พลเมืองผู้เอาใจใส่การเมือง


ประชาชนเกี่ยวอะไร : ประภาส ปิ่นตบแต่ง

‘ระบอบลูกป๋าอุปถัมภ์แบบเผด็จการโดยธรรม’ ภายใต้ชื่อคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ได้แปลงโฉมเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) แต่ยังคงมีอำนาจสูงสุดในการกำกับ ยับยั้ง ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทั้งหลาย ทั้งปวง วลี ‘ระบอบลูกป๋าอุปถัมภ์แบบเผด็จการโดยธรรม’ หยิบยืมและปรับแต่งมาจาก พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ (นักศึกษาปริญญาเอกแห่งมหาวิทยาลัยเบิร์กลีย์ ผู้เขียนบทความมากกว่าวิทยานิพนธ์ที่กำลังจะหมดเวลา!) ซึ่งเรียกว่า ‘ระบอบลูกป๋าอุปถัมภ์แบบประชาธิปไตย? ’

อาจารย์ธีรยุทธ บุญมี มอบฉายาว่า ‘รัฐบาล OT’ หรือรัฐบาลเทคโนแครตเฒ่า (Old Technocrat) ฉายาอะไรก็แล้วแต่ หน้าตาของรัฐบาลนี้ก็คือ ‘รัฐบาลเปรม 6’ มากกว่าภาพของ ‘รัฐบาลสุรยุทธ์ 1’ ดังนักวิเคราะห์ที่เขียนบทความในหนังสือพิมพ์ต่างประเทศล้วนมองว่านี่คือการกลับมาของ ‘ระบอบเปรมาธิปไตย’ (Premmacracy Regime)

คำถามที่สำคัญกว่าการประกวดฉายาก็คือ หนทางของกระบวนการสร้างและจรรโลงประชาธิปไตยไทยจะก้าวไปสู่ทิศทางใด ฝ่าย ก. มองว่าประชาธิปไตยไทยกำลังถอยหลังเข้าคลอง และหลงยุค ฝ่าย ข. คือผู้รู้สึกโล่งใจ สบายใจ สนับสนุนการยึดอำนาจชั่วคราว เพื่อซ่อมประชาธิปไตยที่ได้ถูกทำลายลงไปด้วย
ฝ่าย ค. บอกว่า เราเอาสิ่งที่เคยมีอยู่ก่อนการรัฐ-ประหารกลับคืนมาไม่ได้แล้ว สิ่งที่ควรทำคือ จะประคับประคองให้หนทางของกระบวนการจรรโลงประชาธิปไตยพัฒนาได้อย่างไร  คงจะมีฝ่าย ง. และ จ. ซึ่งข้อสุดท้ายอาจจะเป็นตัวเลือกว่า คำตอบถูกทุกข้อ ทั้ง ก. ข. ค. และ ง. ในสถานการณ์เช่นนี้ การแสวงหาว่าคำตอบที่ถูกต้องควรจะเป็นเช่นไร คงจะไม่ใช่สิ่งสำคัญเท่ากับว่า อะไรคือแนวทางที่เราอยากจะกำหนดและให้เป็นไปเช่นนั้น

สำหรับกลุ่มคนที่ลุกขึ้นมาต่อต้าน หลังการรัฐประหารแบบทันทีทันใดเป็นไปอย่างกว้างขวางมากกว่าเมื่อครั้ง รสช. ยึดอำนาจเมื่อปี 2534 ด้วยซ้ำ เพราะช่องทางการสื่อสารเอื้ออำนวยมากกว่าในยุคทศวรรษ 2530 แต่การตอบรับจากสังคม สื่อมวลชนแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง อย่างไรก็ดี เราต้องให้คุณค่าแก่คนกลุ่มนี้ว่าคือ ผู้ที่เอาใจใส่ทางการเมืองระดับเข้มข้นที่สุด เพราะกล้าท้าทาย และเผชิญหน้ากับอำนาจรัฐที่ไม่ชอบธรรมอย่างตรงไปตรงมา เปิดเผย  และสันติวิธี  แม้จะยังไม่รู้ว่า การคัดค้านรัฐประหารจะนำไปสู่จุดหมายได้มากน้อยแค่ไหน หรือว่าจะต้องคัดค้านกันไปเรื่อยๆ เพราะทุกอย่างล้วนไม่ชอบธรรม (รัฐบาลชั่วคราว สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาร่างรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การเลือกตั้งที่มาจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ไม่ชอบธรรม ฯลฯ)

แต่พลเมืองเช่นนี้มิใช่หรือที่เป็นรากฐานสำคัญของกระบวนการสร้างและจรรโลงประชาธิปไตย พลเมืองเช่นนี้มิใช่หรือที่มีคุณค่ามากกว่า ‘กองเชียร์’ ซึ่งเอาแต่คอยเฝ้าปรบมือให้ผู้คนลุกขึ้นมายึดอำนาจ แล้วก็คอยแต่หวังว่า อัศวินม้าขาวหรือควายดำจะจัดการชีวิตทางสังคมการเมืองที่ดีให้ผู้คนได้ ซึ่งบรรยากาศทั้งก่อนและหลังการยึดอำนาจ 19 กันยายน 2549 มีท่วงทำนองของการสร้างกองเชียร์ในสำนึกแบบไพร่ฟ้ามาโดยตลอด   จะเห็นได้ว่า ระยะ 1 เดือนภายใต้ระบอบรัฐประหาร ดูเหมือนโอกาสที่ผู้คนจะเข้าไปในพื้นที่ทางการเมืองเพื่อผลักดัน ต่อรองวาระของตนเองแคบลงไปทุกทีๆ นับตั้งแต่การปรากฏรูปแบบสภาสนามม้า กระบวนการและเกณฑ์การคัดสรรสภาร่างรัฐธรรมนูญ กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ฯลฯ

สภานิติบัญญัติแห่งชาติก็มิได้เชื่อมกับกลุ่มก้อนของผู้คนในสังคมมากนัก เพราะขาดลักษณะความเป็นตัวแทนโดยตรง และขาดประสบการณ์ ความรับรู้ปัญหาชีวิตของผู้คนในสังคม โดยเฉพาะคนส่วนใหญ่ที่มาจากระบบราชการ ตกค้างมาจากระบอบประชาธิปไตยเมื่อ 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา นี่คือปัญหาในเชิงระบบ สถาบันและกลไกของระบอบลูกป๋าอุปถัมภ์แบบเผด็จการโดยธรรมที่ถูกออกแบบโดยนิติบริกร ผ่านการรับรู้และเห็นชอบของคณบดีคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยชั้นนำต่างๆในสถานการณ์เช่นนี้ผู้คนในสังคมจะมีเอี่ยวอะไรกับเขาได้บ้าง!

หนทางหนึ่งคือ เราก็นั่งเป็นกองเชียร์ต่อไป ช่วยกันปรบมือให้กำลังใจ และรอรับรางวัลกองเชียร์ดีเด่น ภายใต้สำนึกแบบไพร่พลเมือง รอให้ผู้มีคุณธรรมจัดการบ้านเมือง ส่วนเราผู้เป็นประชาชนไม่เกี่ยว!

อีกหนทางหนึ่ง ซึ่งพอเห็นได้จากการออกมาเคลื่อนไหว ต่อรอง ผลักดันวาระของตนเอง ดังกรณีเครือข่ายนักวิชาการ องค์กรประชาธิปไตย NGOs องค์กรด้านสื่อ เครือข่ายชาวบ้านต่างๆ และผู้คนเล็กๆ ในสังคม เช่น คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานฯ ที่เสนอรัฐมนตรีแรงงาน (แม้จะไม่ได้รับการพิจารณา) สมัชชาคนจนมีข้อเสนอให้ยกเลิกกฎอัยการศึก และเปิดเวทีเจรจาแก้ปัญหา ฯลฯ

การปรากฏตัวของพลเมืองผู้เอาใจใส่ทางการเมืองคงจะขยายกว้างขวาง และมีประเด็นที่เข้มข้นขึ้นหลังการจัดตั้งสภา-นิติบัญญัติ สภาร่างรัฐธรรมนูญ และเข้าสู่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ เพราะกลุ่มก้อนของผู้คนเหล่านี้ล้วนเคยมีบทเรียนว่า สิ่งต่างๆ ล้วนได้มาโดยผ่านกระบวนการต่อสู้ ภายใต้ข้อจำกัดทางโครงสร้าง กลไก และพื้นที่ดังกล่าว จึงทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้คนผู้มีปัญหาต่างๆ เพื่อผลักดันวาระการแก้ไขปัญหาของตนผ่านฝ่ายบริหาร และการเสนอร่างกฎหมายของตัวเองต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติโดยตรงคงน่าจะเกิดมากขึ้น ในมิติการปฏิรูปการเมือง แม้รูปร่างของสภาร่างรัฐธรรมนูญในฐานะองค์กรที่จะมาทำหน้าที่ดังกล่าวจะถูกจำกัดด้วยช่วงเวลาจนทำให้ไม่สามารถผลักดันอะไรได้มากนัก แต่หนทางในการสร้างและจรรโลงประชาธิปไตยผ่านการร่างรัฐธรรมนูญนั้นยังคงมีอีกยาวไกล

การเชื่อมโยงเครือข่ายองค์กรประชาชน เครือข่ายคนจน นักวิชาการ องค์กรสื่อ ฯลฯ เพื่อสร้างกระบวน-การสรุปบทเรียนและนำเสนอสังคมการเมืองในอุดมคติของกลุ่มตนผ่านการยกร่างรัฐธรรมนูญได้เริ่มเกิดขึ้นแล้ว และคงขยายอย่างกว้างขวาง จะเกิดเวทีคู่ขนานการยกร่างรัฐธรรมนูญอย่างมากมาย  นี่เป็นแนวทางความคิดของพลเมืองผู้เอาใจใส่การเมือง ไม่ใช่สำนึกแบบไพร่พลเมือง ที่เกิดและเติบโตมาโดยตลอดในช่วง 2-3 ทศวรรษหลังการหมดยุคประชาธิปไตยครึ่งใบภายใต้ระบอบเปรมาธิปไตย

สังคมได้ก้าวมาไกลมากแล้ว ปัญหาจึงอยู่ที่ผู้คนในระบอบอุปถัมภ์แบบเผด็จการโดยธรรมจะเข้าใจถึงข้อจำกัดเชิงสถาบันกลไกที่ถูกออกแบบขึ้นมาหรือไม่ การขจัดความขัดแย้ง ความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในระยะข้างหน้าอันใกล้นี้ จึงมิใช่หนทางของการคงสภาพกฎอัยการศึก และการอาศัยรัฐมนตรีผู้มีบารมีในการสั่งการข้าราชการระดับจังหวัดอำเภอให้ควบคุม จัดการกับผู้คนที่ออกมาเคลื่อนไหว

หนทางเดียวคือ การยอมรับและเปิดขยายช่องทาง กลไก และพื้นที่ให้การเคลื่อนไหวของพลเมืองผู้เอาใจใส่ทางการเมืองได้เข้ามาสนทนา ปรึกษาหารือ ถกแถลงวาระของตนในพื้นที่ และกลไกเชิงสถาบันเท่านั้น

Author

ประภาส ปิ่นตบแต่ง
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นนักคิด นักเขียน และติดตามเรื่องการเมืองภาคประชาชนมาอย่างยาวนาน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า