จากรายงานประเมินผลสารปรอทโลกประจำปี 2013 โดย โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme: UNEP) พบว่าแหล่งน้ำทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหาสารปรอทเจือปนราว 1,000 – 4,000 ตัน ซึ่งมาจากแหล่งโรงงานไฟฟ้าถ่านหิน เหมืองทอง และอุตสาหกรรมหนักอื่นๆ ที่ใช้น้ำเป็นองค์ประกอบสำคัญในการดำเนินกิจการซึ่งระบบควบคุมอาจไม่ได้มาตรฐานและมีการปล่อยน้ำเสียที่ปนเปื้อนสารปรอทลงสู่แหล่งน้ำ
จูเลียน คิพเพนเบิร์ก นักวิจัยอาวุโสจากจากองค์กรสิทธิมนุษยชนสากลให้ข้อมูลว่า ปรอทจะไปสะสมอยู่ในปลา จากนั้นเมื่อคนกินปลาที่มีปรอทเข้าไป ปรอทจะค่อยๆ ทำลายระบบประสาท โดยเฉพาะหญิงมีครรภ์และเด็กเล็กจะเป็นกลุ่มเสี่ยงมากที่สุด
เมื่อเทียบกับ 100 ปีก่อน พบการเจือปนของปรอทในน้ำลึก 100 เมตรเพิ่มขึ้น 2 เท่า ส่วนการสำรวจในบริเวณน้ำลึกมากกว่า 100 เมตรพบสารปรอทเข้มข้นสูงขึ้นร้อยละ 25 ขณะที่แหล่งน้ำจืดและแม่น้ำ พบสารปรอทเจือปนกว่า 260 ตัน
ผลร้ายเมื่อได้รับสารปรอทเกินปริมาณควบคุมคือ ระบบสมองอาจถูกทำลาย ในทารกจะมีปัญหาด้านไอคิวตั้งแต่แรกเกิด มีปัญหาไตและหัวใจ เฉพาะในสหรัฐ ภาครัฐต้องสูญเงินนับหมื่นล้านเหรียญทุกๆ ปีเพื่อเป็นค่าดูแลรักษา
ที่มา : commondreams.org
Author
อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)