สถาบัน Worldwatch ออกมาเสนอรายงานว่า แนวโน้มการผลิตและบริโภคเนื้อสัตว์กำลังลดลง โดยปี 2011 คนทั่วโลกกินเนื้อเฉลี่ย 42.3 กิโลกรัมต่อคน ขณะที่ปี 2010 คนกินเนื้อเฉลี่ย 42.5 กิโลกรัมต่อคน แต่ช่องว่างระหว่างประเทศร่ำรวยและยากจนยังคงถ่างกว้าง โดยประเทศพัฒนาแล้วบริโภคเนื้อสัตว์เฉลี่ยปีละ 79 กิโลกรัมต่อคน ขณะประเทศกำลังพัฒนาบริโภคเนื้อราวปีละ 32 กิโลกรัมต่อคน
ขณะที่อุตสาหกรรมสัตว์อาหาร หรือฟาร์มระบบปิด ครองตลาดเนื้อสัตว์ทั่วโลก โดยยอดผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกอยู่ที่ร้อยละ 72 ไข่ร้อยละ 43 และเนื้อหมูอีกร้อยละ 55
ปี 2011 เนื้อหมูกลายเป็นเนื้อสัตว์ยอดนิยมอันดับ 1 ของโลก มีสัดส่วนการบริโภคอยู่ที่ร้อยละ 37 ของเนื้อสัตว์ที่กินและผลิตกันทั้งหมด หรือราว 109 ล้านตันต่อปี
ปัจจุบัน คนเราได้โปรตีนจากเนื้อสัตว์ราวร้อยละ 20 แต่ต่อไปอาจจะต้องลดลงเหลือเพียงร้อยละ 5 เพื่อจะเลี้ยงประชากรที่คาดการณ์ไว้ในปี 2050 ว่าจะสูงถึง 9 พันล้านคน
มาลิก ฟอลเคนมาร์ก และทีมศึกษาจาก สถาบันน้ำนานาชาติสต็อกโฮล์ม คำนวณว่า ในปี 2050 อาจมีน้ำไม่พอจะปลูกพืชอาหารสัตว์ นั่นหมายความว่า การผลิตและบริโภคเนื้อสัตว์จะลดลงเรื่อยๆ และเป็นไปได้มากที่สุด คืออาจจะมีน้ำพอสำหรับการเลี้ยงสัตว์อาหารจำกัดที่ร้อยละ 5 ต่อคน
ทางออกที่ดีที่สุดที่มาลิกและทีมเสนอคือ การปรับตัวและหันไปกินพืชผักเป็นหลักแทน เพราะการเลี้ยงสัตว์ใช้น้ำมากกว่าการปลูกผักราว 5-10 เท่า นอกจากนั้น 1 ใน 3 ของที่ทำกินบนโลกยังถูกใช้เป็นพื้นที่ปลูกพืชอาหารสัตว์เหล่านี้
ที่มา: treehugger.com / alternet.org