เส้นทางเถ้าแก่สีเขียว
กระแสการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งที่พูดกันมานาน ต่อสู้เรียกร้องกันมาไม่น้อย ทว่าที่ผ่านมาล้วนเป็นเสียงของภาคประชาชนคนเล็กคนน้อย ซึ่งบางครั้งต้องอาศัยปริมาณและพลังมวลชนที่มากพอ เพื่อจะเปล่งเสียงร้องไปถึงผู้เกี่ยวข้องทั้งในระดับนโยบายและภาคปฏิบัติ
ลำพังเสียงของประชาชนในฐานะผู้บริโภคฝ่ายเดียวอาจไม่เพียงพอ จำเป็นต้องกระตุ้นไปถึงผู้ประกอบการในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมในฐานะที่เป็นตัวแปรสำคัญของภาคการผลิต รวมถึงภาครัฐซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายและกติกาการแข่งขัน หากทั้ง 3 ขาหลักเดินไปในทิศทางเดียวกัน เส้นทางสู่สังคมสีเขียวก็ย่อมมีโอกาสเกิดขึ้นได้
ความตื่นตัวต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม ณ เวลานี้ ทำให้คำว่า ‘ธุรกิจสีเขียว’ (Green Business) ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอีกครั้ง เพราะส่วนหนึ่งไม่อาจปฏิเสธได้ว่าสิ่งของเครื่องใช้ที่เราบริโภคดื่มกินกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ล้วนเกี่ยวโยงสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมและมนุษย์ด้วยกันทั้งสิ้น
ในงานเสวนาเรื่อง ‘โอกาสและแนวทางเพื่อการพัฒนาธุรกิจสีเขียวในประเทศไทย’ จัดโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มีผู้ร่วมแสดงทัศนะและแลกเปลี่ยนประสบการณ์อย่างหลากหลาย เพื่อชี้ให้เห็นว่าหนทางของธุรกิจสีเขียวมีอยู่จริงและสามารถอยู่รอดอย่างยั่งยืนได้
ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอ ฝ่ายการวิจัยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำเสนอหัวข้อ ‘ประเทศไทยในบริบทสีเขียว: สถานการณ์และภาพอนาคต’ โดยฉายภาพรวมให้เห็นว่า ที่ผ่านมาภาครัฐได้ให้ความสำคัญในการสนับสนุนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน โดยปรากฏอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและแผนต่างๆ แต่ในทางปฏิบัติยังไม่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
อย่างไรก็ดี การจะนำประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ (Paradigm Shift) โดยอาศัยความร่วมไม้ร่วมมือจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่างๆ อาทิ ผู้บริโภค ผู้ผลิต ภาครัฐ ภาคประชาสังคม ฯลฯ ที่สำคัญคือนโยบายและเครื่องมือต่างๆ ต้องเอื้อต่อการพัฒนาธุรกิจสีเขียว
สำหรับภาคการผลิต ดร.กรรณิการ์ มองว่า สามารถพัฒนาตนเองด้วยการใช้เทคโนโลยีที่ช่วยลดการใช้ทรัพยากรและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานทดแทนในกระบวนการผลิต การปกป้องและรักษาความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ
ขณะเดียวกัน ภาครัฐต้องเพิ่มบทบาทมากขึ้นและดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนธุรกิจสีเขียวได้ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการประกอบการ มีการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ มีการบังคับใช้กฎหมายที่ดี มีมาตรการเสริมสร้างแรงจูงใจ เช่น การยกเว้นภาษีแก่ธุรกิจสีเขียว หรือจัดเก็บภาษีจากผู้ปล่อยมลพิษในอัตราที่สูงขึ้น ซึ่งในปัจจุบันมีสัญญาณที่ดีจากธนาคารพาณิชย์หลายแห่งที่เริ่มให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ภาคธุรกิจสีเขียว ทำให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น
ดร.กรรณิการ์ เสริมด้วยว่า อีกหนึ่งประเด็นที่ท้าทายคือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวผู้บริโภคเอง ซึ่งต้องยอมรับว่าการบริโภคสินค้าทางเลือกหรือสินค้าสีเขียวนั้น บางครั้งอาจต้องแลกมาด้วยต้นทุนที่สูงกว่าหรือราคาแพงกว่าสินค้าทั่วไป หากแต่การลงทุนนี้จะก่อประโยชน์ไม่ใช่แค่ตัวผู้บริโภคสินค้าสีเขียวเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงประโยชน์ต่อสาธารณะและประโยชน์ต่อคนรุ่นลูกรุ่นหลานในอนาคต
“การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภคเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา เนื่องจากต้องผ่านกระบวนการปลูกฝังในระบบการเรียนการสอน หลักสูตรการศึกษา ทั้งนี้ สิ่งที่ควรปลูกฝังให้กับเด็กและเยาวชนคือ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการของ Common Property รวมถึงผลของการกระทำของตนเองและกิจกรรมที่ตนเองเข้าไปมีส่วนร่วม” ดร.กรรณิการ์ ระบุ
เขียวแท้ต้องมีคุณภาพ
ดร.กรรณิการ์ กล่าวว่า แนวคิดการตลาดสีเขียว (Green Marketing) เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ในการสร้างจิตสำนึกทางด้านสิ่งแวดล้อมให้กับผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบต่อสังคม และยังมีส่วนกระตุ้นให้ผู้บริโภคคำนึงถึงคุณค่าในการเลือกใช้สินค้าที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
คำถามที่มักเกิดขึ้นเสมอและสะท้อนถึงความไม่มั่นใจของผู้บริโภคก็คือ ‘ผลิตภัณฑ์สีเขียวมีคุณภาพด้อยกว่าผลิตภัณฑ์ทั่วไปหรือไม่?’ ‘ผลิตภัณฑ์สีเขียวเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจริงหรือไม่?’ นับเป็นโจทย์ข้อแรกๆ ที่ผู้ประกอบการต้องตระหนัก เพื่อที่จะผลักดันให้ผลิตภัณฑ์สีเขียวติดตลาดได้ โดยปัจจัยชี้วัดอยู่ที่คุณภาพ ราคา ประสิทธิภาพ และความสะดวกในการใช้งานเทียบเท่ากับสินค้าทั่วไปที่เป็นคู่แข่ง แต่ที่พิเศษไปกว่านั้นคือมี ‘คุณค่า’ มากกว่า
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรคำนึงถึงลักษณะและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่แตกต่างกันไป เพื่อจะผลิตสินค้าที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคหลากหลายกลุ่ม เปรียบเทียบเหมือนกับสีเขียวที่มีหลายเฉด ซึ่งหากจำแนกตามลักษณะสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ สามารถแบ่งได้เป็น 4 กลุ่มหลักๆ คือ True Blue Greens, Sprouts, Grousers และ Basic Brown
ดร.กรรณิการ์ อธิบายเพิ่มว่า กลยุทธ์ในการตีตลาดกลุ่มผู้บริโภคได้นั้นจะต้องเริ่มจากการศึกษาวิเคราะห์เกี่ยวกับตัวผู้บริโภค การดำเนินงานของบริษัทคู่แข่ง การให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภค และวัฒนธรรมองค์กร ใช้งานศึกษาวิจัยเป็นฐานในการพัฒนาเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าอย่างแท้จริง เพื่อให้ได้สินค้าคุณภาพดี ราคาเหมาะสม และแข่งขันได้ในตลาด ด้วยมาตรฐานสินค้าที่ดีและปลอดภัย เมื่อมีเป้าหมายชัดเจนว่ากลุ่มลูกค้าคือใครก็จะรู้ว่าสินค้าที่ผลิตนั้นจะอยู่เฉดเขียวระดับไหน ประหนึ่งคือ ‘ต้องรู้เขารู้เรา’
“ต้องเข้าใจว่าเฉดความเขียวของกลุ่มผู้บริโภคมีตั้งแต่เข้มข้นมากไปจนเข้มข้นน้อย หรือพูดให้ง่ายคือมีทั้งกลุ่มที่ตระหนักมากและใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขนาดที่ว่าสินค้าที่เขาบริโภคนั้นต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทั้งหมด ขณะที่บางคนก็ไม่ได้เคร่งขนาดนั้น แต่ก็ไม่ต้องการเป็นผู้ทำลายสิ่งแวดล้อมให้รุนแรงไปกว่าเดิม ส่วนคนทั่วๆ ไปการตัดสินใจซื้อสินค้าจะดูปัจจัยเรื่องคุณภาพ ราคา และความสะดวกสบายในการเข้าถึงสินค้า”
ขณะเดียวกัน ตัวผู้บริโภคเองบางครั้งก็อยากจะมีส่วนช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมกับสังคม แต่ไม่รู้ว่าจะช่วยอะไรได้ ตรงจุดนี้จึงนำไปสู่การคิดค้นและนำโครงการ ‘ฉลากเขียว’ มาใช้ในประเทศไทย เพื่อเป็นการให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคว่าควรจะปรับเปลี่ยนการบริโภคอย่างไรจึงจะช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมได้
ข้อมูลจาก ดร.ลัณฉกร ประทุมรัตน์ นักวิชาการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย อธิบายที่มาและความหมายของฉลากสิ่งแวดล้อมว่า เป็นกลยุทธ์หนึ่งในนโยบายสิ่งแวดล้อมที่ใช้การตลาดเป็นเครื่องมือ รวมทั้งเป็นเครื่องมือในการสื่อสารให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ที่ซื้อไปนั้นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์อื่นที่ทำหน้าที่อย่างเดียวกัน
ฉลากเขียวในประเทศไทย จัดอยู่ในฉลากประเภทที่ 1 เป็นฉลากสิ่งแวดล้อมภาคสมัครใจ โดยผลิตภัณฑ์ต้องผ่านเกณฑ์การทดสอบด้านมาตรฐานคุณภาพและด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งพิจารณาจากวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Consideration) โดยมีบุคคลที่ 3 เป็นผู้ให้การรับรอง
โครงการฉลากเขียวเกิดขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2536 และเข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายฉลากสิ่งแวดล้อมโลก (Global Ecolabelling Network: GEN) ตั้งแต่ปี 2541 ปัจจุบันมีประเทศสมาชิกกว่า 50 ประเทศ โดยทุกประเทศมีแนวคิดของฉลากสิ่งแวดล้อมเป็นไปในแนวทางเดียวกันคือ การลดมลพิษของผลิตภัณฑ์ เช่น การใช้วัสดุรีไซเคิล การลดหรือปราศจากสารเคมีที่เป็นพิษ ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน รวมถึงความสามารถในการนำกลับมารีไซเคิล
‘ชุมชน’ ขุมพลังสีเขียว
ในมุมมองของ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มองว่า กลุ่มผู้บริโภคในตลาดสีเขียวแบ่งได้เป็น 4 กลุ่มหลัก คือ 1.กลุ่มเขียวทุกเรื่อง เขียวทุกมิติ 2.เขียวสวยสุข คือสนใจเรื่องสุขภาพเป็นหลักและเป็นคนกลุ่มใหญ่ 3.เขียวประหยัด เน้นเรื่องความคุ้มค่าสมราคา และ 4.เขียวอินเทรนด์ คือไปตามกระแส เมื่อพิจารณาจากทั้ง 4 กลุ่มนี้ จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเลือกได้ว่าจะนำเสนอสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ลักษณะใดในตลาดสีเขียว
อย่างไรก็ตาม อีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่อาจมองข้ามได้คือ ชุมชนท้องถิ่นในสังคมไทย ซึ่งมีศักยภาพทั้งในแง่ของภาคการผลิตและภาคบริโภคไม่ด้อยไปกว่าภาคธุรกิจอุตสาหกรรม โดยมีตัวอย่างในหลายชุมชนที่สามารถดำเนินกิจกรรมสีเขียวได้อย่างสอดคล้องกับวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องพลังงานทดแทน
ดร.เดชรัต กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่ได้ทำงานร่วมกับภาคชุมชนด้านพลังงาน พบว่าชาวบ้านสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สนองต่อความต้องการของชุมชน โดยผสานกับเทคโนโลยีจนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่นำมาใช้ประโยชน์ได้จริงในชีวิตประจำวัน อาทิ เตาแก๊สชีวภาพหรือไบโอแก๊สที่มีหลากหลายรูปแบบ ซึ่งนับเป็นตัวอย่างที่สะท้อนได้ว่า หากชุมชนใดเข้าใจถึงคุณค่าของธุรกิจสีเขียวก็ย่อมได้รับประโยชน์โดยตรงและส่งผลต่อสังคมส่วนรวม
บทสรุปที่ได้จากงานเสวนาที่ทีดีอาร์ไอจัดขึ้นครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า ยุทธศาสตร์ธุรกิจสีเขียวของไทยสามารถกำหนดทิศทางได้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยผู้ประกอบการไทยต้องมีหัวใจสีเขียว ขณะที่ภาครัฐต้องให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง ที่สำคัญคือตัวของผู้บริโภคเองที่แม้จะมีเพียงหนึ่งเสียง แต่หากทุกเสียงเห็นพ้องต้องกันย่อมสามารถเพิ่มอำนาจต่อรองและมีอิทธิพลในการกำหนดทิศทางของตลาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้เช่นกัน
//////////////////////
ข้อมูล: http://tdri.or.th/tdri-insight/green-marketing/
*********************