เรื่อง : อธิเจต มงคลโสฬส
ภาพ : อนุช ยนตมุติ
การตกสมัยในพุทธศักราชอันผกผันซึ่งแข่งขันกันบนความเร็วของข้อความ บีบี ในระดับ 3 ถึง 4 จี และ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมงของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ แล้วผู้คนที่ผูกตัวเองไว้กับการงานแห่งวลีขำๆ อย่าง รถไฟ เรือเมล์ ลิเก ตำรวจเล่า ยืนอยู่บนบทบาทใดแห่งยุคสมัย
เสน่ห์ที่เคยมัดใจหญิงสาวจนถูกตรีตราว่าไม่อาจเชื่อใจในคำบอกรัก กำลังเสื่อมคลายไปแล้วใช่ไหม
ผมเดินทางไปบนรางเหล็กของรถไฟสายเหนือ โยกตัวบนเรือเมล์ริมลำคลองแสนแสบ ท่องหลังโรงลิเกที่ไม่เปิดวิกในหน้าฝน กระทั่งระหว่างลูกกรงห้องขังของสถานีตำรวจพระโขนง เพื่อพูดคุยกับบุคลากรที่บ้างอยู่ระหว่างยุคสมัย และบ้างก็กำลังจะถูกถีบโดยเข็มนาฬิกาให้ผ่านเลย
*****
ตีตั๋วไป…รถไฟออกทุ่มครึ่ง
อยู่ในเครื่องแบบของพนักงานรถไฟมาถึงขวบปีสุดท้ายก่อนเกษียณ มนูศักดิ์ พึ่งเอี่ยม วัย 59 พนักงานรถนอนชั้นหนึ่งยืนต้อนรับผู้โดยสารด้วยสำเนียงปลาทูเปื้อนเนย
“ฮัลโล เฟิร์สคลาส”
วันนี้ผู้โดยสารส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติเหมือนวันอื่นๆ เวลาล่วงเลยถึงช่วง 2 ทุ่ม เสียงออดแข็งๆ ดังขึ้นในห้องพักแคบๆ ของมนูศักดิ์ ส่งสัญญาณให้ทำหน้าที่ เขาเดินตรงไปยังห้องผู้โดยสาร เคาะประตูอย่างมือบริการ-แผ่วเบา แล้วเข้าไปจัดการปูนอนด้วยความรวดเร็ว แน่นอน ยิ้มแย้ม
ไปเที่ยวไหนครับ พักที่ไหน คือชีวิตประจำวันที่เป็นฝ่ายเลือกถ้อยทักทายยัดใส่ปากเขา เพื่อแสดงความไม่มีพิษภัยต่อผู้โดยสาร
แน่นอนอีกเช่นกัน บวกพ่วงด้วยภารกิจปูเตียง…เตียงที่เขาไม่ได้นอน
ณ ตู้เสบียงในค่ำคืนที่ไม่มีเสียงเพลง
“เมื่อก่อนมีเพลงเปิด เพลงอังกฤษ ฝรั่งเศส ฮอลแลนด์บ้าง แล้วแต่ผู้โดยสาร แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว ได้ยินว่ามีผู้โดยสารแจ้งว่ามันรบกวน นอนไม่หลับ ก็เลยไม่ให้เปิด เราอยากเปิดนะ มีเพลงมันก็คึกคัก มีชีวิตชีวาดีเวลาทำงาน” พนักงานเสบียงในเครื่องแบบบริการบอกเล่าให้ฟัง
ตอนนี้-4 ทุ่มครึ่ง ตู้เสบียงปิดบริการ ภาพที่เห็นคือมีผ้าใบปูพื้นและการหลับนอนด้วยเหนื่อยล้าของคนทำงาน หลังหัวค่ำใครหลายคนพยายามเดินหาว่าห้องน้ำในตู้ไหนมีน้ำไหลพอที่จะอาบชำระล้างร่างกาย
ระหว่างตู้รถไฟมีที่ห้ามล้อปลดเกษียณ แต่พนักงานรถนอนหลายคนยังใช้มันเป็นที่หนุนนอน และคลุมตัวด้วยผ้าห่มไล่ความหนาว ระหว่างตู้ชั้น 1 กับชั้น 2 มีห้องแคบๆ ห้องของมนูศักดิ์ที่ตอนนี้กำลังนอนแผ่บนพื้นอย่างเคยชิน จากท่าทาง ใครที่เห็นย่อมรู้สึกได้ว่าเขากำลังหลับสบาย บางที่อาจสบายกว่าที่บ้าน เหมือนอีกหลายชีวิตที่นอนบนรถไฟมากกว่าบนพื้น พื้นในความหมายของเคหสถาน
ขณะที่ผู้โดยสารบนเตียงที่ผ่านการปูโดยพนักงานรถไฟบางคนยังนอนไม่หลับ
เมื่อถึงที่หมาย มนูศักดิ์มีเวลาพักผ่อน 5 ชั่วโมงก่อนโดดขึ้นรถไฟขากลับ…เที่ยว 4 โมงครึ่ง
มนูศักดิ์เกิดที่แปดริ้ว มาโตที่สมุทรปราการ ในครอบครัวชาวนาที่ยอมรับว่ายากจนและลำบากชนิดมีอะไรมาให้ทำขอให้เป็นเงินและถูกต้องเขาทำทั้งนั้น ในช่วงหมดหน้านาต้องไปปลูกมันปลูกข้าวโพดที่ชลบุรี พอดีเกิดไข้ป่าระบาด เขาระเห็จเข้ามาทำงานรถไฟที่กรุงเทพฯ
“มาอยู่ใหม่ๆ คิดถึงบ้านมาก เป็นธรรมดาคนเราไม่เคยจากบ้าน แรกเลยมาถูพื้นบนรถไฟ แล้วก็ไปเป็นนักการ เดินหนังสือส่งหนังสือ จนมาเป็นหัวหน้าพนักงานทำความสะอาด ทีนี้นิสัยผมปกครองคนไม่เป็น คือเกรงใจ ว่าใครไม่เป็น ใช้เขาแล้วเขาไม่ทำ ไม่รู้จะทำยังไง ผมก็ขอกลับไปเป็นนักการ พอดีตำแหน่งนี้เปิดรับ ผมเลยมาสอบ” มนูศักดิ์รำลึกถึงห้วงยามในปี 2511
มาถึงตอนนี้บนบ่าเขามีดาว
“พ่อกินข้าวกัน” พนักงานรถนอนคนหนึ่งเข้ามาในห้องแคบๆ ที่เรากำลังสนทนา พร้อมจานพลาสติก ป้ายชื่อบนหน้าอกเขียนว่า พีรชาติ พึ่งเอี่ยม
พ่อลูกกินข้าวบนความโคลงเคลงของรถไฟ ข้าวร้อนๆ จากตู้เสบียง กับข้าวเป็นของแห้งอย่างปลาร้าข้าวคั่ว ปลาสลิดทอดแห้งๆ จากกรุงเทพฯ ที่กินระหว่างทางกลับ
พิษไข้ป่าพามนูศักดิ์มาพบงานรถไฟ พิษเศรษฐกิจสี่ศูนย์พาลูกชายของมนูศักดิ์หล่นลงไม่ไกลต้น จากพนักงานเงินเดือนเอกชนมาเป็นพนักงานรถนอน พาลูกชายมาพบงานปูที่นอนบนรถไฟในตู้ติดกันกับพ่อ บนบ่าพ่อมีดาวติด 3 ดวง ขณะของลูกชายยังว่างเปล่า
ตามกำหนดการควรถึงที่หมาย 6 นาฬิกา 40 นาที แต่ตามปรากฏการณ์จริง 8 โมงคือเวลาอย่างน้อยหรืออาจมากกว่า
“ฮัลโล อะบ๊าว เท็น มินิท แต็งกิ้ว” นี่เป็นคำอธิบายเพื่ออุ่นใจสำหรับชาวต่างชาติผู้ไม่ชำนาญกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และสำหรับมนูศักดิ์ มันเป็นเรื่องท้าทายในการต้องสื่อสารในภาษาอื่นบนการศึกษาชั้นประถม 5 ในยุคที่เลี้ยงลูกด้วยกล้วยน้ำว้าบดกับข้าวเหยาะเกลือ
“ผมชอบอาชีพนี้มาก ได้พบปะผู้คน ลูกค้าประจำบางคนเขาก็ผูกมิตรพูดคุยกับเรา สำหรับชาวต่างชาติ เขามาแล้วก็จากเราไป สำหรับผมแล้ว ก็อยากจะทิ้งสิ่งดีๆ ให้แก่เขา จะทำยังไงให้เขารู้สึกปลอดภัยเมื่ออยู่กับผม และรู้สึกว่าผมไม่มีพิษภัย สำหรับผม นี่คือความท้าทายของอาชีพนี้”
เป็นความท้าทายที่ช่างราบเรียบในสายตาของนักลงทุนบนตึกสูง
*****
“นี่แหละแสนแสบ” เป็นคำของคนบนเรือเมล์ริมท่าเขาว่ากัน
คลองแสนแสบวางตัวเองอยู่บนเส้นทางของหลากชีวิต ทั้งครู ข้าราชการ นักเรียน นักธุรกิจ ในย่านอโศก-ประตูน้ำ อาจมีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่พลัดหลงมาในเส้นทางย่านท่องเที่ยวของผ่านฟ้าลีลาศ
หากเป็นฝรั่งมาย่านรามฯ พวกเขาต่างสปีคไทยกันได้คล่องแล้ว นั่นจะไม่เป็นปัญหาสำหรับ อุทิศ ปาทอง นายกระเป๋าเรือเมล์วัย 37 แห่งย่านวัดศรีบุญเรือง
วันนี้มีถังไอศกรีมกะทิวางอยู่ริมท่าวัดศรีฯ คนเสื้อน้ำเงินขุ่นเดินมาตัก โดยไม่มีเบื้องลึกของจุดยืนด้านการเมือง แต่เสื้อน้ำเงินขุ่นเหมือนจะเป็นเครื่องแบบ
“คงเพื่อให้เข้ากับสีน้ำคลอง จริงๆ สีน้ำเงินนี่มันออกจะเป็นสีของน้ำทะเลมากกว่า แต่พอใส่ทำงานมันก็ดี ไม่เปื้อนง่าย เวลาทำงานจะโดนน้ำคลองกระฉอกใส่บ่อยมาก ผู้โดยสารนั่งในเรือบางทีก็โดนบ้าง แต่เราเป็นกระเป๋าต้องยืนอยู่ด้านนอก บางทีโดนจนเปียกเลยก็มี” นี่คือเรื่องของอุทิศ หนุ่มอีสานจากอำนาจเจริญผู้มาแสวงหาที่ทางในเมืองหลวง
เขาหาพบ
อุทิศเฉลยที่มาของไอติม-ของหวานในสำนวนไทยๆ 3 ถังริมท่าว่าเป็นค่าปรับลงโทษ หากขับเรือแรง น้ำกระฉอกใส่ผู้โดยสาร หรือปล่อยให้ผู้โดยสารมายืนบนกราบเรือก่อนถึงท่า ตามแต่กรณีจะคิดการลงโทษปรับ
ลงเรือลำเดียวกัน ปรับไอศกรีมถังเดียวกัน เลี้ยงเพื่อนๆ ก๊วนด้วยกัน ผู้ถูกลงโทษยิ้มเขินเสียสตางค์ เพื่อนๆ ยิ้มหวาน หวานปากในรสฉ่ำๆ ของไอศกรีม
“ช่วงนี้เรียกว่าเรือติดเวลา เป็นช่วงพัก ไปถามเวลาออกเรือจากนายท่า รอเวลาตามวิน ใครจะไปไหนก็ได้ กลับห้องไปซักผ้า นอนดูทีวี พักผ่อน ส่วนใหญ่ก็เช่าห้องพักกันอยู่แถวนี้แหละ จะได้มาทำงานสะดวก” อุทิศบอก เรามองดูเพื่อนนายกระเป๋าหยอกกันแย่งนอนเปลญวน พวกผู้หญิงกินอะไรคุยอะไรไปเรื่อยอยู่แถวริมท่า ขณะพวกนายขับนั่งที่ศาลาดูทีวี
ในลักษณะงานของลูกจ้างรายวัน มีหมวกกันน็อคของตัวเอง มีเรือประจำ มีค่าแรงตามรายวันที่ทำ มีอิสระในแบบฟรีแลนซ์ เพียงแต่ขอให้ตัดผมเข้ารูปเข้ารอย อย่าให้ยาวเป็นจิ๊กโก๋ นี่คือกฎง่ายๆ จากคนเป็นเถ้าแก่ที่ใครๆ ต่างเรียกว่า ‘ลุง’
ลูกอีสานบางคนกลับบ้านไปทำนา แม่บางคนกลับบ้านไปหาลูกที่ยังเล็กในวันที่ 12 สิงหา แต่ในบางความเบื่อ อุทิศขับรถเที่ยวไปถึงยูนาน
ส่วนในความเบื่อตอนนี้เพื่อนนายกระเป๋าคนหนึ่งของอุทิศใช้เวลาบากมีดลงขอบผ้าใบคลุมเรือเหนียวๆ แล้วดึงออกเป็นเส้น เรียกเพื่อนอีกคนมาช่วยออกแรงดึง ดึงกันแทบตกคลอง ได้เป็นเส้นหลายแล้วผูกกับหลักเสา เพื่อเพิ่มจำนวนเปลญวน
ในช่วงกลางวันเรือออกตามเวลาวิน เข้าท่าประตูน้ำ รอติดเวลา แล้วออกท่าประตูน้ำ กลับวัดศรีฯ นั่งเล่นนอนเล่นจนถึงชั่วโมงเร่งด่วนในการจรกลับของคนเมือง
ชั่วโมงเร่งด่วนเรือต้องตีลำเปล่าไปรับผู้โดยสารด้วยความเร็ว ขณะคนที่นั่งไปด้วยอย่างกระเป๋าและนายขับปะทะกับคลื่นคะนองของคลองแสนแสบ เพื่อให้ทันหัวใจรีบเร่งของคนเมืองบนท่าอโศก วันนี้น้ำลดลงต่ำ เพราะฟ้าทำท่าครึ้มฝน พวกเขาจึงเร่งสูบน้ำป้องกันล้นคลอง
เรือกระแทกตกหลุมคลื่นดังตูม!
“บางครั้งจุกเลยนะ อย่างที่บอกแหละ ช่วงแรกๆ ผมเดินกลับบ้านข้ามสะพาน รู้สึกว่าสะพานมันโยกเหมือนอยู่บนเรือ” อุทิศย้อนนึกถึงช่วงแรกที่มาจับงานกระเป๋าเรือ
เรือถึงท่าอโศก นายขับเร่งเรือชนขอบคลอง ใช้หัวเรือเป็นจุดหมุนเลี้ยวเรือรับผู้โดยสาร
“จะกลับเรือต้องใช้วิธีนี้ ตรงนี้คลองมันแคบ เอา! ปัดหัวเรือหน่อยเดี๋ยวแม่ย่านางว่า ”นายขับหันบอกกระเป๋าผู้ตรงดิ่งไปนอนปัดเศษปูนตรงหัวเรือ
อุทิศโดดขึ้นท่า ผูกหลักรับ-ส่งผู้โดยสารอย่างเป็นกิจวัตร เขาเตรียมใจกลับบ้านเมื่อใกล้ถึงท่าวัดศรีฯ แต่แล้วนายท่าโบกมือให้เรือเขาวกกลับไปอีกรอบ อุทิศยิ้มส่ายหน้า “สงสัยวันนี้โดนเรือบ๊วย ว่าจะกลับวันๆ เสียหน่อย”
คือเรือเที่ยวสุดท้ายก่อนกลับบ้าน ความเหนื่อยล้าฉายชัดมาตามสีหน้า ขณะเรือติดเวลาที่ท่าประตูน้ำ ในความมืดที่เรือผูกกับหลักและดับเครื่อง มีบทเพลงครวญเบาจากนายกระเป๋าผู้นอนแผ่ตัวอยู่ที่หัวเรือ แสงไฟฉายจับลงมาที่เขา ไม่ใช่แสงจันทร์ แต่เป็นแสงสปอตไลท์จากเครนก่อสร้างใกล้ๆ
ถึงท่าวัดศรีฯ…หมดไปอีกวัน พรุ่งนี้ 5 นาฬิกา ในชั่วโมงเร่งด่วนอีกครั้ง ในวิถีรายวันอิสระของกระเป๋าเรือเมล์อีกครั้ง หากอยากได้เงิน เขาต้องมาเช็คชื่อเข้างาน แต่ถ้าอยากไปเที่ยว…ก็ไปได้ ในความหมายของกระเป๋าแฟบๆ
*****
“มีความลำบากอยู่หลังม่านลิเกเสมอ มันไม่สวยงามเหมือนฉากหน้าหรอก”
คือคำบอกเล่าของ ดวงฤดี แสงอนันต์ ผู้เติบโตหลังม่านวิก ได้รับแรงบันดาลใจจากนางโกงผู้ได้ชื่อว่าแม่
ในวันหนึ่งของช่วงฤดูฝน ลิเกไม่ออกวิกที่ไหน เธอบอกว่าบางคนไปขับแท็กซี่ บางคนไปขายเสื้อผ้าตามตลาดนัด บางคนกลับไปทำนาที่บ้าน ทำเพื่อหาเลี้ยงชีพ แต่ในวันวานของหลายสิบปีก่อนในช่วงออกวิกนอกหน้าฝน ดวงฤดีขึ้นเวทีครั้งแรกเมื่ออายุ 14 ยืนรออยู่หลังม่านท่ามกลางเพลงโหมโรง เธอเริ่มด้วยการร้อง “เฮ ฮัดช่า มาลาลา มาลันลา ลันลา…”
ออกแขก
ตามความเป็นไปของชีวิตลิเกเหมือนอย่างมารดา ไล่เรียงตั้งแต่เป็นลูกนางเอก นางเอกลูก(คือนางเอกในวัยเด็กตามท้องเรื่อง) นางเอก นางโจ๊ก จนถึงนางโกง
“สมัยก่อนแม่ยกตามแห่ก็ไม่ตามถึงขนาดนี้ ไม่มีซื้อรถ ซื้อบ้าน เพราะว่าเมื่อก่อน คนที่ดูลิเกก็จะอายุ 50-60 คนมีอายุชอบทีก็ซื้อก๋วยเตี๋ยวมาให้ห่อ ซื้อน้ำมาฝากถุง นั่นคือชอบการแสดงของเรา ให้เงิน 20-30 แต่เดี๋ยวนี้ถ้ามีแม่ยกบุญทุ่ม ก็เอารถไปคันหนึ่งเลย”
ในคืนวันเหล่านั้น มีมหรสพชีวิตมากมายซ้อนทับอยู่
“ลำบากตั้งแต่จะรวมตัวกันไปเล่นแล้ว สมัยก่อนลิเกจะไปเป็นคณะบนรถสองแถวใหญ่ แต่บางคนมีงานทีก็บอกกันที แล้วรวมตัว เมื่อก่อนไม่มีมือถือ ยากนะเวลาจะรวมตัวกัน กินอยู่อะไรก็แล้วแต่เจ้าภาพเขาจัดมาให้ ครั้งไหนเจ้าภาพดูแลดีก็ดีไป ครั้งไหนพาเราไปทิ้งไปลำบากก็แย่หน่อย” ดวงฤดีเคยต้องไปออกวิกมาแล้วตั้งแต่งานบวช งานบุญ ไปถึงงานศพ งานล้างป่าช้า
จากยุคที่แป้งเมเยอร์สำหรับทาแต่งหน้าราคาตลับละ 5 บาท จนถึงปัจจุบันตลับละ 20 ใช้ได้ 3-4 งาน ลิเกผลัดเปลี่ยนยุคสมัยอันแปลกประหลาดของวัฒนธรรม จากสมัยที่ต้องรำเข้าฉาก วาดตัวขึ้นนั่ง ป้องหน้าแล้วร้องกลอนสด มาถึงยุคที่ลิเกแต่งองค์ทรงเครื่อง เดินอาดๆ ออกมาร้องเพลง เล่นไม่เป็นเรื่อง เล่นแค่พอให้สนุก รับเงินแล้วกลับ
“เราก็ไม่ใช่ฝีมือเก่งอะไรหรอก แต่ก็อยากรักษาลิเกแท้ๆ เอาไว้ เดี๋ยวนี้งานลิเกมันมีน้อยลงทุกที จางหายไปตามยุคสมัยแล้ว ลิเกออกวิกครั้งหนึ่งมีกำไรยาก ถ้าจะจัดให้ ราคาต้องถึง 4 หมื่น ไม่มีใครอยากดูลิเกจริงในราคานี้กันแล้ว” เธอบอกกับเราในวันหนึ่งของฤดูฝนที่ 43 ของชีวิต
วันนี้ดวงฤดีผันตัวเองมาเป็นครูสอนรำไทย โขน ละครรำ และแน่นอน-ลิเก แต่เด็กสมัยนี้มี Hip-Hop มี Korea เป็น Sub-Culture ไปแล้ว
ไม่ได้ดัดจริตเขียนภาษาต่างแดน แต่มันดูเหมาะกับยุคสมัยนี้เสียเหลือเกิน
“เราต้องบอกเขา ต้องค่อยๆ อธิบาย ถ้าเขาอยากเต้นฮิพฮอพ เต้นเกาหลี ดูแล้วเต้นตามทีวีก็ได้ เด็กๆ เขาติดอยู่ว่ารำลิเกมันยาก แน่นอนมันต้องหัด ต้องใช้เวลา ที่สำคัญคือต้องใจรัก”
นอกจากนี้ดวงฤดียังรับจัดงาน-ออกงาน เรียกว่าเป็นออร์แกไนเซอร์ด้านงานรำก็ว่าได้ ในนามคณะมินตราธิดาดวงใจ เป็นชื่อที่ลูกสาวของเธอในวัย 14 ตั้งขึ้น และแทบจะเป็นภาพซ้อนทับกันกับวันวานของเธอที่อยากจะเป็นลิเกเหมือนแม่
“ก็บอกเขานะ ว่าไม่อยากให้เป็นลิเก เพราะมันลำบาก แต่เขามาทางนี้ อยากเก่งได้สักนิดนึงของเรา เลยต้องปล่อยเลยตามเลย ให้ทำตามใจไป” ดวงฤดีบอกเราพร้อมรอยยิ้ม เป็นยิ้มที่หากใจไม่ดำด้วยฝุ่นควัน ย่อมบอกได้ว่ามันเจือความห่วงใย ใต้เครื่องสำอางตามแบบลิเกเก่า
*****
บนมาตรฐานความถูก-ผิดในฐานะตำรวจ
ตามหน้าที่ของสิบเวรผู้ทำงานจัดการความรู้สึกระหว่างคนกับกฎระหว่างกรง สำหรับเขาผู้ร้ายกับคนหิวก็พวกเดียวกัน แม้ไม่สมเหตุสมผลสำหรับใครบางคนที่ว่าคนอิ่มแล้วใช่ว่าจะไม่เลว คนหิวก็ใช่ว่าจะเป็นคนร้าย
ใช่, แต่อย่างน้อยสิบเวรบนอายุ 53 ผู้ขอสงวนนามเห็นว่า “คนหิวเขาต้องได้กินนะ”
ประวัติย่นย่อของสิบเวรผ่านสายตาคนชอบหวย – สิบเวรเคยไปเป็นทหารอยู่หลายปี ซื้อหวยมาหลายงวดไม่เคยถูก จนมาเป็นตำรวจเจอสูตรคิดหวย ซื้อมาก็ถูกอยู่เรื่อยๆ ตั้งแต่สมัยทำอยู่งานธุรการใช้กระดาษคิดหวย มาถึงตอนนี้มาประจำหน้าห้องคุมขัง สามารถใช้คอมพิวเตอร์คิดหวยได้สะดวกรวดเร็ว ตอนนี้ไม่เล่นหวย หันมาให้หวยแทน งวดล่าสุดก็ถูก แต่ไม่ถูกเลขที่เต็งไว้ เป็นเลขเต็งรองลงมา
บทสนทนาระหว่างลูกกรง
16.00 น. ถึง 17.00 น. คือเวลาเยี่ยมผู้ต้องหา
มีบทสนทนาเงียบๆ ลอดไปมาระหว่างลูกกรง ระหว่างหญิงสาวที่มีรอยสักเบื้องนอก กับหนุ่มในข้อหาครอบครองยาไอซ์สำหรับจำหน่ายหลังซี่กรง
20.24 น. สิบเวรลุกขึ้นเขียนบนกระดานหลังรายชื่อของผู้มาใหม่ว่า ‘ข่มขืน’
หนุ่มคนนั้นดูจมเครียด ญาติๆ ยืนอยู่หน้าห้อง มีกระจกปิดกั้นบทสนทนา แผ่นกระจกขุ่นมัวบดบังการมองเห็นให้เหลือเพียงเลือนราง แต่ตอนนี้สิบเวรเปิดประตูกระจกนอกเวลาเยี่ยม
ชายคนหนึ่งพยายามให้กำลังใจอยู่นอกลูกกรง ไม่เป็นไรหรอก อย่าเครียด แต่อีกฝ่ายคอตกแขวนตัวอยู่กับความเศร้า หญิงสาวบางคนเงียบ เมื่อลอบสังเกต
เธอร้องไห้เบาๆ
เวลานั้น ไม่ใกล้ไม่เฉียดเวลาเยี่ยมแต่อย่างใด ทุกครั้งที่เป็นแบบนี้ คำว่าสินบนถูกหยิบยกขึ้นมา “ไปซื้ออะไรมาให้ผมหน่อยก็แล้วกัน”
21.03 น. หญิงสาวคนหนึ่งแอบโบกมือไม้ให้ร่างไหวๆ ตรงข้ามประตูกระจกที่ถูกปิด
22.00 น. “เอาแปรงสีฟัน กางเกงชุดชั้นในมาให้นะ” “นี่เพิ่งเลิกงานมาก็รีบมาเลย” “ที่บ้านเดี๋ยวยังไงก็จะจัดการให้นะ ไม่ต้องเป็นห่วง” “พรุ่งนี้อยากกินอะไร…เดี๋ยวซื้อหมูปิ้งมาให้นะ” “ซื้อขนมปังมาให้สองสามห่อ แต่พี่เขาให้เอาเข้าไปแค่ห่อเดียวนะ” “เดี๋ยวพรุ่งนี้ไปดูบ้านให้นะ วันนี้ไปรับลูกเลยมาช้า”
คำพูดมักมาจากผู้อยู่นอกกรง และคงจะพูดไปได้ถึงเช้าหากสิบเวรไม่ทำหน้าที่
บทสนทนาระหว่างคืน
คืนนี้มีสิบเวรอีกคนมานั่งเป็นเพื่อนร่วมคืน (และอีกหลายคืน)
“เขาถูกลงโทษทางวินัยมาฝากขังที่นี่จากสถานีตำรวจอื่น ว่ากันตามกฎ เขาต้องไปนอนในห้องขัง แต่ตำรวจเราให้เกียรติกัน เลยให้เขามานั่งแถวนี้ ไปไหนมาไหนได้ แต่ไม่ให้ไปไกล ถ้าเขาไปไหนแล้วเกิดอะไรขึ้น ผมก็จะถูกลงโทษเหมือนเขา” สิบเวรแอบเล่าให้ฟังอย่างเคารพเพื่อนร่วมอาชีพ
สาวเสิร์ฟเดินมาขอเมนูอาหารคืน สิบเวรสั่งต้มแซ่บปลา เธอไปที่ตู้โทรศัพท์ โทรสั่งแม่ครัวแล้วหายไป ระหว่างนั้นมีเม็ดบัววางอยู่ถุงใหญ่เป็นของรองท้อง
“ขนมคนแก่ ไม่อยากกินเลย” ว่าแล้วสิบเวรจัดแจงแกะมันกินและเชิญชวน
รสขมอมหวานกลิ่นแปลกๆ
หลังต้มแซ่บปลามื้อเย็น ปิดท้ายด้วยเม็ดบัวที่เหลือ ว่างนักก็ชักชวนสิบเวรอีกคนพูดคุยพร้อมหยิบเอาหนังสือ วิ.อาญา เล่มหนากางออกอ่าน
“ว่าจะสอบเป็นงวดสุดท้าย เห็นว่าปีนี้เขารับเยอะ เดี๋ยวนี้ตำรวจเราอยากออกต่างจังหวัดทั้งนั้น เงินเดือนเท่ากัน แต่ค่าครองชีพถูกกว่า งานอะไรก็น้อยกว่า อยู่ในกรุงเทพฯวุ่นวาย นี่เลือกสอบไปทางแนวบู๊ ว่าจะออกต่างจังหวัด” คือคำบอกก่อนก้มหน้าอ่านหนังสือของสิบเวร
*****
สำหรับ ‘พวกเขา’ ยังมีบางคนต้องการ เซย์ ฮัลโล เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ที่บิดเบือนกำหนดการถึง 2 ชั่วโมง ยังคงมีงานอิสระริมคลองแสนแสบที่เรื่องของคนกับคลองไม่อาจแยกจากกัน ยังคงมีบทบาทให้เล่นหลังม่านลำบากของวิกลิเก และยังคงมีหน้าที่ให้ทำระหว่างคืนไม่เงียบในสถานีตำรวจกลิ่นเม็ดบัว
ย่างก้าวแห่งยุคสมัย บนรางรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ด้วยความเร็ว 160 กม./ชม. ในคลองมีเงาแสงจากเครนก่อสร้างคอนโดฯย่านธุรกิจ ข้างเวทีลิเกคนเก่าก่อนนั่งนิ่งดูละครโทรทัศน์อยู่บ้านเพื่อประหยัดทรัพย์ในกระเป๋า ระหว่างลูกกรงมีกลิ่นขมอมหวานอยู่เสมอ
แล้วพวกเขายังเจ้าชู้อยู่ไหม?
ยิ้ม หัวเราะจากพวกเขาในแรกได้ยินคำถาม
“ไม่เจ้าชู้ แค่อัธยาศัยดี”
คือคำตอบ
******************************
(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ สิงหาคม 2553)