ผมเป็นคนที่โคตรจะจนเลยครับคุณ!

 

1

ถูกแล้วครับ!

ทุกวันนี้ผมเป็นคนที่โคตรจะจนเลยครับคุณ

ความจนทำให้ผมไม่มีสง่าราศี แลดูซอมซ่อ จะพูดจะจากับใครก็ไม่รู้จะพูดด้วยเรื่องอะไร เพราะผมไม่มีทุนทรัพย์อะไรจะไปแลกเปลี่ยนใช้จ่ายกับใครเขา

ความจนของผมบังเกิดขึ้นถึงขีดสุด ก็เมื่อคลื่นวิทยุ FM 97.0 หายสาบสูญไปจากโลกวิทยุ

คุณอาจจะไม่รู้จักคลื่นนี้หรอกครับ แต่คลื่นนี้น่ะ ผมบอกคุณให้ตรงๆ ก็ได้ว่ามันเป็นคลื่นคนแก่ ตอนเช้าๆ เสาร์อาทิตย์ก็จะมีคน (ที่วัยรุ่นคงจีบปากบอกแก่กันว่า) แก่ อย่างคุณอารีย์ นักดนตรี, อาจารย์วีณา เชิดบุญชาติ, พี่ตุ้ม อนุรัชนี ศิริสัมพันธ์ หรืออาจารย์พูนพิศ อมาตยกุล (จริงๆ ท่านหลังเคยเป็นอาจารย์สอนผมสมัยเรียนด้วยนะคุณ!) มานั่งสนทนากัน ฟังแล้วสนุกและได้ความรู้ออก ส่วนตอนบ่ายๆ คุณสวลี ผกาพันธ์ ก็จะมาจัดรายการวิทยุ เปิดเพลงเก่าๆ ที่เพราะสุดๆ ให้ฟังกัน คุณเคยฟังไหมเล่า บางเพลงที่นักร้องยอดเยี่ยมแห่งประเทศไทยอย่างกันยารัตน์ กุยสุวรรณ ร้องน่ะ ผมไม่เคยฟังมาก่อน ก็ได้ฟังเป็นครั้งแรกจากคลื่นนี้นี่เอง

เมื่อก่อนผมก็ร่ำรวยของผมดีอยู่นะครับ เอาเป็นว่า สมัยก่อนน่ะ ผมรวยของผมถึงขีดสุดเลยล่ะคุณ เมื่อในตอนเช้าๆ ผมได้ตื่นขึ้นมาพร้อมกับเสียงนุ่มๆ ของเพลงคันทรี พร้อมกับเรื่องเล่าสุดวิเศษ

นี่ผมไม่ได้พูดเกินจริงนะครับ แต่การเล่าเรื่องประกอบกับเปิดเพลงของ นฤทธิ์ พันธุเมธา นั้น เขาได้ทำให้เพลงคันทรีที่เปิดในรายการ Morning Post กลายเป็นเพลงที่มี ‘อะไร’ อยู่ในนั้นมากกว่าแค่เพลง เรื่องที่เขาหยิบมาเล่าประกอบกับเพลง บางครั้งอาจเป็นเรื่องไม่แปลกใหม่ เป็นเรื่องเล่าธรรมดาคล้ายๆ กับเรื่องในหนังสือ Chicken Soup for the Soul ที่หลายคนอาจจะเหยียดริมฝีปากใส่เสียด้วยซ้ำว่า cliché แต่เชื่อหรือไม่ว่า เมื่อทั้งเพลงและเรื่องเล่ามาผสานเข้ากันผ่านการร้อยเรียงของนฤทธิ์ มันกลับสร้างสิ่งมหัศจรรย์ที่ผู้ฟังรายการของเขาล้วนเห็นพ้อง

ผมเคยนั่งน้ำตาไหลพรากกับเพลงของแพตตี้ เพจ เมื่อเขาเล่าเนื้อหาในเพลงให้ฟัง ประกอบกับเสียงร้องในวัยชราของเธอ จนเช้าวันนั้นทำอะไรแทบไม่ได้ เพราะตระหนักขึ้นมาในทันทีว่า โลกนี้ไม่มีอะไรจีรังยั่งยืนเลย

ใช่! ไม่มีอะไรจีรังยั่งยืนเลยครับ แม้กระทั่งรายการของนฤทธิ์เอง เพราะวันหนึ่งมันก็หายไป แล้วเราก็ทำอะไรไม่ได้

ยังดีที่มีความร่ำรวยอื่นมาทดแทน นั่นก็คือการเล่าเรื่องของบุตรของนายเฉลียวกับนางอำไพ คือมาโนช พุฒตาล มาทดแทน ที่ผมชอบที่สุด ก็คือการที่เขาเล่าเรื่องโน้นเรื่องนี้ แล้วพูดถึงหมอยข้าวโพดออกอากาศ ทั้งยังย้ำว่าพูดถึงหมอยข้าวโพด ไม่ใช่คำหยาบ แต่เป็นสิ่งที่ติดมากับพืช เข้าใจว่ากระทรวงวัฒนธรรมผู้ยากจนในความรุ่มรวยทางวัฒนธรรม (เฮ้อ! งงวุ้ย!) คงไม่ได้ฟัง ไม่อย่างนั้นรายการคงถูกสั่งให้ติดเรตหรือแบน หรือไม่ก็คงมีหมอกไปบังตึก

ผมชอบการเปิดเพลงของพี่ซัน แต่ไม่ได้ติดใจเพลงเหล่านั้นมากเท่าวิธีเล่าเรื่องของเขา โดยเฉพาะการเล่าเรื่องเพื่อน (ซึ่งพลอยทำให้ได้ยินชื่อของวรพจน์ พันธุ์พงศ์ แทบทุกวันไปด้วย) เป็นวิธีเล่าที่เรียบๆ แต่โคตรสนุก ฟังแล้วติดหนับ ยิ่งเมื่อเขาเล่นดนตรีสดๆ ประกอบเพลง บางครั้งเผลอคิดไปว่า กีตาร์ที่เขาเล่นมันเจ๋งกว่าที่ได้ยินอีริค แคลปตัน เล่นเสียอีก (ว่าเข้านั่น!) แต่ก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ

คลื่นเดียวกันนี้ยังมีความเจ๋งซ่อนอยู่อีกหลายคน ไม่ว่าจะเป็นพี่หมึก-วิโรจน์ ควันธรรม, น้องเปียโน, พิทยากร ลีลาภัทร์ แต่ที่เด็ดขาดที่สุด เป็นตัวของตัวเองที่สุด และผมติดใจจนต้องยอมนอนดึกเปิดฟังที่สุด ก็คือป้าแต๋ว-วาสนา วีระชาติพลี เมื่อได้ยินครั้งแรก ผมกำลังขับรถอยู่กับเพื่อนสาวคนหนึ่ง เธอแทบจะร้องกรี๊ด สั่งให้ผมกดเปิดซันรูฟหลังคารถ แล้วก็เกือบจะยื่นหัวออกไปนอกรถ บอกว่าอยากให้เราพากันขับรถไปพัทยาเหมือนสมัยยังหนุ่มยังสาวกันอยู่

“ฟังป้าแต๋วแล้วเธอไม่รู้สึกยังงั้นมั่งเหรอ” แววตาของเธอเหมือนมีไฟขึ้นมาอีกครั้ง มันร้อนแรงเหมือนกับเธอกลับมาเป็นสาวอีกหน เหมือนตอนเราอยู่มัธยมปลาย ฟังคลื่นไนท์สปอต แย่งกันโทรศัพท์ไปตอบปัญหาภาษาอังกฤษกับป้าแต๋วว่าคำว่า regime มันแปลว่าอะไร แล้วก็ตอบผิด ถูกป้าแต๋วด่ากลับมาจนจ๋อย แต่ก็ทำให้ได้ความรู้ภาษาอังกฤษเพิ่ม เสร็จแล้วก็หัวเราะกันครื้นเครง

เมื่อป้าแต๋วหายไปจากวงการวิทยุ ผมอาจไม่รู้สึกอะไรนัก แต่กับเพื่อนคนนี้ เหมือนความรุ่มรวยของชีวิตส่วนหนึ่งในตัวเธอได้สูญสิ้นไปด้วย การกลับมาของป้าแต๋วจึงเหมือนการเติมฟืนไฟขึ้นมาอีกครั้ง

แต่แล้วอะไรๆ ก็หายไป

2

ทุกวันนี้ ผมพอมีพอกินอยู่ได้กับอีกสองรายการที่ยังเหลืออยู่ นั่นก็คือรายการชื่อ Dreams and Memories ของคุณลำพูน ทางคลื่น 98.5 ในตอนบ่ายวันอาทิตย์ ที่เธอจัดมาแล้วเป็นเวลากว่า 20 ปี รายการนี้จะเปิดเพลงสแตนดาร์ด โดยเฉพาะ jazz vocal เป็นหลัก เพราะคนโปรดของคุณลำพูนก็คือ ‘โอลด์บลูอายส์’ หรือแฟรงค์ ซินาตรา นั่นเอง เธอจะจัดตั้งแต่บ่ายโมงจนถึงหกโมงเย็น ซึ่งนับว่ายาวนาน แต่จะมีการแบ่งเป็นช่วงๆ ช่วงละ 1 ชั่วโมง

ช่วงโปรดของผมก็คือช่วงเวลาราวๆ บ่าย 4 โมงถึง 5 โมงเย็น เพราะมักเป็นช่วงที่เธอนำเอาประวัติชีวิตของนักร้องหรือนักแต่งเพลงคนใดคนหนึ่งมาร้อยเรียงเข้าด้วยกัน เช่นถ้าถึงวาระวันเกิดของใคร ก็จะนำเสนอเรื่องราวของคนคนนั้น ทำให้เราได้ฟังเรื่องราวและน้ำเสียงของคนคนนั้นอย่างเต็มอิ่ม

จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของรายการนี้ก็คือการนำเพลงเดียวกันแต่ร้องโดยนักร้องหลายๆ คนมาเปิดต่อกัน เช่นเพลง Over the Rainbow ที่ร้องโดยนักร้องหลากหลายทั้งเก่าใหม่ เมื่อนำมาเปิดต่อๆ กัน เราก็จะเห็นการตีความที่หลากหลายต่อเนื่อง และเห็นการถ่ายทอดและความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมดนตรีของผู้คนในโลกตะวันตก เป็นต้น

ฟังแล้วก็พลอย ‘รุ่มรวย’ ไปกับเขาด้วย!

อีกรายการหนึ่ง ก็คือรายการเพลงคลาสสิกของคุณสีส้ม เอี่ยมสรรพางค์ ทางคลื่นวิทยุจุฬาฯ ตอนค่ำๆ ของทุกวัน ซึ่งผมชอบชื่อรายการมาก ไม่ว่าจะเป็น ‘ดนตรีสโมสร’ อันมีจุดมุ่งหมายคล้ายๆ กับเป็นการฟังดนตรีหลังอาหารค่ำ มานั่งสูบซิการ์ ดื่มไดเจสติฟ พูดคุยดื่มด่ำ แล้วก็ฟังดนตรีที่ไม่ ‘ซีเรียส’ มากนักคลอไป ถัดจากนั้นก็เป็น ‘ดนตรีวิศิษฏ์’ (ไม่แน่ใจว่าใช้คำนี้ถูกไหม แต่คำนี้แปลว่า ดนตรีอันเป็นเลิศ ซึ่งก็น่าจะตรงกับสิ่งที่ทางรายการต้องการสื่อสาร) ซึ่งเป็นการนำเสนอดนตรีคลาสสิกประเภท ‘ซีเรียส’ หน่อย ทั้งยังมีการอธิบายประกอบด้วย ทำให้เราได้เรียนรู้ เปิดกว้าง และเหมือนได้เก็บเกี่ยวดอกเบี้ยจากการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ต่างประเทศไม่มีผิด!

3

อย่างไรก็ดี เมื่อทอดตามองสังคมไทยโดยทั่วไป เราจะเห็นว่า สังคมไทยของเรานั้นเป็นสังคมไทยที่ร่ำรวยเสียเหลือเกินอยู่แล้ว เราช่างมีโภไคยสวรรย์ธนสินไอศุริยสมบัติโภคะพัสถานสวรรยาอันวิจิตรสมบูรณ์สถาพรยิ่งกว่าชนชาติอื่นอยู่แล้ว ไม่จำเป็นเลยที่คนไทยจะต้องไปกระเดียดรับเอาวัฒนธรรมของคนชาติอื่นๆ มาหาบเพิ่มเข้าไปอีก

เราต้องต่อต้านวัฒนธรรมจากภายนอก ปกป้องวัฒนธรรมไทยกันอย่างสุดฤทธิ์สุดเดชสุดลิ่มทิ่มประตู ช่วยรัฐผลิตวัฒนธรรมไทยอันดีงาม และในเวลาเดียวกัน ก็ช่วยทุนนิยมไทยปกป้องทรัพย์สมบัติชาติ ด้วยการเหยียดหยันวัฒนธรรมต่างชาติเอาไว้ก่อนว่า มีหรือจะสู้ของไทยได้ ส่วนไอ้ที่ดีเกินเหตุ ก็ทำให้มันเกินเอื้อม ต้องไต่กระไดฟังไปเสียเลย หรือถ้ามีทีท่าประหลาดๆ หน่อย ก็ทำให้มีหลุดโลกประหลาดจนน่าจะปลาตให้พ้นเขตแดนไปให้หมด

โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง-ก็เรารวยอยู่แล้วนี่นา จะไปแคร์ทำไมกับไอ้ของพวกนี้

มาดูละครหลังข่าวกันเต๊อะ!

4

แล้วทำไมผมถึงรู้สึกจ๊นจน!

ถ้าตื่นขึ้นมาตอนเช้า ผมได้ฟังเพลงคันทรีของคุณนฤทธิ์ให้ชุ่มใจ สายหน่อยได้ฟังเรื่องเล่าของพี่ซันกับเพลงร็อค เที่ยงๆ ฟังสาระความรู้กับทีมงานของอาจารย์วีณาสลับกับเพลงเก่าของคุณสวลี พอตกบ่ายได้ยินโอลด์บลูอายส์เสียหน่อย หรือตกเย็นคึกคักกับป้าแต๋ว แล้วค่ำๆ ก็มีดนตรีคลาสสิกดีๆ ฟัง

ผมคิดว่าตัวเองคงจะรวยกว่านี้เยอะ

ผมอยากรวยครับพี่น้อง!

 

********************************

(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ในคอลัมน์ cramp นิตยสาร way กันยายน 2551)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า