มารยาทและความสุภาพ

chaiyan44

ไชยันต์ ไชยพร

 

มีคนเคยกล่าวไว้ว่า มารยาทและความสุภาพเป็นคุณธรรมของมนุษย์ เป็นคุณธรรมที่เป็นผลผลิตจากการที่มนุษย์มาอยู่รวมกันเป็นสังคม  ช่วยให้การปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันเป็นไปด้วยดี

คุณธรรมตัวนี้—มารยาทและความสุภาพ—มีปรากฏในทุกสังคม แต่ก็อาจแตกต่างกันได้ ซึ่งก็น่าคิดว่า มันมีมารยาทและความสุภาพที่เป็นสากล ช่วยให้มนุษย์ทุกชาติทุกภาษาสามารถมีปฏิสัมพันธ์หรือเริ่มปฏิสัมพันธ์กันด้วยดีได้หรือไม่ ?

มารยาทและความสุภาพ คือการแสดงอาการที่ส่อถึงเจตนาดีหรือมีความรู้สึกที่ดีต่อกัน เมื่อคนสองคนที่เป็นคนแปลกหน้าเจอกัน การมีมารยาทและความสุภาพเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยให้คนแปลกหน้าสองคนสามารถเริ่มมีปฏิสัมพันธ์กันได้ง่ายขึ้น การยิ้มให้ก็ถือเป็นมารยาทและความสุภาพชนิดหนึ่ง ที่แทบทุกสังคมต่าง ‘ตีความ’ และ ‘ให้ความหมาย’ ของการยิ้มในทางบวก

แน่นอนว่า มันจะต้องเป็นยิ้มธรรมดาๆ ไม่ใช่ยิ้มเยาะ

บางคนอาจจะสงสัยว่า การยิ้มมันไม่ได้มีความหมายที่ดีในตัวมันเองหรือ ถึงจะต้อง ‘ตีความและให้ความหมาย’ ด้วย!!  ก็อย่างที่กล่าวไปถึง ‘การยิ้มเยาะ’ มันก็บ่งบอกว่ายิ้มมีหลายอย่าง และยิ้มบางอย่างก็มีความหมายแตกต่างหรือตรงกันข้ามกับการยิ้มบางอย่าง

ขณะเดียวกัน มีคนเคยศึกษาว่า แต่เดิมที ‘การยิ้มแบบเห็นฟัน’ นั้นถือเป็นการแสดงอาการไม่เป็นมิตรและออกจะก้าวร้าวด้วย

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

นักวิชาการบางพวกที่ช่างคิด (และอาจจะไม่มีอะไรทำมากนัก!) ได้ทำการศึกษาค้นคว้าและวิจัยการยิ้มแบบเห็นฟัน และสรุปว่า การยิ้มแบบเห็นฟันนั้นคือการแยกเขี้ยว และในสัตว์อื่นๆ เวลามันอ้าปากทำท่าคล้ายยิ้มและให้เห็นฟัน มันคืออาการข่มขู่และแสดงท่าทีของการพร้อมจะต่อสู้ เวลาเสือหรือหมามัน ‘ยิ้มเห็นฟัน’ ขึ้นมาล่ะก็ เตรียมระวังตัวได้เลย

และนักวิชาการพวกนี้ก็เชื่อว่า เดิมทีมนุษย์ในฐานะที่เป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง และเวลาที่เจอมนุษย์อีกคนหนึ่ง และดันยิ้มแบบให้เห็นฟันออกมา ก็มีความหมายไม่ต่างจากสัตว์ชนิดอื่นๆ

นั่นคือ แสดงความไม่เป็นมิตรออกมาและพร้อมที่จะต่อสู้ ซึ่งการศึกษาวิจัยนี้ก็ฟังดูมีเหตุผลไม่ใช่น้อยเลย เพราะถ้าคิดดีๆ มันคงไม่ใช่เรื่องธรรมชาติหรอก ที่การยิ้มแบบเห็นฟันจะมีความหมายที่ดีตั้งแต่ต้น มันน่าจะหมายถึงการเตรียมพร้อมสู้มากกว่า มนุษย์ยุคหินคงยังไม่ได้ให้ความหมายกับการยิ้มทั้งแบบเห็นและไม่เห็นฟันในทางที่ดีเหมือนกับที่มนุษย์ในยุคหลังอย่างเราๆ ให้ความหมาย

แต่ก็น่าคิดน่าสงสัยอย่างยิ่งว่า มนุษย์เราพัฒนาการให้ความหมาย ‘การแยกเขี้ยว’ มาเป็น ‘การยิ้มจริงใจ’ ได้อย่างไร?

เพราะถ้าว่ากันตามธรรมชาติจริงๆ แล้ว การยิ้มแบบเห็นฟันมันคือการแยกเขี้ยวเราดีๆ นี่เอง มันกลายเป็นมารยาทและความสุภาพที่แสดงถึงท่าทีที่เป็นมิตรได้อย่างไร?

นอกจากยิ้มที่เป็นมารยาทและความสุภาพชนิดหนึ่ง และน่าจะมีความเป็นสากลด้วย มนุษย์ในแต่ละสังคมก็จะมีชุดของภาษาร่างกายที่ถูกให้ค่าและความหมายว่ามีมารยาทและสุภาพ และบ่งชี้ถึงเจตนาที่ดีต่อกัน ไม่ว่าจะเป็นท่าเดิน กิน ดื่ม ลุก นั่ง และยืน หรือแม้กระทั่งนอนเล่น นอกจากภาษาร่างกาย เราก็มีชุดของภาษาพูดที่เป็นการพูดที่ถูกให้ค่าและความหมายว่ามีมารยาทและสุภาพ และบ่งชี้ถึงเจตนาที่ดีต่อกันด้วย เช่น สวัสดีและมี ‘ครับ’ หรือ ‘ค่ะ’ ตามมา

การกล่าวสวัสดีก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยให้อะไรต่ออะไรดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น ปฏิสัมพันธ์แลกเปลี่ยนสิ่งที่ต้องการจากกันและกันง่ายขึ้น หรือแม้เพียงเพื่อจะขอความช่วยเหลืออะไรบางอย่าง แต่แน่นอนว่า ภาษาร่างกายและภาษาพูดที่เป็นมารยาทและความสุภาพ ก็อาจแตกต่างกันไปในแต่ละสังคม  ดังนั้น ยามไปสังคมอื่น มนุษย์ก็น่าจะศึกษาเรียนรู้ชุดภาษากายและภาษาพูดที่สุภาพ เพื่อความสะดวกราบรื่นในการปฏิสัมพันธ์ ดังภาษิตที่ว่า เข้าเมืองตาหลิ่ว ก็หลิ่วตาตาม

ในสังคมหนึ่งๆ ก็ยังมีความแตกต่างกันไปในชุดมารยาทและความสุภาพ ซึ่งบางคนอาจจะมองว่าเป็นชุดมารยาทของแต่ละชนชั้นก็ได้ ชนชั้นสูงก็มีชุดมารยาทและความสุภาพของพวกเขา และชนชั้นล่างก็เช่นกัน และแน่นอนว่าระหว่างชนชั้นก็มีรหัสของชุดมารยาทและความสุภาพที่ถูกกำหนดขึ้นมาให้ใช้ต่อกันและกัน

 

ในเงื่อนไขแบบนี้ ชุดมารยาทและความสุภาพกลายเป็นสัญลักษณ์ของการกดขี่หรือดูถูกเหยียดหยามก็ได้ด้วย เช่น ไพร่จะต้องแสดงภาษากายและภาษาพูดที่สุภาพต่อผู้เป็นนาย และพวกเขาย่อมจะไม่ใช้ชุดภาษาดังกล่าวกับไพร่ด้วยกันเอง เพราะเมื่อใช้แล้ว จะมีความหมายแตกต่างจากยามที่ใช้กับนาย

 

ส่วนนาย แม้ว่าจะมีเจตนาดีต่อไพร่บางคน ก็คงไม่ใช่ชุดภาษาที่สุภาพชุดเดียวกันกับที่ใช้กับคนในชนชั้นเดียวกันกับตัวเอง

ไพร่อาจจะพูดกูมึงในหมู่ไพร่ด้วยกัน และนายก็อาจจะพูดกูมึงในหมู่นายด้วยกันในบางโอกาส ทั้งดีและไม่ดี บางครั้งก็หมายถึงโกรธกัน แต่บางครั้งหมายถึงสนิทชิดเชื้อกัน แต่ไพร่จะไม่สามารถพูดกูมึงกับนาย หากพูดเมื่อไรก็แปลว่า ไม่เคารพไม่ยอมรับความสูงกว่า แต่ยามนายพูดกูมึงกับไพร่ก็ถือเป็นเรื่องปกติ  ก็น่าคิดว่า ทำไมยามไพร่ด้วยกันพูดกูมึงถือเป็นความกันเองและเสมอภาค แต่ยามนายพูดมึงกูกับไพร่กลายเป็นเรื่องของการมองว่าต่ำกว่าไปได้

คำตอบก็คือ นายพูดได้ฝ่ายเดียวนั่นเอง !

แต่สังคมทั่วโลกก็ได้เปลี่ยนไปมากแล้ว และเปลี่ยนไปในทิศทางที่คล้ายๆ กัน นั่นคือ เสมอภาคกันมากขึ้น แต่การเสมอภาคกันไม่ได้หมายความว่า มารยาทและความสุภาพจะต้องหายไปด้วย เพียงแต่ชุดมารยาทและความสุภาพระหว่างชนชั้นจะค่อยๆ หายไป และจะเกิดชุดมารยาทและความสุภาพที่คนด้วยกันใช้กับคนด้วยกันอย่างเสมอภาค อย่างที่เคยเห็นเด็กบางบ้านพูดกับคนงานในบ้านไม่ต่างจากพูดกับพ่อแม่พี่น้องของเขา นั่นคือ มีครับมีค่ะกับคนงานในบ้าน คนงานก็มีความรู้สึกที่ดี และเด็กที่พูดก็มีความรู้สึกที่ดี และคนทั้งสองก็มีความรู้สึกที่ดีต่อกันและกัน

บางคนมีความเห็นว่า มารยาทและความสุภาพเป็นเรื่องดัดจริต ไม่เห็นจะต้องมาพูดครับขาอะไรกัน และพูดตรงๆ กันเลยน่าจะไม่ดัดจริต นั่นคือ มึงกู (ความหมายในปัจจุบัน) กันไปเลย ถือว่าจริงใจดี ซึ่งก็มีความจริงอยู่ไม่น้อย เพราะในที่สุดแล้ว ยามเริ่มต้นอาจจะผมคุณ แต่เมื่อเวลาผ่านไป สนิทกันแล้ว ก็ลงที่กูมึงอยู่ดี แต่นั่นก็ต้องสนิทกันแล้ว ซึ่งความสนิทสนมก็ย่อมต้องใช้เวลา จะมากหรือน้อยก็อีกเรื่องหนึ่ง

บางคนเมื่อรู้จักกันไปแล้ว ก็ไม่สนิทหรือไม่สามารถสนิทได้ หรือบางคนอาจจะใช้คุณผมตลอดไป แม้ว่าจะสนิทกันมากแล้ว ก็ย่อมได้เหมือนกัน ก็แล้วแต่จะเลือก แต่ก็ต้องคำนึงถึงค่านิยมของคนที่เราปฏิสัมพันธ์ด้วยว่า เขาคิดแบบเราหรือเปล่า

อย่างไรก็ดี คนที่บอกว่า มารยาทและความสุภาพเป็นคุณธรรมของมนุษย์ เขาก็บอกด้วยว่า มันเป็นคุณธรรมขั้นต่ำสุด หรือขั้นแรกเลยก็ว่าได้ เพราะคนที่มีมารยาทและสุภาพอาจจะเป็นคนโกหก โกง เอาเปรียบ หลอกลวงได้ ขณะเดียวกัน เวลาคนพวกนี้พูดจาสุภาพและมีมารยาท ก็ไม่ได้หมายความว่าเขามีมารยาทและสุภาพเพื่อหลอกให้เราตายใจ แต่เป็นเพราะคนพวกนี้บางคนถูกเลี้ยงมาแบบนั้นจริงๆ แต่ก็มีพวกที่ใช้มารยาทเป็นเครื่องมือประกอบการทำร้ายคนอื่นด้วย ขณะเดียวกัน การพูดจาหยาบคายก็ไม่ได้หมายความว่าจะจริงใจ ซื่อ ไม่โกงเสมอไปด้วย

ก็คงต้องเป็นสิ่งที่พิจารณาไตร่ตรองกันเองว่า ใครจะเลือกมีคุณธรรมขั้นต่ำตัวนี้หรือไม่ และอย่างไร?   มันจะดัดจริตหรือไม่นั้น มันก็อยู่ที่ใจของคุณเอง

********************************

(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์จุดหมายที่ปลายทาง กันยายน 2554)

Author

ไชยันต์ ไชยพร
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รู้จักในฐานะอาจารย์รัฐศาสตร์จุฬาฯ ผู้ฉีกบัตรเลือกตั้งต่อหน้าสื่อมวลชนในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2549 ในแนวทางอารยะขัดขืน นอกจากนี้ ดร. ไชยันต์เป็นนักวิชาการที่เขียนบทความเผยแพร่ตามสื่อต่าง ๆ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า