กอดฉันให้นานๆ ได้ไหม

lead2

เรื่อง : วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์

1

ทั้งสองโอบกอดกันเนิ่นนานหน้าประตูขึ้นเครื่องภายในอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ มันไม่ใช่วิสัยปกติที่ทั้งคู่จะแนบชิดกันในที่สาธารณะ แต่นาทีข้างหน้าทั้งสองกำลังจะเดินไปคนละทาง คนหนึ่งเดินผ่านเกตเข้าไป รอเวลาเริ่มต้นชีวิต ณ ดินแดนใหม่ อีกคนหันหลังกลับไปใช้ชีวิตลำพัง ณ จุดเดิม

การกอดกันจึงเป็นสิ่งสามัญธรรมดาในสนามบิน สถานที่ที่มีทั้งการพบและพราก

เขาลูบศีรษะอดีตคนรัก ไม่กล้าหอมหรือจูบหน้าผาก เรื่องแบบนี้ถือว่าเสียกิริยาสำหรับผู้ชายไทย เขาปล่อยโอกาสครั้งสุดท้ายลอยไปกับแผ่นหลังของ กันทินันท์ พร้อมกระเป๋าสัมภาระที่เธอลากเข้าไปภายใน

เขาหันร่างกลับมาพร้อมรอยยิ้มที่ยังคงค้างบนใบหน้า

มันเป็นยิ้มกลั้นน้ำตา

คืนนั้น ระหว่างนั่งปลอบใจเขาด้วยเบียร์เกือบโหล รู้ว่านิสัยเจ้าชู้ทำให้เธอเหลืออด แต่เมื่ออยู่ต่อหน้าเขา บางทีเรื่อง ‘หัวใจ’ กับ ‘ร่างกาย’ กลับเป็นสิ่งซับซ้อนซ่อนเงื่อนที่สุด มันเหมือนสายไฟหลังเครื่องเล่นดีวีดีที่ม้วนพันกับสายโทรทัศน์และเครื่องขยายเสียง ยุ่งเหยิงจนไม่รู้สายไหนเป็นสายใด ดุจเดียวกับเส้นแบ่งระหว่างความรักกับความใคร่
หากความซื่อสัตย์เป็นเงาของความรัก บางวันเขาก็ทำให้แสงแดดอย่างเธอ…ไม่มีเงา

 

2

2 ปีต่อมา ระหว่างเดินบนทางเท้าขอบถนนมะลิวัลย์ในเมืองขอนแก่น ผมเดินไปหาเขาที่บ้าน เขามีคนรักใหม่แล้ว แต่ในใจเหมือนยังรอรักแรกอยู่ ถัดจากบ้านเขาไปประมาณ 4 คูหา สีสันของอาคารสำนักงานแห่งหนึ่งสะดุดสายตา มันดูคล้ายร้าน ‘คนรักหนัง’ ที่มีสาขาอยู่ทั่วประเทศ แต่ป้ายข้างบนบอกว่า ‘Meet Farang’

ขอนแก่น เมืองที่มีจำนวนผู้หญิงแต่งงานกับชายต่างชาติประมาณ 3,000 คู่ มากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ ตัวเลขนี้ดึงดูดให้ ‘ธุรกิจหาคู่ต่างชาติ’ เข้ามาลงทุนเปิดสาขา

ค่าใช้จ่ายเริ่มตั้งแต่ 2,400-30,000 บาท เงินจำนวนนี้เหมือนซื้อโอกาสให้ตัวเอง แพ็คเกจพิเศษขึ้นมาหน่อยคือ ‘การันตีเดท’ ลูกค้าจะมีโอกาสเจอจำนวนฝ่ายชายตามจำนวนการซื้อเดท มีให้เลือกตั้งแต่ 3-6 เดท

หลักการจัดหาคู่ให้สมาชิกของบริษัท ยึดเอาข้อมูลของลูกค้าฝ่ายหญิงมาเปรียบเทียบกับลูกค้าฝ่ายชายจากฐานข้อมูลของบริษัทพาร์ทเนอร์ที่ต่างประเทศ ข้อมูลในส่วนช่วงอายุจะถูกคัดเลือกและจับคู่โดยระบบโปรแกรมอัตโนมัติ แต่ข้อมูลในส่วนของลักษณะนิสัยเป็นงานของเจ้าหน้าที่

เมื่อติดต่อฝ่ายชายได้ บริษัทจะให้ทั้งคู่แลกเปลี่ยนอีเมล เพื่อศึกษาทำความรู้จัก ก่อนพบกันที่เมืองไทย สมาชิกฝ่ายหญิงอาจเป็นกังวลเรื่องภาษา บริษัทมีที่ปรึกษาส่วนตัวให้ ที่ปรึกษาจะคอยดูแลเรื่องการสื่อสารของฝ่ายหญิง แปลจดหมายอิเล็กทรอนิกส์จากฝ่ายชาย และถ่ายทอดความรู้สึกของพวกเธอเป็นอีกภาษาหนึ่ง

4 คูหาที่ห่างกัน ร่องรอยบางอย่างทำให้เขานึกถึงอดีตคนรักหรือไม่ แม้กันทินันท์จะไม่ได้ใช้บริการหาคู่ต่างชาติ แต่ปัจจุบันเธอกำลังคบหาดูใจกับหนุ่มนอร์วีเจียน และเขาเองก็รู้
เขามีคนรักใหม่แล้ว แต่ในใจก็ยังรอรักแรกของเขาอยู่ แม้จะได้รับคำขาดจากกันทินันท์มาไม่รู้กี่รอบ “ไม่ต้องรอเราหรอก อย่าเสียเวลาเลย”

 

4

 

3

เธอไม่อนุญาตให้ใช้ชื่อจริง ผมจึงเรียกเธอว่า ติณณา เพราะมีความหมายว่า ‘ผู้ข้ามพ้นความทุกข์’ ในชีวิตวัย 37 เธอยังพยายามดิ้นรนเพื่อข้ามพ้นมันอยู่

ความพยายามอย่างหนึ่งของติณณาคือแพ็คเกจการันตีเดทจากบริษัทจัดหาคู่ต่างชาติ เธอซื้อโอกาสให้ตัวเอง 3 ครั้ง การได้ออกเดท 1 ครั้งมีมูลค่า 5,000 บาท “ฝรั่งส่วนมากจะเป็นสุภาพบุรุษ บอกรักทุกวัน แต่บอกตรงๆ นะ เรื่องเงินก็มีส่วน” ติณณาพูดตรงๆ

ชายคนแรกเป็นชาวออสเตรเลีย คนที่สองเป็นชาวอังกฤษ หลังจากได้พบเจอทานอาหารร่วมกัน ทั้งสองเงียบหายไปจากกล่องข้อความฮอตเมลของเธอ

2 เดทที่ผ่านมา มันบอกเธอว่าโอกาสของผู้หญิงมีการศึกษาน้อย ก็ทำให้โอกาสในการไปสู่สิ่งที่หวังน้อยลงไปด้วย “บริษัทเขาคัดคนเกรดดีๆ มาให้ อย่างที่ฉันได้พูดคุยกับเขา เขาถามเราว่า คุณชอบกีฬาชนิดไหน เราก็บอก บาสเกตบอล แต่รู้มั้ยว่า กีฬาที่เขาโปรดคือกอล์ฟและเจ็ตสกี มันเหมือนไฮโซกับบ้านนอกน่ะ เราจึงคิดว่าผู้ชายคนนั้นอาจจะเหมาะกับผู้หญิงอีกลักษณะหนึ่งก็ได้”

ติณณาเพิ่งฟ้องร้องสามีคนเก่าในชั้นศาล เธอต้องการสิทธิ์ในการเลี้ยงดูลูกทั้งสอง แต่ผลปรากฏว่าเธอเป็นฝ่ายแพ้

“ก็เลยต้องเหงาอยู่แบบนี้ไง อยากมีใครสักคนมาดูแลกัน” ติณณาบอก แต่การแสวงหาคนรักคนใหม่โดยมีข้อแม้ว่าต้องเป็นชายชาวต่างชาติ จุดหมายหนึ่งของเธอคือการสร้างความมั่นคงให้แก่ลูกทั้งสอง ยกระดับฐานะให้ครอบครัว และหน้าตาทางสังคม

เงิน 10,000 บาทที่จ่ายไปกับ 2 เดทแรก ทำให้ติณณาเริ่มลังเลใจกับเดทสุดท้ายที่รออยู่ หมายถึงเงินอีก 5,000 บาทที่จะต้องจ่ายไป หากเธอเลือกที่จะ ‘เสี่ยง’ อีกครั้ง “การลงทุนย่อมมีความเสี่ยง ซึ่งตอนนี้ความหวังมีไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ”

ก่อนหน้านี้ ติณณาคิดว่าโอกาสของเธอคือ 50-50 การพูดคุยเพื่อศึกษานิสัยใจคอระหว่างเธอกับฝ่ายตรงข้าม ต้องอาศัยล่ามซึ่งเป็นที่ปรึกษา แม้แต่ร่วมทานอาหารก็มีล่ามคอยแปลให้ เข้าทำนอง ‘เราสองสามคน’

“มันจึงทำให้ความผูกพันไม่แน่นแฟ้น เขาก็คงเหมือนเรา เขาก็แสวงหา ใน 3 คนของเรา เราหวังว่าจะเป็นคนของเราสักคน เราลงทุนกับตรงนี้เพราะเราอยากแต่งงานจริงๆ ไม่ต้องการผ่านหลายคน”

 

IMG_1115

 

เดทสุดท้าย ติณณายังลังเล เริ่มรู้สึกว่าเงินที่จ่ายไป 10,000 ก่อนหน้ามันไม่คุ้ม “ฉันรู้สึกว่าเงิน 10,000 ฉันเอาไปให้ลูกดีกว่า…คุ้มค่ากว่า ยอมรับว่าอยากได้อยากมี แต่มันไม่คุ้ม แต่ฉันก็ยังอยากมี อยากแสวงหาจุดนี้เพื่อยกฐานะทางบ้าน”

หลังวันปีใหม่ 2012 ติณณาเดินทางจากขอนแก่นมาพักผ่อนในกรุงเทพฯ และยังปลงไม่ตกว่าจะลองเสี่ยงอีกครั้งหรือไม่

 

4

หิมะเดือนกุมภาพันธ์ในนอร์เวย์ไม่อนุญาตให้จักรยาน 2 คันที่จอดภายในบ้านออกไปทำหน้าที่ของมันได้ กันทินันท์ อยู่บ้านในกรุงออสโล หุงข้าว ทำกะเพราไก่ให้คนรักชาวนอร์เวย์ และทุกเย็นเธอจะเปิดประตูบ้านให้เขา “Hi Darling” พร้อมจูบทักทาย-จูบแบบนอร์วีเจียน

เธอกำลังรอวีซ่าคู่หมั้น เป็นวีซ่าคู่หมั้นครั้งที่ 2 ในช่วงเวลา 1 ปีกับอีก 5 เดือน นับแต่ย้ายมาอยู่นอร์เวย์

ตอนนี้เธอไม่มีตัวตนทางกฎหมาย จนกว่า UDI หรือ กองตรวจคนเข้าเมืองจะให้คำตอบในอีก 6 เดือนข้างหน้า

เธอกำลังรอคอยแสงแดดเดือนสิงหาคม

เธอเดินทางไปนอร์เวย์โดยโครงการ Au Pair หนึ่งในโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยน ที่ผู้สมัครจะได้ประสบการณ์ ทั้งฝึกภาษา และการดำเนินชีวิตร่วมกับครอบครัวอุปถัมภ์ หน้าที่หลักของออแพร์คือการดูแลเด็กๆ ให้กับครอบครัวที่ไปพักด้วย โดยต้องผ่านการทดสอบพื้นฐานภาษาอังกฤษ เสียค่าใช้จ่ายค่าเข้าโครงการประมาณ 4,000 บาท และผู้สมัครจะได้รับการเทรนด์วิธีเลี้ยงเด็ก 200 ชั่วโมง

การเป็นพี่เลี้ยงเด็กตามโครงการ Au Pair ในประเทศนอร์เวย์ ได้เงินเดือน 4,000 โครน หรือ 2 หมื่นกว่าบาท อาศัยกับครอบครัวชาวนอร์เวย์ที่เข้าร่วมโครงการ และเรียนภาษาฟรี
ระหว่างอยู่นอร์เวย์ เธอเข้าเว็บไซต์หาเพื่อนชาวต่างชาติ โดยเลือกชาวนอร์วีเจียนเพื่อฝึกภาษา

แต่ที่สำคัญ “เราชอบฝรั่งมาตั้งแต่เด็กแล้ว เค้าโครงหน้าเขาสวย แต่ตอนนั้นยังไม่มีความคิดว่าอยากมีแฟนฝรั่ง แต่เมื่อมีแฟนชาวไทยแล้วคบกันมานาน มีปัญหาหลายอย่าง เรื่องเขามีผู้หญิงคนอื่นอยู่ตลอดเวลา ทำให้เราคิดว่า จริงๆ แล้วเรามีทางเลือกในชีวิต”

26 กันยายน 2010 เธอมีคนรักเป็นชาวนอร์วีเจียน 15 เมษายน 2011 เลือกที่จะมาใช้ชีวิตที่เขตเซาธ์แลนด์ (Sørlandet: The Southland) ตามคำชวนของสตีฟ และเหตุผลส่วนตัว ‘ความรัก’

สิงหาคม 2011 ความรักของกันทินันท์ยังไม่หมดอายุ แต่เวลาในวีซ่าที่เหนือน้อยนิดกำลังจะทำให้เธอเป็นบุคคลเข้าเมืองโดยผิดกฏหมาย มันเป็นเมืองเล็กๆ ที่ไม่ค่อยมีครอบครัวอุปถัมภ์รับคนเอเชียมาเป็นพี่เลี้ยงเด็ก ตามโครงการ Au Pair

“เราหาบ้านไม่ได้ วีซ่าก็กำลังจะหมด” มีทางเดียวในการยืดเวลาอยู่กับคนรักที่นอร์เวย์ ‘วีซ่าคู่หมั้น’

“จึงตัดสินใจทำวีซ่าคู่หมั้นกับแฟนคนนี้” แต่เมื่อได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน “เขาไม่อยากให้เราออกไปไหนเลย ไม่อยากให้เรามีสังคมของเรา เราต้องใช้เวลากว่า 3 เดือน จึงรู้ว่าละแวกบ้านมีคนไทย 10 กว่าคน”

เธอออกไปเจอคนไทยละแวกบ้านบ่อยขึ้น เพื่อนเหล่านั้นบอกว่า สตีฟปฏิบัติกับผู้หญิงแบบนี้ทุกคน ความรักของสตีฟคือสิ่งตรงข้ามกับการให้อิสรภาพ

 

lead3

 

11 ตุลาคม 2011 เธอตัดสินใจหนีความรักที่แสวงหา หนีไปกรุงออสโล “หลังจากวันที่ 11 ตุลา ชีวิตฉันตกต่ำมากที่สุดในชีวิต เพราะเราอยู่ห่างบ้าน ไม่มีครอบครัว แล้วก่อนหน้านี้ฉันไม่ได้ทำงาน เงินก็หมดแล้ว”

เพื่อนแนะนำงานนวดที่ร้านนวดของคนไทยในกรุงออสโล “เราไม่เคยคิดว่าชีวิตนี้จะมาอยู่ในที่แบบนี้ เงินก็ไม่มี นอนไม่เป็นที่เป็นทาง นอนบนเตียงที่เขาใช้นวด”

ระหว่างทำงานในร้านนวด เพื่อนชาวไทยอีกคนหนึ่งซึ่งแต่งงานกับชาวนอร์เวย์ พยายามหางานให้เธอทำ “ห่อปอเปี๊ยะ ทำความสะอาด แล้วสามีของพี่คนนี้บอกว่า ‘พวกเราคิดว่าน่าจะหาแฟนใหม่ให้คุณ’ ซึ่งมีผู้ชายอยู่คนหนึ่งอยากมีแฟนเป็นคนไทยอยู่แล้ว เขาชื่อมัท”

มัทชอบอาหารไทย โดยเฉพาะกะเพรารสเผ็ด 1 อาทิตย์ที่ศึกษาดูใจกัน มัทรู้เรื่องวีซ่าที่กำลังมีปัญหาของกันทินันท์ เขาจ้างทนายช่วยเธอเรื่องวีซ่า “ทนายเขียนจดหมายหา UDI ว่าฉันไม่ได้อยู่กับผู้ชายคนนั้นแล้ว มัทก็เลยทำวีซ่าคู่หมั้นให้ฉันใหม่ เป็นชื่อมัทแทน”

นอร์เวย์เป็น 1 ประเทศที่รัฐจัดสวัสดิการให้พลเมืองอย่างครอบคลุมทุกด้านของชีวิต กันทินันท์อยากใช้ชีวิตที่นี่ แต่คำตอบเรื่องวีซ่าคู่หมั้นอยู่อีกไกลถึง 6 เดือน ถึงตอนนี้เธอก็ยังไม่มีตัวตนทางกฎหมาย

แม้รักจะดูสมหวัง แต่มุมหนึ่ง ชีวิตหญิงไทยก็ดำเนินอยู่บนความไม่แน่นอน

“ฉันอยู่กับเขาฉันรู้สึกมั่นคงมาก ถึงแม้ว่าสถานะทางกฎหมายฉันไม่มั่นคง แต่เขาทำให้ฉันมีความรู้สึกว่า เขามั่นคงต่อฉัน”

“คุณไม่ใช่ตัวปัญหา แต่เป็นของขวัญจากพระเจ้า เป็นของขวัญที่เข้ามาเติมเต็มชีวิตผม” เขาบอกเธอในเช้าวันหนึ่งหลังกะเพราไก่หมดไปจากจาน

เดือนกุมภาพันธ์ในนอร์เวย์เป็นฤดูวินเธอร์…หิมะตก มัทซื้อจักรยานให้เธอ 1 คัน เพื่อที่จะได้ขี่ด้วยกันในเดือนสิงหาคม เดือนที่แสงแดดจะเผยให้เห็นเงาของนอร์เวย์ เป็นเวลาเดียวกับที่เธอจะได้วีซ่าคู่หมั้น

วีซ่าคู่หมั้นจะต่ออายุให้เธออยู่นอร์เวย์ได้อีก 6 เดือน สามารถหางานทำได้ บวกรวมกับเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงเดือนสิงหาคมซึ่งเป็นช่วงสุญญากาศของตัวจนทางกฎหมายของเธอ อย่างน้อยๆ เธอสามารถใช้ชีวิตที่นอร์เวย์ได้อีก 1 ปี

หลังจากนั้นคงต้องปล่อยให้เป็นเรื่องของเวลา บางทีเธออาจได้สิทธิการเป็นพลเมืองนอร์เวย์โดยสมบูรณ์…หากมัทขอเธอแต่งงาน

 

4.1

 

 

5

เสียงเพลงรอสาย ‘กอดฉัน’ ของ วารุณี สุนทรีสวัสดิ์ น่าจะบอกความรู้สึกเจ้าของหมายเลขโทรศัพท์ได้ในระดับหนึ่ง แต่จะมีชายต่างชาติคนไหนกอดเธอนานๆ เหมือนอย่างที่วารุณี สุนทรีสวัสดิ์ ร้องเอาไว้ในบทเพลง เมื่อการเดทครั้งสุดท้ายคงไม่มีวันเกิดขึ้น

“ตอนนี้ค่าใช้จ่ายฉันเยอะมาก ฉันคงปล่อยมันไว้แค่นี้” ติณณาบอก

เรื่องที่คิดไว้ว่าจะคบหากับชาวต่างชาติ คงต้องปล่อยให้เป็นเรื่องของโชคชะตา

เธอแต่งงานตอนอายุ 28 ในวันนั้นเธอเลือกความรักมาเป็นอันดับแรก “คนรวย…ฉันไม่สน ขอความรักก่อนเป็นสิ่งแรกเหนือสิ่งใดเลย ฉันมั่นใจว่าเราสามารถฟันฝ่าอุปสรรคได้ แต่ทุกวันนี้เราเดินมาถึงครึ่งทางของชีวิตแล้ว จะทนลำบากอีกทำไม เราต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้ชีวิต”

ในวัย 37 ถามติณณา…ระหว่างความรักกับความมั่นคง เธอเลือกอย่างแรกหรืออย่างหลัง

“เงินมาเป็นอันดับแรก…เงินมาก่อน ในส่วนของความรัก ถ้าเราดีต่อกันจริงใจต่อกัน ฉันเชื่อ…ความรักจะตามมาเอง” ติณณาบอก

“แต่เราคิดว่า ถ้าเราสองคนรักกันเป็นพื้นฐานก่อน คนเรามีมือมีเท้ามีสมองเหมือนกัน สักวันหนึ่งเงินทองจะมาหาเอง เราสร้างของเราเองได้ ความรักที่มั่นคงหมายถึงความซื่อสัตย์ที่มีต่อกัน แล้วทุกอย่างจะตามมาเอง” เสียงจากนอร์เวย์ของกันทินันท์สะท้อนจากอีกด้าน

“ทุกวันนี้เราต้องอยู่ด้วยเงิน คุณว่ามั้ย ชีวิตมันต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง จึงจะรู้” น้ำเสียงของติณณายังมั่นคง เหมือนอนาคตที่เธอต้องการ

อีก 9 ปี กันทินันท์จะมีอายุ 37 เท่าอายุของติณณาในวันนี้ ในวัย 28 เราจึงเรียกเธอว่า ‘กันทินันท์’

มันหมายถึง ‘ผู้ยินดีในความรัก’

แต่ความรักจะเป็นพาหนะให้มนุษย์ก้าวข้ามความทุกข์ได้หรือไม่

มันเป็นเรื่องซับซ้อนเรื่องหนึ่งที่ไม่สามารถตอบได้ในบรรทัดเดียว

 

………………………………

(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก ในคอลัมน์ subway กุมภาพันธ์ 2555)

Author

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
หญิงแกร่งที่ทำงานทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านให้กับ WAY ถ้าเป็นนักฟุตบอลนี่คือผู้เล่นผู้จัดการทีมที่มีประสบการณ์ในสายงานข่าว ทั้งคลุกคลี สัมภาษณ์ บันเทิง ไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้การเป็นคุณแม่ซึ่งมีลูกสาวย่างเข้าวัยรุ่นยังช่วยส่งเสริมให้สามารถปั่นงานด้านเด็กและเยาวชนอย่างเชี่ยวชาญ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า