ยิปโซ คิดเยอะแต่ไม่เลอะเทอะ

1

เรื่อง : สุกัญญา รังมาตย์
ภาพ : ศุภโชค พิเชษฐ์กุล

 

 

พจนานุกรมให้ความหมายของ ‘บ้องแบ๊ว’ ว่าเป็นคำวิเศษ แปลว่า มีหน้าตาพิลึก อิงความหมายเชิงบวก ส่วนคำร่วมสมัยอย่าง ‘แอ๊บแบ๊ว’ เป็นการนำเอาสองคำมารวมกัน ระหว่างคำว่า แอ๊บนอร์มอล (abnormal) ซึ่งแปลว่าผิดปกติ เมื่อมารวมกับคำที่มีความหมายพิลึก ได้เป็นคำใหม่ มีนัยถึงการกระทำที่ผิดปกติแล้วเกิดความน่ารัก (มายังไง?) หรือให้แรงกว่านั้น…แสร้งทำเป็นน่ารัก

รายการทางโทรทัศน์ช่องหนึ่ง-สตรอเบอร์รีชีสเค้ก ที่นำความน่ารักสดใสของเด็กผู้หญิงที่มีคาแรกเตอร์คล้ายๆ กัน มารวมตัว เกิดภาพ ‘แอ๊บแบ๊วหมู่’ พ้นจากหน้าจอแก้ว ไม่มีใครตอบได้ว่า ตัวจริงของพวกเธอเหล่านั้น ‘แบ๊วจริง’ หรือแค่ ‘แอ๊บ’

กับบุคลิกน่ารักๆ เสียงเล็กๆ แหลมๆ ในสตรอเบอรี่ชีสเค้ก ใครหลายคนบอกว่า ยิปโซ-รมิตา มหาพฤกษ์พงษ์ ต้องแบ๊วเพราะความจำเป็นในวงการบันเทิง เพราะหลังจากหมดสัญญากับรายการที่ชื่อเหมือนขนมหวาน ภาพของเธอที่ปรากฏตามสื่อมีมากหลายบุคคลิก ทั้งห้าว หวาน เปรี้ยว และที่สำคัญ บางคนกล่าวกันถึง ‘ความรั่ว’ ในดีกรีไม่ธรรมดาของหญิงสาวผู้ทิ้งภาพ ‘แบ๊ว’ ไว้เบื้องหลัง

 

 

1

 

“ความรู้สึกในตอนนั้นก็ไม่ได้คิดอะไรมากนะคะ สำหรับคำว่าแอ๊บแบ๊ว ตอนนั้นรู้สึกแค่ว่าเราทำอะไรอยู่ เราเป็นอย่างไรในตอนนั้น” ยิปโซย้อนอดีตผ่านรอยยิ้มบนเรียวปากสีเดียวกับกระโปรงยาว-แดงสด

อยู่ในรายการสตรอเบอรี่ชีสเค้กมา 2 ปี บางครั้งชีวิตเด็กสาวในจอกับนอกจอก็พัวพันกันในระดับหนึ่ง ความแอ๊บแบ๊วดูจะเป็นเงาตามตัวที่แยกไม่ออก กระทั่งเด็กสาวคนนั้นก้าวเข้าสู่จุดเปลี่ยนชีวิตในมหาวิทยาลัย

“ยังคงเป็นผู้หญิงประมาณนี้อยู่เป็นปีค่ะ”

ชีวิตช่วงหนึ่งของคน ในระยะเปลี่ยนผ่าน ย่อมต้องมีการปรับตัวเข้าหาสังคม ยิ่งบทบาทที่หลากหลายในวงการบันเทิง บางขณะตัวตนที่แท้จริงก็ถูกหลงลืมไป ยิปโซพยายามลองทำอะไรหลายๆ อย่างที่เธอเองไม่เคยทำ เพื่อค้นหาว่าตัวเองชอบแบบไหน กระทั่งได้มาร่วมงานกับ ยอร์ช-ฤกษ์ชัย พวงเพ็ชร์ ผู้กำกับหนังเรียกเสียงหัวเราะคนดังจากภาพยนตร์เรื่อง ‘32 ธันวา’ ยิปโซได้มีโอกาสสัมผัสบทบาทใหม่ ที่มีบางอย่างสัมผัสได้ถึง ‘ความคล้าย’ กับชีวิตตัวเอง

“ซึ่งตัวละคร ‘นุ่น’ ในเรื่องนั้น เป็นตัวละครของคนที่มีความคิดแล้วก็เป็นผู้หญิงธรรมดา แต่ต้องการจะทำให้ตัวเองออกมาในแนวที่คิดว่าผู้ชายน่าจะรักผู้หญิงแบบนี้”

ในบทบาทที่ว่า มีฉากที่ยิปโซต้องเข้าไปในโรงแรมม่านรูดกับพระเอก แดน-วรเวช ดานุวงศ์ บทของนุ่นพูดกับชายหนุ่มว่า

“ฉันจะบอกอะไรไว้เลยว่า ฉันก็ไม่ได้อยากทำตัวเรียบร้อยนักหรอก ฉันก็อยากซ่า อยากแรด อยากหัวเราะดังๆ” นาทีนั้น…ประโยคนี้ปลดปล่อยตัวตนที่แท้จริงของเธอออกมา

“ก็แอ๊บแบ๊วประมาณหนึ่งกับการเล่นคาแรกเตอร์นี้ค่ะ แต่มันจะมีความแตกต่างที่ว่า คือความเป็นจริงของเรากับสิ่งที่เขาอยากให้เราเป็น มันเลยทำให้เรารู้สึกว่า ทำแบบนี้ เราสบายตัวหรือสบายใจ ตรงไหนมากกว่ากัน มันคงไม่ใช่ตอนที่เรากำลังน่ารักอยู่แน่ๆ มันเลยทำให้สะกิดต่อมอะไรบางอย่างในตัวเรา พอทำแล้ว เฮ้ย!… ทำไมมันรู้สึกหายใจออกได้มากขึ้น ช่วงนั้นเป็นจังหวะที่ดีมากเลย” ประโยคนี้จบด้วยเสียงหัวเราะ

 

 

2

ยิปโซยอมรับว่าได้ใช้ชีวิตแบบสาวหวานอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง เพราะเทรนด์แฟชั่นชี้นำ รายการทีวีชื่อดังจึงเปิดโอกาสให้เธอได้หวานอมเปรี้ยวบ้าง

จากประสบการณ์ครั้งหนึ่ง เมื่อต้องไปทำเทปรายการช่วงฤดูร้อนที่เกาะแห่งหนึ่ง ต้องใส่เสื้อกล้าม กางเกงขาสั้น ห้ามพกอะไรติดตัว ดูคล้ายเซ็กซี่ แต่เธอบอกว่าเหมือนฝึกทหาร

“วิ่งไปทางไหนก็ไม่เจอต้นไม้ใหญ่ คือมันไม่มีร่มให้หลบเลย รู้สึกท้อใจมาก เหมือนกับว่าชีวิตกำลังลงสู่หลุมอะไรบางอย่าง แล้วแดดแรงมาก ไม่เคยคิดว่าจะโดนบีบคั้นทางร่างกายขนาดนี้ แล้วคือต้องยิ้มหัวเราะ ร่าเริงสดใส” ชีวิตแบ๊วกลางแจ้งทำให้ชีวิตติดปม หลังจากนั้น ยิปโซสารภาพว่า ค่อนข้างจะกลัวแดดเอามากๆ

เพราะรายการนี้โชว์ความน่ารักสดใสของเด็กผู้หญิง เลยกลายเป็นว่าเธอถูกมองว่าแอ๊บแบ๊ว อาจจะจริง เพราะสิ่งที่เราเห็นคือความ ‘แอ๊บ’ ซึ่งเกิดจากบทบาทที่เธอต้องแสดง ตามคอนเซ็ปท์ของรายการว่าไว้อย่างไร ภาพก็ต้องออกมาตามนั้น

แต่ยิปโซบอกว่าทุกวันนี้กลับมาเป็นตัวเองเหมือนเดิมแล้ว เพราะได้ออกมาทำอะไรที่ไม่ใช่งาน ‘แอ๊บๆ’ หรือ ‘แบ๊วๆ’ ในสิ่งที่ตัวเองไม่เคยทำมาก่อน

2

 

 

3

เพราะความอยากลอง และพอได้โอกาสลองทำอะไรหลายๆ อย่าง เธอก็พบว่าตัวเองเปลี่ยนไป จากพิธีกรสู่ความสำเร็จในฐานะ ‘นางเอกร้อยล้าน’ จากหนังเรื่องที่ 3 ในชีวิต ‘สุดเขต เสลดเป็ด’

“โอ้โห! ชีวิตถึงกับเปลี่ยนเลยค่ะ แต่เราไม่ได้ตั้งใจเปลี่ยนนะ” นั่นนะสิ…แต่เราก็ยังงงอยู่ดี ตั้งใจเปลี่ยนกับไม่ได้ตั้งใจเปลี่ยนนั้นมันต่างกันอย่างไร

“มันเป็นเรื่องของการที่จะทำอย่างไรให้ชีวิตมีความสุขกับการที่เราทำงานตรงนี้ เราไม่รู้ตัวเองหรอกว่า มันมีสเต็ปในการเปลี่ยนแปลง ถ้าคุณเข้ามาทำงานในวงการบันเทิงแล้ว ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองตามสเต็ป 1-2-3 มันไม่ใช่อย่างนั้น เราต้องอยู่กับมัน เจอเรื่องดีๆ ก็ดีไป เจอเรื่องแย่ๆ เราก็ควรรู้ว่าเราต้องทำตัวแบบไหนกับเรื่องแย่ๆ มันจะปรับเองอัตโนมัติเยอะมาก มุมมองเปลี่ยนหมด”

หลังจากขึ้นแท่นดาราระดับนางเอก ทั้งที่ผลงานภาพยนตร์ออกมาเพียง 5 เรื่อง คาแรกเตอร์และบทบาทแต่ละเรื่องก็ออกแนวน่ารักๆ โดยเฉพาะภายใต้การกำกับของ ยอร์ช-ฤกษ์ชัย ที่ทำให้เธอกลายเป็นดาราดังไปด้วย

“ร่วมงานกับพี่ยอร์ชสนุกมากค่ะ สบายใจดี แต่ล่าสุดเหมือนโดนพี่ยอร์ชแกล้งนะ คือเขาให้ยิปโซเล่นเป็นตัวละครที่ชอบโดนแกล้ง เหมือนชีวิตจริงมากที่สุด คือถ้ายิปโซเจอคนประเภทนี้ ยิปโซจะมีความจักจี้อะไรบางอย่าง อยากจะแกล้งอยากจะแหย่อยากจะแซวมันอ่ะ” เธอเล่าเพราะเหมือนกับเธอได้ล้อเลียนตัวเอง ในสิ่งที่ตัวเองเป็น

นอกจากบทบาทนักแสดง เหมือนดาราคนอื่นที่ต้องหันมาจับไมค์บ้าง ยิปโซบอกว่า การเป็นนักร้องที่ดียากกว่าการเป็นดาราเยอะ ยิ่งการร้องเพลงต่อหน้าคนเยอะๆ ดูท่าจะไม่ง่ายเหมือนสวมบทบาทหน้ากล้องและกองถ่าย

“ถ้าให้อยู่กับตัวเองในห้องอัด ไม่มีอะไรมากดดัน ก็พอทำได้ แต่ถ้าจะให้ไปแสดงแบบมินิคอนเสิร์ต ทุกอย่างคงพังหมด คนเรามันไม่เหมือนกัน เพราะเราไม่ใช่นักร้องถูกไหมคะ” คิดตามมันก็จริงอย่างเธอบอก ทำได้…แต่อาจจะไม่ดีเท่ากับมืออาชีพ แล้วมืออาชีพนักแสดงกับมืออาชีพพิธีกร อย่างยิปโซอยากเป็นนางเอกมืออาชีพจริงๆ บ้างไหม?

“ก็มีความรู้สึกนั้นนะ แต่ว่าทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับโอกาส ความเหมาะสมแล้วก็การสื่อสารด้วย ความจริงคืออยากลองทำในหลายๆ อย่างที่เราไม่เคยทำ แต่เดี๋ยวนี้นักแสดงเยอะ ดาราเยอะ โอกาสก็น้อยลงไปเรื่อยๆ”

4

อาจจะเป็นปมตั้งแต่ตอนเรียนมัธยมที่ไม่ค่อยได้ทำกิจกรรม จึงทำให้ยิปโซอยากจะเรียนรู้ชีวิตในการทำสิ่งที่แตกต่างออกไป หลังเข้ามหาวิทยาลัย มีกิจกรรมหลายๆ อย่างรออยู่ ยิปโซจึงไม่ปล่อยให้โอกาสนั้นหลุดไป

“ก็ทำหมดค่ะ เข้าปีหนึ่งก็เป็นเชียร์ลีดเดอร์เลย” อย่างที่หลายๆ คนบอกไว้ อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยถ้าไม่ทำกิจกรรม จบมาก็ได้แค่กระดาษใบเดียว

คนที่ชอบทำกิจกรรมอย่างเธอ อยากลองทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่พลิกกลับอีกด้าน ในฐานะนิสิตคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เบื้องหลังต้องอยู่กับตัวเลข ยิปโซบอกว่า เลือกเรียนบัญชีทั้งๆ ที่ไม่ชอบ

“เพราะว่าอยากรวย คิดไปว่าการเรียนบัญชีเป็นอะไรที่แน่นอนที่สุด จบไปมีงานทำชัวร์!”

เล่าถึงตอนเลือกคณะเข้ามหาวิทยาลัย เธอบอกว่า ทำไปโดยไม่มีสติ ไม่ได้จริงจังอะไรกับความคิดในตอนนั้น เป็นธรรมดาของวัยรุ่นไทยที่ยังไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไรในชีวิต คิดแค่ว่าจะเข้าที่ไหนดี

“การตัดสินใจตรงนั้นมันใหญ่กว่าที่เราคิด มันไม่ใช่แค่ว่าไปที่ไหนดีนะ เพื่อนเราไปที่ไหนกัน ที่ไหนเดินทางสะดวก แล้วที่ไหนหาของกินง่ายของกินมีเยอะ…มันไม่ใช่ อันนี้คือที่ที่เราจะอยู่กับมันไปอีกในเวลาหลายปีที่เราเลือก”

หลายๆ คนก็คงคิดเหมือนยิปโซ คิดแค่ว่าจะเข้าที่ไหนดี เพื่อนเลือกคณะไหนกัน สำหรับเธอ การตัดสินใจเป็นอย่างหนึ่งที่ดูจะไม่ใช่เรื่องถนัด ซึ่งเธอก็ยอมรับว่า คนเราปรับเปลี่ยนกันได้ การเรียนในสิ่งที่ตัวเองไม่ถนัดดูเหมือนจะเป็นเรื่องยาก แต่เวลาก็ช่วยให้คนเราปรับตัวได้ ตอนนี้เธอก็มีความสุขกับการได้เรียนรู้อะไรบางอย่างมากกว่าการเรียน ซึ่งเธอพยายามอธิบายให้เราเข้าใจ

“เรียนเยอะมากกก…ทุกอย่างต้องพึ่งพาสังคมและเพื่อนเยอะมาก ด้วยการที่เราทำงานตรงนี้ ทำให้เราไม่ถนัดต่อระบบมาก มันทำให้เรารู้สึกไร้พลังไร้อำนาจในการที่จะทำอะไรให้สำเร็จ” ยิปโซว่าอย่างนั้น เราเลยถามต่อว่าเธอชอบระบบการเรียนแบบนี้ไหม?

“ไม่ชอบค่ะ แต่ชอบในแง่ของการที่เราเรียนไปเพื่อจะเรียนรู้อะไรบางอย่างมากกว่า”

ความจริงของมนุษย์ ทุกอย่างเรียนสามารถรู้ และตอบคำถามได้ด้วยตัวเอง ว่าอนาคตของแต่ละคนควรเป็นเช่นไร อยากทำสิ่งไหน

ตอนเป็นเด็ก ยิปโซมีความฝันเหมือนเด็กสาวหลายๆ คนว่า อยากจะเป็น ‘แอร์โฮสเตส’ ไม่ใช่เหตุผลเรื่องยูนิฟอร์มสวย แต่เป็นเพราะชอบเครื่องบิน

“ชอบบรรยากาศของสนามบินมากๆ” คำพูดย้ำซ้ำๆ เธอบอกอีกว่าอยากใช้ชีวิตอยู่กับเครื่องบินตลอดเวลา เราเลยถามแหย่กลับไปว่า แล้วพนักงานบัญชีล่ะ สายงานที่เรียนมา ไม่อยากเป็นแล้วเหรอ

“ไม่ค่ะ…ไม่มีทางแน่นอน คือตอนนี้รู้แล้วว่า ตัวเองอยากเป็นอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่พนักงานบัญชี ประสบการณ์มีไว้ก็ดีนะ ทำให้เรารู้แคบลงว่าอยากเป็นอะไร” ในที่สุด ยิปโซก็เป็นคนหนึ่งที่พบตัวเองระหว่างทาง

DSC_0088 7

5

เอ…แต่ถ้าอย่างนั้น เมื่อตัดสินใจได้ง่ายๆ ว่าอยากทำอะไร หรือไม่อยากทำอะไรกับชีวิต เราก็มีเสรีภาพในการเลือกได้หมด

“ยิปโซว่า ไม่ได้นะ ถ้าจะเป็นอิสระในการทำตัวอย่างไรน่ะเลือกได้ แต่ถ้าจะเลือกทางเดินให้ไปทางไหน บางทีมันถูกสร้างไว้แล้ว แต่ถ้าเดินแบบไหนน่ะเลือกได้”

ช่วงนี้เป็นช่วงโปรโมทหนังเรื่องใหม่ ‘วาเลนไทน์ สวีทตี้’ เป็นเวลาที่ทั้งผู้กำกับและนักแสดงต้องทุ่มเกินร้อย เพราะการฉายหนังมันไม่เหมือนอย่างอื่น มีความหนักหน่วงเป็นช่วงๆ ช่วงไหนไม่ต้องออกสื่อ ก็จะเก็บตัว…ว่าง ในช่วงเวลาที่ว่าง อยากทำอะไรก็ได้ทำ

“มันก็คงเหมาะกับการเป็นตัวเราแล้วละ เราก็คงเป็นคนประเภทนี้เหมือนกัน ถ้าเกิดว่าช่วงเวลาหนึ่งมีปัญหาอะไร ก็พยายามจะเดินทางสายกลางนะ แต่โดยส่วนตัวแล้วไม่ค่อยมีตรงกลาง มันจะโปร่งๆ มากกว่า”

น่าสงสัยว่าเธอทำงานหนักไม่มีวันหยุดขนาดนี้ ไหนจะทั้งเรียน เวลาของเธอมี 24 ชั่วโมง เหมือนเรา-คนธรรมดาหรือเปล่า

“ช่วงนี้กิจกรรมที่มหาวิทยาลัยก็ไม่ค่อยมีแล้ว ส่วนการเรียนเราก็ไปในจังหวะของเรา แล้วงานเราก็ไปในจังหวะของเขา” เธอพูดแล้วก็หัวเราะ

“เราเลือกไม่ได้”

แม้ว่าส่วนใหญ่จะได้ยินแต่เสียงหัวเราะร่าเริงจากเธอ แต่ในบางมุม ยิปโซก็ดูเป็นคนคิดเยอะเหมือนกัน

“คิดเยอะนะ ไม่ใช่คิดมาก” ย้ำว่าตัวเองเป็นคนชอบคิด เห็นข้างนอกยิ้มๆ หัวเราะรั่วๆ แต่ในหัวเธอเป็นอย่างไรหนอ

“คิดอยู่ในหัวตลอด ก็คิดหลายๆ เรื่อง แต่ไม่ได้เป็นคนที่คิดเรื่องเดียวแล้วหมกมุ่น แล้วอีกอย่างก็เป็นคนนิ่งยาก เพราะเวลาเราไปไหนเราเอาหัวไปด้วยจริงไหมคะ” ยิปโซย้อน มันก็จริงของเธอ แล้วถ้ามีเรื่องต้องคิด ต้องแบกไปด้วย ถ้าไม่ทำตัวรั่วตลอด เวลาแห่งความสุขจะอยู่ที่ไหน

“เวลาที่สงบค่ะ ซึ่งตอนนี้หายาก ตอนไหนที่เราสงบจะดีมากเลย ตอนนี้ก็พยายามอยู่ว่าจะทำอย่างไรให้สงบ แล้วก็กำลังฝึกตัวเองคิดให้เป็นระบบมากขึ้น ชีวิตตอนนี้มันมีอะไรผ่านเข้ามาในชีวิตมากเหลือเกิน ทำให้เราหาความสงบลำบาก แต่คาดว่าวันหนึ่งมันก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ”

อืม…ถึงแม้จะคิดเยอะ แต่ความคิดของเธอนั้นไม่เลอะเทอะแม้แต่น้อย

 

 

(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก กุมภาพันธ์ 2555)

Author

WAY

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า