เรื่อง : อาทิตย์ เคนมี / ภาพประกอบ : k-9
ใกล้คลอดเต็มทีสำหรับคลื่นโทรคมนาคมระบบ 3 G ที่คนไทยตั้งตารอคอยมานาน หลังก่อนหน้านี้ล้มลุกคลุกคลานมาตลอด ถึงขั้นเกิดเหตุการณ์ล้มประมูลมาแล้วครั้งหนึ่ง กระทั่งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ชุดใหม่ได้เร่งสานต่อภารกิจจัดประมูลใบอนุญาตการให้บริการ 3 G บนย่านความถี่ 2.1 กิกะเฮิร์ตซ์ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายอีกครั้ง
หากไม่เกิดอุบัติเหตุพลิกผันกลางอากาศ คาดว่าคนไทยจะได้ร่วมชมร่วมเชียร์มหกรรมการประมูลเบ่งเค้กคลื่น 3 G ของ 3 บริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ภายในเดือนตุลาคมนี้
ท่ามกลางความคาดหวังต่างๆ นานาว่า ประเทศไทยจะไม่ตกขบวนแห่งการพัฒนาบนเส้นทางโทรคมนาคมแบบไฮ-สปีด และสามารถถีบตัวขึ้นจากกลุ่มประเทศล้าหลัง ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) จะเติบโตรุดหน้า และฝันไปไกลว่าเทคโนโลยีที่ว่านี้จะเป็นเครื่องมือช่วยกระจายความเจริญไปทั่วทุกภูมิภาค เช่นเดียวกับที่เคยเชื่อกันว่า หากมีน้ำไหล-ไฟสว่าง-ทางดี จะนำพาความสุขความเจริญมาสู่ปวงประชาโดยถ้วนหน้า
ทว่าหนทางการพัฒนาของคลื่นโทรศัพท์ไร้สายยุคที่ 3 (Third Generation Mobile Network) ของไทยอาจไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คิด เพราะหลังเสร็จสิ้นการประมูลครั้งนี้แล้ว ใช่ว่าถนนซูเปอร์ไฮเวย์สาย 3 Gจะเปิดให้บริการได้โดยไม่มีปัจจัยสะดุด ไหนจะเรื่องคุณภาพการให้บริการที่อาจไม่เป็นไปตามราคาคุย การขยายโครงข่ายสัญญาณที่ไม่ครอบคลุมทั่วถึง และการควบคุมราคาค่าบริการไม่ให้สูบเลือดสูบเนื้อผู้บริโภคมากจนเกินไป
นอกจากนี้ยังไม่นับอีกหลายปัญหาที่ซุกซ่อนอยู่ตามรายทางให้ต้องแผ้วถางกันต่อไป โดยเฉพาะปัญหาการส่งผ่านข้อมูลภาพและเสียงที่อยู่เหนือกฎเกณฑ์การควบคุมด้านเนื้อหา ทั้งในด้านศีลธรรมและความมั่นคง ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีมาตรการใดๆ ออกมารองรับ
เคาะราคาคลื่น 4,500 ล้าน เอกชนพุงกาง 15 ปี
ย้อนไปถึงสาเหตุของการล้มประมูลเมื่อครั้งก่อน เกิดจากบริษัทเอกชนผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมตบเท้าเข้าร้องศาลปกครองว่า คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ในสมัยนั้นไม่มีอำนาจในการจัดประมูล จนเป็นเหตุให้ต้องล้มเลิกกลางคัน กระทั่งต่อมา กทช. สิ้นสภาพและเข้าสู่ช่วงยุคสุญญากาศ แผนการลงทุนขยายโครงข่าย 3 Gของค่ายมือถือยักษ์ใหญ่จึงถูกพับเข้ากรุไปนานหลายปี
ประเด็นที่ กทช. ยุคนั้นถูกตั้งคำถามมากที่สุดก็คือ กทช. ไตร่ตรองรอบคอบเพียงใดในการนำทรัพยากรอันเป็นสมบัติของชาติไปจัดสรรให้กับกลุ่มทุนเพียงไม่กี่หยิบมือด้วยเงื่อนไขที่โอนอ่อน นำมาซึ่งกรอบเงื่อนไขในการตั้งราคาประมูลที่ต่ำกว่าความเป็นจริง และสุดท้ายประชาชนในฐานะผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์สูงสุดจริงหรือ
มาถึง พ.ศ. นี้ คำถามที่ว่านั้นก็ยังวนเวียนกลับมาที่เดิม…
นาทีนี้เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า รูปแบบประมูลไลเซนส์ 3 G ลงเอยอย่างไร พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช. ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ยืนยันชัดเจนว่า ที่ประชุมบอร์ดเห็นชอบร่างประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 3 G โดยมีมติปรับเพดานการถือครองคลื่นความถี่ (Spectrum Cap) ได้ไม่เกินรายละ 15 เมกะเฮิร์ตซ์ จากเดิมกำหนดไว้ที่ 20 เมกะเฮิร์ตซ์
หมายความว่า คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications – IMT) ย่านความถี่ 2.1 กิกะเฮิร์ตซ์ ที่มีอยู่จำนวน 45 เมกะเฮิร์ตซ์ และมีการตัดแบ่งออกเป็น 9 สล็อต สล็อตละ 5 เมกะเฮิร์ตซ์ กทค.อนุญาตให้ถือครองใบอนุญาตได้ไม่เกินรายละ 3 ใบ หรือ 15 เมกะเฮิรตซ์ โดยมีระยะเวลาการอนุญาต 15 ปี
บอร์ด กทค. ลงความเห็นว่า หากให้สิทธิถือครองคลื่นความถี่สูงสุดที่ 20 เมกะเฮิร์ตซ์ อาจทำให้ผู้ประกอบบางรายได้คลื่นความถี่เพียง 5 เมกะเฮิร์ตซ์ จะทำให้เกิดการเหลื่อมล้ำในการทำตลาด และการขยายฐานลูกค้าในอนาคต ขณะเดียวกัน ราคาเริ่มต้นการประมูลกำหนดไว้ที่ 4,500 ล้านบาทต่อใบอนุญาต กทค. เชื่อว่าเหมาะสมแล้ว
อย่างไรก็ดี พ.อ.เศรษฐพงค์ ยืนยันว่า การปรับลดเพดานการถือครองคลื่น ไม่ได้เอาใจหรือเอื้อให้ภาคเอกชนหารผลประโยชน์ลงตัวตามที่มีการตั้งข้อสังเกต แต่เป็นข้อสรุปที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ และนำข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมปรับปรุงหลักเกณฑ์การประมูล
เบ่งเค้ก 15 เมกฯ เตะหมูเข้าปากหมา?
พลันที่มีข้อสรุปเรื่องการกำหนดเพดานการถือครองคลื่นและการกำหนดราคาตั้งต้นในการประมูล หลายฝ่ายก็เริ่มแสดงความกังวลและมีเสียงคัดค้านท้วงติงเพื่อขอให้ กสทช.ทบทวนหลักเกณฑ์ดังกล่าว
นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า การที่ กสทช. ลดปริมาณการถือครองคลื่นเหลือรายละไม่เกิน 15 เมกะเฮิร์ตซ์ จากทั้งหมด 45 เมกะเฮิรตซ์ ย่อมส่งผลให้การประมูลที่จะเกิดขึ้นแทบไม่ต้องมีการแข่งขันกันเลย เพราะโอเปอเรเตอร์ยักษ์ใหญ่ทั้ง 3 ราย คือ เอไอเอส ดีแทค และทรู แต่ละรายต่างจะได้คลื่นไปเท่ากัน และ กสทช. ก็จะมีบทบาทเป็นเสมือน ‘ผู้จัดฮั้ว’ (Cartel Leader) ให้แก่โอเปอเรเตอร์ทั้งสาม ซึ่งการประมูลที่จะมีขึ้นก็จะกลายเป็นเรื่องตลกระดับชาติทันที
“จะเกิดการฮั้วกันในการประมูลค่อนข้างแน่นอน ซึ่งจะสร้างความเสียหายแก่ประชาชนทุกคนในฐานะผู้เสียภาษี เพราะราคาประมูลจะใกล้เคียงกับราคาตั้งต้น ทำให้รัฐมีรายได้จากการประมูลน้อยลงเมื่อเทียบกับการประมูลที่มีการแข่งขันอย่างแท้จริง”
ข้อสังเกตอีกประการหนึ่ง สมเกียรติ มองว่า ราคาประมูลตั้งต้นที่กำหนดไว้ชิ้นละ 4,500 ล้านบาทนั้น ต่ำกว่ามูลค่าจริงที่มีการประมาณการไว้มาก โดยผลการศึกษาของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่ง กสทช. เป็นผู้ว่าจ้างเอง ชี้ว่า มูลค่าของการประมูลไลเซนส์ 3 จี ควรอยู่ที่ประมาณ 6,440 ล้านบาท ดังนั้นราคาประมูลตั้งต้นของ กสทช. จึงต่ำกว่ามูลค่าที่ประเมินไว้ถึงร้อยละ 30
นอกจากนี้ ราคาประมูลไลเซนส์ 3 G จะยิ่งต่ำกว่าความเป็นจริงมาก หากคิดรวมผลประโยชน์ที่โอเปอเรเตอร์จะได้รับจากการไม่ต้องจ่ายค่าสัมปทานรายปีให้รัฐ ทั้งนี้ เฉพาะในปี 2554 ค่าสัมปทานมีมูลค่าถึง 48,000 ล้านบาท หมายความว่า ลำพังการไม่ต้องจ่ายค่าสัมปทานก็แทบจะทำให้โอเปอเรเตอร์สามารถถอนทุนจากการประมูลคลื่นได้ภายในปีเดียว
“อยากเตือนให้ กสทช. เลิกแนวคิดที่จะดำเนินการดังกล่าวเสีย เพราะจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ ต่อประชาชนเลย แต่จะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้โอเปอเรเตอร์อย่างโจ่งแจ้ง ที่สำคัญ กสทช.เองก็จะเข้าข่ายผิดกฎหมายว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐและกฎหมายอื่นๆ ซึ่งอาจนำไปสู่การถูกดำเนินคดีอาญา หรือถูกประชาชนเข้าชื่อเพื่อยื่นให้วุฒิสภาถอดถอนจากตำแหน่งได้” นี่คือคำเตือนด้วยความหวังดีของนักวิชาการแห่งทีดีอาร์ไอ
เช่นเดียวกับความเห็นของ นางสาวสารี อ๋องสมหวัง ประธานคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม ที่ไม่เห็นด้วยกับการตั้งราคาประมูลขั้นต่ำเพียง 4,500 ล้านบาท เนื่องจากหากผู้เข้าร่วมประมูลได้คลื่นความถี่ 15 เมกะเฮิรตซ์ ในราคา 13,500 ล้านบาทต่อระยะเวลาใช้งาน 15 ปี จะคิดเป็นเงินที่ผู้ประมูลต้องจ่ายเพียงปีละ 900 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งถือว่ายังน้อยกว่าราคาที่ผู้ประกอบการทั้ง 3 รายเคยจ่ายค่าสัมปทานให้แก่รัฐเฉลี่ยปีละประมาณ 40,000 ล้านบาท
นิทานลวงโลก : ค่าไลเซนส์กระทบค่าบริการ
จริงหรือที่ค่าไลเซนส์มีผลกระทบต่อค่าบริการ?
เป็นคำถามที่ฟังเผินๆ แล้วอาจรู้สึกคล้อยตาม เพราะหากคิดตามหลักการลงทุนและการทำกำไรก็ควรจะเป็นไปตามนั้น แต่สำหรับธุรกิจโทรคมนาคมมีความซับซ้อนซ่อนเงื่อนยิ่งกว่า
นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภค และหนึ่งใน กทค. อธิบายเพิ่มว่า การที่บอร์ด กทค.บางรายเกรงว่า ถ้ากำหนดราคาประมูลให้สูงขึ้นจะมีผลกระทบต่อค่าบริการที่เพิ่มขึ้น หรืออาจทำให้บริษัทไม่มีเงินลงทุนขยายโครงข่ายเพิ่มเติม ทำให้การเติบโตล่าช้า แต่โดยข้อเท็จจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่
หลักฐานทางวิชาการอย่างหนึ่งยืนยันได้จากงานวิจัยของ Minsoo Park และคณะ เมื่อปี 2553 ซึ่งได้ศึกษาตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 จี ใน 21 ประเทศทั่วโลก พบว่า ราคาประมูลคลื่นไม่ว่าจะสูงหรือต่ำ ไม่มีผลทำให้อัตราค่าบริการแพงขึ้นดังที่ผู้ให้บริการพยายามโน้มน้าวให้เกิดความเข้าใจผิด
“ก่อนหน้านี้บริษัทโอเปอเรเตอร์รายใหญ่ของไทยออกมาบอกเองว่า ได้เตรียมเงินสำหรับประมูลคลื่นไว้กว่า 18,000 ล้านบาท แปลว่าเขาเผื่อไว้สล็อตละ 6,000 ล้านบาท แต่เรากลับตั้งราคาไว้เพียง 4,500 ล้านบาท นอกจากนี้ ทุกบริษัทก็ออกมาประกาศเลยว่า จะสามารถเปิดให้บริการได้ภายใน 6 เดือนหลังรับใบอนุญาต แสดงว่าเขาได้เตรียมเงินสำหรับขยายโครงข่ายแยกไว้ต่างหากอยู่แล้ว ดังนั้นราคาประมูลจึงไม่ได้มีผลต่อการลงทุน” นายประวิทย์ กล่าว
สอดคล้องกับนายสมเกียรติ ที่ตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าราคาการประมูลคลื่นถูกลงแล้ว ผู้ประกอบการจะลดราคาค่าบริการให้ผู้บริโภคหรือไม่ คำตอบแบบสุดขั้วก็คือ ต่อให้ผู้ประกอบการได้คลื่น 3 จีไปแบบฟรีๆ ก็ไม่มีทางที่จะให้ผู้บริโภคได้ใช้โทรศัพท์ 3 จีฟรี ส่วนจะคิดค่าบริการเท่าไรนั้นต้องขึ้นอยู่กับสภาพการแข่งขันในตลาด หากมีการแข่งขันสูงผู้ประกอบการย่อมไม่สามารถคิดค่าบริการแพงได้ เพราะจะถูกผู้ประกอบการรายอื่นตัดราคา ในทางกลับกันหากมีการแข่งขันน้อย ผู้ประกอบการย่อมสามารถคิดค่าบริการแพงเพื่อให้ได้กำไรสูงสุดได้ จึงสรุปได้ว่าอัตราค่าบริการโทรศัพท์ 3 จี ไม่ได้ขึ้นอยู่กับราคาประมูลคลื่นเลย
“นิทานของผู้ประกอบการที่ว่า ถ้าการประมูลคลื่น 3 G แพงแล้ว ผู้บริโภคจะเดือดร้อน จึงเป็นเพียงการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อให้ตนได้คลื่น 3 G ถูกๆ และได้กำไรมหาศาลเท่านั้น” นายสมเกียรติ สรุปข้อสังเกต
เมื่อกระบวนการจัดประมูลเดินหน้ามาถึงขั้นนี้แล้วทุกอย่างย่อมเป็นไปตามกรรม ส่วนจะมีปัจจัยพลิกผันถึงขั้นต้องล้มประมูลซ้ำอีกหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับว่าจะมีใครฟ้องร้องศาลปกครองและผ่านการพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายเกิดขึ้นกับรัฐจริง เมื่อนั้นผู้ที่ก่อให้เกิดความเสียหายย่อมต้องรับผิดชอบต่อผลของการกระทำ
สางปัญหาไฮ-สปีด ขูดรีดผู้บริโภค
การวางหลักเกณฑ์วิธีการประมูลที่กำลังจะเกิดขึ้นถือเป็นเพียงบันไดขั้นแรกในการปูเส้นทาง 3 จีเท่านั้น หลังจากนี้ต้องรอให้มีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ จากนั้นจึงประกาศเชิญชวนผู้เข้าร่วมประมูลและตรวจสอบคุณสมบัติ ซึ่งคาดว่าภายในเดือนตุลาคมจะเริ่มประมูลคลื่น 3 Gได้
นายประวิทย์ กล่าวว่า หลังการประมูลเสร็จสิ้นยังมีประเด็นที่ กสทช.ต้องติดตามต่อเนื่องคือ การประกาศกฎหมายฉบับอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยเบื้องต้นต้องมีการตรวจสอบสัญญาการเปิดให้บริการว่ามีความเป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือไม่เพียงใด รวมถึงการตรวจสอบคุณภาพการให้บริการ
“หากมีบริการ 3 Gบนโทรศัพท์มือถือแล้ว ผู้บริโภคย่อมคาดหวังสูง ซึ่งขณะนี้บางรายโฆษณาว่า 3 จี เร็ว 4 เมกะไบต์ บางรายอ้างว่าเร็วถึง 10 เมกะไบต์ แต่ข้อเท็จจริงจากการตรวจวัดของ กสทช. พบว่า ความเร็วเฉลี่ยของผู้ให้บริการทุกรายเต็มที่ไม่เกิน 1 เมกะไบต์เท่านั้น ฉะนั้นต้องมีระบบติดตามตรวจสอบว่ามีคุณภาพจริงหรือไม่” นายประวิทย์ กล่าว
ประการต่อมาคือ ผู้ให้บริการต้องขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมประชากรร้อยละ 50 ภายใน 2 ปี และ ร้อยละ 80 ภายใน 4 ปี ซึ่งเชื่อว่าผู้ประกอบการต้องเร่งขยายสัญญาณเพื่อแข่งขันกันทางธุรกิจ แต่หากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขจะต้องชำระค่าปรับรายวันในอัตราร้อยละ 0.05 ของเงินค่าประมูล
นอกจากนี้ ผู้รับใบอนุญาตต้องสนับสนุนภารกิจการให้บริการเพื่อสังคม โดยเฉพาะการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมสาธารณะอย่างทั่วถึงแก่ผู้มีรายได้น้อย คนพิการ เด็ก คนชรา ผู้ที่อยู่ห่างไกลในชนบท และผู้ด้อยโอกาส ซึ่งอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ เห็นว่า กทค. ควรมีมาตรการลงโทษที่ชัดเจนกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข เช่น มาตรการเรียกค่าปรับ มาตรการเชิงสังคม เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างแท้จริง
ข้อกังวลประการสุดท้ายที่ทุกฝ่ายเรียกร้องถามหาความชัดเจนก็คือ ในเมื่อราคาประมูลคลื่นถูกแสนถูกเช่นนี้แล้วจะมีหลักประกันอันใดว่าผู้ให้บริการจะไม่ขูดรีดค่าบริการที่แพงเกินจริง
“เราได้แต่คาดหวังว่าถ้าเป็นไปตามกลไกการแข่งขันจริง เอกชนก็น่าจะลดค่าบริการลงได้บ้าง แต่ถ้าทุกบริษัทฮั้วกันเมื่อไหร่ก็จบ” นายประวิทย์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายประวิทย์ ยอมรับว่า แม้ กสทช.จะมีอำนาจกำกับดูแลราคาได้ แต่เนื่องจากคลื่น 3 G เป็นบริการระบบใหม่ จึงต้องให้โอกาสผู้ประกอบการในการตั้งหลักจนกว่าจะมีลูกค้ามาใช้บริการ ซึ่งต้องอาศัยเวลาระยะหนึ่ง
“ในช่วงแรก กสทช.อาจจะยังไม่เข้าไปกำกับราคา ต้องรอจนกว่าผลการดำเนินธุรกิจอยู่ตัวก่อน แต่เมื่อเข้าสู่ปีที่ 2 กสทช.จะเข้าไปศึกษาต้นทุนที่แท้จริงของเขาแล้วจึงกำกับค่าบริการ ซึ่งต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริงต่อไป”
อีกไม่นานเกินรอก็จะได้รู้กันว่า พลังแห่งคลื่น 3 G จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจและกระจายความเจริญไปทั่วประเทศอย่างที่หลายคนวาดหวังจริงหรือไม่ หรือท้ายที่สุดแล้วเม็ดเงินมหาศาลจะตกอยู่ที่กระเป๋านายทุนใหญ่เพียงไม่กี่กลุ่ม
………………………………
รู้ไว้ก่อนใช้ 3 G
นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภค ฝากข้อคิดไปยังผู้บริโภคก่อนตัดสินใจใช้บริการ 3 จี ว่า ในช่วงแรกอาจต้องทำใจว่าบริษัทคงไม่สามารถตั้งเสาสัญญาณ 3 Gให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ได้ เนื่องจากต้องทยอยติดตั้งในพื้นที่เขตเศรษฐกิจก่อน ฉะนั้นก่อนจะเลือกใช้บริการควรตรวจสอบให้แน่ชัดว่าเราอยู่ในพื้นที่ให้บริการหรือไม่
นอกจากนี้ หากผู้บริโภคต้องการย้ายค่ายโดยใช้เบอร์เดิมต้องระมัดระวังว่า บริษัทผู้ให้บริการอาจจัดเตรียมระบบบริการคงสิทธิเลขหมายไม่ทัน และอาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคได้
ที่สำคัญผู้บริโภคต้องรู้เท่าทันเทคโนโลยี 3 G เพราะอาจประสบปัญหาค่าบริการพุ่งกระฉูดโดยไม่รู้ตัว กรณีเปิดสัญญาณ 3 Gค้างไว้โดยไม่ได้ใช้งาน และอาจเผชิญปัญหาอาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ต เช่น หลอกให้โอนเงิน หรือทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงถูกละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว ฉะนั้นหากคิดจะใช้บริการ 3 G ต้องรู้เท่าทันเทคโนโลยี
3 โอเปอเรเตอร์ปากมัน
คว้าไลเซนส์ราคาถูก
- 2 G เป็นระบบสัมปทาน ผู้ให้บริการต้องหักส่วนแบ่งรายได้ให้รัฐร้อยละ 20-30 ต่อปี หรือเฉลี่ยปีละ 40,000-48,000 ล้านบาท
- 3 Gเป็นระบบใบอนุญาต (ไลเซนส์) ไม่ต้องนำส่งรายได้ให้รัฐ เท่ากับบริษัทลดต้นทุนได้ทันทีร้อยละ 20-30 ต่อปี
- คลื่น 3 G มีทั้งสิ้น 45 เมกะเฮิร์ตซ์ (แบ่งออกเป็น 9 สล็อต สล็อตละ 5 เมกะเฮิร์ตซ์) โดยผู้ให้บริการถือครองได้รายละไม่เกิน 15 เมกะเฮิรตซ์
- ค่าประมูลใบอนุญาตเริ่มต้นที่ 4,500 ล้านบาท (ต่อ 5 เมกะเฮิรตซ์) หากถือครองรายละ 15 เมกะเฮิร์ตซ์ รวม 15 ปีจะต้องจ่ายค่าประมูลขั้นต่ำเพียง 13,500 บาท หรือเฉลี่ยปีละ 900 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งถูกกว่าระบบสัมปทานเดิมที่ต้องจ่ายให้รัฐปีละ 40,000-48,000 ล้านบาท