ศิวพล ชมภูพันธุ์: ร้อยนิยาม พันความหมาย Soft Power คืออะไรครับจารย์?

เคยสงสัยกันหรือไม่ ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ (soft power) แท้จริงคืออะไร? 

คนไทยรู้จักคำว่าซอฟต์พาวเวอร์มาสักระยะแล้ว โดยเฉพาะเมื่อ ‘มิลลิ’ ดนุภา คณาธีรกุล แรปเปอร์สาวชาวไทย กินข้าวเหนียวมะม่วงโชว์ระหว่างการแสดงดนตรีในเทศกาลดนตรี Coachella 2022 ที่สหรัฐ กลายเป็น ‘ข้าวเหนียวมะม่วงฟีเวอร์’ จนพ่อค้าแม่ค้าขายเกลี้ยงจนหมดแผง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น พยายามใช้โอกาสนี้โปรโมตการท่องเที่ยวผ่านวัฒนธรรมอาหาร ซึ่งก็คือ ซอฟต์พาวเวอร์อย่างหนึ่ง แต่ท่านผู้นำดันให้สัมภาษณ์สื่อผิดว่าเป็น ‘ซอฟต์แวร์’ 

ในช่วงการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2566 ที่ผ่านมา หลายพรรคการเมืองต่างชูนโยบายผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ของไทยไปสู่ระดับโลก โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยที่มีความมุ่งมั่นมากที่สุด ในทางตรงข้ามพรรคก้าวไกลก็มีความพยายามในการผลักดันเช่นกัน โดยใช้คำเรียกว่า ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์’ (creative economy) ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญในการผลักดันนโยบายซอฟต์พาวเวอร์
ในทางทฤษฏีแล้ว ซอฟต์พาวเวอร์ คือ แนวคิดหนึ่งในวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของ ‘ปู่ไนย์’ หรือ โจเชฟ เอส. ไนย์ (Joseph S. Nye) ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างเทศแห่งวิทยาลัยการปกครอง จอห์น เอฟ. เคนเนดี้ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (John F. Kennedy School of Government) ในการศึกษาประเด็นเรื่องของ ‘อำนาจ’ (power) ซึ่งอำนาจในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไม่ได้มีเพียงแค่ ‘อำนาจแข็ง’ (hard power) เช่น การใช้กำลังทางการทหารเพื่อเข้าบีบบังคับ แต่ยังมี ‘อำนาจโน้มนำ’ หรือ ซอฟต์พาวเวอร์ ด้วย

ท่ามกลางความตื่นตัวในนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ที่กำลังถูกผลักดันโดยรัฐบาลพรรคเพื่อไทยอย่างแข็งขัน ผ่านนโยบาย ‘One Family One Soft Power’ หรือ ‘หนึ่งครอบครัว หนึ่งซอฟต์พาวเวอร์’ โดยเรียกสั้นๆว่า OFOS ในการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทย ตั้งแต่หน่วยทางสังคมที่เล็กที่สุดคือ ‘ครอบครัว’ ให้ดังไกลไปทั่วโลก ทำให้ขณะนี้ ไม่ว่าจะมองซ้ายหรือแลขวา อะไรๆ ก็ดูเป็นซอฟต์พาวเวอร์ไปเสียหมด ตั้งแต่ข้าวเหนียวมะม่วง มวยไทย บั้งไฟพญานาค สัปเหร่อ และช็อกมินต์ จนหลายท่านคงสับสนว่าอันนั้นหรืออันนี้เป็นซอฟต์พาวเวอร์จริงๆ ใช่หรือไม่ เพราะด้วยนิยามในตัวของมันเองอาจทำให้เราไม่เห็นภาพโดยชัดเจนนัก แต่หากมองไปยังผลผลิตที่มาจากซอฟต์พาวเวอร์ อาจช่วยให้เราเข้าใจสิ่งที่เรียกว่าซอฟต์พาวเวอร์มากยิ่งขึ้น เช่น K-Pop ซีรีส์เกาหลี อาหารเกาหลี เป็นต้น แต่ก็ดูเหมือนว่านั่นเป็นผลลัพธ์ปลายทางที่อาจทำให้เรามองไม่เห็นกระบวนการทั้งหมด

ด้วยความสงสัยใคร่รู้ว่า แท้จริงแล้วซอฟต์พาวเวอร์คืออะไร เราจึงเดินทางไปยังมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ไม่ไกลจากศูนย์กลางในการผลักดันนโยบายซอฟต์พาวเวอร์อย่างที่ทำการพรรคเพื่อไทย เพียงข้ามคลองแสนแสบไปชั่วอึดใจก็ได้พบกับนักวิชาการสายรัฐศาสตร์ที่จะมาช่วยไขความกระจ่างในเรื่องนี้ นั่นคือ อาจารย์ ดร.ศิวพล ชมภูพันธุ์ อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มศว ผู้เขียนหนังสือ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทฤษฎีและกรณีศึกษาในโลกร่วมสมัย

โดยส่วนตัวแล้ว อาจารย์ศิวพลก็ได้ติดตามรับชมซีรีส์ฝรั่งหรือเกาหลีมาโดยตลอด โดยเฉพาะซีรีส์เกาหลีที่ได้ติดตามตั้งแต่สมัยคลื่นลูกแรกเมื่อหลายสิบปีก่อน กระทั่งเกิดแพลตฟอร์มอย่าง Netflix ก็ยิ่งทำให้เกิดอาการติดงอมแงม “ถ้าไม่พัก งานการก็ไม่เดินเลยแหละ” เพราะว่ามันเต็มไปด้วยแรงดึงดูดบางอย่างทำให้ผู้ชมรู้สึกอยากดู เหมือนมี ‘อำนาจโน้มนำ’ ที่ทำให้ไม่อาจละสายตาไปได้ ด้วยเนื้อเรื่องที่น่าสนใจ บทที่โอเค พล็อตเรื่องที่แปลกแตกต่างออกไปจากละครไทย 

แม้อาจารย์ศิวพลจะไม่ถึงกับเป็นแฟนพันธุ์แท้ตัวยง แต่สำหรับผู้ชมอีกจำนวนไม่น้อยที่เรียกตัวเองว่า ‘ติ่ง’ หรือ ‘ด้อม’ พวกเขาต้องมีอะไรบางอย่างที่ทำให้ ‘ทัชใจ’ จนต้องออกเดินทางตามรอยซีรีส์หรือไปมีตติ้ง K-Pop ถึงเกาหลี

ใช่หรือไม่ว่าสิ่งเหล่านี้ที่ทัชใจพวกเขาคือ ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ แท้จริงแล้วซอฟต์พาวเวอร์ที่ว่านี้มันคืออะไร รัฐบาลและภาครัฐเข้าใจมันดีแล้วหรือไม่? เพื่อไขข้อข้องใจทั้งหมด บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้จะนำทุกคนไปสำรวจซอฟต์พาวเวอร์ในแง่มุมในวิชาการว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกัน

Soft Power คืออะไรครับจารย์? 

“ตามคำจำกัดความของโจเซฟ ไนย์ ซอฟต์พาวเวอร์ก็คือ การใช้อำนาจของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยไม่มีการใช้กำลังบังคับ แต่เป็นอำนาจที่ดึงดูดให้เขาทำในสิ่งที่เราต้องการได้”

อาจารย์ ดร.ศิวพล ชมภูพันธุ์, 8 พฤศจิกายน 2566

เมื่อยิงคำถามว่า ซอฟต์พาวเวอร์คืออะไร อาจารย์ศิวพลตอบกลับทันควันว่า “ซอฟต์พาวเวอร์ โดยเบื้องต้นจริงๆ เป็นคำที่ถูกใช้ในแวดวงวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่แน่ใจว่า คำว่าซอฟต์พาวเวอร์ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันเราเข้าใจมันดีหรือไม่ แล้วเราเข้าใจตรงกันหรือเปล่า เพราะอะไรๆ ก็ดูเป็นซอฟต์พาวเวอร์ไปหมด ตั้งแต่น้องมิลลิกินข้าวเหนียวมะม่วง ละครเรื่องพรหมลิขิต มวยไทย (เดี๋ยวก็มีดราม่ากับเพื่อนบ้านอีก)” 

โจเชฟ เอส. ไนย์ (Joseph S. Nye) ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างเทศแห่งวิทยาลัยการปกครอง จอห์น เอฟ. เคนเนดี้ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (John F. Kennedy School of Government)

หากเราตั้งต้นที่ โจเซฟ เอส. ไนย์ คำว่าซอฟต์พาวเวอร์ถูกบัญญัติขึ้นมาเพื่ออธิบายอำนาจบางอย่างที่แตกต่างไปจากอำนาจที่เราเห็นได้ชัดคือ อำนาจที่มีการบีบบังคับ ทำให้ใครสักคนต้องทำตามเราในความสัมพันธ์นั้นๆ ซึ่งเป็นอำนาจที่ไม่ได้ดึงดูดใจใคร ดังนั้น “ตามคำจำกัดความของโจเซฟไนย์ ซอฟต์พาวเวอร์ก็คือ การใช้อำนาจของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยไม่มีการใช้กำลังบังคับ แต่เป็นอำนาจที่ดึงดูดให้เขาทำในสิ่งที่เราต้องการได้” แต่ต้องทดความหมายนี้ไว้ก่อนว่า เรากำลังพูดถึงบริบทของวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเท่านั้น

อาจารย์ศิวพลอธิบายว่า “ซอฟต์พาวเวอร์ มีองค์ประกอบสำคัญตามที่ไนย์เขียนไว้ในหนังสือคือ ได้ระบุแหล่งที่มา (sources) ของซอฟต์พาวเวอร์ว่ามี 3 แหล่งด้วยกันคือ วัฒนธรรม (culture) คุณค่า (value) และนโยบายต่างประเทศ (foreign policy) ทั้งหมดนี้คือ แหล่งที่มาในการใช้อำนาจที่จะไปดึงดูดใครสักคนให้เห็นชอบและปฏิบัติตามเราโดยไม่มีการบีบบังคับ” 

แม้ว่าตามความเข้าใจของคนในปัจจุบัน มักจะให้น้ำหนักกับคำว่า culture เป็นส่วนใหญ่ โดยทั้ง 3 อย่างอาจจะเชื่อมโยงก็ได้หรือไม่เชื่อมโยงก็ได้ เพราะเมื่อพูดถึง culture หลายคนจะมองเห็นสิ่งนี้ชัดเจนที่สุด หากแต่ culture นั้นยังสามารถก่อให้เกิดคุณค่าได้ แล้วคุณค่านั้นยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่สามารถนำไปกำหนดนโยบายต่างประเทศ ให้อีกประเทศทำตามแผนการที่ถูกกำหนดไว้ได้ ซึ่งจะทำให้แหล่งที่มาของซอฟต์พาวเวอร์ทั้งสามเชื่อมโยงกันโดยปริยาย

คำว่า ‘คุณค่า’ เราอาจจะต้องตีความกันสักหน่อย เพราะตามความหมายของไนย์ (ในบริบทของสหรัฐ) คือ สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย ซึ่งกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายต่างประเทศสหรัฐที่ใช้มานานตั้งแต่สงครามเย็น ในการที่จะทำให้ประเทศใดประเทศหนึ่งรับไปใช้ 

ในอีกทางหนึ่ง ศิวพลชี้ให้เห็นว่า ไม่ใช่ทุกวัฒนธรรมหรือทุกคุณค่าจะสามารถโน้มน้าวหรือดึงดูดคนอื่น แล้วนำมาผนวกกับนโยบายต่างประเทศได้ ตัวอย่างเช่น คนไทยกินแมคโดนัลด์ (McDonald’s) ซึ่งเป็นวัฒนธรรมการกินอาหารฟาสต์ฟู้ดของคนอเมริกัน แต่คนไทยก็อาจไม่ชอบใจสหรัฐก็ได้ หรือการบูชาพระพิฆเนศซึ่งเป็นการรับอิทธิพลมาจากอินเดีย แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะอยากไปอินเดีย ดังนั้น ที่กล่าวมาข้างต้น ปัจจัยของซอฟต์พาวเวอร์ทั้งสามจะเชื่อมโยงกันหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่ที่ว่าเราจะใช้ประโยชน์จากปัจจัยทั้งหมดอย่างไรเพื่อให้เกิดผลมากที่สุด

ปัญหาการนิยาม สู่การปฏิบัติในบริบทไทย

เมื่อทุกคนพูดถึงซอฟต์พาวเวอร์ แน่นอนว่าย่อมนำมาสู่ความเห็นและการนิยามที่แตกต่างกัน แม้แต่ในทางวิชาการ นักวิชาการบางท่านอาจจะยกคำอธิบายแบบไนย์ ขณะเดียวกันวิทยานิพนธ์และงานศึกษาเกี่ยวกับซอฟต์พาวเวอร์อีกจำนวนมากก็ไม่ได้อิงความหมายแบบไนย์ ถ้าจะเคร่งครัดตามคำนิยามของไนย์ “เขาก็จะพูดถึงแหล่งที่มา 3 อย่างคือ วัฒนธรรม คุณค่า และนโยบายต่างประเทศ ส่วนคนที่รับแนวคิดของไนย์ไปปฏิบัติ เขาจะเคร่งครัดตามนี้หรือไม่ มีการปรับเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อมของประเทศนั้นๆ หรือไม่ อันนี้เป็นเรื่องปกติเลย” ศิวพลกล่าว

จากการให้สัมภาษณ์ของ ‘หมอเลี้ยบ’ นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ระบุว่า “เราเอาเพียงบริบทซอฟต์พาวเวอร์มาใช้” ดังนั้นอาจารย์ศิวพลจึงชี้ให้เห็นถึงบริบทที่แตกต่างว่า “สิ่งที่ไนย์เขียนไว้ มันถูกพัฒนาขึ้นมาบนฐานคิดแบบอเมริกันที่ตนเองเป็นมหาอำนาจ ซึ่งสามารถกำหนดระบบระเบียบระหว่างประเทศได้ ก็เลยมีอำนาจในการเผยแพร่วัฒนธรรม คุณค่า และนโยบายต่างประเทศ ที่มีฮาร์ดพาวเวอร์เป็นตัวกำกับด้วย 

“ทีนี้ กรณีของรัฐไทย ผมขอมองเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกผิดจากคอนเซปต์ไหม มันก็มีเงาของคอนเซปต์อยู่ แต่อีกส่วนคือ ไทยเป็นรัฐขนาดเล็ก ไม่ได้มีพลังอำนาจ ดังนั้นมันจำเป็นหรือไม่ว่าเราจะต้องใช้ซอฟต์พาวเวอร์ หรือมันอาจเป็นเพียงแค่ ‘creative product’ ที่เราต้องการขายสินค้าทางวัฒนธรรมเท่านั้น” 

ศิวพลยกตัวอย่างเช่น หากไทยต้องการขายขนมไทย ซีรีส์วาย โขน มวยไทย เราควรเริ่มจากมองสิ่งเหล่านั้นเป็น ‘สินค้า’ เพราะแม้แต่เกาหลีใต้ในระยะแรกๆ ที่เริ่มผลิตศิลปินออกมาก็ไม่ได้คิดถึงเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ แต่เมื่อเกิดปรากฏการณ์ไปทั่วโลก รัฐจึงมองว่าเป็น ‘พลัง’ อะไรบางอย่างที่สามารถดึงดูดและนำไปสู่การกำหนดนโยบายต่างประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับการกำหนดตำแหน่งแห่งที่ของเกาหลีใต้ในเวทีโลก และสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้

“เวลาที่เราต้องการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ เราอย่าเพิ่งไปเรียกอะไรทุกสิ่งทุกอย่างว่าเป็นซอฟต์พาวเวอร์ เพราะไม่รู้ว่าสิ่งเหล่านั้นมันจะดึงดูดคนได้จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ บางคนเรียนมวยไทย เพียงเพราะอยากเตะ อยากต่อย อยากมีศิลปะป้องกันตัว เว้นแต่สินค้าทางวัฒนธรรมบางอย่างทำงานของมันไปเองเกินกว่าที่เรานำเสนอ ซึ่งก็หมายความว่า ซอฟต์พาวเวอร์มันเริ่มทำงานแล้ว” ศิวพลกล่าว

หากวันนี้มีนักศึกษามาถามว่า ซอฟต์พาวเวอร์คืออะไร? อาจารย์ศิวพลมีคำตอบง่ายๆ เลยว่า “สมมติเห็นหมาเดินมาตัวหนึ่ง แล้วคุณเดินไปหามัน แล้วอุทานเสียงสองว่า ‘น้อง…’ เนี่ย แสดงว่ามันเกิดซอฟต์พาวเวอร์แล้ว เพราะเห็นชัดแล้วว่า คุณสามารถเปลี่ยนตัวเองเพื่อเขาได้ นั่นแหละซอฟต์พาวเวอร์” ศิวพลสรุปให้เห็นภาพ 

ผลักดันซอฟต์พาวเวอร์โดยไม่ ‘แช่แข็ง’ ตามมุมมองแบบรัฐไทย

“การทำนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ไม่ใช่ว่าอยู่นิ่งๆ แล้วจะเกิดได้ แต่ต้องมีตัวเอเจนซี (agent) อะไรบางอย่างที่ทำให้เกิดซอฟต์พาวเวอร์ขึ้นมา”

อาจารย์ ดร.ศิวพล ชมภูพันธุ์, 8 พฤศจิกายน 2566

จากความพยายามในการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทย ด้วยนโนบาย ‘1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์’ ของรัฐบาลเพื่อไทย อาจารย์ศิวพลมองว่า “ผมก็ยังไม่เข้าใจเหมือนกัน แต่ก็มีความเป็นไปได้” แต่จากการศึกษาทั้งงานของไนย์และนักวิชาการคนอื่นๆ ทำให้เห็นว่า “การทำนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ไม่ใช่ว่าอยู่นิ่งๆ แล้วจะเกิดได้ แต่ต้องมีตัวเอเจนซีอะไรบางอย่างที่ทำให้เกิดซอฟต์พาวเวอร์ขึ้นมา” 

อาจารย์ศิวพลตัวอย่างเช่น องค์กร TAICCA (Taiwan Creative Content Agency) ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไต้หวันเพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งจะเห็นว่ามันถูกผลักดันโดยรัฐ ผ่านปัจจัยทางวัฒนธรรมและคุณค่า หรืออาจรวมไปถึงนโยบายต่างประเทศด้วย แต่ทั้งสองปัจจัยข้างต้นของไต้หวันก็ได้ประสานเข้าด้วยกัน 

“ถ้าเราเชื่อว่าไต้หวันมีคุณค่าเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ มีจุดเด่นด้านวัฒนธรรมไพรด์ ก็เป็นแรงดึงดูดให้ชาว LGBTQ+ ของไทย กดซื้อตั๋วเครื่องบินไปร่วมงานไพรด์ที่นั่นได้ เพราะนั่นมีคุณค่าที่ดึงดูดให้คนรู้สึกว่าประเทศไต้หวันเปิดกว้าง” 

แน่นอนว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงไม่กี่ปี แต่ต้องใช้เวลาสั่งสมมานาน อาจารย์ศิวพลยํ้าว่า “สิ่งสำคัญที่สุดในการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์คือ ‘การเปิดเสรี’ หรือ ‘การเปิดกว้าง’ ไม่ใช่พยายามแช่แข็งสิ่งต่างๆ เอาไว้ในมุมมองแบบรัฐไทย” อาจารย์ศิวพลตั้งคำถามต่ออีกว่า “ในวันที่เราอยากจะผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ผ่านสินค้าทางวัฒนธรรม อย่างภาพยนตร์ ซีรีส์วาย แต่ทำไมเรายังมีการเซ็นเซอร์กันอยู่ หนังบางเรื่องทำไมถึงถูกแบนอยู่ล่ะ” 

เมื่อรัฐไทยยังเปราะบางกับเรื่องวัฒนธรรมและคุณค่าแบบไทย ทุกอย่างจึงดูย้อนแย้งกันไปหมด เช่น ซีรีส์วายไทยดังไกลทั่วเอเชีย จนดูเหมือนไทยเปิดกว้างเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ แต่กลับไม่เห็นชอบกฎหมายสมรสเท่าเทียม 

ถึงตรงนี้เราอาจยังไม่ต้องไปพูดถึงการกำหนดนโยบายต่างประเทศ เอาแค่นี้ขอบเขตทางวัฒนธรรมและคุณค่าแบบไทย หากยังมีการเซ็นเซอร์กันอยู่เช่นนี้แล้ว เราจะมีมาตรฐานอย่างไรในการส่งออกวัฒนธรรมเหล่านี้ นี่คือคำถาม

Author

ณัฏฐชัย ตันติราพันธ์
อดีตผู้สื่อข่าวต่างประเทศ อดีต น.ศ. ป.โท ในประเทศอีเกียที่เรียนไม่จบ

Photographer

วัชรวิชญ์ ภู่ดอก
กินเก่ง หลงทางง่าย เขียนและถ่ายในคนเดียวกัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า