เจ็บแล้วไม่จำ – รู้ว่าเขาหลอก แต่เต็มใจให้หลอก – ช่างมัน ฉันไม่แคร์ ฯลฯ เป็นพฤติกรรมที่ฝังอยู่ในสายเลือดของผู้บริโภคส่วนใหญ่ ซึ่งยอมถูกเอารัดเอาเปรียบจากการซื้อสินค้าหรือบริการที่ไม่เป็นธรรม จนปัญหาเหล่านี้กลายเป็นเรื่องปกติที่ผู้คนรู้สึกชินชา คิดเสียว่าแล้วแต่บุญแต่กรรม ตาดีได้ ตาร้ายเสีย
ข้อสังเกตข้างต้นนี้ ไม่ผิดไปจากข้อเท็จจริงเท่าใดนัก เพราะจากการสำรวจสถานการณ์ของผู้บริโภค ปี 2555 ได้ข้อสรุปไปในทิศทางเดียวกันว่า สถานะของพฤติกรรมผู้บริโภคยังน่าเป็นห่วง มีจุดอ่อนและช่องโหว่ที่ทำให้ถูกเอาเปรียบได้ง่าย
ช่วงต้นปีที่ผ่านมา แผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) และเครือข่ายเภสัชกรคุ้มครองผู้บริโภค เผยผลสำรวจพฤติกรรมของผู้บริโภคใน 19 จังหวัด ผ่านแบบสอบถามทั้งสิ้น 1,140 ชุด พบข้อมูลที่น่าสนใจ เช่น ผู้บริโภคชาวไทยส่วนใหญ่มีความรู้เรื่องสิทธิเป็นอย่างดี รู้ว่าตนเองมีอิสระในการเลือกซื้อสินค้าหรือบริการ รู้ว่าตนเองมีสิทธิ์ที่จะได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าประเภทนั้นๆ รู้ว่าตนเองมีสิทธิ์ที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้า ความเป็นธรรมในการทำสัญญา รวมถึงสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาชดเชยความเสียหาย โดยเฉพาะความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพที่ถือว่าอยู่ในระดับที่ดีถึงดีมากเลยทีเดียว
แต่ที่น่าสลดใจก็คือ แม้ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะรับรู้รับทราบในสิทธิอันพึงมีของตนเองแล้ว แต่ก็พร้อมที่จะถูกหลอก โดยพบว่ามีผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากสินค้าและบริการที่ไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สุขภาพ เช่น ยาและอาหาร จำนวน 4 ราย เสียชีวิตไปแล้ว 3 ราย และเจ็บป่วย 1 ราย
หันมาดูในแง่ของพฤติกรรมการบริโภคอาหารประเภทไร้คุณค่าทางโภชนาการก็ยังมีสัดส่วนที่สูงมาก ได้แก่ อาหารที่มีไขมันสูง น้ำอัดลมและน้ำหวาน ขนมกรุบกรอบ โดยมีผู้นิยมบริโภคสูงถึง 95.44 เปอร์เซ็นต์ 82.1 เปอร์เซ็นต์ และ 72.81 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ
ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคที่มีพฤติกรรมการบริโภคผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขภาพและบริการสุขภาพอย่างถูกต้องมีเพียง 3.77 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
เมื่อพิจารณาถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคในการรับมือและแก้ปัญหาจากการใช้สินค้าและบริการที่ไม่เป็นธรรมเพื่อปกป้องสิทธิของตนเอง โดยไล่เรียงตามระดับของความตื่นตัว สามารถจำแนกได้ดังนี้
- 19.1 เปอร์เซ็นต์ เลือกที่จะไม่ทำอะไรเลย
- 2 เปอร์เซ็นต์ โทรศัพท์ไปต่อว่าร้านค้า
- 53.9 เปอร์เซ็นต์ ขอคืนสินค้าและเปลี่ยนสินค้าใหม่
- 7.2 เปอร์เซ็นต์ ขอคืนสินค้าและขอให้ร้านค้าชดเชย
- 14.2 เปอร์เซ็นต์ ขอคืนสินค้าและแจ้งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) หรือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อปกป้องมิให้ผู้อื่นต้องประสบปัญหาเช่นเดียวกับตนเอง
- 3.6 เปอร์เซ็นต์ เลือกวิธีอื่นๆ
จากผลสำรวจครั้งนี้ทำให้ได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า แม้ผู้บริโภคชาวไทยจะมีความรู้ด้านสิทธิของตนเองในเกณฑ์ที่ดี แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่ตระหนัก และยังยอมเสี่ยงที่จะใช้สินค้าหรือบริการที่มีปัญหาเหล่านั้นต่อไป ขณะที่การปกป้องสิทธิก็เป็นไปในลักษณะตัวใครตัวมัน และบางส่วนก็ยอมถูกละเมิดสิทธิ์ ซึ่งสะท้อนได้ว่ากลไกในการคุ้มครองผู้บริโภคยังมีช่องโหว่ที่ต้องเติมเต็ม
ตัดตอนองค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค
‘องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค’ เป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยอุดช่องว่างทางความรู้และสร้างภูมิคุ้มกันให้กับผู้บริโภค ซึ่งรัฐธรรมนูญทั้งในฉบับ 2540 และ 2550 ต่างให้ความสำคัญกับการตั้งองค์การดังกล่าว เพื่อให้เป็นหน่วยงานในการปกป้องดูแลผู้บริโภคไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ มีหน้าที่กำหนดนโยบาย ให้ความเห็นในการออกฎหมายและมาตรการต่างๆ โดยมีร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ถูกเสนอโดยภาคประชาชนตั้งแต่ปี 2541
แต่ผ่านมาแล้ว 15 ปี ก็ยังไม่สามารถจัดตั้งได้ สวนทางกับปัญหาการละเมิดสิทธิผู้บริโภคที่นับวันก็ยิ่งรุนแรง ผ่านเล่ห์กลการโฆษณาที่ซับซ้อนแยบยลมากขึ้น
เดิมทีร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระฯ ได้ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาและวุฒิสภาเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อช่วงปี 2554 แต่เมื่อส่งคืนเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2555 ปรากฏว่าไม่ผ่านความเห็นชอบ และมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมของรัฐสภาเพื่อพิจารณาใหม่ ทำให้องค์กรภาคประชาชนหวั่นวิตกว่าอาจมีการใช้อำนาจทางการเมืองเข้าแทรกแซง หรือมีความพยายามลดบทบาทของคณะกรรมการองค์การอิสระฯ เนื่องจากองค์การอิสระฯ จะมีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบภาคเอกชนและภาคธุรกิจ รวมถึงการเปิดเผยชื่อสินค้าหรือบริการที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภค ซึ่งจะนำไปสู่การดำเนินคดีคดีอาญาหรือคดีแพ่งต่อไป
ด้วยเหตุนี้ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) จึงได้เสนอความเห็นและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีให้เร่งรัดการตรา พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ตามมาตรา 61 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นหลักประกันแก่ผู้บริโภค และเห็นควรให้มีการแก้ไขเพิ่มเติม โดยปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการให้มีตัวแทนผู้บริโภคในสัดส่วนที่เหมาะสม และเสนอให้เพิ่มเพดานบทลงโทษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีผู้ประกอบธุรกิจที่ก่อปัญหาซ้ำซาก รวมถึงมีข้อเสนอแนะอื่นๆ ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 5 แล้วที่ได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี แต่กลับยังไม่มีการตอบรับที่ชัดเจน
เมื่อการตรากฎหมายเพื่อรองรับการจัดตั้งองค์การอิสระฯ ถูกแช่แข็ง สิทธิของผู้บริโภคที่สมควรได้รับการคุ้มครองจึงถูกละเลยและมองข้าม ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 61 ที่ระบุว่า
สิทธิของบุคคลซึ่งเป็นผู้บริโภคย่อมได้รับการคุ้มครองในการได้รับข้อมูลที่เป็นความจริง และมีสิทธิร้องเรียนเพื่อให้ได้รับการแก้ไขเยียวยาความเสียหาย รวมทั้งมีสิทธิรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ให้มีองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนผู้บริโภค ทำหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานของรัฐในการตราและการบังคับใช้กฎหมายและกฎ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ ให้รัฐสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการขององค์การอิสระดังกล่าวด้วย
สุดท้ายแล้ว การจัดตั้งองค์การอิสระฯ จึงตกอยู่ในวังวนของการช่วงชิงอำนาจ หรือกระทั่งอาจถูกตัดตอนจนกลายเป็นองค์กรที่ไม่อิสระในที่สุด