เรื่องและภาพ : สุวิทย์ สุดสมศรี
บ้านไม้หลังนั้นซ่อนตัวในดงมะพร้าว มองผ่านๆ ก็ไม่ต่างจากบ้านเรือนผู้คนทั่วไป แต่พอย่างเท้าเข้าไปใกล้ๆ จะพบว่าไม่ใช่อย่างที่เห็น บรรเลง ยิ้มบุณณะ คือเจ้าของบ้านหลังที่ปลูกขึ้นอย่างเรียบง่ายแต่มีสไตล์ ชนิดที่คนมาเห็นต้องหลงใหลและอิจฉา เพราะมันทั้งกลมกลืนกับธรรมชาติ และยังกลมกลืนกับวิถีการงานของเจ้าของบ้าน
บ้านหลังนี้เป็นของ ‘คนทำกะลา’ แต่เป็นคนทำกะลาที่ไม่ธรรมดา เพราะเคยมีคนมาสัมผัสแล้วถึงกับเอ่ยปากชมในความเป็นคนช่างคิดช่างทำของเขา “รูปแบบการทำงานที่นี่เป็นการเอาศิลป์กับศาสตร์เข้ามารวมกัน เพื่อลดช่องว่างในการใช้วัสดุ ด้วยประเทศเราเป็นเกษตรกรรม มีวัสดุที่เหลือใช้จากภาคเกษตร จึงเอาศิลปะมาประยุกต์ใช้กับเศษวัสดุของชุมชน” คุณบรรเลงบอกถึงแนวคิดที่มีต่องานหัตถกรรมจากกะลามะพร้าว ด้วยความที่จังหวัดสมุทรสงครามเคยเป็นเมืองที่ทำน้ำตาลมะพร้าว บรรพบุรุษได้เสาะหาสายพันธุ์มะพร้าวหลากหลายไว้ให้ ซึ่งต่อมากลายเป็นช่องทางสร้างอาชีพ และเกิดเป็น บ้านกะลาบรรเลง
ช่วงปีที่ฟองสบู่แตก คุณบรรเลงเป็นคนหนึ่งที่หันหลังให้เมืองหลวง กลับมาสู่ถิ่นฐานบ้านเกิด และเริ่มมองสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวที่สุดนั่นคือ มะพร้าว
“ผมต้องการทำโครงการนำร่องให้กับสังคม เพราะมีคนตกงานมาจากภาคอุตสาหกรรม และคนที่จบการศึกษาแต่ไม่มีงาน จะได้เข้ามาหามุมมอง แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน เพื่อสร้างอาชีพให้กับตัวเอง โดยมีเป้าหมายว่าอยากเห็นคนกลับไปทำงานในชุมชนของตัวเอง”
แรกเริ่มที่ทำงาน คุณบรรเลงใช้เงินเพียง 45 บาท โดยนำตะไบที่ ช่างไม้โยนทิ้งมาขัดถูกกะลามะพร้าวจนเป็นงานหัตถกรรมขึ้นมา งานในยุคแรกเป็นรูปแบบง่ายๆ เช่น ถ้วยกาแฟ กระปุกออมสิน ต่อมาจึงพัฒนาให้หลากหลายขึ้น จนปัจจุบันงานที่ทำแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ คือ งานใช้สอย งานโชว์ และงานศิลปะเชิงปรัชญา งานหัตถกรรมจากกะลามะพร้าวอาจพบเห็นได้เกลื่อนกลาด บางทีซ้ำซากเหมือนที่คุณบรรเลงบอกว่า ช่วงที่เริ่มทำนั้น เป็นช่วงที่วงการการทำกะลาเริ่มอิ่มตัว เพราะมีแต่รูปแบบเดิมๆ เช่น กระบวย ตะหลิว ทัพพี โคมไฟ มีการผลิตเลียนแบบกันไปหลายๆ จังหวัด คุณบรรเลงจึงคิดสร้างชิ้นงานที่แตกต่างขึ้นมาเพื่อสร้างจุดเด่นให้น่าสนใจ
“การทำสินค้าที่แตกต่าง ถ้าเราวิเคราะห์กลุ่มผู้บริโภคได้ตรงเป้า แน่นอนลูกค้าต้องมาหาเรา แต่เราต้องสร้างความแปลกใหม่อยู่เรื่อยๆ ถ้าเราทำจำเจ เขาก็ไม่รู้จะมาทำไม เพราะฉะนั้น งานที่นี่จึงต้องออกแบบไปเรื่อยๆ คนที่รู้จักเราแล้ว รู้ว่าเราผลิตสินค้ายังไง เขาก็จะกลับมาอีก”
บ้านของคุณบรรเลงนั้นเป็นมากกว่าบ้าน ด้วยความคิดที่ว่า “ต้องการทำบ้านให้เป็นที่อยู่อาศัย ทำบ้านให้เป็นที่ทำงาน และทำบ้านให้เป็นตลาด คือเราไม่ต้องออกไปร่อนเร่ ผลที่ตามมาคือ ชุมชนก็จะได้ผล-ประโยชน์ในการทำงานของเราด้วย คนที่เดินทางมาซื้อสินค้าในบ้านเรา ย่อมต้องผ่านสินค้าที่ชาวบ้านผลิต เขาก็ไม่ได้ใช้จ่ายเงินที่บ้านเราอย่างเดียว แต่ได้ใช้เงินที่ชุมชนของเราด้วย”
การนำวัสดุใกล้ตัวมาสร้างงานถือเป็นจุดแข็งและยังทำให้ต้นทุนต่ำ ในแง่ของการขาย เมื่อเปรียบเทียบงานกะลาที่อื่น คุณบรรเลงบอกว่างานของเขาสามารถสร้างมูลค่าได้มากกว่า “งานชิ้นหนึ่ง ใช้วัสดุเท่ากัน ใช้เวลาเท่ากัน ผมต้องทำให้ราคามากกว่า คือผมจะใส่อะไรที่เป็นผมลงไป ซึ่งจะมีเนื้อหา มีเรื่องราว มีลวดลาย ที่เป็นกะลาบรรเลง ก็จะขายได้ราคาเพิ่มขึ้น” มีคนสนใจแวะมาศึกษาดูงานที่บ้านกะลาบรรเลงอยู่เป็นประจำ ทั้งนักท่องเที่ยว กลุ่มชาวบ้านจากจังหวัดอื่น นักเรียนนักศึกษา ซึ่งคุณ บรรเลงยินดีบรรยายถึงแนวคิดของงานแต่ละชิ้นให้ฟัง โดยเฉพาะงานที่เป็น ศิลปะเชิงปรัชญา คุณบรรเลงอธิบายให้ฟังราวกับพระที่เทศนาหลักธรรมเคาะกบาลผู้ฟัง
คุณบรรเลงนำพฤติกรรมของสังคมมาวิเคราะห์ บวกกับนำคำสอนของศาสนา สำนวน ภาษิตโบราณมาใส่ไว้ในงาน เช่นชิ้นที่ชื่อว่า ‘ไตรลักษณ์’ แสดงถึงสัจธรรมของสรรพสิ่ง มีเกิด ดำรงอยู่ และดับสลาย บางชิ้นได้แรงบันดาลใจจากภาวะสงคราม เช่น Tony Bush เป็นการนำสำนวน ‘หน้าไว้หลังหลอก’ มาใช้ โดยทำโมบายกะลาที่ด้านหนึ่งเป็นรูปคนยกมือไหว้ อีกด้านเป็นคนแลบลิ้นหลอก สะท้อนพฤติกรรมของมหาอำนาจของโลกผ่านมุมมองแบบไทย
งานของคุณบรรเลงยังล้อเล่นกับการเมืองได้แสบสันต์ไม่บันเบา เช่นงานชิ้นที่ชื่อว่า ‘เส้นทางผู้ยิ่งใหญ่’ หมายถึงการเหยียบย่ำข้ามหัวคนอื่นขึ้นเพื่อให้ตัวเองได้เป็นใหญ่ เมื่อเป็นใหญ่แล้วก็ขึ้นอยู่กับว่าจะแสดงบทบาทอะไร หากฉ้อราษฎร์บังหลวงก็เป็นตัวโกง หากเป็นคนดีมีจริยธรรม ก็จะเป็นพระเอกเป็นพ่อพระ หรือชิ้นที่ชื่อว่า ‘การเมืองกินเมือง’ หมายถึง คนเรารู้หน้า ไม่รู้ใจ เห็นหน้าเป็นคน แต่จริงๆ แล้วตัวไม่ใช่คน คุณบรรเลงสื่อให้เห็นว่า ‘ตัวเป็นหมา หน้าเป็นคน ใส่หัวโขนยักษ์ ปากมันฟ้องว่ากินประเทศชาติ เลยถูกด่าลงบาทา’
คุณบรรเลงให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์งานใหม่ และพยายามคิดนอกกรอบเสมอ เหมือนที่เขามีมุมมองต่อเศรษฐกิจพอเพียงว่า
“เรา มักมองว่าจะต้องอยู่อย่างพออยู่พอกินแค่นั้น ความจริงไม่ใช่ ความพอเพียงก็คือความพอเหมาะพอดีกับฐานะ ความคิด ความสามารถของตัวเอง ไม่จำเป็นว่าจะต้องจน รวยๆ ก็ทำได้
“ พอบอกว่าพอเพียง กลายเป็นว่าเราไปจำกัดความว่ามันต่ำต้อย ความจริงไม่ใช่ มันใช้ได้ทุกระดับ ก็คือต้องเอาตัวตนของเรามาวิเคราะห์ว่า ความพอเพียงของเราอยู่ไหน ถามว่าเป็นหนี้ได้ไหม ก็เป็นได้ แต่ต้องเป็นหนี้ในศักยภาพที่เราสามารถทำได้ โดยที่เราไม่เดือดร้อน นั่นคือความพอเพียง”