การรั่วไหลลงสู่ทะเลของสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟูกูชิม่า ไดอิชิ ประเทศญี่ปุ่น สำหรับคนส่วนใหญ่มันคือสถานการณ์เลวร้าย แต่นักวิจัยก็พยายามหาโอกาสจากวิกฤติดังกล่าวจนได้
โอกาสที่ว่าคือ ปลาทูน่าแฟซิฟิคครีบฟ้า (Pacific bluefin tunas) ที่รับเอาเอาไอโซโทปกัมมันตรังสีเข้าไปในตัว และเมื่อมันถูกจับที่ชายหาดฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกา สิ่งแปลกปลอมในตัวมันทำให้ได้รับรู้ถึงพฤติกรรมและเส้นทางอพยพของปลาชนิดนี้
ตลอด 2 ปี หลังเหตุการณ์สึนามิผ่านไป นักวิจัยด้านชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด ได้ติดตามศึกษาและพบว่า ปลาทูน่าครีบฟ้าแปซิฟิค ยังว่ายไปถึงน่านน้ำแถบแคลิฟอร์เนียอย่างต่อเนื่อง และทุกตัวพกไอโซโทปกัมมันตรังสีคือ ซีเซียม-134 และ ซีเซียม-137 มาฝากด้วย
งานชิ้นนี้มีประโยชน์ตรงได้ใช้ไอโซโทปกัมมันตรังสีที่มากับปลา เผยถึงเส้นทางการว่ายของทูน่าแปซิฟิคกลุ่มอายุน้อย ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ อาจใช้เพื่อหาวิธีป้องกันปลาทูน่าเหล่านี้จากการประมงเชิงพาณิชย์ที่มากเกินไป
ทั้งนี้ ทูน่าแปซิฟิคครีบฟ้ามีถิ่นกำเนิดในน่านน้ำรอบๆ ญี่ปุ่นและประเทศใกล้เคียง และ ใช้เวลาประมาณ 1 ปีอยู่บริเวณน่านน้ำนั้น ก่อนที่บางส่วนจะอพยพไปมหาสมุทรแปซิฟิคใกล้ชายฝั่งแคลิฟอร์เนีย และบางส่วนก็อยู่ที่มหาสมุทรแปซิฟิคฝั่งตะวันตก
แม้ว่าประชากรทูน่าแปซิฟิคครีบฟ้าจะยังไม่อยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง แต่ปริมาณทั้งโลกก็ลดลง 96 เปอร์เซ็นต์ ด้วยสถิติเช่นนี้ ไม่นานทูน่าแปซิฟิคครีบฟ้าอาจจะเข้าสู่กลุ่มเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ และเมื่อถึงจุดนั้นก็อาจสายเกินกว่าจะหาทางช่วยเหลือ
………………………………………….
ที่มา : www.treehugger.com