จะ ‘เก๋’ ไปไหน

เรื่อง : สันติสุข กาญจนประกร

ภาพ : อนุช ยนตมุต

 

ทราย-วรรณพร ฉิมบรรจง กำลังมุ่งมั่นทำงานศิลปะ เธอสนุก และดูท่าว่าจะถอนตัวจากกลิ่นสีและทีแปรงไม่ขึ้นเสียแล้ว

ต่างจากเมื่อก่อน ทรายทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำจากการเดินอยู่ภายใต้แสงแฟลชแสงไฟ ซึ่งนักนินทาลงความเห็นว่า เพราะข่าวด้านลบ ทำให้หญิงสาวหักเหชีวิต

เดาได้ ไม่มีใครว่า แต่เจ้าตัวบอก เธอก็คล้ายๆ หนอนที่กลายเป็นผีเสื้อ

ระหว่างนั่งลุ้นรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรมอยู่บนโต๊ะไม้ในสวนเงินมีมาย่านฝั่งธนฯ

 ซะการีย์ยา อมตยา กวีซีไรต์บอกว่า คิดเป็นกวีต้องมีความรับผิดชอบ ไม่ต่างจากคนขายข้าวหน้าเป็ดที่ต้องรับผิดชอบรสชาติอาหาร

“ผมปล่อยเวลามาเยอะเกินไปแล้ว เหมือนไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน ถ้าเราชัด มีวินัย น่าจะผลิตงานได้มากกว่านี้ นี่ 10 ปี มีรวมเล่มเล่มเดียว”

หลังเสียงหัวเราะ สมิทธิ ธนานิธิโชติ ช่างภาพอิสระ เจ้าของร้านเก๋ๆ ริมคลองในจังหวัดสมุทรสงคราม บอกว่า มีคนเก๋กว่าเขาอีกเยอะ ใครจะทำอะไรก็ทำไปเถอะ แค่ขอให้ออกมาจากตัวเอง

“ผมอาจเก๋ได้ เพราะมีต้นทุนอยู่ระดับหนึ่ง” อดีตช่างภาพนิตยสารโอเพ่นว่าอย่างนั้น

-1-

“ทุกวันนี้รู้สึกว่าใครๆ ก็เป็นดาราได้ เพียงแต่เป็นแบบได้ค่าตัวหรือไม่ได้ค่าตัว”

ตอนที่ทรายเดินเข้าสู่วงการบันเทิงใหม่ๆ เธอรู้สึกขัดแย้ง หลายครั้งที่ต้องถามตัวเองว่า ชอบมันจริงไหม

“มีแต่คนมาเตือนว่าอย่าทำโน่น ทำนี่ แล้วทำอะไรล่ะ ก็แค่สูบบุหรี่ ห้ามเที่ยว ใครไปเจอตามสถานบันเทิงก็เสีย บางข่าวก็ไม่จริง อย่างข่าวโง่ๆ ประเภทไปทะเลาะกับชาวบ้านเพราะอยากประชาสัมพันธ์ร้านเหล้า ซึ่งทรายไม่ได้ไป แต่เราก็ทำอะไรไม่ได้เลย”

คืนหนึ่ง หลังกลับจากถ่ายละคร หญิงสาวขับรถกลับบ้าน น้ำตาไหล

“จำได้ว่าข้างในมันทรมาน ตัดสินใจว่าต่อจากนี้ไม่เล่นละครแล้ว แต่หลังจากนั้นไม่นาน ก็มีบทนางเอกมาเสนอ ค่าตัว 6 แสน เอาไงดีวะ สับสน เอาว่ะ เล่นอีกเรื่องก็ได้ แล้วมันก็ปวดข้างในอีก”

ทรายเล่าว่า จุดแตกหักเดินทางมาถึงในงานเลี้ยงปิดกล้องละครเรื่องสุดท้าย เมื่อผู้กำกับเดินมาตบไหล่เธอ

“บอกว่าเข้าใจ แต่นี่มันละครนะ เราจบเลย รู้ว่าไม่เหมาะแล้ว วงการนี้มันก็เป็นแบบนี้ เราเองแหละ ที่อยู่ผิดที่ผิดทาง เราก็ถามแม่ว่า ถ้าเลิกเล่นละครได้ไหม แม่บอกก็ตามใจ ช่วงนั้นทำงานออร์แกไนซ์อยู่ด้วย ดูแลพวกสินค้าแบรนด์เนม ก็รู้สึกอึดอัดอีก ไม่ใช่ ขัดแย้ง เลยเลิกหมด”

เธอยืนยันจะทำงานศิลปะเพียงอย่างเดียว-ศิลปะเพื่อสังคม

“พยายามไม่ทำอย่างอื่น หลักๆ ก็วาดรูป ทำเซรามิก มีการแพลนงานไว้ว่าจะจัดนิทรรศการศิลปะกี่ครั้ง สิ่งที่สนใจคือเรื่องสังคม บางคนอาจมองว่า เรามาติดอยู่ในรูปแบบศิลปิน อยากเป็นศิลปินเหลือเกิน อย่างไร มนุษย์ทุกคนล้วนติดอยู่กับอะไรสักสิ่งอยู่แล้ว เราแค่คิดแบบนี้ และไม่ได้บอกว่าทุกคนต้องคิดเหมือนเรา

“รู้สึกว่าอยากเป็นชาวบ้าน ใช้ชีวิตแบบคนปกติ ไม่เคยคิดว่าการใช้ชีวิตแบบนี้เก๋กว่าคนทั่วไป เป็นดาราได้เงินเดือนละ 6 แสน มันสามารถไปทำชีวิตให้ดูเก๋ได้มากกว่าไหม แต่เราอยู่แบบนั้นไม่ได้ ใครเคยเป็นจะเข้าใจ ในวันหนึ่งตื่นมาแล้วรู้สึกว่าชีวิตไม่มีความหมาย อยากร้องไห้ เร็วๆ นี้เคยคุยกับดาราดังคนหนึ่ง มีความรู้สึกคล้ายกัน นั่นคือความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายใน”

ทุกวันนี้เธอตื่นนอนแล้วมีความสุข ไม่เคอะเขินที่จะสบตากับตัวเองในกระจก

“ใช้ชีวิตปกติ มีความสุขดี เลือกทำในสิ่งที่มีความสุข ถ้าเราเลือกได้ อยากเป็นศิลปิน ทำงานศิลปะ อยากพูดอะไรให้คนอื่นฟัง ถ้าคนรู้จักงานเราก็ดีใจ เราเองผ่านความรู้สึกโด่งดังมาแล้ว แค่อยากเป็นประชากรที่มีคุณภาพ เรายอมแลกกับสิ่งที่เคยเป็นมา”

เธอบอกว่า ทุกวันนี้รู้สึกใครๆ ก็เป็นดาราได้ เพียงแต่เป็นแบบได้ค่าตัวหรือไม่ได้ค่าตัว

“คลิปก็ปล่อยออกมาเพื่อให้คนรู้จัก ต้องการมีที่ยืนในสังคม ให้คนรู้ว่ากูมีชีวิตอยู่ เด็กวัยรุ่นเป็น คนรุ่นใหม่เป็น ถึงพยายามต้องอยู่ในกระแส แล้วจะมีเด็กหลายคนมานั่งคิดว่า จะทำอะไรดี อยากให้คิดนิดนึง เราหลงกับกระแสมากเกินไปไหม”

“ตอนนี้คุณไม่หลงแล้ว เจอทางที่แน่นอน” เราถาม

“ไม่รู้นะ ตอนนี้คิดแบบนี้ แล้วจะทำในสิ่งที่คิดต่อไปเรื่อยๆ ถ้าเราหมายถึงว่าทางคือสิ่งที่เราทำอยู่ ณ ขณะนี้ ทำให้รู้ว่ายังมีทางอีกสาย”

-2-

“ไม่ได้ทำตัวให้เป็นเอกลักษณ์ ว่ากวีต้องมีลักษณะแบบนี้ เป็นอย่างอื่นก็ได้”

ซะการีย์ยา อมตยา

ระหว่างการพูดคุย ซะการีย์ยา ขอตัวขึ้นไปหยิบ โน้ตบุ๊ค-โซนี ไวโอ บนห้อง จริงๆ เขาบอกว่าตอนนี้อยากได้ ไอแพด

“รุ่นพี่ๆ ชอบแซวว่าผมเป็นกวีทุนนิยม มันสวย ให้ทำไง เวลาตัดสินใจซื้ออะไร ผมเลือกในสิ่งที่ผมชอบ เพราะมันอยู่กับเราตลอด เหมือนปากกาที่อยู่ติดตัว เรามองมันเป็นแค่เครื่องมือในการทำงาน”

คล้ายๆ ความคิดที่ว่า คนทำงานศิลปะควรปลีกห่างจากเงินทอง ซึ่งเขาเองไม่เห็นด้วย

“จำเป็นต้องรู้เรื่องธุรกิจเลยด้วยซ้ำ ยิ่งคุณเป็นนักเขียนเต็มตัว ไม่ทำอย่างอื่น มันจะมีประโยชน์ต่อตัวคุณ เพราะในที่สุดคุณก็ต้องใช้เงิน อยู่กับมันให้เป็น เราปฏิเสธโลกที่เราอยู่ไม่ได้”

หลังได้ซีไรต์ ซะการียาห์ปรับชีวิตตัวเองใหม่ จากที่เคยทำงานสะเปะสะปะ เขากำลังหาสมดุลให้ตัวเอง

“ความรับผิดชอบจำเป็นมาก” เขาว่า “ ที่ผ่านมา ผมปล่อยเวลามาเยอะเกินไปแล้ว เหมือนไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน ถ้าเรามีเป้าหมาย น่าจะผลิตงานได้มากกว่านี้ อย่างน้อยๆ 1 ปี ควรมีสัก 1 เล่ม เมื่อก่อน ผมก็นั่งรอแรงบันดาลใจ นั่งสูบบุหรี่ ถ้าแวบขึ้นมาค่อยเขียน ไม่เคยกำหนดว่าจะออกกี่เล่ม กี่ชิ้น

“ถ้าจะบอกว่าตัวเองเป็นกวีอาชีพ ต้องทำให้ได้ อย่างน้อยๆ ก็ได้พยายาม ถ้าเราอายุสั้น จะได้มีงานออกมาบ้าง (หัวเราะ) แต่ไม่เสียดายเวลานะ แค่เอามันเป็นบทเรียน เมื่อเราอุทิศตัวกับการทำงานแบบนี้แล้ว เราก็ต้องจริงจังกับมันมากขึ้น ตั้งโปรแกรมเพื่ออนาคตบ้าง”

เมื่อถามว่าตกลงแล้วกวีมีอิสระจริงไหม เขาตอบว่าอิสระจริง แต่ทุกอย่างก็มีราคาที่ต้องจ่าย

“พูดตรงไปตรงมา การใช้ชีวิตแบบนี้มันมีต้นทุนที่ต้องจ่ายเยอะ ผมหมายถึงแง่การยืนหยัดในอาชีพนะ เพราะเงินทองหล่อเลี้ยงไม่พอหรอก ผมไม่สนับสนุนถ้าใครไม่แข็งแรงพอที่จะทน ถ้าเขียนกวีเพื่อตีพิมพ์ เอาค่าเรื่อง มันมีหลายปัจจัยที่เรากำหนดไม่ได้ โดยเฉพาะกวีที่ยังไม่มีชื่อเสียง ส่งไปก็นั่งลุ้นกันไป”

ช่วงแรกเขายังใช้สอยเงินทองจากทางบ้าน นานวันเข้าจึงเริ่มปฏิเสธ

“ไม่ได้ทำตัวให้เป็นเอกลักษณ์ ว่ากวีต้องมีลักษณะแบบนี้ เป็นอย่างอื่นก็ได้ ทำงานอื่นไปด้วยก็ได้ แต่ชีวิตผมมันเป็นอย่างนี้เอง คือเป็นการใช้ชีวิต ทุ่มเทกับเขียนกวีมาตลอดระยะเวลา 10 ปี เพราะรู้สึกว่ามันคือชีวิต งานอย่างอื่นไม่ได้ปฏิเสธ แต่ไม่ถนัด กวีไม่ต้องโทรม อย่างผมไปมาเลเซีย กวีที่นั่นเป็นข้าราชการบ้าง ศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยบ้าง รูปลักษณ์ภายนอกไม่สำคัญ ขึ้นอยู่ว่าคุณจะผลิตงานออกมาหรือเปล่า”

“อยากรวยไหม” เราถาม

“มันก็ดี เพราะอำนวยให้เราทำงานศิลปะได้สะดวกขึ้น แต่จะให้เราไปทำอย่างอื่นเพื่อรองรับตรงนี้ รู้สึกว่าเหนื่อยเกินไป ธรรมดาของคนอยู่แล้ว อยากรวย อยากสบาย อย่างน้อยๆ ผมก็จะได้ซื้อหนังสือเยอะขึ้น มีความสุขในแง่นี้ มีชาวต่างชาติเคยถามผมว่า คุณทำอะไรอยู่ ผมบอกว่าใช้ชีวิตอยู่ คือได้ตระหนักถึงการมีชีวิต และมีความสุขกับมัน”

-3-

“ไปปายนี่น่าเบื่อเลย เพราะเราลอกกัน ถึงความฝันคนเหมือนกันได้ แต่วิธีสร้างคาแร็กเตอร์ มันเป็นเรื่องตัวบุคคลล้วนๆ”

สมิทธิ ธนานิธิโชติ

ทุกวันนี้สมิทธิไม่รับงานถ่ายรูปแล้ว ไมได้ดูแคลนงานเชิงพาณิชย์ แค่มันไม่ตอบโจทย์ตัวเอง

“มันไม่ตรงจริต เลยไม่ได้ไปขวนขวายหา งานที่แสดงกับอาจารย์เสกสรรค์ เราถ่ายเก็บๆ ไว้” เขาบอก

“ตอนนี้ผมเป็นพ่อค้า ค้าขาย มีเปิดที่พัก เป็นหุ้นส่วนร้านอาหารทะเลที่ระยอง ขายโปสการ์ด ไม่ได้ทำเอามัน เอาติสต์ เอาเงินนี่แหละ มันไม่เจ๊ง ก็ไม่ซีเรียส อยู่ได้แบบพอเลี้ยงชีวิตคนได้ จะเอาแบบเป็นกอบเป็นกำคงไม่ได้ ทำเป็นธุรกิจเต็มตัวคงไม่ได้”

เจ้าของที่พัก บางน้อย คอยรัก บอกว่า เลี้ยงชีวิตไม่ยาก ถ้าเราไม่มีความต้องการสูง

“ถามว่าเป็นโลกในฝันหรือเปล่า ถ้าคุณไม่ต้องการอะไรมาก มันอยู่ได้ สำคัญคือความรับผิดชอบ เวลาเราจะทำอะไรสักอย่าง ทำร้านอาหาร ที่พัก คุณต้องมีความรับผิดชอบกับลูกค้า ต้องประชาสัมพันธ์ความดีงามของคุณ อาหารอร่อยอย่างไร พอคนจะมา ถ้าคุณไม่พร้อมต้อนรับ นี่ถือว่าไม่รับผิดชอบแล้ว

“คนจำนวนมากสร้างขึ้นมาได้ แต่พอมาถึงจุดหนึ่ง กลับเบื่อ ไม่อยากทำแล้ว ไม่ใส่ใจ คนที่ยืนอยู่ได้ยาวๆ มันต้องมีอะไรพิเศษบางอย่าง มีความตั้งใจ ไม่ล้มเลิกง่ายๆ ถ้าเจออุปสรรค ใครบอกผมทำตัวเก๋ ก็เก๋จริง (หัวเราะ) แต่มีคนเก๋กว่าผมอีกเยอะ ทั้งนี้ เราต้องทำอะไรที่เป็นตัวเรา อีกอย่างคือเรื่องต้นทุน

“ผมเปิดร้านแบบนี้ ผมมีต้นทุนอยู่บ้าง ซึ่งอาจหมายถึงสิ่งที่ทำมา ไม่ใช่เงิน เป็นต้นทุนทางสังคม ทางชีวิต ผลงาน เพื่อน เหล่านี้เป็นต้นทุนทั้งนั้น คนทำงานบัญชีอาจไม่มีแบบผม แต่มีเงิน (หัวเราะ) ทำแล้วยาวสั้นก็ว่ากันไป แต่พอเจอทางแยก คุณจัดการตรงนั้นอย่างไร”

“หมั่นไส้ความเก๋ที่ปาย ที่เชียงคานไหม” เราถาม

“มาก!” เขาตอบหนักแน่น

“คือเบื่อ ทำให้รู้สึกว่า ทำไมมันเหมือนกันไปหมด ไม่คิดอะไรแตกต่างเลย อย่างผมจะไปทำอะไรที่เชียงคานนี่ตันเลย จะไปทำอย่างไรให้แตกต่าง ไปปายนี่น่าเบื่อเลย เพราะเราลอกกัน ถึงความฝันคนเหมือนกันได้ แต่วิธีสร้างคาแร็กเตอร์ มันเป็นเรื่องตัวบุคคลล้วนๆ”

เขายกตัวอย่างรีสอร์ทแห่งหนึ่งในจังหวัดราชบุรี ว่านั่นคือนวัตกรรมความเก๋ใหม่ๆ

“เลี้ยงแกะ ถามว่าเฟคไหม เฟค เอาผู้หญิงแต่งตัวเป็นชาวยุโรป เอาแกะนิวซีแลนด์มาเลี้ยง มันไม่เข้ากันเลยในทางวัฒนธรรม แต่ก็ต้องยอมรับในความคิดสร้างสรรค์ …มาก (หัวเราะ) ทึ่งมาก อย่าไปคิดเลยว่าเก๋แบบกลวงๆ ในช่วงชีวิตคนทำอะไรได้หลายอย่าง ทำ 3 ปี 5 ปี พอก็ได้ เฉพาะหน้า คุณจริงใจกับสิ่งที่ทำ ก็จบแล้ว พิสูจน์ดูว่าทำได้ไหม”

สมิทธิไม่อยากให้คนมีข้ออ้าง เพราะมันคือคำแก้ตัวของคนขี้ขลาด

“เหมือนคนจำนวนมากที่ทำงาน ทั้งๆ ที่ไม่อยากทำ แต่ด้วยเหตุผลมากมายหลายประการ เป็นเกราะป้องกันตัว เป็นข้ออ้าง บอกว่าเพื่อเก็บเงินไปมีชีวิตเงียบๆ นั่นคือเงื่อนไขที่สร้างขึ้นเองทั้งนั้น ถ้าคุณไม่ต้องการผ่านสังคมแบบนั้น กล้าตัดสินใจในการใช้ชีวิตตั้งแต่ต้นๆ แต่ต้องยอมรับในความล้มเหลว หรือท้ายสุดยังหาอะไรไม่เจอ”

ถามว่าชีวิตสมดุลหรือยัง เขาบอกว่าพอใจ

“มั่นคงไหม คงไม่ เราก็ไม่ต่างอะไรกับแม่ค้าตลาดนัด ถ้ารู้จักเก็บ ก็มั่นคง มันคือชีวิตที่ธรรมดามากๆ เหมือนคนทั่วๆ ไป คุณจะเอาอะไรมาก ชีวิตคนมันมีความเปลี่ยนแปลงตลอด สำหรับผม ผมโอเคแล้ว พอใจ ไม่ได้คาดหวังมาก ชีวิตมันต้องมีปัญหาอยู่แล้ว แม้คุณจะอยู่ในจุดที่พอใจที่สุดในชีวิต”

-4-

“ความโง่เง่าอย่างหนึ่งของมนุษย์ คือการพยายามหาคำตอบให้แก่ทุกสิ่ง”

มิลาน คุนเดอรา นักเขียนชาวเช็ก

-5-

บ่ายวันอาทิตย์หนึ่ง ผมนั่งอยู่ในร้านอาหารริมแม่น้ำ ทอดตามองเรือแล่นผ่านไปมา คิดถึงบางประโยคของ ทราย-วรรณพร ที่ผมคิดว่าจะตัดทิ้ง

“ศิลปะคือเครื่องมือที่เราสามารถใช้ได้ สามารถพูดผ่านได้ เท่าที่ทำอยู่ก็เขียนหนังสือบ้าง พูดผ่านบทสัมภาษณ์บ้าง แต่งเพลง เล่นดนตรีตามงาน แล้วก็ผ่านภาพ ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ทำให้เราได้สื่อสารความคิด แค่นั้น เครื่องแบบต่างๆ ไม่เกี่ยว”

หรือประโยคของ ซะการีย์ยา อมตยา

“เชื่อว่าคนธรรมดาที่ไม่ได้เป็นศิลปิน ก็มีความรู้สึกอันอ่อนไหวได้ เพียงแต่ยังไมได้เข้าสู่โลกของการทำงานศิลปะเท่านั้น ที่สำคัญ ผมไม่สนับสนุนคนที่เขียนเพื่อรางวัล คุณจะตกทันทีเมื่อมันไม่ได้ และยังขาดไร้จิตวิญญาณด้วย คุณเขียนด้วย ทำงานอย่างอื่นด้วยดีกว่า อย่าไปติดยึดกับยูนิฟอร์ม ไม่ต้องติสต์จัดก็ได้”

กระทั่งของ สมิทธิ ธนานิธิโชติ

“ผมต้องการพิสูจน์อะไรบางอย่าง ว่าเวลาเราพูดถึงชีวิตเล็กๆ ชีวิตเรียบๆ ชีวิตช้าๆ มันทำได้ไหม ลองทำดูสิ เป็นจริงได้แค่ไหน เล็กๆ แต่เอาอยู่ ทำแล้วรอด โดยเฉพาะคนที่คิดว่ารักการพักผ่อนมากกว่าการทำงาน (หัวเราะ)ไม่รู้นะ เรื่องนี้มันแล้วแต่คน”

ตัดสินใจใหม่ว่าไม่ตัดดีกว่า

ไร้สาระหรือไม่ แต่ละคนล้วนมีคำตอบของตัวเองอยู่แล้ว

********************************

(หมายเหตุ : ตีิพิมพ์ ตุลาคม 2553)

 

Author

สันติสุข กาญจนประกร
อดีตบรรณาธิการเครางาม ปลุกปั้นและปล้ำ WAY มาในยุคนิตยสาร นักสัมภาษณ์ที่ไม่ยอมให้ข้อสงสัยหลงเหลือในประโยคพูดคุย เรียบเรียงถ้อยคำความหล่อบนบรรทัดด้วยทักษะแบบนักประพันธ์ หลังออกไปบ่มเพาะความคิด สันติสุขกลับมาพร้อมรสมือและกลิ่นกายที่คุ้นชิน และแน่นอน ทักษะด้านการเขียนที่ผ่านการเคี่ยวกรำมาย่อมแม่นยำกว่าเดิม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า