เรื่อง : อภิรดา มีเดช
กล่าวสำหรับคนมีเมนูสเต็กเนื้ออยู่ในหัวใจ โดยเฉพาะเนื้อสันนำเข้าจากต่างประเทศในแถบยุโรป ก่อนตัดและหั่นเพื่อส่งเข้าปากในคำถัดไป อาจต้องคิดให้มากขึ้น
เมื่อกลุ่มนักวิทยาศาสตร์สหรัฐนำโดย มาร์ค แลปป์ พบว่า ถั่วเหลืองจีเอ็มโอมีระดับ ไฟโตเอสโตรเจน ซึ่งเป็นสารต่อต้านโรคมะเร็ง น้อยกว่าถั่วเหลืองทั่วไปร้อยละ 12-14 แต่มี ไอโซฟลาโวน ซึ่งเป็นสารที่อาจทำให้เกิดความผิดปกติต่อผู้บริโภคในระยะยาวสูงกว่าปกติ
แล้วถั่วเหลืองมันเกี่ยวอะไรกับเนื้อ
มีอะไรใน…ทุ่งสังหาร
สารคดีสั้นเรื่อง ‘คิลลิงฟิลด์ส’ (Killing Fields: the battle to feed factory farms) โปรดิวซ์โดยกลุ่มเพื่อนโลก ฟู้ด แอนด์ วอเทอร์วอช และเวียคัมปาสินา ร่วมกับ อีโคโลจิสต์ ฟิล์ม เสนอเรื่องราวของเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองในละตินอเมริกาเพื่อส่งออกเป็นอาหารสัตว์ให้สหภาพยุโรป
เหตุที่ยุโรปไม่ปลูกพืชอาหารสัตว์เอง เพราะนำเข้าถูกกว่าเยอะ แถมยังช่วยกระจายรายได้ให้คนอเมริกาใต้อีก (ทั้งถูกเงินและได้หน้า)
รู้ไหมว่า ไร่ถั่วเหลืองสุดลูกหูลูกตาทำให้อะไรเกิดขึ้นบ้าง
ปารากวัย หนึ่งในประเทศส่งออกถั่วเหลือง สูญเสียพื้นที่ป่าไปแล้วกว่า 2.6 ล้านเฮกเตอร์ (ราว 1,625,000 ไร่) เพื่อปลูกถั่วจีเอ็มโอโดยเฉพาะ!
นอกจากชาวบ้านจำต้องถางป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกแล้ว ไร่ถั่วเหลืองยังใช้สารเคมีถึงปีละกว่า 20 ล้านลิตร
ไม่ใช่แค่โลกจะร้อนขึ้น แต่คนที่นั่นเขาอยู่กันไม่ได้แล้ว
กว่า 90,000 ครอบครัวรวมถึงเด็กๆ ที่นั่นได้รับผลร้ายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความผิดปกติแต่กำเนิด เจ็บป่วยกะทันหัน เป็นอัมพาต กระทั่งเสียชีวิตเพราะเข้าไปใกล้แหล่งเพาะปลูก น้ำในแหล่งน้ำใกล้เคียงเต็มไปด้วยสารเคมีปนเปื้อน ปลาลอยขึ้นมาตายเห็นๆ
หนังเรื่องนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อเปิดเผยและเรียกร้องให้ทางอียูทบทวนการสนับสนุนการนำเข้าพืชอาหารสัตว์จีเอ็มโอเปี่ยมสารเคมีป้อนอุตสาหกรรมฟาร์มสัตว์ใหญ่เล็ก (ตั้งแต่วัว หมู ไก่) ในยุโรป
มีสัญญาณร้ายจากจีเอ็มโอส่งมาเป็นระยะ ชาวอเมริกันผู้บริโภคอาหารจีเอ็มโอกันมาหลายชั่วอายุเริ่มแสดงอาการแพ้อาหารที่เคยกิน อาทิ แพ้ข้าวสาลี ถั่วลิสง และถั่วเหลือง นับแสนคนต่อปี
นอกจากนี้อาหารจีเอ็มโอยังเสี่ยงต่อการดื้อยาปฏิชีวนะ เนื่องจากส่วนใหญ่การตัดต่อยีน จะเลือกใช้ยีนที่มีความต้านทานยาปฏิชีวนะเป็นหลัก สมาชิกสมาคมการแพทย์อังกฤษกว่า 115,000 คน จึงเสนอรัฐบาลเพื่อยับยั้งการปลูกและนำเข้าอาหารจีเอ็มโอ
ชมเนื้อถิ่นอื่น
เนื้อที่เลี้ยงโดยวิถีธรรมชาติจนขึ้นชื่อลือชาระดับโลกทั้งรสชาติและราคาคงหนีไม่พ้น ‘เนื้อโกเบ’ จากแดนอาทิตย์อุทัย เคล็ดไม่ลับบอกไว้ว่าต้องเป็นโคพื้นถิ่นพันธุ์ขนดำหรือวากิวจากจังหวัดทาจิมะ ปัจจุบันอยู่ในเฮียวโกทางแถบคันไซ มีโกเบเป็นเมืองหลวง แต่ก่อนจึงเรียกเนื้อทาจิมะก่อนเปลี่ยนเป็นโกเบในที่สุด
โคที่นี่เลี้ยงกันฝูงละ 15 ตัวเป็นอย่างมาก ปัจจุบันญี่ปุ่นมีฟาร์มเลี้ยงเพียง 200 กว่าแห่ง (เดี๋ยวนี้เกษตรกรญี่ปุ่นในต่างประเทศนำโควากิวมาเลี้ยงแล้ว ทั้งในสหรัฐและออสเตรเลีย) พวกมันได้รับการดูแลเรื่องอาหารอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ช่วงเดือนเมษายนก็ได้กินเหล้าสาเกเพิ่มความอยากอาหาร ยังนำสาเกมาทาขนเพื่อให้ขนสลวย
นอกจากนี้ ทุกวันคนเลี้ยงยังต้องนวดแก้เมื่อยให้โคผ่อนคลาย เพราะเชื่อว่า ยิ่งโคอารมณ์ดีเท่าไหร่ เนื้อที่ได้จะมีคุณภาพดีขึ้นเท่านั้น
โคยิ้มในเมืองไทย
กลับมาดูสถานการณ์โคเนื้อในเมืองไทยบ้าง หลังอ้าแขนรับการค้าเสรี เกษตรกรไทยต้องสู้หลังชนฝากับเนื้อนำเข้า แต่หน่วยงานเกี่ยวข้องเล็งเห็นปัญหาจึงได้ตั้งโครงการสนับสนุนเกษตรกรท้องถิ่นผู้เลี้ยงโคพื้นเมืองขึ้น
โครงการนำร่องโดยทีมนักวิจัยจากศูนย์เครือข่ายเทคโนโลยีเนื้อสัตว์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่วมศึกษาวิจัยผลิตภัณฑ์ ใช้โรงฆ่าได้มาตรฐาน ยกระดับและพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์จากโคเนื้อทั้งสดและแปรรูป ได้แก่ เนื้อสไลซ์สำหรับชาบูชาบู ไส้กรอก แหนม ฯลฯ
เรียกได้ว่าเป็นโครงการดูแลสนับสนุนเกษตรกรตลอดห่วงโซ่การผลิต ทำให้เกษตรกรรายย่อยทั้งที่อุบลราชธานี และกาญจนบุรี มีความมั่นคงทางรายได้ เพิ่มความเข้มแข็งภายในกลุ่มและมีศักยภาพต่อรองกับตลาดมากขึ้น
ชื่อก็บอกแล้วว่าโคพื้นเมือง ฉะนั้นความทนทานต่อโรคสบายใจได้ ไม่จำเป็นต้องให้ฮอร์โมนและยาปฏิชีวนะใดๆ เลี้ยงแบบปล่อยฝูงหากินอิสระทั้งบนภูเขา ทุ่งชายเขา บริเวณนาข้าวอินทรีย์ จะเรียกว่า ‘โคธรรมชาติ’ หรือ ‘โคอินทรีย์’ ไม่เหมือนเลี้ยงแบบฟาร์มปิดกินอาหารสำเร็จ
ในกรุงเทพฯ สามารถหาเนื้อโคพื้นเมืองปลอดสารเคมีจากโครงการนี้ได้ที่ร้านฟาร์มช็อป คณะเทคโนโลยีการเกษตร ลาดกระบัง และร้านกรีนบีฟ ใกล้ตลาดพันธุ์ไม้ ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน
*******************************************
ขอบคุณ
รศ.ดร.จุฑารัตน์ เศรษฐกุล ศูนย์เครือข่ายเทคโนโลยีเนื้อสัตว์ คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ดาวน์โหลด ‘คิลลิงฟิลด์ส’ ความยาว 11 นาที ได้ฟรีและถูกกฎหมายที่ www.feedingfactoryfarms.org