พระเจ้าแห่งดาวดวงใหม่

เรื่อง : ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ,ปานใจ ปิ่นจินดา

 

ทวนเข็มนาฬิกา

หากใครกำลังมองหาหน้าสำคัญของประวัติศาสตร์เครือข่ายสังคมออนไลน์ที่แรงไม่หยุด ฉุดไม่อยู่ของโลกอย่าง “เฟซบุ๊ค” จงพลิกด่วนจี๋ไปยังที่คั่นในหน้าซึ่งระบุวันเลขสวยอย่าง 4 กุมภาพันธ์ ปี 2004

ภายในหอพักของนักศึกษามหาวิทยาลัยฮาวาร์ด มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ในวัย 19 ชายผู้พลิกโฉมความสัมพันธ์ของคนบนโลก จากรูปแบบดั้งเดิม มาสู่การขยายเครือข่ายสังคมจากเพื่อนสู่เพื่อนอีกหลายๆ คน และ จากเพื่อนหลายๆ คน ไปสู่อีกหลายๆๆๆๆๆๆ คน

โลกใหม่ซึ่งมาร์คสร้างขึ้นใบนี้กินพื้นที่ไม่เกินไปกว่าหน้าจอสี่เหลี่ยม แต่กลับสามารถเชื่อมโยงเอาคนจากทั่วทุกมุมโลกหลอมรวมไว้ด้วยกัน

“เดอะเฟซบุ๊ค” คือชื่อเริ่มแรกของมันก่อนที่จะถูกตัด “เดอะ” ออกเหลือเพียง “เฟซบุ๊ค” ในปีถัดมา

นึกกลับไปในช่วงชีวิตวัยเฟรชชีในรั้วฮาร์วาร์ด มาร์คเล่าว่า โดยปกติแล้วเด็กฮาร์วาร์ดชอบที่จะนั่ง ถกกันถึงเรื่องราวสำคัญๆ ที่เปลี่ยนแปลงหรือมีบทบาทต่อโลก และแน่นอนว่าทุกคนต่างก็มีฝันอยากจะทำอะไรสักอย่างที่ยิ่งใหญ่และมีความหมายต่อโลกกลมๆ ใบนี้ ไม่มุมใดก็มุมหนึ่ง

และเรื่องหนึ่งที่พวกเขามักจะถกกันเสมอๆ ก็คือแนวโน้มที่ว่าโลกกว้างใหญ่ใบนี้กำลังเข้าสู่ยุคของการเปิดกว้างทางข้อมูล แต่ในขณะเดียวกันผู้คนก็ยังกังวลเกี่ยวกับข้อมูลของตนที่จะถูกเผยแพร่ออกไป ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลทั่วๆ ไป ข้อมูลส่วนตัว ตลอดจนชื่อเสียงทั้งทางดีทางร้ายที่เกี่ยวข้องกับตัวเขาซึ่งเสี่ยงที่จะเผยแพร่ไปโดยเจ้าตัวไม่ได้ต้องการ

ทางออกง่ายๆ ก็เพียงแค่ว่า หาเครื่องมืออะไรสักอย่างหนึ่งที่ทำให้ผู้คนสามารถควบคุมการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของตัวเองได้.. ก็เท่านั้นเอง

และนั่นก็คือไอเดียเริ่มต้นก่อนที่จะได้พัฒนามาสู่หน้าสำคัญในประวัติศาสตร์ออนไลน์

 

 

บทแรกแห่งตำนาน

ถ้าจะให้เจาะจง ลงไปที่จุดเริ่มต้นของเฟซบุ๊คชนิดที่จับต้องได้ ก็ต้องย้อนกลับไปในตอนที่หนุ่มมาร์คปิ๊งไอเดียสร้างเวบไซต์ “เฟซแมช” (www.facemash.com) ขึ้นมาเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2003 โดยเขาแฮ็คเข้าไปยังฐานข้อมูลของหอพักทั้งเก้าหลังของฮาร์วาร์ดเพื่อนำเอารูปสาวๆ ออกมาเปิดโหวตให้คนเข้ามาเลือกว่าใครเด็ดกว่ากัน (Hot or Not)

เพียงแค่สี่ชั่วโมงแรก เฟซแมช เรียกความสนใจจากนักศึกษาฮาร์วาร์ดให้เข้ามาชมและบอกต่อไปแล้วถึง 450 คน มีการเปิดดูรูปภาพและกดโหวตไปแล้วถึง 22,000 ครั้ง

ถึงแม้ว่าหลังจากนั้นไม่กี่วันเฟซแมชจะต้องปิดตัวลง พร้อมทั้งมาร์คเองก็ถูกนำตัวไปไต่สวนต่อหน้าคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย เขาถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนความปลอดภัยของระบบคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัย ฝ่าฝืนกฎความเป็นส่วนตัวของบุคคลในอินเทอร์เน็ต และฝ่าฝืนทรัพย์สินทางปัญญา ทำให้มาร์คโดนภาคทัณฑ์ โทษฐาน “ประพฤติตนทางสังคมไม่เหมาะสม”

วีรกรรมครั้งนั้น ทำให้มาร์คเป็นที่โจษจันไปทั่วทั้งในเรื่องความเป็นอัจฉริยะทางคอมพิวเตอร์ของเขา และ เรื่องการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลไปพร้อมๆ กัน

ถึงแม้ว่าหลายเสียงจะบอกว่ามาร์คโชคดีสุดๆ ที่ไม่โดนไล่ออก แต่ก็ต้องถือว่าการถูกภาคทัณฑ์ซึ่งมาร์คได้รับจากการเป็นนักศึกษานอกคอก ประพฤติตัวออกนอกลู่นอกทางในครั้งนั้น ค่อนข้างรุนแรง ถ้าเทียบกับคนอื่นๆ ในฮาร์วาร์ดซึ่งมีแต่จะพยายามทำตัวดีมีสาระ แต่มันก็ไม่ได้ทำให้หนุ่มคนนี้ใจฝ่อหรือล้มเลิกความเชื่อเรื่องการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวบนที่สาธารณะเลย

จะว่าไปแล้ว ดูเหมือนว่าเขาจะยิ่งเชื่อมั่นในความคิดเดิมเข้าไปอีก ถึงขนาดที่ภายหลังตัวเขาได้ประกาศให้โลกรับรู้ว่า “ยุคแห่งความเป็นส่วนตัวได้สิ้นสุดลงแล้ว” เสียด้วยซ้ำ

ในสายตาของหลายๆ อาจจะมองว่า “เฟซแมช” เป็นแค่เรื่องสนุกของเด็กเนิร์ดผู้อยากจะลองของ แต่มันก็ได้จุดประกายให้มาร์คคิดถึงเรื่องของ “เฟซบุ๊ค” อย่างจริงๆ จังๆ

 

 

สู่จุดเริ่มต้น

มาร์คเริ่มต้นเขียนโค้ดสำหรับเวบในฝันของเขาราวกลางเดือนมกราคม ปี 2004 ใช้เวลาเพียงสองสัปดาห์ก็ได้ฤกษ์เปิดตัว “เดอะเฟซบุ๊ค” ทางเวบไซต์ thefacebook.com เมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2004

ที่มาของชื่อ “เดอะ เฟซบุ๊ค” มาร์คนำมาจากชื่อเรียกของหนังสือรวบรวมรายชื่อ ข้อมูล นักศึกษาและทีมงานในฮาร์วาร์ด ซึ่งจะแจกให้กับน้องใหม่ทุกๆ คน
มาร์คบอกว่าจุดเริ่มต้นของเฟซบุ๊คที่เขาคิดไว้นั้น “มันเป็นอะไรที่เล็กน้อยมาก” เพราะเขาแค่อยากจะให้นักศึกษาฮาร์วาร์ดได้มีที่ในการพบปะแชร์ข้อมูลผ่านช่องทางออนไลน์ กับเพื่อนฝูงและครอบ ครัวได้ โดยตัวเลขจำนวนผู้ใช้ที่มาร์คคิดเล่นๆ ไว้ในใจอยู่ที่แค่ 6 พันคนเท่านั้น

แต่ทำไปทำมาสิ่งที่พวกเขาค้นพบกลับเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะกลายเป็นว่า ไม่ใช่แค่นักศึกษา ฮาร์วาร์ดเท่านั้นที่มีความต้องการเช่นนี้ หากแต่เป็น “ทุกคนบนโลกใบนี้” ต่างหากที่ต้องการจะแชร์ข้อมูล แสดงออกถึงเรื่องราว และตัวตนของพวกเขา

“ความเจ๋งของมันอยู่ที่ เรามีโอกาสออกแบบ จัดลำดับความสำคัญ จัดเรียงข้อมูลเองได้ ซึ่งผมกับ เพื่อนๆ เคยคุยกันไว้ตั้งแต่ 5 ปีที่แล้ว ว่าจะต่อจากนี้จะเป็นยุคของข้อมูลข่าวสารที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้นและมากขึ้นแล้วผู้คนก็จะมีสิทธิจัดการควบคุมข้อมูลเหล่านั้นได้” มาร์คเล่าย้อนไปถึงช่วงปีที่เขาคิดค้นเฟซบุ๊ค

ในระยะเริ่มแรก เดอะ เฟซบุ๊ค ถูกกระจายส่งต่อไปในหมู่นักศึกษาฮาร์วาร์ดอย่างรวดเร็ว โดยมียอดลงทะเบียนมากถึง 1,200 รายชื่อ ภายใน 24 ชั่วโมง และในเดือนแรกของการเปิดตัว เดอะ เฟซบุ๊ค ปรากฏว่ามีเด็กฮาร์วาร์ดมาสมัครแล้วกว่าครึ่งของจำนวนนักศึกษาที่เรียนอยู่ทั้งหมด

และนักเรียนระดับหัวกะทิของฮาร์วาร์ดเหล่านี้เอง ที่เป็นแม่เหล็กชั้นดีที่ช่วยทวีคูณแรงส่งให้เครือข่ายสังคมนี้แผ่ขยายต่อไปยังอีกหลายๆ มหาวิทยาลัย ก่อนจะกระจายตัวออกสู่สาธารณะในวงกว้างอย่างรวดเร็ว

 

หมดเวลาของเด็กๆ

จากฮาร์วาร์ด สู่สแตนฟอร์ด โคลัมเบีย เยล และต่อด้วยในมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในกลุ่มไอวีลีก บอสตัน นิวยอร์ก เอ็มไอที ก่อนจะออกโลดแล่นไปสู่มหาวิทยาลัยอื่นๆ ทั่วทั้งสหรัฐอเมริกา และ แคนาดา

ตอนนั้นเองที่มาร์คเริ่มมองเห็นอนาคตของเฟซบุ๊คว่าเกินกว่าที่เขาและเพื่อนๆ ที่ร่วมก่อตั้งเฟซบุ๊คด้วยกันมา คือ เอดวาร์โด เซเวอรีน, ดัสติน มอสโควิตซ์, แอนดรูว์ แม็คคอลลัม และ คริส ฮิวจ์ส จะทำกันเองในหอพักมหาวิทยาลัยอีกต่อไปแล้ว

ความคิดที่จะต้องดำเนินการในรูปของบริษัทให้เป็นเรื่องเป็นราวจึงเกิดขึ้น โดยผู้จุดประกายไอเดียให้แก่มาร์ค คือ ฌอน ปาร์คเกอร์ ผู้ร่วมก่อตั้งเวบไซต์ซึ่งพลิกโฉมวงการเพลงของโลกไปตลอดกาลอย่าง “แนปสเตอร์” ที่แม้ว่าในท้ายที่สุดแนปสเตอร์จะต้องหยุดการเปิดให้แชร์ไฟล์เพลงฟรีตามคำสั่งศาล และลดบทบาทในวงการเพลงลงไปมาก แต่ความยิ่งใหญ่ของการเป็น “คนนอกกรอบ” ของทั้งปาร์คเกอร์ และ ชอว์น แฟนนิง ซึ่งเป็นต้นคิดแนปสเตอร์ นั้นยังไม่จบลง แถมยังดูเหมือนว่าจะเป็นที่ประทับอกประทับใจของหนุ่มมาร์คเสียด้วยซ้ำ

ในการพบกันเพียงสั้นๆ ฌอน ได้ทิ้งไอเดียเรื่องการย้ายมาอยู่ที่แคลิฟอร์เนีย ซึ่งตัวมาร์คเองก็ดูจะเห็นด้วยและเก็บเอาไปคิดอย่างจริงจัง ทั้งเรื่องการตั้งบริษัท และ เรื่องการย้ายไปอยู่ยังที่ที่บริษัทไอทียักษ์ใหญ่ของโลกสถิตอยู่กันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง อย่างซิลิคอน วัลเล่ย์ ณ เมืองพาโล อัลโต แคลิฟอร์เนีย

ในที่สุด มาร์ค ก็ตัดสินใจใช้เวลาช่วงซัมเมอร์  ยกพลหอบเอาเฟซบุ๊คไปยังบ้านใหม่ใน พาโล อัลโต แคลิฟอร์เนีย ในเดือนมิถุนายน 2004

ช่วงเวลาสั้นๆ เพียงหนึ่งซัมเมอร์นอกรั้วฮาร์วาร์ด ของมาร์ค และ เพื่อนๆ นั้น ถือว่าเป็นจุดพลิกผันที่สำคัญต่อหน้าประวัติศาสตร์โลกยุค 3.0 อย่างแท้จริง

 

บ้านใหม่ในพาโลอัลโต

ณ บ้านหลังใหม่ ในเมือง พาโล อัลโต นั่นเองที่ทำให้ มาร์ค ได้หวนกลับมาพบกับ ฌอน อีกครั้งโดยบังเอิญ แล้วก็บังเอิญหนักขึ้นไปอีกเมื่อ ฌอน ไม่ได้มีอพาร์ทเมนท์อยู่ที่นั่น และก็เป็นมาร์ค ที่เอ่ยปากชวนฌอน ให้มาอยู่ด้วยกัน

การเข้ามาของฌอน ปาร์คเกอร์ ในครั้งนี้ไม่ได้มาแต่ตัว หากเจ้าพ่อแนปสเตอร์รายนี้ยังนำเอาไอเดียล้นพกมาเต็มห่อ พร้อมความตื่นตัว กระปรี้กระเปร่า และเรื่องเล่ามากโขเกี่ยวกับการสร้างตัวเองของบรรดาคนรุ่นใหม่ทั้งหลายว่าจะต้องพบเจออะไรบ้าง แถมยังคุยโม้อีกสารพัด จนหนุ่มน้อยอย่างมาร์คตกหลุมหลงเชื่อทุกคำพูดของฌอนอย่างสนิทใจ แถมยังยกตำแหน่งประธานบริษัทคนแรกของ เฟซบุ๊ค อิงค์ ให้กับ ฌอน อีกด้วย

(ฌอน ปาร์คเกอร์ ได้นั่งเก้าอี้ ประธาน เฟซบุ๊ค อิงค์ แค่ระยะเวลาสั้นๆ ก่อนจะต้องจำใจลาจากเฟซบุ๊คไป เนื่องจากถูกตำรวจจับและดำเนินคดีในข้อหายาเสพติด)

แม้จะขี้คุย ขี้โม้ ในหลายๆ เรื่อง แต่ ฌอน ปาร์คเกอร์ ก็คือคีย์แมนตัวสำคัญที่ช่วยให้เฟซบุ๊คหาแหล่งทุนก้อนแรกได้ โดยเขาช่วยนัดให้มาร์ค เข้าพบกับ ปีเตอร์ ธีล ผู้ร่วมก่อตั้งเวบไซต์อีคอมเมอร์ซยักษ์ใหญ่อย่าง เพย์พาล (PayPal) และยังเป็นประธานเฮดจ์ฟันด์นามว่า คลาเรียม แคปิตอล

แค่เวลา  15 นาทีของการอธิบายแนวคิดคอนเซปท์ของเฟซบุ๊ค ธีลก็เข้าใจแจ่มแจ้ง และ มาร์ค ก็ได้ในสิ่งที่เขาต้องการ คือ เม็ดเงินลงทุนมูลค่า 5 แสนดอลลาร์สหรัฐ พร้อมกับการได้ย้ายเข้าไปตั้งออฟฟิศในสถานที่ที่เขาใฝ่ฝัน อย่างซิลิคอน วัลเล่ย์

 

 

ลาก่อนฮาวาร์ด

ในช่วงเวลาของการปักหลักที่บ้านใหม่อย่าง พาโล อัลโต เฟซบุ๊คก็ได้มีการขยับขยายทั้งจำนวนผู้ใช้งานที่ใกล้จะถึงล้านเข้าไปทุกที พร้อมๆ กันนั้นก็ได้มีการจดทะเบียนตั้งบริษัทอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ในชื่อ “เฟซบุ๊ค อิงค์” แล้วก็เริ่มมีการจ้างงานโดยรับคนเข้ามาเพิ่มอีก 8 คน

ที่สำคัญคืออนาคตของเฟซบุ๊คเริ่มปรากฏชัดขึ้นเมื่อได้รับเงินทุนสูงถึง 5 แสนดอลลาร์สหรัฐจาก ปีเตอร์ ธีล

ทั้งหมดประกอบเข้าด้วยกันอย่างพอเหมาะ จนเหมือนกับว่าโชคชะตากำหนดมาไม่ให้มาร์คได้กลับไปใช้ชีวิตวัยเรียนที่ฮาร์วาร์ดอีกต่อไป

การตัดสินใจพักการเรียนของมาร์คในตอนแรกนั้น แม้เจ้าตัวเองจะบอกกับใครๆ ว่าจะดร็อปเรียนเพียงเทอมเดียว แต่ดูเหมือนว่ามาร์คเองจะรู้ตัวเองดีว่าเขาคงจะไม่ได้กลับมายังรั้วฮาร์วาร์ดอีกต่อไป

“ตอนที่เราตัดสินใจย้ายเฟซบุ๊คไปแคลิฟอร์เนียนั้น จริงๆ แล้วเราก็ไม่ได้คิดที่จะย้ายเฟซบุ๊คกลับออกมา พวกเราต้องการไปที่นั่นในช่วงซัมเมอร์ก็เพราะมันเป็นอะไรที่ประมาณว่า

…โอเค! บริษัทใหญ่ๆ ก็มาจากซิลิคอน วัลเล่ย์กันทั้งนั้น แล้วทำไมเราไม่ไปลองใช้ช่วงเวลาฤดูร้อนของเราที่นั่นกันล่ะ?”

มาร์คเล่าให้บิซิเนสอินไซเดอร์ฟังเมื่อถูกถามถึงการตัดสินใจพักการเรียนและย้ายเฟซบุ๊คไปยังพาโล อัลโต

“ในตอนนั้น พวกเราก็ยังคิดที่จะกลับมาที่ฮาร์วาร์ดในเทอมถัดมา ซึ่งต้องถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมากที่ฮาร์วาร์ดมีนโยบายเยี่ยมๆ อย่างการอนุญาตให้นักศึกษาดร็อปได้เท่าที่ต้องการ มันเลยทำให้เรากล้าที่จะตัดสินใจลุยต่ออีกหนึ่งเทอม

และเมื่อเราตกลงใจว่า จะใช้เวลาเทอมที่สองที่นี่ มันก็แบบว่า ทุกอย่างโตเร็วมาก เรามียอดผู้ใช้งานสูงถึง 5 ล้านคน แล้วเราก็เลยตัดสินใจว่า ‘โอเค ทิ้งมันทั้งปีนั่นแหละ!’ ซึ่งตอนนั้นแหละที่ผมคิดว่าเราคงจะไม่ได้กลับไปอีก” มาร์คเล่า

 

ชีวิตในวัลเล่ย์

ว่ากันว่าอีกหนึ่งแรกผลักดันให้เขาเชื่อมั่นในการตัดสินใจทิ้งชีวิตการเรียน ก็คือ ในตอนที่ “บิล เกตส์” เดินทางมาบรรยายให้กับนักศึกษาสาขาคอมพิวพ์เตอร์ฟังที่ฮาร์วาร์ด ใจความตอนหนึ่งเจ้าพ่อไมโครซอฟท์ได้กระตุ้นให้นักศึกษาเห็นคุณค่าของการพักการเรียนและไปเปิดหูเปิดตาเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากโลกภายนอกเสียให้คุ้มค่า

นอกจากนี้มาร์คยังเล่าถึงนาทีที่เขาบอกแม่ว่าจะขอพักการเรียนเพื่อไปใช้ช่วงเวลาซัมเมอร์ที่แคลิฟอร์เนียนั้น แม่ได้มาบอกเขาในภายหลัง ว่าได้ยินเพียงเท่านั้น แม่ก็รู้แล้วว่าเขาก็ต้องจบลงด้วยการเลิกเรียนแน่

สำหรับการตัดสินใจย้ายไปที่ซิลคอนวัลเล่ย์ มาร์คมองว่าเป็นอะไรที่คุ้มค่ามาก

“จริงๆ ผมชื่นชมอเมซอน และ ไมโครซอฟท์ ตรงที่เป็นบริษัทที่ตั้งอยู่ที่ซีแอทเทิลมากนะ แต่สำหรับผมและเพื่อนๆ การย้ายไปวัลเล่ย์ เป็นอะไรที่สำคัญมาก อย่าลืมนะ ว่าตอนนั้นผมอายุ 19 เอง มันยังมีอะไรอีกตั้งมากมายที่ผมยังไม่รู้ แล้วที่นี่ก็ยังเป็นแหล่งสำคัญหากคุณจะหาวิศวกร หรือ คนเก่งๆ มาทำงานด้วย แล้วก็มีการวางอินฟราสตรัคเจอร์ไว้รองรับอยู่แล้ว ซึ่งมันช่วยพวกเราได้อย่างไม่ต้องสงสัย ที่เหลือก็แค่ย้ายบริษัทมา”

หลังจากย้ายบ้านใหม่และได้รับเงินทุนก้อนใหญ่เพื่อดำเนินกิจการอย่างที่บริษัทควรจะเป็นได้แล้วนั้น ราว 6 เดือนถัดมา ปีเตอร์ ธีล เจ้าเก่า ก็ช่วยดันให้มาร์ค และ เฟซบุ๊คเจิดจรัสขึ้น โดยสามารถชักนำเอาเงินลงทุนเข้ามาเพิ่มได้อีกถึง 12.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากแอคเซล พาร์ทเนอร์ส (Accel Partners) ในเดือนพฤษภาคม 2005

 

 

เค้าลางความสำเร็จ

เมื่อเงินทุนเพิ่มมากขึ้น ก็เหมือนติดปีกให้กับเฟซบุ๊คให้สามารถทำอะไรได้อย่างเต็มที่มากขึ้น และได้เวลาจดโดเมนเนมใหม่ด้วยจำนวนเงิน 2แสนดอลลาร์สหรัฐ พร้อมกับคำว่า “เดอะ” ซึ่งนำหน้าเฟซบุ๊คถูกตัดหายไป เหลือเป็นชื่อโดเมนเนมที่แสนจะคุ้นเคยกันอย่างในปัจจุบันว่า www.facebook.com ในเดือนสิงหาคม ปี 2005

ถัดจากนั้นเพียงเดือนเดียวเฟซบุ๊คก็เปิดตัวเวอร์ชันสำหรับโรงเรียนไฮสคูลในเดือน กันยายน 2005 แล้วยังได้ขยายเครือข่ายไปยังบรรดาพนักงานของหลายๆ บริษัทชื่อดัง อย่างเช่น แอ๊ปเปิล อิงค์ และ ไมโครซอฟท์ เป็นต้น พร้อมๆ กันนั้น ก็ได้เพิ่มแอพลิเคชันรูปภาพใส่เข้ามาเพิ่มเติมด้วย

ณ เดือนสุดท้ายของปี 2005 หรือเกือบสองปีหลังจากเฟซบุ๊คถือกำเนิดขึ้นนั้น ก็มียอดผู้ใช้ไต่ระดับขึ้นจนถึง 5.5 ล้านคนสำหรับปีที่สามของการให้บริการของเฟซบุ๊ค เกิดความเคลื่อนไหวสำคัญๆ หลายเรื่องด้วยกัน ทั้งเรื่องการเพิ่มทุนครั้งใหญ่อีกครั้ง เป็นจำนวนเงินสูงถึง 27.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐนำโดยเกรย์ลอค พาร์ทเนอร์ส ร่วมด้วย เมอริเทค แคปิตอล พาร์ทเนอร์ส และผู้ถือหุ้นรายเดิมอย่าง แอคเซล พาร์ทเนอร์ส และ ปีเตอร์ ธีล ในเดือนเมษายน ปี 2006

จากนั้นก็มีการปรับปรุงแอพลิเคชันอย่างต่อเนื่อง และในที่สุดก็ได้เวลาปลดล็อกเฟซบุ๊คเพื่อให้ได้โลดแล่นออกสู่โลกภายนอกอย่างเต็มรูปแบบ ในวันที่ 26 กันยายน 2006 โดยมีข้อแม้ คือ ผู้เล่นจะต้องอายุมากกว่า 13ปีและมีอีเมลที่ใช้งานได้จริง จนในที่สุดยอดผู้ใช้งานเฟซบุ๊คก็ทะลุ 12 ล้านคนได้ในเดือนธันวาคมของปีเดียวกันนั้นเอง

ดูเหมือนว่าการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ใช้งานเฟซบุ๊คจะยิ่งแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยถัดไปเพียงแค่ 4 เดือน เฟซบุ๊คก็มียอดผู้ใช้งานแตะเส้น 20 ล้านรายไปอย่างง่ายดาย ในเดือนเมษายน 2007

ขณะที่การเติบโตของเฟซบุ๊คนอกดินแดนอเมริกาก็ดูจะสดใส โดยในเดือนมีนาคม 2007 มีผู้ใช้เฟซบุ๊คในแคนาดาเกินกว่า 2 ล้านคน และ อีกกว่า 1 ล้านคนในสหราชอาณาจักร

 

 

แรงไม่หยุดฉุดไม่อยู่

ความแรงของเฟซบุ๊คยังไม่มีท่าจะหยุดเพียงแค่นั้น หลังจากเฟซบุ๊คเริ่มมีการเพิ่มภาษาสำคัญอื่นๆ เข้ามาอีกกว่า 20 ภาษา แถมยังเพิ่มแอพลิเคชัน “แชท” เข้ามาด้วย ยิ่งทำให้เฟซบุ๊คครองใจคนทั่วโลก

ได้เวลาฉลองใหญ่อีกครั้ง เมื่อยอดผู้ใช้เฟซบุ๊ควิ่งขึ้นไปสูงทะลุ 100 ล้านราย ในเดือนสิงหาคม 2008

แต่ดูเหมือนว่าการฉลองที่ เฟซบุ๊ค อิงค์ นั้น ไม่มีวันจบสิ้น สาเหตุก็เพราะอัตราการเติบโตของเฟซบุ๊คที่ถ้านำมาพล็อทกราฟจะเห็นขาขึ้นชนิดชันมาก

… จาก 1 ล้านคนในปีแรก กระโดดไปอยู่ที่ 5.5 ล้านคนในปีที่สอง เมื่อสิ้นปีที่สามเฟซบุ๊คมีจำนวนประชากรมากถึง 12 ล้านคน ก่อนจะพุ่งฉิวไปที่ 50 ล้านคนในปีที่สี่ สู่ 100 ล้านคนในปีที่ห้า และ 350 ล้านคนในปีที่หก กระทั่งสูงถึง 500 ล้านคนเมื่อยังไม่ครบเจ็ดปีดี

และคล้อยหลังวันเกิดของครบ 6 ปีของเฟซบุ๊คไปได้เพียงเดือนเดียวพวกเขาก็ต้องฉลองครั้งใหญ่กันอีกครั้งกับตำแหน่งเวบไซต์ที่ใหญ่ที่สุดอันดับสามของโลก เป็นเวบไซต์ที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกาโดยแซงยักษ์ใหญ่ที่ครองโลกออนไลน์อย่างกูเกิลได้ในที่สุด

การเติบโตอย่างหยุดไม่อยู่เริ่มกระพือความหอมหวนในมูลค่าธุรกิจของเฟซบุ๊ค โดยหนึ่งในข่าวใหญ่แห่งปี 2007 ที่เม้าท์กันไปทั่วซิลิคอน วัลเล่ย์ ก็คือ การที่ไมโครซอฟท์ยอมทุ่มเงินมากถึง 240 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อแลกกับจำนวนหุ้นของเฟซบุ๊คจำนวนหยิบมือเพียง 1.6 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

เหตุที่เป็นข่าวใหญ่ก็เพราะนี่คือดีลเหลือเชื่อ เนื่องจากหลายเสียงเห็นตรงกันว่าไมโครซอฟท์ให้ราคาสูงจนเกินจริง ในเมื่อผลการดำเนินงานของเฟซบุ๊คในขณะนั้น ทำรายได้ต่อปีได้ไม่ถึง 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐเสียด้วยซ้ำ

และผลจากการประเมินมูลค่าหุ้นเฟซบุ๊คในระดับที่สูงลิ่วโดยไมโครซอฟท์นี่แหละ ที่ทำให้มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ติดอันดับรายชื่อบุคคลที่รวยที่สุดในโลกของนิตยสารฟอร์บส์ ประจำปี 2010 โดยครองอันดับที่ 212 ของโลก ด้วยทรัพย์สินมูลค่า 6,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

คล้อยหลังจากที่ฟอร์บส์ประกาศรายชื่อมหาเศรษฐีประจำปี 2010 ไปเพียงสองเดือนเศษ ก็มีเรื่องพลิกล็อกช็อคโลกไอทีเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อบริษัทโกลด์แมนแซคส์ ทุ่มเงินลงทุนมหาศาลถึง 450 ล้านดอลลาร์ ร่วมกับเงินอีกจำนวน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากดิจิตอล สกาย เทคโนโลยีส์ รวมกันที่ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อร่วมหุ้นกับเฟซบุ๊ค ในช่วงต้นปี 2011

ผลจากการอัดฉีดครั้งมโหฬารนี้ ก็ทำให้เฟซบุ๊คมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากเดิมกว่าเท่าตัว คือจาก 23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยับขึ้นไปอยู่ที่ 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ตัวมาร์คเอง ก็มีทรัพย์สินเพิ่มเป็น 2 เท่าในเวลาชั่วข้ามคืนเช่นเดียวกัน และขยับขึ้นมาจากอันดับที่ 212 ขึ้นมาสู่อันดับที่ 40 ของทำเนียบบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดของนิตยสารฟอร์บส์อย่างไม่เป็นทางการ

 

หรือแค่ “ราคา” คุย

การเติบโตอย่างไม่หยุดยั้งของเฟซบุ๊ค ทั้งในแง่ของจำนวนผู้ใช้งาน แล้วยังมูลค่าของบริษัทเองที่นับวันยิ่งแรงจนฉุดไม่อยู่ แม้มันจะเป็นอะไรที่ดูยิ่งใหญ่มาก แต่ในทางกลับกันก็มีหลายเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า มูลค่าของเฟซบุ๊คสูงเกินกว่าความเป็นจริงไปหลายขุม แล้วก็ยังมีโอกาสที่จะก่อให้เกิด “ฟองสบู่ดอทคอม” รอบสอง
เพราะถ้าการเมินมูลค่าหุ้นของเฟซบุ๊คเป็นไปอย่างถูกต้องแม่นยำจริง ก็จะต้องถือว่าเป็นการเปิดหน้าประวัติศาสตร์แวดวงไอทีครั้งสำคัญ เนื่องจากมูลค่าเฟซบุ๊คจากดีลนี้มันเกินหน้าดอทคอมรายใหญ่  อย่าง ยาฮู, อีเบย์, ไทม์ วอร์เนอร์ แถมยังขึ้นไปหายใจรดต้นคอพี่เบิ้มอย่าง อเมซอน และ กูเกิ้ล แล้วด้วยซ้ำ

เนื่องจากหลังจากที่มีการเพิ่มทุนครั้งดังกล่าว ทำให้เฟซบุ๊คมีมูลค่าเทียบเท่ากับบริษัทในตำนานอย่าง “วอลท์ ดิสนีย์” ที่อยู่มานานกว่า 80 ปี และมีมูลค่าอยู่ที่ราว 7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

แต่อย่าลืมว่ามูลค่าของดิสนีย์สามารถวัดได้จากสินทรัพย์บริษัทในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งจับต้องได้และมีอยู่จริง และล้วนเป็นสินทรัพย์ช่วยสนับสนุนมูลค่าบริษัทของดิสนีย์ได้ ไม่ใช่ลอยล่องอยู่ในอากาศอย่างเฟซบุ๊ค

ขณะที่เฟซบุ๊ค ซึ่งเป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ในโลกเสมือน แม้จะยิ่งใหญ่ มากด้วยอิทธิพลต่อผู้คนบนโลก ถึงขนาดที่นิตยสารไทม์สซึ่งยกตำแหน่ง “บุคคลแห่งปี” ประจำปี 2010 ให้กับมาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ให้เหตุผลของรางวัลที่มาร์คได้รับโดยอธิบายความยิ่งใหญ่ของเฟซบุ๊ค ว่าเป็นเวบไซต์สามารถดึงดูดประชากรคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 12 ของทั้งโลกเข้ามาอยู่ร่วมกันได้

แต่จำเป็นด้วยหรือว่า สิ่งที่ยิ่งใหญ่ จะต้องมีราคาแพงเสมอไป?

 

 

อัจฉริยะที่แวดล้อมด้วยคนเก่ง

ที่เฟซบุ๊คขึ้นชื่อมาก ในเรื่องการเป็นบริษัทที่บรรดามนุษย์เงินเดือนมีความสุขที่จะทำงานด้วย โดยนอกจากเฟซบุ๊คจะชิงตัวคนเก่งๆ ให้ย้ายค่ายมาร่วมงานด้วยได้แล้ว ตัวพนักงานที่อยู่มาเดิมก็ไม่ค่อยย้ายออกไปไหน

พิสูจน์ได้ด้วยรางวัล “บริษัทนายจ้างที่ดีที่สุดในอเมริกา ประจำปี 2010” จากการจัดอันดับโดยเวบไซต์หางานที่ชื่อว่า กลาสดอร์ดอทคอม (Glassdoor.com)

ผลสำรวจความคิดเห็นบรรดาพนักงานของบริษัทและผู้ใช้เวบไซต์กลาสดอร์ ให้ความพอใจกับเฟซบุ๊คมากที่สุด ด้วยคะแนน 4.6 จากเต็ม 5 แซงหน้าแชมป์เก่าอย่างสายการบินเซ้าธ์เวสต์ซึ่งได้คะแนน 4.4 ไปอย่างฉิวเฉียด

“อาหารฟรี มีบริการซักแห้ง แล้วก็มีขนมให้กินตลอดด้วย ที่สำคัญที่นี่เต็มไปด้วยคนฉลาดๆ ทั้งวิศวกร และก็ทีมผลิตภัณฑ์ แล้วยังได้อารมณ์เหมือนเป็นเจ้าของกิจการ ซึ่งโอกาสเปิดกว้างให้สามารถคิดและทำอะไรที่มันยิ่งใหญ่ได้” อีกหนึ่งพนักงานเฟซบุ๊คบอก

คำตอบนอกเหนือจากนั้น ยกตัวอย่างเช่น “ที่เฟซบุ๊ค ผมมีอิสระในการคิดนอกกรอบ หรือจะพูดอีกอย่างคือมันไม่มีกรอบนั่นแหละ”

หรือ บางคนก็บอกว่าที่เฟซบุ๊ค “มีความคล่องตัวสูง แล้วทุกคนก็มีความสนุกที่ได้ทำอะไรที่มันทั้งเร็ว แล้วก็ได้ความคิดดีๆ” หรือ

“โปร่งใส แล้วก็เปิดกว้างในการสื่อสาร” และ “ทีมเล็กๆ แต่สร้างผลงงานอันยิ่งใหญ่” เป็นต้น

นอกเหนือความดีความชอบที่ว่ามาแล้ว อีกหนึ่งเรื่องที่ซื้อใจพนักงานให้รักเฟซบุ๊ค ก็เพราะบริษัทเสนอโอกาสให้พนักงานได้เป็นเศรษฐีด้วยการแจกหุ้นของเฟซบุ๊ค ซึ่งต่อมาไม่นานก็พุ่งทะยานขึ้นเป็นบริษัทที่มีมูลค่ามหาศาล และนั่นก็ทำให้พนักงานกลายเป็นเศรษฐีกันถ้วนหน้า

แล้วอย่างนี้ จะไม่ให้รัก เจ้านายที่ชื่อ มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ยังไงไหว?

 

****************************************

(หมายเหตุ : ตีพิมพ์เมื่อ มกราคม 2554)

Author

WAY

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า