ทุกคืนวันศุกร์… เล็ก วงศ์สว่าง เดินทางออกจาก ‘วงศ์สว่างการพิมพ์’ อันเป็นทั้งที่ทำงานและเคหสถานย่านจรัลสนิทวงศ์พร้อมแผ่นซีดีบรรจุเพลงสากลยุคยังหนุ่มมุ่งหน้ายังสถานีวิทยุ 96.5 เอฟเอ็ม โมเดิร์น เรดิโอ ส่งเสียงนุ่มๆ และเพลงเย็นๆ ผ่านรายการ ‘เพลินเพลงฮิต คิดย้อนวันวาน’
การกลับมาจัดรายเพลงอีกครั้งในวัยริม 70 พยากรณ์ว่ายังคงครองดวงใจในแบบเดียวกับเมื่อครั้งยังหนุ่ม แต่เครื่องไม้เครื่องมือในสตูดิโอรวมถึงโลกอาจเปลี่ยนไปจากที่เคยเป็นนักจัดรายการ ‘เพลงประทับใจ’ หรือ ‘Impressive Song’ เมื่อ 50 ปีที่แล้ว
สวัสดีครับท่านผู้ฟังที่เคารพ และเพื่อนนักเพลงผู้รักทุกท่าน
เขาเริ่มจัดรายการเพลงในปี 2503 ที่สถานีวิทยุเสียงสามยอด นิยามตัวเองว่า “ผมเป็นนักจัดรายการในยุคซิกส์ตี้” เครื่องมือวัดความนิยมรายการเพลงหรือตัวนักจัดในตอนนั้นเป็นจดหมาย จดหมายมากฉบับนักจัดย่อมเป็นที่รักของผู้ฟัง วันๆ หนึ่งไปรษณีย์หอบจดหมายใส่ซองถึงมือเล็ก วงศ์สว่างหลายร้อยฉบับ จดหมายมากฉบับแจ้งความประสงค์ ‘อยากร้องตามเพลงที่คุณเล็กเปิด’
จึงทำสำเนาแจกจ่ายเนื้อเพลงไปยังแฟนเพลงที่จดหมายมา เมื่อความปรารถนาของแฟนรายการมีมากรายเข้า เล็ก วงศ์สว่างลงมือทำหนังสือเพลงสากล ‘เพลงประทับใจ’ หรือ ‘Impressive Song’ เป็นที่มาของหนังสือเพลง ‘I.S. song hit’
‘เพลง Is’t Now or Never ของเอลวิส เพรสลีย์ ที่กำลังจะเล่นต่อจากนี้อยู่หน้าที่ 13 นะครับท่านผู้ฟังที่เคารพและนักเพลงผู้รักทุกท่าน’
ลีลาการจัดรายการอย่างที่เรียนข้างต้นสร้างกลุ่มคนฟังรายการเพลงประทับใจและกลุ่มคนอ่านหนังสืออีกหนึ่งหัวที่กำลังจะถือกำเนิดในอนาคต
จดหมายหลายฉบับต่อมาเพิ่มระดับความประสงค์ให้เล็ก วงศ์สว่างบรรยายความหมายของเพลงด้วย เนื้อเพลงสากลถูกแปลออกมาเป็นภาษาแบบร้อยแก้วและร้อยกรอง เขาบรรยายความหมายของเพลงก่อนอินโทรเริ่ม แฟนรายการจึงเริ่มจดหมายบรรยายเนื้อเพลงส่งมาเป็นจำนวนมาก
ห้วงขณะอ่านจดหมายบรรยายเพลงแต่ละฉบับบังเกิดความคิดนำจดหมายบรรยายเพลงลงตีพิมพ์คอลัมน์หนึ่งในหนังสือ Impressive Song ให้ชื่อคอลัมน์ ‘ศาลาคนเศร้า’
จดหมายบรรยายเพลงจากแฟนรายการ ‘เพลงประทับใจ’ ล้วนเป็นเพลงหวานเศร้าอกหักผิดหวัง เล็ก วงศ์สว่างเห็นปริมาณเป็นโอกาส จึงทำหนังสือ ‘ศาลาคนเศร้า’ ขึ้นมาอีกเล่ม ปีนั้นเป็นปี 2507
“จดหมายที่เขาบรรยายเพลงส่วนมากจะเป็นเพลงอกหักผิดหวัง เพลงประเภท Easy Listening อย่างเพลง Pretend ของ แนท คิง โคล เราก็เอาลงหนังสือศาลาคนเศร้า พอลงไปสักระยะปรากฏว่า คนอ่านสนใจเป็นอย่างมาก ไม่เขียนบรรยายเพลงแล้ว เขียนเรื่องส่วนตัวเลยทีนี้”
วิวัฒนาการของ ‘ศาลาคนเศร้า’ เป็นไปอย่างธรรมชาติ ตามปรารถนาของคนอ่าน ‘ศาลาคนเศร้า’ ที่วางบนแผงทุกวันที่ 1 ของเดือน ทำให้จดหมายแห่งความเศร้าเดินทางสู่สายตาเขามากขึ้น
“ผมคิดว่าศาลาคนเศร้าเป็นสนามให้เขาลองภูมิปัญญาเพราะคนที่เขียนมาไม่ใช่นักประพันธ์ ฉะนั้นเขียนไปลงนิตยสารอื่นก็ไม่ได้ลงเพราะเขาเขียนเป็นภาษาชาวบ้านไม่ได้มีสำบัดสำนวนอย่างนักกวี เราก็ลงไปตามสำนวนของเขา”
ไม่ใช่ เพชรา เชาวราษฎร์ ไม่เอา พิสมัย วิไลศักดิ์ แต่สาวสวยใกล้โรงพิมพ์เป็นนางแบบคนแรกที่ขึ้นปกแรกของนิตยสารโศกเล่มนี้
“เห็นหน้าตาเขาดีก็เลยเอามาถ่ายลงปก เราก็บอก ‘ทำหน้าเศร้าๆ นะ อย่ายิ้ม’ ก็ถ่ายออกมาให้ดูไทยๆ เลย เราหาผู้หญิงธรรมดาไม่ต้องเป็นนางแบบแต่หน้าตาดีหน่อย พาไปนั่งที่น้ำตก บอกเขา คุณนึกไปสิว่าแฟนตกน้ำตกตายก็ได้ ยิ่งน้ำตาหยดยิ่งดีใหญ่ บางคนน้ำตาไม่ไหลผมเอาน้ำไปหยดให้เห็นเป็นสาย”
บนหน้าเพจเฟซบุ๊คของ ‘ศาลาคนเศร้า’ มีผู้คนแสดงความคิดเห็นดังต่อไปนี้
‘ผมเป็นคนหนึ่งมีชีวิตเศร้าๆ แต่พออ่านศาลาคนเศร้าแล้วรู้เลยว่าผมไม่ได้เหงาแค่คนเดียว’
‘ศาลาคนเศร้าเป็นหนังสือที่อ่านแล้วเข้าใจคนทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นตัวเราหรือคนรอบข้าง แต่ก็ทำให้ผมได้รู้เรื่องมากมายในหลายๆ เรื่อง (เด็กหาดใหญ่ ใครอ่านหนังสื่อศาลาคนเศร้าบ้างนะบอกผม หน่อยว่าซึ้อหนังสือที่ไหน จะซื้ออ่านต่อนะ)’
เป็นบางส่วนของ ‘เสียง’ ผู้อ่าน ‘ศาลาคนเศร้า’ ในยุค ‘เราต่างมีเฟซบุ๊คเป็นของตัวเอง’
ช่วงปี 2507 ทหารอเมริกันตั้งฐานทัพในประเทศไทยในระหว่างทำสงครามกับเวียดนาม หนังสือเพลง I.S. song hit ได้รับความนิยมจากจิ๊กโก๋จิ๊กกี๋ วงดนตรีไทยเล่นเพลงคัฟเวอร์เพลงสากลที่ได้รับความนิยม
ล่วงเข้าปี 2512-2515 หนุ่มสาวเริ่มหันหลังให้เพลงสากล หันมานิยมเพลงไทย เพลง ‘ทศกัณฐ์สิบหน้า’ โดยปลายปากกาครูพยงค์ มุกดา ทำให้วงดนตรีไทยได้รับความนิยมจากหนุ่มสาว ส่งผลต่อยอดขายและความนิยมของ I.S. song hit เหมือนโดมิโน
เล็ก วงศ์สว่าง บอกว่ายอดขายของ I.S. song hit ร่วงชนิด ‘เล่นเอางง’ “จากที่ขายได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 80 เหลือ 40 ” แต่ ‘ศาลาคนเศร้า’ ยอดขายดีมาตลอด
ไม่ใช่ประเภทไม้ใหญ่ยืนต้านแรงลม แต่เป็นไผ่โอนอ่อนเอนตาม ‘ความเปลี่ยนแปลง’ เขาเกิดความคิดใหม่ “ผมก็เอาเพลงไทยมาใส่คอร์ดเสียเลย” กลายเป็นหนังสือหัวใหม่ในเครือ ‘เดอะ กีตาร์’
เดอะ กีตาร์ ออกจำหน่ายปี 2510 ตราบจนวันนี้ ขณะที่หนังสือเล่มแรกอย่าง I.S. song hit ปิดตัวลงเมื่อปี 2530
บรรยากาศในแวดวงหนังสือในยุคหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ถึง 6 ตุลาคม 2519 มีหนังสืออย่างสังคมศาสตร์ปริทัศน์ วิทยาสาร ลอมฟาง หนังสือเล่มละบาทของนักศึกษาอิสระ รวมไปถึงหนังสือแนวสังคมนิยมที่เคยต้องห้าม สร้างความคึกคักทางการอ่านการเขียนในแวดวงหนุ่มสาวในรั้วมหาวิทยาลัย แน่นอนว่าหนังสือของเล็ก วงศ์สว่าง ยืนคนละฝั่งกับหนังสือเหล่านั้น
เขาบอกว่า ‘ผมเป็นสายบันเทิง’ และโดนหยามในแง่ของการทำหนังสือ
“บ้าๆ บอๆ บางคนบอกว่าเป็นหนังสือบ้าๆ บอๆ โดนเหยียดหยามแน่นอน เป็นหนังสือของคนบ้าบ้างล่ะ บางคนวิจารณ์ผมว่าออกหนังสือแบบนี้จะขายได้เหรอ…ไม่รู้สิ 40 ปีแล้ว เป็นพ็อคเก็ตบุ๊คเล่มเดียวที่คงกระพัน”
“ทำอะไรก็ตามที่ตลาดต้องการ แล้วคนอื่นยังไม่ทำ หนังสือผมให้ความคุ้มค่าคนอ่าน 100 เปอร์เซ็นต์ หนังสือมี 2 แบบ อยู่ได้ด้วยตัวเองคือคนนิยมซื้อไปอ่านกับอยู่ได้โฆษณาก็ไม่รู้ว่าคนนิยมหรือเปล่าแต่มีโฆษณาเลี้ยงอยู่แล้วไม่ขาดทุน แต่หนังสือของผมส่วนมาก….ไม่ใช่ไม่ง้อ แต่ไม่มีคนไปหา แล้วหาไม่เป็น ถ้ามีก็เอา แต่หาไม่เป็น”
ในยุค ‘อินเทอร์เน็ตนี้มีแต่ให้’ เล็ก วงศ์สว่าง นั่งมองคลื่นลูกนี้ด้วยอาการงงๆ
“พอมีอินเทอร์เน็ตกลุ้มเลย ทุกอย่างหาได้ในนั้นหมด แต่ถามว่ามันรวดเร็วมั้ย มันช้านิดหน่อยนะ เราก็ใจชื้นหน่อย…สมมุติ คุณมีหนังสือเราเล่มหนึ่ง เปิดปุ๊บได้เล่นเลย แต่เพลงๆ นี้ในอินเทอร์เน็ตก็มี แต่คุณต้องไปเสิร์ช แล้วกว่ามันจะมา”
“แต่เดี๋ยวนี้เร็วนะครับ คลิกปุ๊บได้ปั๊บ”
“เดี๋ยวนี้เร็วเเล้วเหรอ” เขาสงสัยแต่ก็แสดงความมั่นใจ “แต่คนไม่เป็นก็นั่งรอ เวลาเข้าไปยูทูบ…ใช่มั้ย ต้องรอ แต่หนังสือเปิดปุ๊บได้เลย”
การยืนระยะอยู่บนแผงหนังสือมา 40 กว่าปี หนังสือแตกหัวออกมาเกิดหลายฉบับ สิ่งหนึ่งก็เพราะ “สภาวะเหตุการณ์สิ่งแวดล้อมต่างๆ มันจะบอกเราเองว่าเราควรเปลี่ยนไหมหรือทำอะไร เดอะ กีตาร์ก็เกิดมาตอนที่ I.S. song hit แผ่วลง ‘ทะลึ่ง’ เกิดหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 เราเห็นผู้คนเครียด”
เขายกตัวอย่างวิธีคิดในการทำหนังสือกับหนัง ‘นางนาก’ เวอร์ชั่นของนนทรี นิมิบุตร
“แม่นาคพระโขนงเก่าคร่ำเลย…สมัยผม เสน่ห์ โกมารชุน เล่น สมัยนี้เอาทราย เจริญปุระมาเล่น เปลี่ยนใหม่เลย นนทรีย์ นิมิบุตรได้ 10 ล้านเลย คือเรื่องเดิมแต่เปลี่ยนคาแร็กเตอร์ใหม่ แม่นาคมาหลอกตามากเหมือนเดิม แต่มันก็ยังขายได้”
หลังเกษียณตัวเองออกมาให้รุ่นลูกดูแลธุรกิจหนังสือ เวลาที่หวนคืนมาหมดไปกับเสียงเพลง ในฐานะกูรูเพลงสากล จึงหลีกไม่พ้นการกลับมาจัดรายการเพลงอีกครั้งหลังร้างไปนานตั้งแต่ปี 2517
แม้จะ ‘มืดแปดด้าน’ กับท่าทีใหม่ของโลกที่ลดทอน ‘กำลังคน’ ไปฝากความหวังไว้ที่เทคโนโลยี แต่ก็เหมือนที่เขายกตัวอย่างการทำหนังสือกับหนัง ‘นางนาก’ เวอร์ชั่นของนนทรีย์
ต้องปรับตัวเพื่อการเปลี่ยนแปลง แต่เนื้อในยังคงเดิม แม้จะเคยโดนคนทำหนังสือสายปัญญาหยาม แต่เวลากว่า 50 ปีก็ได้พิสูจน์แล้ว แม้หน้าปกศาลาคนเศร้าในวันนี้จะเป็นหญิงสาวหน้าตาออกไปทางญี่ปุ่น-เกาหลี แต่เนื้อในยังคงเป็นสิ่งที่เรียกว่า ‘ความเศร้า’
ทุกวันนี้ไปรษณีย์มาส่งจดหมายที่ ‘วงศ์สว่างการพิมพ์’ วันละ 2 รอบ เป็นจดหมายบรรยายความเศร้าซึ่งเจ้าของหวังว่ามันจะปรากฏในหนังสือศาลาคนเศร้าในวันที่ 1 ของเดือนที่กำลังจะมาถึง