สถานการณ์การโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ยา เครื่องสำอาง มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด ทั้งในวิทยุชุมชน ทีวีดาวเทียมและเคเบิล ที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคแทบทุกครัวเรือน ทว่าโฆษณาเหล่านี้ล้วนเต็มไปด้วยการโกหกหลอกลวง แสดงข้อความอันเป็นเท็จ โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง เข้าข่ายผิดกฎหมายทั้งสิ้น โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือประชาชนที่ถูกมอมเมาจนหลงเชื่อในถ้อยคำโฆษณา
+ ‘โฆษณาผิดกฎหมาย’ เกลื่อนวิทยุชุมชน
งานศึกษาวิจัยในหัวข้อ ‘สถานการณ์การโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางวิทยุท้องถิ่น ภายหลังการจัดระเบียบการออกอากาศ จังหวัดลพบุรี’ โดย ภญ.ตุลาภรณ์ รุจิระยรรยง เภสัชกรชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลพบุรี เผยข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการโฆษณาผลิตภัณฑ์ยา อาหาร เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ วัตถุอันตราย และวัตถุเสพติดที่มีใช้ในทางการแพทย์ ซึ่งพบว่ามีการโฆษณาที่ฝ่าฝืนกฎหมายเป็นจำนวนมาก สร้างความเสียหายต่อผู้บริโภคให้หลงเชื่อในสรรพคุณการรักษา
รายงานวิจัยระบุว่า นับจากวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญ โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ายึดอำนาจการปกครอง และมีการระงับการออกอากาศของสถานีวิทยุชุมชนที่ไม่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จนกระทั่งวันที่ 14 มิถุนายน 2557 คสช. ได้อนุญาตให้สถานีวิทยุกระจายเสียงที่ได้รับอนุญาตทดลองประกอบกิจการสามารถดำเนินการออกอากาศได้
“เหตุการณ์ดังกล่าวจึงถือเป็นการจัดระเบียบการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยการจัดระเบียบเรื่องใบอนุญาตออกอากาศของ กสทช. ตามนโยบาย คสช.”
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีมาตรการในการแก้ไขปัญหาการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ถูกต้องตามนโยบายของ คสช. ในการกำหนดมาตรการให้หน่วยงานทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคดำเนินการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด
“ผลปรากฏว่า ในช่วงแรกที่สถานีวิทยุท้องถิ่นได้รับการทดลองออกอากาศมีการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเข้มงวด แต่ต่อมาพบว่า ปัญหาการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายหรือโฆษณาโอ้อวดเกินจริง หลอกลวงผู้บริโภค ได้กลับมาอีกครั้ง”
ขณะเดียวกัน การอนุญาตให้ออกอากาศของสถานีวิทยุท้องถิ่นยังมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้การโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายอาจขยายวงกว้างมากขึ้นและยากแก่การควบคุมกำกับในอนาคต ภาครัฐจึงจำเป็นต้องมีการจัดการแก้ไขปัญหาการโฆษณาที่ไม่ถูกต้องโดยเร็ว เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความคุ้มครอง
+ ทุกสถานีมีโฆษณาท้าทายกฎหมาย
จากการสุ่มตรวจรายการที่ออกอากาศทางสถานีวิทยุท้องถิ่นจำนวน 14 สถานี จาก 35 สถานีในจังหวัดลพบุรี โดยเทียบเคียงจากประเด็นต่างๆ ตามกฎหมาย พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 และระเบียบแนวทางการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพของสำนักงาน อย. พบว่า สถานีวิทยุทั้ง 14 แห่ง มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายอย่างน้อย 1 ชิ้น
นอกจากนี้ จากการตรวจสอบ ‘ความชุก’ ของการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทั้งหมด 758 ครั้ง/305 ชิ้นโฆษณา ในจำนวนดังกล่าวมีการโฆษณาที่ผิดกฎหมายมากถึง 483 ครั้ง/254 ชิ้น คิดเป็นร้อยละ 73.40 ของการโฆษณาที่ผิดกฎหมาย
การโฆษณาผิดกฎหมายมากที่สุดคือ โฆษณาอาหาร 79.23 รองลงมาคือโฆษณายา ร้อยละ 73.48 และโฆษณาเครื่องสำอาง ร้อยละ 33.33
หากพิจารณาะยะเวลาการออกอากาศ พบว่า ช่วงเวลาการออกอากาศของสถานีวิทยุภายในเวลา 48 ชั่วโมงนั้น จะมีการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพรวมในทุกสถานีจำนวนทั้งหมด 28.46 ชั่วโมง ในจำนวนนี้เป็นโฆษณาที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายมากถึง 26 ชั่วโมง หรือคิดเป็นร้อยละ 91.36 ของช่วงเวลาที่มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ
รูปแบบของการโฆษณามีความหลากหลาย ส่วนใหญ่มักใช้สปอตและเพลงโฆษณามากที่สุด รองลงมาคือการโฆษณาโดยนักจัดรายการพูดและการนำเสนอสาระสุขภาพ รวมถึงการโฆษณาโดยการสัมภาษณ์
อย่างไรก็ดี การโฆษณาโดยการสัมภาษณ์นั้นถือว่ามีน้ำหนักหรือมีอิทธิพลต่อการรับรู้ของประชาชนอย่างมาก เนื่องจากมีการรับรองโดยบุคคล และพบว่าการโฆษณาในแต่ละครั้งจะใช้เวลานาน 300-2,000 วินาที บางรายการมีการโฆษณาผลิตภัณฑ์เดิมๆ 2-3 ผลิตภัณฑ์สลับกันไปมา ซึ่งส่งผลให้ภาพรวมของรายการเป็นการโฆษณายาที่แสดงสรรพคุณเท็จหรือโอ้อวดเกินจริงเกือบทั้งหมด ซึ่งการโฆษณารับรองผลซ้ำๆ กันหลายครั้งอาจส่งผลให้ผู้บริโภคหลงเชื่อได้
“การโฆษณาโดยการรับรองหรือยกย่องสรรพคุณยาโดยบุคคลอื่นเป็นสิ่งที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะวิธีการสัมภาษณ์ ซึ่งมีการพูดโฆษณารับรองโดยผู้ที่เคยใช้แล้วว่าเห็นผลกับตนเอง มีสรรพคุณในการรักษาสารพัดโรค และปิดท้ายด้วยการให้หมายเลขโทรศัพท์ติดต่อ รวมทั้งการสาบานตนของนักจัดรายการ”
ลักษณะการโฆษณาที่ฝ่าฝืนกฎหมายยา ได้แก่
– การทำให้เข้าใจว่าเป็นยาบำรุงกาม เช่น กินแล้วปึ๋งปั๋ง เตะปี๊บดัง เช้าขันเย็นขัน
– การโฆษณาโดยร้องรำทำเพลง เช่น มีเพลงแสดงสรรพคุณยาหรือชื่อยา
– การโฆษณาขายยาโดยไม่สุภาพ เช่น หัวเราะเยาะผู้ป่วย
– การโฆษณาแสดงความทุกข์ทรมานของผู้ป่วย เช่น การเล่าเรื่องว่ามีความทุกข์ทรมานในการอธิบายโรคริดสีดวงทวารและการเจ็บปวดทุกข์ทนจากการเป็นอัมพาต
– การเปรียบเทียบทับถมผลิตภัณฑ์ของผู้อื่น โดยโฆษณาว่ารับประทานยา…แล้วไม่หาย ให้มารับประทานยานี้แทน
– ไม่แสดงคำเตือน เช่น เป็นยาแผนโบราณ ไม่ใช่เป็นยาลดความอ้วนหรือยาลดน้ำหนัก อ่านคำเตือนในฉลากก่อนใช้ยา
ฯลฯ
+ ผลกระทบทั้งประเทศ
รายงานวิจัยของ ภญ.ตุลาภรณ์ ระบุว่า สถานการณ์การบริโภคยาของคนไทยในปี 2553 มีมูลค่าถึง 144,570 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการบริโภคยาที่ไม่เหมาะสมและเกินความจำเป็น โดยในช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศเติบโตขึ้นร้อยละ 7-8 ต่อปี ใกล้เคียงกับค่าใช้จ่ายโดยรวมด้านสุขภาพ และสูงกว่าการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ
นอกจากนี้ยังพบว่ามีกระแสนิยมในการบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2552 พบว่าคนไทยที่อายุ 60 ปีขึ้นไป มีการบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารถึงร้อยละ 15.8 ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะอิทธิพลของการโฆษณา ขณะที่ในปี 2553 ศูนย์เฝ้าระวังและรับเรื่องร้องเรียนผลิตภัณฑ์สุขภาพ สำนักงาน อย. พบการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายมากถึง 2,686 เรื่อง
ภญ.ตุลาภรณ์ ให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายว่า เนื่องด้วยการโฆษณาผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพเป็นปัญหาสำคัญที่มีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและการเสียโอกาสในการรักษาของผู้ป่วย รวมทั้งเป็นการเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดอาการข้างเคียงจากการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐาน จึงมีความจำเป็นที่ภาครัฐโดยสำนักงาน อย. กสทช. และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลัก ควรให้ความสำคัญ
จากการวิจัยพบว่า แม้ว่าในระยะที่ผ่านมามีการจัดระเบียบการออกอากาศของสถานีวิทยุ และหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ อย. กสทช. สสจ. ฯลฯ ได้มีมาตรการในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง แต่กลับพบว่าสถานการณ์การโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพยังคงอยู่ และพบว่าสถานีวิทยุที่ได้รับอนุญาตให้ออกอากาศมีจำนวนมากขึ้น หากไม่สามารถควบคุมปัญหาดังกล่าวได้ในเร็ววัน ก็ยากยิ่งที่จะแก้ไขได้ในอนาคต ดังนั้นในช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งดำเนินการแก้ไข
“ปัญหาการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ มิใช่ปัญหาของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นปัญหาร่วมกันของคนทั้งประเทศ การหลงเชื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ถูกต้อง นอกจากจะมีผลกระทบเฉพาะบุคคล เช่น การเสียค่าใช้จ่ายจากการบริโภคที่ไม่จำเป็น การสูญเสียโอกาสในการรักษา การได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้อง อาการหรือโรคภัยไข้เจ็บอาจมีการแย่ลง และสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาที่เกิดตามมา ฯลฯ ซึ่งผลกระทบดังกล่าวมีผลต่อระบบการสาธารณสุขและระบบเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากภาครัฐต้องเสียงบประมาณในการดูแลรักษาผู้ป้วยทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งมีมูลค่ามากมายมหาศาล
“ดังนั้น การจัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพควรมีการจัดการอย่างเป็นระบบ ควรมีการกำหนดยุทธศาสตร์และเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาวร่วมกัน ระหว่างภาคีเครือข่ายและมีการติดตามการแก้ไขปัญหาเป็นระยะ โดยอาศัยความมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน” ภญ.ตุลาภรณ์ สรุปทิ้งท้าย
+ แฉทีวีดาวเทียม-เคเบิล โฆษณามอมเมา
นอกจากปัญหาการโฆษณาในวิทยุชุมชนแล้ว สื่อโทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิลก็เป็นอีกหนึ่งผู้ต้องสงสัยที่มีการเผยแพร่โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพเย้ยกฎหมาย
ผลการสำรวจและเฝ้าระวังโฆษณาทางสื่อโทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิลทีวี ระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2557 โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค 10 จังหวัด พบว่า เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย โดยส่วนใหญ่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการลดน้ำหนัก ลดความอ้วน เน้นความขาว สวย ใส และการรักษา บำบัด ป้องกันสารพัดโรคตั้งแต่หัวจรดเท้า
พชร แกล้วกล้า ผู้ประสานงานโครงการสร้างเครือข่ายผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เผยว่า ในจำนวนโทรทัศน์ดาวเทียม-เคเบิ้ล 18 ช่อง พบแล้ว 17 ช่อง ที่โฆษณาผิดกฎหมายและเป็นช่องที่ กสทช. เคยสั่งปรับไปแล้ว 5 ช่อง ส่วนช่องที่เหลือพบโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดหมาย จำนวน 85 ผลิตภัณฑ์ แต่ไม่เคยถูก กสทช.สั่งปรับ
สิรินนา เพชรรัตน์ ผู้แทนเครือข่ายผู้บริโภคภาคใต้ ให้ข้อมูลว่า วิธีการโฆษณาที่ผิดกฎหมายมีหลายรูปแบบ ได้แก่ การโฆษณาแฝงโดยวางผลิตภัณฑ์ไว้ส่วนใดส่วนหนึ่งของรายการ สัมภาษณ์บุคคลที่มีชื่อเสียง เปิดสปอตในรายการและแนะนำเพิ่มเติมโดยพิธีกร บางครั้งมีการให้ข้อมูลกล่าวอ้างเชิงวิชาการว่าสามารถรักษาโรคได้
“ดังนั้น ผู้บริโภคต้องระวังและมีสติอย่างมากในขณะรับชมรายการหรือโฆษณาประเภทนี้ เพราะโฆษณาต่างๆ เหล่านี้ ทำให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลที่เป็นเท็จ เกินจริง บางกลุ่มขาดการรักษาที่เหมาะสม ถึงขั้นถึงเสียเงินเสียทอง จนสุดท้ายเสียชีวิต”
จินตนา ศรีนุเดช ผู้แทนเครือข่ายผู้บริโภคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เสนอแนวทางในการกำกับดูแลและมาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบังคับใช้กฎหมายต้องสั่งระงับโฆษณา เช่น อย. กสทช. ซึ่งมีอำนาจโดยตรงในการตรวจสอบและออกคำสั่ง รวมถึงมีการลงโทษขั้นสูงสุดกับผู้ประกอบการที่กระทำความผิดซ้ำซาก
ทั้งนี้ เครือข่ายผู้บริโภคได้ยื่นหนังสืออย่างเป็นทางการต่อสำนักงาน กสทช. และเลขาธิการ อย. เพื่อดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังต่อไป
ทางด้าน สุภิญญา กลางณรงค์ กสทช. ด้านส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและคุ้มครองผู้บริโภค และ ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการ อย. เปิดเผยว่า ในปีนี้นอกจากจะมีการทำงานร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค 10 จังหวัดแล้ว สำนักงาน กสทช. ได้ตั้งงบประมาณสำหรับการติดตามตรวจสอบและเฝ้าระวังการกระทำที่มีลักษณะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค โดยเฉพาะการโฆษณาอาหารและยาที่ผิดกฎหมายไปยังสำนักงาน กสทช.ทั้ง 4 ภาค เพื่อเฝ้าระวังในระดับพื้นที่ทั้งวิทยุและโทรทัศน์ต่อไป
//////////////////////