ที่ดินในฝัน

cramp 46

โตมร ศุขปรีชา

ใครๆ ก็อยากมีที่ดินในฝันกันทั้งนั้นแหละครับ ถ้าเป็นที่ดินผืนสวยๆ มีลำธารไหลผ่าน มีภูเขาเห็นอยู่ไกลๆ หน่อย ผืนดินลาดเทนิดๆ แล้วก็มีที่ให้ปลูกบ้าน อากาศดีๆ ใครก็อยากซื้อกัน โดยเฉพาะพวกคนเมืองที่อยากมีบ้านหลังที่สองที่สาม (หรือสี่และห้า)

คนเมืองที่อยู่คอนโดฯมาตลอดทั้งชีวิตอย่างผมก็ไม่ใช่ข้อยกเว้นครับ ผมอยากมีที่ดินเอาไว้ปลูกต้นไม้ ดูเหมือนคนเมืองจะเป็นโรคกระหายหาสีเขียว (ที่ไม่ใช่ทหาร!) อยู่ไม่น้อย

เหมือนจะเป็นธรรมเนียมไปแล้วที่จะต้องมีที่เอาไว้ปลูกต้นไม้กว้างๆ เป็นบ้านหลังที่สองที่มี ‘ธรรมชาติ’ สีเขียวแฝงอยู่ ทำราวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯเมืองใหญ่นั้น ไม่มีอะไรเป็น ‘ธรรมชาติ’ เลยสักอย่าง ทั้งที่จริงแล้วผมว่าเมืองใหญ่ที่มีความเป็นปัจเจกสูงนี่แหละครับ ทำให้มนุษย์ได้แสดง ‘ธรรมชาติ’ ในกมลนิสัยของตัวเองออกมามากที่สุด

ด้วยเหตุนี้ ปมอย่างหนึ่งของคนเมืองที่พอจะมีกินบ้าง จึงคือการ ‘คืนสู่ธรรมชาติ’ (ซึ่งไม่รู้เหมือนกันว่าธรรมชาติที่ว่า มีนิยามว่าอย่างไร) เราจึงเห็นหมู่บ้านจัดสรรชานเมืองเต็มไปหมด ที่สร้างขึ้นมาใน ‘สไตล์รีสอร์ต’ เรียกว่าอยู่บ้านชานเมือง (เพราะไม่มีปัญญาซื้อบ้านกลางเมืองราคาแพงอย่างกับไม่ได้อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง) แล้วได้พักผ่อนเหมือนไปอยู่ต่างจังหวัดทีเดียวแบบสำเร็จรูป

หมู่บ้านจัดสรรชานเมืองที่ผุดโผล่ขึ้นมาในสมัยหลังๆ จึงไม่เหมือนหมู่บ้านจัดสรรชานเมืองยุคผมยังเด็กๆ อยู่นะครับ เพราะบ้านจัดสรรสมัยก่อนนั้นสักแต่ว่าสร้างขึ้นมาให้เป็นบ้านก็พอแล้ว ขอให้มีหน้าต่างประตูครบ มีหลังคา มีที่ดินนิดๆ หน่อยๆ ก็เอาแล้ว แต่ไม่มีใครโฆษณาหรอกนะครับว่าได้อยู่กับธรรมชาติจริงๆ ร้อยเปอร์เซ็นต์เหมือนบ้านจัดสรรยุคใหม่

ตอนที่น้ำท่วม ผมนั่งเรือเข้าไปในหมู่บ้านจัดสรรชานเมืองแล้วต้องรู้สึกขันขื่นแทบแย่ ก็โธ่! หมู่บ้านแต่ละหมู่บ้านนั้นตั้งชื่อให้แนบชิดแอบอิงกับ ‘ธรรมชาติ’ กันเป็นการใหญ่นี่ บางหมู่บ้านอยู่ติดแม่น้ำลำคลองเข้าให้หน่อยก็ตั้งชื่อหมู่บ้านตัวเองทำนองว่า ‘ธาราระรื่น’ หรือ ‘ลำคลองสำเริง’ หรือ ‘แมกไม้อิงน้ำตก’ อะไรทำนองนั้นกันให้ควั่กไปหมด ครั้นพอน้ำท่วมทุ่งจนผักบุ้งไม่โหรงเหรงแต่จมมิดหาย ป้ายบิลบอร์ดใหญ่ๆ โฆษณาบ้านจัดสรรชานเมืองเหล่านั้นจึงแลดูเสียดเย้ยขันขื่นยิ่งกว่าขื่นขันอีกละครับ เพราะป้ายพวกนั้นครึ่งป้ายก็จมอยู่ใต้น้ำด้วยเหมือนกัน

ยิ่งไปกว่านั้น บางหมู่บ้านมีป้ายโฆษณาทำนองว่า ‘Natural Living’ คือใช้ชีวิตกันแบบธรรมชาติ พอน้ำเข้ามา เป็น ‘ธรรมชาติ’ จริงๆ ให้สัมผัสกันอย่างถึงเนื้อถึงตัว แถมพร้อมทั้งงู จระเข้ และแมงป่อง เจ้าของบ้านผู้ถวิลหาธรรมชาติต่างต้องเผ่นออกจากบ้านกันเป็นแถวๆ ทิ้งบ้านเอาไว้ให้ชาวบ้านแถวนั้นเอาแหเข้ามาทอดหาปลาบนถนนในหมู่บ้าน

พูดอย่างใจร้าย หมู่บ้านจัดสรรพวกนี้แสดงออกถึง ‘ปม’ ของการถวิลหาธรรมชาติของคนเมืองได้ไม่น้อยนะครับ ตอนนั่งเรือผ่านหมู่บ้านหรูแนบชิดธรรมชาติเหล่านี้ เรือต้องผ่านเข้าไปใน ‘ชุมชน’ ของชาวบ้าน ซึ่งอยู่ติดคลองบ้างอะไรบ้าง เราจะเห็นว่าชาวบ้านที่ไม่ได้อยู่ในหมู่บ้านจัดสรร เอาเข้าจริงแล้วพวกเขานี่แหละที่อยู่ ‘กับธรรมชาติ’ มาก่อน แล้วจู่ๆ ก็คงงงๆ ไม่น้อยนะครับ ใครก็ไม่รู้มาถมดินเสียสูงลิบ กั้นกำแพง จ้าง รปภ. มาเฝ้าที่หน้าประตู แล้วก็สร้างบ้านไว้ข้างในเหมือนเป็นเขตกักกัน จากนั้นก็เรียกดินแดนแห่งนั้นด้วยชื่อต่างๆ นานาสวยหรูราวกับเป็นดินแดนสุขาวดี แล้วแดนสุขาวดีเหล่านี้ก็พยายามสูบน้ำออกจากเขตกักกันของตัว เพื่อทำให้ในนั้นแห้ง ส่วนบ้านของชาวบ้านที่แนบชิดกับธรรมชาติอย่างแท้จริงก็ทำอะไรไม่ได้ นอกจากอดทนอยู่กับธรรมชาติกันต่อไปไม่รู้จักจบสิ้น

ภาพแบบนี้จึงย้อนแย้งสุดขีด เพราะคนที่ถวิลหาธรรมชาตินั้น พอธรรมชาติที่แท้จริงมาเยี่ยมเยือนในเขตกักกัน พวกเขากลับหนีเตลิด ส่วนชาวบ้านที่ไม่ได้ถวิลหาธรรมชาติอะไรเลย กลับต้องอยู่กับธรรมชาติกันไป ไม่ว่าจะยามน้ำท่วมหรือไม่ท่วม กับฝูงยุง โรคไข้เลือดออก อากาศร้อน ฯลฯ อันสุดแสนจะเป็นธรรมชาติโดยแท้

ส่วนคนเมืองอีกบางจำพวกที่รักความเป็นเมืองยิ่งชีพ (อย่างเช่นตัวผมเป็นต้น) ก็จะไม่ยอมย้ายไปอยู่บ้านจัดสรรชานเมืองเป็นเด็ดขาด โดยต่างคนต่างก็มีเหตุผลต่างกันไป แต่คนเมืองเหล่านี้ พอลืมตาอ้าปากขึ้นมาได้บ้าง ก็ชักอยากมีที่ทางเอาไว้สูดอากาศหายใจ ทว่าเมื่อไม่อยากได้หมู่บ้านจัดสรรชานเมืองที่โฆษณาว่าเต็มไปด้วยธรรมชาติ ก็ต้องลุกขึ้นตระเวนหาซื้อที่ ซื้อบ้าน หรือซื้อคอนโดฯ กันตามต่างจังหวัด

ครั้นจะเป็นเมืองยอดฮิตอย่างหัวหิน เขาใหญ่ อะไรเทือกๆ นั้น ก็ดูเหมือนผู้ลืมตาอ้าปากได้ก่อนหน้าเขาไปกว้านซื้อไว้เสียหมดแล้ว จนที่ดินราคาสูงลิบลิ่ว อย่ากระนั้นเลย…เราเขยิบไกลออกไปหน่อยดีกว่า

ด้วยเหตุนี้ เราจึงพบปรากฏการณ์หาซื้อที่ดินประเภทไร้เอกสารสิทธิ์กันเต็มไปหมด

สารภาพเอาไว้ตรงนี้ ว่าผมก็เคยไปดูมาแล้วเหมือนกัน!

ด้วยปมคนเมืองอยากมีที่ทางต่างจังหวัด อยากใกล้ชิดธรรมชาติอย่างน่าหมั่นไส้และไล่ถีบ ผมจึงตระเวนไปหาที่ทางของตัวเองตามที่ต่างๆ จริงๆ ก็พูดให้โอเวอร์ไปเช่นนั้นเอง เพราะด้วยความเป็นคนโชคดี ตระเวนปุ๊บ ก็เจอที่ปั๊บในทันที เป็นที่ดินมีโฉนด มีเอกสารสิทธิ์พร้อม เคยมีคนอาศัยอยู่ในที่นั้นมาแล้ว แม้ราคาจะแพงเอาเรื่องอยู่ แต่ก็เรียกว่าทุกอย่างได้ดั่งใจโดยรวดเร็ว

แต่มันรวดเร็วเกินไปหรือเปล่าหว่า-ผมคิดในใจอย่างนั้น ทำไมเวลาใครๆ จะซื้อที่ดินซื้อบ้าน เห็นเขาเลือกกันนานเป็นเดือนเป็นปี เราจะซื้อปุ๊บ ก็ขับรถไปเจอ ‘ที่ชอบๆ’ ปั๊บได้เลย มันจะโชคดีเกินไปหรือเปล่า (ว่าแล้วก็ต้องรีบเคาะโต๊ะสามครั้งเพื่อให้พลังไม้ช่วยตามคติตะวันตก-ซึ่งอาจใช้ไม่ได้กับเมืองไทย) ว่าแล้วผมจึงปล่อยที่ผืนนั้นเอาไว้ก่อน แล้วตระเวนไปดูที่อื่นๆ ในประเทศนี้ตามที่เคยประสบพบเห็น และคิดว่าเป็น ‘ที่ชอบๆ’ อีกเหมือนกัน

ผมชอบอากาศดีๆ (อ๊ะ! เหมือนที่เจ้าของที่ดินแถววังน้ำเขียวหลายคนว่าเลย) ชอบภูมิประเทศโล่งๆ ไกลๆ สุดลูกหูลูกตา (อ๊ะ! ก็เหมือนเจ้าของที่ดินแถววังน้ำเขียวหลายคนอีกเช่นกัน) ถ้าเป็นไปได้ก็อยากอยู่บนภูเขา (อ๊ะ! เหมือนใครบางคนที่มีที่ดินอยู่บนภูเขาเปี๊ยบเลย!) อยากใกล้ชิดธรรมชาติ อยากให้มีต้นไม้ใหญ่ๆ ร่มรื่น แต่ก็อยากสบายด้วยแหละ เรียกว่าต้องขับรถไปถึงได้ง่ายๆ มีถนนคอนกรีต ไม่ต้องยุ่งยากมากเรื่อง เพราะคนเมืองอย่างผมคงมีเวลาไปบ้านในฝันที่ชอบๆ ได้แค่เดือนละวันสองวันเท่านั้น ไปถึงก็ไม่ควรจะต้องไปเก็บขี้จิ้งจกไล่ตุ๊กแกหรือตีงูใช่ไหม ผมควรได้เอนหลังจิบคอนญัก หรือไม่ก็ปิ้งบาร์บีคิวแกล้มเบียร์ พลางมองดูพระอาทิตย์ตกอยู่กับบ้านที่เรียกได้ว่าเป็นตัวกูของกู เอ๊ย! เป็น ‘ของของฉัน’ ไม่ใช่หรือ

ผมตระเวนไปดูหลายที่ ไม่ว่าจะเป็นชัยภูมิตรงแถวๆ อำเภอเทพสถิต ที่อากาศเย็นตลอดปี (เย็นกว่าเขาใหญ่อีก) แถมภูมิประเทศก็กว้างไกลสุดลูกหูลูกตา พาเพื่อนฝรั่งไปดู เพื่อนยังร่ำร้องไม่ขาดปากเลยว่า South of France (ใส่ ‘ๆ’ ให้ด้วยนะครับ เพราะเพื่อนพูดคำว่า South of France หลายครั้งมาก) แล้วก็ร่ำๆ ว่าจะซื้อที่ดินผืนหนึ่งซึ่งอยู่ติดกับลำธาร เจ้าของเป็นชาวไร่มันสำปะหลัง จะขายให้ในราคาไร่ละไม่กี่หมื่นบาท แถมยังเป็นแปลงเล็กแค่สิบกว่าไร่ด้วย ไม่ได้ใหญ่โตมโหฬารเป็นร้อยเป็นพันไร่เหมือนที่คนอื่นเขาซื้อกัน (เอ่อ…ผมได้ยินชื่อคนดังหลายคนว่ามาเป็นเจ้าของที่แถวนั้นด้วยนะคุณ)

แต่ที่สุด South of France ของผมก็หลุดมือไป ไม่ใช่อะไรหรอกครับ เพราะเอกสารสิทธิ์น่ะ มันไม่มี ที่มีอยู่รู้สึกว่าจะเป็น สปก. เล่นเอาผมขอถอยกรูด ที่จะสวยอย่างไร เป็นที่ในฝันแค่ไหน ผมคงไม่กล้าสู้หรอกนะครับ อยู่ไปก็ไม่สบายใจ ปล่อยให้ท่านๆ ที่มีอำนาจหน้าที่ซื้อกันไปเองดีกว่า

ว่าแล้วผมก็เลยเปลี่ยนไปดูที่เขาค้อ ก็อีกนั่นแหละ แม้เพื่อนคนเดิมไม่ได้ไปด้วย แต่ก็มีเพื่อนคนใหม่เสนอหน้ามาพูดว่า Switzerland (ใส่ ‘ๆ’ ให้ด้วยนะครับ เพราะพูดบ่อยไม่แพ้กัน) ผมก็เคลิบเคลิ้มเข้าให้ ยิ่งแวะเข้าไปดูที่ทำการไปรษณีย์ของเขาค้อด้วยแล้ว…มันแดนสวรรค์นี่หว่า แถมยังเป็นอำเภอด้วย เพราะฉะนั้นเราก็น่าจะซื้อได้ ที่ดินน่าจะมีเอกสารสิทธิ์เป็นโฉนด

แต่เอาเข้าจริง ที่บนเขาพวกนั้นเป็น ภบท. กันหมดเลยครับท่าน แม้จะมีรีสอร์ท มีบ้านเรือน มีอะไรต่อมิอะไรอยู่ แต่ก็อยู่ในฐานะผู้สืบทอดจากยุคที่ต้องต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ โดยนำคนขึ้นไปอยู่บนเขาแล้วสร้างเป็นอำเภอโน่น เพราะฉะนั้นผมจึงถอยกรูดมาอีกรอบ แม้ที่ดินที่มีขายจะราคาไม่แพงก็ตามที

บทสรุปก็คือ ผมได้ย้อนกลับไปยังที่ดินแรกที่พบ อันเป็นที่ดินมีโฉนดครบถ้วนถูกกฎหมายทุกประการ แม้จะไม่มีเงินสดพอซื้อ ต้องกู้เงินธนาคารมาซื้อ แต่ผมก็รู้สึกดีและอุ่นใจกว่าการซื้อที่ดินไร้เอกสารสิทธิ์ หรือมีเอกสารสิทธิ์ประเภทที่เลื่อนลอยจับต้องไม่ได้

ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ไม่ได้จะอวยว่าตัวเองเป็นคนดี ยอมเสียเงินแพงๆ ซื้อที่ดิน แทนที่จะไปบุกรุกยอดเขาหรอกนะครับ เพราะกรณีนั้นก็ว่ากันว่าเป็นคนดีอีกเหมือนกัน แต่ที่อยากบอกคุณก็คือ พวกคนเมืองน่ะมันมีปม เพราะแออัดยัดเยียดกันอยู่ในเมืองไร้ที่ว่าง ไม่มีที่โล่งให้สูดอากาศเหมือน อัลแบร์ต กามูส์ บอก ไม่มีสวนสาธารณะ ไม่มีต้นไม้ใหญ่ ไม่มีทางจักรยานอันร่มรื่น ไม่มีนั่น ไม่มีโน่น มีแต่นี่…เอ๊ย! หนี้

ผลก็คือ คนเมืองก็ต้องถวิลหาธรรมชาติ (ที่ตัวเองควบคุมได้) ด้วยปมอันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างไม่แพ้คนจนที่ก็ต้องถูกกล่าวหาว่าโง่ จน เจ็บ แล้วก็ขายที่ไร้เอกสารสิทธิ์ให้กับคนเมือง

มันคือปัญหาเรื่องโครงสร้างทั้งนั้นเลยนะครับ ปัญหาเชิงโครงสร้างไม่ได้เกิดกับคนจน คนชั้นล่างอย่างเดียวเท่านั้น แต่โครงสร้างสังคมไทยที่เป็นอยู่ มันทั้งผลักทั้งดันให้คนเมืองต้องเกิดอาการถวิลหาธรรมชาติ เสร็จแล้วก็ออกไปสูดอากาศ ไปกอดเมืองไทย ไปซื้อเมืองไทย ไปซื้อชนบท แต่อยากซื้อกันแบบถูกๆ ก็เลยเลือกที่ดินที่ไม่มีโฉนด ซึ่งก็สอดรับเป็นอันดีกับชาวบ้านที่ไร้ที่ทำกิน ไร้โอกาสในชีวิต จึงต้องบุกรุกป่า แล้วก็เอาที่พวกนี้มาขายให้คนเมือง

ปัญหาเรื่องที่ดินในฝันและที่ดินบุกรุกเหล่านี้จึงไม่ใช่ปัญหาที่จะแก้กันได้ง่ายๆ ด้วยการเอารถแบ็คโฮไปรื้อรีสอร์ตที่ไหน เช่นเดียวกันกับการอ้างว่าอยู่มานานหลายสิบปีในที่ที่รุกล้ำเขตอุทยาน และดื้อแพ่งจะอยู่ต่อไปด้วย

โครงสร้างสังคมนั้นทำหน้าที่ ‘ผลิตสำนึก’ ให้คนในสังคม ถ้าโครงสร้างดี สำนึกที่ดีก็จะเกิดขึ้น เรามักมองไม่เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างกันหรอกครับ แต่เรามองเห็นการกระทำที่สะท้อนออกมาจาก ‘สำนึก’ ได้ง่ายกว่า เมื่อเห็นดังนี้แล้ว เราจะสะท้อนกลับไปเห็นได้อีกชั้นหนึ่งว่าโครงสร้างของเราเป็นอย่างไร

ปัญหาเรื่องการรุกล้ำที่ดินจึงต้องร่วมกันทำและร่วมกันคิดอย่างอารยะ พร้อมๆ กับการปรับโครงสร้างของสังคมไปด้วย

หากไม่ทำเช่นนี้ ปมคนเมือง ปมคนชนบท ปมสีเสื้อ ปมอำนาจรัฐ และปมอื่นๆ ก็จะยังคงอยู่กับเราไปจนตลอดกาล

(เคาะโต๊ะสามครั้ง!)

***************************

(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก สิงหาคม 2555)

Author

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
หญิงแกร่งที่ทำงานทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านให้กับ WAY ถ้าเป็นนักฟุตบอลนี่คือผู้เล่นผู้จัดการทีมที่มีประสบการณ์ในสายงานข่าว ทั้งคลุกคลี สัมภาษณ์ บันเทิง ไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้การเป็นคุณแม่ซึ่งมีลูกสาวย่างเข้าวัยรุ่นยังช่วยส่งเสริมให้สามารถปั่นงานด้านเด็กและเยาวชนอย่างเชี่ยวชาญ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า