ คำขวัญ ปลุกกำลังใจ ซึ่งถูกนำเสนอผ่านสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ ป้ายโฆษณา หรือโปสเตอร์ตามที่สาธารณะ โดย ศ.ดร.ธงชัย ระบุว่า สังคมที่ต้องการสิ่งเหล่านี้มักจะมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ ‘การไม่วิพากษ์วิจารณ์’ และเป็นสังคมที่พร้อมจะกล่าวหาคนที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นคนคิดลบ สังคมที่ต้องการกำลังใจอยู่ทุกวี่วัน คือสังคมที่หลีกเลี่ยงความจริง คือสังคมที่ทำร้ายคนทางอ้อม จึงต้องใช้เสียงอึกทึกอย่างคำขวัญ คำพูดปลุกกำลังใจ มากลบเกลื่อนความเงียบที่อัดอั้น รวมถึงต้องคอยให้กำลังใจเพื่อสร้างเเนวคิดที่ว่า ความอัดอั้นนั้นไม่ได้เเย่อย่างที่คิด 

ศ.ดร.ธงชัย กล่าวถึงสังคมที่เป็นไปในลักษณะนี้ว่า เป็นอาการของสังคมซึ่งถูกทำให้เงียบ เพราะฉะนั้นเวลาเจอปัญหานี้ ให้ถามตนเอง ถามคนรอบข้างว่า “ยังอึดอัดกันไม่พออีกหรือ” “เราจะทนสภาวะเเบบนี้ไปถึงเมื่อไหร่” 

“สิ่งที่ต้องทำวันนี้ ผมอยากจะพลิกความอึกทึกครึกโครมในสังคมเรา เเล้วหันไปมองความเงียบในความทรงจำและการรับรู้ของเรา

“เวลาเห็นคำขวัญ คำพูดปลุกใจ เเล้วรู้สึกดี เป็นเรื่องดีเเละเป็นปกติของมนุษย์ เเต่ฉุกใจคิดไว้สักนิดเถอะว่า นี่เป็นอาการผิดปกติ เพราะสังคมนั้นถูกทำให้เงียบ ถูกทำให้กลัวการเผชิญหน้ากับปัญหา หลอกตัวเอง ดัดจริต ผมกำลังด่าทุกคน ด่าตัวเองด้วย และเราก็ทำได้เเค่นี้” ศ.ดร.ธงชัย กล่าวทิ้งท้าย

Author

มนสิรา กาหลง
ใช้ชีวิตอยู่ปัตตานีจนจบ ม.ปลาย แล้วจึงย้ายถิ่นฐานเพื่อมาเรียนวารสารฯ ธรรมศาสตร์ วัยเด็กโตมากับทีวี รักการดูโฆษณา ปัจจุบันหันมาสนใจงานเขียน งานข่าว ขับเคลื่อนชีวิตด้วยน้ำชง เพลงเเจ๊ส และแมว มุ่งหวังที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นไปพร้อมๆ กับการเอาชีวิต(ให้)รอดในโลกทุนนิยม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า