รักแม่ให้มากกว่า 90 วัน

breastmilk-2

 

สายตาหลายคู่ลอบมองหญิงวัยกลางคนคนนั้นที่นั่งบนเก้าอี้ในรถไฟฟ้าใต้ดิน หล่อนมากับลูกน้อยวัยขวบเศษ เจ้าหนูพยายามเลิกเสื้อของหล่อนเพื่อดื่มนม เราไม่รู้หรอกว่ารสชาตินมแม่นั้นเป็นอย่างไร เราลืมมันไปแล้ว

“อย่าสิลูก เดี๋ยวคุณลุงดุนะ” หล่อนบอกลูก ขณะส่งยิ้มอายๆ ให้ชายวัยกลางคนที่นั่งข้างๆ

หล่อนก้มมองลูกบนตักอีกครั้ง ก่อนจะเลิกเสื้อขึ้น เปลือยเต้าข้างหนึ่ง เจ้าหนูงับหัวนมหล่อน รถไฟฟ้าจอดที่สถานีแห่งหนึ่ง ผู้คนที่เข้ามาผงะเล็กน้อยกับภาพหล่อนให้นมลูก

ใครบางคนอยากยกกล้องขึ้นมาถ่ายภาพที่เห็นเก็บไว้ ค่าที่มันเป็นภาพที่แสดงถึงบางสิ่งบางอย่างระหว่างแม่ ลูก และในนามของสังคมสมัยใหม่ – รถไฟฟ้าใต้ดิน

 

1.
มีอะไรในนมแม่

ภูมิคุ้มกันและสารสำคัญในน้ำนมแม่ส่งผลต่อการปกป้องชีวิตทารกในระยะที่ทารกยังช่วยตัวเองไม่ได้ ทารกที่ได้รับนมแม่อย่างเดียวในระยะ 13 เดือนแรกหรือนานกว่านั้นจะมีโอกาสป่วยเป็นโรคท้องเสียในระยะขวบปีแรกน้อยกว่า 5 เท่า เมื่อเทียบกับทารกที่ได้รับนมผสมอย่างเดียวหรือได้รับนมผสมร่วมกับนมแม่

การศึกษาในอียิปต์พบว่า ทารกที่ได้รับนมแม่ตั้งแต่แรกเกิดจะมีโอกาสท้องเสียน้อยกว่าร้อยละ 26 เมื่อเทียบกับทารกที่ได้รับนมแม่ช้ากว่า และการศึกษาในบราซิล เด็กที่ได้รับนมแม่อย่างเดียวจะลดโอกาสท้องเสียถึง 14.2 เท่า

ในประเทศไทย การศึกษาของโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ก็พบเช่นเดียวกัน ข้อมูลนี้ยืนยันความสำคัญของการให้นมแม่แก่ทารกซึ่งช่วยลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจากกลุ่มโรคภูมิแพ้และหอบหืด จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า เด็กที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคภูมิแพ้ การกินนมแม่อย่างเดียวเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 เดือน จะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคผื่นภูมิแพ้ (atopic dermatitis) และโรคหืดได้ร้อยละ 42 และ 48 ตามลำดับ

การกินนมแม่ยังช่วยลดโอกาสการแพ้โปรตีนนมวัวและการแพ้อาหารได้ รวมทั้งช่วยลดโอกาสการเกิดมะเร็งเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ เช่น ลดโอกาสเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเม็ดเลือดขาว เป็นต้น

ผลต่อการเจริญเติบโตของสมองและพัฒนาการ จากการศึกษาทั้งในและต่างประเทศพบว่า

ทารกที่กินนมแม่มีพัฒนาการทางสมองดีกว่าทารกที่ไม่ได้กินนมแม่ ทั้งในช่วงก่อนวัยเรียนและวัย

ผู้ใหญ่ จากการศึกษาแบบ meta-analysis จำนวน 8 การศึกษา แสดงให้เห็นว่า เด็กที่ได้รับนมแม่ใน

วัยทารกมีคะแนนเชาว์ปัญญาสูงกว่าเด็กที่ไม่ได้รับนมแม่ถึง 5 จุด ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่า ความสำเร็จ

ของการศึกษาในโรงเรียนมีความสัมพันธ์โดยตรงกับระยะเวลาของการได้รับนมแม่ในวัยทารก

ขณะเดียวกัน การลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจากกลุ่มโรคเรื้อรัง จากผลการศึกษาระยะยาวพบว่า ทารกที่กินนมแม่เมื่อเติบโตขึ้นความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคอ้วน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด และเบาหวาน จะน้อยกว่าทารกที่ไม่ได้กินนมแม่ ทั้งในช่วงก่อนวัยเรียนและวัยผู้ใหญ่ โดยเฉพาะโรคอ้วนและเบาหวาน ซึ่งการกินนมแม่จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคได้ถึงร้อยละ 22 และ 37

น้ำนมของแม่ไม่เพียงแต่ส่งผลดีต่อทารกเท่านั้น หากยังมีผลดีต่อมารดาอีกด้วย โดยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งต่างๆ ในมารดา เช่น ลดโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้ร้อยละ 4-28 ลดโอกาสเป็นมะเร็งรังไข่ร้อยละ 9-32 ลดโอกาสเป็นเบาหวานร้อยละ 4-12 การหยุดให้นมแม่เร็วเกินไปหรือไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้า และในระยะให้นมแม่อย่างเดียวจะมีผลทำให้การตกไข่เกิดขึ้นช้าลงและมดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น

 

breastmilk-3-yuppayong

 

2.

อ่านการตลาดนมผง ‘สูตรเพิ่มความฉลาด’

ธุรกิจนมผงเติบโตอย่างรวดเร็ว เมื่อถึงปี ค.ศ. 1979 มีนมผงวางขายในตลาดถึง 50 ยี่ห้อ กระจายอยู่ใน 100 ประเทศทั่วโลก งานศึกษาของ Louis ในปี ค.ศ. 1985 พบว่า แม่ที่มีความเชื่อในทางบวกต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีแนวโน้มที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากกว่าแม่ที่มีความเชื่อในทางลบ

คำถามก็คือ อะไรที่ทำให้คุณแม่มีความเชื่อติดลบในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

อิทธิพลการโฆษณาของผลิตภัณฑ์นมน่าจะมีส่วนในเรื่องนี้ไม่มากก็น้อย การให้ข้อมูลสรรพคุณของนมผงนั้นเราสามารถพบเห็นได้ตามข้างกล่อง โบรชัวร์ แต่อย่าลืมว่าสารอาหารเหล่านั้นถูกผลิตขึ้นมาจากการเลียนแบบสรรพคุณในน้ำนมแม่ และนมผงก็คือ

“นมจากสัตว์ที่ผ่านการปรุงแต่งทางเคมี และไขมันในนมผงก็คือไขมันที่มาจากน้ำมันพืช เพราะไขมันจากวัวนั้นใช้ไมได้ ถ้าเราไปดูที่ข้างกล่อง เราจะเห็นว่ามันมีทั้งน้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกทานตะวัน ก็เหมือนกับเราให้เด็กทานอาหารทอด ส่งผลให้เด็กได้รับน้ำมันพวกนี้เข้าสู่ร่างกาย” พญ.ยุพยง แห่งเชาวนิช เลขาธิการศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย บอก

นมผงไม่ได้ขาดแคลนประโยชน์ แต่เรากำลังพูดถึงประเด็นสารอาหารที่นมผงไม่สามารถเทียบเท่านมแม่ได้ เราไม่ได้พูดว่านมผงนั้นไม่เหมาะสำหรับการเลี้ยงทาราก แต่นมผงควรเป็นทางเลือกหรือตัวเสริมในกรณีที่คุณแม่ไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ ไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม

สารอาหารในนมผงนั้นมีความร้ายกาจได้ไม่เท่าครึ่งหนึ่งของการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ โดยเฉพาะการแจกตัวอย่างนมฟรีแก่หญิงหลังคลอดในโรงพยาบาลซึ่งมีอิทธิพลต่อการเลือกชนิดของนมในการเลี้ยงดูลูกในเวลาต่อมา

เราสามารถพูดได้หรือไม่ว่า การใช้ช่องทางผ่านระบบสาธารณสุขของผลิตภัณฑ์นมผงเป็นการกระทำที่ขาดจรรยาบรรณ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา การแจกตัวอย่างนมฟรีถึงเตียงแม่ที่กำลังพักฟื้นจากการคลอด การจ้างพยาบาลให้รับจ็อบเป็นพนักงานขายในนาม ‘Milk Nurse’ หรือ ‘Mother Craft Nurse’ ทำหน้าที่พูดคุยแนะนำคุณแม่เกี่ยวกับการเลี้ยงดูทารก ตามมาด้วยแจกตัวอย่างนมฟรี ตามมาด้วยการปิดการขาย โดยโรงพยาบาลและนางฟ้าชุดขาวเหล่านั้นจะได้รับค่าตอบแทนพิเศษตามโควต้าที่บริษัทกำหนด

นี่จึงเป็นที่มาของการผลักดัน ‘ร่างพระราชบัญญัติการตลาดอาหารทารกและเด็ก’ เพื่อเป็นเครื่องมือในการป้องปรามกลยุทธ์การตลาดที่ขาดจริยธรรม บั่นทอนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ คุ้มครองแม่จากการได้รับอิทธิพลการโฆษณาที่ทำให้แม่เข้าใจผิดว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมผงไม่แตกต่างจากการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และเป็นการปกป้องสิทธิที่เด็กควรได้รับนมแม่ตั้งแต่แรกเกิด ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กของสหประชาชาติ (Convention on the Rights of the Child: CRC)

 

breastmilk-3-pontida

 

หากกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้จะทำให้เกิด “ความสมดุลของการให้ข้อมูลระหว่างนมแม่และนมผง โดยให้แม่เป็นผู้ตัดสินใจเลือกเอง เราไม่ได้บังคับให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เท่านั้น แต่แม่ต้องได้รับข้อมูลที่เท่าเทียมก่อน แล้วให้แม่เป็นคนตัดสินใจ สิ่งสำคัญคือบุคลากรทางการแพทย์ไม่ควรเป็นเครื่องมือให้บริษัทนม” พรธิดา พัดทอง แห่งยูนิเซฟประเทศไทย ให้ข้อมูล

เธอบอกอีกว่า ตาม ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ บริษัทนมยังสามารถให้ข้อมูลโดยอ้างอิงหลักวิทยาศาสตร์ ขณะที่แพทย์และพยาบาลจะเป็นผู้แนะนำข้อมูลนั้นแก่แม่ เพียงแต่บริษัทนมจะไม่สามารถเข้าถึงเตียงแม่ลูกอ่อนในโรงพยาบาลได้อย่างทุกวันนี้ ไม่ว่ารูปแบบใด รวมถึงการห้ามโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ ผ่านสื่อทุกชนิด

“เราอยากให้บริษัทนมมีจรรยาบรรณในการให้ข้อมูล ตามที่กล่าวไป แพทย์จะเป็นผู้ให้ข้อมูลแก่แม่ เช่น ถ้าแม่ไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ แพทย์ก็จะแนะนำว่า ควรทำอย่างไร ชี้ให้เห็นประโยชน์และโทษในทุกทางเลือกที่คุณแม่คนหนึ่งจะตัดสินใจ นี่คือสิ่งที่เราอยากจะเห็นจากการผลักดัน พ.ร.บ. ฉบับนี้”

3.

รักแม่ให้ได้มากกว่า 90 วัน

นอกจากประเด็นการตลาดนมผงแล้ว อุปสรรคที่ทำให้แม่ไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมได้อย่างเต็มที่ นั่นคือสภาพสังคมสมัยใหม่ การให้นมลูกในรถไฟฟ้าหรือรถไฟใต้ดินอาจเป็นภาพที่ดูขัดเขิน ใครบางคนอาจบอกว่าไม่เห็นแปลก ใช่! การให้นมแม่ไม่ใช่เรื่องแปลก โดยเฉพาะนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ผลิตออกมาเพื่อเอื้อให้คุณแม่สามารถให้นมลูกได้ในพื้นที่สาธารณะ เช่น ชุดให้นม แต่ถามว่าลำบากไหมหากผู้หญิงในศตวรรษที่ 21 จะให้นมลูก คำตอบที่ได้คือมีการงานบางอย่างที่เอื้อให้ผู้หญิงสมัยใหม่สามารถให้นมลูกได้ เช่น ผู้หญิงที่ทำงานอยู่ที่บ้าน ซึ่งเธออาจไม่ต้องเดินทางเข้าสำนักงานเหมือนคนทั่วไป แต่ผู้หญิงส่วนใหญ่นั้นต้องออกมาช่วยคุณพ่อบ้านทำงานด้วย ไม่อย่างนั้นจะไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพ

เลขาธิการศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ชวนให้มองไปยังประเด็นกฎหมายการลาหยุดงานของคนไทย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 41 บัญญัติว่า ‘ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์มีสิทธิลาเพื่อการคลอดบุตรครรภ์หนึ่งไม่เกิน 90 วัน’

“เราสามารถลาหยุดงานได้ 3 เดือน แต่จริงๆ ก็ไม่ถึงหรอกค่ะ เพราะบางทีต้องลาก่อนคลอดด้วย บางคนก็อาจจะกลับไปทำงานเร็วด้วยซ้ำไป เพราะเป็นห่วงเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง คำถามก็คือทำอย่างไรจึงจะมีสถานรับเลี้ยงเด็กในชุมชน ถ้าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในชุมชน ดิฉันคิดว่าสังคมนมแม่เกิดขึ้นได้แน่ ตอนนี้ในประเทศเวียดนามเขาให้ผู้หญิงลาคลอดได้ 6 เดือนแล้วนะคะ” พญ.ยุพยง บอก

ในระดับสากลนั้นปัญหาเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้หญิงทำงานถือว่ามีมานานเกือบร้อยปีแล้ว ในปี ค.ศ. 2000 องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labor Organization: ILO) ได้กำหนดให้มีอนุสัญญาฉบับที่ 183 ให้ผู้หญิงมีสิทธิ์ลาคลอดนานถึ ง 14 สัปดาห์ โดยได้รับค่าจ้างอย่างน้อย 6 สัปดาห์หลังการคลอดบุตร นอกจากนี้ได้มีคำแนะนำว่าควรที่จะขยายระยะเวลาในการลาคลอดให้ได้ถึง 18 สัปดาห์

เป็นที่น่าสังเกตว่า อนุสัญญาฉบับนี้คุ้มครองถึงหญิงที่กำลังให้นมบุตรด้วย แต่มีเพียง 11 ประเทศเท่านั้นที่ยินยอมเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาดังกล่าว ขณะที่ประเทศไทยนั้นไม่ได้ให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญา

 

breastmilk-1

 

กล่าวในภาพรวมนั้นกลุ่มประเทศเอเชียเป็นกลุ่มประเทศที่ให้สิทธิการลาคลอด 14 สัปดาห์ตามที่อนุสัญญาฯ กำหนด ซึ่งถือเป็นการให้สิทธิ์การลาคลอดที่น้อยที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศอื่น โดยมีเพียง 4 ประเทศจาก 31 ประเทศเท่านั้นที่ให้สิทธิ์การลาคลอดตั้งแต่ 14 สัปดาห์ขึ้นไป ขณะที่ประเทศอาเซอร์ไบจันเป็นประเทศที่ให้สิทธิ์ลาคลอดมากที่สุดถึง 18 สัปดาห์ ประเทศไซปรัสให้สิทธิ์การลาคลอด 16 สัปดาห์ และประเทศญี่ปุ่นกับมองโกเลียให้สิทธิ์การลาคลอด 14 สัปดาห์ โดยที่ประเทศส่วนใหญ่ 13 ประเทศ คิดเป็นร้อยละ 41.9 ให้สิทธิ์การลาคลอดระหว่าง 12-14 สัปดาห์ และมีถึง 14 ประเทศ คิดเป็นร้อยละ 45.16 ที่ให้สิทธิ์การลาคลอดน้อยกว่า 12 สัปดาห์

ในกลุ่มประเทศยุโรปเป็นกลุ่มประเทศที่ให้สิทธิ์การลาคลอดมากที่สุด เห็นได้จากการให้หญิงทำงานมีสิทธิ์ลาคลอดเป็นระยะเวลานาน แล้วยังสามารถได้รับค่าจ้างตลอดระยะเวลาการลาคลอดด้วย เช่น ประเทศเชโกสโลวเกียและโครเอเชียให้สิทธิ์ลาคลอดโดยได้รับค่าจ้างนานถึง 7 เดือน ประเทศฮังการีให้สิทธิ์การลาคลอด 6 เดือน ประเทศรัสเซียและประเทศอิตาลีให้สิทธิ์การลาคลอด 5 เดือน ประเทศเดนมาร์กและนอร์เวย์ให้สิทธิ์ในการลาคลอดถึง 4.5 เดือน ซึ่งโดยส่วนใหญ่สำนักงานประกันสังคมหรือผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้รับภาระในการจ่ายค่าจ้างระหว่างการลาคลอด

หันกลับมามองประเทศไทย ผู้หญิงทำงานหรือในอีกบทบาทหนึ่งพวกเธอเหล่านั้นก็คือ ‘คุณแม่’ มีเวลาเพียง 90 วันเท่านั้นที่พวกเธอได้รับโอกาสในการทำหน้าที่ ‘แม่’ น่าแปลกใจที่สังคมไทยเป็นสังคมที่เชิดชูคุณค่าของ ‘แม่’ แต่อะไรหลายๆ อย่างมันก็ชวนให้นึกถึงสำนวนที่มีความหมายไปในทำนอง ‘ปากกับใจไม่ตรงกัน’

เราประกาศให้โลกรู้ว่าเรารักแม่ ขอเวลาให้แม่มากกว่า 90 วัน ไม่ได้เชียวหรือ

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

Current concepts of breastfeeding โดย พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร

สิทธิของแม่ทำงานกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดย ปารีณา ศรีวนิชย์

สนับสนุนโดย

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า