ตะกั่ว: ภัยร้ายในสีทาบ้าน

lead-3

 

สารตะกั่ว ถือเป็นสารให้สีที่สำคัญมาตั้งแต่อดีต โดยให้สีในโทนสดอย่าง แดง ส้ม เหลือง ไปจนถึงสีขาว จึงได้รับความนิยมในการเติมลงในผลิตภัณฑ์สีทาอาคารมานาน แต่เมื่อสีเหล่านั้นเสื่อมสภาพลงก็จะปล่อยฝุ่นที่มีพิษภัยเข้าสู่ร่างกาย โดยที่เราไม่รู้สึก เพราะขนาดที่เล็กจนมองไม่เห็นของมัน

แม้ปัจจุบันจะพบหลักฐานและงานวิจัยยืนยันถึงอันตรายต่อสุขภาพที่มากับสารตะกั่วมากมาย แต่บริษัทผู้ผลิตสีทาอาคาร ยังคงเลือกผสมตะกั่วลงในผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคต้องข้องแวะอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

เมื่อปี 2006 องค์การอนามัยโลกระบุว่า โรคปัญญาอ่อนจากสารตะกั่ว ติดอันดับ 1 ใน 10 โรคร้ายแรงที่สุดจากสภาพแวดล้อมซึ่งป้องกันได้ โดยพบสถิติการป่วยด้วยโรคนี้ของเด็กๆ ทั่วโลก 600,000 รายต่อปี

ค่าที่ยอมรับได้ของปริมาณสารตะกั่วในเลือดเด็กไทยอยู่ที่ 10 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร (µg/dL) ถือว่าสูงเป็น 2 เท่าเมื่อเทียบกับค่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนดว่าหากมีตะกั่วในเลือด 5 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตรจะส่งผลกระทบต่อระดับเชาว์ปัญญา (IQ) ของเด็กๆ

 

lead-5

 

ระวังตะกั่วทำร้ายบุตรหลาน

เด็กในวัยต่ำกว่า 6 ปี คือกลุ่มเสี่ยงต่อการรับสารพิษจากตะกั่วมากที่สุด เพราะร่างกายสามารถดูดซึมตะกั่วได้มากกว่าผู้ใหญ่ราว 5 เท่า โดยระบบทางเดินอาหารของเด็กจะดูดซึมสารตะกั่วได้ถึงร้อยละ 50 ของตะกั่วที่รับเข้าสู่ร่างกาย เมื่อตะกั่วถูกดูดซึมสู่กระแสเลือด จะขัดขวางพัฒนาการทางสมองจนมีผลให้เกิดอาการปัญญาบกพร่องที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้

ตะกั่วในสีทาบ้าน สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ 2 ทาง คือ ผ่านการหายใจ และการรับประทาน ในผู้ใหญ่ตะกั่วจะเข้าสู่ร่างกายได้จากการสูดดมฝุ่นสีที่ฟุ้งกระจายจากการหลุดร่อนตามอายุการใช้งาน หรือระหว่างการขูดสีผนังเก่าเพื่อทาใหม่ ขณะที่เด็กเล็กๆ จะได้รับสารตะกั่วจากการรับประทานมากกว่า เพราะเด็กในวัยนี้มีความอยากรู้อยากเห็นและมักจะใช้มือหยิบสิ่งของรอบตัวเข้าปาก

ในสหรัฐ สีทาบ้านทุกกระป๋องต้องระบุฉลากเตือนเรื่องฝุ่นตะกั่วที่อาจฟุ้งกระจายจากกระบวนการขูดสีเก่า สิ่งที่ผู้ปกครองสามารถป้องกันบุตรหลานได้คือ ระวังไม่ให้เด็กสัมผัสหรือหยิบแผ่นสีเข้าปาก เช็ดถูพื้นและผนังอย่างสม่ำเสมอ

 

 

Timeline: การเพิกถอนสารตะกั่วจากสีทาอาคารรอบโลก

ปี 1920

  • ออสเตรเลียเป็นประเทศแรกในโลกที่ออกกฎหมายห้ามใช้สารตะกั่วในสีทาอาคาร (Lead Paint Prevention Act) หลังพบกรณีเด็กในเมืองควีนส์แลนด์ได้รับพิษตะกั่วจากสีที่หลุดลอกจากผนังบ้าน โดยผลงานวิจัยได้รับการตีพิมพ์แพร่หลายทั่วโลก

ปี 2009

  • พฤษภาคม การประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยการจัดการสารเคมี สมัยที่ 2 (ICCM2) ซึ่งมีตัวแทนรัฐบาลไทยเข้าร่วม ลงมติให้ก่อตั้งความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อเพิกถอนสารตะกั่วจากสี เนื่องจากผลกระทบจากสารตะกั่วกําลังเป็นปัญหาในประเทศยากจนและส่งผลกระทบในวงกว้าง
  • สิงหาคม สหรัฐบังคับใช้กฎหมายลดปริมาณสารตะกั่วที่ยอมให้ตกค้างในสี จาก 600 ppm เหลือ 90 ppm (parts per million / ส่วนในล้านส่วน)

ปี 2010

  • องค์การอนามัยโลกประกาศยกเลิกค่ายอมรับได้ของสารตะกั่วในเลือด เนื่องจากพบว่าไม่มีปริมาณตะกั่วในร่างกายที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ
  • ประเทศไทยลดปริมาณสารตะกั่วมาตรฐานผลิตภัณฑ์สีน้ำมันในสีเคลือบเงา และสีเคลือบด้าน แบบสมัครใจ จาก 600 ppm เหลือ 100 ppm

ปี 2012

  • กุมภาพันธ์ บริษัท BASF ผู้ผลิตเม็ดสีรายใหญ่ของโลก ประกาศยกเลิกการผลิตและจําหน่ายผงสีที่มีตะกั่วโครเมต (lead chromate) เป็นส่วนผสมภายใน 3 ปี
  • กรกฎาคม รัฐบาลไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ‘เครือข่ายความร่วมมือระดับโลกเพื่อเพิกถอนสารตะกั่วในสี’ ครั้งที่ 2 ที่ประชุมมีมติกําหนดเป้าหมายเพิกถอนตะกั่วจากส่วนผสมของสีทาอาคารทั่วโลกภายในปี 2020 และ 50 บริษัทขนาดใหญ่จะเลิกใช้สารตะกั่วในการผลิตสีภายในปี 2015

ปี 2013

  • มีนาคม สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาล เรื่อง ‘ตะกั่วในสีทาอาคาร: ภัยที่ป้องกันได้’
  • สิงหาคม คณะรัฐมนตรีมีมติรับรองข้อเสนอสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยเสนอให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกําหนดมาตรฐานปริมาณตะกั่วในสีให้เป็นมาตรฐานบังคับและกำหนดมาตรการทางฉลากเพื่อแสดงปริมาณสารตะกั่วและคําเตือนเรื่องภัยของสารตะกั่ว ภายในสิ้นปีนี้

 

 

lead-1

 

อนาคตโลกไร้ตะกั่ว

ความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมเคมี ทำให้มีสารที่ปลอดภัยกว่าและใช้ได้ดี มาทดแทนสารตะกั่วที่ใช้ผสมในสีทาอาคารตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา ขณะเดียวกันหลายประเทศทั่วโลกก็ทยอยประกาศเลิกใช้สารตะกั่วในสีทาอาคารอย่างต่อเนื่อง อาทิ สหรัฐ (ปี 1978) สหภาพยุโรป (ปี 1989) ออสเตรเลีย (ปี 1997) และจีน (ปี 2007)

กลุ่มประเทศที่ยังไม่ได้ประกาศยกเลิกอย่างเด็ดขาด ได้มีการออกข้อกำหนดเพื่อควบคุมปริมาณสารตะกั่วในสี เช่น กำหนดให้ผู้ผลิตสีสามารถใช้สารตะกั่วได้ไม่เกิน 600 พีพีเอ็ม อาทิ สิงคโปร์ (ปี 2004) บราซิลและแอฟริกาใต้ (ปี 2008)

นอกจากนี้ ยังมีกรณีแนะนำให้ผู้ผลิตสีเลิกใช้สารตะกั่วโดยสมัครใจ ควบคู่ไปกับการบังคับใช้มาตรการทางการค้ากีดกันผลิตภัณฑ์สีที่มีสารตะกั่วเจือปน อาทิ สมาคมผู้ผลิตสีในญี่ปุ่นที่ให้การรับรองเฉพาะผลิตภัณฑ์สีทาอาคารปลอดสารตะกั่วเท่านั้น

 

แนวโน้มสีปลอดตะกั่วในไทย

ในประเทศไทย เริ่มมีสีทาอาคารปลอดสารตะกั่วและสีที่มีสารตะกั่วผสมในปริมาณต่ำวางจำหน่ายตั้งแต่ปี 1977 และเริ่มมีการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) สำหรับผลิตภัณฑ์สีประเภทต่างๆ ตั้งแต่ปี 1978 อย่างไรก็ตาม มาตรฐานดังกล่าวยังอาศัยความร่วมมือแบบ ‘สมัครใจ’ โดยไม่มีผลบังคับทางกฎหมาย

lead-4

ผู้ผลิตสีในไทยส่วนใหญ่ยังมีแนวโน้มผลิตและจำหน่ายสีที่มีสารตะกั่วเจือปน โดยราคาที่กำหนดออกมาวางจำหน่ายไม่ได้สัมพันธ์กับปริมาณสารตะกั่วเสมอไป กล่าวคือ สีราคาแพงบางยี่ห้ออาจมีปริมาณสารตะกั่วสูงกว่าสียี่ห้อที่ราคาถูกกว่า ทั้งนี้ ไม่นับผลิตภัณฑ์สีทาอาคารบางรุ่น ที่ติดฉลากระบุ ‘ไม่ผสมสารตะกั่ว’ แต่เมื่อนำไปตรวจ กลับพบตะกั่วในปริมาณไม่น้อย

ผลการทดสอบสีทาอาคาร 120 ตัวอย่าง พบผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีข้อมูลแสดงปริมาณตะกั่ว 91 ตัวอย่าง อีก 29 ตัวอย่างระบุว่า ‘ไม่ผสมสารตะกั่ว’ ในจำนวนดังกล่าว ตรวจสอบพบปริมาณตะกั่วไม่เกิน 90 ppm 12 ตัวอย่าง ส่วนที่เกินจาก 90 ppm มีจำนวน 17 ตัวอย่าง ดังตาราง

 

17samples

 

เพื่อเป็นการป้องกันความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค สมควรผลักดันเรื่องการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่มีผลบังคับเรื่องปริมาณตะกั่วในผลิตภัณฑ์สีน้ำมันทาอาคารให้นำไปสู่การปฏิบัติจริงโดยเร็วที่สุด

 

ข้อมูล: มูลนิธิบูรณะนิเวศ

 สนับสนุนโดย

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า